Archives 2021

กองกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมรณรงค์ “วันงดสูบบุหรี่”

กองกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมรณรงค์วันงดสูบบุหรี่ 31 พฤษภาคม เพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับผลกระทบและอันตรายที่เกิดจากบุหรี่และยาสูบ รวมไปถึงควันบุหรี่มือสอง และสามเข้าสู่ร่างกาย ภายใต้คำขวัญวันงดสูบบุหรี่โลก 2564 “เลิกสูบ ลดเสี่ยง คุณทำได้” และนอกจากนั้น ยังร่วมรณรงค์เครือข่ายมหาวิทยาลัยปลอดเหล้าจังหวัดพิษณุโลก เพื่อประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจภายใต้โครงการประชาคมลดปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และปัจจัยเสี่ยง หยุดดื่ม หยุดเสี่ยง เลี่ยงโควิด

ที่มา: กองกิจการนิสิต มหาวิยาลัยนเรศวร

วช. หนุน ม.นเรศวร วิจัยผ่าทางตันส่งออกมะม่วงยุคโควิด ขนส่งทางเรือไปญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ ดันยอด 100 ตัน/สัปดาห์

ปัจจุบันมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญ ทั้งจำหน่ายในประเทศและส่งออกไปต่างประเทศ เป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคในประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้และจีน สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศมากกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี ในปี 2564 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะส่งออกผลผลิตมะม่วงได้ประมาณ 1,800 ตัน แต่จากการระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้การส่งออกมะม่วงเกรดพรีเมียมไปญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เกิดการชะงัก เพราะไม่มีเที่ยวบินขนส่ง

“โครงการ การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเพื่อการส่งออกตลาดประเทศญี่ปุ่นโดยการขนส่งทางเรือ” เป็นแนวทางสำคัญที่ช่วยจะระบายสินค้าในช่วงฤดูกาลผลิต เพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจของชุมชนและของประเทศ

ผศ. ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่า ภายใต้การสนับสนุนทุนการวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม (สกสว.) ในโครงการ “การวิิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเพื่อการส่งออกตลาดประเทศญี่ปุ่นโดยการขนส่งทางเรือ”

คณะวิจัยได้ศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคนิคเพื่อยืดอายุในการเก็บรักษามะม่วงและเวลาการวางขายในตลาดให้นานขึ้น เพื่อสามารถขนส่งได้โดยทางเรือ แนวทางแรก คณะนักวิจัยได้ศึกษาเทคนิคการส่งออกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองในสภาพดัดแปลงบรรยากาศโดยบรรจุในถุงพลาสติก WEB (White Ethylyne Absorbing Bag) สามารถเก็บรักษามะม่วงได้นานถึง 24 วัน ทำให้ผู้ส่งออกสามารถส่งออกมะม่วงทางเรือได้

ปกติการขนส่งทางเรือไปญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้จะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ เมื่อถึงปลายทางก็ยังมีเวลาวางจำหน่ายสินค้าอีกประมาณ 10 วัน วิธีการนี้ลูกค้าปลายทางจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น คือค่าแรงในการแกะห่อพลาสติกออก

แนวทางนี้ได้มีการถ่ายทอดไปให้ภาคเอกชนแล้ว และสามารถระบายมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองจากที่ไม่สามารถส่งออกได้ในช่วงการระบาดของโควิด ทำให้ส่งออกไปญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ได้ถึงสัปดาห์ละ 28 ตัน หรือเดือนละกว่า 100 ตัน

สำหรับแนวทางที่สองเป็นการส่งออกมะม่วงในตู้ควบคุมบรรยากาศ ซึ่งสามารถยืดอายุการเก็บรักษามะม่วงได้ถึง 30 วัน และเมื่อนำออกมาจากตู้ควบคุมบรรยากาศจะมีอายุในการเก็บรักษาและวางจำหน่ายได้อีก 7 วัน สมมติว่าต้นทุนการขนส่งทางเครื่องบินเป็น 3 ส่วน การขนส่งทางเรือด้วยห้องเย็นธรรมดามีต้นทุนแค่ 1 ส่วน ในขณะที่การขนส่งทางเรือด้วยตู้ควบคุมบรรยากาศจะเป็น 1.5 ส่วน เพราะฉะนั้นก็ยังมีค่าใช้จ่ายถูกกว่าขนส่งทางเครื่องบิน ซึ่งเป็นต้นทุนการขนส่งที่ลูกค้าปลายทางยอมรับได้ และที่สำคัญสามารถส่งออกสินค้้าได้ในปริมาณมากๆ ด้วยวิธีส่งออกทางเรือด้วยตู้ควบคุมบรรยากาศ คาดว่าจะทำให้ส่งออกมะม่วงได้มากถึงสัปดาห์ละ 100 ตัน ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับภาคเอกชนที่สนใจ

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่่า จากเดิมการขนส่งมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองไปยังประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้จะใช้การขนส่งทางเครื่องบิน เมื่อเกิดการระบาดของโควิด -19 การขนส่งทางเครื่องบินจึงหยุดชะงัก ส่งผลให้ผลผลิตที่เคยส่งออกตกค้างในประเทศ เกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงเดือดร้อนจากราคาผลผลิตที่ตกต่ำ

การวิจัยครั้งนี้ถือเป็นความสำเร็จครั้งแรกของประเทศที่ช่วยยืดอายุในการเก็บรักษามะม่วง ทำให้ประเทศไทยสามารถส่งออกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองไปยังประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ได้ครั้งละมากๆ ต้นทุนต่อหน่วยต่ำ สามารถวางจำหน่ายได้นาน มีต้นทุนที่สามารถแข่งขันกับผู้ค้ารายอื่นๆ ได้ เป็นการเพิ่มขีดความสามารถให้กับการส่งออกของไทย

ที่มา: เทคโนโลยีเกษตร

รองอธิการบดี มน. ตรวจเยี่ยมการทำความสะอาด การปิดโรงพยาบาลสนามมหาวิทยาลัยนเรศวร NU Hospitel

เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2564 ศาสตราจารย์ ดร.จิรวัฒน์ พิระสันต์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ พญ.รสสุคนธ์ คชรัตน์ รองคณบดีฝ่ายการแพทย์ นพ.พิเชษฐ์ วัฒนไพโรจน์รัตน์ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร พว.ธงวิไล กันทะสอน รองหัวหน้าฝ่ายการพยาบาลด้านบริหาร พว.อมรรัตน์ สมมิตร รองหัวหน้าฝ่ายการพยาบาลด้านบริการผู้ป่วยใน โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร และ นางศิริวรรณ กมลพัฒนะ ผู้อำนวยการกองกิจการนิสิต ร่วมตรวจเยี่ยมการเช็ดทำความสะอาด บริเวณโถงทางเดินของหอพัก ห้องพักและบริเวณที่มีการสัมผัสบ่อยๆ เช่น สวิตซ์ไฟ ลูกบิดประตู โต๊ะ เก้าอี้ รีโมท ฯลฯ รวมถึงห้องน้ำ ห้องอาบน้ำ ด้วยน้ำยา 0.5% Virkon (Sodium Hypochlorite) พร้อมทั้งมีการอบห้องพักด้วยเครื่องอบโอโซน เป็นเวลา 30 นาทีต่อห้อง ณ โรงพยาบาลสนาม หอพักนิสิต อาคาร 15 มหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการรับนิสิตที่จะเข้ามาพักอาศัยในปีการศึกษา 2564 ต่อไป

ที่มา: กองกิจการนิสิต มหาวิยาลัยนเรศวร

แปรน้ำเสียชุมชน เป็นกลไกเฝ้าระวังเชิงรุกการระบาดเชื้อโควิด-19 ต้นทุนต่ำ

นวัตกรรมจาก “ระบาดวิทยาน้ำเสีย”

“น้ำเสียชุมชนสามารถใช้ในการเฝ้าระวังติดเชื้อโควิดได้” ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) เปิดเผยถึงแนวคิดหลักของทีมวิจัย สถานความเป็นเลิศเพื่อความยั่งยืนด้านสุขภาวะ สิ่งแวดล้อม และอุตสาหกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มน. ซึ่งรวมถึงรศ.ดร.อภินันท์ ลิ้มมงคล ดร.พญ.อัญพัชญ์ อติพิมลพัชญ์ ดร.วิสาข์ สุพรรณไพบูลย์ ดร.ศิริวรรณ วิชัย และดร.วรรณสิกา เกียรติปฐมชัย

“เชื้อที่ออกมาจากการขับถ่ายอุจจาระและปัสสาวะจะมีความไวในการตรวจจับการติดเชื้อค่อนข้างสูง หากมีคนติดเชื้อแค่ 1 คนใน 20,000 คน ก็สามารถตรวจพบได้ ซึ่งนั่นจะทำให้เราสามารถแจ้งเตือนการระบาดของเชื้อล่วงหน้าได้ โดยไม่ต้องรอให้ตรวจเจออาการ คือสามารถตรวจพบจากเศษซากไวรัสในน้ำเสีย” ดร.ธนพล อธิบาย

เปิดเผยและนำเสนอสู่สาธารณะผ่านเวทีเสวนาออนไลน์ “ตรวจไวรัสในน้ำเสีย” ระบบเตือนภัย ประเมินประสิทธิภาพวัคซีน และมาตรการเชิงรุกรับมือโควิดในชุมชน” ซึ่งจัดขึ้นวานนี้ (4 กันยายน 2564) โดย สถานความเป็นเลิศฯ ร่วมกับชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อมและองค์กรเครือข่าย 

เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 หรือ โควิด-19 จำนวนผู้ติดเชื้อยังอยู่ในจำนวนหลักหมื่น มีแนวโน้มสูงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ 

“เรานำชุดความรู้วิศวกรรมประยุกต์ตรวจวัดหาสารพันธุกรรมโควิด-19 เพื่อจะได้มีส่วนช่วยการควบคุมการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสฯ ด้วยเทคนิค Wastewater-Based Epidemiology (WBE) หรือ ระบาดวิทยาน้ำเสีย เพื่อตรวจจับการติดเชื้อ จากน้ำเสียระบบท่อระบายส่วนกลาง เป็นการตรวจจับระดับชุมชน โดยดูจากเวฟหลั่งสารพันธุกรรม ขับถ่ายไปปรากฏท่อบำบัดน้ำเสีย 

ถ้าเราสามารถจับเวฟนี้ได้ก่อนก็สามารถดำเนินมาตรการ ลดผู้ติดเชื้อได้โดยไม่ต้องรอให้ถึงแสดงอาการแล้ว ล่วงหน้าได้ 3 – 14 วัน มีความสำคัญตีมูลค่ามหาศาลในการดำเนินเศรษฐกิจ ในแต่ละวัน” ดร.ธนพล กล่าว

“การนำ ‘วิทยาการตรวจวัดน้ำเสีย’ วิธีการตรวจหาสารพันธุกรรมโควิด ที่สากล 55 ประเทศ นำเทคนิคไปใช้อย่างไรแพร่หลาย เพื่อช่วยเฝ้าระวัง แจ้งเตือนล่วงหน้า ช่วยติดตาม แต่วิธีนี้ยังเป็นองค์ความรู้ยังใหม่ในประเทศไทย

มันเกินกว่าแค่คำว่างานวิจัย คือใช้เป็นการมอนิเตอร์ เฝ้าระวัง ชุมชนจริง การตรวจสอบสารพันธุกรรมในน้ำเสีย เพื่อใช้ในการเฝ้าระวัง เตือนภัยล่วงหน้าได้จริงในระดับชุมชน” ดร.ธนพล กล่าว

ภาพ : unsplash

6 ศักยภาพ “ใช้งานจริง”

ดร.ธนพลได้รวบรวมศักยภาพการใช้ประโยชน์จากการตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสในน้ำเสียโสโครก “WBE” ดังนี้

  1. ใช้เฝ้าระวังการติดเชื้อโควิด-19 และแจ้งเตือนล่วงหน้าก่อนเกิดการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนในระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน กลุ่มอาหาหร (คอนโด) และอาคารทั่วไป (โรงเรียน มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า สถานีขนส่ง ร้านอาหาร หรือสถานที่ราชการ)
  2. ใช้คาดการณ์ (คำนวณอย่างคร่าว ๆ) จำนวนผู้ติดเชื้อทั้งที่แสดงอาการและไม่แสดงออาการในระดับชุมชน หรือกลุ่มอาคาร
  3. ใช้ประเมินความจำเป็นที่จะต้องดำเนินมาตรการเข้มงวด เช่นมาตรการล็อกดาวน์ เป็นต้น
  4. ใช้ประเมินความสำเร็จของการดำเนินมาตรกร เช่นมาตรการล็อกดาวน์ เป็นต้น
  5. ใช้ประเมินการติดเชื้อในชุมชนที่เพิ่มขึ้นหลังคลายล็อกดาวน์
  6.  ใช้เฝ้าระวังการติดเชื้อโควิด SARS-CoV-2 สายพันธุ์ต่าง ๆ ในชุมชน โดยเฉพาะสายพันธุ์อันตรายใหม่ ๆ

“เป็นการเฝ้าระวังการติดเชื้อในชุมชนโดยไม่ต้องไล่ตรวจทีละคน ในทางทฤษฏีสามารถตรวจพลได้ 1 คนต่อ 100 คน ถึง 2 ล้านคน นั่นคือสามารถเฝ้าระวังประชากรทั้งโลก 2.1 พันล้านคนโดยการตรวจระบบบำบัดน้ำเสียเพียง 105,600 แห่ง

อัตราการตรวจพบ 1 ต่อ 200 คนถึง 10,000 คน (ประมาณความเป็นไปได้สำหรับประเทศไทย) สามารถใช้ควบคู่กับการตรวจแบบคลินิก ปัจจุบันประเทศในสหภาพยุโรป ออสเตรเลีย อิสราเอล จีน และสหรัฐ กำลังพัฒนาใช้ WBE ในระดับประเทศ

ในทางปฏิบัติ ระบาดวิทยาน้ำเสีย (WBE) สามารถใช้เฝ้าระวังติดเชื้อแจ้งเตือนล่วงหน้า สามารถคาดการณ์ผู้ติดเชื้อ ประเมินความจำเป็น ประเมินความสำเร็จมากตราล็อกดาวน์ หรือประเมินการติดเชื้อในชุมชนเพิ่มขึ้นในช่วงล็อกดาวน์ เฝ้าระวังการติดสายพันธุ์ใหม่ ๆ ประเมินประสิทธิภาพวัคซีนด้วย

ประเทศไทยเราสามารถใช้วิธีการตรวจ (WBE) วัดหาสารพันธุกรรมฯจากน้ำเสียได้เช่นเดียวกับต่างประเทศ เป็นการตรวจในรายชุมชน แทนทั้งจังหวัดอำเภอ ประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบาย ขณะนี้ไทยอยู่ในขั้นที่ 2 ตรวจเจอก่อนแล้วค่อยดำเนินการมาตรการ แต่สามารถ เฝ้าระวังในสายพันธุ์ต่างได้ๆ เพื่อจัดสรรทรัพยากรวัคซีน และ ชุดตรวจ ATK ที่มีจำกัด ให้พื้นที่มีผลกระทบก่อนทั้งชุมชนและสังคม” ดร.ธนพล กล่าว

พนม ทะโน (ซ้ายบน) ผู้แทนชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม เสวนากับ 5 นักวิจัย สถานความเป็นเลิศเพื่อความยั่งยืนด้านสุขภาวะ สิ่งแวดล้อม และอุตสาหกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มน. ผ่านวงเสวนาออนไลน์ฯ 4 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา

นำร่อง สู่ “มาตรการเฝ้าระวัง-จัดการ” วิกฤตโควิดในไทย

“โควิด – 19 เป็นปัญหาสุขภาพ มันเป็นโรคติดเชื้อจากสิ่งแวดล้อมเหมือน เป็นโรคที่แอร์บอร์น (Airborne)  จากคนหนึ่งสู่คนหนึ่งผ่าน เมื่อวานเราได้พูดถึงการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างไรในการจัดการติดเชื้อโควิดได้ ประเด็นนี้เหมือนกัน เราใช้หลักวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ วิทยาศาสตร์การแพทย์ ในการเฝ้าระวัง ตรวจพบล่วงหน้า 2-14 วัน  

องค์ความรู้และนวัตกรรมการตรวจวัดล่วงหน้านี้ยังใหม่ในไทย สามารถนำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ได้หลายอย่างมาก การนำร่องที่ประสบความสำเร็จสามารถใช้ได้ และดูข้อจำกัด และรู้ภาคส่วนของภาครัฐ ในการร่วมมือกันเป็นสิ่งสำคัญ เพราะฉะนั้นนักวิจัยอย่างเดียวไม่เพียงพอ 

เรากำลังทำทดลองนำร่องในพื้นที่ 5 จังหวัด ว่ามีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน นำผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามาร่วมวิจัยเพื่อนำไปสู่การออกมาตรการต่อไป โดยร่วมกับกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ศูนย์อนามัยภาคต่างๆ สิ่งแวดล้อมภาค ทางเมืองเทศบาล ที่เกี่ยวข้อง ตอนนี้อยู่ในขั้นการสร้างความเข้าใจระบบการตรวจวัด ห้องปฏิบัติการพร้อมแล้ว” ดร.ธนพล กล่าว

นอกจากนี้ในเวทีฯ ยังได้มีการนำเสนอ 2 เทคนิคที่ใช้ในการตรวจสารพันธุกรรมฯ คือเทคนิค RT – qPCR (ทำให้สารพันธุฯเข้มข้น) ซึ่งใช้เวลาตรวจ 1 วัน และเทคนิคแลมป์ LAMP (แสดงผลการตรวจวัดด้วยการเปลี่ยนแปลงสี) ที่ตรวจได้ภายใน 2-3 ชั่วโมง ด้วยการลงทุนหลัก 1 แสนบาท สำหรับห้องปฏิบัติการ 

การนำระบาดวิทยาน้ำเสียเป็นมาตรการเฝ้าระวังไวรัส COVID-19 ในต่างประเทศ

บทเรียนจากสหรัฐอเมริกา

เวทีฯ ยังได้มีการนำเสนอบทเรียนการพัฒนาประยุกต์แนวคิดนี้ใช้งานจริงในหลายประเทศทั่วโลกในระดับที่แตกต่างกัน รวมถึงในอินเดีย และสหรัฐอเมริกา

“ที่ Southeastern Virginia มีการทำแผนที่ความเสี่ยง Risk map เป็นการตรวจจาก 9 โรงบำบัดน้ำเสีย พบว่าในแต่ละช่วงของเดือน พบการเพิ่มขึ้นของสายพันธุกรรมไวรัสไม่เหมือนกัน  แสดงว่าการใช้มาตรการเดียวกันทั้งเมืองอาจจะรุนแรงเกินไป สามารถปรับใช้เพียงแต่ละเมือง เพื่อให้ดำเนินเศรษฐกิจยังคงเดินได้อยู่ 

ประเมินความจำเป็นมาตรการเข้มงวด เช่น มาตรการล็อคดาวน์ การรู้ว่าจำเป็นเมื่อช้าเกินไป กับรู้ว่าล่วงหน้า แบบไหนจะดีกว่าถ้าเรารู้ล่วงหน้า 3 อาทิตย์ มาตรบางส่วนเราจะล็อคดาวน์แค่บางส่วนของเมือง หรือสามารถตรวจเส้นแผนภูมิ (CURVE) ประเทศสหรัฐอเมริกา รัฐเพนซิลเวเนีย สร้างแบบจำลองทำนายผู้ติดเชื้อในอนาคต 3 สัปดาห์ หรือเรียกว่า Vector autoregression (VAR) วิธีทางสถิติ โดยจากร่องระบบน้ำเสีย 

การใช้ WBE มีความไวในการตรวจพบ เวฟที่มาจะก่อนคือ การหลั่งสารพันธุ์กรรมในน้ำเสีย พบว่าหากเริ่มหลั่งน้อยลง เพราะการติดเนื้อน้อยลง สามารถประเมินความสำเร็จจากมาตรการล็อกดาวน์ และได้ผลไวกว่าตรวจทางคลินิก ที่รัฐมอนแทนา MONTANA ประเมินมาตรการล็อกดาวน์ เช่นกัน

การประเมินหลังจากคลายล็อกดาวน์ เฝ้าระวังการระบาดของสายพันธุ์ B.1.1.7 อเมริกานอกจะคำนวณได้ว่ามีผู้ติดเชื้อเท่าไรแล้วสามารถเอาไปขยายผลวิเคราะห์ต่อเพื่อบอกสายพันธุ์ใหม่ได้ การประเมิน ดำเนินการในหอ ฉีดไฟเซอร์ จำนวนเคสลดลงไหม การตรวจสารพันธุกรรมในน้ำเสีย พบว่าหลังจากฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ไม่พบสารพันธุกรรมในไวรัสเสียเลย สามารถบอกได้ว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน โดยลดการตรวจแบบรายบุคคล แต่รายเมืองสามารถดูสารพันธุกรรมในน้ำเสีย 

Web จะมีบทบาทในการประเมินและจัดสรรวัคซีน การตรวจสารพันธุกรรมในน้ำเสียสามารถใช้จัดสรรวัคซีนได้ ตอนนี้มีจำกัด และสามารถใช้ที่ไหน สามารถตรวจสอบเมืองให้เหมาะสมกับเมืองนั้นๆ ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention, CDC) ออกมาตรการในการใช้WBE สำหรับการเฝ้าระวังชุมชน ในอเมริกา ซึ่งเป็นเป็นประโยชน์กับประเทศไทยที่จะได้ประโยชน์จากศึกษางานวิจัยนี้ และคณะวิจัยเรากำลังนำร่อง ถ้ามีส่วนสำเร็จจะขยายผลไปสู่พื้นที่อื่นเพิ่มมากขึ้น” เนื้อหาส่วนหนึ่งของการนำเสนอในเวที

ที่มา: greennews

วช. มอบรางวัลวิจัยแห่งชาติ ให้ ม.นเรศวร ที่คิดค้นนวัตกรรมเพิ่มมูลค่ารำข้าว

นักวิจัย คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเครื่องคงสภาพรำข้าวด้วยระบบอินฟราเรดร่วมกับถังไซโคลนสำหรับวิสาหกิจชุมชนและโรงสีข้าวขนาดเล็ก เป็นผลสำเร็จช่วยให้ผู้บริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ ที่บริโภคข้าวเป็นอาหาร อุดมสมบูรณ์ด้วยวิตามิน เอ ดี และ เค จนได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ระดับดีในปีนี้

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เห็นถึงประโยชน์ของเครื่องคงสภาพรำข้าวด้วยระบบอินฟราเรดร่วมกับถังไซโคลนสำหรับวิสาหกิจชุมชนและโรงสีข้าวขนาดเล็ก ที่สามารถนำไปช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับรำข้าวและสามารถนำไปต่อยอดใช้งานได้จริงกับผู้ประกอบการระดับวิสาหกิจชุมชนและโรงสีข้าวขนาดเล็กในอนาคตได้ จึงมอบรางวัลการวิจัยแห่งชาติ : รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2564 ระดับดี สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา แก่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ขนิษฐา และคณะ แห่งคณะเกษตรศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งจะมีพิธีมอบรางวัลการวิจัยแห่งชาติในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2564 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 – 30 พฤษภาคม 2564 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ขนิษฐา รุตรัตนมงคล เปิดเผยว่า จากการศึกษาปัญหาหลักของการผลิตน้ำมันรำข้าวบีบเย็นในระดับวิสาหกิจชุมชน ได้แก่ คุณภาพของรำข้าวลดลงอย่างรวดเร็วเนื่องจากการทำงานของเอนไซม์ไลเพส ส่งผลทำให้เกิดกรดไขมันอิสระและทำให้ค่าความเป็นกรดของน้ำมันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ซึ่งเครื่องต้นแบบจะช่วยยืดอายุหรือคงสภาพรำข้าวเพื่อแก้ปัญหาการเสื่อมคุณภาพของรำข้าวภายหลังกระบวนการขัดสีได้เร็วและมีประสิทธิภาพที่สุด โดยการใช้เทคนิคการให้ความร้อนแบบอินฟราเรดร่วมกับระบบถังไซโคลนแบบต่อเนื่อง โดยเริ่มจากการทดสอบสภาวะที่เหมาะสมในการคงสภาพรำข้าวด้วยเครื่องให้ความร้อนแบบอินฟราเรดขนาดจำลองในห้องปฏิบัติการที่เป็นระบบการผลิตแบบกะ เพื่อนำผลการศึกษาที่ได้มาเป็นแนวทางพัฒนาเครื่องคงสภาพรำข้าวต้นแบบที่มีกำลังการผลิตอย่างน้อย 100 กิโลกรัมต่อวัน

จากการทดลองพบว่าสภาวะการคงสภาพรำข้าวที่กำลังวัตต์สูงสุด 9000 วัตต์และระยะเวลานานที่สุด 4.21 นาที (ความเร็วรอบเท่ากับ 10 Hz) ทำให้ค่า FFA ของรำข้าวลดลงต่ำที่สุดเท่ากับ 1.97% และ 3.67%ที่อายุการเก็บ 4 สัปดาห์ ที่อุณหภูมิการเก็บ 30 และ 40 องศาเซลเซียส ตามลำดับ และอยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์ที่แนะนำ (ร้อยละ 5) และพบว่าที่สภาวะดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อปริมาณสารสำคัญต่าง ๆ ในรำข้าว โดยที่ค่าความชื้นและค่าวอร์เตอร์แอคติวิตี้มีค่าต่ำกว่า 0.6 ซึ่งส่งผลให้ปริมาณเชื้อจุลินทรีย์ในตัวอย่างมีค่าอยู่ภายใต้เกณฑ์มาตรฐาน CODEX ซึ่งใน อนาคต เครื่องดังกล่าวจะนำไปทดลองใช้ในพื้นที่เขตภาคเหนือตอนล่าง อาทิ จังหวัดกำแพงเพชร เป็นต้น

ที่มา: เทคโนโลยีเกษตร

มอบหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ พัดลมตั้งโต๊ะ และน้ำดื่ม ให้บุคลากรทางการแพทย์และผู้ติดเชื้อโควิด-19 ณ โรงพยาบาลสนามมหาวิทยาลัยนเรศวร

วันที่ 21 เมษายน 2564 ส่งมอบหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ 1 ลัง จำนวน 2,000 ชิ้น พัดลมตั้งโต๊ะ ขนาด 20 นิ้ว จำนวน 2 ตัว และน้ำดื่ม ขนาด 800 ml จำนวน 4,140 ขวด ให้บุคลากรทางการแพทย์และผู้ติดเชื้อโควิด-19 ณ โรงพยาบาลสนามมหาวิทยาลัยนเรศวร นำโดยกลุ่มผู้นำนิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมกับนิสิต บุคลากร ศิษย์เก่า มหาวิทยาลัยนเรศวรและบุคคลทั่วไป ได้สมทบทุน จำนวนเงิน 18,019 บาท

ที่มา: กองกิจการนิสิต มหาวิยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร ร่วมต้านโควิค-19

วันนี้ ( 13 เมษายน 2564) นายรุ่งรัตน์ พระนาค ผู้อำนวยการกองอาคารสถานที่พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ เปิดปฏิบัติการฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อ สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า โควิด-19 COVID-19 ที่ หอพักบุคลากรและหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อความปลอดภัยของนิสิตและบุคลากร

ที่มา: กองอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร มุ่งพัฒนาทักษะอาชีพด้านการตัดเย็บ เพื่อกระตุ้นการจ้างงานในชุมชน ผ่านกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์ตัดเย็บจากผ้า ตำบลสนามคลี อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก

การทอผ้า เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวบ้านในตำบลสนามคลี อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก อย่างไรก็ดี  พวกเขาไม่ได้ใช้การทอผ้าในการหารายได้อย่างเดียวเท่านั้น เนื่องจากพื้นที่ในชุมชนเป็นที่ราบลุ่ม ชาวบ้านจึงประกอบอาชีพทางเกษตรกรรมเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการปลูกพืชผักสวนครัวปลอดสารพิษ การปลูกเมล่อน บางกลุ่มที่ตั้งครัวเรือนริมแม่น้ำ ก็มีอาชีพเสริมเป็นการเลี้ยงปลากดคัง โดยมีทั้งเป็นเจ้าของกระชังปลาเอง และเป็นลูกจ้างดูแลกระชังปลา

กองส่งเสริมการบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก จึงเล็งเห็นโอกาส ในการส่งเสริมการเรียนรู้ด้านการประกอบอาชีพ โดยสร้างความตระหนักให้คนในชุมชนรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้น ผ่านการกระตุ้นให้คนกลับเข้ามาทำงานในชุมชน โดยอาศัยชุมชนเป็นฐานการผลิตและฐานการเรียนรู้ร่วมกัน จนออกมาเป็น “โครงการพัฒนาทักษะอาชีพงานฝีมือตัดเย็บกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์ตัดเย็บจากผ้า สร้างโอกาสการจ้างงานในชุมชน ตำบลสนามคลี อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก”

โดยโครงการฯ ได้เฟ้นหากลุ่มเป้าหมายจำนวน 50 คน จากพื้นที่ชุมชนตำบลสนามคลี โดยมีจุดประสงค์ของโครงการเพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มเป้าหมาย ซึ่งมีทักษะการตัดเย็บอยู่บ้างแล้ว ได้พัฒนาฝีมือ ตลอดจนเป็นการสร้างโอกาสทางด้านอาชีพให้ผู้มีรายได้น้อย ผู้สูงอายุ และผู้ว่างงานในชุมชน ให้มีรายได้เพิ่มขึ้นโดยที่ไม่ต้องออกไปทำงานนอกชุมชน

โดยโครงการจะดำเนินการผ่านความร่วมมือของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์ตัดเย็บจากผ้า ซึ่งมีความรู้และประสบการณ์ในสายอาชีพนี้อยู่แล้ว มาช่วยให้คำแนะนำ ทว่า ตัวกลุ่มเองก็ยังมีข้อจำกัดในบางเรื่อง เช่น รูปแบบของผลิตภัณฑ์ที่ยังไม่หลากหลายและมีความร่วมสมัยมากพอ คณะทำงานจึงต้องเข้ามาช่วยสนับสนุนและส่งเสริมในด้านนี้ ผ่านการใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ด้วยการวิเคราะห์ผู้บริโภค และพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน ซึ่งจะช่วยให้ผลิตภัณฑ์มีมูลค่าเพิ่มขึ้น 

เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลเสร็จสิ้น คณะทำงานจะปรับกระบวนการทำงานให้เข้าสู่การผลิตสินค้ารูปแบบใหม่ที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภครุ่นใหม่ในรูปแบบมินิมัล (minimal) กล่าวคือ มีความเรียบง่ายแต่เรียบหรู ซึ่งแตกต่างจากผลิตภัณฑ์ที่เคยผลิตกันมาตั้งแต่สมัยก่อน อาทิ ถุงผ้าสวมแก้วเยติ ย่ามรูปแบบใหม่ และหมวกผ้า เป็นต้น 

นอกจากนี้ คณะทำงานยังให้ความสำคัญกับการย้อมสีผ้าด้วยวัตถุดิบจากธรรมชาติ เช่น เปลือกไม้ ใบไม้ หรือแร่ธาตุต่างๆ ที่หาได้ในชุมชนตำบลสนามคลี เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ของกลุ่มเป้าหมาย ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเข้าถึงความต้องการของตลาดกลุ่มใหม่ได้ โดยจะกระทำควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะการเป็นผู้ประกอบการในศตวรรษที่ 21 ผ่านการใช้เทคโนโลยีในการกระจายสินค้า เช่น การสร้างเพจหรือเว็บไซต์ของกลุ่ม เป็นต้น 

เพราะหากมีผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ แต่ไม่มีช่องทางการจำหน่ายที่ทัดเทียมกัน ความลื่นไหลของการกระจายสินค้าก็อาจหยุดชะงักได้

อย่างไรก็ดี สุดท้ายนี้ คณะทำงานหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เมื่อกลุ่มเป้าหมายพัฒนาขึ้นตามลำดับกระบวนการข้างต้นแล้ว จะช่วยให้ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มเป้าหมายเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น และนำไปสู่การจ้างงานภายในชุมชน อีกทั้งยังเป็นการช่วยปูพื้นฐานให้กลุ่มเป้าหมาย มีทักษะในการเรียนรู้และปรับตัวอยู่ตลอดเวลา เพื่อรองรับกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ทุกวันได้อีกด้วย

คณะทำงานยังให้ความสำคัญกับการย้อมสีผ้าด้วยวัตถุดิบจากธรรมชาติ เช่น เปลือกไม้ ใบไม้ หรือแร่ธาตุต่างๆ ที่หาได้ในชุมชนตำบลสนามคลี เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ของกลุ่มเป้าหมาย ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเข้าถึงความต้องการของตลาดกลุ่มใหม่ได้

ที่มา: กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

เอ็นซี โคโคนัท จับมือ มหาวิทยาลัยนเรศวร เพาะเนื้อเยื่อ มะพร้าวน้ำหอมพันธุ์ก้นจีบ ที่แรกของโลก

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564 บริษัท เอ็นซี โคโคนัท จำกัด เป็นบริษัทผู้ส่งออกมะพร้าวน้ำหอมเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ ได้ร่วมมือกับ คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมทำโครงการ COCONUT Tissue Culture หรือการพัฒนาขยายพันธุ์มะพร้าวน้ำหอม “พันธุ์ก้นจีบ” ด้วยวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อสำเร็จเป็นที่แรกของโลก

คุณณรงค์ศักดิ์ ชื่นสุชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท NC COCONUT ได้กล่าวว่า ปัจจุบัน จังหวัดราชบุรีมีการส่งออกมะพร้าวน้ำหอมพันธุ์ก้นจีบที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GI หรือสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ มีหลายอำเภอที่ปลูกมะพร้าวน้ำหอมพันธุ์ก้นจีบ เช่น อำเภอดำเนินสะดวก อำเภอบางแพ อำเภอวัดเพลง อำเภอโพธาราม อำเภอปากท่อ และอำเภอบ้านโป่ง มีพื้นที่รวมในการเพาะปลูกกว่า 100,000 ไร่ มูลค่าการส่งออกนับเป็น 10,000 ล้านบาท ต่อปี และในปัจจุบันความต้องการของเกษตรกรมีเพิ่มมากขึ้นที่หันมาปลูกมะพร้าวน้ำหอม ทำให้สายพันธุ์แท้ของมะพร้าวน้ำหอมพันธุ์ก้นจีบมีการกลายพันธุ์ ถ้าเกษตรกรนำไปเพาะปลูกกว่าจะเห็นผลผลิตก็จะเสียเวลาในการรอคอยไป 2-3 ปี ซึ่งอาจสร้างความเสียหายต่อเกษตรกรได้ บริษัท NC COCONUT ในฐานะผู้ที่มีประสบการณ์ความเชี่ยวชาญด้านมะพร้าวน้ำหอมเล็งเห็นความสำคัญในเรื่องของพันธุ์ของมะพร้าว จึงได้ร่วมมือกับ ผศ.ดร. พีระศักดิ์ ฉายประสาท คณบดี คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมกันวิจัยพัฒนาในครั้งนี้ ใช้ระยะเวลาถึง 2 ปี จนได้กล้าพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมพันธุ์ก้นจีบที่ตรงตามแม่พันธุ์ที่ให้ผลผลิตลูกดก จำนวนทะลายมาก และคงความอัตลักษณ์ในรสชาติและกลิ่นหอมเฉพาะตัวของมะพร้าวน้ำหอมพันธุ์ก้นจีบนี้

ผศ.ดร. พีระศักดิ์ ฉายประสาท คณบดี คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวรกล่าวในงานว่า การวิจัยเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อครั้งนี้ เป็นการขยายพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมพันธุ์ก้นจีบในสภาพปลอดเชื้อด้วยเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขยายพันธุ์ในอนาคต เริ่มต้นจากการคัดเลือกต้นพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมที่ดี ได้แก่ น้ำ และเนื้อมีรสชาติหวาน หอม จำนวนทะลายมาก จำนวนผลต่อทะลายพอเหมาะ ให้ผลสม่ำเสมอฯ เมื่อได้ต้นพันธุ์แล้วนำตัวอย่างพืช (Explant) ของต้นดังกล่าวไปเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เพื่อให้ได้ต้นพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมในปริมาณมาก มีลักษณะตรงตามสายพันธุ์และปลอดโรค ให้ผลดก เป็นการส่งเสริมและสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร

ในงานนี้ บริษัท NC COCONUT ยังได้ประกาศความสำเร็จความร่วมมือกับ คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมทำโครงการ COCONUT Tissue Culture หรือการพัฒนาขยายพันธุ์มะพร้าวน้ำหอม “พันธุ์ก้นจีบ” ด้วยวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อสำเร็จเป็นที่แรกของโลกอีกด้วย เพื่อให้คงไว้ซึ่งต้นพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมแท้และดั้งเดิมพันธุ์ก้นจีบ จังหวัดราชบุรี ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GI สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ โดยการวิจัยครั้งนี้จะมีประโยชน์ต่อเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวน้ำหอม และถือได้ว่าเป็นการส่งเสริมการส่งออกอีกด้วย

ที่มา: เทคโนโลยีเกษตร

ม.นเรศวร และ สพฐ.-กสศ. ร่วมผนึกกำลังพัฒนาระบบสารสนเทศ

วันที่ 26 มีนาคม 2564 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดการประชุมสร้างความเข้าใจการดำเนินการพื้นที่ต้นแบบระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ระดับเขตพื้นที่การศึกษา สถานศึกษาต้นแบบ ที่โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการคอนเวนชั่นเซนเตอร์ โดยมีตัวแทนจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาใน 22 จังหวัดร่วมประชุม โดยระบบสารสนเทศเพื่อหลักประกันโอกาสทางการเรียนรู้ การคัดกรองนักเรียนยากจน และการดูแลช่วยเหลือนักเรียนนี้ ทางมหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นผู้พัฒนาแอปพลิเคชั่น ให้บุคลากรทางการศึกษาได้ประเมินและคัดกรองเป็นรายบุคคล เพื่อเป็นปัจจัยการพิจารณาข้อมูลในการรับทุนการศึกษา ที่ช่วยลดภาระของครอบครัวที่ยากจน และเด็กทุกคนยังสามารถอยู่ในระบบการศึกษาโดยได้รับการดูแลอย่างครอบคลุมทุกมิติ ทั้งด้านของสภาพความเป็นอยู่ของครอบครัว สุขภาพกาย สุขภาพจิต ข้อมูลด้านพฤติกรรม รวมถึงการประเมินภาวะด้านอารมณ์หรืออีคิว

ดร.สายพันธุ์ ศรีพงษ์พันธุ์สกุล รองผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครอง และช่วยเหลือเด็กนักเรียน สพฐ. กล่าวว่า ระบบนี้จะทำให้ครูและผู้อำนวยการโรงเรียนได้ทราบถึงพฤติกรรมเชิงลึกของนักเรียนว่าเป็นอย่างไรบ้าง ต้องดูแลอย่างไร และเขตพื้นที่การศึกษาได้รับทราบข้อมูลของนักเรียนไปจนถึงครอบครัวอย่างรอบด้าน ทุกมิติ ทั้งในเรื่องของความเสี่ยงจากการเดินทาง ปัญหาครอบครัว ปัญหาเรื่องสุขภาพกายและสุขภาพจิต ของเด็กนักเรียน ซึ่งจะมีส่วนช่วยเหลือเด็กได้ พร้อมกันนี้ยังทำให้เกิดการวางแผนแก้ไขปัญหาที่มีความครอบคลุมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นายสนิท แย้มเกสร รองเลขาธิการ สพฐ. กล่าวว่า ถึงการทำงานของ กสศ.เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาของเด็กนักเรียนไทย ว่า แม้ว่าหน่วยงานนี้จะได้รับการจัดตั้งมาในปี 2561 หรือเกือบ 3 ปี แต่สิ่งที่ได้เห็นคือ การทำงานที่จริงจัง เกิดเห็นผลเป็นรูปธรรม และสามารถช่วยเหลือนักเรียนที่มีความยากจนได้มาก อีกทั้งในการจัดทำระบบสารสนเทศเพื่อหลักประกันโอกาสทางการเรียนรู้ การคัดกรองนักเรียนยากจน และการดูแลช่วยเหลือนักเรียนนั้น มองว่า เรื่องที่มีความสำคัญมากที่สุด คือการให้เด็กที่อยู่ในระบบการศึกษา แต่การศึกษาไม่ได้มีเพียงแค่การเข้ามาเรียนในโรงเรียนและจบไปตามช่วงชั้น แต่สิ่งที่สำคัญคือหากไม่เห็นสภาพความเป็นจริงของเด็ก ก็จะไม่สามารถป้อนให้ความช่วยเหลือแก่เด็กได้ ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นควรจะเป็นไปในรูปแบบของการคัดกรอง ตามระบบ ให้เกิดการดูแลช่วยเหลือตามระบบของโรงเรียนและส่งต่อความช่วยเหลือไปยังเด็กนักเรียนต่อไป

ส่วน ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า ที่ผ่านมาจากการทำงานเยี่ยมบ้านของนักเรียนตามระบบการคัดกรองเด็กยากจนอย่างมีเงื่อนไข หรือ CCT ทำให้มีข้อมูลคุณภาพที่สูงขึ้น ได้เห็นสภาพปัญหาครอบครัวที่แท้จริง ทำให้ได้เห็นว่ามิติของการแก้ไขปัญหาเด็กนักเรียนยากจน ไม่ได้มีปัจจัยมาจากมิติของเศรษฐกิจและสังคมเพียงอย่างเดียว แต่การจะลดความเสี่ยงไม่ให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา จะต้องขยายฐานการให้ความช่วยเหลือดูแลเชื่อมโยงกับระบบการคัดกรองให้เป็นระบบเดียวกันครบทุกมิติ ให้ครูได้รับทราบถึงปัญหาความยากจนของเด็กพร้อมปัจจัยเสี่ยงอื่นๆไปในครั้งเดียวกัน ข้อมูลเหล่านี้ผู้ปกครองจะให้ข้อมูลตามความเป็นจริงแก่ครู เพื่อให้ครูจะนำไปดูแลนักเรียนในโรงเรียนเป็นรายคน สามารถปิดช่องโหว่และความเสี่ยงอย่างรอบด้าน แต่หากเกินกำลังที่โรงเรียนหรือครูจะดูแลได้ ก็นำข้อมูลเหล่านี้ส่งต่อไปยังกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เช่น หน่วยงานด้านสุขภาพ การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และด้านอื่นๆ ทำให้เกิดการบูรณาการการทำงานเพื่อช่วยเหลือนักเรียนโดยมีเด็กเป็นศูนย์กลางต่อไป ดังนั้นการพัฒนาความร่วมมือครั้งนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งของการให้ความช่วยเหลือกับเด็กนักเรียนได้อย่างตรงจุดมากขึ้น

ดร.ไกรยศ กล่าวอีกว่า โดยการทำงานของ กสศ. กับ สพฐ. และมหาวิทยาลัยนเรศวรครั้งนี้ มีเป้าหมายร่วมกัน คือ ป้องกันไม่ให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา เพราะเด็กหลายคนมีความตั้งใจการเรียนมาก แต่ก็ประสบปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ ต้องมาเป็นเสาหลักของครอบครัว มาดูแลสมาชิกในบ้านที่อาจจะป่วยติดบ้านหรือติดเตียง หรือผู้ปกครองอยู่ภาวะที่ไม่สามารถดูแลเด็กได้ เพื่อปลดพันธนาการต่างๆให้กับเด็กได้มีสมาธิและตั้งใจกับการเรียนอย่างเต็มที่ และจะให้อยู่ในระบบการศึกษาได้ต่อไป ช่วยให้มีกำลังใจในการศึกษาที่ไปได้ไกลที่สุดตามศักยภาพของเด็ก ซึ่งระบบนี้ก็จะเป็นตัวอย่าง เป็นต้นแบบให้มีการขยายร่วมมือกับกระทรวงอื่นด้วย เช่น กระทรวงมหาดไทย ที่นำไปใช้ในโรงเรียนเทศบาล โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน โรงเรียนพระปริยัติธรรม หรือโรงเรียนเอกชน เพื่อให้นำข้อมูลไปใช้ร่วมกันด้วย

ด้าน ดร.วรลักษณ์ คงเด่นฟ้า นักวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า ระบบสารสนเทศที่เข้ามาใหม่ จะช่วยการทำงานของครูในสองประเด็น คือ 1. ระบบนี้มีการเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลอื่นของ สพฐ. และ กสศ. เช่น CCT หรือ DMC ให้เข้ามาในระบบ ทำให้ครูไม่ต้องกรอกข้อมูลที่ซ้ำซ้อนสามารถดึงข้อมูลเดิมมาได้ทันที 2. คือระบบการทำงานเดิมไม่มีระบบสารสนเทศ ที่รวบรวมมาจากโรงเรียนต่าง ๆได้เลย หากมีข้อมูลนี้จะทำให้การรวบรวมข้อมูลสามารถทำได้ง่ายมากขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ประโยชน์จะเกิดขึ้นที่ตัวเด็กนักเรียน เพราะเป็นระบบที่ครูจะมีข้อมูลส่วนบุคคลของเด็กที่จะพิจารณาความช่วยเหลืออย่างถูกต้อง และยังมีระบบการแจ้งเตือนและเฝ้าระวังความเสี่ยง หากเด็กนักเรียนขึ้นสัญลักษณ์สีแดงก็เป็นการเตือนได้ว่าครูจะเข้าไปหาเด็กนักเรียนคนไหน และสามารถให้ความช่วยเหลือได้อย่างไรบ้าง ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สามารถเห็นได้จนถึงเขตพื้นที่การศึกษา ที่จะทำให้พิจารณาในการให้ความช่วยเหลือแก่โรงเรียนได้ด้วยเช่นกัน

ดร.วรลักษณ์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามได้วางแผนนะยะเวลาของกระบวนการไว้โดยคร่าวๆ คือ ในช่วงเดือนมี.ค.นี้ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจะวางแผนให้เริ่มมีการคัดเลือกหาโรงเรียนที่สมัครใจเป็นพื้นที่นำร่อง ในเดือน เม.ย.จะเริ่มสอนไปยังเขตพื้นที่ที่สมัครและโรงเรียนที่เข้าสมัครร่วมทดลองใช้ระบบ จากนั้นในเดือน พ.ค. – มิ.ย.จะทดลองในเป็นระยะเวลาสองเดือน คาดว่าจะนำไปสู่ภาพใหญ่มีการใช้งานจริงได้ในช่วงภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 นี้ ส่วนตัวคาดหวังว่า หากระบบนี้นำไปใช้ในทุกโรงเรียนทำเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการดูแลเด็กของตนเองได้ มีการส่งข้อมูลต่อเนื่อง เก็บประวัติในทุกปี ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมาก เพราะจะสามารถเห็นประวัติเด็กอย่างต่อเนื่อง ระบบจะเข้าไปสู่ระบบสารสนเทศ และจะส่งผลไปถึงภาพรวมของประเทศที่สามารถตรวจสอบได้ว่า ขณะนี้เด็กนักเรียนกำลังประสบปัญหาด้านใด เพื่อนำไปสู่การวางนโยบายในภาพใหญ่ และช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้อีกด้วย เพราะระบบนี้จะมีการดูแลเป็นรายบุคคล

ทั้งนี้ ดร.วิมพ์วิภา รักสม รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา มัธยมศึกษาจังหวัด พังงา ภูเก็ต ระนอง ระบุถึงข้อเสนอแนะจากการใช้งานระบบสารสนเทศ ว่า ระบบดังกล่าวถือว่ามีประโยชน์ต่อทั้งนักเรียน ที่ใช้ในการบริหารจัดการการเรียนการสอน ทั้งกลุ่มปกติ กลุ่มเสี่ยง กลุ่มที่มีปัญหา รวมถึงกลุ่มที่มีความสามารถพิเศษ ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมการศึกษาโดยไม่ทิ้งไว้ใครไว้ข้างหลัง มีประโยชน์สำหรับโรงเรียนและเขตพื้นที่การศึกษาคือทำให้ได้เห็นข้อมูลในภาพรวมว่าแต่ละพื้นที่เด็กนักเรียนมีปัญหาความเสี่ยงในด้านใด เพื่อทำให้การแก้ไขปัญหาเด็กนักเรียนนั้นตรงจุดมากยิ่งขึ้น

ที่มา: สำนักข่าวอิศรา

Sustainability

NARESUAN UNIVERSITY

Solverwp- WordPress Theme and Plugin