เครือข่าย SUN Thailand ร่วมขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยสีเขียว สู่ความยั่งยืน
มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย (Sun Thailand) ครั้งที่ 2/2563 ระหว่างวันที่ 27-29 สิงหาคม พ.ศ. 2563 ณ มหาวิทยาลัยนเรศวร อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก โดยศาสตราจารย์ ดร.จิรวัฒน์ พิระสันต์ รองอธิการบดี, ดร.สุชาติ เมืองแก้ว ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษประจำมหาวิทยาลัย, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดลเดช ตั้งตระการพงษ์ ผู้ช่วยอธิการบดี พร้อมด้วยคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุม ซึ่งการจัดเครือข่าย SUN ในครั้งนี้ มีแนวคิดพัฒนาในเรื่องของกายภาพและเรื่องอื่นๆ สู่การเป็นมหาวิทยาลัยที่ยั่งยืน มีความสวยงาม เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถอยู่ได้ในศตวรรษที่ 21 โดยมีการจัดกิจกรรมพาตัวแทนจากสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของประเทศไทยที่มาร่วมงาน ศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กิจกรรมความยั่งยืน ณ มหาวิทยาลัยนเรศวร อาทิ ศึกษาดูงานด้านการจัดการอย่างยั่งยืนภายในมหาวิทยาลัย เยี่ยมชมสถานีรถไฟฟ้า โรงผลิตน้ำประปา สวนพลังงาน วิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี แหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานทดแทน สถานีบำบัดน้ำเสียรวมของมหาวิทยาลัย พร้อมทั้งศึกษาดูงานศูนย์คัดแยกขยะเพื่อรีไซเคิล วงษ์พาณิชย์ สำนักงานใหญ่ จังหวัดพิษณุโลก
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ คันธมานนท์ รองอธิการบดีอาวุโสฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย ปี 2563 (SUN Thailand) กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้นอกจากที่มหาวิทยาลัยเครือข่ายจะได้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานของมหาวิทยาลัยสู่ความยั่งยืน ทั้งการบริหารจัดการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการสร้างให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในมิติต่าง ๆแล้ว ตัวแทนจากสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของประเทศยังได้มี แนวคิดหลักในการขับเคลื่อนให้ SUN Thailand ก้าวไปข้างหน้า คือการวิเคราะห์ผลกระทบต่อการพัฒนาด้านความยั่งยืน ทั้งการรณรงค์ในเรื่องของขยะ ระดมสมองในการออกแบบและวางแผนเพื่อการขับเคลื่อนไปสู่ความยั่งยืนในการลดขยะโดยใช้เวลาและงบประมาณที่น้อยลง มุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้ร่วมคิดและถอดบทเรียนที่จะนำไปสู่แนวทาง ในการเริ่มต้นทำงานเพื่อความยั่งยืน ทั้งในระดับมหาวิทยาลัยและ ชุมชน โดยใช้หลักการที่เป็นความรู้ท้องถิ่น นำหลักหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นแนวทางในการ จะทำให้เกิดการขับเคลื่อน ความยั่งยืน (SEP for SDGs ) นำความสามารถที่มีอีกทั้งแนวคิดที่ได้ไปตอบโจทย์ประเทศ (ปฏิญญาวังจันทน์)
เครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย (Sustainable University Network of Thailand) เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2559 เป็นความร่วมมือของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยที่ยกระดับบทบาทภารกิจการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ของนโยบายความยั่งยืนและเชื่อมโยงในระดับนานาชาติ รวมถึงการกำหนดมาตรฐานการชี้วัดความเป็นมหาวิทยาลัยที่พัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับสากล นำไปสู่การเป็นต้นแบบสำคัญของทุกภาคส่วนภายในสังคมของประเทศ ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 30 มหาวิทยาลัยและอยู่ภายใต้ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับฉันทามติได้รับการเลือกตั้งให้เป็นประธานเครือข่าย มหาวิทยาลัยยั่งยืน แห่งประเทศไทย พ.ศ.2562 (Sustainable University Network of Thailand) พ.ศ.2562
ที่มา: งานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยนเรศวร