Archives 2022

นวัตกรรมเพื่อสังคมแอปพลิเคชั่น แคร์คุณ…ทุกเส้นทาง

แอปพลิเคชันแคร์คุณ Carekoon Mobility Platform เป็นหนึ่งในโครงการที่ได้รับการสนับสนุนทุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ร่วมกับหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม ประจำพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง 1 มหาวิทยาลัยนเรศวร กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, เทศบาลนครพิษณุโลก และ ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมยานยนต์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร นำเสนอโดยบริษัทโซลาร์วัตต์111 จำกัด เพื่อให้ผู้ประกอบการ สามารถนำนวัตกรรมไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับชุมชน เกิดเป็นต้นแบบโมเดลธุรกิจโลจิสติกส์ ประหยัดพลังงานและลดปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสร้างกลุ่มธุรกิจสินค้าบริการสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ (Smart Mobility for Longevity Economy) ให้ผู้สูงอายุมีชีวิตที่ยืนยาวอย่างมีคุณภาพในยุควิถีชีวิตปกติใหม่จากโรคระบาดโควิด-19

ภญ.กรรณิการ์ จรัสอุไรสิน ประธานกรรมการบริษัทโซลาร์วัตต์ 111 จำกัด และหัวหน้าโครงการแอปพลิเคชันแคร์คุณกล่าวว่า “ปัจจุบันผู้สูงอายุไทยเรามีสัดส่วนประมาณร้อยละ 16 คาดการณ์ว่าสัดส่วนจะสูงขึ้นถึงร้อยละ 30 ในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งใกล้เคียงกับสังคมญี่ปุ่นในวันนี้ อีกทั้งยังพบว่าผู้สูงอายุอยู่ตามลำพัง ประสบปัญหาในการเดินทางเพื่อใช้ชีวิตประจำวัน หรือยามเจ็บป่วยต้องพบแพทย์เพื่อรับยาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น จึงได้พัฒนาแอปพลิเคชันแคร์คุณ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตในการเดินทางคมนาคมในยุคดิจิตอล และที่สำคัญในช่วงสถานการณ์โรคระบาดโควิด -19 ก็ยังสามารถเข้าถึงการบริการสาธารณสุขผ่านปลายนิ้วบนแคร์คุณได้ อาทิ แพทย์ เภสัชกร นักกายภาพบำบัด ผู้ดูแลผู้สูงอายุ ขอขอบคุณสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ มหาวิทยาลัยนเรศวร และเทศบาลนครพิษณุโลก ที่ให้การสนับสนุนทุน บุคคลากรและพื้นที่ทดสอบ จนเกิดเป็นแอปพลิเคชันแคร์คุณสำเร็จค่ะ”

ผศ.ดร. อนันต์ชัย อยู่แก้ว หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นที่ปรึกษาโครงการ  กล่าวว่า “นอกจากรถไฟฟ้าแล้ว แอปพลิเคชันแคร์คุณซึ่งเป็นของคนไทย ถือว่ามาเติมเต็มในโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) รองรับการขยายตัวของความเป็นเมืองภายในจังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดอื่นๆ เพิ่มความสะดวกและทางเลือกมากยิ่งขึ้น จุดเด่นของแคร์คุณคือสามารถออกแบบตอบโจทย์การเดินทางได้หลากหลาย มีทั้งประเภทรถโดยสารส่วนบุคคล (On-demand), ประเภทรถประจำเส้นทาง(Route) และประเภทบริการวิ่งรับส่งสินค้าอาหารจากร้านค้าไปยังบ้านลูกค้าปลายทาง, สามารถประยุกต์ใช้เป็นบริการอื่นๆ ตามความต้องการของผู้ให้บริการได้ เช่น รถบัสอีวีรับส่งภายในมหาวิทยาลัยนเรศวร, รถเร่ขายกับข้าว, รถสำหรับผู้พิการ, Car sharing, รถนำเที่ยว,รถแพทย์ฉุกเฉินเคลื่อนที่, สามารถเพิ่มรายได้ให้กับเศรษฐกิจท้องถิ่นและระดับประเทศได้”

ผศ.ดร.ดลเดช ตั้งตระการพงษ์ หัวหน้าหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม กล่าวว่า “สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA)  และหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม (SID) ประจำพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง 1 มหาวิทยาลัยนเรศวร มีภารกิจช่วยพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยมีทีมงานนักวิจัย ผู้เชียวชาญ มาเป็นที่ปรึกษา พร้อมทั้งสนับสนุนทุนเพื่อนำนวัตกรรมนั้นไปต่อยอดทำธุรกิจได้ เพื่อสร้างรายได้ สร้างคุณค่าเกิดประโยชน์ให้กับชุมชน สังคมสิ่งแวดล้อม เช่นเดียวกันกับโครงการแอปพลิเคชันแคร์คุณ ที่ได้บูรณาการแพลตฟอร์มเรื่องคมนาคมขนส่ง รวมเข้ากับการบริการสาธารณสุข สามารถตอบโจทย์ Pain Point ผู้สูงอายุ หรือ ผู้พิการ รวมทั้งคนทั่วไปที่มีข้อจำกัดในการเดินทางสัญจร ในสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 อีกทั้งยังสามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ ให้กับผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ รถรับจ้าง หรือร้านจำหน่ายสินค้า อาหาร เวชภัณฑ์ บนแคร์คุณให้มีรายได้เพิ่มขึ้นได้”

แอปพลิเคชันแคร์คุณ ยังมีส่วนสนับสนุนระบบการขนส่งสาธารณะภายในมหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการอย่างสูงสุด โดยได้ร่วมกันพัฒนาและทดสอบการเชื่อมระบบการดูตำแหน่ง GPS ของรถไฟฟ้าประจำทาง

นายรุ่งรัตน์ พระนาค ผู้อำนวยการกองอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยนเรศวร “ต้องขอขอบคุณทางบริษัทฯ ที่ได้นำแอปพลิเคชันแคร์คุณมาสนับสนุนการให้บริการของรถไฟฟ้าประจำทาง ทำให้นิสิต รวมทั้งบุคคลากรของมหาวิทยาลัยสามารถที่จะเห็นตำแหน่งรถได้บนจอมือถือ ซึ่งช่วยบริหารเวลาในการมารอใช้บริการที่จุดรับส่ง เวลาเข้าเรียนหรือกลับหอ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และจะนำข้อคิดเห็นต่างๆจากผู้ใช้งาน มาปรับปรุงพัฒนาการให้บริการร่วมกันกับแคร์คุณต่อไป”

นางสาวสิริกร ชูแก้ว ผู้อำนวยการกองการถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนเรศวร “โดยปกติแล้วทางมหาวิทยาลัยมีภารกิจในการนำองค์ความรู้เทคโนโลยีมาพัฒนาผู้ประกอบการซึ่งเป็นภาคเอกชน ในส่วนของแอปพลิเคชันแคร์คุณ นับได้ว่าเป็นความร่วมมือของภาคเอกชนและอาจารย์ที่ปรึกษา ในการถ่ายทอดผลงานเทคโนโลยีนวัตกรรมนั้นกลับเข้าสู่มหาวิทยาลัย เพื่อให้บุคคลากร นิสิต ได้ใช้ประโยชน์ เสมือนเป็นห้องแล็บในการแลกเปลี่ยนความรู้ร่วมกัน”

นายคมสัน เสริมดวงประทีป ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะ “ปัจจุบันเทคโนโลยีมีความก้าวหน้ามากขึ้น จำเป็นต้องปรับตัวเรียนรู้เพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่นเดียวกันกับแอปพลิเคชันแคร์คุณ ซึ่งผมได้มีโอกาสเข้าโครงการนำร่องและเห็นถึงโอกาสในการสร้างรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง ปกติก็จะมีลูกค้าประจำ แต่แอปพลิเคชันทำให้ได้เจอลูกค้ารายใหม่เพิ่มขึ้น รวมทั้งยังมีการบริการรับส่งอาหาร ซึ่งนอกจากจะช่วยสร้างรายได้เพิ่มขึ้นแล้ว ยังทำให้เป็นการสร้างงานให้อยู่ภายในจังหวัด ไม่จำเป้นต้องไปทำงานที่อื่น”

นายจรินทร์ อินทยศ ผู้ขับขี่จากชมรมรถยนต์บริการสนามบินพิษณุโลก “เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางมาน้อยลงมาก ทำให้ขาดรายได้ ซึ่งแอปพลิเคชันแคร์คุณได้ถูกพัฒนามาเพื่อที่จะมาช่วยเหลือผู้ประกอบการ ผู้ขับขี่ในพื้นที่ ผ่านการบริการต่างๆบนแพลตฟอร์ม ทำให้เพิ่มจำนวนผู้โดยสารในพื้นที่เรียกใช้บริการมากขึ้น ชดเชยจำนวนนักท่องเที่ยวหรือผู้ที่เดินทางข้ามจังหวัดได้เป็นอย่างดี ขอเชิญชวนเพื่อนๆผู้ขับขี่ หรือผู้สนใจที่ต้องการมีรายได้เสริมมาสมัครขับบนแอปพลิเคชันแคร์คุณ”

แอปพลิเคชันแคร์คุณ นอกจากมีบริการรถรับส่งหลากหลายประเภทแล้ว ยังมีการให้บริการปรึกษาสุขภาพออนไลน์จากทีมแพทย์ เภสัชกร พยาบาล นักกายภาพบำบัด อาทิ หมอรู้จักคุณของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร,Health Dome บริการ Telemedicine, ร้านขายยาเคเจฟาร์มาซี, กนกคลินิกกายภาพบำบัด, คุยเรื่องสมุนไพรกับ อ.มยุรี ตั้งเกียรติกำจาย, บ้านพักฟื้นผู้สูงอายุสายใยสัมพันธ์เนอสซิ่งโฮม และแพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์สายสุขภาพ Health Academy รวมทั้งร้านอาหาร บ้านฉัน 4 ภาค

ขอเชิญชวนผู้ประกอบการร้านค้าต่างๆ ผู้ขับขี่ สนใจเข้าร่วมเป็นผู้ให้บริการบนแพลตฟอร์มแคร์คุณได้สมัครฟรีค่าธรรมเนียม 3 เดือน ติดต่อได้ที่ website: www.carekoon.com, LINE: @carekoon หรือโทรศัพท์ติดต่อเบอร์โทรศัพท์ 092-269-6914 หรือ 081-834-7702

เกี่ยวกับนวัตกรรมเพื่อสังคมแอปพลิเคชันแคร์คุณ

แอปพลิเคชันแคร์คุณเป็นแอปพลิเคชันให้บริการยานพาหนะ (Ride-hailing service) ของคนไทยพัฒนาโดยบริษัทโซลาร์วัตต์111 จำกัด เป็นหนึ่งในโครงการที่ได้รับการสนับสนุนทุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ร่วมกับ หน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม ประจำพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง 1 มหาวิทยาลัยนเรศวร, กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยมีจุดประสงค์ให้ผู้ประกอบการนำนวัตกรรมไปพัฒนาออกแบบเพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19, สร้างรายได้กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน สร้างงาน สร้างรายได้ และพัฒนาสังคมสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการให้บริการกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ดูแลผู้สูงอายุ รวมทั้งประชาชนทั่วไป ซึ่งแอปพลิเคชันแคร์คุณจะทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มศูนย์รวมสินค้าและบริการสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ เพื่อรองรับสังคมสูงวัย แอปพลิเคชันแคร์คุณได้รับการสนับสนุนในการขับเคลื่อนภายใต้โครงการนำร่อง (เดือนตุลาคม-ธันวาคม 2563) จากหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐ มหาวิทยาลัย และ เอกชน ได้แก่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ, เทศบาลนครพิษณุโลก, ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมยานยนต์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 

ที่มา: carekoon.com

ม.นเรศวร ฝึกทบทวน อผศ.มน.

เมื่อเวลา 9.00 น. วันอังคารที่ 14 มิถุนายน 2565 นายรุ่งรัตน์ พระนาค ผู้อำนวยการกองอาคารสถานที่ นายธนเดช นุชรุ่งเรือง รอง หส.ผศ.พ.ล. ร่วมกันเป็นประธานเปิดการฝึกอบรมขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกที่ประจำหน่วยมหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อทบทวนความรู้ เพิ่มศักยภาพในการรักษาความปลอดภัย ณ ลานจอดรถ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ที่มา: กองอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยนเรศวร

สภานิสิต ม.นเรศวร ประกาศและแสดงจุดยืน “ไม่สนับสนุนกิจกรรม ระบบโซตัส”

สภานิสิตขอประกาศและแสดงจุดยืน “ไม่สนับสนุนกิจกรรม ระบบโซตัส” ยกเลิกกิจกรรมห้องเชียร์มติตั้งแต่ปีการศึกษา2564 เป็นต้นไป และไม่สนับสนุนกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับระบบโซตัส(SOTUS) ทั้งกิจกรรมที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนของมวลนิสิตในรูปแบบต่างๆ

อ้างตาม : มติจากการประชุมร่วมกันระหว่างสภานิสิต องค์การนิสิต และสโมสรนิสิตคณะ/วิทยาลัย และเสนอเข้าเพื่อทราบในที่ประชุมคณะกรรมการกิจการนิสิต ครั้งที่ 1/2564

โดยก่อนหน้านี้มีหน่วยงาน/องค์กรทางการศึกษาทยอยประกาศ ยกเลิกโซตัส รวมทั้งกิจกรรมที่เข้าข่ายการละเมิดสิทธิมนุษยชน อย่างต่อเนื่อง โดยก่อนหน้าที่มีองค์การบริหาร องค์การนิสิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน (อบ.ก.), องค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น, องค์การนิสิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส) ที่ประกาศออกมาแล้ว

และล่าสุด เมื่อวันที่ 12 มิถุนายนที่ผ่านมา สภานิสิต มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) เป็นหน่วยงานล่าสุดที่ออกมาระบุว่า สภานิสิตขอประกาศและแสดงจุดยืน ยกเลิกกิจกรรมห้องเชียร์ มติตั้งแต่ปีการศึกษา 2564 เป็นต้นไป และไม่สนับสนุนกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับระบบโซตัส (SOTUS) ทั้งกิจกรรมที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนของมวลนิสิตในรูปแบบต่างๆ

ที่มา: Matichon Online

การแต่งกายชุดนิสิตตามเพศสภาพคือการแสดงออกถึงเสรีภาพและความเสมอภาคขั้นพื้นฐาน

“การแต่งกายชุดนิสิตตามเพศสภาพคือการแสดงออกถึงเสรีภาพ
และความเสมอภาคขั้นพื้นฐานที่เราควรเคารพและเห็นคุณค่า
ของความหลากหลายที่สวยงาม ”

อาจารย์ต๊อก

ดร.จรัสดาว คงเมือง
รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานิสิต ศิษย์เก่าและศิลปวัฒนธรรม

ม.นเรศวร หนุนความหลากหลายทาง “ทางม้าลายสายรุ้ง”

วันที่ 9 มิถุนายน 2565 เดือนที่ถูกเลือกให้เป็นเดือนแห่งการเฉลิมฉลองเพื่อความเท่าเทียมของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งถูกเรียกกันว่า “Pride Month” ทำให้ทางมหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) ที่ จ.พิษณุโลก จัดกิจกรรมทาสีทางม้าลายสายรุ้ง (Rainbow Crossing) จะอยู่บริเวณหน้าอาคารขวัญเมือง ซึ่งเป็นหอพักนิสิต

รศ.ดร.ศรินทร์ทิพย์ แทนธานี รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวรรศ.ดร.ศรินทร์ทิพย์ แทนธานี รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร

รศ.ดร.ศรินทร์ทิพย์ แทนธานี รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร เผยว่า ปัจจุบันนี้โลกยอมรับความแตกต่างและให้ความเท่าเทียม ไม่ว่าเราจะเป็นคนในกลุ่มไหน ถ้ามาอยู่ใน มน. เราเท่าเทียมกันทุกอย่างไม่ว่า คณาจารย์ หรือนิสิต จะเป็นคนในกลุ่มไหนก็ตาม จะไม่ได้มีความแตกต่างกันแต่อย่างใดในรั้วของมหาวิทยาลัยนเรศวร

ทางม้าลายสายรุ้ง มหาวิทยาลัยนเรศวรทางม้าลายสายรุ้ง มหาวิทยาลัยนเรศวร

สำหรับมุมมองที่มีต่อ LGBTQ ไม่ได้คิดว่ามันต่าง ทุกคนเหมือนกัน ไม่ได้เห็นว่าเป็นเรื่องผิดปกติ หรือเป็นเรื่องแตกต่าง หรือถูกกีดกัน จะให้ความเคารพในสิทธิของทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน มหาวิทยาลัยนเรศวรเรายอมรับความแตกต่างของคนในทุกเพศ ยอมรับความต้องการของบุคคลทุกคน ถือว่าเท่าเทียมกันหมด

ในส่วนของการทำทางม้าลายสายรุ้งนี้จะเป็นเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า มน. มีจุดยืนชัดเจนในเรื่องของการยอมรับความเท่าเทียม โดยหลังจากนี้จะจัดกิจกรรมเปิดโอกาสให้นิสิต LGBTQ ได้มีเวทีในการแสดงออกต่อไปในช่วงเปิดเทอม การสร้างความเป็นพลโลก หรือ Global Citizenship ถือเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางในระดับนานาชาติ

ทางม้าลายสายรุ้ง กิจกรรม Pride Month สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศทางม้าลายสายรุ้ง กิจกรรม Pride Month สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ

เพราะปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในโลกเรานี้มีความเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน และส่งผลต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์ ในฐานะรองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานิสิต ศิษย์เก่า และศิลปวัฒนธรรม ก็พยายามผลักดันผ่านกระบวนการต่าง ๆ ที่เป็นกิจกรรมเสริมหลักสูตร ซึ่งเราให้ความสำคัญเกี่ยวกับเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDG)

โดยพยายามผลักดันหรือสอดแทรกเข้าไปกับการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ให้การเคารพและเห็นคุณค่าของความหลากหลายและความแตกต่าง ซึ่งความหลากหลายนี้เรามองในหลาย ๆ มิติ ความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) ก็เป็นหนึ่งในมิติที่ทางมหาวิทยาลัยให้ความสำคัญ

ทางม้าลายสายรุ้ง มน. หน้าหอพักนิสิตอาคารขวัญเมือง

ที่มา: springnews

ม.นเรศวร “เตรียมความพร้อมด้านการรักษาความปลอดภัยและการจราจรต้อนรับเปิดเทอม”

วันพุธที่ 8 มิถุนายน 2565 เวลา 9.00 น. นายรุ่งรัตน์ พระนาค ผู้อำนวยการกองอาคารสถานที่พร้อมบุคลากรกองอาคารสถานที่ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์และหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมรับทราบแนวทางการปฏิบัติงานและเตรียมความพร้อมด้านการรักษาความปลอดภัยและการจราจรต้อนรับเปิดเทอม เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย ณ ห้องประชุม 2 กองอาคารสถานที่

ที่มา: กองอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยนเรศวร

“เวทีผู้บริหารพบประชาคมมหาวิทยาลัยนเรศวร”

วันจันทร์ที่ 6 มิถุนายน 2565 เวลา 13.00 น. มหาวิทยาลัยนเรศวรจัดกิจกรรม “เวทีผู้บริหารพบประชาคมมหาวิทยาลัยนเรศวร” เพื่อรับทราบนโยบาย วิสัยทัศน์และทิศทางของมหาวิทยาลัยในอนาคต โดยรองศาสตราจารย์ ดร.ศรินทร์ทิพย์ แทนธานี รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย ณ ห้องประชุมมหาราช อาคารอุทยานองค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ชั้น 2 มหาวิทยาลัยนเรศวร

ที่มา: กองอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยนเรศวร

มหาวิทยาลัยนเรศวร ต้อนรับอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์และคณะเข้าศึกษาดูงานและจัดทำกรอบความร่วมมือด้าน Smart Village

รศ.ดร.ศรินทร์ทิพย์ แทนธานี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร ให้เกียรติร่วมต้อนรับ รศ.ดร.สุภาวิณี สัตยาภรณ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์และคณะเข้าศึกษาดูงานและจัดทำกรอบความร่วมมือด้าน Smart Village ณ วิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนเรศวร เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2565 โดยมีผู้อำนวยการ ผู้บริหาร อาจารย์ และเจ้าหน้าที่ของ SGtech ร่วมให้การต้อนรับ

ที่มา: วิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนเรศวร

บำรุงรักษาหม้อแปลงไฟฟ้าเพื่อความยั่งยืน

วันจันทร์ที่ 30 พฤษภาคม 2565 เวลา 17.00 น. นายรุ่งรัตน์ พระนาค ผู้อำนวยการกองอาคารสถานที่ได้มอบหมายให้ นายกฤษดา เกิดโภคา หัวหน้างานสาธารณูปโภคและซ่อมบำรุงพร้อมด้วยบุคลากร เริ่มดำเนินการบำรุงรักษาหม้อแปลงไฟฟ้าตามจุดต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อให้อุปกรณ์ต่างๆอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ ยั่งยืน ยืดอายุการใช้งานและขออภัยในความไม่สะดวกมา ณ ที่นี้

ที่มา: กองอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ขอเชิญเข้าร่วมการประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อ(ร่าง) ข้อเสนอแนะบทบาทและแนวทางการดำเนินงานของไทยในบริบทความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคอาเซียน

ขอเชิญผู้ที่สนใจเข้าร่วมการประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อ(ร่าง) ข้อเสนอแนะบทบาทและแนวทางการดำเนินงานของไทยในบริบทความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคอาเซียน ในวันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม 2565 เวลา 09.00-12.00 น. ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 11 โรงแรมอีสติน แกรนด์ สาทร

ผู้สนใจเข้าร่วมงานสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมได้ทางคิวอาร์โค้ดด้านล่างโปสเตอร์ หรือผ่านทาง https://bit.ly/3rIQODX

ที่มา: วิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนเรศวร

Sustainability

NARESUAN UNIVERSITY

Solverwp- WordPress Theme and Plugin