Archives 2022

นักวิจัย ม.นเรศวร “รับรางวัลผลงานวิจัย ปี 65” วิจัยมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง ได้มาตรฐานส่งออก

เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา ผศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร เจ้าของผลงาน “ศึกษาวิจัยมะม่วงให้ได้คุณภาพมาตรฐานส่งออก” เข้ารับรางวัลผลงานวิจัย ระดับดี ในงานวันนักประดิษฐ์ 2564-2565 จากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (นายดอน ปรมัตถ์วินัย) เผยสามารถยืดอายุการเก็บรักษามะม่วงน้ำดอกไม้สีทองได้นาน 33 วัน จากเดิม 15 วัน โดยการจัดการแบบครบวงจรจากต้นทาง สร้างความมั่นคงแก่เกษตรกร และเพิ่มโอกาสการเติบโตในตลาดโลก เตรียมส่งออกจริง ขนส่งทางเรือเดือนมีนาคม 2565

ผศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท เปิดเผยว่า จากสถานการณ์โควิด – 19 ได้ส่งผลกระทบโดยตรงเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง เนื่องจากมีผลผลิตเกินความต้องการบริโภคภายในประเทศ และไม่สามารถส่งออกไปต่างประเทศได้ ที่ผ่านมา ไทยเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงในการส่งออกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง ผลไม้หลักที่สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยในปัจจุบัน ส่งออกไปต่างประเทศมากกว่าร้อยละ 60 อาทิ ประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน และ มาเลเซีย รวมทั้ง รัสเซีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ดังนั้น การวิจัยและพัฒนามะม่วงให้ได้มาตรฐานส่งออก มีอายุการเก็บรักษาได้นานขึ้น สามารถขนส่งทางเรือได้ เป็นการบรรเทาปัญหาอย่างสอดรับกับสถานการณ์ และยังช่วยสร้างความมั่นคงให้แก่การทำเกษตรกรรม และเพิ่มโอกาสการส่งออกผลไม้ของไทยไปต่างประเทศ

ทีมวิจัย ได้ศึกษาปัจจัยที่เหมาะสมต่อการฉายรังสีของมะม่วง จนค้นพบว่า การคัดเลือกความสมบูรณ์ของผลมะม่วงภายหลังการเก็บเกี่ยว ในระยะการสุกแก่ที่ 80% โดยใช้เทคนิค NIR (Near Infrared Spectroscopy) อย่างแม่นยำ ก่อนนำมาฉายรังสีชนิดก่อไอออน จะช่วยให้ผลผลิตมีความสมบูรณ์ผล และความแน่นของเนื้อที่ทนทานต่อการบอบช้ำ จึงเหมาะสมต่อการส่งออกไปต่างประเทศ รวมถึงการใช้สารละลายอะซอกซีสโตรบิน ร่วมกับการจุ่มน้ำร้อน เพื่อควบคุมการเกิดโรคหลังการเก็บเกี่ยว และการจุ่มน้ำเย็นเพื่อลดอุณหภูมิภายในผลผลิต ก่อนการคัดบรรจุและนำไปฉายรังสีชนิดก่อไอออน ทำให้ทราบว่า การฉายรังสีแกมมาและรังสีเอกซ์ที่ปริมาณ 400 Gy ที่ระยะสุกแก่ 80% มีความเหมาะสมต่อการฉายรังสีเพื่อการส่งออกมากที่สุด สะท้อนให้เห็นว่า เพื่อให้ได้ผลผลิตมะม่วงที่ได้มาตรฐานจะต้องดำเนินการแบบครบวงจรจากต้นทาง

จากนั้นจึงได้พัฒนาเทคนิคการยืดอายุมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองด้วยตู้คอนเทนเนอร์ควบคุมสภาพบรรยากาศ (Controlled Atmosphere Storage) ควบคุมปริมาณออกซิเจน และคาร์บอนไดออกไซด์ตลอดระยะเวลาการเก็บรักษา สามารถเก็บรักษาคุณภาพผลผลิตในระหว่างการขนส่งได้ 15 วัน และมีอายุการเก็บรักษาเป็นเวลา 6 วัน ด้วยตู้คอนเทนเนอร์ควบคุมสภาพบรรยากาศ ที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส และการเก็บรักษามะม่วงน้ำดอกไม้สีทองในสภาพดัดแปลงบรรยากาศ MAP (Modified atmosphere packaging) โดยการบรรจุถุงพลาสติก WEB (White ethylene absorbing bag) และเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 13 องศาเซลเซียส ทำให้สามารถยืดอายุการเก็บรักษามะม่วงน้ำดอกไม้สีทองได้เป็นระยะเวลา 33 วัน เพิ่มขึ้นจากเดิม 15 วัน การขนส่งมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองผลสดด้วยตู้คอนเทนเนอร์ควบคุมสภาพบรรยากาศ สามารถขนส่งทางเรือได้ที่มีต้นทุนต่ำได้ ผลผลิตจึงมีคุณภาพดีเมื่อไปถึงประเทศปลายทาง มีขั้นตอนที่สะดวกและเหมาะสมกับสภาพปัญหาแรงงานที่หายาก และมีราคาแพงในประเทศปลายทาง

ล่าสุด ผลผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง จะถูกขนส่งทางเรือ เป็นครั้งแรกจากประเทศไทย ในช่วงเดือนมีนาคม 2565 ซึ่งเป็นช่วงต้นฤดูกาลมะม่วง ที่คาดว่าราคาผลผลิตอาจตกต่ำ ดังนั้นจึงเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร ในช่วงฤดูกาลผลิตระหว่างเดือนเมษายน-พฤษภาคม ได้เป็นอย่างดี จากผลงานดังกล่าว จึงนำมาสู่การได้รับรางวัลผลงานวิจัย ระดับดี ประจำปี 2565 สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา จากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (นายดอน ปรมัตถ์วินัย) เมื่อวันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา ในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2564-2565 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ

ที่มา: mgronline

คณะแพทยศาสตร์ มน. รับการตรวจประเมินมาตรฐานอาหาร (Clean Food Good Taste) ตามมาตรฐานอาหารของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2565  เวลา 09.00 น. ตัวแทนจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลกเข้าตรวจประเมินร้านค้า  โรงอาหารภายในคณะแพทยศาสตร์ และ งานโภชนาการ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร  ให้เกิดความปลอดภัยจากโรคติดต่อที่มีอาหารและน้ำเป็นสื่อ  พร้อมทั้งให้ความรู้ คำแนะนำ แก่ผู้ประกอบการ และเจ้าหน้าที่  เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจเรื่องมาตรฐานอาหาร (Clean Food Good Taste) ตามมาตรฐานอาหารของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และเป็นการยกระดับมาตรฐานโรงอาหารคณะแพทยศาสตร์ และงานโภชนาการ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร และให้ผู้ประกอบการเกิดการตระหนัก การพัฒนา ปรับปรุง และสามารถประยุกต์ใช้ความรู้สู่การให้บริการที่ได้รับมาตรฐานที่กำหนดไว้ สร้างความประทับใจให้กับลูกค้าและผู้รับบริการ

ที่มา: คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

25 สถาบันการศึกษา เปิดให้นักศึกษาลงทะเบียนเรียนรายวิชา ‘ข้ามสถาบัน’ ได้

วันที่ 13 มกราคม 2565 ที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ การลงทะเบียนเรียนข้ามสถาบันระหว่างสถาบันสมาชิกของที่ประชุมคณะผู้บริหารบัณฑิตศึกษามหาวิทยาลัยของรัฐและมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ (ทคบร.) โดยมีอธิการบดีมหาวิทยาลัยของรัฐและมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ 25 สถาบันเข้าร่วม มี ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัด อว. เป็นประธาน และ ศ.ดร.พญ.พัชรีย์ เลิศฤทธิ์ ประธาน ทคบร. และคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นพยานลงนาม 

ทั้งนี้ ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์เปิดเผยว่า อว. มีภารกิจหลักสำคัญ 3 ด้าน คือ การสร้างคน สร้างองค์ความรู้ และสร้างนวัตกรรม ภายในระยะเวลา 2 ปีเศษหลังการจัดตั้งกระทรวง อว. ได้พัฒนากลไกใหม่ๆ เพื่อปลดล็อกปัญหาและอุปสรรคที่เคยเป็นมาของมหาวิทยาลัยให้ได้มากที่สุด อาทิ การจัดกลุ่มมหาวิทยาลัยเพื่อความเป็นเลิศของแต่ละแห่ง การปลดล็อกระยะเวลาสูงสุดในการศึกษาเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต การพัฒนาเส้นทางความก้าวหน้าของอาจารย์ โดยเพิ่ม 5 ช่องทางในการเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการ เป็นต้น 

ทั้งนี้ ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์กล่าวต่อไปว่า การลงนามในครั้งนี้ถือเป็นประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของระบบการอุดมศึกษาไทย ที่เกิดขึ้นโดยความเห็นชอบของอธิการบดีทั้ง 25 สถาบัน เรื่องนี้เป็นเรื่องยากอย่างมาก แต่วันนี้เราสามารถทำให้เกิดขึ้นจริงได้ ถือเป็นการนำนโยบายของ อว. ในด้านระบบคลังหน่วยกิตและการใช้ทรัพยากรร่วมกันมาสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อนักศึกษาที่ควรได้รับสิ่งที่ดีที่สุด ให้พวกเขามีโอกาสเสาะแสวงหาความรู้ตามรายวิชาที่ตนสนใจ และได้รับประสบการณ์ที่หลากหลายจากมหาวิทยาลัยที่ต่างก็มีของดีและความเป็นเลิศที่แตกต่างกัน ขณะที่มหาวิทยาลัยยังได้รับประโยชน์จากการบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลและองค์ความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัย เป็นการสนธิกำลังกันให้เกิดการใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาประเทศในก้าวต่อไป 

ด้าน ศ.ดร.พญ.พัชรีย์กล่าวว่า บันทึกความเข้าใจ 25 สถาบันการศึกษา มีเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะส่งเสริมให้เกิดความเชื่อมโยงการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา ด้วยการเปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษาสามารถลงทะเบียนเรียนรายวิชาข้ามสถาบัน และสามารถใช้หน่วยกิตของรายวิชาดังกล่าวให้เป็นส่วนหนึ่งของหน่วยกิตในหลักสูตรที่นักศึกษากำลังศึกษาได้ รวมทั้งสามารถนำไปอยู่ในระบบคลังหน่วยกิตสะสมได้ตามข้อกำหนดของแต่ละสถาบัน เพื่อเป็นการส่งเสริมประสบการณ์ทางวิชาการสังคมแก่นิสิต นักศึกษา 

สำหรับสถาบันการศึกษา 25 แห่งที่สามารถลงทะเบียนเรียนข้ามสถาบันได้ ประกอบด้วย 

  • มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 
  • มหาวิทยาลัยขอนแก่น 
  • จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 
  • มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 
  • มหาวิทยาลัยทักษิณ 
  • สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง 
  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 
  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ 
  • มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 
  • มหาวิทยาลัยนเรศวร 
  • มหาวิทยาลัยบูรพา 
  • มหาวิทยาลัยพะเยา 
  • มหาวิทยาลัยมหิดล 
  • มหาวิทยาลัยมหาสารคาม 
  • มหาวิทยาลัยแม่โจ้ 
  • มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง 
  • มหาวิทยาลัยรามคำแหง 
  • มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 
  • มหาวิทยาลัยศิลปากร 
  • มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 
  • มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 
  • มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช 
  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี 
  • สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ 
  • มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 

โดยนิสิต นักศึกษา และผู้สนใจทั่วไปสามารถศึกษารายละเอียดการลงทะเบียนข้ามสถาบัน และรายวิชาที่เปิดรับลงทะเบียนได้ที่ https://graduate.mahidol.ac.th/cgau/courses.php 

ที่มา: THE STANDARD

วช. จับมือ ม.นเรศวร พัฒนา “น้ำเสาวรสเสริมพรีไบโอติก” เพื่อผู้บริโภคยุคใหม่ ต่อยอด SMEs เขาค้อ

วช. หนุนนักวิจัย มหาวิทยาลัยนเรศวร พัฒนา “น้ำเสาวรสเสริมพรีไบโอติก” เพื่อสุขภาพ ต่อยอดเชิงพาณิชย์ เสริมศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs เขาค้อ เพชรบูรณ์ 

วันที่ 10 มกราคม 2565 : สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำโดย ดร.จันทรวิภา ธนะโสภณ ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักประสานงานชุดโครงการการพัฒนาผลิตภัณฑ์ Innovative House ลงพื้นที่ อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ เยี่ยมชมผลงานวิจัยของ มหาวิทยาลัยนเรศวรภายใต้โครงการการสนับสนุนการวิจัยเพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง (ระยะที่ ๓)

โดย วช. , สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) รวมทั้งผู้ประกอบการ SMEs บริษัท อุตสาหกรรมการเกษตรเขาค้อ จำกัด ร่วมสนับสนุนทุนวิจัย เพื่อพัฒนาองค์ความรู้จากงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ในระดับอุตสาหกรรม เกิดเป็นผลิตภัณฑ์น้ำเสาวรสเสริมพรีไบโอติกสำหรับผู้บริโภคยุคใหม่ ที่ตื่นตัวใส่ใจสุขภาพ ซึ่งมีคุณประโยชน์ และรสชาติที่ดีกว่าผลิตภัณฑ์เดิม ๆ ในท้องตลาด

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีพันธกิจสำคัญในการให้ทุนวิจัยและนวัตกรรมหลักของประเทศ และมีเป้าหมายในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดย“งานวิจัยและนวัตกรรม”จะเป็นตัวขับเคลื่อนให้ผลิตภัณฑ์จากผู้ประกอบการให้เกิดประโยชน์สูงสุด

วช.ได้ร่วมกับ สวทช. , สกสว. และ SMEs ในพื้นที่ ภายใต้โครงการการสนับสนุนการวิจัยเพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง นับเป็นโอกาสอันดีที่จะได้นำเอาผลสำเร็จของงานวิจัยและนวัตกรรม ที่วช.มีอยู่ ไปส่งเสริม เพิ่มความรู้ความสามารถให้กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะเรื่องการต่อยอดผลิตภัณฑ์จากผลิตผลทางการเกษตร ให้ปลอดภัยต่อการบริโภค ได้คุณภาพและมาตรฐานยิ่งขึ้น อันส่งผลต่อการสร้างงานและรายได้ให้กับคนในชุมชนต่อไป 

ด้าน ดร.จันทรวิภา ธนะโสภณ ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักประสานงานชุดโครงการการพัฒนาผลิตภัณฑ์ Innovative House วช. กล่าวว่า วช.รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่งานวิจัยภายใต้ความร่วมมือของ 3 หน่วยงานภาคประชาคมวิจัย และมหาวิทยาลัยนเรศวร สามารถส่งเสริมให้อุตสาหกรรมการเกษตรในพื้นที่เขาค้อได้รับการยกระดับด้วยวิจัยและนวัตกรรม อันส่งผลพวงที่ดีต่อเกษตรกรและประชาชนผู้บริโภค การลงพื้นที่ในครั้งนี้ จึงนับเป็นโอกาสอันดีที่จะได้เผยแพร่ผลงานดังกล่าวสู่สาธารณชนในวงกว้าง

ผศ.ดร.นรภัทร หวันเหล็ม อาจารย์ประจำคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร หัวหน้าโครงการ “การผลิตน้ำเสาวรสเสริมพรีไบโอติกบรรจุกระป๋อง” เปิดเผยว่า นักวิจัย และบริษัท อุตสาหกรรมการเกษตรเขาค้อ จำกัด ได้ร่วมกันพัฒนาสูตรและกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์น้ำเสาวรสเสริมพรีไบโอติกบรรจุกระป๋องให้มีคุณค่าทางสุขภาพมากกว่าเดิม ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ที่รักสุขภาพ โดยเสริมพรีไบโอติก คือ ฟรุกโตโอลิโกแซ็กคาไรด์ และอินูลิน ที่ร่างกายไม่สามารถย่อยได้เองเข้าไปเสริมกับโพรไบโอติกในลำไส้ ให้ช่วยปรับสมดุลระบบทางเดินอาหารให้ดีขึ้น ป้องกันจุลินทรีย์ที่ก่อโรคในลำไส้ อาทิ มะเร็งลำไส้ อีกทั้งน้ำตาลในน้ำเสาวรส สามารถช่วยเรื่องการดูดซึมน้ำตาลของผู้ป่วยเบาหวานได้ด้วย เหมาะสมกับผู้บริโภคทุกเพศทุกวัย ซึ่งขณะนี้ อยู่ในช่วงตรวจสอบ Commercial Product คาดว่าจะพร้อมออกจำหน่ายในเร็ว ๆ นี้

นอกจากนี้ นักวิจัยยังได้พัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพชนิดอื่น ๆ รวมกับ บจก.อุตสาหกรรมการเกษตรเขาค้อ โดยรับเอาผลิตผลทางการเกษตรของ อ.เขาค้อ มาแปรรูปให้มีคุณค่าทางอาหารมากยิ่งขึ้น อาทิ ไอศกรีมมัลเบอร์รี่ไขมันต่ำเสริมโพรไบโอติก ไอศกรีมแป้งข้าวหมากเสริมซินไบโอติกจากข้าวเหนียวลืมผัว ไอศกรีมเสาวรสไขมันต่ำเสริมซินไบโอติก ซึ่งเป็นการใช้ต่อยอดสิ่งที่มีอยู่ ให้เกิดประโยชน์สูงขึ้น

ที่มา: เทคโนโลยีเกษตร

ถ่ายทอดความรู้การขยายพันธุ์ “ปลิงกาหมาด” เพื่อการอนุรักษ์

นิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวร หลักสูตรวิทยาศาสตร์การประมง ถ่ายทอดความรู้ “การขยายพันธุ์กาหมาดเพื่อการอนุรักษ์” จากประสบการณ์ฝึกงาน ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลสตูล จังหวัดสตูล เผยแพร่ในรูปแบบสื่อทางช่องทาง YouTube

โดยหลักสูตรวิทยาศาสตร์การประมง เน้นในการผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ทั้งสัตว์น้ำจืด สัตว์น้ำเค็ม สัตว์น้ำเศรษฐกิจต่างๆ รวมถึงการส่งเสริมให้นิสิตได้ทำการวิจัยเพื่อเป็นการสร้างเสริมประสบการณ์เกิด องค์ความรู้ใหม่ๆ และสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ได้รับ เผยแพร่ให้เกษตรกรและผู้ประกอบอาชีพด้านการประมงนำไปใช้ประโยชน์ต่อไปได้ เป็นการต่อยอดจากการศึกษา ด้วยการบูรณาการณ์จากการฝึกงานกับหน่วยงานของภาครัฐและเอกชน เพื่อให้นิสิตได้ประสบการณ์ จากภายนอก และเป็นแนวทางการประกอบอาชีพให้นิสิตตามที่ตนถนัด หรือสนใจได้ในอนาคต


ที่มา: วิทยาศาสตร์การประมง มหาวิทยาลัยนเรศวร

Sustainability

NARESUAN UNIVERSITY

Solverwp- WordPress Theme and Plugin