วันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 ณ ห้องประชุมมหามนตรี ชั้น 1 ศูนย์แสดงนิทรรศการและการจัดประชุมสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (KNECC) มหาวิทยาลัยนเรศวร และรูปแบบ Online ผ่านโปรแกรม Zoom
อุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมทางการเกษตรสำหรับบัณฑิตผู้ประกอบการ ภายใต้การดำเนินงานของอุทยานวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเกษตรและอาหาร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้จัดกิจกรรม “Open Innovation Road Show ภูมิภาคเหนือ ครั้งที่ 3 “
โดยได้รับเกียรติจาก ดร.พิสุทธิ์ อภิชยกุล รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และการถ่ายทอดเทคโนโลยี และรักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นประธานกล่าวเปิดกิจกรรมดังกล่าว
กิจกรรมภายในงานได้บรรยายในหัวข้อ แนวทางการส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคเหนือ รูปแบบการดำเนินงานของ สนช. ในปีงบประมาณ 2566 กลไกการสนับสนุนของ สนช. และการแนะนำการเข้าระบบ MIS สำหรับสมัครสมาชิกและยื่นโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุน/ การเตรียมข้อมูลสำหรับ Pitching Conceptual Project เพื่อเป็นแนวทางให้กับผู้ประกอบการที่สนใจยื่นขอรับทุนสนับสนุน
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมตลอดห่วงโซ่มูลค่าอย่างยั่งยืนของกลุ่มธุรกิจนวัตกรรม (Smart SMEs) และวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ให้แก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจฐานนวัตกรรม (Innovation-based Enterprise; IBE)
ที่มา: อุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร
เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2565 อุทยานวิทยาศาตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้จัดการแข่งขันการนำเสนอผลงานโครงการเส้นทางสู่นวัตวณิชย์ ครั้งที่ 10 ระดับภูมิภาค (Research to Market : R2M2022) ณ โรงละคร อาคารเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา บรมราชินีนาถ มหาวิทยาลัยนเรศวร
โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรม 9 มหาวิทยาลัยในเขตพื้นที่ภาคเหนือ ทั้งหมด 23 ผลงาน
ซึ่งได้รับเกียรติในการกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมแข่งขันและนำเสนอผลงานโครงการเส้นทางสู่นวัตวณิชย์ (R2M 2022) ครั้งที่ 10
โดย ดร.พิสุทธิ์ อภิชยกุล รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และการถ่ายทอดเทคโนโลยี และรักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวเปิดแข่งขันและนำเสนอผลงาน โดย ดร.ทินกร รสรื่น หัวหน้าโครงการเส้นทางสู่นวัตวณิชย์ (R2M)
โดยมีคณะกรรมการตัดสินผลงานในครั้งนี้จำนวน 5 ท่าน ดังนี้
1. ดร.ทินกร รสรื่น หัวหน้าโครงการเส้นทางสู่นวัตวณิชย์ (R2M)
2. นายตรีชิต เมธารัตนโชติ CEO & Co-founder Veget Deli
3. นายพัชกร ไทยนิยม ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายส่งเสริมความรู้และความร่วมมือด้าน นวัตกรรมภายนอกองค์กร ศูนย์นวัตกรรม กลุ่ม ซีพี ออลล์
4. นางสาวคณิศรา กาญจนวงค์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน
5. นางสาวธันยธร จรรยาวรลักษณ์ ผู้จัดการสมาคมไทยผู้ประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุน
ตัวเเทนทีมนิสิตจากมหาวิทยาลัยนเรศวรมีสมาชิกดังนี้
1. ทีม 5EVER ชื่อผลงาน : ลูกชิ้นไข่ขาว ทีมนิสิตจากคณะเกษตรศาสตร์ฯ สมาชิก นางสาวนฤมล โตสุข นางสาวภูชินากร ปะระวันนา นางสาวเนตรนภา สุ่มประดิษฐ นางสาวสุธีรา อําไพวงษ์ นางสาวปรียาภัทร แก้วมูล
2. ทีม ไปด้วยกันไปได้ไกล ชื่อผลงาน : ผลิตภัณฑ์กันแดดสำหรับนักกีฬา สมาชิก นางสาวพิชญ์สินี ฤกษนันทน์ นิสิตจากคณะเภสัชศาสตร์ นางสาวสนัฐญา เมืองแดง นิสิตจากคณะเภสัชศาสตร์ นางสาวสุทธิวรรักษ์ แก้วชมภู นิสิตจากคณะเภสัชศาสตร์ นางสาวบุญญาภา นาคน้อย นิสิตจากคณะบริหารธุรกิจฯ
3. ทีม Perfecttwin DT ชื่อผลงาน : PaperMFresh Underarms Pads ผลิตภัณฑ์แผ่นระงับกลิ่นกายใต้วงแขน ทีมนิสิตจากคณะเภสัชศาสตร์ สมาชิก นางสาวอัชฉรีย์ ผกากรอง นางสาวพัชราภรณ์ อ่ําพรม นางสาวรุ่งรวีวรรณ์ ด้วงเฟื่อง
ขอแสดงความยินดี กับ ทีมไปด้วยกันไปได้ไกล ชื่อผลงาน : ผลิตภัณฑ์กันแดดสำหรับนักกีฬา ได้รับรางวัลชมเชย จำนวนเงิน 5,000 บาท และเป็นตัวแทนระดับภูมิภาค จาก 23 ทีม เข้าร่วมการแข่งขันต่อในระดับประเทศ ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จังหวัดสงขลา ในวันที่ 18-19 กุมภาพันธ์ 2566
ที่มา: อุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร
นางสาว ชนัณภัสร์ วานิกานุกูล ผู้อำนวยการส่วน รักษาการแทน ผู้อำนวยการสำนักกองทุนวิจัยและพัฒนา เปิดเผยว่า ทิศทางการดำเนินงานและสนับสนุนการพัฒนาวิจัยของ กทปส. ในปีนี้ยังคงเดินหน้าตามแผนปฏิบัติการกองทุนระยะ ๔ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๓-๒๕๖๖) มุ่งมั่นดำเนินการเพื่อประโยชน์สาธารณะ เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมอย่างทั่วถึงครอบคลุม มุ่งส่งเสริม ผลงาน “นวัตกรรม/งานวิจัย” การพัฒนาบุคลากร การคุ้มครองผู้บริโภค และมุ่งสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ผ่านกลไกการจัดสรรเงินกองทุน โดยที่ผ่านมา กทปส. ได้ดำเนินการจัดสรรเงินกองทุน ในรูปแบบต่างๆ ดังนี้
ทุนประเภทที่ 1 ทุนเปิดกว้าง (Open Grant) ที่เปิดโอกาสให้ผู้สนใจดำเนินโครงการตามวัตถุประสงค์ของกองทุน สามารถยื่นขอรับการส่งเสริมและสนับสนุน โดยจะมีการเปิดให้ทุนอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยปกติจะเปิดรับคำขอเป็นเวลา 3 เดือน ในช่วงเดือน มค.-มีค. ของทุกปี
ทุนประเภทที่ 2 เป็นทุนที่คณะกรรมการบริหารกองทุนประกาศกำหนด คาดว่าในต้นปี 2566 มีแผนที่จะประกาศขอบเขตของงาน (Terms of reference : TOR) ให้ผู้สนใจได้ยื่นข้อเสนอโครงการประมาณกว่า 30 โครงการ และมีแนวโน้มขยายกรอบวงเงินสำหรับทุนต่อเนื่องเพื่อต่อยอดงานวิจัยที่มีแนวโน้มจะพัฒนาได้ในเชิงพาณิชย์
ทุนประเภทที่ 3 เป็นทุนตามนโยบายของ กสทช. กำหนดที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกองทุน เช่น การจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (Universal Service Obligation หรือ USO)
ทุนประเภทที่ 4 ทุนสนับสนุนการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
สำหรับ BTFP SHOWCASE BY NBTC ที่จัดขึ้นในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2565 เป็นการจัดแสดงผลงานที่ได้รับทุน จาก กทปส. สู่สาธารณะ และเผยแพร่ผลงานรวมถึงการทำงานของ กทปส. ให้แก่ประชาชน โดยภายในงานได้คัดเลือกผลงานส่วนหนึ่งที่ได้รับการสนับสนุนทุนจาก กทปส. มาจัดแสดงในงานกว่า 17 โครงการ
ผลงานตัวอย่างโครงการที่พร้อมต่อยอดโครงการเพื่อขยายผลโครงการ ทั้งเชิงพาณิชย์ และเชิงประโยชน์สาธารณะ จำนวน 7 โครงการ ได้แก่
1. โครงการศูนย์บริการถ่ายทอดการสื่อสารแห่งประเทศไทย (TTRS) หน่วยงาน : มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการและสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
2. โครงการพัฒนาโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ในการวินิจฉัยภาพทางรังสี หน่วยงาน : ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
3. โครงการพัฒนาและขยายผลระบบรับแจ้งและบริหารจัดการปัญหาเมืองด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศสู่ระดับการปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงาน : ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC)
4. โครงการโปรแกรมประยุกต์เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลและค้นหาตำแหน่งของวัตถุในอวกาศ หน่วยงาน : ศูนย์ปฏิบัติการทางอวกาศกองทัพอากาศ กองทัพอากาศ
5. โครงการระบบสอดส่องคุณภาพพื้นผิวจราจรโดย Machine Learning ด้วยข้อมูลจาก Sensor ในยานพาหนะผ่านโครงข่าย IoT หน่วยงาน : มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
6. โครงการศึกษาแนวทางการใช้คลื่นความถี่สำหรับระบบสื่อสารรวมทั้งการสร้างแบบจำลองและระบุตำแหน่งในถ้ำ หน่วยงาน : มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
7. โครงการพัฒนาองค์ความรู้สื่อมวลชนด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ หน่วยงาน : มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย
ผลงาน 10 โครงการคัดสรร จาก กทปส. สร้างผลลัพธ์ที่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อภาคเศรษฐกิจ สังคม และประชาชนในวงกว้าง ได้แก่
1. โครงการจัดทำแนวทางพัฒนาระบบต้นแบบเพื่อสนับสนุนงานป้องกันและปราบปรามมิจฉาชีพออนไลน์ที่ไม่สามารถระบุตัวตน หน่วยงาน : มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร
2. โครงการแอปพลิเคชันเพื่อสร้างเกษตรฟาร์มใหญ่บริหารจัดการข้อมูลผลิตผลและการตลาดสำหรับเครือข่ายเกษตรกรหน่วยงาน : มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
3. โครงการ Stop Fake, Spread Facts หน่วยงาน : สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์
4. โครงการส่งเสริมความเข้มแข็งของเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ หน่วยงาน :สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารสาสตร์ (NIDA)
5. โครงการการวิจัยและพัฒนาระบบเรดาร์เพื่อการตรวจจับโดรนเพื่อป้องกันการบินโดรนที่ไม่ได้รับอนุญาต หน่วยงาน : มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
6. โครงการพัฒนาสื่อการเรียนการสอนการเลี้ยงดู เด็กเชิงบวกออนไลน์สำหรับผู้ปกครองเพื่อพัฒนาเด็กไทยให้ต็มศักยภาพและป้องกันผลของสื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านจอต่อเด็กและวัยรุ่น หน่วยงาน : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
7. โครงการเปาเปาผจญภัยในโลกนิทาน หน่วยงาน : บริษัท เอลิควอร์ กรุ๊ป จำกัด
8. โครงการพัฒนาองค์ความรู้เสริมสร้างทักษะการเล่าเรื่อง และกลยุทธ์เนื้อหาข้ามสื่อ (Transmedia Storytelling and Content Strategy Workshop and Knowledge Lab) หน่วยงาน : สถาบันจัดการปัญญาภิวัฒน์
9. โครงการบริการการแพทย์โดยใช้ระบบแพทย์ทางไกล (Telemedicine) และเทคโนโลยี Blockchain ในกลุ่มโรคที่เกิดจากการทำงาน และเกี่ยวเนื่องจากการทำงาน หน่วยงาน : มหาวิทยาลัยนเรศวร
10. โครงการพัฒนาศักยภาพทางด้านปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ผ่านเครือข่ายสารสนเทศสำหรับอุตสาหกรรมไทย หน่วยงาน : มหาวิทยาลัยมหิดล
ที่ผ่านมา กทปส. มีผู้ขอรับทุนสนับสนุนเป็นสถาบันการศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน คิดเป็นสัดส่วนสูงที่สุด รองลงมาจะเป็นผู้ขอรับทุนสนับสนุนที่เป็นหน่วยงานของรัฐ ผู้ประกอบกิจการในอุตสาหกรรมกระจายเสียง โทรทัศน์ โทรคมนาคม และสมาคม มูลนิธิ โดยเฉลี่ยใกล้เคียงกัน ทั้งนี้ในแผนดำเนินงานในปี 2566 กทปส. จะทำการปรับปรุงประกาศและหลักเกณฑ์การให้ทุนเพื่อเพิ่มโอกาสให้ทุกภาคส่วนของสังคมสามารถการยื่นขอรับทุนให้กว้างมากขึ้น โดยขอเชิญทุกท่านติดตามรายละเอียดการขอรับทุนได้ตามช่องทางประชาสัมพันธ์ของ กทปส.
“กทปส. ยังคงเดินหน้าส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ของประเทศ ผ่านเงินกองทุนวิจัยและพัฒนา เพื่อสร้างประโยชน์สาธารณะ ดังเจตนารมณ์ตามชื่อกองทุนเพื่อสาธารณะอย่างแท้จริงต่อไป” นางสาว ชนัณภัสร์ กล่าวทิ้งท้าย
ผู้สนใจยื่นขอรับการจัดสรรเงินจาก กทปส. สามารถติดตามรายละเอียดการยื่นขอรับทุนผ่านช่องทางออนไลน์ได้ที่ เฟซบุ๊กแฟนเพจ www.facebook.com/BTFPNEWS และที่เว็บไซต์ https://btfp.nbtc.go.th
ที่มา: สำนักข่าวอิศรา
ระหว่างวันที่ 13-15 พฤศจิกายน 2565 หลักสูตรวิทยาศาสตร์การประมง คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ร่วมกิจกรรมนิทรรศการแนะแนวการศึกษาต่อและอาชีพ ค่ายเปิดประตูสู่รั้วมหาวิทยาลัยนเรศวร ครั้งที่ 10 ณ โรงเรียนสระหลวงพิทยาคม จ.พิจิตร
ที่มา: วิทยาศาสตร์การประมง มหาวิทยาลัยนเรศวร
วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยนเรศวร นำโดย ดร.ภิสันติ์ ตินะคัต และ Mr. Andris Adhitra อาจารย์ประจำสาขา Event, Hotel and Tourism Management, อาจารย์ศรัณย์พร เกิดเกาะ อาจารย์ประจำสาขา International Business Management พร้อมด้วยบุคลากรวิทยาลัยนานาชาติ ร่วมจัดกิจกรรมแนะแนวการศึกษาต่อและอาชีพ ประจำปีการศึกษา 2566 ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2565 ณ โรงเรียนเฉลิมขวัญสตรี จังหวัดพิษณุโลก โดยมีนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เข้าร่วมกว่า 500 คน
ที่มา: วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยนเรศวร
วันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้สนับสนุนทุนวิจัยให้กับสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) สทน. และมหาวิทยาลัยนเรศวร แก่โครงการ “การศึกษาผลของการฉายรังสีต่อคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวมะม่วงมหาชนกและส้มโอเพื่อการส่งออกประเทศสหรัฐอเมริกา” เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์การดำเนินกิจกรรมของโครงการวิจัยและช่วยเผยแพร่กิจกรรมฉายรังสีผลไม้เพื่อการส่งออกของประเทศไทยให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกได้ทราบอย่างทั่วถึง จึงได้จัดกิจกรรมเพื่อแนะนำและชิมส้มโอภายในงานประชุมระหว่างประเทศ International Meeting on Radiation Processing ครั้งที่ 20 (IMRP20) ขึ้น ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 เวลา 13.00-14.30 น. ณ ห้อง Air โรงแรมอวานี พลัส ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ หัวข้อหลักส่วนหนึ่งของการประชุมเป็นเรื่องเกี่ยวกับการฉายรังสีเพื่อสุขอนามัยพืช (Phytosanitary Irradiation Forum) โดยเป็นงานประชุมชั้นนำที่จัดขึ้นเป็นเป็นประจำทุก 2-3 ปี เพื่อให้นักวิชาการและผู้ประกอบการในแวดวงเทคโนโลยีการฉายรังสีจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกได้มาพบปะแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านวิชาการและหารือในธุรกิจการฉายรังสีรวมไปถึงการสร้างเครือข่ายแก่กัน ในปีนี้มีผู้เข้าร่วมงาน 350 คน จาก 41 ประเทศทั่วโลก
รศ.ดร. พีระศักดิ์ ฉายประสาท นักวิจัย จากมหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 สหรัฐอเมริกาได้อนุญาตให้นำเข้าผลไม้สด (fresh fruit) ของไทย 7 ชนิด ได้แก่ มะม่วง ลำไย มังคุด ลิ้นจี่ เงาะ และสับปะรด โดยจะต้องได้รับการฉายรังสีก่อนส่งออกไปยังสหรัฐฯ นับเป็นการเปิดตลาดผลไม้ไทยที่สร้างความภาคภูมิใจให้แก่ประเทศชาติ ต่อมาในปี พ.ศ. 2562 ทีมวิจัยซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) BEDO มหาวิทยาลัยนเรศวร และสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ ได้ประสบผลสำเร็จในการวิจัยเรื่องคุณภาพของมะม่วงฉายรังสี จนกระทั่งสามารถส่งออกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองให้ได้คุณภาพมาตรฐานสู่ตลาดสหรัฐอเมริกาได้อย่างเต็มภาคภูมิ ได้รับการรับรองจากกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกาและเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค และในปัจจุบันทางสหรัฐอเมริกาได้ออกกฏระเบียบเพิ่มเติมให้ไทยสามารถส่งออกส้มโอผลสดได้ตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 จึงเกิดเป็นโจทย์วิจัยที่ท้าทายและรอคำตอบจากนักวิจัยไทยเป็นอย่างยิ่ง ปัจจุบันคณะผู้วิจัยได้ดำเนินการทำ dose mapping เพื่อเตรียมการส่งออกส้มโอผลสดไปสหรัฐอเมริกา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการกระจายของรังสีในบรรจุภัณฑ์ส้มโอและปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพหลังการฉายรังสีแกมมา เพื่อให้สอดคล้องกับกฎระเบียบของทางสหรัฐอเมริกา ผลการทำ dose mapping ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในเดือนตุลาคม ปี พ.ศ. 2565 ขณะนี้กำลังรอให้เจ้าหน้าที่ของหน่วยงาน Animal and Plant Health Inspection Service (APHIS) จากกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกามาร่วมดำเนินการกับเจ้าหน้าที่จากกรมวิชาการเกษตรรับรองผลอีกครั้งโดยเร็วที่สุด จากนั้นผู้ประกอบการไทยจะสามารถส่งออกส้มโอผลสดได้ทันที
โดยคณะผู้วิจัยมีโครงการจะนำส้มโอฉายรังสีไปจัดแสดงในงาน Natural Products Expo West 2023 ณ เมืองอนาไฮม์ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ในระหว่างวันที่ 7-11 มีนาคม พ.ศ. 2566 ที่จะถึงนี้ด้วย
การจัดกิจกรรมแนะนำและชิมส้มโอภายในงานประชุมระหว่างประเทศ International Meeting on Radiation Processing ในครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสอันดีในการเผยแพร่ให้ต่างชาติได้รู้จักส้มโอผลสดของไทยให้มากยิ่งขึ้นเพื่อให้สามารถต่อยอดในทางธุรกิจต่อไป
ดร.หาญณรงค์ ฉ่ำทรัพย์ รองผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า การฉายรังสีโดยทั่วไปคือการเตรียมใส่กล่อง การฉายรังสี และขั้นตอนหลังการฉายรังสี การเตรียมใส่กล่องมันขึ้นอยู่ว่าส่งไปประเทศไหน และประเทศนั้นต้องการอย่างไร ในกรณีออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา ต่างกัน ถ้าเป็นอเมริกาต้อง 9-10 ลูกต่อกล่อง ซึ่งขนาดกล่องจะขึ้นอยู่กับผลส้มโอ เมื่อได้กล่องตามที่อเมริกาต้องการแล้ว จึงนำเข้าฉายรังสี ขั้นตอนการฉายรังสีในขั้นตอนที่ 2 เป็นการฉายรังสีแกมมา electron beam และรังสีเอ็กเรย์ อเมริกาให้ฉายได้ทุกรังสี ขึ้นอยู่ที่เราจะใช้รังสีไหน แต่ปัจจุบันสหรัฐอเมริกาให้ใช้รังสีแกมม่า ดังนั้นเมื่อเตรียมเสร็จก็จะใส่เข้าไปในตู้คอนเทนเนอร์ ที่มีรังสีแกมมา ตรงนี้เป็นกระบวนการที่อเมริกาบอกว่าประเทศไทยจะต้องใช้รังสี 400 เกรย์ ถึงจะฆ่าเชื้อได้ หลังจากฉายรังสี สิ่งที่ต้องทำเลยคือนำออกจากเครื่อง และนำขึ้นรถเข้าห้องเย็น พร้อมส่งออกเลย ระหว่างการขนส่งห้ามเปิดเด็ดขาด ถ้าเปิดจะถูกตีกลับหมด
สำหรับ อาหาร ผลไม้ทุกชนิด ที่ได้ฉายรังสีจะมีตราดอกไม้สีเขียวอ่อน ที่เรียกว่า radura ต้องติดว่าให้ผู้บริโภครู้ว่าผ่านการฉายรังสีฆ่าเชื้อมาแล้ว
ที่มา: mgronline
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยนเรศวร ลงนามบันทึกความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ สนับสนุนผลักดันนำผลงาน/ผลิตภัณฑ์งานวิจัยต่อยอดการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์
ศ. (วิจัย) ดร. ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และ รศ. ดร. ศรินทร์ทิพย์ แทนธานี รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร ลงนามบันทึกความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาองค์ความรู้ งานวิจัย ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ผลักดันให้เกิดการนำผลงาน ผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมจากงานวิจัยไปสู่กิจกรรมด้านบริการวิชาการ ต่อยอดการใช้ประโยชน์ทั้งเชิงพาณิชย์ เชิงนโยบายและเชิงสาธารณะ สู่การนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจของประเทศ โดยมีระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปี โอกาสนี้ ดร.อาภากร สุปัญญา รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์และจัดการนวัตกรรม วว. ดร.พัชทรา มณีสินธุ์ รองผู้ว่าการบริการอุตสาหกรรม วว. และ รศ.ดร.กรองกาญจน์ ชูทิพย์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมด้วยผู้บริหาร บุคลากร ทั้งสองหน่วยงานร่วมเป็นเกียรติและเยี่ยมชมโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ของ วว. ดังนี้ ศูนย์นวัตกรรมการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรม (ICPIM) ศูนย์ความเลิศด้านสาหร่าย (ALEC) สายการผลิตอาหารแปรรูป โรงงานบริการนวัตกรรมอาหาร (FISP) และห้องปฏิบัติการทดสอบการสลายตัวทางชีวภาพของวัสดุ (BioD)
ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า วว. และมหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวง อว. ซึ่งมีความร่วมมือด้านการศึกษาและพัฒนางานวิจัย การวิเคราะห์ทดสอบ และการพัฒนาบุคลากร นิสิต และนักศึกษาระหว่างสองหน่วยงาน มาแล้ว ในปัจจุบันยังคงมีภารกิจที่คล้ายกันคลึงกันหลากหลายด้าน โดยเฉพาะงานด้านวิจัยและพัฒนา ที่เน้นการพัฒนาและยกระดับความสามารถผู้ประกอบการไทย ซึ่งมหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นมหาวิทยาลัยอันดับต้นๆ ของภาคเหนือ โดยวางวิสัยทัศน์ให้เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อสังคมของผู้ประกอบการ (University for Entrepreneurial Society) ซึ่งตรงกับ วว. ที่มุ่งการพัฒนางานวิจัยและโครงสร้างพื้นฐานของหน่วยงานให้สอดคล้องกับบริบทของการพัฒนาผู้ประกอบการเพื่อตอบโจทย์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเพิ่มมากขึ้น คือ การสร้างความเข้มแข็งให้ SMEs และชุมชน ผ่านระบบนิเวศนวัตกรรม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี อย่างยั่งยืน (Strengthening SMEs and communities through an innovation science and technology ecosystem for sustainability)
ทั้งนี้ทั้งสองหน่วยงานจะมุ่งพัฒนาความร่วมมือให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ดังนี้
1. เพื่อร่วมกันส่งเสริม พัฒนาองค์ความรู้ งานวิจัย ด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งสนับสนุนการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรม นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจของประเทศ
2. ร่วมกันใช้ประโยชน์ในเรื่อง ทรัพยากรและความสามารถตามภารกิจหลักของทั้งสองหน่วยงาน ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาประเทศ ได้แก่ การสนับสนุนการใช้เครื่องมือ และอุปกรณ์ทางด้านวิทยาศาสตร์ รวมทั้งห้องปฏิบัติการในการปฏิบัติภารกิจร่วมกัน
3. ร่วมกันใช้ความรู้ความสามารถ และองค์ความรู้ทางงานวิจัยของทั้งสองหน่วยงานนำมา สนับสนุนการพัฒนา และวิจัยของหน่วยงานภาคเอกชน ชุมชน และหน่วยงานของรัฐ เพื่อบูรณการการทำงานและลดข้อจำกัดด้านงบประมาณและกำลังคนร่วมกัน
4. ร่วมกันพัฒนางานวิจัยคุณภาพสูง (Advance technology) เพื่อสนับสนุนงานด้านวิชาการ และภาคธุรกิจ รวมทั้งภาคอุตสาหกรรม
“ทั้งสองหน่วยงานจะร่วมดำเนินงานอันจะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมากต่อการพัฒนาประเทศไทยในอนาคต เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ใช้นวัตกรรมขับเคลื่อน พลิกฟื้นเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่ออย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน สำหรับการเยี่ยมชมหน่วยที่ให้บริการลูกค้าในระดับมาตรฐานสากลของ วว. ได้แก่ ICPIM, ALEC, FISP และ BioD ที่สามารถวิจัยและพัฒนาผู้ประกอบการที่มาขอรับบริการ ให้ก้าวเข้าสู่การค้าขายกับตลาดโลกได้ โดยใช้โครงสร้างพื้นฐานและการบริการดังกล่าว ความร่วมมือของทั้งสองหน่วยงานและการเยี่ยมชมในครั้งนี้ จะเป็นโอกาสอันดีในการสร้าง idea และ prototype ด้านงานวิจัยควบคู่กับการพัฒนาผู้ประกอบการร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมในระยะเวลาอันใกล้” …. ผู้ว่าการ วว. กล่าว
ที่มา: mgronline
สืบเนื่องจากจังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดที่มีความสำคัญที่มีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยวในระดับโลก ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเข้ามามากกว่า 13 ล้านคน (ข้อมูลปี 2559) สามารถทำรายได้เข้าประเทศมากกว่า 3.7 แสนล้านบาท และในปี 2562 มีนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวในภูเก็ตจำนวน 14.54 ล้านคน ทำรายได้เข้าประเทศมากกว่า 4.7 แสนล้านบาท (กองเศรษฐกิจการท่องเที่ยว กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา, 2563) ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต ปัญหาสำคัญหลายประการของจังหวัดภูเก็ตที่เกี่ยวข้องกับเรื่องน้ำ ได้แก่ ปัญหาอุทกภัย ปัญหาน้ำอุปโภค-บริโภคไม่เพียงพอ และปัญหาคุณภาพน้ำ
แต่ปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ได้แก่ ปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภค-บริโภค และปัญหาอุทกภัย ถึงแม้ว่ามีการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลางโดยกรมชลประทานแล้ว แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับอัตราความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้น จากปัญหาดังกล่าวทำให้จังหวัดภูเก็ตได้ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่แก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งอย่างเป็นระบบ (Area Based) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ต้องสนับสนุนการท่องเที่ยว แต่มีสภาพปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งอยู่ในเกณฑ์สูง ประกอบกับมีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูง จึงต้องเร่งดำเนินการหามาตรการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน
โดย สทนช. ติดตามความก้าวหน้าและวางแผนสำรองน้ำต้นทุน ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ณ “อ่างเก็บน้ำคลองกะทะ” “โครงการวางท่อน้ำดิบพร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำ (คลองกะทะ) เพื่อสูบผันน้ำในฤดูฝนไปผลิตน้ำประปาและรักษาน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำคลองกะทะ” ณ “สถานีผลิตน้ำคลองกะทะ การประปาส่วนภูมิภาค สาขาภูเก็ต” “ขุมน้ำประปาเทศบาลตำบลเชิงทะเล” และ “โครงการแก้มลิงบ้านโคกโตนดพร้อมระบบผันน้ำไปยังอ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ” โดยคาดว่าโครงการข้างต้น จะช่วยสำรองน้ำต้นทุนของจังหวัดภูเก็ตได้กว่า 0.85 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี
นายสราวุธ ชีวะประเสริฐ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าและติดตามผลการการศึกษาของโครงการ ซึ่ง สทนช. อยู่ระหว่างดำเนินการโครงการศึกษาแผนหลักแบบบูรณาการเพื่อการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งพื้นที่เฉพาะ (Area based) เกาะภูเก็ต โดยได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยนเรศวรและกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาดำเนินการศึกษา ด้านการจัดทำแผนหลักแบบบูรณาการ แนวทางการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการที่ครอบคลุมตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ทั้ง 6 ด้าน ตลอดจนรวบรวม กลั่นกรองและจัดลำดับความสำคัญ แผนปฏิบัติการ ระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาวของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจัดทำรายงานศึกษาวางโครงการเบื้องต้น สำหรับโครงการที่มีความเร่งด่วน ตามแนวทางการแก้ปัญหาตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ทั้ง 6 ด้าน อย่างน้อย 6 โครงการ
จากการศึกษาพบว่า จังหวัดภูเก็ต มีปริมาณน้ำต้นทุนรวม 80.90 ล้านลูกบาศก์เมตร แบ่งออกเป็น อ่างเก็บน้ำ 21.53 ล้านลูกบาศก์เมตร โครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก 1.49 ล้านลูกบาศก์เมตร ขุมน้ำและขุมเหมือง 21.02 ล้านลูกบาศก์เมตร แหล่งน้ำขนาดเล็ก 9.75 ล้านลูกบาศก์เมตร และน้ำบาดาล 27.11 ล้านลูกบาศก์เมตร คาดว่าจะมีความต้องการใช้น้ำรวม 87.67 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปีในปี 2570 และในปี 2583 คาดว่าจะมีความต้องการใช้น้ำถึง 104.93 ล้านลูกบาศก์เมตร ด้วยเหตุนี้ แหล่งน้ำต้นทุนในปัจจุบัน จึงยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำ โดยเฉพาะความต้องการน้ำเพื่อการท่องเที่ยว ซึ่งในอนาคตจะมีความต้องการน้ำถึง 23.58 ล้านลูกบาศก์เมตร ในปี 2570 และ 33.18 ล้านลูกบาศก์เมตร ในปี 2580 หรือคิดเป็นร้อยละ 26.89 และ 31.62 ของความต้องการน้ำทั้งหมดต่อปี
“การเพิ่มศักยภาพให้แก่การสำรองน้ำต้นทุนของจังหวัดภูเก็ตในช่วงฤดูฝน เพื่อรองรับความต้องการน้ำในช่วงฤดูแล้ง มีความสำคัญต่อการบริหารจัดการน้ำเพื่ออุปโภค บริโภค และอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักของจังหวัดภูเก็ตและของประเทศ จากการศึกษา ได้มีการวางโครงการเบื้องต้นแล้ว จำนวน 6 โครงการ ซึ่งสอดคล้องตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ทั้ง 6 ด้าน ของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ” นายสราวุธ กล่าว
ทางด้าน รศ.ดร.เดช วัฒนชัยยิ่งเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงภาพรวมแผนการดำเนินการจัดการน้ำพื้นที่เฉพาะ (Area based) เกาะภูเก็ต ว่าเป็นการบูรณาการร่วมกันจากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน โดยมีเป้าหมายหลักในการจัดการสำรองน้ำต้นทุนเพื่อการอุปโภค-บริโภค โดยเรื่องแรกที่ให้ความสำคัญคือเรื่องของน้ำประปา ที่ทาง สทนช. ได้มีการวางนโยบายและแนวทางการแก้ไขปัญหา เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีน้ำประปาไว้อุปโภค-บริโภค ได้อย่างเพียงพอ และเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถสูงสุดในการรองรังรับภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำสะอาดเพื่อการบริโภคในอนาคต
รวมไปถึงโครงการก่อสร้างสระน้ำแก้มลิงบ้านโคกโตนดพร้อมระบบผันน้ำไปยังอ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ ที่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งเพราะได้เสริมประสิทธิภาพสูงสุดในการกักเก็บน้ำในพื้นที่ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำและเป็นแหล่งต้นทุนที่สำคัญในอนาคต ประกอบกับทาง สทนช. ได้มีแผนการดำเนินการดูแลป่าต้นน้ำ และดูแลในส่วนของคุณภาพการบำบัดน้ำเสีย เพื่อให้ได้น้ำที่มีคุณภาพสูงและลดการปนเปื้อน
นายนิธิเดช มากเกตุ วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำทั้ง 4 แหล่ง จะเห็นได้ว่าแหล่งน้ำจากทั้ง 4 แหล่ง ค่อนข้างมีความแตกต่างกัน โดยส่วนตรงนี้จะมีทั้งกรมชลประทาน ที่ดูแลในพื้นที่ชลประทาน เข้าไปสำรวจหน่วยงานในท้องถิ่นที่มีแหล่งผลิตระบบน้ำประปาด้วยตัวเอง รวมถึงการประปาส่วนภูมิภาคที่ผลิตน้ำเพื่อแจกจ่ายให้กับคนในพื้นที่ต่างๆ โดยแผนการดำเนินงานทั้งหมดนี้ ยังไม่เคยรวบรวมมาไว้ด้วยกัน ด้วยเหตุนี้ทาง สทนช. จึงได้จัดทำโครงการนี้ขึ้นมาเพื่อรวมแผนหลักให้มีการบูรณาการร่วมกันกับหลายหน่วยงานเข้าด้วยกัน เพื่อแลกเปลี่ยนปัญหา และกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาไปพร้อมๆ กัน
“ถ้าหากแผนงานทั้งหมดนี้ได้บรรจุอยู่ในที่เดียวกันแล้ว จะขับเคลื่อนได้อย่างไร โดยตามกระบวน พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ เราจะขับเคลื่อนผ่านอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด ในตอนนี้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ดำเนินการมาแล้ว 5 ปี ตัวแผนบูรณาการที่จะทำต่อไปก็จะเป็นแผนอีก 15 ปีถัดมา ว่าภายใน 15 ปีจะเกิดอะไรขึ้นกับภูเก็ต และในอีก 15 ปีจะเป็นอย่างไร ส่วนนี้เราจะนำแผนมารวบรวมและวิเคราะห์ในเชิงวิศวกรรม และในพื้นที่ เพื่อทำแผนนำเสนอต่ออนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดภูเก็ต และเสนอไปยังคณะกรรมการลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันตก และเสนอคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เพื่อให้อนุมัติแผน เพราะฉะนั้นแผนทั้งหมดจะขับเคลื่อนโดยผ่าน พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ อย่างถูกต้อง และเมื่อมีการบูรณาการน้ำกันแล้วก็จะสามารถตอบคำถามได้ว่า ในจังหวัดภูเก็ตเมื่อพัฒนาเต็มศักยภาพแล้วเพียงพอหรือไม่เพียงพออย่างไร ซึ่งการดำเนินการต่อไปก็จะมีประชุมกลุ่มย่อยอีกครั้ง เพื่อพิจารณาข้อมูลใน 4 พื้นที่ โดยมีเจ้าหน้าที่แต่ละตำบล แต่ละอำเภอ เข้ามาให้ความเห็นเพิ่มเติม เพื่อทำให้ข้อมูลหนักแน่นยิ่งขึ้นก่อนที่จะดำเนินการแผนต่อไป” นายนิธิเดช กล่าว
ที่มา: เทคโนโลยีเกษตร
Sustainability