ม.นเรศวร ขอเรียกร้องให้ต่อต้านบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า สร้างสังคมปลอดบุหรี่เพื่อสุขภาพที่ดีของทุกคน

มหาวิทยาลัยนเรศวรในฐานะสถาบันการศึกษาที่มุ่งเน้นการส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน ขอประกาศแถลงการณ์เพื่อเรียกร้องให้ต่อต้านการใช้บุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า พร้อมทั้งคัดค้านการยกเลิกการแบนบุหรี่ไฟฟ้าที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนและประชาชนที่มีความเสี่ยงต่อการเสพติดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า

การต่อสู้กับการสูบบุหรี่และการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นภารกิจที่สำคัญในการส่งเสริม เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยเฉพาะ SDG Goal 3: การส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งมุ่งหวังให้ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ และลดปัจจัยเสี่ยงที่สามารถป้องกันได้ รวมถึงการป้องกันการสูบบุหรี่ที่เป็นสาเหตุสำคัญของโรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหัวใจ

อันตรายจากบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า บุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าเป็นภัยร้ายแรงต่อสุขภาพ โดยเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้าที่มีสารเคมีอันตรายมากมาย แม้ว่าจะมีการโฆษณาว่ามีความปลอดภัยกว่าบุหรี่ธรรมดา แต่การศึกษาได้แสดงให้เห็นว่า บุหรี่ไฟฟ้ายังมีสารที่เป็นพิษที่สามารถก่อให้เกิดโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ โรคมะเร็งปอด และปัญหาสุขภาพอื่นๆ ที่ร้ายแรง การใช้บุหรี่ไฟฟ้ากำลังกลายเป็นภัยสุขภาพใหม่ที่มีการแพร่ระบาดในหมู่เยาวชนและวัยรุ่น ซึ่งมีผลต่อการพัฒนาและอนาคตของสังคม

การคัดค้านการยกเลิกการแบนบุหรี่ไฟฟ้า มหาวิทยาลัยนเรศวรขอคัดค้านการยกเลิกการแบนบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย โดยเฉพาะการที่มีข้อเสนอในการอนุญาตให้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าในบางกรณี เนื่องจากการยกเลิกการแบนจะทำให้การเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้ากลายเป็นเรื่องง่ายสำหรับเยาวชนและกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงต่อการเสพติด เพิ่มโอกาสในการเสี่ยงต่อสุขภาพของประชาชนโดยไม่จำเป็น และขัดแย้งกับความพยายามในการลดภาระจากโรคที่สามารถป้องกันได้ในระบบสาธารณสุขของประเทศ

การสนับสนุนความร่วมมือและการรณรงค์เพื่อสุขภาพที่ดี มหาวิทยาลัยนเรศวรขอสนับสนุนความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และบุคคลทั่วไป เพื่อร่วมกันต่อสู้และรณรงค์เพื่อลดการบริโภคบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ผ่านการจัดกิจกรรมสร้างความรู้ให้แก่ประชาชน รวมถึงการสนับสนุนมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมการผลิต การจำหน่าย และการใช้บุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนและวัยรุ่น

นอกจากนี้ยังควรมีการสนับสนุนการเข้าถึงการเลิกบุหรี่และการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพ การสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดบุหรี่ รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมการสูบบุหรี่ในที่สาธารณะอย่างเข้มงวด ซึ่งจะช่วยลดจำนวนผู้สูบบุหรี่และลดภาระโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ในประเทศ

การมีส่วนร่วมของมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยนเรศวรจะดำเนินกิจกรรมเพื่อสร้างความรู้ให้แก่คณาจารย์ นักศึกษา และบุคลากรในมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับผลกระทบของการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงการจัดทำโครงการสุขภาพที่สนับสนุนให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการใช้สารเสพติดชนิดนี้ โดยผ่านการวิจัย งานวิชาการ การให้บริการสุขภาพ และการให้คำปรึกษาทางการแพทย์แก่ผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่

NU Playground Zero Waste: Event ดีๆ ที่ไม่มีขยะ

NU PLAYGROUND แลนด์มาร์คแห่งใหม่มหาลัยนเรศวร กิจกรรมดีๆ ที่สร้างความสุขในการจับจ่ายซื้ออาหาร และเป็นพื้นที่ซื้อสินค้าและการผักผ่อน โดยไม่สร้างขยะเหลือทิ้ง ด้วยการใช้ภาชนะใส่อาหารส่วนตัวมาใช้เพื่อลดการใช้ถุงพลาสติก โดยจัดกจกรรมวันที่ 23 – 25 กันยายน 2567 เวลา 17.00 น. เป็นต้นไป ณ ลาน Playground หอในมอนอ

ม.นเรศวร บูรณาการการเรียนการสอน ผ่านโครงการ “Colors of Equality สีสันต์แห่งความเท่าเทียม”

มหาวิทยาลัยนเรศวรได้มุ่งมั่นที่จะพัฒนาคุณภาพการศึกษาและความเท่าเทียมทางเพศ ผ่านการดำเนินงานที่เชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยเฉพาะ SDG 4 ที่มุ่งเน้นการให้การศึกษาที่มีคุณภาพแก่ทุกคน และ SDG 5 ที่มุ่งสู่การบรรลุความเสมอภาคทางเพศและการส่งเสริมบทบาทของสตรีและเด็กหญิง ภายใต้การนำของภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งได้จัดโครงการ “สาระพัฒน์เพื่อสังคมที่ยั่งยืนปีที่ 1” ภายใต้หัวข้อ “Colors of Equality สีสันต์แห่งความเท่าเทียม”

โครงการนี้มีการจัดกิจกรรมที่หลากหลายที่มุ่งส่งเสริมความรู้และการเรียนรู้ในเชิงปฏิบัติ เพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมาย SDG 5 ในการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศและการเสริมพลังสตรีและเด็กหญิง โดยหนึ่งในกิจกรรมที่ได้รับความนิยมคือ การประกวดคลิปสั้นบนแพลตฟอร์ม TikTok ซึ่งช่วยกระตุ้นให้ผู้เข้าร่วมใช้ความคิดสร้างสรรค์และพัฒนาทักษะการสื่อสารในรูปแบบที่ทันสมัย อีกทั้งยังเป็นโอกาสให้ผู้เข้าร่วมสามารถแสดงออกถึงความเท่าเทียมทางเพศในวิธีที่น่าสนใจและเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่

อีกหนึ่งกิจกรรมที่โดดเด่นคือ การเดินแบบแฟชั่นโชว์ในแนวคิด Gender Neutral Style ซึ่งเป็นการส่งเสริมความหลากหลายทางเพศและการยอมรับสิทธิในการแสดงออกและการแต่งกายโดยไม่จำกัดเพศสภาพ ช่วยให้ผู้เข้าร่วมเรียนรู้ถึงการยอมรับความแตกต่างและการสร้างสังคมที่มีความเคารพในสิทธิของทุกคน นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมตอบปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความเท่าเทียมทางเพศและบูธกิจกรรมที่ให้ความรู้ในหลายมิติ เช่น การเสริมสร้างทักษะการคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา และการทำงานร่วมกันในกลุ่ม

ผู้เข้าร่วมโครงการไม่เพียงแต่ได้รับความรู้ทางทฤษฎี แต่ยังได้รับทักษะในด้านต่างๆ ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง โดยสามารถนำความรู้ไปใช้ในการศึกษา การสร้างสรรค์นโยบาย หรือกิจกรรมที่ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับสากล รวมถึงการพัฒนาทักษะที่มีความสำคัญในการทำงานในอนาคต

โครงการนี้ได้รับเกียรติจากผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุดมพร ธีระวิริยะกุล รองคณบดีฝ่ายวิชาการและพัฒนาคุณภาพการศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งได้ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการที่จัดขึ้นในวันที่ 18 กันยายน 2567 ณ บริเวณโถงชั้น 1 อาคารคณะสังคมศาสตร์และคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

กิจกรรมในโครงการนี้จึงไม่เพียงแค่เป็นการส่งเสริมความรู้ทางทฤษฎี แต่ยังเป็นการพัฒนาทักษะการทำงานและการพัฒนาตนเองในด้านต่างๆ ที่จะช่วยเสริมสร้างสังคมที่ยั่งยืนและเท่าเทียมในอนาคต

การประกวดผลงาน VDO Content “การมีส่วนร่วมในการพัฒนาเป้าหมายความยั่งยืน (SDGs)

ขอเชิญร่วมประกวดผลงาน VDO Content “การมีส่วนร่วมในการพัฒนาเป้าหมายความยั่งยืน (SDGs)” กิจกรรมดีๆ สำหรับนิสิตนัก Creator มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการถ่ายทอดเรื่องราวการมีส่วนร่วมของหน่วยงาน นิสิต หรือบุคลากร ในการพัฒนาเป้าหมายความยั่งยืน (SDGs) ตามมุมมองของคุณ ที่มีต่อมหาวิทยาลัย ในรูปแบบคลิปวิดีโอสั้น ไม่เกิน 5 นาที เพื่อชิงรางวัลมูลค่ารวม 12,000 บาท พร้อมโล่รางวัล

• หัวข้อการประกวด “การมีส่วนร่วมในการพัฒนาเป้าหมายความยั่งยืน (SDGs)

• รางวัลการประกวด (รวมมูลค่า 12,000 บาท)

1. รางวัลที่ 1 มูลค่า 5,000 บาท (จำนวน 1 รางวัล)

2. รางวัลที่ 2 มูลค่า 4,000 บาท (จำนวน 1 รางวัล)

3. รางวัลที่ 3 มูลค่า 3,000 บาท (จำนวน 1 รางวัล

• กติกาการส่งผลงานเข้าประกวด

1. ผู้ประกวดเป็นนิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวร ทีมละไม่เกิน 3 คน

2. ส่งผลงานเข้าประกวด 1 ทีม ไม่เกิน 2 ผลงาน (อัพโหลดด้วยไฟล์สกุล MP4, AVI หรือ MOV)

3. ตั้งชื่อคลิป พร้อมบรรยายแนวคิดที่ต้องการสื่อสาร ในแบบฟอร์มส่งผลงาน (ไม่เกิน 150 คำ) 4. คลิปวิดีโอ มีความยาวไม่เกิน 5 นาที

• ระยะเวลาการสมัคร

1. รับสมัครและส่งผลงาน ขยายเวลาถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2567

2. ประกาศรายชื่อผู้ชนะรางวัลของแต่ละประเภทภายในวันที่ 19 สิงหาคม 2567

– – – – – – – – – – – – – – – – – –

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่: www.eqdd.nu.ac.th/SDGsContent

รณรงค์การลดขยะภายในมหาวิทยาลัย

คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ขอเชิญคณาจารย์ บุคลากร และนิสิตร่วมรณรงค์การลดขยะภายในคณะฯ อันเนื่องมาจากวิกฤติสถานการณ์การจัดการขยะภายในจังหวัดพิษณุโลก ดังนี้
1.ลดการใช้พลาสติก โดยลดการใช้กล่อง ช้อนส้อม แก้ว และถุงพลาสติก แล้วหันมาใช้แก้ว จาน ช้อนส้อม ถุงผ้า ฯลฯ
2.ร่วมกันคัดแยกขยะก่อนทิ้งลงถังขยะทั้ง 4 สี
3.ทิ้งขยะตามจุดที่คณะฯกำหนด

ม.นเรศวร เดินหน้าโครงการอาหารปลอดภัยใส่ใจผู้บริโภค

มหาวิทยาลัยนเรศวรให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืนตามเป้าหมาย SDG 2 (การขจัดความหิวโหยและการส่งเสริมเกษตรและอาหารที่ยั่งยืน) ผ่านโครงการ “อาหารปลอดภัยใส่ใจผู้บริโภค” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2567 โดยสาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม คณะสาธารณสุขศาสตร์ ได้ดำเนินการตรวจประเมินสุขาภิบาลอาหารในโรงอาหารของคณะต่างๆ ได้แก่ คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ คณะสหเวชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ และคณะสาธารณสุขศาสตร์ รวมทั้งสิ้น 30 ร้าน โดยใช้แบบประเมิน SAN ของกรมอนามัย พร้อมทั้งดำเนินการตรวจ Swap มือผู้สัมผัสอาหารและภาชนะบรรจุอาหาร เพื่อประเมินความสะอาดและปลอดภัย

โครงการนี้มุ่งยกระดับมาตรฐานสุขาภิบาลร้านอาหารภายในมหาวิทยาลัย เพื่อให้มั่นใจได้ว่าอาหารและน้ำดื่มที่จำหน่ายมีความสะอาดและปลอดภัยทั้งทางกายภาพและชีวภาพ อีกทั้งยังส่งเสริมให้ผู้ประกอบการปรับปรุงสุขาภิบาลร้านค้าให้ดียิ่งขึ้น เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนิสิต บุคลากร และผู้รับบริการในมหาวิทยาลัย พร้อมทั้งเป็นตัวอย่างที่ดีในด้านการจัดการสุขาภิบาลอาหารให้แก่ชุมชนโดยรอบ นอกจากนี้ โครงการยังสนับสนุนการสร้างสุขภาพที่ดีและการบริโภคอาหารปลอดภัย ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติอย่างแท้จริง

คณะผู้บริหารร่วมรับฟังปัญหาและความต้องการสิ่งสนับสนุนการเรียนของนิสิตพิการ

วันที่ 13 กันยายน 2567 ศูนย์บริการนิสิตพิการมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้นำนิสิตพิการ ในปีการศึกษา 2567 จำนวน 14 คน เข้าพบ รองศาสตราจารย์ ดร.ศรินทร์ทิพย์ แทนธานี รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อกล่าวให้โอวาทสร้างขวัญและกำลังใจในการใช้ชีวิตระหว่างเรียนในมหาวิทยาลัย โดยมี ดร.จรัสดาว คงเมือง รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานิสิต ศิษย์เก่าและศิลปวัฒนธรรม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภาณุ พุทธวงศ์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร รองศาสตราจารย์ ดร.วัฒนา พัดเกตุ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ และคณะผู้บริหารต่างๆ ร่วมรับฟังปัญหาและความต้องการสิ่งสนับสนุนการเรียนของนิสิตที่ต้องศึกษาในตลอด 4 ปี ณ ห้องประชุมเสลา 102 สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยนเรศวร

ภาพจาก: กองกิจการนิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร เปิดตัว 9 คอร์สฟรีผ่าน #NU_MOOC สนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต

มหาวิทยาลัยนเรศวร (ม.นเรศวร) ตอกย้ำบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะในมิติ เป้าหมายที่ 4: การศึกษาที่เท่าเทียมและการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับทุกคน (SDG 4) ผ่านโครงการ #NU_MOOC ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการเรียนออนไลน์ที่เปิดโอกาสให้ผู้สนใจพัฒนาทักษะในหลากหลายด้านได้เข้าถึงการศึกษาโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

ล่าสุด #NU_MOOC เปิดตัว 9 รายวิชาใหม่ที่ออกแบบเพื่อ Upskill และ Reskill ทักษะสำหรับการใช้ชีวิตและการทำงานในยุคดิจิทัล ได้แก่

  1. กราฟิกออร์แกไนเซอร์เพื่อพัฒนาทักษะการคิด
  2. รู้เท่าทันการสื่อสารโน้มน้าวใจ
  3. การสร้างฟิลเตอร์ AR สำหรับ Instagram และ TikTok
  4. การสร้างสื่อนิทานภาพเคลื่อนไหวสำหรับเด็กด้วย AI
  5. การช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐานและการใช้เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติในผู้ใหญ่
  6. การส่งเสริมสุขภาพของมารดาและทารกในระยะหลังคลอดและครอบครัวในชุมชน
  7. การสกัดสารและการทดสอบฤทธิ์จากพืชสมุนไพร
  8. การคำนวณความน่าจะเป็นและสถิติด้วย GeoGebra
  9. การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพ

ผู้เรียนสามารถลงทะเบียนได้ง่ายๆ ผ่าน lifelong.nu.ac.th พร้อมรับใบประกาศนียบัตรหลังเรียนจบ

ขั้นตอนการลงทะเบียน
  1. สมัครสมาชิกที่ ลิงก์ลงทะเบียน
  2. กรอกข้อมูล รับรหัส OTP ยืนยันตัวตน
  3. เลือกรายวิชาและเริ่มเรียนได้ทันที

โครงการนี้จัดทำโดย CITCOMS มหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงเทคโนโลยีการศึกษา และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตตามวิสัยทัศน์การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่: elearning@nu.ac.th
#LifelongLearning #เรียนฟรีมีใบประกาศ #SDG4

ขับเคลื่อนการดำเนินงานสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral University)

วันที่ 23 – 25 สิงหาคม 2567 รองศาสตราจารย์ ดร.ประพิธาริ์ ธนารักษ์ คณะทำงานโครงการฯ พร้อมด้วย นิสิตปัจจุบันและศิษย์เก่าของวิทยาลัยฯ เข้าร่วมกิจกรรมการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรท้องถิ่นเพื่อช่วย “ลด” และ “ชดเชย” (lower & offset) การปล่อยคาร์บอนจนเป็นกลางของเครือข่าย C-อพ.สธ. สำหรับสถาบันอุดมศึกษาภาคเหนือตอนล่าง เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการดำเนินงานสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral University) โดยนิสิตและเครือข่ายฯ ได้เรียนรู้ที่มาและความสำคัญของแนวคิดความเป็นกลางทางคาร์บอน การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ แนวทางการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร กิจกรรมชดเชยคาร์บอน แนวทางการประเมินการลด ดูดซับและการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกจากภาคป่าไม้และภาคการเกษตร การฝึกปฏิบัติการในการวัดต้นไม้แต่ละประเภท การเก็บข้อมูลต้นไม้ในแปลงตัวอย่าง การคำนวณการกักเก็บคาร์บอนของต้นไม้ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ ข้อมูลอากาศยานไร้คนขับและเทคโนโลยีอวกาศสำหรับการหามวลชีวภาพ โครงการนี้เป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง SGtech คณะเกษตรศาสตร์ฯ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ สถานภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศภาคเหนือตอนล่าง กองส่งเสริมการบริการวิชาการ กองพัฒนาคุณภาพการศึกษา กองอาคารสถานที่ และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)

ม.นเรศวร ร่วมมือชุมชนท้องถิ่น รักษาระบบนิเวศและพัฒนาป่าชุมชนอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2567 มหาวิทยาลัยนเรศวร โดย ผศ.ศิษฐ์ภัณฑ์ แคนลา รักษาการผู้อำนวยการกองส่งเสริมการบริการวิชาการ ได้มอบหมายให้บุคลากรกองส่งเสริมการบริการวิชาการ เข้าร่วมประชุมผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในกิจกรรมส่งเสริมการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และสร้างระบบนิเวศในนิคมสร้างตนเองบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ครั้งที่ 3/2567

ภายในที่ประชุม รศ.ดร.ศศิมา เจริญกิจ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ศิลปะและการออกแบบ ได้นำเสนอแผนพัฒนาป่าชุมชน เพื่อสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่าชุมชนอย่างยั่งยืน ทั้งในแง่การอนุรักษ์ระบบนิเวศและการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ การนำเสนอนี้ยังครอบคลุมถึงการพัฒนาป่านิเวศชุมชนให้เป็นแหล่งเรียนรู้และทรัพยากรที่ชุมชนสามารถใช้ร่วมกัน

การประชุมครั้งนี้มี นายสุริชาติ จงจิตต์ ผู้ปกครองนิคมสร้างตนเองบางระกำ เป็นประธาน พร้อมด้วยผู้แทนจากบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำท้องถิ่น และชุมชนกว่า 30 คน ที่ได้ร่วมวางแผนและจัดทำร่างแผนปฏิบัติการสำหรับปีงบประมาณ 2568

มหาวิทยาลัยนเรศวรยังคงมุ่งมั่นสนับสนุนการพัฒนาป่าชุมชนผ่านการประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้ระบบนิเวศและทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ได้รับการอนุรักษ์และพัฒนาร่วมกันอย่างยั่งยืน

Sustainability

NARESUAN UNIVERSITY

Solverwp- WordPress Theme and Plugin