Archives 2021

ม.นเรศวร จัดการและกำจัดของเสียอันตราย

เมื่อวันที่ 13-14 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา บุคลากรกองอาคารสถานที่ร่วมกับหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องดำเนินการขนย้ายของเสียอันตรายที่เกิดขึ้นภายในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ของคณะและหน่วยงานต่างๆ จำนวน 26 จุด ภายในมหาวิทยาลัยนเรศวร ประจำปีงบประมาณ 2564 นำไปกำจัดและทำลายอย่างถูกวิธีโดยผู้เชี่ยวชาญ เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของบุคลากรที่ปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ รวมถึงผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายภายในมหาวิทยาลัยนเรศวร

ที่มา: กองอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยนเรศวร

เสวนา “จัดการสิ่งแวดล้อมใน-นอกที่พักอย่างไรไม่เสี่ยงติดโควิด”

ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม ร่วมกับสถานความเป็นเลิศเพื่อความยั่งยืนด้านสุขภาวะ สิ่งแวดล้อม และอุตสาหกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และภาคีเครือข่าย ขอเชิญผู้สื่อข่าวและผู้ที่สนใจเข้าร่วมเสวนาออนไลน์ “จัดการสิ่งแวดล้อมใน-นอกที่พักอย่างไร ไม่เสี่ยงติดโควิด” วันศุกร์ที่ 3 กันยายน 2564 เวลา 9.00 – 13.00 น. 

09.00-10.00 น. SARS-Cov-2 สายพันธุ์ต่างๆ การติดเชื้อผ่านละอองฝอยในอากาศ และการจัดการน้ำทิ้งและระบบถ่ายเทอากาศสำหรับครัวเรือนและโรงพยาบาลสนาม โดย ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ และ พญ.ดร.อัญพัชญ์ อติพิมลพัชญ์

10.00-10.45 น. SARS-CoV-2 บนพื้นผิว : รับกล่องพัสดุ การทำความสะอาดเสื้อผ้า และพื้นผิวอาคารบ้านเรือนอย่างไรให้ไกลโควิด-19 โดย ดร.วิสาข์ สุพรรณไพบูลย์ และ ดร.ศิริวรรณ วิชัย

10.45-11.30 น. ประสิทธิภาพของหน้ากากอนามัยแต่ละชนิด การล้างมือที่ถูกวิธี และการใช้ชุดตรวจ Antigen test kit (ATK) โดย พญ.ดร.อัญพัชญ์ อติพิมลพัชญ์ และ รศ.ดร.อภินันท์ ลิ้มมงคล

11.30-12.00 น. การจัดการขยะครัวเรือนให้ห่างไกลการแพร่เชื้อ SARS-Cov-2 โดย ดร.สุภาวรรณ ศรีรัตนา

12.00-12.15 น. การเสวนาหัวข้อ แนวทางการจัดการสิ่งแวดล้อมในและนอกที่พักอาศัยเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ SARS-CoV-2 โดย ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์, ดร.สุภาวรรณ ศรีรัตนา, พญ.ดร.อัญพัชญ์ อติพิมลพัชญ์, ดร.วิสาข์ สุพรรณไพบูลย์, รศ.ดร.อภินันท์ ลิ้มมงคล และ ดร.ศิริวรรณ วิชัย

12.15-12.35 น. แลกเปลี่ยนความคิดเห็น / ถาม-ตอบ

12.35-12.45 น. กล่าวปิดการประชุม  โดย ดร.วิสาข์ สุพรรณไพบูลย์

ดำเนินรายการ

โดย อุดมเดช เกตุแก้ว เลขานุการชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม / หนังสือพิมพ์เพชรภูมิ

จัดโดย

  • สถานความเป็นเลิศเพื่อความยั่งยืนด้านสุขภาวะ สิ่งแวดล้อมและอุตสาหกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
  • คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
  • ห้องปฏิบัติการระบาดวิทยาน้ำเสียเพื่อการเตือนภัยล่วงหน้า มหาวิทยาลัยนเรศวร
  • สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม (GreenNews)
  • ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม 

คลิกรับแจ้งเตือนจาก Facebook Live เพื่อไม่พลาดเวทีเสวนาออนไลน์ ที่ (https://fb.me/e/4iazlwAE1) หรือรับชม Live บนเพจ

https://www.facebook.com/thaisej
https://www.facebook.com/greennewsagency
https://www.facebook.com/WBEEarlyWarningLab
https://www.facebook.com/SHEI.COE.NU

เสวนาออนไลน์ประเด็นจัดการสิ่งแวดล้อมฯ มีเวทีทั้งหมด 2 ครั้ง โดยจะจัดอีกครั้ง วันเสาร์ที่ 4 กันยายน 2564 เวลา 10.00 – 13.00 น. “ตรวจไวรัสในน้ำเสีย” ระบบเตือนภัย ประเมินประสิทธิภาพวัคซีน และมาตรการเชิงรุกรับมือโควิดในชุมชน ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://greennews.agency/?p=25309

ที่มา: greennews

เครือข่าย SUN Thailand ร่วมขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยสีเขียว สู่ความยั่งยืน

มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย (Sun Thailand) ครั้งที่ 2/2563 ระหว่างวันที่ 27-29 สิงหาคม พ.ศ. 2563 ณ มหาวิทยาลัยนเรศวร อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก  โดยศาสตราจารย์ ดร.จิรวัฒน์ พิระสันต์ รองอธิการบดี, ดร.สุชาติ เมืองแก้ว ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษประจำมหาวิทยาลัย, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดลเดช ตั้งตระการพงษ์ ผู้ช่วยอธิการบดี พร้อมด้วยคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุม ซึ่งการจัดเครือข่าย SUN ในครั้งนี้ มีแนวคิดพัฒนาในเรื่องของกายภาพและเรื่องอื่นๆ สู่การเป็นมหาวิทยาลัยที่ยั่งยืน มีความสวยงาม เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถอยู่ได้ในศตวรรษที่ 21 โดยมีการจัดกิจกรรมพาตัวแทนจากสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของประเทศไทยที่มาร่วมงาน ศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กิจกรรมความยั่งยืน ณ มหาวิทยาลัยนเรศวร อาทิ ศึกษาดูงานด้านการจัดการอย่างยั่งยืนภายในมหาวิทยาลัย เยี่ยมชมสถานีรถไฟฟ้า โรงผลิตน้ำประปา สวนพลังงาน วิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี แหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานทดแทน สถานีบำบัดน้ำเสียรวมของมหาวิทยาลัย  พร้อมทั้งศึกษาดูงานศูนย์คัดแยกขยะเพื่อรีไซเคิล วงษ์พาณิชย์ สำนักงานใหญ่ จังหวัดพิษณุโลก 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ คันธมานนท์ รองอธิการบดีอาวุโสฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย ปี 2563 (SUN Thailand) กล่าวว่า  การประชุมครั้งนี้นอกจากที่มหาวิทยาลัยเครือข่ายจะได้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานของมหาวิทยาลัยสู่ความยั่งยืน ทั้งการบริหารจัดการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการสร้างให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในมิติต่าง ๆแล้ว ตัวแทนจากสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของประเทศยังได้มี แนวคิดหลักในการขับเคลื่อนให้ SUN Thailand ก้าวไปข้างหน้า คือการวิเคราะห์ผลกระทบต่อการพัฒนาด้านความยั่งยืน ทั้งการรณรงค์ในเรื่องของขยะ ระดมสมองในการออกแบบและวางแผนเพื่อการขับเคลื่อนไปสู่ความยั่งยืนในการลดขยะโดยใช้เวลาและงบประมาณที่น้อยลง มุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว  นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้ร่วมคิดและถอดบทเรียนที่จะนำไปสู่แนวทาง ในการเริ่มต้นทำงานเพื่อความยั่งยืน ทั้งในระดับมหาวิทยาลัยและ ชุมชน  โดยใช้หลักการที่เป็นความรู้ท้องถิ่น นำหลักหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นแนวทางในการ จะทำให้เกิดการขับเคลื่อน ความยั่งยืน (SEP for SDGs ) นำความสามารถที่มีอีกทั้งแนวคิดที่ได้ไปตอบโจทย์ประเทศ (ปฏิญญาวังจันทน์) 

เครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย (Sustainable University Network of Thailand) เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2559 เป็นความร่วมมือของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยที่ยกระดับบทบาทภารกิจการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ของนโยบายความยั่งยืนและเชื่อมโยงในระดับนานาชาติ รวมถึงการกำหนดมาตรฐานการชี้วัดความเป็นมหาวิทยาลัยที่พัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับสากล นำไปสู่การเป็นต้นแบบสำคัญของทุกภาคส่วนภายในสังคมของประเทศ   ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 30 มหาวิทยาลัยและอยู่ภายใต้ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับฉันทามติได้รับการเลือกตั้งให้เป็นประธานเครือข่าย มหาวิทยาลัยยั่งยืน แห่งประเทศไทย พ.ศ.2562 (Sustainable University Network of Thailand) พ.ศ.2562    

ที่มา: งานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

มหาวิทยาลัยนเรศวร จัดนิทรรศการพิพิธภัณฑ์ผ้า เรื่อง “ลาย” ฟื้นฟูหลังโควิค

เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 กองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร จัดนิทรรศการพิพิธภัณฑ์ผ้า เรื่อง “ลาย” (Pattern Exhibition 2021) โดยมีศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กาญจนา เงารังษี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นประธานกล่าวเปิดงาน นิทรรศการพิพิธภัณฑ์ผ้า เรื่อง “ลาย” จัดขึ้นเพื่อบอกเล่าเรื่องราวประวัติความเป็นมาและวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่น ที่เป็นการผสมผสานวัฒนธรรมการทอผ้าของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกถ่ายทอดสืบต่อกันมาเป็นร้อยปี
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์และสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่ รวมถึงสร้างโอกาสฟื้นฟูอาชีพด้านหัตถกรรมและสร้างรายได้เพิ่มหลังเกิดการแพร่ระบาดของโรคโคโรน่าไวรัส (COVID-19) ที่ทำให้ชุมชนหรือกลุ่มเป้าหมายขาดรายได้หรือรายได้หดหาย สร้างรายได้และลดการเหลื่อมล้ำด้านรายได้ อีกทั้งยังเป็นการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับลวดลายผ้า ด้วยเทคนิคต่าง ๆ ในรูปแบบการจัดแสดงนิทรรศการ
โดยนิทรรศการได้รับความอนุเคราะห์ผ้า และเครื่องแต่งกาย จากคุณวีร์สุดา เม่นชาวนา (ร้านไหมไทยโบราณ) ซึ่งเป็นนักสะสมผ้า กว่า 50 ชิ้น ผลิตภัณฑ์ลวดลายจักสานจากโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องจักสานไม้ไผ่กว่า 20 ชิ้น ผลิตภัณฑ์ลวดลายผ้าขาวม้าจากโครงการพัฒนาและสร้างผู้ประกอบการด้วยผลิตภัณฑ์ผ้าขาวม้าลายเหลือหางขาว จังหวัดพิษณุโลก กว่า 20 ชิ้น ผลิตภัณฑ์ลวดลายผ้าพิมพ์จากวัสดุธรรมชาติ จากโครงการพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์ผ้าด้วยผ้าพิมพ์สีธรรมชาติเคลือบนาโนเทคโนโลยี เพื่อสร้างรายได้เพิ่มให้กับวิสาหกิจชุมชน กว่า 20 ชิ้น และผ้าจากคลังสะสมพิพิธภัณฑ์ผ้า กว่า 20 ชิ้น รวมวัตถุจัดแสดงนิทรรศการในครั้งนี้ ทั้งสิ้นกว่า 100 รายการ
ภายในพิธีเปิดยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจต่าง ๆ มากมาย อาทิ กิจกรรมชมปั๊บ ลดปุ๊บ สามารถเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จักสานในโครงการและเลือกซื้องานจักสานในราคาพิเศษ พร้อมชมสาธิตจักสานจากกลุ่มจักสานบ้านท่าโรงตะวันตก กิจกรรมชอปปั๊บ ตัดปุ๊บ ซื้อผ้าขาวม้าลายเหลืองหางขาวจากกลุ่มทอผ้าบ้านม่วงหอมในราคาพิเศษ พร้อมรับสิทธิ์ตัดเย็บเครื่องแต่งกาย 1 ชุด โดยผู้สนใจรับชมนิทรรศการจะจัดแสดงระหว่างวันที่ 10 สิงหาคม – 15 กันยายน 2564 ณ อาคารพิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร สอบถามเพิ่มเติม กองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร โทรศัพท์ 0 5596 1207

ที่มา: phitsanulokhotnews

ม.นเรศวร แจกจ่ายเครื่องกลั่นน้ำส้มควันไม้ เพื่อการเกษตร ใช้งานง่าย ทนทาน เหมาะกับเตาเผาถ่านขนาด 200 ลิตร

น้ำส้มควันไม้ เป็นของเหลวสีน้ำตาลใส มีกลิ่นควันไฟ ที่ได้มาจากการควบแน่นควัน เกิดมาจากการเผาถ่านไม้ในช่วงที่ไม้กำลังเปลี่ยนเป็นถ่าน ที่อุณหภูมิ 300-400 องศาเซลเซียส โดยสารประกอบต่างๆ ในไม้ฟืนจะถูกความร้อนทำให้สลายตัวเกิดเป็นสารประกอบใหม่ 200 ชนิด มีความเป็นกรดอ่อนๆ ซึ่งมีสารประกอบมากมายที่เป็นประโยชน์ในภาคเกษตร สามารถใช้น้ำส้มควันไม้ปรับปรุงบำรุงดิน ใช้เป็นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช เป็นสารเร่งการเจริญเติบโตของพืชบริเวณราก ลำต้น หัว ใบ ดอก และผล ใช้เป็นฮอร์โมนพืช เป็นสารยับยั้งและควบคุมโรคพืชที่มีสาเหตุจากไส้เดือนฝอยและเชื้อรา ฯลฯ

เรียกได้ว่า น้ำส้มควันไม้ เป็นตัวช่วยที่ดีสำหรับใช้ในการปลูกดูแลพืชทุกชนิด ดังนั้น เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร เสริมสร้างอาชีพและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรในอนาคต กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จึงได้นำนวัตกรรมงานวิจัย “เครื่องกลั่นน้ำส้มควันไม้” ซึ่งเป็นผลงานของ ผศ.ดร. พิสิษฏ์ มณีโชติ แห่งวิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนเรศวร แจกจ่ายให้กับชุมชนเกษตรทั่วประเทศ

ผู้บริหาร กอ.รมน. และ วช. มอบเครื่องกลั่นน้ำส้มควันไม้ให้แก่ชาวจังหวัดอ่างทอง

เครื่องกลั่นน้ำส้มควันไม้

ผศ.ดร. พิสิษฏ์ มณีโชติ ได้พัฒนาเครื่องกลั่นน้ำส้มควันไม้ที่มีประสิทธิภาพสูงระดับชุมชน เน้นออกแบบเครื่องกลั่นฯ ทรงกระบอก ที่ใช้งานง่าย มีความทนทาน มีขนาดกะทัดรัด เคลื่อนย้ายสะดวก เหมาะกับเตาเผาถ่านขนาด 200 ลิตร ซึ่งมีใช้งานทั่วไป รองรับการกลั่นน้ำส้มควันไม้ได้ครั้งละ 10 ลิตร ใช้พลังงานในการกลั่นน้อยกว่าเครื่องทั่วไป สามารถกลั่นได้บ่อยครั้ง โดยไม่ต้องรอให้ได้น้ำส้มควันไม้ปริมาณมากๆ ก่อน

น้ำส้มควันไม้ ที่ได้จากเครื่องกลั่นนี้ เป็นน้ำส้มควันไม้บริสุทธิ์ มีสีน้ำตาลอ่อน เหลวใส เป็นเนื้อเดียวกัน ไม่แยกชั้น ไม่มีตะกอน ไม่มีสิ่งเจือปนอื่นๆ ที่สำคัญคือ มีองค์ประกอบที่ผ่านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน มผช. 660/2547 และมีสารไดออกซินและฟิวเรนอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน มีความปลอดภัยต่อการนำไปใช้งาน ทั้งด้านเกษตร ปศุสัตว์ ใช้งานทั่วไปในครัวเรือน หรือเป็นส่วนประกอบในอุตสาหกรรมต่างๆ

ผศ.ดร. พิสิษฏ์ มณีโชติ (เสื้อดำ) วิทยาลัยพลังงานทดแทนฯ มหาวิทยาลัยนเรศวร

องค์ประกอบ “เครื่องกลั่นน้ำส้มควันไม้”

เครื่องกลั่นน้ำส้มควันไม้ มีส่วนประกอบหลัก คือถังต้มและถังกลั่น ถังต้มมีขนาดกว้าง 26 เซนติเมตร สูง 38 เซนติเมตร ก้นถังเรียบ ถังต้มสร้างด้วยสแตนเลสแผ่นม้วนขึ้นรูป มีท่อสแตนเลสสำหรับเติมและระบายน้ำส้มควันไม้พร้อมฝาปิดอย่างละ 1 จุด มีแผ่นจานสแตนเลสต่อกับท่อสแตนเลสเพื่อรับน้ำส้มควันไม้ที่ได้จากการควบแน่นออกสู่นอกถังต้ม ถังควบแน่น มีขนาดกว้าง 26 เซนติเมตร สูง 19 เซนติมตร ถังต้มสร้างด้วยสแตนเลสแผ่นม้วนขึ้นรูป ก้นถังเป็นทรงกรวย มีก๊อกน้ำขนาดครึ่งนิ้วสำหรับถ่ายน้ำ เครื่องกลั่นน้ำส้มควันไม้มีตัวล็อกสำหรับให้ถังต้มและถังควบแน่นยึดติดกัน 3 จุด
หม้อต้ม ทำหน้าที่รองรับน้ำส้มควันไม้เพื่อใช้ในการต้ม ทำให้น้ำส้มควันไม้เดือด
หม้อควบแน่น เป็นที่รองรับน้ำอุณหภูมิห้องหรือเย็นกว่า เพื่อใช้แลกเปลี่ยนความร้อนกับน้ำส้มควันไม้ที่เกิดจากหม้อต้ม
ก๊อกถ่ายน้ำร้อน เป็นวาล์วระบายน้ำทิ้ง เมื่อน้ำที่แลกเปลี่ยนความร้อนมีอุณหภูมิสูงขึ้น
ท่อวัดระดับน้ำในหม้อต้มและเติมน้ำส้มควันไม้ เป็นท่อที่ใช้วัดระดับของน้ำส้มควันไม้ภายในหม้อต้ม และเป็นท่อที่เอาไว้เติมปริมาณน้ำส้มควันไม้
ชุดจานรองน้ำกลั่น ใช้สำหรับน้ำส้มควันไม้ที่มีการกลั่นตัว หยดลงมาที่จานและผ่านไปในท่อที่ติดกับจาน เพื่อได้น้ำส้มที่กลั่นแล้วออกมา
ชุดล็อกหม้อ ใช้สำหรับล็อกหม้อต้มและหม้อควบแน่นไว้ด้วยกัน

เครื่องกลั่นน้ำส้มควันไม้

ขั้นตอนการใช้งานเครื่องกลั่นน้ำส้มควันไม้

1. เตรียมน้ำส้มควันไม้ที่จะกลั่น โดยนำไปกรองใส่ถ่าน
2. นำน้ำส้มควันไม้ที่กรองแล้วเทลงในหม้อต้ม
3. ประกอบหม้อต้มและหม้อควบแน่นใส่กันแล้วนำไปตั้งบนเตาไฟ
4. เติมน้ำเปล่าใส่หม้อควบแน่น ประมาณ เศษ 3 ส่วน 4 ของหม้อ คอยเปลี่ยนถ่ายน้ำเพื่อควบคุมให้อุณหภูมิน้ำไม่เกิน 4 องศาเซลเซียส เพราะหากน้ำมีอุณหภูมิเกิน 40 องศาเซลเซียส จะทำให้เกิดการกลั่นตัวของน้ำส้มควันไม้ได้ช้า หากใช้น้ำเย็นจะทำให้มีการกลั่นตัวได้เร็วขึ้น
5. นำภาชนะตั้งรองรับน้ำส้มควันไม้ที่กลั่นได้
6. คอยตรวจดูระดับน้ำส้มควันไม้ในหม้อต้ม โดยเปิดดูจากท่อเติม หากน้ำส้มควันไม้เหลือน้อยก็ให้เติมน้ำส้มควันไม้ใส่ที่ท่อเติม แล้วปิดฝาไว้

ขั้นตอนการกลั่นน้ำส้มควันไม้

การเก็บน้ำส้มควันไม้

1. การตักเก็บน้ำส้มควันไม้ ให้สังเกตสีของควันเป็นสีเหลืองน้ำตาลปนเทา โดยนำกระเบื้องเคลือบสีขาวมาอังที่ปล่องไฟดูจะเป็นสีน้ำตาล จากนั้นนำท่อไม้ไผ่ที่เตรียมไว้มาวางต่อกับปล่องควัน โดยตั้งท่อไม้ไผ่ให้เอียงชันขึ้นไป ประมาณ 45 องศา ห่างขึ้นไป 1 ข้อไม้ไผ่ ให้ใช้เลื่อยตัดเปิดท่อไม้ไผ่ให้เป็นรู เพื่อให้น้ำส้มควันไม้หยดลงมา แล้วหาขวดมารองรับน้ำ
2. ที่ระยะห่างขึ้นไปอีก 1 ข้อไม้ไผ่ หรือราว 40 เซนติเมตร ให้ติดตั้งระบบควบแน่นด้วยการใช้ผ้าชุบน้ำมาพันให้รอบท่อ และใช้ขวดพลาสติกบรรจุน้ำเจาะรูที่ฝาขวด ให้น้ำหยดตรงบริเวณที่พันผ้า เพื่อให้ท่อเย็นตลอดเวลา
3. หมั่นตรวจควันซ้ำเป็นระยะ เมื่อสีน้ำส้มควันไม้เข้ม และมีความหนืดมากจึงหยุดเก็บน้ำส้มควันไม้
4. ตัวอย่างตารางเวลาการเก็บน้ำส้มควันไม้ หากเริ่ม 08.00 น. ติดไฟหน้าเตาเวลาประมาณ 10.30 น. เริ่มเก็บน้ำส้มควันไม้ ประมาณ 17.00 น. หยุดเก็บน้ำสัมควันไม้และปิดเตาเวลาประมาณ 18.30 น. ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับชนิดของไม้ ความชื้นและความชำนาญด้วย

โชว์น้ำส้มควันไม้ก่อน-หลังการกลั่น

การเก็บรักษาน้ำส้มควันไม้ให้บริสุทธิ์ก่อนใช้

เนื่องจาก น้ำส้มควันไม้ มีสารประกอบถึง 200 กว่าชนิด ย่อมมีประโยชน์และโทษ จำเป็นต้องทำให้บริสุทธิ์ก่อนใช้ โดยมีวิธีการ ดังนี้
1. การปล่อยให้ตกตะกอน เป็นวิธีง่ายๆ ที่นิยมใช้กันมาก โดยนำน้ำส้มควันไม้ดิบที่กลั่นได้ มาเก็บในถังทรงสูงมากกว่า ความกว้าง ประมาณ 3 เท่า ทิ้งให้ตกตะกอน ในระยะ 90 วัน จะทำให้น้ำส้มควันไม้แยกตัวเป็น 3 ระดับ โดยชั้นบนจะเป็นน้ำมันใส ชั้นกลาง จะเป็นของเหลวสีชา ซึ่งก็คือ น้ำส้มควันไม้ สามารถนำไปใช้ได้ ส่วนชั้นล่างสุดเป็นของเหลวข้นสีดำ เรียกว่า น้ำมันดิน หรือทาร์ สามารถลดเวลาการตกตะกอน โดยการผสมผงถ่าน ประมาณ 5% ของน้ำหนักรวมของน้ำส้มควันไม้ทั้งหมด ผงถ่านจะดูดซับทั้งน้ำมันใสชั้นบน และน้ำมันดินลงสู่ชั้นล่างสุด ในเวลาที่เร็วขึ้นเพียง 45 วัน เท่านั้น
ทั้งนี้ ถังตกตะกอนควรติดตั้งวาล์ว 3 หรือ 2 ระดับ ในกรณีเลือกใช้ผงถ่านในการช่วยตกตะกอน โดยวาล์วนี้จะช่วยในการเก็บผลผลิตให้สะดวกขึ้น หลังจากตกตะกอนในถังจนครบกำหนดแล้ว จึงนำของเหลวสีชาชั้นกลางมากรองซ้ำอีกครั้งด้วยผ้ากรอง จึงจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ โดยทั่วไปน้ำส้มควันไม้ที่บริสุทธิ์ควรจะมีน้ำมันดินไม่เกิน 1% น้ำส้มควันไม้ที่ดีควรจะมีสีใสจนถึงชา หากมีลักษณะขุ่นดำ แสดงถึงความหนาแน่นของน้ำมันดิน ซึ่งไม่เป็นผลดีในการนำไปใช้งาน
2. การกรองและกลั่น ซึ่งทั้งสองวิธีการทำน้ำส้มควันไม้ให้บริสุทธิ์นี้ เป็นเทคนิคที่ค่อนข้างยุ่งยาก นิยมใช้กันในระดับโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อให้ได้ผลผลิตน้ำส้มควันไม้ที่มีคุณสมบัติเฉพาะในอุตสาหกรรมนั้น

คุณประโยชน์ของน้ำส้มควันไม้

ด้านปศุสัตว์ (หากใช้ในอัตราส่วนที่เข้มข้นกว่า 1 : 20 ควรสวมถุงมือ หรือระมัดระวังในการใช้)
1. ขับไล่เห็บ หมัด รักษาเรื้อนของสัตว์ ใช้น้ำส้มควันไม้ 1 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 1 ลิตร ฉีดพ่นที่ตัวสัตว์ สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง
2. กำจัดกลิ่นและขับไล่แมลงในคอกสัตว์ ใช้น้ำส้มควันไม้และน้ำ ในอัตราส่วน 1 : 100 ผสมน้ำราดพื้นคอกสัตว์ทุกๆ 7 วัน
3. กำจัดกลิ่นขยะและป้องกันไม่ให้แมลงวางไข่ ใช้น้ำส้มควันไม้และน้ำ ในอัตราส่วน 1 : 100 ผสมน้ำราดหรือพ่นกองขยะ
ด้านการเกษตร ควรใช้ติดต่อกันประมาณ 1 เดือน จึงจะเห็นผล
1. ป้องกันโรครากเน่า ใช้น้ำส้มควันไม้และน้ำ ในอัตราส่วน 1 : 100 ผสมน้ำฉีดพ่นลงดินก่อนปลูกพืช 15 วัน
2. เพื่อเร่งการเจริญเติบโต กระตุ้นความต้านทานโรค ใช้น้ำส้มควันไม้และน้ำ ในอัตราส่วน 1 : 200 ผสมน้ำราดรดโคนต้นทุก 7-15 วัน
3. ป้องกันศัตรูพืช ขับไล่แมลงทุกชนิดและเชื้อรา ใช้น้ำส้มควันไม้และน้ำ ในอัตราส่วน 1 : 200 ผสมน้ำราดรดโคนต้นทุก 7-15 วัน
4. ช่วยในการสังเคราะห์น้ำตาลของพืช (ช่วยให้พืชผักและผลไม้มีรสหวาน) ใช้น้ำส้มควันไม้และน้ำ ในอัตราส่วน 1 : 500 ผสมน้ำฉีดพ่นผลอ่อน หลังจากติดผลแล้ว 15 วัน และพ่นอีกครั้งก่อนเก็บเกี่ยว 20 วัน
5. ป้องกันมดและแมลง ใช้น้ำส้มควันไม้และน้ำ ในอัตราส่วน 1 : 20 หรือใช้เข้มข้น ผสมน้ำราดหรือพ่นบริเวณที่มีมดหรือแมลง
6. ป้องกันเชื้อราในยางพารา ใช้น้ำส้มควันไม้และน้ำ ในอัตราส่วน 1 : 20 ทาบริเวณหน้ายางพารา
คำแนะนำ ด้านการเกษตรและปศุสัตว์นั้น ในการใช้งาน ครั้งที่ 1-2 ควรผสมกับสารเคมีที่ใช้อยู่เดิม ในอัตราส่วนครึ่งต่อครึ่ง ผสมน้ำแล้วฉีดพ่นในการใช้ครั้งถัดไป จึงเปลี่ยนมาใช้เฉพาะน้ำส้มควันไม้เพียงอย่างเดียว โดยไม่ต้องใช้สารเคมี

น้ำส้มควันไม้ สินค้าขายดี

ข้อควรระวังในการใช้น้ำส้มควันไม้

1. ก่อนนำน้ำส้มควันไม้ไปใช้ ต้องทิ้งไว้จากการกักเก็บก่อนอย่างน้อย 3 เดือน หรือผ่านกระบวนการกลั่น
2. เนื่องจากน้ำส้มควันไม้มีความเป็นกรดสูง ควรระวังอย่าให้เข้าตา อาจทำให้ตาบอดได้
3. น้ำส้มควันไม้ไม่ใช่ปุ๋ย แต่เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา ดังนั้น การนำไปใช้ทางการเกษตรจะเป็นตัวเสริมประสิทธิภาพให้กับพืช แต่ไม่สามารถใช้แทนปุ๋ยได้
4. การใช้เพื่อฆ่าเชื้อจุลินทรีย์และแมลงในดิน ควรทำก่อนเพาะปลูกอย่างน้อย 10 วัน
5. การนำน้ำส้มควันไม้ไปใช้ต้องผสมน้ำให้เจือจางตามความเหมาะสมที่จะนำไปใช้
6. การฉีดพ่นน้ำส้มควันไม้ เพื่อให้ดอกติดผล ควรพ่นก่อนที่ดอกจะบาน หากฉีดพ่นหลังจากดอกบานแมลงจะไม่เข้ามาผสมเกสร เพราะกลิ่นฉุนของน้ำส้มควันไม้และดอกจะร่วงง่าย

ที่มา: เทคโนโลยีเกษตร

ม.นเรศวร เพิ่มจำนวนรถให้บริการรับส่งพลังงานสะอาด

เมื่อเวลา 10.00 น. วันพุธที่ 22 กรกฎาคม 2564 คณะกรรมการจัดซื้อพร้อมด้วยบุคลากรกองอาคาร ได้ร่วมกันตรวจสอบคุณสมบัติของรถไฟฟ้าคันใหม่ จำนวนทั้งสิ้น 5 คัน เพื่อนำมาให้บริการรับส่งประชาคมมหาวิทยาลัยนเรศวรและช่วยลดมลพิษได้อีกทางหนึ่ง

ที่มา: กองอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ย้ายปลูกต้นไม้รอบบริเวณอาคารอุทยานองค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช

วันเสาร์ที่ 10 กรกฎาคม 2564 เวลา 9.30 น. นายรุ่งรัตน์ พระนาค ผู้อำนวยการกองอาคารสถานที่ ได้ลงพื้นที่เพื่อดูความคืบหน้าโครงการปรับปรุงลานพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งมีการขุดล้อม ย้ายปลูกต้นไม้ จากผู้มีความรู้และประสบการณ์ โดยใช้วิธีการขุดล้อมแบบมีดินติดไปกับระบบราก (Balled & burlaped or Soil ball) ต้นไม้ทั้งหมดจะย้ายไปปลูกรอบบริเวณอาคารอุทยานองค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช

……….เกร็ดเพิ่มเติม……….
การขุดล้อม ย้ายปลูกต้นไม้ควรทำในช่วงเข้าหน้าฝน เพื่อให้พืชได้รับน้ำเต็มที่ การล้อมต้นไม้เพื่อการย้ายปลูก หรือที่นิยมเรียกว่า บอล (Ball) นอกจากจะล้อมโดยให้มีตุ้มดินติดอยู่กับรากเพื่อป้องกันรากขาดแล้ว พืชบางชนิดยังนิยมขุดล้อมแบบรากเปลือย คือไม่มีดินติดมากับราก เช่น ลั่นทม เนื่องจากการเกิดรากใหม่จะดีกว่า หากย้ายต้นไม้โดยไม่ตัดใบออกก่อนจะส่งผลให้ใบเหี่ยวจนกิ่งแห้ง และลามถึงต้นได้ เนื่องจากเมื่อรากต้นไม้ถูกตัด ทำให้รากดูดน้ำจากดินได้น้อยลง หากใบมีอยู่เท่าเดิมก็จะสังเคราะห์แสงและคายน้ำไปเรื่อย ๆ จนเกิดอาการดังกล่าว

ที่มา: กองอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ร่วมกันปลูกกระดุมทองเลื้อย บริเวณสระสองกษัตริย์

วันศุกร์ที่ 9 กรกฎาคม 2564 เวลา 9.00 น. นายรุ่งรัตน์ พระนาค ผู้อำนวยการกองอาคารสถานที่พร้อมด้วยบุคลากร ร่วมกันปลูกกระดุมทองเลื้อย บริเวณสระสองกษัตริย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

—————-

กระดุมทองเลื้อย หรือ เบญจมาศเครือ เป็นพืชอายุข้ามปีในวงศ์ทานตะวัน
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Wedelia trilobata (L.) A.S. Hitchcock
ชื่อสามัญ : Creeping daisy, Singapore daisy, Trailing daisy, Creeping ox-eye, Climbing wedelia, Rabbits paw

ประโยชน์
1. ใช้เป็นไม้ดอกไม้ประดับในกระถางหรือแปลงจัดสวน อาจปลูกเป็นพืชเดี่ยวหรือปลูกเป็นไม้ระดับล่างเพื่อคลุมดินในสวนจัดแต่ง
2. ใช้ปลูกคลุมดินเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นแก่หน้าดิน และป้องกันการพังทะลายหน้าดิน
3. ใช้ปลูกแทนหญ้าในสนามหญ้า เนื่องจากปกคลุมแปลงได้เร็ว และสามารถป้องกันหญ้าชนิดอื่นเติบโตในแปลง
4. กลีบดอกนำมาตากแห้ง บดเป็นผงใช้สำหรับเป็นสีผสมอาหารหรือสีย้อมผ้า
5. เมล็ด นำมาสกัดน้ำมันใช้สำหรับปรุงประกอบอาหาร
6. น้ำมันจากเมล็ดกระดุมทองเลื้อยนำมาใช้ประโยชน์อย่างอื่น เช่น ใช้เป็นส่วนผสมกับเครื่องสำอางสำหรับบำรุงผิว ใช้ทานวดกล้ามเนื้อ ใช้นวดบำรุงผม เป็นต้น

ที่มา: กองอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยนเรศวร

รองอธิการบดี พร้อมผู้นำนิสิต เข้าตรวจระบบถังเก็บน้ำประปาหอพักนิสิต

เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2564 ศาสตราจารย์ ดร.จิรวัฒน์ พิระสันต์ รองอธิการบดี มน. พร้อมด้วยผู้นำนิสิต และหัวหน้างานบริการสวัสดิการนิสิต ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมความเป็นอยู่ดูเรื่องสภาพแวดล้อม  ที่พักอาศัย และเรื่องของระบบถังเก็บน้ำประปา ที่ต้องใช้เป็นพื้นฐาน ผลเป็นที่น่าพอใจ ณ หอพักนิสิต มหาวิทยาลัยนเรศวร

ที่มา: กองกิจการนิสิต

บุคลากรกองกิจการนิสิต ม.นเรศวร ได้รับเกียรติบัตรวันต่อต้านยาเสพติดโลก ประจำปี 2564

เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2564 นางรจนา แดงแสงทอง ตำแหน่ง เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป สังกัดกองกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้เข้ารับเกียรติบัตรเป็นบุคคลที่มีผลงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดดีเด่น ประจำปี 2564 จากนายรณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลกในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัดพิษณุโลก เนื่องในวันจัดกิจกรรมรณรงค์ประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้ในวันต่อต้านยาเสพติดโลก ประจำปี 2564 (26 มิถุนายน 2564) ณ ศาลาประชาคมจังหวัดพิษณุโลก

ที่มา: กองกิจการนิสิต มหาวิยาลัยนเรศวร

Sustainability

NARESUAN UNIVERSITY

Solverwp- WordPress Theme and Plugin