การทอผ้า เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวบ้านในตำบลสนามคลี อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก อย่างไรก็ดี พวกเขาไม่ได้ใช้การทอผ้าในการหารายได้อย่างเดียวเท่านั้น เนื่องจากพื้นที่ในชุมชนเป็นที่ราบลุ่ม ชาวบ้านจึงประกอบอาชีพทางเกษตรกรรมเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการปลูกพืชผักสวนครัวปลอดสารพิษ การปลูกเมล่อน บางกลุ่มที่ตั้งครัวเรือนริมแม่น้ำ ก็มีอาชีพเสริมเป็นการเลี้ยงปลากดคัง โดยมีทั้งเป็นเจ้าของกระชังปลาเอง และเป็นลูกจ้างดูแลกระชังปลา
กองส่งเสริมการบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก จึงเล็งเห็นโอกาส ในการส่งเสริมการเรียนรู้ด้านการประกอบอาชีพ โดยสร้างความตระหนักให้คนในชุมชนรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้น ผ่านการกระตุ้นให้คนกลับเข้ามาทำงานในชุมชน โดยอาศัยชุมชนเป็นฐานการผลิตและฐานการเรียนรู้ร่วมกัน จนออกมาเป็น “โครงการพัฒนาทักษะอาชีพงานฝีมือตัดเย็บกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์ตัดเย็บจากผ้า สร้างโอกาสการจ้างงานในชุมชน ตำบลสนามคลี อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก”
โดยโครงการฯ ได้เฟ้นหากลุ่มเป้าหมายจำนวน 50 คน จากพื้นที่ชุมชนตำบลสนามคลี โดยมีจุดประสงค์ของโครงการเพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มเป้าหมาย ซึ่งมีทักษะการตัดเย็บอยู่บ้างแล้ว ได้พัฒนาฝีมือ ตลอดจนเป็นการสร้างโอกาสทางด้านอาชีพให้ผู้มีรายได้น้อย ผู้สูงอายุ และผู้ว่างงานในชุมชน ให้มีรายได้เพิ่มขึ้นโดยที่ไม่ต้องออกไปทำงานนอกชุมชน
โดยโครงการจะดำเนินการผ่านความร่วมมือของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์ตัดเย็บจากผ้า ซึ่งมีความรู้และประสบการณ์ในสายอาชีพนี้อยู่แล้ว มาช่วยให้คำแนะนำ ทว่า ตัวกลุ่มเองก็ยังมีข้อจำกัดในบางเรื่อง เช่น รูปแบบของผลิตภัณฑ์ที่ยังไม่หลากหลายและมีความร่วมสมัยมากพอ คณะทำงานจึงต้องเข้ามาช่วยสนับสนุนและส่งเสริมในด้านนี้ ผ่านการใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ด้วยการวิเคราะห์ผู้บริโภค และพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน ซึ่งจะช่วยให้ผลิตภัณฑ์มีมูลค่าเพิ่มขึ้น
เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลเสร็จสิ้น คณะทำงานจะปรับกระบวนการทำงานให้เข้าสู่การผลิตสินค้ารูปแบบใหม่ที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภครุ่นใหม่ในรูปแบบมินิมัล (minimal) กล่าวคือ มีความเรียบง่ายแต่เรียบหรู ซึ่งแตกต่างจากผลิตภัณฑ์ที่เคยผลิตกันมาตั้งแต่สมัยก่อน อาทิ ถุงผ้าสวมแก้วเยติ ย่ามรูปแบบใหม่ และหมวกผ้า เป็นต้น
นอกจากนี้ คณะทำงานยังให้ความสำคัญกับการย้อมสีผ้าด้วยวัตถุดิบจากธรรมชาติ เช่น เปลือกไม้ ใบไม้ หรือแร่ธาตุต่างๆ ที่หาได้ในชุมชนตำบลสนามคลี เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ของกลุ่มเป้าหมาย ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเข้าถึงความต้องการของตลาดกลุ่มใหม่ได้ โดยจะกระทำควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะการเป็นผู้ประกอบการในศตวรรษที่ 21 ผ่านการใช้เทคโนโลยีในการกระจายสินค้า เช่น การสร้างเพจหรือเว็บไซต์ของกลุ่ม เป็นต้น
เพราะหากมีผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ แต่ไม่มีช่องทางการจำหน่ายที่ทัดเทียมกัน ความลื่นไหลของการกระจายสินค้าก็อาจหยุดชะงักได้
อย่างไรก็ดี สุดท้ายนี้ คณะทำงานหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เมื่อกลุ่มเป้าหมายพัฒนาขึ้นตามลำดับกระบวนการข้างต้นแล้ว จะช่วยให้ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มเป้าหมายเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น และนำไปสู่การจ้างงานภายในชุมชน อีกทั้งยังเป็นการช่วยปูพื้นฐานให้กลุ่มเป้าหมาย มีทักษะในการเรียนรู้และปรับตัวอยู่ตลอดเวลา เพื่อรองรับกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ทุกวันได้อีกด้วย
คณะทำงานยังให้ความสำคัญกับการย้อมสีผ้าด้วยวัตถุดิบจากธรรมชาติ เช่น เปลือกไม้ ใบไม้ หรือแร่ธาตุต่างๆ ที่หาได้ในชุมชนตำบลสนามคลี เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ของกลุ่มเป้าหมาย ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเข้าถึงความต้องการของตลาดกลุ่มใหม่ได้
ที่มา: กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา