Archives 2018

ม.นเรศวร ร่วมประกาศสงครามขยะ  ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ เพิ่มมูลค่า 

เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2561  ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กาญจนา เงารังษี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและบุคลากรมหาวิทยาลัยร่วมพิธีเปิดโครงการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ณ บริเวณโรงผลิตปุ๋ยอินทรีย์  มหาวิทยาลัยนเรศวร 

ผู้ช่วยศาสตจราจารย์ ดร.ดลเดช ตั้งตระการพงษ์ ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่าจากนโยบาย Zero Waste ของอธิการบดี ที่ต้องการให้มหาวิทยาลัยปลอดขยะ และเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว อีกทั้งในวันที่ 4 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันสิ่งแวดล้อมไทย กำหนดจัดขึ้นเพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้านการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งประเทศไทยมีอาชีพเกษตรกรรมเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ  การใช้ปุ๋ยอินทรีย์เป็นองค์ประกอบที่สำคัญสำหรับการทำการเกษตรแบบยั่งยืน ไม่เป็นมลพิษต่อพืชพรรณและสิ่งมีชีวิตในดิน ตลอดจนไม่ส่งผลกระทบในเชิงลบต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม 

การจัดโครงการ “ปุ๋ยอินทรีย์”ในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสืบสานพระราชปณิธานด้านการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กองอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยนเรศวร จึงเดินหน้าเปิดโครงการ เพื่อมุ่งหวังให้บุคลากร นิสิตของมหาวิทยาลัยนเรศวร รวมทั้งชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัย ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม หันกลับมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี  ซึ่งสามารถลดต้นทุนการผลิต อีกทั้งช่วยลดปริมาณขยะที่เกิดจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ให้ความสำคัญกับการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร (กิ่งไม้ ใบไม้) มาใช้ให้เกิดประโยชน์ นำแนวคิดรวมทั้งนำความรู้ที่ได้จากการจัดกิจกรรมต่อยอดไปยังครัวเรือนของตนเองได้ ซึ่งตรงกับนโยบาย Zero Waste ที่มุ่งหวังให้มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว ปราศจากขยะ   

ภายหลังจากการจัดโครงการ “ผลิตปุ๋ยอินทรีย์” มหาวิทยาลัยนเรศวรได้ร่วมประกาศสงครามขยะ ด้วยการเปิดโครงการ  “คัดแยกขยะ”คัดแยกขยะ ก่อนทิ้ง ทิ้งให้ถูกที่ ถูกถังณ โครงการขนส่งมวลชน มหาวิทยาลัยนเรศวร  ผู้ช่วยศาสตจราจารย์ ดร.ดลเดช ตั้งตระการพงษ์ ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยนเรศวรกล่าวว่าจากนโยบายที่ต้องการให้มหาวิทยาลัยปลอดขยะ กองอาคารสถานที่มีความมุ่งหวังอยากให้เกิดการคัดแยกขยะ เนื่องจากปัจจุบันขยะของมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องมีการคัดแยกขยะ ให้สามารถนำขยะนั้นไปรีไซเคิลหรือจำหน่ายได้ โดยจะมีถังแยกขยะเกิดขึ้นตามจุดต่างๆของมหาวิทยาลัย  พร้อมทั้งการส่งเสริมให้นิสิต และประชาคมร่วมกันคัดแยกขยะ ก่อนการนำขยะไปรีไซเคิล  ส่วนขยะที่เป็นขยะอินทรีย์หรือขยะที่เป็นเศษอาหาร ก็จะแยกทำเป็นปุ๋ยหมัก ดังนั้นความเป็นไปได้ที่มหาวิทยาลัยนเรศวรจะปลอดขยะ ตามนโยบาย Zero Waste คงเกิดขึ้นได้ไม่ยากในอนาคตอันใกล้นี้ นอกจากนั้นยังเป็นการประกาศสงครามขยะของมหาวิทยาลัยนเรศวร ตามแนวทางของจังหวัดพิษณุโลกอีกด้วย 

“ม.นเรศวร-Change ” ร่วมปกป้องนักวิจัย ปมยกเลิกใช้สารเคมีพาราควอต

ม.นเรศวร พร้อมพูดคุยกับสมาพันธ์เกษตร ปมร้าว ขอปลดนักวิจัย กรณีงานศึกษาผลกระทบสารเคมีพาราควอต -คลอร์ไพริฟอส ที่มีความเห็นไม่ตรงกับสมาพันธ์เกษตร จนยื่น 3 หมื่นชื่อให้ทบทวนข้อเสนอยกเลิกใช้ภายในมี.ค.นี้

วันนี้ (28 ม.ค. 2561) ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กาญจนา เงารังษี รักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยนเรศวร หรือ มน. กล่าวถึงกรณีสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย ได้นำรายชื่อจำนวน 30,000 รายชื่อ ยื่นต่อผู้แทน รองนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2561 เพื่อคัดค้านข้อเสนอให้เลิกใช้สารพาราควอต และและคลอร์ไพริฟอสและมีข้อเรียกร้องให้ รศ.ดร.พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการ ด้านวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิยาลัยนเรศวรลาออกนั้น

ทางมหาวิทยาลัยนเรศวร จะเชิญสมาพันธ์เกษตรปลอดภัยแห่งชาติ และทุกๆภาคส่วน ประกอบด้วย ผู้ให้ทุนการวิจัย ผู้วิจัย ทางบริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์ นักวิชาการที่เกี่ยวข้องทั้งทางด้านการเกษตรและสุขภาพ มาร่วมกันเสวนาวิชาการ เกี่ยวกับผลงานวิจัยที่ รศ.ดร.พวงรัตน์ ได้ศึกษาวิจัยมา ให้สมาพันธ์ ได้เข้าใจวัตถุประสงค์เจตนาที่ดีของนักวิชาการ ที่ต้องการ มุ่งเน้นช่วยเหลือดูแลคุณภาพชีวิตของ ประชาชนและเกษตรกร ไม่ได้มีเจตนาทำให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนแต่อย่างใด

และหากผลกระทบในเรื่องใด มหาวิทยาลัยนเรศวรก็จะเป็นผู้ประสานงาน ซึ่งคาดว่า หากได้รับการตอบรับ จากทางสมาพันธ์เกษตรฯ ก็จะสามารถหารือ พูดคุยทำความเข้าใจได้ทันที 

รักษาราชการแทนอธิการบดี ม.นเรศวรยืนยันว่า บทบาทหน้าที่ของมหาวิทยาลัยนเรศวร คือ มีหน้าที่ทำงานเพื่อรับใช้ประชาชน ยกระดับคุณภาพชีวิต และให้ชีวิตของประชาชนปลอดภัยมากที่สุด โดยไม่ได้มีเจตนาอย่างอื่น เป็นเรื่องของวิชาการโดยเฉพาะแต่หากเกิดความเข้าใจผิดหรือเกี่ยว ข้องกับการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นๆ มหาวิทยาลัยนเรศวร ขอเป็นสื่อกลางประ สานทำความเข้าใจ

ส่วนกรณีที่สมาพันธ์เกษตรฯเรียกร้องให้ รศ.ดร.พวงรัตน์ แสดงความรับผิดชอบต่อ ผลงานวิจัยดังกล่าว ต้องขอดูข้อมูลทางวิชาการจากทางสมาพันธ์เกษตรฯ และอาจารย์ผู้ที่ทำวิจัยก่อน เพราะเจตนารมณ์ของงานวิจัยเพื่อช่วยเหลือประชาชน

ก่อนหน้านี้เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือThai-PAN ได้เผยแพร่เรื่องความปลอดภัยสารเคมีปนเปื้อนในผักและผลไม้ ทำให้กลุ่มสมาพันธ์เกษตรฯ กังวลความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อพืชผัก และนำมาสู่การยื่นรายชื่อเพื่อให้ยกเลิกข้อเสนอที่ให้ยกเลิกการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชพาราควอต ไกลโพเซตและคอร์ไพริฟอส ของเกษตรกร ภายในเดือน มี.ค.นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้ เครือข่ายด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม 9 องค์กร ยังร่วมรณรงค์ผ่าน Change.org ภายใต้หัวข้อร่วมปกป้อง รศ.ดร. พวงรัตน์ – “เสรีภาพทางวิชาการ” ต้องได้รับความคุ้มครองจากการคุกคาม 

ที่มา: thaipbs

Sustainability

NARESUAN UNIVERSITY

Solverwp- WordPress Theme and Plugin