วช. สนับสนุนทีมวิจัย ม.นเรศวร ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตองุ่นไชน์มัสแคทเพื่อการพาณิชย์

วช. สนับสนุนทีมวิจัย ม.นเรศวร ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตองุ่นไชน์มัสแคทเพื่อการพาณิชย์ เผยจุดเด่นทำให้เป็นองุ่นไร้เมล็ด เพิ่มมูลค่า และเก็บเกี่ยวได้ 2 รอบต่อปี ซึ่งนอกจากจะเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรผู้ปลูกองุ่นแล้ว ยังทำให้คนไทยเข้าถึงการบริโภคองุ่นพันธุ์นี้ได้ง่ายขึ้นและลดการนำเข้าจากต่างประเทศเก็บตก… จากงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 กับอีกหนึ่งบูธที่ได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมงานเป็นอย่างมากจากการนำเสนอผลงานที่มุ่งยกระดับผลผลิตทางเกษตรเพื่อการพาณิชย์และการส่งออกในอนาคตของทีมวิจัยจากคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวรที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ในภาคการเกษตร การปลูกผลไม้ให้มีคุณภาพสูง และได้มาตรฐานจนเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศได้นั้น เกษตรกรผู้ปลูกจำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้ เทคโนโลยี และเงินลงทุนค่อนข้างสูง อย่างเช่น การปลูกองุ่นไชน์มัสแคทที่จำเป็นต้องสร้างโรงเรือนและต้นพันธุ์องุ่น รวมทั้งอาศัยหลักการจัดการที่ถูกต้อง โดยใช้เทคโนโลยีการผลิตและหลังการเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จึงได้สนับสนุนทุนวิจัยให้กับโครงการ “การจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตองุ่นไชน์มัสแคทเพื่อการพาณิชย์” ในปีงบประมาณ 2563  ภายใต้โครงการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อชุมชน เพื่อยกระดับกระบวนการผลิตพร้อมทั้งถ่ายทอด สร้างความรู้ความเข้าใจให้เกิดแก่เกษตรกร ตลอดจนเพิ่มศักยภาพและสร้างมาตรฐานการผลิตองุ่นไชน์มัสแคท  เพื่อการพาณิชย์และการส่งออกในอนาคต

โดยมี “รศ.ดร.พีระศักดิ์  ฉายประสาท” ผู้อำนวยการสถานความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นหัวหน้าโครงการ เปิดเผย ถึงที่มาของโครงการดังกล่าวว่า  เนื่องจากทีมวิจัยได้รับการสนับสนุนจากสโมสรโรตารี่สากลในการไปฝึกอบรมพร้อมกับเกษตรกรที่ประเทศญี่ปุ่น ก่อนที่จะกลับมาช่วยพัฒนาการผลิตองุ่นไชน์มัสแคทในประเทศไทย  หลังจากนั้นจึงได้รับทุนวิจัยจาก วช.ในการจัดอบรมเพื่อถ่ายทอดความรู้แก่นักวิชาการ เกษตรกรผู้ปลูกองุ่นไชน์มัสแคทและผู้ที่สนใจในปี 2564

“จากที่เราไปศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่นทั้งเรื่องเทคโนโลยีการปลูก การเก็บเกี่ยว และการเก็บรักษา ซึ่งก็ได้นำมาถ่ายทอดให้กับเกษตรกรจริงๆ ที่เมืองไทยและได้ผลผลิตเรียบร้อยแล้ว  โดยที่ผ่านมามีการถ่ายทอดองค์ความรู้ไปแล้ว 2 รุ่น  เช่น การใช้องุ่นพันธุ์ไชน์มัสแคทต่อยอดกับองุ่นป่า และกระบวนการในการทำให้องุ่นออกดอก และติดผล ซึ่งจุดเด่นของโครงการนื้คือ สามารถทำให้เกิดเป็นองุ่นไร้เมล็ดที่มีราคาสูงขึ้นได้ เกษตรกรผู้ปลูกองุ่นในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างสามารถปลูกจนจำหน่ายได้จริงแล้วในเชิงพาณิชย์  และสามารถเก็บเกี่ยวผลองุ่นได้ถึง 2 รอบต่อปี”รศ.ดร.พีระศักดิ์ กล่าวว่า การพัฒนาการปลูกองุ่นพันธุ์ไชน์มัสแคท ซึ่งมีราคาสูง นอกจากจะทำให้คนไทยเข้าถึงการบริโภคองุ่นพันธ์นี้ง่ายขึ้นแล้ว ยังทำให้กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกองุ่น เช่น ในพื้นตำบลวงฆ้อง อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก มีคุณภาพชีวิตหรือเศรษฐกิจดีขึ้น เนื่องจากมีรายได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 15 % และสามารถลดการนำเข้าองุ่นไชน์มัสแคทได้ ซึ่งในอนาคตทีมวิจัยอยากให้โครงการนี้ขยายพื้นที่ปลูกไปยังจังหวัดอื่นๆ  เพื่อมีการผลิตที่เพียงพอกับความต้องการบริโภคภายในประเทศอย่างไรก็ดี  ภายในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 คณะเกษตรศาสตร์ฯ จากมหาวิทยาลัยนเรศวร  ยังได้ นำผลงาน “การจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตทุเรียนหลงลับแลและหมอนทองเชิงพาณิชย์ในเขตภาคเหนือตอนล่าง” ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก วช. มาจัดแสดง

นอกจากจะมีการฝึกอบรมเกษตรกรในการเรื่องของเทคโนโลยีการปลูก การดูแลรักษา การแก้ปัญหาแพร่ระบาดของแมลง และการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว  ยังมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการตรวจสอบคุณภาพของผลทุเรียน  ทดแทนวิธีการเดิมที่เกษตรกรดูจากสีผิว หนาม และใช้ไม้เคาะ เพื่อประเมินความแก่ของผลทุเรียน โดยเครื่องตรวจสอบความแก่ของผลทุเรียน เป็นเทคโนโลยี NIR (Near Infrared ) ที่นำเข้าจากต่างประเทศ และนำมาพัฒนาเพิ่มเติมในส่วนของสมการที่พัฒนาขึ้นโดยอาศัยการเก็บข้อมูลจริงกว่า 400 ตัวอย่างเพื่อให้การตรวจวัดหาค่าน้ำหนักแห้งในผลทุเรียนที่มีความอ่อน-แก่ในระดับต่าง ๆ  มีความแม่นยำมากขึ้น

ที่มา: เทคโนโลยีเกษตร

นวัตกรรมโปรตีนจิ้งหรีด อันดับ 1 ของเมืองไทยสู่ผู้นำตลาดโลก

เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2565 รศ.ดร.ศรินทร์ทิพย์ แทนธานี รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย และ ผศ.ดร.วรสิทธิ์ โทจำปา คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมงานแถลงข่าว “ความสำเร็จโครงการนวัตกรรมโปรตีนจิ้งหรีด อันดับ 1 ของเมืองไทยสู่ผู้นำตลาดโลก” โดย บริษัท ไทย เอนโท ฟู้ด จำกัด ร่วมกับ บริษัท ไทยชูการ์ เทอร์มิเนิ้ล จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุน ณ ห้องวิคเตอร์ ชั้น 7 สามย่านมิตรทาวน์

โดยวางเป้าหมายเป็นบริษัทผู้นำอุตสาหกรรมการผลิตโปรตีนจิ้งหรีดของไทย พร้อมวางเป้าหมายผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางโปรตีนจิ้งหรีดของโลก และสร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้ภาคการเกษตร ชุมชน สังคม และประเทศ ตั้งเป้ารายได้ 250 ล้านบาทในปี 2566 ด้วยสัดส่วนการขายในประเทศ 30% และต่างประเทศ 70% โดยเบื้องต้นโครงการมีมูลค่าการลงทุน 200 ล้านบาท เพื่อสร้างโรงงานและจัดหาเครื่องจักร รวมถึงร่วมผลักดันทางการตลาดด้วยฐานลูกค้าอุตสาหกรรมที่บริษัทมีอยู่เดิม สำหรับโรงงานแปรรูปผงโปรตีนจิ้งหรีดสามารถเริ่มการผลิตได้ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2565นี้ โดยมีกำลังการผลิตผงโปรตีนจิ้งหรีดมากกว่า 1,200 ตันต่อปี โครงการนี้ถือเป็นความสำเร็จของการนำโครงการวิจัยที่มีการร่วมทุนของภาครัฐและภาคเอกชน ไปขยายผลเชิงพาณิชย์ได้อย่างเป็นรูปธรรม ที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยนเรศวร “University for Entrepreneurial Society” ภายใต้ชื่อโครงการวิจัย “โครงการนวัตกรรมการผลิต Insect-based functional ingredients สําหรับอุตสาหกรรมอาหารและอาหารสัตว์แบบครบวงจรด้วยระบบ Modern insect farming และ Zero-waste” ซึ่งเป็นโครงการวิจัยต่อเนื่อง 3 ปี ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก สกสว. (ปีที่ 1) และ บพข. (ปีที่ 2) โดยมี ผศ. ดร. ขนิษฐา รุตรัตนมงคล คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นหัวหน้าโครงการ โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตโปรตีนทางเลือกและส่วนประกอบฟังก์ชั่นมูลค่าสูงจากแมลงสู่การผลิตในระดับอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่งได้ศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อผลิตโปรตีนคุณภาพสูงจากแมลงในระดับอุตสาหกรรม รวมถึงพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตส่วนประกอบจากแมลงที่มีมูลค่าสูง เช่น โปรตีนเข้มข้น โปรตีนไฮโดรไลเสท เปปไทด์ที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพ และน้ำมัน เป็นต้น เป้าหมายหลักได้แก่ อุตสาหกรรมอาหารแปรรูปและเครื่องดื่ม และรับจ้างผลิตเจาะตลาดโออีเอ็ม ขณะที่กลุ่มลูกค้าประชาชนขายในรูปของอาหาร หรือขนม ที่มีส่วนผสมของผงโปรตีนและผงโปรตีนเวย์ เพื่อการออกกำลังกาย

ที่มา: งานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

Mango AI แอปพลิเคชั่นปัญญาประดิษฐ์ ยกระดับเกษตรกรไทยยุคใหม่ ด้วยนวัตกรรม

พัฒนาโดย รศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท คณะเกษตรศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยงบประมาณสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ที่จัดสรรให้กับโครงการวิจัยภายใต้แผนงานการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (BCG in Action)

ประเทศไทยมีพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ มีทรัพย์ในดิน สินในน้ำ ร่ำรวยด้วยทรัพยากรธรรมชาติ เพาะปลูกพืชผลใดๆ ก็งอกงาม แต่แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศทึ่พี่งพาจีดีพีจากภาคเกษตรมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก แต่ความจริงที่น่าเจ็บปวดคือ คุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยกลับไม่ดีเท่าที่ควร เพราะแม้จะเพาะปลูกและได้ผลผลิตออกตามฤดูกาล แต่ก็ขาดการเกษตรแม่นยำสูง ส่วนใหญ่ยังพึ่งพาฟ้าฝนและองค์ความรู้ในการทำการเกษตรแบบดั้งเดิมเป็นหลัก

แต่น่ายินดีที่หน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐหันมาให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาสนับสนุนภาคการเกษตรด้วยความร่วมมือแบบบูรณาการมากขึ้น หนึ่งในนั้นที่น่าสนใจและเป็นนวัตกรรมล่าสุดที่น่าจับตา คือ Mango AI ระบบแจ้งเตือนอัจฉริยะสําหรับการผลิตมะม่วง ที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยนเรศวร จากการสนับสนุนทุนวิจัยของ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ซึ่งสวนรวงทองและกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ จังหวัดพิษณุโลก นำไปทดลองใช้แล้วได้ผลสัมฤทธิ์ที่น่าพึงพอใจ

อ่านข่าวเพิ่มเติมได้ที่ : Mango AI แอปพลิเคชั่นปัญญาประดิษฐ์
ที่มา: Salika.co

ร่วมกิจกรรมส่งเสริมด้านการดูแลสิ่งแวดล้อม ในสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ครั้งที่ 33

เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2565 คณาจารย์และนิสิตสาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม เข้าร่วมการจัดกิจกรรมออกบูธประชาสัมพันธ์หลักสูตรในสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ครั้งที่ 33 “เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว” BCG: Bio-Circular Green Economy ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยมีนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปลายในจังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดใกล้เคียง เข้าร่วมโครงการดังกล่าว

ในการนี้ สาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม นำโดย ผศ.ดร.พีรญา อึ้งอุดรภักดี หัวหน้ากลุ่มสาขาอนามัยสิ่งแวดล้อมและอาชีวอนามัย พร้อมด้วย ผศ.ดร.พันธ์ทิพย์ หินหุ้มเพ็ชร รองคณบดีฝ่ายประกันคุณภาพการศึกษา และ คณาจารย์ประจำสาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม และนิสิตสาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม ประชาสัมพันธ์หลักสูตรพร้อมทำกิจกรรมต่าง ๆ ในบูธแสดงการทดสอบพารามิเตอร์ต่าง ๆ ด้านคุณภาพทางสิ่งแวดล้อม และคุณภาพด้านสุขาภิบาลอาหาร ให้ความรู้ด้านการจัดการขยะของเสียอันตราย และเชิญชวนน้อง ๆ นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายเพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยต่อไป

ทางสาขาวิชาฯ ต้องขอบคุณนิสิตที่ช่วยเหลือสาขาวิชาฯ ในการประชาสัมพันธ์หลักสูตรฯ ในครั้งนี้ เชื่อว่าพลังงานดี ๆ ที่นิสิตได้ถ่ายทอดไปให้แก่น้อง ๆ ทุกคน จะเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจเข้าเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นของน้อง ๆ ต่อไป

ที่มา: สาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม คณะสาธารณสุขศาสตร์ มน.

รายการ รักไม่รู้โรย เรื่อง ปัญหาเต้านมคัดตึงในคุณแม่

วิทยากร : อาจารย์กนกอร มังกรประดิษฐ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการพยาบาลมารดาและทารก
ผู้ดำเนินรายการ : ผศ.ดร.วรวรรณ์ ทิพย์วารีรมย์ อาจารย์ประจำคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

วันเวลาออกอากาศ : ทุกวันเสาร์ เวลา 18.30 – 19.00 น.
ผ่านคลื่น : F.M. 107.25 MHz สถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยนเรศวร

ผ่านเว็บไซต์ : https://nuradio.nu.ac.th/?p=5168
ผ่าน Youtube : https://youtu.be/FNgf0CzEsc8

ที่มา: สถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยนเรศวร NUradio Naresuan

โอเคเบตง ถอดประสบการณ์ตรงครูจากผู้ใช้ Q-Info

“…ให้ลองคิดภาพว่าแต่ก่อนครูคนหนึ่งต้องจัดการข้อมูลนักเรียนมากมายแค่ไหน เด็กคนเดียวมีใบ ปพ.1 ถึง ปพ.9 ชั้นหนึ่งมีเด็กกี่คนก็คูณเข้าไป จะหยิบมาใช้แต่ละที เอกสารจิปาถะเหล่านี้ก็กองกระจัดกระจายเต็มโต๊ะ แต่พอข้อมูลเหล่านี้เปลี่ยนเป็นดิจิทัลแพลตฟอร์ม จากกระดาษย้ายไปอยู่บนหน้าจอ เราเข้าถึงข้อมูลได้เร็วมาก ดูผ่านสมาร์ทโฟนบนฝ่ามือได้เลย ทีนี้จะหาข้อมูลก็ง่าย ประหยัดทรัพยากร หรือวางแผนจัดการทุกอย่างในโรงเรียนก็ทำได้สะดวกขึ้น ที่สำคัญเลยคือลดภาระงานครู ครูก็มีเวลาติดตามแก้ปัญหาให้เด็กใกล้ชิดเป็นรายคนจริง ๆ โอกาสเสี่ยงหลุดมันก็ลดลง จากประสบการณ์ของโรงเรียนเราที่นำมาใช้ ต้องบอกว่ากลไกทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้น ๆ เท่านั้น”

เสียงยืนยันจาก ผู้อำนวยการนิษฐเนตร เทพเกื้อ โรงเรียนบ้านตาเนาะแมเราะ อ.เบตง จ.ยะลา 1 ในโรงเรียนต้นแบบจากโรงเรียนกว่า 1,500 แห่ง ทุกสังกัดทั่วประเทศ ที่นำระบบสารสนเทศเพื่อส่งเสริมคุณภาพการศึกษา ‘Q-Info’ (Quality Learning Information System) ซึ่งวิจัยและพัฒนาโดย กสศ. และ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร มาใช้จัดการโรงเรียน และเห็นผลความเปลี่ยนแปลงในเวลาอันสั้น

Q-Info เป็นเครื่องมือติดตามดูแลนักเรียนรายบุคคลในมิติแวดล้อมทุกด้าน(Student Profile) ซึ่งจะบันทึกและแสดงผลการเรียน การเข้าเรียน สุขภาพกาย สุขภาพจิต สถานะเศรษฐกิจ และสถานภาพครอบครัว ออกแบบให้สอดคล้องกับการดำเนินงานภายในโรงเรียน ช่วยครูจัดงานสอนหรืองานทะเบียนวัดผล และเป็นตัวช่วยผู้บริหารสถานศึกษาในการจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษา ทั้งระยะสั้นและระยะยาว

เมื่อเปลี่ยนเอกสารกองมหึมาเป็นฐานข้อมูลบนฝ่ามือได้ เวลาของครูก็คืนกลับมา

ครูรีซูวัน ดอเลาะ โรงเรียนบ้านตาเนาะแมเราะ เล่าถึงช่วงเวลาเริ่มต้นใช้งาน Q-Info ที่โรงเรียนว่า “เป็นธรรมดาที่พอมีสิ่งใหม่เข้ามา การรับรู้ของบุคลากรก็แตกเป็นสองฝ่าย มีทั้งคนที่ยังไม่เปิดใจ กังวลว่าจะใช้เป็นไหม หรือเครียดว่าต้องทำยังไง กับอีกฝ่ายหนึ่งที่ชำนาญเรื่องเทคโนโลยีมากกว่า พวกนี้จะมองเห็นระบบ เข้าใจขั้นตอน ไปจนถึงตระหนักว่าการนำนวัตกรรมมาใช้ จะส่งผลดีในวันข้างหน้าอย่างไร

“ถ้าจะทำให้ทุกคนเห็นภาพไปทางเดียวกัน มันต้องทำงานเป็นทีม วิธีของโรงเรียนเราคือให้ครูทุกคนได้ทดลองล็อกอิน กรอกข้อมูล จัดลำดับขั้นตอนใช้งาน จากนั้นเราจะแยกคนที่ทำได้กับยังไม่เข้าใจออกจากกัน แล้วให้จับคู่ทำไปพร้อมกัน โดยมีครูแกนนำอีกคนหนึ่งพาทำบนจอใหญ่ ค่อยทำความรู้จักไปทีละเมนู ทีละคุณลักษณะ(Feature) ทีละคุณสมบัติ(Function) พอเริ่มเข้าใจมากขึ้นก็ลองทำซ้ำ ๆ ทีละคน ไม่นานทุกคนก็สามารถทำได้

“แน่นอนว่าช่วงแรกคือตอนเปิดภาคเรียนที่หนึ่ง เราจะเจอความทุลักทุเลอยู่บ้าง มีคนท้อ มีคนไปช้ากว่าคนอื่น แต่เพราะเรามีบัดดี้ที่คอยดูแลไม่ทิ้งกันอยู่ สักพักอุปสรรคก็ค่อย ๆ หมดไป จนเข้าเทอมสอง ผลดีมันค่อย ๆ ปรากฏ ครูเริ่มสบาย คราวนี้เขาเริ่มเห็นแล้วว่าไม่ต้องกรอกข้อมูลซ้ำ ๆ เหมือนเดิม จบปีเก่าผ่านไปถึงปีการศึกษาใหม่ ข้อมูลก็ยังอยู่ จะดึงเอามาใช้ก็ก็อปปี้วางได้เลย สะดวกรวดเร็วมาก ๆ แล้วที่ทุกคนชอบใจคือไม่ต้องหอบแฟ้มเอกสารเล่มหนา ๆ ติดตัวอีกแล้ว แค่พกสมาร์ทโฟนเครื่องเดียวเปิดทำตรงไหนก็ได้ มีข้อมูลอัพเดทเรียลไทม์ เรียกดูและติดตามผลได้ตลอด คือแค่เราเสียเวลายุ่งยากเทอมเดียว แต่จากนั้นโรงเรียนจะมีฐานข้อมูลที่ไม่สูญหาย ไม่ว่าจะผ่านไปอีกสิบหรือยี่สิบปีก็ยังอยู่ตรงนั้น”                   

ครูรีซูวันกล่าวว่า สำหรับครูแล้ว งานเอกสารที่ลดลงเท่ากับการได้ ‘เวลา’ เพิ่มขึ้น ใน 1 วันที่มี 24 ชั่วโมงเท่าเดิม ซึ่งอีกด้านหนึ่งหมายถึงครูมีชั่วโมงสำหรับการจัดเตรียมการสอนมากขึ้น การติดตามเอาใจใส่นักเรียนทีละคนก็ทำได้เต็มที่

“พองานเอกสารลดลง เวลาที่เพิ่มขึ้นมาเราสามารถเอาไปใช้พัฒนาทั้งคุณภาพการเรียนการสอน และปรับปรุงระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนให้ดีขึ้น พอสองสิ่งนี้มีประสิทธิภาพ จำนวนนักเรียนกลุ่มเสี่ยงหลุดจากระบบก็น้อยลง”

ระบบตรวจจับความเสี่ยง เตือนทันทีก่อนสายเกินแก้

นอกจากลดภาระงานครู Q-Info ยังมีระบบแจ้งเตือนที่ทำให้มองเห็นความผิดปกติของเด็กได้อย่างรวดเร็ว จากการประเมินผ่านตัวชี้วัดต่าง ๆ โดยเมื่อทำการกรอกข้อมูลพื้นฐานของนักเรียนแล้ว ระบบจะแจ้งเตือนผลตัวชี้วัดของนักเรียนกลุ่มเสี่ยงที่มีคะแนนต่ำกว่าเกณฑ์ ซึ่งครูสามารถนำมาออกแบบแผนการดูแลเด็กเป็นรายคน หรือเป็นรายวิชา

ส่วนเรื่องการติดตามนักเรียน ครูประจำชั้นจะได้รับการประมวลผลข้อมูลจากบันทึกการเข้าเรียนของเด็กในแต่ละวัน ผลที่แสดงจะเป็นข้อมูลเรียลไทม์ซึ่งทั้งครูและผู้บริหารเรียกดูได้ทันที ว่าวันนั้น ๆ นักเรียนขาดกี่คน ใครลาป่วย ลากิจ ใครหยุดเรียนหายไปเฉย ๆ หรือคนไหนที่ขาดเรียนบ่อย ๆ หยุดเกิน 2-3 วันติดต่อกัน ระบบจะแจ้งเตือนทันที เพื่อให้มีการติดตามหรือลงพื้นที่เยี่ยมบ้านรับทราบปัญหา ก่อนจะสายเกินไป

ครูรีซูวันระบุว่า Q-Info คือนวัตกรรมที่ช่วยพัฒนาการเรียนการสอนของครู และเปลี่ยนแปลงโรงเรียนทั้งระบบในระยะยาวได้โดยตรง ด้วยการบันทึกข้อมูลเชิงลึกที่ละเอียด ครบรอบด้าน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการทำรายงานในแต่ละภาคการศึกษา ก่อนการประชุมทบทวนข้อบกพร่อง และหาแนวทางพัฒนาหลักสูตรที่โรงเรียนใช้ในแต่ละเทอม

“ระบบแสดงให้เราเห็นได้หมด ว่าแต่ละภาคแต่ละเทอม เด็กชั้นหนึ่งห้องหนึ่งมีเกรดเฉลี่ยสูงต่ำอย่างไร ค่าตัวเลขพวกนี้เองที่จะสะท้อนให้เห็นว่าเราต้องปรับปรุงหลักสูตรหรือการเรียนการสอนตรงไหน เพิ่มหรือลดอะไร อะไรคือจุดแข็งจุดอ่อน แล้วบทสรุปที่ได้จากข้อมูลนี้ จะนำมาใช้แก้ปัญหาของโรงเรียนหรือของนักเรียนได้ในทันที รวมถึงยังเป็นข้อมูลอ้างอิงในการจัดสรรงบประมาณของโรงเรียนในภาคเรียนถัดไปได้อีกด้วย”

ผู้อำนวยการนิษฐเนตร กล่าวสรุปว่าการใช้ระบบ Q-Info ในระยะยาว จะกลายเป็นกลไกที่เชื่อมต่อสถานศึกษาทั้งประเทศไว้ด้วยกัน ทำให้การส่งรับข้อมูลหรือส่งต่อเด็กนักเรียนง่ายขึ้น นอกจากนี้ผลดีที่เกิดขึ้นกับโรงเรียนและนักเรียน ยังทำให้ครูได้เห็นประโยชน์ เห็นคุณค่าที่แท้จริงของข้อมูล และช่วยตอบคำถามไปในตัวว่า ‘เราเก็บข้อมูลของเด็ก ๆ กันไปทำไม’ เพราะสิ่งที่ครูทุกท่านลงใจลงแรงไปนั้น ท้ายที่สุดแล้ว ข้อมูลเหล่านี้เองที่จะกลับมาพัฒนาตัวนักเรียนได้จริง ๆ”

ที่มา: กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

ม.นเรศวร ร่วม กสศ. จับมือ สพฐ. เปิดระบบสารสนเทศการดูแลช่วยเหลือนักเรียน คัดกรองความเสี่ยงหลุดระบบการศึกษา 6 ด้าน

เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2565 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พร้อมด้วย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมกันชี้แจงการดำเนินงานโครงการพัฒนาระบบสารสนเทศการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 โดยมีครูผู้ปฏิบัติงาน ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่ และเจ้าหน้าที่เขตพื้นที่การศึกษาจาก 26 เขตพื้นที่ครอบคลุม 4 ภูมิภาค เข้าร่วมรับฟังแนวทางการทำงานด้านข้อมูล ปฏิทินการดำเนินงาน และการใช้เครื่องมือคัดกรองความเสี่ยงของนักเรียน เพื่อป้องกันการหลุดออกจากระบบการศึกษาของนักเรียนกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส

ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.)

ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ขณะนี้ สพฐ. อยู่ระหว่างดำเนินการหารือและพัฒนาเครื่องมือจัดเก็บข้อมูลนักเรียนกลุ่มเสี่ยงให้สอดรับกับนโยบายกระทรวงศึกษาธิการเรื่องความปลอดภัยในโรงเรียน โดยหนึ่งในความปลอดภัยคือนักเรียนต้องได้รับการประเมิน คัดกรอง และการดูแลผ่านการทำงานระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ซึ่งจากการทำงานของ สพฐ. ร่วมกับ กสศ. โดยมีทีมวิจัยและพัฒนาระบบสารสนเทศ จากมหาวิทยาลัยนเรศวร ช่วยคิดค้นนวัตกรรม พัฒนาการจัดเก็บข้อมูลการรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล การคัดกรองความเสี่ยงนักเรียน โดย สพฐ. เล็งเห็นความสำคัญในการทำงานเรื่องดังกล่าว โดยใช้กลไก ฉกชน. ส่วนภูมิภาค เพื่อคัดเลือกพื้นที่นำร่องตั้งแต่ปีการศึกษา 2564 ถือเป็นโอกาสดีที่ สพฐ. จะได้เดินหน้านโยบายความปลอดภัยในโรงเรียนไปพร้อมกัน

“จากการใช้งานระบบสารสนเทศการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ทำให้เราได้รู้ข้อมูลว่ายังมีความไม่ปลอดภัยในตัวนักเรียนอยู่อีกมาก โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 หรือ 2 ปีกว่าที่ผ่านมา เมื่อกลับมาเปิดเรียน On Site ในช่วงนี้ ทำให้ได้เห็นว่านักเรียนมีปัญหาที่ค่อนข้างซับซ้อนขึ้น โดยเฉพาะปัญหาในเรื่องของสุขภาพจิต มีหลายปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวนักเรียน ทำให้เราต้องหันกลับมาให้ความสำคัญและให้ความสนใจกับระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนในสถานศึกษาให้มากขึ้น” 

เลขาธิการ กพฐ.  กล่าวต่อไปว่า การจะทำให้เด็กคนหนึ่งมีความปลอดภัยและได้รับการช่วยเหลือดูแลอย่างจริงจัง ต้องเกิดจากความร่วมมือของผู้ปกครองเป็นลำดับแรก ในขณะที่ตัวนักเรียนก็ต้องมีความเข้าใจว่าในภาวะที่กำลังประสบปัญหาต้องทำอย่างไร ลำดับถัดมาคือสถานศึกษา ประกอบด้วยผู้บริหาร ครู ตลอดจนเพื่อนในโรงเรียนเดียวกัน ไปจนถึงบทบาทของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในการสนับสนุนและรวมถึงระบบของ สพฐ. เอง ซึ่งขณะนี้ได้วางระบบเรื่องความปลอดภัยไว้ทั้งระบบแล้ว

“แต่สิ่งที่เราอยากได้และอยากทำตรงนี้ให้สมบูรณ์ขึ้นไปอีก คือหากเรามีระบบสารสนเทศเพื่อเก็บฐานข้อมูลที่ดี ก็เหมือนกับเราได้เริ่มต้นจัดทำแฟ้มประวัติคนไข้ให้กับนักเรียนของเรา ทุกคนจะมีแฟ้มประวัติของตนเอง ซึ่งในแฟ้มประวัตินี้จะมีข้อมูลการคัดกรองทุกๆ ด้านของนักเรียน เวลาเราส่งต่อนักเรียนในแต่ละช่วงชั้นก็จะทำให้เรารู้สภาพของนักเรียน มีการประเมินนักเรียนเป็นระยะและบันทึกไว้ในแฟ้มประวัตินี้ ผมคิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการจัดการศึกษาของเราเป็นอย่างยิ่ง”

ทั้งนี้ เลขาธิการ กพฐ. ได้มอบหมายให้สถานศึกษาใน 26 เขตพื้นที่การศึกษานำร่อง ร่วมกันถอดบทเรียนว่าเมื่อได้จัดเก็บประวัตินักเรียนแล้ว เห็นจุดเด่น จุดด้อย หรือข้อบกพร่องอะไรบ้าง ทั้งในส่วนของการดำเนินงานและเครื่องมือที่ใช้ แล้ววิเคราะห์ว่าจะต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแก้ไขอย่างไร โดยมั่นใจว่าถ้าหากการทดลองในโรงเรียนนำร่องทั้ง 26 เขตประสบความสำเร็จ ปีการศึกษาหน้า สพฐ. จะนำเครื่องมือนี้ขยายผลไปยังสถานศึกษาในสังกัดทุกแห่ง

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ.

ด้าน ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้กล่าวขอบคุณ สพฐ. ที่ให้ความร่วมมือในการเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาระบบสารสนเทศการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในการบันทึกประวัติศาสตร์การศึกษาไทยด้านการดูแลช่วยเหลือนักเรียน และถือเป็นการต่อยอดการทำงานตามนโยบายพาน้องกลับมาเรียนของนายกรัฐมนตรี โดยยืนยันว่าการจัดเก็บข้อมูลนักเรียนผ่านระบบสารสนเทศ จะช่วยให้นักเรียนที่ประสบปัญหาได้รับการดูแลช่วยเหลืออย่างเป็นระบบมากขึ้น

“เมื่อเรามีโอกาสพาน้องๆ กลับมาสู่โรงเรียนได้แล้ว เราน่าจะมีโอกาสดูแลรักษาไม่ให้เขาหลุดจากระบบซ้ำอีก ระบบสารสนเทศการดูแลช่วยเหลือนักเรียนนอกจากดึงเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษากลับมาได้แล้ว ยังมีโอกาสช่วยส่งต่อเด็กๆ เหล่านี้ให้ได้เรียนต่อในระดับสูงสุดตามที่พวกเขาต้องการได้อย่างเต็มศักยภาพด้วย แต่น้องๆ เหล่านี้จะไม่มีโอกาสเดินทางไปถึงจุดนั้นได้เลยหากไม่มีระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่คอยดูแล คุ้มครอง ป้องกัน ไม่ให้เขาหลุดออกไปจากระบบการศึกษาได้อีก”

ดร.ไกรยส ภัทราวาท กล่าวว่า ปีการศึกษา 2565 กสศ. ร่วมกับ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้พัฒนาระบบสารสนเทศการดูแลช่วยเหลือนักเรียนให้เป็นระบบ One Application หรือเรียกสั้นๆ ว่าระบบ One App โดยบูรณาการกับฐานข้อมูลปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน,ระบบ DMC, ระบบ CCT ซึ่งลดขั้นตอนการกรอกข้อมูลซ้ำซ้อนในการออกเยี่ยมบ้านเพื่อคัดกรองและทำความรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคลแต่ละครั้ง มีเป้าหมายลดภาระด้านงานเอกสารของคุณครูลงกว่าร้อยละ 80

“การเก็บข้อมูลลงระบบ One App ให้เป็นระบบเดียวกัน คุณครูจะทำงานครั้งเดียวแต่สามารถเรียกใช้ข้อมูลได้ทั้งการรายงานข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็กและรายงานผลต่างๆ ไปยังผู้บริหารสถานศึกษาในลำดับถัดไปได้ เราตั้งใจที่จะทำให้การทำงานด้านข้อมูลเป็นการทำงานครั้งเดียวและสามารถนำไปใช้ได้หลายๆ ครั้ง โดยใช้เวลาสั้นที่สุดและไม่ต้องใช้กระดาษ สถานศึกษาใน 26 เขตพื้นที่นำร่องจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ใช้ One App ขยายไปสู่เขตพื้นที่การศึกษาอื่นๆ ต่อไป”

ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวต่อไปว่า หลังจากคุณครูกรอกข้อมูลนักเรียนเข้าสู่ระบบสารสนเทศ นอกจากเด็กๆ จะได้รับการดูแลในระบบการศึกษา เด็กทุกคนยังจะได้เข้าสู่ระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษา เช่น บางคนเมื่อจบการศึกษาภาคบังคับอาจไปเรียนต่อ กศน. หรือได้รับการพัฒนาทักษะอาชีพไปเป็นผู้ประกอบการ มีงานทำ มีรายได้ โดย กสศ. จะรับหน้าที่เชื่อมต่อข้อมูลไปยังภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้รับช่วงต่อในการดูแลเด็กแต่ละคน เช่น ทุน กยศ. หรือทุนอื่นๆ จากภาคเอกชน

“ท้ายที่สุดไม่ว่าน้องๆ จะเลือกเส้นทางไหน ล้วนแล้วแต่เป็นเป้าหมายของระบบการศึกษาทั้งนั้น คือมีเส้นทางที่มีความยืดหยุ่นเพียงพอตามความถนัดเป็นรายบุคคล ซึ่งทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้อย่างยั่งยืน ถ้าเราไม่มีระบบช่วยเหลือดูแลนักเรียนด้วยทางเลือกที่หลากหลาย เราไม่ได้มองโจทย์ไปที่เรื่องการศึกษาเพียงอย่างเดียว แต่เรามองว่าต้องมีเส้นทางการพัฒนาทักษะตามศตวรรษที่ 21 ทักษะสังคม เรื่องของอารมณ์ หรือปัญหาอื่นๆ ที่ทำให้เด็กต้องหลุดออกจากระบบการศึกษาแม้มีศักยภาพก็ตาม”

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2561 กสศ. ได้ทำงานร่วมกับ สพฐ. จัดทำฐานข้อมูลนักเรียนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส เพื่อการจัดสรรทุนเสมอภาค สร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง โดยมีจุดเน้นต่อไปในปีการศึกษา 2565-2566 คือมุ่งการทำงานในเชิงคุณภาพ โดยจะขยายการทำงานไปในมิติด้านสุขภาพทั้งกายและจิต พฤติกรรม การเรียน และความถนัดเฉพาะด้านเป็นรายบุคคล ซึ่งระบบสารสนเทศการดูแลช่วยเหลือนักเรียนให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้เป็นอย่างมาก

ระบบสารสนเทศการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 ได้เปิดระบบให้คุณครูดำเนินการรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล คัดกรองความเสี่ยง ประเมินจุดแข็งจุดอ่อน (SDQ) ประเมินความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) และการติดตามการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม ถึง ตุลาคม 2565  โดยจุดเน้นการทำงานในปีนี้ มีการปรับปรุงแบบฟอร์มจัดเก็บรวบรวมข้อมูลที่ครอบคลุมทุกมิติ สอดรับกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPA โดยมั่นใจได้ว่าข้อมูลส่วนตัวของนักเรียนทุกคนจะได้รับความปลอดภัย และการปรับปรุงระบบสารสนเทศ ให้คุณครูมีความสะดวกและประหยัดเวลาในการทำงานมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการจัดทำหน้าสรุปรายงาน การติดตามนักเรียนที่มีแนวโน้มความเสี่ยงแบบเรียลไทม์ ผ่านหน้ารายงานผลแบบ Dashboard สถานการณ์ รายชั้นเรียน รายสถานศึกษา รายเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อสนับสนุนการทำงานตั้งแต่ระดับพื้นที่จนถึงการจัดทำนโยบายเพื่อการส่งต่อโอกาสทางการศึกษาเป็นรายบุคคล 

ไฟฟ้าไม่มีวันหลับ

วันพุธที่ 13 กรกฏาคม 2565 บุคลากรกองอาคารสถานที่และหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการบำรุงรักษาสถานีไฟฟ้าย่อย มหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อให้อุปกรณ์ต่างๆอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ ยั่งยืน ยืดอายุการใช้งาน ควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิดโดย นายรุ่งรัตน์ พระนาค ผู้อำนวยการกองอาคารสถานที่และมีกำหนดจ่ายกระแสไฟฟ้า ในเวลา 16.00 น. ขออภัยในความไม่สะดวกมา ณ ที่นี้

ที่มา: กองอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร ร่วมสร้างความรู้ ความเข้าใจพื้นฐานการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาและลอยน้ำ และพัฒนาพลังงานทดแทนเพื่อนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน

สมาคมไฟฟ้าและพลังงานไอทริปเปิลอี (ประเทศไทย) หรือ IEEE Power & Energy Society (Thailand) ร่วมกับ วิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนเรศวร (SGtech) เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจพื้นฐานการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาและลอยน้ำ และพัฒนาพลังงานทดแทนเพื่อนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน โดยการสนับสนุนวิชาการจาก พพ., บีโอไอ, กฟผ., กฟภ., กฟน., ผู้ออกแบบและผู้ผลิต, บริษัทผู้ประกอบการ และ สถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้มีประสบการณ์ในงานภาคปฏิบัติโดยตรง โดยมีผู้บริหาร SGtech เข้าร่วมบรรยาย

1. รองศาสตราจารย์ ดร.นิพนธ์ เกตุจ้อย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศสมาร์ตกริดเทคโนโลยีแห่งเอเชียแปซิฟิก SGtech บรรยายในหัวข้อ “ความรู้พื้นฐานการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาและลอยน้ำ”
2. ดร.ยอดธง เม่นสิน รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ บรรยายหัวข้อ “ระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาร่วมกับแบตเตอรี่และการรับซื้อ – ขายไฟฟ้าแบบ Peer-to-Peer ของ Prosumer ด้วยเทคโนโลยี Blockchain”

โดยงานสัมมนาจัดขึ้น ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 18 – 20 กรกฎาคม 2565
ที่มา: วิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร ร่วมกิจกรรม Kick Off “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง”

วันที่ 28 กรกฏาคม 2565 นายรุ่งรัตน์ พระนาค ผู้อำนวยการกองอาคารสถานที่พร้อมด้วยตัวแทนของมหาวิทยาลัยนเรศวรเข้าร่วมกิจกรรม Kick Off “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” โดย นายรณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เป็นประธานเปิดกิจกรรม ณ บริเวณพื้นที่ต้นแบบการเรียนรู้ชุมชนพัฒนาแบบยั่งยืนแปลงสาธิตจากส้มซ่าสู่ท่าโพธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก โดยมี นายนิสิต สวัสดิเทพ นายอำเภอเมืองพิษณุโลก กล่าวรายงานความเป็นมาโครงการซึ่งระบุว่าอำเภอเมืองพิษณุโลกได้รับการคัดเลือกเป็นอำเภอนำร่อง ตามโครงการอำเภอนำร่องบำบัดทุกข์บำรุงสุขแบบบูรณาการและสร้างนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลง กระทรวงมหาดไทยประจำปีงบประมาณ 2565 ระดับกลุ่มจังหวัด 18 กลุ่ม 18 อำเภอ

ที่มา: กองอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยนเรศวร

Sustainability

NARESUAN UNIVERSITY

Solverwp- WordPress Theme and Plugin