Archives 2020

ม.นเรศวร จัดโครงการบำเพ็ญประโยชน์ สร้างฝายชะลอน้ำแบบกึ่งถาวร

กลุ่มนิสิตจิตอาสามหาวิทยาลัยนเรศวรและชมรมกลุ่มด้านบำเพ็ญประโยชน์และรักษาสิ่งแวดล้อม ร่วมกับสโมสรโรตารีลุ่มน้ำเข็กได้ร่วมกันทำโครงการบำเพ็ญประโยชน์ สร้างฝายชะลอน้ำแบบกึ่งถาวร ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2563 ในพื้นที่ บ้านตอเรือ หมู่ที่ 13 ตำบล วังนกแอ่น อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาคลองเรือที่ไหลพาดผ่านกลางหมู่บ้านตอเรือ ไปลงน้ำตกไผ่สีทอง ยาวประมาณ 5 กิโลเมตร ให้มีน้ำเพียงพอสำหรับทำการเกษตร กิจกรรมในครั้งนี้มีชาวบ้านในชุมชน จำนวน 30 คน บุคลากร นิสิตจิตอาสาและนิสิตกลุ่มด้านบำเพ็ญประโยชน์ฯ จำนวน 43 คน เข้าร่วมกิจกรรมสร้างฝายในครั้งนี้

ที่มา: กองกิจการนิสิต มหาวิยาลัยนเรศวร

มหาวิทยาลัย ร่วมจัดสัมมนาเชิงวิชาการ เรื่อง “ระบบโครงข่ายไฟฟ้าสมาร์ทกริด”

วิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมกับ IEEE Thailand Section และ IEEE Power& Energy Society –Thailand และ Smart Grid Research Unit (SGRU) คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดสัมมนาเชิงวิชาการ เรื่อง “ระบบโครงข่ายไฟฟ้าสมาร์ทกริด:แนวคิด ความทันสมัย การควบรวมเทคโนโลยีสารสนเทศ และเทคโนโลยีการดำเนินการ โครงสร้างพื้นฐาน การวิเคราะห์ การจัดการด้านข้อมูล มาตราฐานและการทำงานร่วมกันได้ – บทเรียนที่ได้รับ” ระหว่างวันที่ 8-10 กรกฏาคม 2563 ณ ห้อง Arnoma โรงแรมอโนมา แกรนด์ กรุงเทพมหานคร

ที่มา: วิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนเรศวร

สายน้ำยังติดเชื้อ คพ.อัดฉีดงบเพิ่ม 200 ล้าน ต่อเวลาฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ประลอง ดำรงค์ไทย เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการไตรภาคีเพื่อติดตามการดำเนินโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ จังหวัดกาญจนบุรี จากการปนเปื้อนสารตะกั่วครั้งที่ 29 เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ.2563 ณ สำนักงานโครงการ หมู่บ้านคลิตี้บน พร้อมเปิดเผยว่า ได้ดำเนินโครงการฟื้นฟูมาแล้ว 955 วันจากระยะเวลาที่ตั้งไว้ทั้งหมด 1,000 วัน ผลสรุปปลายเดือนพฤษภาคม คืบหน้า 78.82% 

โครงการฟื้นฟูลำห้วยเริ่มต้นปลายปี พ.ศ.2560 จะครบกำหนดสัญญาวันที่ 13 สิงหาคม ปีนี้ ภารกิจหลักคือดูดตะกอนปนเปื้อนหางแร่ตะกั่วจากกิจกรรมโรงแต่งแร่เมื่อยี่สิบก่อนออกจากลำห้วยเพื่อฟื้นฟูคุณภาพน้ำ ปัจจุบัน ได้ตะกอนแล้วสิ้น 5,400 ตัน จากเป้าหมาย 40,000 ตัน

“โครงการทำไม่เสร็จใน 3 ปีเพราะเป็นปัญหาสะสมมานาน บริษัทแร่ได้ทิ้งแร่ในพื้นที่กว่าหลายสิบปี จะให้แก้เสร็จเลยเป็นไปไม่ได้ ผมยืนยันว่า พวกเราทำงานอย่างโปร่งใส แต่ยอมรับว่ามีความผิดพลาดที่พร้อมแก้ไข” ประลอง กล่าว

ประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวในการประชุมคณะกรรมการไตรภาคีครั้งที่ 29 / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ณิชา เวชพานิช

เขาชี้ว่า โครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้เป็นเรื่องท้าทาย เพราะเป็นครั้งแรกของไทยที่ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมปนเปื้อนขนาดใหญ่เช่นนี้ ระหว่างปฏิบัติงาน พบกองกากแร่ตะกั่วและดินปนเปื้อนที่ตกหล่นจากการสำรวจหลายจุด เช่น ตะกอนบนบกใกล้บริเวณเหมืองแร่เดิมและใกล้พื้นที่อยู่อาศัย จึงได้ดำเนินการขุดออกแล้วกว่า 8,000 ตัน เพื่อนำไปปรับเสถียรแล้วส่งฝังกลบ

นอกจากนั้น ยังพบอุปสรรคหลายอย่างหน้างาน สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้เจ้าหน้าที่โครงการไม่สามารถเดินทางเข้า-ออกหมู่บ้านได้ ต้องชะงักการทำงานกว่าสองเดือน รวมถึงขั้นตอนขุดดินเพื่อสร้างหลุมฝังกลบตะกอนพบหินถึง 90% จากที่ประเมินไว้ 50% จึงใช้เวลานานขึ้น

วิธีฟื้นฟูคือดูดตะกอนจากลำห้วยขึ้นมาใส่ถุง Geotextile ซึ่งซ้อนทับกันเพื่อให้น้ำสะอาดไหลออก ทิ้งตะกอนไว้ข้างในถุง ณ จุดฟื้นฟูบริเวณหมู่บ้านคลิตี้ล่าง มิถุนายน พ.ศ.2563 / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ณิชา เวชพานิช

ตามข้อกำหนดการดำเนินงาน (TOR) หากดำเนินการฟื้นฟูล่าช้ากว่าแผน บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) ซึ่งรับจ้างฟื้นฟูด้วยงบประมาณ 450 ล้านบาท จะต้องเสียค่าปรับเป็นเงิน 0.05% ของมูลค่าโครงการ คิดเป็น 200,000 บาทต่อวัน ทว่าด้วยเหตุไม่คาดคิดต่างๆ กรมควบคุมมลพิษในฐานะผู้ว่าจ้างจะผ่อนผันค่าปรับเพื่อช่วยเหลือ

“เราเห็นผลชัดเจนว่าความเป็นอยู่ชาวคลิตี้ดีขึ้น สัญญาณโทรศัพท์และถนนหนทางพัฒนา ที่สำคัญค่าตะกั่วเฉลี่ยในเลือดชาวคลิตี้โดยรวมมีแนวโน้มลดลงหลังจากโครงการฟื้นฟู”

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษเผยว่าจะนำเรื่องต่ออายุโครงการฟื้นฟูระยะสองเข้าประชุมสภาผู้แทนราษฎร 24-25 มิถุนายนนี้ เพื่อขอเบิกงบจำนวน 200 ล้านบาทสำหรับดำเนินการต่อในปีพ.ศ. 2564

สุเมธ เลาคำ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาโครงการและเทคโนโลยี บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) ชี้แจ้งว่า จะดำเนินการดูดตะกอนจากห้วยคลิตี้จนถึงสิ้นเดือนมิถุนายนและหยุดช่วงฤดูฝนเพราะเป็นฤดูน้ำหลากทำงานยากและอาจอันตรายกับผู้ปฏิบัติงาน ระหว่างนั้นจะเน้นกำจัดตะกอนบนบก สำหรับโครงการระยะสองจะเน้นเอาตะกอนขอบตลิ่งซึ่งมีค่าตะกั่วสูงออกเพื่อไม่ให้ชะลงแหล่งน้ำซ้ำรอย รวมถึงตะกอนบนดินใกล้พื้นที่อยู่อาศัย

ด้านชาวบ้านในพื้นที่ นิติพล ตันติวานิช ผู้ใหญ่บ้าน แสดงความเห็นด้วยต่อการฟื้นฟู

“ถึงต่างประเทศจะทำอะไรแบบนี้มานาน แต่มันเป็นครั้งแรกของประเทศไทย เราไม่รู้ว่าแผนที่เขียนมาอันไหนผิดถูกหรือเปล่า  พอปฏิบัติหน้างานแล้วค่อยรู้ปัญหา อย่างน้อยการฟื้นฟูทำให้เราเห็นเชิงปริมาณว่าตะกอนที่มีตะกั่วปนเปื้อนมันไปอยู่ในถุงแล้วถูกส่งไปฝังกลบ”

โครงการฟื้นฟูดำเนินการท่ามกลางความกังวลของสมาชิกไตรภาคีบางส่วน ชลาลัย นาสวนสุวรรณ ตัวแทนชาวบ้านคลิตี้ล่างและหนึ่งในคณะกรรมการไตรภาคี  ได้ยื่นหนังสือแก่อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ สะท้อนข้อห่วงกังวลต่างๆ ของชาวคลิตี้ล่าง เช่น ความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานฟื้นฟูลำห้วย เนื่องจากชาวบ้านคลิตี้ล่างบางส่วนที่ทำงานดูดตะกอนจากห้วยต้องแช่ในน้ำทั้งวันและขาดชุดป้องกันเหมาะสม บางรายมีอาการผื่นคัน นอกจากนี้เธอเรียกร้องให้ผู้ประกอบโครงการชี้แจ้งทำความเข้าใจกับชาวบ้านที่การสร้างฝายดักตะกอนทับที่ทำกิน

พร้อมกันนั้น เธอได้ยื่นหนังสือข้อเสนอแนะของผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร หนึ่งในคณะกรรมธิการไตรภาคี ซึ่งเรียกร้องให้ผู้รับผิดชอบโครงการแสดงหลักฐานว่าได้ดำเนินงานสอดคล้องกับหลัก TOR และเปิดให้ชาวบ้านคลิตี้ล่างมีส่วนร่วมเก็บข้อมูลกระบวนการฟื้นฟูลำห้วยมากยิ่งขึ้น

ถุงเก็บตะกอนดูดจากลำห้วยและตะกอนขุดบนบกจะถูกนำมาฝังที่หลุมฝังกลบขนาดใหญ่ปูพื้นด้วยวัสดุหลายชั้นเพื่อป้องกันการรั่วซึม / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ณิชา เวชพานิช

ปัญหาลำห้วยคลิตี้และพื้นที่ใกล้เคียงปนเปื้อนสารตะกั่วดำเนินมานานกว่า 40 ปี เมื่อพ.ศ.2518 ชาวบ้านสังเกตพบว่าโรงแต่งแร่ บริษัทตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) ได้ปล่อยน้ำเสียและทิ้งหางแร่ที่มีสารตะกั่วในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ชาวบ้านจึงได้ยื่นฟ้องศาล ผลพิพากษาให้กรมควบคุมมลพิษดำเนินการฟื้นฟูแทนบริษัทตะกั่วฯ ที่เพิกเฉย โดยเรียกเก็บค่าใช้จ่ายทั้งหมดกับบริษัทฯ ผู้ก่อมลพิษ ทางหน่วยงานรัฐจึงได้ว่าจ้างบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) ดำเนินการฟื้นฟู

ท่ามกลางความคิดเห็นที่แตกต่าง วันที่ 14 เมษายน พ.ศ.2563 ชาวบ้านคลิตี้ล่างส่วนหนึ่งได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อให้ตรวจสอบและระงับการฟื้นฟูที่ไม่ปฏิบัติตามหลักชั่วคราว ขณะเดียวกัน 27 เมษายน ชาวบ้านอีกจำนวนหนึ่ง ได้จัดประชุมหารือและยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมให้ดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยต่อไป

รายงานข่าวชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของซีรี่ย์ “สี่สิบปี คลิตี้สีขุ่น” ชวนผู้อ่านฟื้นฟูความทรงจำคดีสิ่งแวดล้อมครั้งประวัติศาสตร์ ไปพร้อมกับช่วงเวลาฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ติดตามปัญหาการปนเปื้อนสารพิษที่ยังสืบเนื่องสู่ปัจจุบัน

ที่มา: greennews

นักวิจัย ม.นเรศวร แนะตรวจสารพันธุกรรม COVID-19 ในน้ำเสียของสิ่งปฏิกูล

ผศ. ดร. ธนพล เพ็ญรัตน์ หัวหน้าโครงการวิจัยการใช้โฟมที่ปรับเสถียรด้วยอนุภาคแม่เหล็กนาโนร่วมกับการเหนี่ยวนำความร้อนทางแม่เหล็กไฟฟ้าในการเร่งการฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนสารอินทรีย์ระเหยด้วยวิธีสกัดไอดิน จากมหาวิทยาลัยนเรศวร ภายใต้การสนับสนุนทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เปิดเผยว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาสถิติการติดเชื้อ COVID-19 รายใหม่ของไทยในแต่ละวันค่อนข้างคงที่ ขณะที่หลายจังหวัดรวมถึงพิษณุโลกไม่พบการติดเชื้อรายใหม่มาหลายวัน คำถามคือเมื่อใดจะเปิดเมืองได้อีกครั้ง บทความในนิวยอร์กไทม์ส ระบุว่าสหรัฐอเมริกาต้องตรวจการติดเชื้อให้มากกว่าปัจจุบันอีกวันละ ๓ เท่า จึงจะกลับมาเปิดเมืองได้อีกครั้ง โดยปัจจุบันสหรัฐอเมริกามีอัตราการตรวจที่ ๑๐,๘๖๓ ต่อประชาการ ๑ ล้านคน ส่วนของประเทศไทยอยู่ที่ ๑,๔๔๐ การตรวจต่อประชากร ๑ ล้านคน ต่ำกว่าสหรัฐอเมริกาประมาณ ๗.๕ เท่า

อย่างไรก็ตาม ไทยยังมีอีกหนึ่งทางเลือกในการเปิดเมือง นั่นคือ การตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสโคโรนาในน้ำโสโครกเพื่อคัดกรอง ซึ่งจะทำให้สามารถตรวจการติดเชื้อโดยไม่ต้องตรวจทุกคนในจังหวัด ด้วยการตรวจน้ำโสโครก หรือน้ำเสียของสิ่งปฏิกูลจากมนุษย์ ได้แก่ อุจจาระ ปัสสาวะ ในหนึ่งวันคนเราขับถ่ายอุจจาระเฉลี่ยประมาณ ๑๒๘ กรัมต่อคน และมีน้ำเสียจากสุขาที่รวมกิจกรรมชำระล้างการขับถ่ายอีกประมาณ ๒๕ – ๕๐ ลิตรต่อคนต่อวัน โดยผู้ติดเชื้อนั้นมีรายงานว่า มีสารพันธุกรรมของไวรัส COVID-19 สูงตั้งแต่ ๖๓๐,๐๐๐ copies ต่อมิลลิลิตรของอุจจาระถึง ๓๐,๐๐๐,๐๐๐ copies ต่อมิลลิลิตรของอุจจาระ ซึ่งงานวิจัยจากสหรัฐอเมริกาตรวจเจอได้ต่ำที่สุด คือ ๑๐ copies ต่อมิลลิลิตรของน้ำเสีย วิธีการตรวจใช้ RT-qPCR ปกติแบบที่ใช้ตรวจในคน ถ้าใช้ตัวเลข ๑๐ copies ต่อมิลลิลิตรเป็นค่าต่ำสุด และคำนวณจะพบว่า จ. พิษณุโลกซึ่งมีประชากรประมาณ ๘๖๖,๘๙๑ คน สามารถตรวจตัวอย่างน้ำโสโครกเพียง ๙๐ ตัวอย่าง สำหรับสมมติฐานว่าอุจจาระของผู้ติดเชื้อมีสารพันธุกรรมของไวรัสที่ ๓๐,๐๐๐,๐๐๐ copies ต่อมิลลิลิตร หรือ ๔,๒๖๗ ตัวอย่าง สำหรับสมมติฐานว่ามีสารพันธุกรรมของไวรัส ๖๓๐,๐๐๐ copies ต่อมิลลิลิตร ตัวอย่างน้ำโสโครกที่เป็นตัวแทนของทั้ง จ. พิษณุโลกยังน้อยกว่าการตรวจทุกคนในจังหวัด ประหยัดงบประมาณและเวลาอย่างมากมาย

นักวิจัยระบุว่า สามารถใช้เทคนิคการเก็บตัวอย่างน้ำแบบผสมรวมในการเก็บตัวอย่างน้ำเสียที่เป็นตัวแทนของคน ๑,๐๐๐ คนได้ เช่น ถ้ามีคอนโด ๒๐๐ ห้อง มีคนอยู่ ๔๐๐ คน ให้เก็บตัวอย่างน้ำโสโครกรวมของคอนโดนั้น ๆ มาผสมกับคอนโดอื่นในบริเวณข้างเคียง ไล่ตรวจไปทีละโซนทีละพื้นที่ หรือหากมีจุดที่มีน้ำเสียรวมของตำบลหนึ่งไหลมารวมกันก็เก็บตรงจุดนั้นเป็นตัวแทนของตำบลนั้นได้ หากตรวจแล้วพบก็สืบหากันต่อไปโดยอาจจะต้องแยกตรวจน้ำเสียรายตึก รายคอนโด หรือโซนของหมู่บ้าน จะทำให้เข้าถึงตัวผู้ติดเชื้อได้ไวขึ้น ถึงขั้นนี้การดูประวัติการเดินทาง กิจกรรม และอาการทางสุขภาพร่วมด้วยน่าจะทำให้เข้าถึงผู้ติดเชื้อได้เร็วขึ้น โดยที่ผู้ตรวจใส่ชุด PPE ก็เพียงพอแล้ว งานเก็บน้ำเสียจึงเป็นงานที่นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม วิศวกรสิ่งแวดล้อม หรือสิ่งแวดล้อมภาค สิ่งแวดล้อมจังหวัด แม้แต่สถานีอนามัยก็สามารถทำได้ หากได้รับการอบรมพื้นฐานมา ไม่จำเป็นต้องใช้บุคลากรทางการแพทย์ ด้วยเหตุนี้จังหวัดที่มีการล็อกดาวน์จนไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มมาระยะหนึ่งแล้ว การตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสในน้ำโสโครกอาจช่วยให้เปิดเมืองได้เร็วขึ้น ทั้งยังช่วยให้เราเฝ้าระวังการกลับมาของไวรัสด้วยหลักการและตรรกะแนวคิดเดียวกัน การตรวจน้ำเสียในโรงพยาบาลหรือโรงแรมที่มีขาจรจากต่างจังหวัดเข้ามาพักหลังเปิดเมือง ทำให้เราเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงได้ ในทำนองเดียวกันการตรวจน้ำโสโครกจากห้องน้ำในสนามบิน หรือแม้แต่จากห้องน้ำของเครื่องบินเองก็จะช่วยเฝ้าระวังได้อีกทางหนึ่ง นอกเหนือจากการวัดอุณหภูมิแบบปัจจุบัน

ม.นเรศวร เก็บรักษามะม่วงได้นานกว่า 1 เดือน! สกสว. ช่วยชาวสวนส่งมะม่วงทางเรือไปญี่ปุ่น-เกาหลีใต้

ผศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดเผยว่า ในช่วงฤดูร้อนนี้มีผลผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองออกมาเป็นจำนวนมาก แต่เมื่อต้องเผชิญวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถส่งออกมะม่วงไปประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นตลาดพรีเมียมที่สำคัญและทำรายได้ให้แก่ประเทศไทยอย่างมากทุกปี เนื่องจากมีสายการบินพาณิชย์ให้บริการจำนวนน้อย แต่มีค่าระวางเครื่องบินราคาแพง โดยขณะนี้ผลผลิตมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 10,000 ตัน ส่วนราคาขายภายในประเทศต่ำกว่ากิโลกรัมละ 20 บาท จากราคาปกติกิโลกรัมละ 50-60 บาท ส่งผลให้เกษตรกรเดือดร้อนประสบปัญหาขาดทุนอย่างมาก

จากผลงานวิจัยเรื่อง “การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเพื่อการส่งออกตลาดประเทศญี่ปุ่นโดยการขนส่งทางเรือเชิงพาณิชย์” ภายใต้ทุนวิจัยมุ่งเป้าจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช) ผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) คณะวิจัยพบว่า เทคนิคการยืดอายุการเก็บรักษามะม่วงน้ำดอกไม้สีทองในสภาพดัดแปลงบรรยากาศ โดยการบรรจุถุงพลาสติก WEB (White ethylene absorbing bag) และเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 13 องศาเซลเซียส สามารถยืดอายุการเก็บรักษามะม่วงน้ำดอกไม้สีทองได้เป็นระยะเวลา 33 วัน จากเดิมที่เก็บรักษามะม่วงได้เพียง 15 วัน โดยถุงพลาสติก WEB ช่วยลดการสูญเสียน้ำ ลดอัตราการหายใจ และลดการผลิตเอทิลีน โดยยังคงรักษาคุณภาพมะม่วงให้อยู่ในระดับที่ได้รับการยอมรับของผู้บริโภค

mango1310463

คณะวิจัยได้ทดลองส่งออกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองทางเรือไปประเทศญี่ปุ่นในช่วงฤดูร้อน จำนวน 1.2 ตัน เพื่อยืนยันผลการศึกษาด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวและวิธีการยืดอายุมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง โดยเริ่มต้นจากคัดเลือกผลผลิตมะม่วงจากสวนที่ได้มาตรฐาน ผ่านการตรวจคุณภาพความแก่ ทำความสะอาด และกระบวนการยืดอายุ ก่อนขนส่งมะม่วงโดยเรือบรรทุกสินค้าเดินทางถึงท่าเรือโยโกฮาม่า ประเทศญี่ปุ่น ใช้ระยะเวลาตั้งแต่เก็บเกี่ยวจนถึงประเทศญี่ปุ่น 20 วัน ผลการทดลองพบว่ามะม่วงทั้งหมดอยู่ในสภาพสด พร้อมจำหน่ายและยังคงรสชาติได้ดี เป็นที่พึงพอใจของผู้บริโภค ทั้งนี้ การขนส่งทางเรือสามารถลดต้นทุนการขนส่งได้ประมาณ 2 เท่า (ที่หน่วยขนส่ง 10 ตันทางอากาศ เทียบกับ 10 ตันทางเรือ) โดยมีต่นทุนการขนส่งไม่เกิน 30 บาท/กิโลกรัม

ผศ. ดร.พีระศักดิ์จึงเสนอการแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรในช่วงวิกฤตโควิด-19 ด้วยการส่งออกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองทางเรือไปประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ภายใต้การสนับสนุนของ สกสว. โดยในเดือนเมษายน 2563 มีการส่งออกไปทางเรือแล้วจำนวน 20 ตัน และประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยม ขณะที่มะม่วงมหาชนกจะขนส่งถึงท่าเรือโยโกฮามาในวันที่ 16-17 เมษายน 2563

“การขนส่งสินค้าทางเรือเป็นหนทางเดียวที่จะช่วยให้เกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงอยู่รอด หากเกษตรกรหรือผู้ส่งออกรายใดต้องการความช่วยเหลือทางวิชาการ สามารถเข้ารับการฝึกอบรมออนไลน์ หรือหากต้องการให้ประสานงานกับผู้ส่งออกและนำเข้าปลายทางในประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย สามารถติดต่อนักวิจัยได้ที่ 081-9713510 หรืออีเมล peerasakc@gmail.com

ที่มา: สำนักข่าวอิศรา

ม.นเรศวร มอบทุนจิตอาสารีไซเคิล ปันรัก ประจำปีการศึกษา 2563

ผู้อำนวยการกองกิจการนิสิต พร้อมด้วยหัวหน้างานบริการสวัสดิการนิสิตและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ได้นำนิสิตกลุ่มนิสิตจิตอาสาคัดแยกขยะ ชมรมจิตอาสา ที่ผ่านการคัดเลือกการรับทุนการศึกษา เข้ารับมอบทุนจากท่านอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร (ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กาญจนา เงารังษี) ในการประชุมคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุมสุพรรณกัลยา ชั้น 3 สำนักงานอธิการบดี จำนวน 10 ราย โดยกลุ่มนิสิตจิตอาสาคัดแยกขยะ ชมรมจิตอาสา ได้ดำเนินกิจกรรมคัดแยกขยะ ขยะรีไซเคิล เพื่อส่งเสริมการรักษาสิ่งแวดล้อม ลดภาวะโลกร้อน และได้นำเงินที่ได้จากการจำหน่ายขยะรีไซเคิลมาจัดสรรเป็นทุนการศึกษาให้แก่นิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวรที่ทำกิจกรรมจิตอาสา และนิสิตที่ขาดแคลนทุนทรัพย์

ที่มา: กองกิจการนิสิต มหาวิยาลัยนเรศวร

Sustainability

NARESUAN UNIVERSITY

Solverwp- WordPress Theme and Plugin