Archives 2021

ม.นเรศวร ให้ความรู้ขั้นตอนระบบบ่อบำบัดน้ำเสีย

กองอาคารสถานที่ยินดีต้อนรับ คณะศึกษาดูงานคณะสาธารณสุขศาสตร์ สาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม ชั้นปีที่ 3 เมื่อเวลา 8.30 น. วันที่ 23 ธันวาคม 2564 นายรุ่งรัตน์ พระนาค ผู้อำนวยการกองอาคารสถานที่พร้อมด้วยบุคลากร ให้การต้อนรับคณะศึกษาดูงาน นิสิตคณะสาธารณสุขศาสตร์ สาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม ชั้นปีที่ 3 โดยมี ดร.กนกทิพย์ จักษุ อาจารย์ผู้ควบคุม เพื่อเยี่ยมชมและศึกษาขั้นตอนระบบบ่อบำบัดน้ำเสียของมหาวิทยาลัยนเรศวร บรรยากาศเป็นไปด้วยความอบอุ่น ณ สถานีระบบบำบัดน้ำเสียส่วนกลาง มหาวิทยาลัยนเรศวร

ที่มา: กองอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ระบบผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคาภาคประชาชน

โครงการวิจัยเรื่อง “การพัฒนาอินเวอร์เตอร์หนึ่งเฟสแบบเชื่อมต่อกับระบบโครงข่ายไฟฟ้าพิกัดกำลัง 5 kW สำหรับระบบผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคาภาคประชาชนที่ใช้อุปกรณ์ IGBTs และ SiC MOSFETs”

>> โดย รศ.ดร.ศักดา สมกุล หัวหน้าโครงการวิจัย

[สนับสนุนทุนวิจัยโดย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)]
ที่มา: วิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร ร่วมพัฒนา “ฐานข้อมูล” ที่ถูกต้อง เรียลไทม์ เครื่องมือเริ่มต้นช่วยสกัดเด็กหลุดจากระบบการศึกษา

“การมีระบบฐานข้อมูลที่ดีช่วยลดระยะเวลาในการทำงาน ไม่ต้องทำงานที่ซ้ำซ้อน ลดภาระงานเอกสาร  มีเวลาจัดเตรียมการเรียนการสอนได้มากขึ้น รวมทั้งสามารถนำมาเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ทำให้เกิดความรวดเร็ว เกิดประโยชน์ มีประสิทธิภาพ ช่วยให้ทำงานได้ดี โดยเฉพาะการมีข้อมูลที่น่าเชื่อถือ”

นุตประวีณ์ ภัครวัฒน์อังกูร ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านราหุล จังหวัดเพชรบูรณ์ หนึ่งในเครือข่ายโรงเรียนพัฒนาตนเอง (TSQP) ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เริ่มต้นเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงหลังจากนำระบบสารสนเทศ Q-INFO มาใช้สนับสนุนการบริหาร ​การจัดการเรียนการสอน รวมทั้งภารกิจสำคัญอย่างการติดตามเด็กกลับมาเรียน สกัดเด็กหลุดจากระบบการศึกษาในช่วงนี้

หลังจากที่เข้าไปร่วมอบรมและนำระบบสารสนเทศ Q-INFO มาใช้ สิ่งแรกที่เปลี่ยนไปคือ จากการเขียนเอกสารประเมินผลตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ ป.พ. ที่เดิมครูต้องเขียนเอง แต่ระบบนี้ช่วยให้การทำงานสะดวกขึ้น ไม่ต้องมานั่งเขียนเอง แต่พิมพ์ออกมาจากระบบได้เลย อีกด้านหนึ่งยังเห็นข้อมูลเด็กในเชิงลึก เพื่อนำไปสู่การช่วยเหลือ ที่เชื่อมโยงกับระบบ CCT

จุดเด่นของระบบนี้คือ ครูมีข้อมูลที่ช่วยกันจัดเก็บแบบเรียลไทม์ ทั้งข้อมูลพื้นฐานของนักเรียน  ไปจนถึงอัตราการเข้าเรียนและผลการเรียน ​ทำให้ผู้บริหารสามารถเข้าไปเช็กได้เลยว่านักเรียนคนไหนขาดเรียนบ่อยแค่ไหน หรือเด็กคนไหนกำลังมีปัญหาในการเรียนที่จุดใด ก็จะสามารถรู้ได้ทันที ช่วยให้สามารถเข้าไปแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที 

ยกตัวอย่างที่ผ่านมามีเด็กที่ขาดเรียนไปเป็นสัปดาห์ เมื่อทราบเรื่องก็ติดต่อสอบถามไปยังผู้ปกครองว่านักเรียนขาดเรียนไปไหน หรือถ้าติดต่อผู้ปกครองไม่ได้ก็ประสานไปยังผู้ใหญ่บ้านว่าครอบครัวนี้ยังอยู่ในพื้นที่หรือย้ายไปไหน  เพื่อช่วยติดตามให้เขากลับมาเรียนได้ตามปกติ ไม่หลุดจากระบบการศึกษา

ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 จะมีเด็กที่ไม่สามารถเรียนออนไลน์ได้ โรงเรียนจึงปรับให้เรียนแบบออนแฮนด์ มารับใบงานไปทำที่บ้านแล้วนำมาส่ง ครูจะคอยติดตามไม่ให้เด็กขาดหายไปในช่วงนี้ และเมื่อถึงช่วงเปิดโรงเรียนได้ปกติ ก็จะคอยติดตามอีกรอบว่ามีเด็กคนไหนยังไม่กลับมาเรียน

“เปิดเทอมมาตั้งแต่ 1 ธันวาคม ตอนนี้เด็กกลับมาเรียนเกือบครบ 100% จะมีบ้างที่นักเรียนไม่สบาย เราก็ให้นักเรียนรักษาตัวอยู่บ้านให้หายดีก่อนค่อยมาเรียน ขณะที่นักเรียนกลุ่มเสี่ยงหรือมาจากต่างพื้นที่ก็ให้กักตัวอยู่บ้านก่อน 2 สัปดาห์ แล้วก่อนมาเรียนก็ให้ตรวจสอบก่อน ถ้าปกติถึงจะให้เข้ามาเรียนได้ โดยสถานการณ์ขณะนี้ไม่น่าเป็นห่วงแต่อย่างใด”

สำรวจและ​ซ่อมเสริม “ความรู้”
ป้องกันเรียนไม่รู้เรื่อง ชดเชยช่วงปิดเรียน

ส่วนมาตรการรองรับหลังเปิดเทอมก็ถือเป็นอีกประเด็นที่สำคัญ ผอ.นุตประวีณ์อธิบายเพิ่มเติมว่า ในช่วงการเรียนทั้งออนไลน์และออนแฮนด์ที่ผ่านมา อาจทำให้เด็กๆ ไม่ได้รับความรู้เต็มที่เหมือนกับเรียนที่โรงเรียน ช่วงที่กลับมาเรียนอีกครั้ง  จึงต้องมีการเรียนซ่อมเสริมให้นักเรียน

“ครูจะเป็นคนสำรวจว่าเด็กแต่ละคนมีจุดอ่อนตรงไหน เด็กเล็กๆ หลายคนช่วงที่เรียนที่บ้านนานๆ จะทำให้เขาอ่านเขียนได้น้อยลง ครูก็จะไปสอนเสริมให้เขาก่อน เพราะการอ่านออกเขียนได้เป็นพื้นฐานสำคัญ ในขณะที่เด็กคนไหนที่เรียนทัน ครูก็ต้องเพิ่มเนื้อหาที่แอดวานซ์ให้เขาได้พัฒนา  ต้องยอมเหนื่อยขึ้นเพื่อให้ลูกศิษย์เรียนรู้ได้ดีขึ้น จากในวง PLC เราจะรับรู้ถึงจิตวิญญาณความเป็นครูของแต่ละคนที่เสียสละทุ่มเทเพื่อเด็กๆ”

สร้างการเรียนรู้ที่ดีขึ้น
ครูต้องไม่ชี้ถูกชี้ผิด แต่เปิดพื้นที่ให้เด็กคิดด้วยตัวเอง

โรงเรียนบ้านราหุลได้นำกระบวนการของมูลนิธิลำปลายมาศพัฒนาเข้ามาใช้ โดยมีทีมโค้ชจากมหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นพี่เลี้ยงให้กับทีมครู ตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผนการทำงานไปจนถึงการลงมือปฏิบัติ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง

เมื่อครูเริ่มเปลี่ยนรูปแบบการสอนให้เด็กรู้จักคิด ครูเริ่มใช้โทนเสียงที่ต่ำ ไม่ใช้การสั่งแต่เปลี่ยนเป็นการพูดคุยเสนอแนะ  ทำให้เด็กกล้าแสดงออกมากขึ้น

“ระยะเวลาแค่ 3 เดือนแรกเราก็เห็นผลความเปลี่ยนแปลง จากการใช้จิตศึกษาเข้ามาช่วยให้นักเรียนรู้จักกำกับตัวเอง จนตอนนี้ช่วงเข้าแถวตอนเช้า แทบไม่ได้ยินเสียงนักเรียนคุยกัน จากแต่ก่อนที่เสียงจ้อกแจ้กวุ่นวาย

“รูปแบบนี้ต้องเริ่มจากการเปลี่ยนของครูก่อน ซึ่งครูทั้งโรงเรียนก็พร้อมใจกันเปลี่ยน บางคนตอนแรกอาจจะต่อต้านบ้าง คิดว่าเดี๋ยวจะเกษียณอยู่แล้ว ทำไมต้องมาเปลี่ยน แต่พอครูคนอื่นเริ่มเปลี่ยน  และเห็นผลความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเด็ก ครูที่ยังไม่เปลี่ยนก็เปลี่ยนตาม ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ” 

ที่มา: กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

จัดโครงการอบรมการจัดการขยะเพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจ และสร้างทัศนคติเชิงบวกเกี่ยวกับการจัดการขยะให้แก่นิสิตหอพัก

ปัจจุบันปัญหาเรื่องขยะนับว่าเป็นปัญหาสำคัญมากระดับโลก เพราะที่ใดมีผู้คนอาศัยและมีชุมชนที่นั่นมักประสบปัญหาเรื่องขยะที่มักจะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน และเนื่องจากมหาวิทยาลัยนเรศวรยังไม่มีการบริหารการจัดการขยะที่เต็มรูปแบบ การคัดแยกขยะก่อนทิ้งจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ดังนั้นการให้นิสิตมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการนำขยะกลับมาใช้ได้ใหม่และการมีทักษะการคัดแยกประเภทของขยะ จะนำไปสู่การคัดแยกอย่างถูกวิธีและสร้างประโยชน์ได้ อีกทั้งยังสามารถนำกลับมาหมุนเวียนเข้ากระบวนการผลิตเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีกครั้ง ซึ่งถือว่าเป็นการช่วยประหยัดทรัพยากรธรรมชาติ ประหยัดการใช้จ่าย และช่วยลดปัญหาขยะล้นโลกได้อีกด้วย
ดังนั้น เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2564 หอพักนิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวร ภายใต้สังกัด งานบริการสวัสดิการนิสิต กองกิจการนิสิต จึงได้จัดโครงการ “อบรมการจัดการขยะ” ณ อาคารขวัญเมือง หอพักนิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งการอบรมฯ ครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่ การอบรมให้ความรู้แบบเวทีเสวนาและการลงมือปฏิบัติจริงภายในหอพักฯ โดยได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.กวินธร เสถียร อาจารย์สังกัดภาควิชาสังคมและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ หัวหน้าโครงการวิจัยเรื่อง “การพัฒนาต้นแบบหอพักสีเขียวด้านการคัดแยกขยะภายในหอพักนิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมด้วยทีมงาน เป็นวิทยากรบรรยาย ร่วมด้วย นางพรธิดา บุญยะโรจน์ หัวหน้างานบริการสวัสดิการนิสิต และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ให้การต้อนรับและร่วมเสวนาในครั้งนี้ ทั้งนี้มีนิสิตที่มีความสนใจเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 160 คน

ที่มา: ประชาสัมพันธ์กองกิจการนิสิต

ม.นเรศวร กสศ. ร่วมมือ สพฐ. เดินหน้า ระบบสารสนเทศเฟสสอง เชื่อมข้อมูล สกัดเด็กหลุดทันท่วงที

กสศ.ร่วมมือกับ สพฐ. เดินหน้าพัฒนาระบบสารสนเทศดูแลช่วยเหลือนักเรียน ระยะ 2 ตั้งเป้าหมายลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ป้องกันความเสี่ยงเด็กหลุดออกจากระบบ ลดภาระครูในการกรอกข้อมูล พร้อมเชื่อมโยงข้อมูลให้รับทราบปัญหาของนักเรียนสู่การช่วยเหลือรายบุคคล นำร่องในเขตพื้นที่การศึกษา 29 แห่ง มีโรงเรียนร่วมแล้วกว่า 1,000 โรงเรียน 

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จัดการประชุมชี้แจงการดำเนินงานโครงการพัฒนาระบบสารสนเทศดูแลช่วยเหลือนักเรียนระยะที่ 2 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 ผ่านระบบ Zoom Meeting เพื่อให้ทราบถึงกรอบแนวทางการดำเนินงานและการขยายผลการทำงานร่วมกันในการให้ความช่วยเหลือแก่เด็กนักเรียนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยมีครูประจำชั้น ครูแอดมินระบบโรงเรียน ผู้อำนวยการสถานศึกษา และเจ้าหน้าที่เขตพื้นที่การศึกษา จำนวน 29 เขตพื้นที่นำร่อง เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้

ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณทุกฝ่ายที่เห็นความสำคัญของการส่งเสริมการจัดการศึกษาในแต่ละเขตพื้นที่ และร่วมกันออกแบบเครื่องมือการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อจัดทำระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน 

ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ.

โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของเด็กและเยาวชนไทย เพราะสิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานคือข้อมูลของเด็กรายบุุคคล ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดว่าเราจะจัดการศึกษาที่ดีมีคุณภาพได้อย่างไร จากที่ผ่านมาหลายหน่วยงานได้ช่วยกันเก็บรวบรวมข้อมูลผ่านช่องทางต่างๆ จนมีประวัตินักเรียนที่บันทึกผ่านการลงพื้นที่เยี่ยมบ้านดูสภาพความเป็นจริง

สิ่งที่สำคัญคือเรายังไม่มีการเชื่อมโยงข้อมูลทั้งระบบในลักษณะเครือข่ายที่ใช้ร่วมกันได้ทั้งประเทศ จึงกลายเป็นว่าข้อมูลที่มียังคงกระจัดกระจาย  และใช้กันอยู่เพียงเฉพาะในหน่วยงานนั้นๆ

วันนี้เป็นโอกาสดีที่ สพฐ. กสศ. และมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ร่วมกันออกแบบโปรแกรมรวบรวมข้อมูลของนักเรียนทุกคน และมีแบบแผนการทำงานที่ลงรายละเอียดว่าจะเก็บข้อมูลด้านใด หรือจะนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไร นับเป็นจุดเริ่มต้นที่เราได้นำเทคโนโลยีมาช่วยสร้าง Big Data ซึ่งแสดงผลได้เลยว่าเด็กทุกคนไม่ว่าจะเรียนอยู่ตรงไหนในประเทศ ก็ยังสามารถติดตามได้ทั้งหมด

“ทั้งนี้ยังเชื่อมข้อมูลกับกระทรวงสาธารณสุข หรือกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะทำให้ทราบชัดเจน แยกแยะได้ว่านักเรียนที่อยู่ในข้อมูลนั้นเป็นกลุ่มใด เช่น นักเรียนกลุ่มด้อยโอกาส กลุ่มพิการ กลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ สามารถให้ความช่วยเหลือได้หมดและตรงจุด พร้อมอยากฝากให้ผู้ที่บันทึกข้อมูลทำโปรแกรมต่างๆ ตรวจสอบมากขึ้นด้วยว่า มีการเก็บข้อมูลที่ซ้ำซ้อนกันหรือไม่อย่างไร หากมีควรนำมาจัดเก็บไว้ในที่เดียวกัน เพื่อให้เกิดการจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ และการเก็บข้อมูลของนักเรียนเพื่อให้ความช่วยเหลือ ถือเป็นคุณูปการอย่างยิ่งสำหรับการบริหารจัดการข้อมูลในอนาคต และเป็นประโยชน์อย่างมากในการให้ความช่วยเหลือแก่เด็กนักเรียนในสังกัด สพฐ.ต่อไป พร้อมขอบคุณ กสศ.และมหาวิทยาลัยนเรศวร ที่ช่วยสร้างความร่วมมือเพื่อดูแลเด็กนักเรียน” ดร.อัมพรกล่าว 

นายนิสิต เนินเพิ่มพิสุทธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจ
คุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน สพฐ.

ด้านนายนิสิต เนินเพิ่มพิสุทธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน สพฐ. กล่าวว่า ที่ผ่านมาศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน ประสานความร่วมมือกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ดำเนินโครงการพัฒนาระบบสารสนเทศดูแลช่วยเหลือนักเรียน โดยทดลองระบบนำร่องระยะที่ 1 ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 29 แห่ง รวม 616 โรงเรียน ซึ่งประสบความสำเร็จในด้านการนำข้อมูลมาช่วยจัดทำระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนและนักเรียนยากจนพิเศษ 

ขณะนี้ได้มีการต่อยอดขยายผลใช้งานระบบสารสนเทศดูแลช่วยเหลือนักเรียนในโรงเรียนให้มากขึ้น โดยเป็นการดำเนินงานไปสู่ระยะที่ 2 ทำให้มีโรงเรียนที่เห็นประโยชน์การดำเนินงานเข้าร่วมโครงการเพิ่มอีก 391 โรงเรียน รวมแล้วทั้งสิ้น 1,005 แห่ง การเชื่อมโยงข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์ต่อเด็กนักเรียนอย่างมากที่ช่วยลดความเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ในการพัฒนากำลังคนเพื่อไปสู่การพัฒนาประเทศต่อไป

ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า การรับรู้ต้นทุนด้านข้อมูลทางการศึกษาได้ตั้งแต่ระดับชั้นปฐมวัยจนไปสู่ชั้นเรียนที่สูงขึ้น จะสามารถทำให้เกิดการจัดสรรความช่วยเหลือแก่เด็กได้มากขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาต่อไปในอนาคต 

กลุ่มโรงเรียนที่เข้าร่วมทั้งในเขตพื้นที่การศึกษา 29 แห่งนี้ ถือเป็นผู้เบิกทางในการพัฒนาระบบในปี 2565 ต่อไป ซึ่งจากการเก็บข้อมูลในปี 2563-2564 ที่ผ่านมาพบว่า จากเด็กนักเรียนยากจนพิเศษกว่า 1,235,000 คน มีเด็กที่ยังไม่สามารถกลับคืนเข้าสู่ระบบการศึกษาได้ประมาณ 54,000 คน ส่วนใหญ่อยู่ในชั้นเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 3 ร้อยละ 47.54 รองลงมาคือชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 หลังจากนี้จะมีการติดตามนักเรียนกลับคืนสู่ระบบการศึกษาได้มากขึ้น 

ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการ กสศ.

สำหรับข้อมูลดังกล่าวสะท้อนได้ว่า จากการเชื่อมต่อข้อมูลของทั้ง DMC และ CCT ทำให้รับทราบถึงสถานการณ์ของเด็กนักเรียนได้ปีละ 2 ครั้ง ส่งผลต่อการให้ความช่วยเหลือไปยังเด็กที่มีความสำคัญมากกว่าเดิม สามารถตามเด็กนักเรียนให้กลับคืนสู่ระบบการศึกษาได้ และยังช่วยลดภาระของครูได้อย่างมากอีกด้วย จากเดิมที่ต้องลงข้อมูลจดไว้ในสมุด ก็สามารถลงบันทึกไว้ในโปรแกรมรูปแบบ One Application และนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นต่อไป

“การลงบันทึกข้อมูลเหล่านี้ก็ถือว่ามีความสำคัญ เพราะ กสศ.ได้ร่วมมือกับหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ในการให้ความช่วยเหลือกับนักเรียนที่ต้องการศึกษาต่อในระดับชั้นที่สูงขึ้นไป เช่น ได้ร่วมนำส่งข้อมูลไปยังสถาบันระดับอุดมศึกษาผ่านระบบ TCAS โดยอัตโนมัติ ทำให้สถาบันการศึกษาได้รับทราบข้อมูลความยากจนของเด็กและนำมาสู่ความช่วยเหลือได้อย่างตรงจุดมากกว่าเดิม ซึ่งมหาวิทยาลัยสามารถนำข้อมูลนี้มาใช้ประกอบการพิจารณาให้ทุนการศึกษาได้ต่อเนื่องทันที ขณะเดียวกันยังได้รายงานข้อมูลที่เก็บไว้ไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จนทำให้เกิดการระดมทุนให้ความช่วยเหลือแก่เด็กนักเรียนที่ยากจนได้มากขึ้น” 

ดร.ไกรยสกล่าวว่า ข้อมูลที่เก็บไว้ในระบบสามารถนำมาใช้กับภาคการสาธารณสุขได้เช่นกัน โดยเฉพาะบางครอบครัวที่มีผู้ป่วยติดเตียง โดย กสศ.ได้ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในการเชื่อมโยงข้อมูล เพื่อให้รับทราบถึงจำนวนผู้ป่วยในสถานะต่างๆ ที่เป็นปัจจุบันมากขึ้น และยืนยันว่าการประชุมครั้งนี้จะช่วยต่อยอด ขยายผลให้มีการนำข้อมูลที่เป็นประโยชน์มาใช้งานได้จริง และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในปีการศึกษา 2565 ต่อไป

นางสาวรักชนก กลิ่นเจริญ นักวิชาการ สำนักบริหารเงินอุดหนุนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ กสศ. กล่าวถึงกรอบแนวทางและปฏิทินการดำเนินงานโครงการ ระยะที่ 2 นี้ว่า จะดำเนินงานทั้งในมิติของการเชื่อมโยงข้อมูลนักเรียนรายบุคคลจากระบบ DMC และข้อมูลการคัดกรองความยากจน ระบบ CCT เพื่อนำไปสู่การประมวลผลเพื่อทำงานช่วยเหลือนักเรียนเป็นรายบุคคล คัดกรองความเสี่ยงของนักเรียนที่ครอบคลุมมิติอื่นๆ จำแนกกลุ่มนักเรียนให้ชัดเจน ทั้งกลุ่มปกติ กลุ่มเสี่ยง หรือนักเรียนที่มีปัญหา และการแจ้งเตือนแบบ Early Warning เพื่อนำมาสู่การให้ความช่วยเหลือแบบทันท่วงที 

พร้อมจุดเน้นการทำงานร่วมกันในเรื่องการถอดบทเรียนกลไกการทำงานระบบดูแลช่วยเหลือของสถานศึกษา เพื่อศึกษา วิเคราะห์ และพัฒนาแนวทางการทำงานสู่การติดตามการช่วยเหลือนักเรียน ด้วยการส่งเสริมกิจกรรมต่างๆ ภายในสถานศึกษา (School-Based Interventions) เพื่อให้ความช่วยเหลือมาถึงเด็กได้มากที่สุด นอกจากนี้ยังเก็บรวบรวมความคิดเห็นของผู้ใช้งานและการพัฒนาระบบงานและระบบสารสนเทศที่สอดคล้องกับบริบทการทำงาน เพื่อปรับปรุงระบบให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นในอนาคตต่อไป

ขณะเดียวกันยังได้เปิดช่องทางการอบรมการใช้งานเครื่องมือสารสนเทศและประชุมแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ระหว่างครูผู้สอน ผู้ดูแลระบบ รวมไปถึงเจ้าหน้าที่เขตพื้นที่การศึกษา ให้มีความเข้าใจในการดำเนินงานมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการอบรมผ่านระบบออนไลน์ และมีการพัฒนาระบบการเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านระบบ E-Learning เพื่อให้คุณครูผู้ปฏบัติงานสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองทุกที่ทุกเวลา  ซึ่งจะสามารถเปิดลงทะเบียนให้อบรมได้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2565 เป็นต้นไป 

ทั้งนี้หลังจากวันที่ 7 ธันวาคมเป็นต้นไป สถานศึกษาที่อยู่ในโครงการนำร่อง สามารถเริ่มดำเนินการบันทึกข้อมูลผ่านระบบสารสนเทศ ทั้งการรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล และคัดกรองความเสี่ยงที่ครอบคลุมทุกมิติ โดยระบบนี้จะดำเนินการให้บันทึกข้อมูลได้จนถึงเดือนมีนาคม 2565 

ที่มา: กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

ม.นเรศวร จัดกิจกรรมปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว

เมื่อเวลา 16.30 น. วันอาทิตย์ที่ 5 ธ.ค. 2564 ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กาญจนา เงารังษี อธิการบดี ดร.สุชาติ เมืองแก้ว ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษประจำมหาวิทยาลัยนเรศวร นายรุ่งรัตน์ พระนาค ผู้อำนวยการกองอาคารสถานที่พร้อมด้วยบุคลากร ได้เข้าร่วมโครงการ ปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว ณ อาคารอุทยานองค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และเข้าร่วมงาน “ดนตรี อว.เทิดพระเกียรติ 5 ธันวาคม 2564” พร้อมทั้งจุดเทียนมหามงคลเพื่อสดุดีเฉลิมพระเกียรติคุณและน้อมรำลึก ในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพ วันพ่อแห่งชาติและวันชาติ ณ ลานพระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช

ที่มา: กองอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร ร่วมมือ นครยะลาตรวจซากเชื้อโควิดในน้ำเสีย พยากรณ์การระบาดล่วงหน้า!

วันพฤหัสดีที่ 25 พฤศจิกายน 2564 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ จ.สงขลา จำนวนผู้ที่เชื้อยังทรงตัวในทุกจังหวัด มีเพียง จ.นราธิวาส ที่ผู้ติดเชื้อใหม่ลดลงอย่างมากเหลือเพียงแค่ 69 ราย และไม่มีผู้ป่วยเสียชีวิตต่อเนื่องเป็นเวลา 8 วันแล้ว

ข้อมูลจากศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. ระบุว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมของสามจังหวัดชายแดนใต้ และ จ.สงขลา ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.- 25 พ.ย.64 มีจำนวนผู้ติดเชื้อ (ไม่รวมผู้ต้องขังในเรือนจำ) อยู่ที่ 191,530 ราย

ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ จ.สงขลา วันพฤหัสบดีที่ 25 พ.ย. มีตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่รวม 938 ราย และเสียชีวิต 6 ศพ แยกตามจังหวัดได้ดังนี้

จ.สงขลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 470 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมเพิ่มเป็น 60,444 ราย ติดเชื้อภายในประเทศ 60,421 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 23 ราย เป็นผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 5,889 ราย รักษาหายแล้ว 54,302 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตใหม่ 2 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 253 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจ 5,266 ราย

จำนวนผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.หาดใหญ่ 14,241 ราย, อ.เมืองสงขลา 8,001 ราย, อ.จะนะ 7,882 ราย, อ.สิงหนคร 5,048 ราย, อ.สะเดา 4,605 ราย, อ.เทพา 4,566 ราย, อ.รัตภูมิ 3,633 ราย, อ.สะบ้าย้อย 3,327 ราย, อ.นาทวี 1,639 ราย, อ.บางกล่ำ 1,546 ราย, อ.ระโนด 1,022 ราย, สทิงพระ 880 ราย, ควนเนียง 812 ราย, อ.นาหม่อม 621 ราย, อ.คลองหอยโข่ง 372 ราย, อ.กระแสสินธุ์ 82 ราย, เป็นกรณีเรือนจำ รวม 1,331 ราย เป็นคนต่างจังหวัด 813 ราย และจากต่างประเทศ 23 ราย

covidsouth25114

จ.ปัตตานี มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 228 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 45,452 ราย รักษาหายแล้ว 29,700 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 3 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 441 ราย ผู้ป่วยแยกรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลปัตตานี 135 ราย, โรงพยาบาลสนามจังหวัด 74 ราย, โรงพยาบาลสนามอำเภอ 354 ราย, โรงพยาบาลชุมชน 449 ราย, โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร 3 ราย, โรงพยาบาลสนามค่ายสมเด็จพระสุริโยทัย 34 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส 48 ราย, สิโรรส-ปาร์ควิว ฮอสพิเทล 148 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส เรนโบว์ ฮอสพิเทล 115 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส-ดิอามาน รีสอร์ท 22 ราย, โรงพยาบาลธัญรักษ์สะพานปูน – โรงยิมบานา 13 ราย, โรงพยาบาลธัญรักษ์ เซาท์เทิร์น วิว 87 ราย และ Home Isolation 608 ราย

จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ยืนยันสะสมแยกตามรายอำเภอ ได้แก่ อ.เมือง 11,631 ราย, อ.ไม้แก่น 1,108 ราย, อ.ยะหริ่ง 3,548 ราย, อ.หนองจิก 4,464 ราย, อ.โคกโพธิ์ 2,773 ราย, อ.สายบุรี 5,509 ราย, อ.แม่ลาน 696 ราย, อ.ยะรัง 4,331 ราย, อ.ปะนาเระ 1,684 ราย, อ.ทุ่งยางแดง 2,072 ราย, อ.มายอ 4,530 ราย และ อ.กะพ้อ 1,746 ราย

จ.นราธิวาส มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 69 ราย แยกเป็นพื้นที่ อ.เมือง 17 ราย, อ.ตากใบ 10 ราย, อ.ยี่งอ 3 ราย, อ.แว้ง 1 ราย, อ.สุคิริน 3 ราย, อ.รือเสาะ 4 ราย, อ.บาเจาะ 10 ราย, อ.ระแงะ 10 ราย, อ.ศรีสาคร 3 ราย, อ.เจาะไอร้อง 2 ราย, อ.สุไหงปาดี 6 ราย ทำให้มีผู้ป่วยสะสม 41,682 ราย รักษาหายสะสม 40,650 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 378 ราย

ผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ได้ดังนี้ อ.เมือง 8,289 ราย, อ.ระแงะ 4,840 ราย, อ.รือเสาะ 2,244 ราย, อ.บาเจาะ 3,610 ราย, อ.จะแนะ 1,761 ราย, อ.ยี่งอ 3,013 ราย, อ.ตากใบ 3,158 ราย, อ.สุไหงโก-ลก 3,592 ราย, อ.สุไหงปาดี 3,365 ราย, อ.ศรีสาคร 2,093 ราย, อ.แว้ง 2,298 ราย, อ.สุคิริน 1,189 ราย และ อ.เจาะไอร้อง 2,230 ราย

จ.ยะลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 171 ราย ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มเป็น 46,582 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 2,251 ราย รักษาหายแล้ว 46,258 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 1 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 325 ราย ซึ่งจำนวนผู้ป่วยแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.เมืองยะลา 16,648 ราย, อ.เบตง 4,931 ราย, อ.รามัน 6,192 ราย, อ.ยะหา 5,503 ราย, อ.บันนังสตา 7,163 ราย, อ.ธารโต 2,369 ราย, อ.กาบัง 1,259 ราย และ อ.กรงปินัง 2,517 ราย

ผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 2,251 ราย แยกเป็นโรงพยาบาลยะลา 86 ราย, โรงพยาบาลเบตง 68 ราย, โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) 6 แห่ง 248 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส 127 ราย, โรงพยาบาลสนาม อ.เมือง 116 ราย, โรงพยาบาลสนามเบตง 115 ราย, โรงพยาบาลสนามรามัน 28 ราย, โรงพยาบาลสนามบันนังสตา 0 ราย, โรงพยาบาลสนามยะหา 54 ราย, โรงพยาบาลสนามธารโต 5 ราย, โรงพยาบาลสนามกรงปินัง 7 ราย, โรงพยาบาลสนามกาบัง 20 ราย, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ศอ.12 ยะลา 43 ราย, Hospitel ยะลา 0 ราย, Hospitel เบตง 8 ราย, ผู้ป่วยแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) 972 ราย , ผู้ป่วยแยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation) 354 ราย

covidsouth25112

ที่บริเวณที่แยกโรงเรียนรัชตะวิทยา อ.เมือง จ.ยะลา เทศบาลนครยะลาร่วมกับมหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก โดย ผศ.ดร. ธนพล เพ็ญรัตน์ และคณะ ได้ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างน้ำภายในเขตเทศบาล เพื่อตรวจสารพันธุกรรมของ SAR-COV-2 (รหัสพันธุกรรมของไวรัสโรคซาร์ และโควิด) ในน้ำเสีย โดยวิธี qRT-PCR ซึ่งทางมหาวิทยาลัยนเรศวรได้ทำการวิจัยการเฝ้าระวังเชิงรุกและการเตือนภัย (3-14 วัน) ล่วงหน้าจากการแพร่เชื้อ SARS-CoV-2 ในสถานที่สุ่มเสี่ยงและชุมชน ด้วยการตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสในน้ำเสียโสโครกโดยวิธี Loop Mediated Isothermal Amplification (LAMP) Assays

ผศ.ดร.ธนพล กล่าวว่า เป็นการเฝ้าระวังเชิงรุกที่แจ้งเตือนล่วงหน้าได้ก่อนการระบาด สามารถลดความรุนแรงของการระบาดลงได้ โดยการตรวจสารพันธุกรรมของ SAR-COV-2 ในน้ำเสียโดย qRT-PCR หากพบเชื้อก็จะสามารถแจ้งเตือนก่อนการแพร่ระบาดได้ 3-14 วัน ซึ่งวิธีการนี้ได้ดำเนินการแล้วในหลายประเทศทั่วโลก สำหรับประเทศไทยเริ่มดำเนินการในภาคเหนือ เช่น พิษณุโลก เชียงใหม่ ตาก และนครสวรรค์

ส่วนในภาคใต้ เทศบาลนครยะลาได้ขอความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อดำเนินการตรวจตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสในน้ำเสียโสโครกจากรางระบายน้ำในเขตเทศบาลนครยะลา ตั้งแต่วันที่ 25 พ.ย.64 เป็นต้นไป เพื่อเป็นข้อมูลให้สามารถทำการสืบสวนและแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าหากตรวจพบสารพันธุกรรมของ SARS-CoV-2 ในน้ำเสีย และสามารถพัฒนาเป็นแผนระดับองค์กรในการตอบโต้สถานการณ์การระบาดของโควิดในรอบต่อไป ซึ่งการนำวิธีการนี้มาใช้จะทำให้มีผู้ติดเชื้อจากการระบาดระลอกอื่นๆ ในอนาคตลดน้อยลง ลดความเสียหายต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคมได้

นายยู่สิน จินตภากร รองนายกเทศมนตรีนครยะลา กล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่ดี เป็นการหาซากเชื้อที่เกิดจากโควิด-19 มาทำการวิเคราะห์ เพื่อหาผู้ป่วยในวงกว้าง ซึ่งเราสามารถคาดการณ์ได้ว่า จะมีผู้ติดเชื้อประมาณกี่คนในชุมชนนี้หรือในบริเวณโดยรอบที่เราทำการตรวจหาเชื้อจากน้ำ จากนั้นจะนำไปสู่การตรวจ ATK หรือ PCR อย่างตรงกลุ่มเป้าหมาย สามารถประหยัดงบประมาณและสามารถพยากรณ์ได้ว่า ก่อนที่จะเกิดการระบาดของโควิด-19 จะสามารถระบาดได้ประมาณกี่สัปดาห์จำนวนคนกี่คนที่จะติดเชื้อ โดยการคาดการณ์สามารถทราบล่วงหน้าประมาณ 5-7 วัน

เทศบาลนครยะลาเป็นแห่งแรกในภาคใต้ที่ได้รับความร่วมมือจากอาจารย์ทางมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้อนุเคราะห์มาตรวจหาเชื้อซากโควิดในบ่อบำบัดน้ำเสียในพื้นที่ชุมชนซึ่งทางเทศบาลนครยะลาได้มีการลงพื้นที่ตรวจ 40 จุด เพื่อที่จะได้รู้พื้นที่ที่ชัดเจน เชื่อว่านวัตกรรมใหม่ในการป้องกันการระบาดของเชื้อโควิด จะช่วยให้เราได้คาดการณ์ล่วงหน้าและสามารถหาแนวทางในการแก้ปัญหาอย่างมีหลักการและทันกับสถานการณ์มากทีสุด

covidsouth25113

ที่สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดปัตตานี บริเวณสนามกีฬากลางองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานนราธิวาส ร่วมกับสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดปัตตานี จัดกิจกรรม “SHA Clinic @ปัตตานี” โดยมีสถานประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดปัตตานี จำนวน 40 ราย เช่น โรงแรม ภัตตาคาร/ร้านอาหาร แหล่งท่องเที่ยว ชุมชนท่องเที่ยว ห้างสรรพสินค้า เข้าร่วมกิจกรรม เพื่อเรียนรู้และศึกษาข้อมูลยื่นขอตราสัญลักษณ์ SHA

ทาง ททท.ได้รับความร่วมมือในการขับเคลื่อนและผลักดันผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวในการยื่นรับตราสัญลักษณ์ SHA และ SHA Plus จากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ โดยเป็นการนำมาตรการความปลอดภัยด้านสาธารณสุขผนวกกับมาตรฐานการให้บริการที่มีคุณภาพของสถานประกอบการ เพื่อสร้างความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยว โดยมีมาตรฐานเบื้องต้นจากกรมควบคุมโรคที่กำหนดเป็นบรรทัดฐานของทุกสถานประกอบการ 3 องค์ประกอบ คือ 1.สุขลักษณะอาคารและอุปกรณ์เครื่องใช้ที่มีอยู่ในอาคาร 2.การจัดอุปกรณ์ทำความสะอาดเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรค และ 3.การป้องกันสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน

น.ส.นวพร ชัวชมเกตุ ผอ.ททท.สำนักงานนราธิวาส กล่าวถึงขั้นตอนการสมัครและประโยชน์จากโครงการนี้ว่า ขั้นตอนในการลงทะเบียนสมัครไม่ยาก สามารถดาวน์โหลดแอปฯไทยชนะ และลงทะเบียนข้อมูลในเว็บไซต์พร้อมแนบภาพ เมื่อมีการประเมินและตรวจสอบผ่านจะได้รับโลโก้ SHA

สำหรับในพื้นที่ชายแดนใต้มีเงื่อนไขเพิ่มเติมบ้าง เช่น การท่องเที่ยวชุมชน คนในชุมชนต้องได้รับการฉีดวัคซีน 70% ร้านค้าเล็กๆ หรือแผงลอยก็สามารถขอรับสัญลักษณ์และใบอนุญาตนี้ได้ เพื่อสร้างโอกาสและความมั่นใจในการบริการ ไม่เสียโอกาสทางการตลาด เมื่อสมัครและแนบเอกสารครบ รอประมาณ 3-4 วัน ก็จะได้รับการตอบรับการตรวจสอบ เพราะขณะนี้มีร้านที่สมัครเข้ามาทั่วประเทศจำนวนมากเพื่อให้ผ่านมาตรฐานในการให้บริการแก่นักท่องเที่ยว

ด้าน น.ส.วรรณา อาลีตระกูล นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวปัตตานี ผู้จัดการฝ่ายขายและประชาสัมพันธ์โรงแรม ซี.เอส.ปัตตานี กล่าวว่า โรงแรม ซี.เอส.ปัตตานี ได้สมัครเข้าร่วมโครงการแล้ว ได้เตรียมข้อมูลและภาพไว้พร้อม ขั้นตอนการสมัครก็ไม่ยาก ผู้ประกอบการในปัตตานีควรสมัครเข้าร่วมโครงการนี้ เพื่อความมั่นใจทั้งผู้ประกอบการและลูกค้าในการเปิดรับการท่องเที่ยวมากขึ้น

ที่มา: สำนักข่าวอิศรา

มอบทุนการศึกษา นิสิตที่มีความประพฤติดี แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์

เมื่อวันศุกร์ที่ 26 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา กองกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้จัดพิธีมอบทุนการศึกษา “มูลนิธินายประจักษ์ และนางสาลี่ คนตรง” ประจำปีการศึกษา 2564 ณ ห้องประชุมสุพรรณกัลยา 1 สำนักงานอธิการบดี โดยได้รับเกียรติจาก นายอานนท์ณัฏฐ์ เปรมฤทัย ประธานกรรมการมูลนิธินายประจักษ์ และนางสาลี่ คนตรง และคณะ เป็นผู้มอบทุนฯ ร่วมกับ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร (ศาสตราจารย์ ดร.จิรวัฒน์ พิระสันต์) ผู้อำนวยการกองกิจการนิสิต และคณาจารย์ผู้แทนสถาบัน ทั้งนี้มีนักเรียนและนิสิตที่ได้รับทุน จำนวนทั้งสิ้น 26 ทุน จาก 5 สถาบัน ได้แก่ นิสิตจากมหาวิทยาลัยนเรศวร จำนวน 5 ทุน นักเรียนจากโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม จำนวน 5 ทุน นักเรียนจากโรงเรียนพุทธชินราช จำนวน 5 ทุน นักเรียนจากโรงเรียนพิษณุโลกปัญญานุกูล จำนวน 7 ทุน และสามเณรจากโรงเรียนวัดธรรมจักรวิทยา จำนวน 4 ทุน ซึ่งทุนดังกล่าวถือเป็นโอกาสทางการศึกษาแก่เยาวชน นักเรียน และนิสิตที่มีความตั้งใจศึกษาเล่าเรียน มีความประพฤติดี แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ อีกทั้งยังเป็นการส่งต่อโอกาสและแบ่งปันไปยังผู้อื่นในสังคม เพื่อให้ “ผู้รับ” ในวันนี้ ได้มีโอกาสพัฒนาตนเองให้เป็น “ผู้ให้” ในวันหน้า และร่วมแบ่งปันโอกาสทางการศึกษาให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้อย่างยั่งยืน และส่งต่อความสุขสู่บุคคลอื่นในสังคมต่อไปอย่างไม่มีสิ้นสุดต่อไป

ที่มา: กองกิจการนิสิต

คณะกรรมการสรรหาอธิการบดีเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาคมเพื่อเป็นข้อมูลในการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร

วันจันทร์ที่ 22 พฤศจิกายน 2564  ณ ห้องประชุมเอกาทศรถ 301 ชั้น 3 มหาวิทยาลัยนเรศวร คณะกรรมการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร โดย ดร.พิจิตต รัตตกุล ศาสตราจารย์ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข ศาสตราจารย์ ดร.ศันสนีย์ ไชยโรจน์ รองศาสตราจารย์ ดร.วิชญานัน รัตนวิบูลย์สม และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ชนินทร์ อัมพรสถิร จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาคมมหาวิทยาลัยนเรศวรเกี่ยวกับทิศทางการพัฒนามหาวิทยาลัย เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการในการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร  ซึ่งการรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ต้องไม่สนับสนุนหรือพาดพิงบุคคลอื่นใด  โดยมีการรับฟังทั้งหมด  6 กลุ่ม ทั้งในห้องประชุมและทางระบบออนไลน์ (Zoom) ดังนี้
กลุ่ม 1 ผู้อำนวยการกอง/ผู้อำนวยการโรงเรียน/บุคลากรสายสนับสนุน
กลุ่ม 2 ผู้บริหาร (คณบดี/ผู้อำนวยการวิทยาลัย/ผู้อำนวยการสำนัก)
กลุ่ม 3 บุคลากรสายวิชาการ
กลุ่ม 4 นิสิตบัณฑิตศึกษา/องค์การนิสิต/สโมสรนิสิต
กลุ่ม 5 ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยนเรศวร
กลุ่ม 6 หน่วยงานภายนอกมหาวิทยาลัย
ทั้งนี้ การจัดประชุมดังกล่าว ได้มีการจัดประชุมภายใต้การดูแลมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด โควิด 19 อย่างเคร่งครัด

ที่มา: ประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัยนเรศวร

‘ม.นเรศวร’ เปิดตัวเตาเผาขยะหน้ากากอนามัยใช้แล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่ารายงานว่า ที่คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ม.นเรศวร จ.พิษณุโลก เปิดตัวเตาเผาขยะติดเชื้อและหน้ากากอนามัยใช้แล้วที่มีประสิทธิภาพเหมาะสมกับการใช้งานระดับชุมชน รวมถึงสถานพยาบาลชุมชนและ อสม.ประจำบ้าน และพื้นที่ห่างไกล เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบัน จากปัญหาแมสและขยะติดเชื้อที่มีปริมาณเพิ่มขึ้น

ผศ.ดร.วรสิทธิ์ โทจำปา คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ช่วงวิกฤติการณ์โรคระบาดโควิด-19 เมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา ทีมวิจัยจากคณะเกษตรศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ม.นเรศวร และวิทยาลัยพลังงานทดแทน ม.แม่โจ้ จ.เชียงใหม่ ได้ร่วมกันพัฒนาและใช้ความรู้ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมในการสร้างต้นแบบเตาเผาขยะติดเชื้อและหน้ากากอนามัยใช้แล้วเพื่อกรณีฉุกเฉินในการรองรับความต้องการของชุมชนในการเผาทำลายขยะติดเชื้อที่เกิดขึ้นและสนับสนุนงานด้านสาธารณสุข โดยเตาเผาต้นแบบมีประสิทธิภาพเหมาะสมกับการใช้งานระดับชุมชน

ดร.อุกฤต สมัครสมาน อาจารย์ประจำวิชาภาคทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะเกษตรศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวเพิ่มเติมว่า เตาเผาขยะติดเชื้อขนาดเล็ก ใช้เผาหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วและชุดตรวจวัด ATK และขยะมูลฝอยติดเชื้ออื่น ๆ เช่น มูลฝอยที่เป็นของเหลวจะหรือสารคัดหลั่ง มูลฝอยที่เป็นอวัยวะหรือชิ้นส่วนของอวัยวะ มูลฝอย ของมีคมติดเชื้อที่ใช้แล้ว มูลฝอยจากกระบวนการเก็บและเพาะเชื้อและมูลฝอยที่เป็นวัคซีนที่ทำจากเชื้อโรคที่มีชีวิตและภาชนะบรรจุ เป็นต้น

โดยออกแบบเป็นระบบเผาไหม้สองชั้นประสิทธิภาพสูงมีขนาดเล็ก ขนาด 30 กก/ชม และสามารถผลิตเองได้ง่าย ภายในเตา จะเกิดการเผาไหม้เชื้อเพลิงโดยใช้หลักกลศาสตร์เผาไหม้ (Combustion mechanism) และเผาไหม้ในสภาวะควบคุมอุณหภูมิ ปริมาณอากาศ และเวลา อุณหภูมิการเผาไหม้ในห้องเผาที่ 1 อยู่ในช่วง 650-700 องศาเชลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิเผาทำลายวัสดุอินทรีย์ และห้องเผาที่ 2 อยู่ในช่วง 800-850 องศาเซลเชียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิเผาแก๊สเสียและมลพิษ มีการเติมอากาศด้วยโบลเวอร์ให้ปริมาณอากาศมากเกินพอ และมีระยะเวลาในการเผาไหม้อากาศเสียและมลพิษไม่น้อยกว่า 3 วินาที การควบคุมสภาวะของการเผาไหม้ภายในห้องเผาไหม้ที่ 1 และ 2 จะใช้เชื้อเพลิงเสริม คือ ถ่านไม้ และแก๊ส LPG ที่สำคัญตาเผาขยะอยู่ในงบประมาณไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท มหาวิทยาลัยนเรศวรหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เตาเผาขยะติดเชื้อจะช่วยลดขยะติดเชื้อ-แก้ปัญหามลพิษแสะ สามารถป้องกันและแก้ปัญหาได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังเป็นการลดการใช้พลังงานและลดมลพิษที่เกิดกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนอีกด้วย

ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คณะเกษตรศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมหาวิทยาลัยนเรศวร เบอร์โทรศัพท์ 08-3835-3240 (ตร.อุกฤต สมัครสมาน) Email: ukrits_a@yahoo.com

ที่มา: dailynews

Sustainability

NARESUAN UNIVERSITY

Solverwp- WordPress Theme and Plugin