Archives 2022

ผู้สูงอายุชาวระนอง ยิ้มร่าใส่ฟันเทียมพระราชทาน

เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2565 ที่โรงพยาบาลระนอง หน่วยทันตกรรมพระราชทาน ม.นเรศวร นำโดย อาจารย์ทันตแพทย์ ดร.พรพจน์ เจียงกองโค เลขานุการหน่วยทันตกรรมพระราชทาน ม.นเรศวร พร้อมกับเหล่าทันตแพทย์อีก 30 ท่าน ลงพื้นที่ใส่ฟันเทียมพระราชทานให้กับผู้สูงอายุ ที่ไม่มีฟันเลยให้ได้ใส่ฟันเทียมทั้งปาก เสร็จภายใน 1 วัน 28 ราย

อาจารย์ทันตแพทย์ ดร.ยศณรงค์ ศิริเมธาวงศ์ ทันตแพทย์ประจำ ม.นเรศวร กล่าวว่า โครงการหน่วยทันตกรรมพระราชทาน มหาวิทยาลัยนเรศวร จัดตั้งขึ้นมาร่วม 5 ปี เพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยที่ไร้ฟันในถิ่นทุรกันดาร ที่เดินทางไปมาลำบาก และห่างไกลความเจริญ โดยจุดเด่นหน่วยทันตกรรมพระราชทาน จากเดิมผู้ไร้ฟันต้องเดินทางมาทำฟันเทียม 4-5 ครั้ง ใช้เวลา 1-2 เดือน เราสามารถให้บริการทำฟันเทียมทั้งปากภายในวันเดียว (complete denture in one day) ให้แก่ประชาชน ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่หน่วยทันตกรรมพระราชทาน ได้ร่วมกันคิดค้นขึ้นมา เป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ป่วยไร้ฟันชาวไทยทุกคน และการเดินทางมาใส่ฟันเทียมพระราชทานที่ จ.ระนอง เพราะได้รับทราบข้อมูลว่า ในพื้นที่ยังขาดแคลนทันตแพทย์สำหรับใส่ฟันปลอม ให้กับประชาชนอีกนับร้อยนับพันราย โดยข้อมูลเบื้องต้น ผู้ป่วยบางราย รอคิวใส่ฟันมาร่วม 2 ปี นับว่าเป็นโอกาสอันดี ที่หน่วยฯสามารถเข้ามาช่วยการบริหารจัดการผู้ป่วยได้รวดเร็วขึ้น ไม่ต้องรอคิวนาน ทางฝ่ายทันตกรรมโรงพยาบาลระนอง ได้ให้การดูแลและสนับสนุนด้วยดี

นายห้วน พัฒมาก วัย 81 ปี เดินทางมาจากพื้นที่ในหุบเขา ต.ละอุ่นเหนือ อ.ละอุ่น จ.ระนอง กล่าวน้อมสำนึกพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระราชทานฟันเทียมมาให้ และขอบคุณเจ้าหน้าที่ลูกๆทุกคนให้อยู่เย็นเป็นสุข อย่าให้มีความเจ็บความไข้ ขอให้มีอายุยืนอยู่ไปนานๆ และอวยพรให้ทุกคน ได้ถูกลอตเตอรี่ รางวัลที่ 1 ถ้าถูกกันทุกคน พร้อมยิ้มอย่างมีความสุข หลังได้รับการใส่ฟันเทียมพระราชทาน

ที่มา: dailynews

อาจารย์ ม.นเรศวร ร่วมเป็นวิทยากรบรรยายงานประชุมวิชาการระดับภูมิภาคด้านพลังงาน

รศ.ดร.นิพนธ์ เกตุจ้อย และ ดร.ยอดธง เม่นสิน ร่วมเป็นวิทยากรบรรยายงานประชุมวิชาการระดับภูมิภาคด้านพลังงาน เรื่อง “Regional Conference on Energy Resilience through Decentralized Power Plants and Smart Grid Integration” จัดโดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ร่วมกับ Asian and Pacific Centre for Transfer of Technology (APCTT) ภายใต้งาน ASEAN Sustainable Energy Week 2022 (ASEW20220 วันที่ 15 กันยายน 2565

โดยบรรยายใน SESSION II: Integration of decentralized power plants with smart grids – opportunities, challenges and barriers.
– รศ.ดร.นิพนธ์ เกตุจ้อย บรรยายหัวข้อ “Integration of distributed energy resources with virtual power plant platform – opportunities, challenges and barriers in Thailand”
– ดร.ยอดธง เม่นสิน บรรยายหัวข้อ “Microgrid Service Solution: the zero net energy concept”

สามารถรับชมและรับฟังได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=CboJPfhxonw
เอกสารประกอบการบรรยาย https://apctt.org/…/regional-conference-energy

ที่มา: วิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนเรศวร

อาจเป็นรูปภาพของ 9 คน

มน. นำร่อง บางระกำ และเนินมะปราง วิจัยแก้ไขปัญหายากจน ต่อยอดอาชีพของชาวบ้านแบบยั่งยืน

วันที่ 13 กันยายน 2565 ที่ห้องประชุมสถานคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์(บ้านสองแคว) จังหวัดพิษณุโลก นายรณรงค์ นครจินดา รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก พร้อมด้วย ดร.จิรวัฒน์ พิระสันต์ หัวหน้าโครงการวิจัยพร้อมคณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดตัวโครงการ “การศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำภาคเหนือตอนล่าง : กรณีศึกษาจังหวัดพิษณุโลก ระยะที่ 2” เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนจนในพื้นที่ 2 ตำบลของ ได้แก่ ต.วังอิทก และ ต.ชุมแสงสงคราม ของ อ.บางระกำ และ ต.ไทรย้อย อ.เนินมะปราง  โดยเฉพาะ อ.บางระกำ ได้ศึกษา จำนวน 2,000 คน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีศักยภาพในการประกอบอาชีพตรงตามที่ผู้จ้างงานต้องการ

โครงการนี้ได้รับความร่วมมือจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)ภายใต้แผนงาน ริเริ่มสำคัญ การวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาคนจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำ คือการพัฒนาระบบฐานข้อมูลครัวเรือนคนจนที่ถูกต้องและแม่นยำ อีกทั้งมีระบบและกลไกในการส่งต่อคนจนไปยังหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัด การยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนจนให้หลุดพ้นจากความยากจนลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ตลอดจนค้นหา และพัฒนานวัตกรรม การแก้ไขปัญหาความยากจนต่างๆให้เหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทและความต้องการของคนจนในพื้นที่ ภายใต้ความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม

ดร.จิรวัฒน์ พิระสันต์ หัวหน้าโครงการวิจัยพร้อมคณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้กล่าวว่า สำหรับโครงการแก้ปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำของภาคเหนือตอนล่าง ทางมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ทำการวิจัยและรับผิดชอบ จังหวัดพิษณุโลก ในภาคเหนือตอนล่าง โดยได้เริ่มในระยะนี้เป็นระยะที่ 2  ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2564 ทาง บพท. ได้ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุดมศึกษาได้ตระหนักถึงความยากจนของประชาชน จึงมอบหมายให้มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งเป็นหน่วยงานทางวิชาการได้เข้ามาโดยนำเอากลไกต่างๆเข้ามาพัฒนาคนจนในรูปแบบต่างๆ โดยทั่วประเทศมี 10 จังหวัดนำร่อง จ.พิษณุโลกเป็นจังหวัดหนึ่งในภาคเหนือตอนล่าง เพียงจังหวัดเดียวที่ได้รับการจัดทำการวิจัย ซึ่งเราทำสำเร็จแล้วในเฟสที่ 1 โดยเลือก อ.บางระกำ และ อ.เนินมะปราง เป็น อำเภอนำร่องในการพัฒนาอาชีพของประชาชนที่มีความยากจนขึ้นมา ซึ่งหลังจากการได้ทำการสำรวจร่วมกับทางจังหวัดแล้ว ทำให้เห็นได้ว่าความยากจนของประชาชนในจังหวัดพิษณุโลก ดีขึ้น ที่เราปูพรมพื้นที่ อ.บางระกำ ประชาชน คนจนจำนวน 2000 คน ให้ผ่านความยากจนให้ได้ภายในปีนี้

ในระยะที่ 2 งานของเราจึงมีอยู่ 3 เรื่องด้วยกัน คือเรื่องของการสำรวจใหม่อีกรอบหนึ่งสำหรับคนจนใน อ.บางระกำ ว่ามีการตกสำรวจหรือไม่ เรื่องที่ 2 คือการสร้างกลไก “โมเดลสร้างอาชีพ” ขึ้นมาทั้งหมด 16 อาชีพ อาทิ การพัฒนาคุณภาพพันธุ์ข้าว  การสร้างอาชีพต่างๆ อาทิ วิถีการทำปลาร้า ,ปลาส้ม, การแปรรูปเกล็ดปลา ซึ่งล้วนแล้วต่อยอดจากอาชีพดั่งเดิม ของชาวบ้าน เพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้และพัฒนาชีวิตที่ดีขึ้น  โดยในการที่จะนำพัฒนาคนจนของเราขึ้นมา รวมทั้งพัฒนาวิสาหกิจชุมชน อีก 5 แห่ง เพื่อที่จะให้คนจนเข้าไปอยู่ในวิสาหกิจชุมชน นอกจากนี้เรายังทำแพลตฟอร์มคนจนทั้ง 2,000 คน เข้าไปอยู่ในแพลตฟอร์มของเรารวมทั้ง ถ้าใครไม่ได้รับการพัฒนาในอาชีพ แต่มีความสามารถในด้านอื่นๆ เราก็จะนำเข้าไปอยู่แพลตฟอร์ม โดยมีตัวแทนของหน่วยงานเอกชน เพื่อมาเลือกหาแรงงานที่จะเข้าไปร่วมงานเพื่อช่วยเหลือคนจนให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น คือทางเราจะดูและในเรื่องของการพัฒนาทักษะอาชีพต่างๆ ร่วมไปถึงการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรียกได้ว่าเป็นการทำงานร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ เพื่อยกระดับปัญหาคนจนให้หมดไป

ซึ่งโครงการนี้ถือว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับคนจนในอำเภอบางระกำให้ใช้ทรัพยากรที่มีเพื่อเพิ่มมูลค่า สร้างรายได้เพิ่มขึ้น พัฒนาศักยภาพให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก และมีช่องทางในการหางานทำที่สามารถเข้าถึงผู้จ้างงานได้ง่าย หรือให้ผู้จ้างงานเข้าถึงคนจนที่มีศักยภาพตามที่ต้องการได้

ที่มา: phitsanulokhotnews

บริการวิชาการสู่ชุมชน เสริมความรู้ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม

เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2565 สาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม คณะสาธารณสุขศาสตร์ โดย ดร.กนกทิพย์ จักษุ ผู้รับผิดชอบโครงการ พร้อมด้วย คณาจารย์ และนิสิตชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม จัดโครงการบริการวิชาการตรวจติดตามคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยมี นายสุริยา จันทิมา ผู้อำนวยการโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม เป็นประธานในการกล่าวเปิดพิธี ซึ่งโครงการดังกล่าว เป็นโครงการบริการวิชาการ อีกทั้งยังเป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษา ในการจัดกิจกรรมบริการวิชาการสู่ชุมชน โดยมีการจัดกิจกรรม 2 กิจกรรม ดังนี้
1) กิจกรรมเสริมความรู้ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ให้แก่แกนนำนักเรียน จำนวน 160 คน โดยถ่ายทอดในรูปแบบฐานกิจกรรม เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ฝึกทักษะ ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม รวมถึงการปนเปื้อนและความปลอดภัยในอาหาร โดยมีคณาจารย์และนิสิตเป็นวิทยากรให้คำแนะนำ
2) กิจกรรม ตรวจติดตามคุณภาพสิ่งแวดล้อม และสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมภายในโรงเรียนเบื้องต้น

เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการจัดการสิ่งแวดล้อม และให้ชุมชมได้รับการบริการเกี่ยวกับการจัดการปัญหาทางด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ณ โรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม

ที่มา: สาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม คณะสาธารณสุขศาสตร์ มน.

ม.นเรศวร จัดประชุมการเสริมสร้างความสัมพันธ์ ไทย-สหรัฐ ผ่านความสัมพันธ์ภาคประชาชนระหว่างเยาวสตรีไทย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นภิสา ไวฑูรเกียรติ คณบดีคณะสังคมศาสตร์ ได้เป็นประธานในการเปิดการประชุมแบบ Townhall ในหัวข้อ การเสริมสร้างความสัมพันธ์ ไทย – สหรัฐ ผ่านความสัมพันธ์ภาคประชาชนระหว่างเยาวสตรีไทย ในวันที่ 7 กันยายน 2565 เวลา 14.00 น. – 16.00 น. ณ ห้อง Main Conference อาคารศูนย์บริการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยมี Ms.Dana Durkee ผู้แทนจากสถานกงสุลใหญ่สหรัฐฯ เชียงใหม่ และ Mr.Benjamin Zawacki ผู้เชี่ยวชาญโครงการอาวุโส มูลนิธิเอเชีย The Asia Foundation ร่วมเปิดงาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับกลุ่มยุวสตรีที่มีประสบการณ์การอาศัยอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อก่อให้เกิดการอภิปรายและตระหนักรู้ในประเด็นสิทธิสตรีอันจะนำไปสู่แนวทางการพัฒนาความเท่าเทียมทางเพศต่อไป โดยมี คุณญาดา ช่วยจำแนก จากปาตานี ฟอรั่ม และคุณวรรณดี ถวิลบุญ คุณครูโรงเรียนหัวหิน ซึ่งเป็นผู้มีประสบการณ์ในอเมริกา ร่วมเป็นวิทยากร

ที่มา: คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร ให้ความรู้ระบบการทำงานของสถานีบำบัดน้ำเสียส่วนกลาง

กองอาคารสถานที่ยินดีต้อนรับ คณะศึกษาดูงานคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ สาขาจุลชีววิทยา ชั้นปีที่ 4 วันอังคารที่ 6 กันยายน 2565 เวลา 13.30 น. บุคลากรกองอาคารสถานที่ ให้การต้อนรับคณะศึกษาดูงาน นิสิตคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ สาขาจุลชีววิทยา ชั้นปีที่ 4 โดย ดร.ศิริวัฒน์ คูเจริญไพบูลย์ อาจารย์ผู้ควบคุม เพื่อเยี่ยมชมและศึกษาระบบการทำงานของสถานีบำบัดน้ำเสียส่วนกลางของมหาวิทยาลัย ในรายวิชาจุลชีววิทยาสิ่งแวดล้อมและบรรยากาศเป็นไปด้วยความอบอุ่น ณ สถานีบำบัดน้ำเสียส่วนกลาง มหาวิทยาลัยนเรศวร

ที่มา: กองอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยนเรศวร

“ม.นเรศวร”เปิดเวทีประชุมนานาชาติระเบียงเศรษฐกิจ หลวงพระบาง อินโดจีน และเมาะลำไย ครั้งที่ 5

รองศาสตราจารย์ ดร.วัฒนา พัดเกตุ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการมหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นประธานเปิดการประชุมระดับนานาชาติระเบียงเศรษฐกิจ หลวงพระบาง อินโดจีน และเมาะลำไย ครั้งที่ 5 (The 5th LIMEC Academic International Conference) ซึ่งจัดขึ้นโดยคณะโลจิสติกส์และดิจิทัลซัพพลายเชน เพื่อถ่ายทอดและขยายผลการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน บนระเบียงเศรษฐกิจหลวงพระบาง อินโดจีน และเมาะลำไย สู่สถาบันการศึกษา และหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งยังเป็นเวทีให้ให้นักเรียน นักวิจัย และคณาจารย์ ได้นำเสนอผลงานวิชาการ และแลกเปลี่ยนและแบ่งปันความรู้ที่เกี่ยวข้องกับระเบียงเศรษฐกิจหลวงพระบาง อินโดจีน และเมาะลำไย เพื่อร่วมมือกันพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจฯ สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) ในการส่งเสริมด้านการสร้างความสามารถ ในการแข่งขันและส่งเสริมความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน

สำหรับในปีนี้ การประชุมจัดขึ้นในหัวข้อ “เทคโนโลยีดิจิทัลด้านโลจิสติกส์สำหรับฐานชีวิตใหม่” (Logistics for New Normal with Digital Technology) ซึ่งเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในการใช้ชีวิตและการดําเนินธุรกิจของเราหลังจากการเกิดขึ้นของ COVID-19 ที่เร่งการพัฒนา และการนําวิธีการทํางานใหม่ๆ มาใช้ เช่น การทํางานจากที่บ้าน บริการจัดส่งอาหารออนไลน์ ธนาคารดิจิทัล และการเว้นระยะห่างทางสังคม และกิจกรรมอื่นๆ แบบไม่ต้องสัมผัส ซึ่งเทคโนโลยีดิจิทัลได้กลายเป็นหนึ่งในโซลูชั่นที่สําคัญในการเชื่อมต่อเรา และเพื่อรักษาธุรกิจในหลายภาคส่วน ตั้งแต่การเงินไปจนถึงบริการภาครัฐ สุขภาพ และการศึกษา ตลอดจนเทคโนโลยีดิจิทัลด้านโลจิสติกส์และปัญญาประดิษฐ์พร้อมนี้ภายในงานจัดให้มีการบรรยายพิเศษ ในหัวข้อที่น่าสนใจ อาทิ หัวข้อ “มุมมองต่อการนาดิจิทัลทรานฟอเมชั่นมาใช้ในการสร้างการไหลของอุปสงค์และอุปทานในการข้ามแดน” หัวข้อ “Building Supply Chain Resilience in the post-pandemic World-The Role of Digital Technologies” และการเสวนาในหัวข้อ “Digital Technology for the New Normal in Business” เป็นต้น ณ ห้องประชุม 210 อาคารเอกาทศรถ มหาวิทยาลัยนเรศวร และในรูปแบบออนไลน์

ด้าน ผศ.ดร.วัชรพล สุขโหตุ คณบดีคณะโลจิสติกส์และดิจิทัลซัพพลายเชน มหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดเผยว่า คณะโลจิสติกส์และดิจิทัลซัพพลายเชน มหาวิทยาลัยนเรศวร มีส่วนร่วมในการดำเนินการก่อตั้งและประสานความร่วมมือบนระเบียงเศรษฐกิจหลวงพระบาง อินโดจีน และเมาะลำไย (Luangprabang-Indochina-Mawlamyine Economic Corridor; LIMEC) ซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่มจังหวัดในภาคเหนือตอนล่าง 1 ของประเทศไทย ได้แก่ จังหวัดอุตรดิตถ์ พิษณุโลก สุโขทัย เพชรบูรณ์ และตาก แขวงหลวงพระบาง/แขวงไซยะบูลี สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และรัฐกะเหรี่ยง/รัฐมอญ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ซึ่งได้มีการจัดประชุมนานาชาติฯ ประจำปี ร่วมกันมาแล้ว 4 ครั้ง โดยคณะได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและจำเป็นของการถ่ายทอด ขยายการศึกษา สร้างความร่วมมือ และแบ่งปันความรู้และงานวิชาการที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมต่างๆ บนระเบียงเศรษฐกิจฯ ซึ่ง ในปี พ.ศ. 2566 มุ่งวางแผนที่จะขยายผลและต่อยอดงาน LIMAC ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ให้เป็นวารสารวิชาการควบกับงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติในชื่อ “1st International Journal & Conference of Logistics and Digital Supply Chain” เพื่อทำให้งานมีมาตรฐานมากขึ้นและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล รวมถึงเพื่อให้คณะได้มีวารสารนานาชาติที่ใช้ในการถ่ายทอดและขยายผลการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน รวมทั้งเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน บนระเบียงเศรษฐกิจหลวงพระบาง อินโดจีน และเมาะลำไย เป็นของตนเองเปิดโอกาศในการเผยแพร่งานวิจัยของบุคลากรและนักศึกษาต่อไป

ที่มา: dailynews

ม.นเรศวร ร่วมผนึกกำลังสร้างภูมิคุ้มกันแลป้องกันยาเสพติดในสถาบันอุดมศึกษาภาคเหนือตอนล่าง

มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้จัดให้มีกิจกรรมที่ 2 ประชุมสรุปผลการดำเนินงานโครงการสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันยาเสพติดในสถาบันอุดมศึกษา ภาคเหนือตอนล่างปีงบประมาณ 2565 เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2565 ณ โรงแรมหรรษนันท์ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก โดย ดร.จรัสดาว คงเมือง รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานิสิต ศิษย์เก่า และศิลปวัฒนธรรม เป็นประธานกล่าวเปิดและมอบเกียรติบัตรให้แก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรม โดยมีตัวแทนซึ่งเป็นผู้บริหารและผู้รับผิดชอบโครงการสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันยาเสพติดในสถาบันอุดมศึกษา ภาคเหนือตอนล่าง ของสถาบันเครือข่ายภาคเหนือตอนล่างเข้าร่วมกันอย่างพร้อมเพรียง ซึ่งสถาบันอุดมศึกษาเครือข่ายภาคเหนือตอนล่าง ได้ร่วมแลกเปลี่ยนรูปแบบและแนวทางในการดำเนินงานร่วมกัน อีกทั้งได้ร่วมกันให้ข้อเสนอแนะและตอบข้อซักถาม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาการดำเนินของแต่ละสถาบันร่วมถึงพัฒนาความร่วมมือภายในเครือข่ายต่อไป

ที่มา: กองกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยนเรศวร

ตรวจวิเคราะห์คุณภาพอาหาร “อาหารปลอดภัยใส่ใจผู้บริโภค” ณ โรงอาหาร NU Square และ NU Canteen

เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2565 สาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม จัดกิจกรรมโครงการบริการวิชาการ บูรณาการโครงการวิชาอาหารปลอดภัยใส่ใจผู้บริโภค/ปฏิบัติการการตรวจวิเคราะห์คุณภาพอาหารโดยชุดทดสอบที่ได้มาตรฐาน ณ โรงอาหาร NU Square และ NU Canteen มหาวิทยาลัยนเรศวร ภายใต้รายวิชา 554311 Food Sanitation, Food Safety and Quality Control การสุขาภิบาลอาหาร อาหารปลอดภัย และการควบคุมคุณภาพ

ผู้รับผิดชอบรายวิชา ดร.สุดาวดี ยะสะกะ พร้อมด้วยคณาจารย์และนิสิตชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ลงพื้นที่ให้ความรู้ด้านสุขาภิบาลร้านค้า เสริมสร้างสุขนิสัยที่ดีในการปฏิบัติงาน ผู้สัมผัสอาหารปฏิบัติงานอย่างถูกต้อง การแต่งกายที่ถูกสุขลักษณะ การล้างมือ 7 ขั้นตอน รวมทั้งเก็บตัวอย่างมือผู้ประกอบการร้านอาหารต่าง ๆ โดย ใช้ชุดทดสอบ Swab Test Kit SI2 และเก็บตัวอย่างอาหารมาทดสอบในห้องปฏิบัติการ เพื่อนำผลมาวิเคราะห์ และเสนอแนะแนวทางการปฏิบัติและให้ความรู้เพื่อเป็นประโยชน์และสร้างสุขาภิบาลที่ดีต่อไป

ที่มา: สาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม คณะสาธารณสุขศาสตร์ มน.

ม.นเรศวร ร่วมแลกเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงานด้านณรงค์ป้องกันยาเสพติดในสถาบันอุดมศึกษาเครือข่ายภาคเหนือตอนล่าง

เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2565 มหาวิทยาลัยนเรศวร (สถาบันแม่ข่าย) ได้ร่วมแลกเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงานด้านณรงค์ป้องกันยาเสพติดในสถาบันอุดมศึกษาเครือข่ายภาคเหนือตอนล่าง เป็นครั้งที่3 โดยได้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนกับ 1.มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตนครสวรรค์ในประเด็นการลงพื้นที่เป้าหมายรณรงค์และให้ความรู้เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องและรู้เท่าทันสถานการณ์ยาเสพติดในปัจจุบัน 2.มหาวิทยาลัยภาคกลาง ในประเด็นผนวกการให้ความรู้เรื่องยาเสพติดเข้ากับวิชาเรียน และ 3.มหาวิทยาลัยเจ้าพระยา ให้ความรู้การทำคลิปเพื่อเผยแพร่ความรู้การรณรงค์ป้องกันยาเสพติด โดยทั้ง3สถาบัน จะได้นำสิ่งที่ได้จากการดำเนินงานร่วมแลกเปลี่ยนกับสถาบันอุดมศึกษา เครือข่ายภาคเหนือตอนล่างต่อไป

ที่มา: กองกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยนเรศวร

Sustainability

NARESUAN UNIVERSITY

Solverwp- WordPress Theme and Plugin