Archives 2019

ม.นเรศวร จัดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่องเครื่องกลั่นน้ำส้มควันไม้เพื่อยกระดับสินค้าชุมชน

โครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่องเครื่องกลั่นน้ำส้มควันไม้เพื่อยกระดับสินค้าชุมชน จัดขึ้นที่วิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี ม.นเรศวร ร่วมกับ วช. และ กอรมน. จัดฝึกอบรมให้กับเครือข่ายปราชญ์ชุมชน 9 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง

ที่มา: วิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนเรศวร

นิสิต ม.นเรศวร ร่วมสิงห์อาสาลงพื้นที่ภาคเหนือ มอบเสื้อกันหนาวแก่ชาวบ้านในพื้นที่ห่างไกล

ในปีนี้สิงห์อาสาและเครือข่ายนักศึกษาจากหลายสถาบัน ระดมทีมงานลงพื้นที่ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อส่งมอบเสื้อกันหนาวถึงมือชาวบ้านในถิ่นทุนกันดาร ให้ไออุ่นกว่า 50,000 ตัว

โดยล่าสุดได้ลงพื้นที่ ที่โรงเรียนบ้านห้วยสัมป่อย ต.ดอยแก้ว อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ซึ่งกลุ่มสิงห์อาสา โดยบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด และมูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี พร้อมด้วยนักศึกษาจากเครือข่ายนักศึกษาสิงห์อาสาภาคเหนือรวม 11 สถาบัน ร่วมมอบเสื้อกันหนาวกว่า 1,000 ตัว นอกจากนี้ มูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี และ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้นำนักศึกษาแพทย์และนักศึกษาทันตแพทย์ให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพช่วงฤดูหนาวและการดูแลสุขภาพช่องปากให้แก่ชาวบ้านและเด็กๆในชุมชน

ซึ่งหมู่บ้านห้วยส้มป่อย มีทั้งสิ้น 207 ครัวเรือน ประชากรทั้งหมดประมาณ 700 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวเผ่าปกาเกอะญอ ประกอบอาชีพเกษตรกรรมปลูกลำไยเป็นหลัก พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่บนภูเขาสูงชัน และที่ราบเชิงเขา โดยอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลกว่า 1,200 เมตร เป็นพื้นที่ป่าสมบูรณ์รวมถึงเป็นป่าต้นน้ำ อุทยานแห่งชาติออบหลวง และพื้นที่รอยต่ออุทยานแห่งชาติอินทนนท์ ในช่วงเดือน ธ.ค.-ม.ค. จะประสบภัยหนาว อุณหภูมิโดยเฉลี่ยในฤดูหนาวอยู่ระหว่าง 5-10 องศาเซลเซียส

นักศึกษาจากเครือข่ายนักศึกษาสิงห์อาสาภาคเหนือ ที่มาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ มีจำนวนกว่า 100 คน จาก 11 สถาบัน ประกอบด้วย ม.แม่ฟ้าหลวง ม.ราชภัฏเชียงราย ม.เทคโนโลยีราชมงคลล้านนา วิทยาเขตเชียงราย ม.เชียงใหม่ ม.ราชภัฏเชียงใหม่ ม.เทคโนโลยีราชมงคลล้านนา วิทยาเขตเชียงใหม่ ม.ราชภัฏลำปาง ม.ราชภัฏกำแพงเพชร ม.นเรศวร ม.ราชภัฏพิบูลสงคราม และ ม.พะเยา ร่วมลงพื้นที่ในครั้งนี้ด้วย

โดย ในช่วงฤดูหนาว ตลอดเดือนธันวาคมที่ผ่านมา สิงห์อาสาและเหล่าคณะกรรมการเครือข่ายนักศึกษาสิงห์อาสา ได้ลงพื้นที่มอบเสื้อกันหนาวในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือหลายพื้นที่ อาทิ เลย สกลนคร มหาสารคาม เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก น่าน พะเยา เชียงราย ซึ่งหลังจากนี้ก็จะลงพื้นที่อย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นการรับประกันว่าพี่น้องในถิ่นทุรกันดารที่กำลังประสบภัยหนาวจะได้มีเสื้อกันหนาวสิงห์อาสาใส่คลายความหนาวรับไออุ่นตลอดช่วงฤดูหนาวนี้แน่นอน

ทั้งนี้ยังได้มีหน่วยแพทย์เคลื่อนที่โดยมูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี ที่ขับเคลื่อนภารกิจลงพื้นที่ดูแลรักษาเรื่องสุขภาพของชาวบ้านและเด็กๆ ให้มีสุขภาวะอนามัยที่แข็งแรงสมบูรณ์ ต่อเนื่องมานานกว่า 3 ทศวรรษ ก็จะเดินหน้าควบคู่ไปพร้อมกับการมอบเสื้อกันหนาวให้ไออุ่นอีกด้วย

ที่มา: sanook.com

รมว.พม.ร่วมมือพัฒนาชีวิตคนพิการและคุณแม่คุณพ่อวัยใสกับมหาวิทยาลัยนเรศวร

เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2562 ที่ห้องประชุมวิทยาลัยพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) และกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) มหาวิทยาลัยนเรศวร และวิทยาลัยเทคโนโลยีธุรกิจอาหารไทยและนานาชาติ
โดยมี นางธนาภรณ์ พรมสุวรรณ อธิบดีกรมกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ นายธนสุนทร สว่างสาลี รองอธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ศาสตราจารย์พิเศษ  ดร.กาญจนา เงารังสี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร และนางสาวมารีน่า จงเลิศเจษฎาวงศ์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคโนโลยีธุรกิจอาหารไทยและนานาชาติ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการนำองค์ความรู้ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในการส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงาน รวมถึงความร่วมมือระหว่างกันในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  ทั้งนี้เพื่อการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพและคุณภาพชีวิตคนพิการในด้านต่างๆ การพัฒนาอาชีพและศักยภาพสตรี อีกทั้งเพื่อการสร้างความเข้มแข็งให้แก่สถาบันครอบครัว และการคุ้มครองสวัสดิภาพบุคคลในครอบครัว 
นายจุติ กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือทางวิชาการครั้งนี้ เนื่องจากนโยบายของกระทรวง พม. มุ่งหวังให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายได้อยู่ดีมีสุขด้วยคุณภาพชีวิตที่ดีในสังคมคุณภาพ โดยมีพันธกิจในการพัฒนาคนและสังคมให้มีคุณภาพ เต็มตามศักยภาพมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง และสร้างเสริมภาคีเครือข่ายจากทุกภาคส่วนในการมีส่วนร่วมพัฒนาสังคม รวมทั้งเสริมสร้างขีดความสามารถของคนในการช่วยเหลือตนเองในการดำรงชีวิตอย่างมั่นคง ผ่านการสร้างศักยภาพและพัฒนาอาชีพที่สร้างสรรค์ อาทิ เชฟ บาริสต้า การปลูกผักสวนครัว เกษตรปลอดภัย และการเลี้ยงปลาสวยงาม เป็นต้น
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างรากฐานคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างมั่นคงและยั่งยืน การส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการและสตรี เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของสังคม การส่งเสริมเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับคนพิการ และการส่งเสริมการจัดสวัสดิการด้านต่างๆ  อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม รวมถึงการส่งเสริมความเสมอภาคและเท่าเทียมระหว่างเพศ และการเสริมสร้างความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว ซึ่งสอดคล้องกับปรัชญาของมหาวิทยาลัยนเรศวร และเจตนารมณ์ของวิทยาลัยเทคโนโลยีธุรกิจอาหารไทยและนานาชาติ ที่มุ่งกระจายโอกาสและความเสมอภาคให้กับประชาชน ด้วยการใช้องค์ความรู้ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี  และนวัตกรรม นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน  
นายจุติ กล่าวต่อไปว่า กระทรวง พม. ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) และกรมกิจการสตรีและครอบครัว (สค.) บูรณาการและประสานความร่วมมือกับหน่วยงานในระดับพื้นที่ ร่วมกับมหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อพัฒนาโครงการหรือกิจกรรม เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนพิการและสตรี
โดยมหาวิทยาลัยนเรศวร จะสนับสนุนทรัพยากรที่จำเป็นต่อการดำเนินโครงการ อาทิ องค์ความรู้ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ นิสิต และเครื่องมือ อุปกรณ์  เป็นต้น และวิทยาลัยเทคโนโลยีธุรกิจอาหารไทย และนานาชาติ จะให้ความร่วมมือในการสร้างหลักสูตรในการพัฒนาอาชีพและยกระดับศักยภาพคนพิการ พร้อมทั้งสนับสนุนทรัพยากรที่จำเป็นต่อการดำเนินโครงการ อาทิ อาจารย์และผู้สอนที่มีประสบการณ์อุปกรณ์และสื่อการเรียนการสอน  และการประเมินผลการฝึกทักษะวิชาชีพ เป็นต้น

ที่มา: phitsanulokhotnews

ม.นเรศวร ร่วมเสวนานำเสนอโครงการวิจัยและพัฒนาแพลตฟอร์มตลาดกลางซื้อขายพลังงานไฟฟ้าแห่งชาติ (National Energy Trading Platform)

รศ.ดร.วัฒนพงศ์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยฯ พร้อมด้วย ดร.ยอดธง ร่วมเสวนานำเสนอโครงการวิจัยและพัฒนาแพลตฟอร์มตลาดกลางซื้อขายพลังงานไฟฟ้าแห่งชาติ (National Energy Trading Platform) ณ โรงแรมอีสติน แกรนด์ สาทร กรุงเทพฯ

ที่มา: วิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนเรศวร

มหาวิทยาลัยนเรศวร พัฒนาระบบการแพทย์ระยะไกล เชื่อมโยง รพ.กับผู้ป่วย เข้าถึงการรักษาเท่าเทียม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พีรธร บุณยรัตพันธุ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมด้วยนายนิพนธ์ จงวิชิต ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระสายเสียงโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) นายแพทย์ปิยะ ศิริลักษณ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก และคณะผู้บริหาร ได้ร่วมกันนำเสนอโครงการพัฒนาต้นแบบของเทคโนโลยีที่ช่วยในการพัฒนาคุณภาพการให้บริการทางการแพทย์ฉุกเฉินทางไกลในชนบท
โดยผ่านเครือข่ายดิจิทัลความเร็วสูง (ระยะที่  2) หวังเชื่อมโยงเครือข่ายโรงพยาบาล ศูนย์แพทย์ในจังหวัดพิษณุโลกแบบครบวงจร เพื่อยกระดับการรักษาและลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงทางการแพทย์ในประเทศไทย นายนิพนธ์ จงวิชิต รักษาการผู้จัดการกองทุนวิจัยและพัฒนาฯ กล่าวว่า จากปัญหาระบบทางการแพทย์ของประเทศไทยมีความขาดแคลนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่ชนบทพื้นที่ห่างไกล เนื่องด้วยจำนวนแพทย์ที่ไม่เพียงพอ และส่วนใหญ่อยู่ในโรงพยาบาลส่วนกลาง และโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในเขตเมือง ส่งผลให้แพทย์ไม่มีเพียงพอและรับรองกับจำนวนผู้ป่วยในเขตพื้นที่ห่างไกล
ดังนั้น กทปส. เล็งเห็นถึงความสำคัญและปัจจัยดังกล่าวจึงเป็นที่มาของการมอบทุน เพื่อทำโครงการพัฒนาคุณภาพการให้บริการทางการแพทย์ฉุกเฉินทางไกลในชนบทโดยผ่านเครือข่ายดิจิทัลความเร็วสูง เพื่อลดช่องว่างทางการแพทย์ที่เกิดขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัดความเร็วสูง ศักยภาพของเทคโนโลยีไร้สายสร้างจุดแข็ง ในการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบแพทย์ทางไกลและให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสามารถเข้าถึงผู้ป่วยได้ทุกพื้นที่ทุกเวลาแบบ Real Time สำหรับโครงการพัฒนาคุณภาพการให้บริการทางการแพทย์ฉุกเฉินทางไกลในชนบท โดยผ่านเครือข่ายดิจิทัลความเร็วสูงโดย
ทางมหาวิทยาลัยนเรศวรได้รับทุนสนับสนุน จาก กทปส. มีลักษณะคล้าย Tele Health รูปแบบครบวงจร มีแพทย์เป็นที่ปรึกษาให้กับผู้ป่วยและพยาบาลผ่าน Application เชื่อมต่อสำหรับแพทย์ โครงการดังกล่าวได้รับทุนครั้งแรกเมื่อปี 2557 ทำเป็นโครงการต้นแบบทดลองทั้งสิ้น 4-5 โรงพยาบาลในพื้นที่ ทั้งนี้ในการพัฒนาระบบแพทย์ทางไกลให้สามารถ เชื่อมโยง รับส่งข้อมูลรวมทั้งการเข้าถึงฐานข้อมูลผู้ป่วย ได้อย่างรวดเร็วซึ่งเทคโนโลยีดิจิทัลความเร็วสูงจะเชื่อมต่อภาพ จากการรักษาให้กับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการตรวจรักษาผ่านระบบเชื่อมโยงด้านการโทรคมนาคมเข้าสู่โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลในพื้นที่ หรือทำการเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญปลายทาง ทำให้ลดปัญหาการขาดแคลนแพทย์ทุกพื้นที่ในประเทศ และเกิดความเท่าเทียม ในการเข้าถึงรักษาลดปัญหาการเสียชีวิตของประชาชน
โดยการนำเอาเทคโนโลยีด้านการโทรคมนาคมดิจิทัลความเร็วสูงมาพัฒนาร่วมกับระบบทางการแพทย์โดยเกิดการพัฒนาต่อยอดอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อประโยชน์ต่อวงการแพทย์ไทยและประชาชนในประเทศอีกด้วย ล่าสุดทางมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ยื่นขอทุนต่อเนื่องเพื่อขยายโครงการต่อไปในปี 2561 ในโครงการพัฒนาต้นแบบของเทคโนโลยี ที่ช่วยในการพัฒนาคุณภาพการให้บริการทางการแพทย์ฉุกเฉินทางไกลในชนบท โดยผ่านเครือข่ายดิจิทัล ความเร็วสูงระยะที่ 2 เพื่อจะเชื่อมโยงโรงพยาบาลทุกแห่งในจังหวัด เป็นสิ่งที่เห็นถึงความสำเร็จของโครงการและการดำเนินการที่เห็นภาพเป็นประโยชน์ ในการเชื่อมโยงระหว่างโรงพยาบาล สาธารณสุข ทั้งจังหวัด สถานีอนามัย และบุคลากร อย่างแพทย์ พยาบาลสู่การรักษาผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และคาดว่าในอีก 2 ปีจะมีการขยายเพิ่ม
ซึ่งหลังจากนี้ทางกระทรวงสาธารณสุข จะมารับช่วงต่อไปขยายผลในจังหวัดอื่นๆต่อไป ในอนาคตปี 2564 การขยายต่อยอดโครงการจะเป็นไปในส่วนของนโยบายของทางกระทรวง หากแผนการพัฒนาโครงการดังกล่าวสำเร็จ กทปส.เชื่อว่าจะช่วยในการรักษาโรคที่ไม่ได้รุนแรง ทำให้เกิดความรวดเร็วขึ้นอย่างมาก ทางด้าน ศ.ดรไพศาล มุณีสว่าง คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยนเรศวร ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า โครงการพัฒนาคุณภาพการบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินทางไกลในชนบท โดยเครือข่ายโดยผ่านเครือข่ายดิจิตัลความเร็วสูง ถือว่าเป็นต้นแบบให้กับโรงพยาบาลในพื้นที่ชนบท พื้นที่ห่างไกลกับโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลใหญ่ ในพื้นที่เขตเมืองหรือกรุงเทพฯ
ปัจจุบันได้ทำการทดลองวางระบบและเชื่อมต่อการทำงานกับเข้ากับโรงพยาบาล ภายใต้การทำงานของมหาวิทยาลัยนเรศวร โรงพยาบาลในจังหวัดพิษณุโลก 8 แห่งโรงพยาบาลศูนย์อีก 2 แห่ง รวมแล้ว 10 โรงพยาบาล โดยได้ทำการศึกษาวิเคราะห์และนำโจทย์ด้านเทคโนโลยีเข้ามาผนวกใช้ ซึ่งจัดการปัญหาที่ได้ทำการศึกษาคือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญไม่ได้อยู่กับที่ มีการเดินทางอยู่ตลอดเวลาผู้ป่วยไม่สามารถที่จะรอได้ต้องการการรักษาอย่างทันที ดังนั้นระบบแพทย์ทางไกลที่ดีตอบโจทย์คือระบบโทรศัพท์ทางไกล หรือเรียกว่า โมบายแอพพลิเคชั่น บนสมาร์ทโฟนที่สามารถให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเชื่อมต่อ สามารถให้คำปรึกษาได้ตลอดเวลา ขณะนี้มีโรงพยาบาลเข้าร่วมโครงการและเชื่อมกับระบบประมาณ 289 แห่งจากในระยะแรกมี 13 แห่งแบ่งเป็นโรงพยาบาลในจังหวัดพิษณุโลก 157 แห่งและโรงพยาบาลในจังหวัดสุโขทัย 132 แห่ง  
คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของระบบการทำงานของโครงการได้พัฒนาและขยายผลโครงการระยะที่ 1 ถึงโครงการระยะที่ 2 ซึ่งเป็นการพัฒนา โดยผ่าน Application NUMED ซึ่งมีการพัฒนาฟังก์ชัน การเชื่อมต่อการ service บน Application โดยการจัดตารางเวรเพื่อให้การให้คำปรึกษาให้ฟังชั่นสามารถสนทนา (Chat) ที่ความสามารถส่งข้อมูลภาพและวีดีโอแบบกลุ่มได้ รวมถึงพัฒนาฟังก์ชั่นการค้นหาข้อมูลผู้ป่วยบน Application ด้วยการป้อนรหัส 13 หลักโดยได้พัฒนาระบบการศึกษาแบบแยกตามกลุ่มความเชี่ยวชาญของแพทย์ นอกจากนี้ในส่วนฟังก์ชันการสื่อสารระหว่างผู้ป่วยและผู้ให้คำปรึกษาโดยไม่ต้องเปิดเคส ระบบได้ทำการจัดเก็บ (BackUp Delta) และบริหารการจัดการข้อมูลจากระบบศูนย์ข้อมูลบนคลาวด์มายังเซิร์ฟเวอร์ประจำสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ให้สามารถใช้ข้อมูลได้สะดวกยิ่งขึ้น อีกทั้งยังได้พัฒนาโดยการสร้างระบบ web Admin สำหรับผู้ดูแลและจัดการใช้งานให้กับโรงพยาบาลต้นสังกัดเป็นผู้ดูแล เป็นต้น

ที่มา: phitsanulokhotnews

มหาวิทยาลัยนเรศวร ลงนามบันทึกข้อตกลง​ (MOU) ความร่วมมือทางวิชาการ​ ร่วมกับ บริษัทกัลกุล​ เอ็นจิเนียริ่ง​ จำกัด​ (มหาชน)​ บริษัทผู้นำด้านธุรกิจพลังงานทดแทนแบบครบวงจร

ศาตราจารย์พิเศษ ดร.กาญจนา เงารังษี อธิการบดี ได้เป็นเกียรติเข้าพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง​ (MOU) ความร่วมมือทางวิชาการ​ ระหว่าง​ มหาวิทยาลัยนเรศวร​ กับบริษัทกัลกุล​ เอ็นจิเนียริ่ง​ จำกัด​ (มหาชน)​ บริษัทผู้นำด้านธุรกิจพลังงานทดแทนแบบครบวงจร​ และธุรกิจผลิตไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยีชั้นนำ วันที่ 25 กันยายน 2562 ณ SGtech

ที่มา: วิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร เปิดสวิตซ์สถานีสูบน้ำเสีย ก่อนปล่อยสู่ธรรมชาติ

เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2562 ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กาญจนา เงารังษี อธิการบดี ผศ.ดร.ดลเดช ตั้งตระการพงษ์ ผู้ช่วยอธิการบดี รศ.นพ.ศิริเกษม ศิริลักษณ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ นายรุ่งรัตน์ พระนาค ผู้อำนวยการกองอาคารสถานที่ นายธวัช สิงหเดช นายก อบต.ท่าโพธ์ พร้อมด้วยบุคลากรมหาวิทยาลัยนเรศวรและผู้นำชุมชน ร่วมกันเปิดสวิตซ์สถานีสูบน้ำเสียจุดที่ 9 น้ำเสียชุมชน เพื่อนำน้ำเสียจากชุมชนรอบมหาวิทยาลัยเข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสียของมหาวิทยาลัย ก่อนปล่อยสู่ธรรมชาติหรือนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป เช่น รดน้ำต้นไม้ เป็นต้น

ที่มา: กองอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ร่วมจัดงานแถลงข่าว “วิจัยปลดล็อคส่งออกมะม่วงไปอเมริกา” ความภูมิใจของนักวิจัยไทยกับการต่อสู้อย่างยาวนานกว่า 12 ปี

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ,สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) BEDO ,มหาวิทยาลัยนเรศวร และสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ ร่วมจัดงานแถลงข่าว “วิจัยปลดล็อคส่งออกมะม่วงไปอเมริกา” ความภูมิใจของนักวิจัยไทยกับการต่อสู้อย่างยาวนานกว่า 12 ปี ในการแก้ปัญหาเพื่อปลดล็อคการส่งออกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองสดสู่ตลาดสหรัฐอเมริกา ในวันพุธที่ 11 กันยายน 2562 ณ ห้องวิภาวดี C โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 สหรัฐอเมริกาได้อนุญาตให้นำเข้าผลไม้สด (Fresh Fruit) ของไทย 6 ชนิด ได้แก่ มะม่วง ลำไย มังคุด ลิ้นจี่ เงาะ และสับปะรด
โดยจะต้องได้รับการฉายรังสีก่อนส่งออกไปยังสหรัฐฯ นับเป็นการเปิดตลาดผลไม้ไทยที่สร้างความภาคภูมิใจให้แก่ประเทศชาติ แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่มะม่วงน้ำดอกไม้สีทองแม้เป็นผลไม้ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่ทำรายได้ให้กับประเทศไทยสามารถปลูกได้ทุกภาคของประเทศ โดยมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเป็นสายพันธุ์ที่มีความต้องการของตลาดสูง เนื่องจากมีลักษณะเด่น คือ เมื่อผลสุก ผิวของเปลือกมีสีเหลืองนวลถึงเหลืองทอง เนื้อสีเหลืองมีกลิ่นหอม จึงเป็นที่ต้องการของตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา
แต่ปรากฏว่านับตั้งแต่เริ่มส่งออกในปี พ.ศ. 2551 การส่งออกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง หลังฉายรังสีและส่งออกไปถึงปลายทางที่สหรัฐอเมริกา ได้ประสบปัญหาด้านคุณภาพ และพบปัญหาการเกิดเส้นดำบริเวณผิวเปลือก และเกิดเนื้อสีน้ำตาล ส่วนใหญ่มักเกิดบริเวณส่วนแก้มของผล ซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถส่งออกผลมะม่วงสดไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาได้จนถึงปัจจุบัน

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ,สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) BEDO ,มหาวิทยาลัยนเรศวร และสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ

จากปัญหาดังกล่าว จึงเกิดเป็นโจทย์วิจัยที่ท้าทายและรอคำตอบจากนักวิจัยไทยเป็นอย่างยิ่ง จึงได้เกิดเป็นโครงการ “การศึกษาวิจัยมะม่วงให้ได้คุณภาพ มาตรฐานส่งออก” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพหลังการฉายรังสีแกมมา และการลดความเสียหายของมะม่วงฉายรีงสีแกมมา ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ,สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) BEDO ,มหาวิทยาลัยนเรศวร และ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ และงานวิจัยประสบผลสำเร็จในปี พ.ศ. 2562 การส่งออกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองสามารถส่งออกสู่ตลาดสหรัฐอเมริกาได้อย่างเต็มภาคภูมิ และ ได้รับการรับรองจากกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา

การแถลงข่าว“วิจัยปลดล็อคส่งออกมะม่วงไปสหรัฐอเมริกา” ที่เกิดขึ้นนี้ จึงเป็นการสร้างความเข้าใจ และ องค์ความรู้เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยและเพื่อต่อยอดให้กับกลุ่มธุรกิจและผู้ประกอบการที่ต้องการขยายตลาดการค้าผลไม้สดของไทยสู่สหรัฐอเมริกา และ ตลาดต่างประเทศอื่นๆ ต่อไป

ที่มา: posttoday

มหาวิทยาลัยนเรศวร วิจัยลูกประคบสมุนไพร สำหรับเซลลูไลท์สำเร็จ

รศ. ดร.กรกนก อิงคนินันท์  หัวหน้าโครงการ คณะวิจัยจากสถานวิจัยเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้กล่าวถึงความสำเร็จในการ พัฒนาสูตรตำรับลูกประคบสำหรับลดเซลลูไลท์ โดยคัดสรรสมุนไพรที่มีศักยภาพในการลดเซลลูไลท์ เช่น สมุนไพรที่มีฤทธิ์เพิ่มการไหลเวียนโลหิต มีฤทธิ์ยับยั้งการผลิตไขมัน หรือกระตุ้นการสลายไขมัน และสมุนไพรที่มีฤทธิ์ต้านอักเสบ มาเป็นส่วนประกอบของลูกประคบ รวมถึงพัฒนาวิธีการควบคุมคุณภาพวัตถุดิบ และประเมินประสิทธิภาพในการใช้ลดเซลลูไลท์ของลูกประคบที่พัฒนาขึ้นในอาสาสมัครเชิงคลินิกเพศหญิงจำนวน 21 คน
ผลจากการศึกษาพบว่าลูกประกบที่พัฒนาขึ้นช่วยลดความรุนแรงของเซลลูไลท์ และมีความปลอดภัยสูง โดยได้เปรียบเทียบระหว่างลูกประคบที่พัฒนาจากงานวิจัยที่ขาด้านหนึ่ง กับลูกประคบหลอกที่ไม่มีตัวยาสมุนไพรที่ต้นขาของอาสาสมัครที่ขาอีกด้านหนึ่ง โดยใช้เวลา 30 นาที สัปดาห์ละ 2 ครั้ง เป็นเวลานาน 2 เดือน ซึ่งได้มีการประเมินประสิทธิภาพใน 3 ด้าน คือ วัดเส้นรอบวงต้นขา วัดความหนาแน่นของชั้นไขมัน และวัดระดับความรุนแรงของเซลลูไลท์ โดยผู้เชี่ยวชาญพบว่าต้นขาที่ใช้ลูกประคบสมุนไพรที่พัฒนาขึ้นมีเส้นรอบวงความหนาของชั้นไขมัน และระดับความรุนแรงของเซลลูไลท์ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
เมื่อเทียบกับต้นขาอีกข้างที่ได้รับลูกประคบหลอก ในขณะที่ผลการศึกษาประเมินความปลอดภัย พบว่าลูกประคบจากงานวิจัยไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองใดๆ ที่เป็นอันตรายต่ออาสาสมัคร จุดเด่นของงานวิจัยนี้ คือ การเพิ่มมูลค่าให้กับลูกประคบดั้งเดิมจากภูมิปัญญาไทย ซึ่งมักใช้ในการลดอาการปวดเมื่อย โดยคณะวิจัยได้พัฒนาสูตรใหม่จากการศึกษารายงานวิจัยต่าง ๆ ที่มีอยู่เกี่ยวกับสมุนไพรที่เกี่ยวข้อง และนำมาสมุนไพรอีกส่วนเข้ามาเพิ่มเติม โดยผลิตภัณฑ์ลูกประคบนี้จะนำไปใช้ในสปาเป็นหลัก แต่หากใครสนใจซื้อไปใช้เองที่บ้านก็ได้ และจะช่วยสร้างความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวที่ผลัดกันนวดประคบด้วย
ทั้งนี้ คณะนักวิจัยได้รับทุนให้ทำวิจัยต่อยอดจาก คปก. และ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) เพื่อทดสอบเชิงลึกในการหากลไกการยับยั้งการสร้างไขมันหรือกระตุ้นการสลายไขมันจากองค์ประกอบของลูกประคบ และพัฒนาตำรับสูตรเจลลดเซลลูไลท์ที่มีสารสกัดจากลูกประคบ รวมถึงการทดสอบประสิทธิภาพตำรับที่พัฒนาได้ในอาสาสมัครด้วย ด้าน น.ส.งามรยุ งามดอกไม้ หนึ่งในคณะวิจัย กล่าวว่า ลูกประคบดังกล่าวได้รับการจดอนุสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว โดยสมุนไพรหลักที่เป็นสมุนไพรไทยรสร้อน เพิ่มการไหลเวียนของโลหิต กระตุ้นการสลายไขมัน นอกจากนี้ยังมีสมุนไพรที่มี ซึ่งมีคาเฟอีนที่เป็นตัวออกฤทธิ์ สลายไขมันอีกด้วย

ที่มา: phitsanulokhotnews

มหาวิทยาลัยนเรศวร วิจัยโดรนลดต้นทุนการผลิตทางการเกษตร

เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562 ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร  พร้อมทีม ได้สาธิตเกี่ยวกับเครื่องมือลดต้นทุนเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร (โดรนทางการเกษตร) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนหลักสูตรเกษตรแม่นยำ รวมถึงการสาธิตการใช้โดรนเพื่อส่งเอกสารระหว่างอาคาร ซึ่งแสดงถึงนวัตกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้  และเตรียมเปิดหลักสูตรการเรียนการสอน “หลักสูตรแม่นยำ” ในปี การศึกษา2563
ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ทางคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร  ได้ร่วมกับทีมวิจัย ได้วิจัยการนำโดรนมาใช้ทางการเกษตร เพื่อลดต้นทุน และสามารถลดค่าจ้างแรงงานคนที่พบว่า การจ้างตกวัน ละ 500-600 บาทต่อวัน  โดยปัจจุบันการนำโดรนมาฉีดพ่นยา เพียงไร่ละ 60 บาทเท่านั้น สามารถฉีดพ่นได้ถึง 100 ไร่ต่อวัน
นอกจากนี้ยังได้ทำวิจัย ด้านของการเพิ่มความหวานของอ้อยก่อนที่จะเข้าโรงงานอีก ทำงานวิจัยที่ทำร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ในการที่จะเพิ่มความหวาน ccs ของอ้อย ถึง 3-4 ccs  ซึ่งเกษตรกรจะได้เปรียบคือ ทุก ccs ที่เพิ่มขึ้น เกษตรกรจะได้ ccs ละ  50 บาท
ทั้งนี้ การใช้โดรนทางการเกษตร การฉีดพ่นปุ๋ยและฮอร์โมนพืช ตลอดจนการควบคุมศัตรูพืชด้วยโดรนทางการเกษตร ซึ่งเป็นสารอินทรีย์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมละไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ โดรนทางการเกษตรสามารถทำงานได้และทำให้ช่วยประหยัดได้หลายอย่าง เช่น ประหยัดเวลา ประหยัดแรงงาน ประหยัดน้ำ หลังจากที่ได้เห็นถึงประโยชน์ของการใช้เครื่องบินเล็กในการฉีดพ่นสารแทนคนแล้ว ก็มีจุดประสงค์อยากให้คนอื่นๆ ได้เห็นถึงประโยชน์ด้วย หลังจากนั้นก็นำเครื่องไปสาธิตทำแปลงทดลองให้เพื่อนๆ ชาวไร่และหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมโรงงานน้ำอ้อย เป็นต้น

ที่มา: phitsanulokhotnews

Sustainability

NARESUAN UNIVERSITY

Solverwp- WordPress Theme and Plugin