Archives May 2022

ม.นเรศวร ตั้ง กก.สอบ! เครือข่าย ปชช. ยื่นร้องพฤติกรรมนักวิชาการทำEIA แนวส่งน้ำยวมไม่น่าไว้ใจ

สืบเนื่องจากสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เคยนำเสนอข่าวในช่วงเดือนเมษายน 2565 ที่ผ่านมา ชาวบ้าน ต.นาคอเรือ อ.ฮอต จ.เชียงใหม่ ได้ออกคัดค้านการก่อสร้างโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล (แนวส่งน้ำยวม) พร้อมตั้งข้อสังเกตกรณีนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยนเรศวร ที่เข้ามาในพื้นที่ว่า อาจจะมีพฤติกรรมไม่ชอบมาพากล เหมือนที่ทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) แบบไม่ถูกต้องตามข่าวที่สำนักข่าวอิศราเคยนำเสนอ ซึ่งเรียกว่า ‘EIA ร้านลาบ’ 

277185726 3083695085175796 3074945533297550827 n

สำนักข่าวอิศรา รายงานความเคลื่อนไหวล่าสุด ว่า เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2565 เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม-เงา-เมย-สาละวิน  ได้ทำหนังสือถึงประธานสภามหาวิทยาลัยนเรศวร และทำสำเนาถึงนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เพื่อขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของนักวิชาการในมหาวิทยาลัยนเรศวรกลุ่มหนึ่ง กรณีที่รับจ้างจากกรมชลประทาน จัดทำรายงาน EIA โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล และโครงการสืบเนื่อง เป็นทางการ

เนื้อหาหนังสือระบุสาระคำสัญว่า ที่ผ่านมา คณะนักวิชาการกลุ่มนี้ เคยทำรายงาน EIA โครงการไว้และสิ้นสุดขอบข่ายการปฏิบัติงานไปเมื่อเดือนสิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งกระบวการทำรายงาน EIA มีปัญหาหลายจุด อาทิ จำนวนพื้นที่และผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการไม่สอคล้องกับความเป็นจริง, กระบวนการรับฟังความเห็นประชาชนในพื้นที่ไม่ครบถ้วน, ใช้ข้อมูลผิดวัตถุประสงค์ และใช้รูปภาพหรือข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือ เป็นต้น 

โดยทางเครือข่ายประชาชนฯ จะให้เวลาตอบกลับภายใน 15 วัน นับจากวันที่ได้รับหนังสือฉบับนี้ ซึ่งภายในหนังสือดังกล่าวแนบชื่อนักวิชาการจำนวน 9 รายที่ร่วมจัดทำรายงาน EIA ทั้งหมดด้วย (ดูรายละเอียดในหนังสือท้ายเรื่อง) 

ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ได้พยายามติดต่อไปยังมหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงเรื่องนี้เพิ่มเติม ได้รับการยืนยันจากแหล่งข่าวในมหาวิทยาลัยว่า ทางสภามหาวิทยาลัยได้รับเรื่องดังกล่าวไว้เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2565 แต่เนื่องจากสภามหาวิทยาลัยตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ จึงต้องส่งเรื่องต่อไปยังสำนักงานสภาฯ ที่กรุงเทพฯ 

“จดหมายที่มาถึงไม่มีเอกสารแนบใด ๆ มีเพียงเนื้อความในจดหมาย 2 แผ่นเท่านั้น แต่ตอนนี้ตามระเบียบของมหาวิทยาลัยได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว คาดว่าจะใช้เวลา 90 วัน แต่หากเป็นเรื่องร้องเรียนจากภายนอกมหาวิทยาลัย ทางสภามหาวิทยาลัยก็จะเร่งรัดให้ใช้เวลาพิจารณาเร็วขึ้น แต่ไม่สามารถบอกได้ว่า จะใช้เวลาตรวจสอบนานแค่ไหน”  แหล่งข่าวระบุ   

ขณะที่ นายวันชัย ศรีนวน ผู้ใหญ่บ้านแม่งูด ต.นาคอเรือ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม-เงา-เมย-สาละวิน ซึ่งประกอบด้วยกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายกและสมาชิกองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น ชาวบ้านที่ได้รับผลประทบ ได้ส่งหนังสือถึงประธานสภามหาวิทยาลัยนเรศวร(มน.)และศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวตกรรม(อว.)เพื่อขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของนักวิชาการกลุ่มหนึ่งใน มน. กรณีรับจ้างกรมชลประทานการจัดทำรายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ)โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล และโครงการสืบเนื่อง เพราะมีข้อมูลหลายส่วนที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง และมีการแอบอ้างชื่อและภาพชาวบ้านไว้ในงานวิจัยโดยไม่ขออนุญาตที่สำคัญคือมีการเบียงเบนข้อเท็จจริง

นายวันชัยกล่าวย้ำว่า หนังสือดังกล่าวเห็นชอบและลงนามโดยผู้นำชุมชน 9 ราย อาทิ ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลแม่สวด นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน กำนันต.นาคอเรือ กำนัน ต.ฮอด อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ เป็นต้น 

ส่วน นายดวงจันทร์ ทองคำ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านแม่เงา ต.แม่สวด อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากเขื่อนกั้นแม่น้ำยวม สถานีสูบน้ำ และกองดินจากการขุดอุโมงค์ กล่าวว่า “ขณะนี้ชาวบ้านในเขตป่า 3 จังหวัด กำลังได้เจอปัญหาเดียวกัน ทั้งการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำยวม ขุดอุโมงค์ และสายส่งไฟฟ้าแรงสูง เราจะได้รับผลกระทบที่รุนแรงหลายสิ่งอย่างมาก ทั้งกุ้งหอยปูปลา แม่น้ำ ป่าไม้ ที่ดินทำกินของเรา กรณีที่นักวิชาการ มน.รับทำการศึกษาโครงการนั้น ตนและผู้นำในพื้นที่ ต่างพบเจอสิ่งเดียวกัน คือ พบว่ามีตัวแทนจากมหาวิทยาลัย นเรศวรมาพบเรา มายืนข้างเรา และถ่ายรูปเราไป”

“ที่จริงการที่เขาถ่ายรูปผมควรต้องขออนุญาตก่อน ผมถามว่า มาจากที่ไหน อยู่หน่วยงานไหน แต่เขาบอกว่ามาจากกรมชลฯ เขาตอบว่าจบดอกเตอร์ แต่ธรรมชาติสอนให้ผมรู้ที่ต่ำที่สูง รู้ในสิ่งที่ผิดที่ถูก เราไม่ใช่คนไม่มีมารยาท บ้านป่าของเราก็มีการศึกษา เขาถามว่าถ้ามีคนมาเอาเงินเป็นล้านมาให้จะเอาไหม ผมบอกไปว่าผมไม่เอาเงินล้าน ผมอยู่บ้านป่า ผมกินของดอย กินกุ้งหอยปูปลา ดีกว่าเงินล้านเดียว หากรับเอาไปปีเดียวก็หมด ล้านเดียวเดี๋ยวก็หมดเกลี้ยง เอาทรัพยากรธรรมชาติของเรากลับคืนมาดีกว่า พวกเรายืนยันว่าจะไม่โยกย้าย จะไม่หนี” ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านกล่าว

WaterNorth140565
38794F7B 3FD5 4D1E 9E53 FEF3ACD81B27

ที่มา: สำนักข่าวอิศรา

อร่อยเต็มอิ่ม กับ “ทุเรียนหลง-หลินลับแล” ด้วยนวัตกรรม “ยืดอายุทุเรียนสดแบบแกะพู”ของมหาวิทยาลัยนเรศวร

จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นเมืองมหัศจรรย์แห่งผลไม้ เพราะอุดมสมบูรณ์ไปด้วยผลไม้หลากหลายชนิด ทั้งทุเรียน ลางสาด สับปะรดห้วยมุ่น ฯลฯ โดยผลไม้ที่สร้างชื่อเสียงมากที่สุดคือ ทุเรียนพันธุ์หลงลับแล และหลินลับแล ซึ่งมีแหล่งผลิตสำคัญอยู่ที่อำเภอลับแลและอำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ มีผลผลิตเข้าสู่ตลาดประมาณเดือนเมษายน-สิงหาคม ของทุกปี

“ทุเรียนหลงลับแล” เป็นทุเรียนสายพันธุ์พื้นเมืองของอำเภอลับแล มีเอกลักษณ์ประจำพันธุ์ คือ เนื้อสีเหลืองอ่อนนุ่ม ไม่มีเสี้ยน กลิ่นอ่อน รสชาติหวาน มีผลขนาดเล็ก 1-2 กิโลกรัม เมล็ดลีบ เนื้อแห้ง เจริญเติบโตได้ดีบนที่เชิงเขา ทนทานต่อโรครากเน่าโคนเน่า แม้ว่าจะนำไปปลูกในแหล่งปลูกทุเรียนอื่นๆ ก็ไม่มีรสชาติดีเท่าที่อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์

ปัจจุบัน ทุเรียนอำเภอลับแลมีราคาสูง และได้รับความนิยมมาก แต่ประสบปัญหามีคุณภาพไม่สม่ำเสมอ เนื่องจากขาดธาตุอาหาร หรือปริมาณธาตุอาหารที่มีในดินไม่เพียงพอต่อการผลิต การไว้ผลต่อต้นไม่เหมาะสม รวมทั้งปัญหาการแพร่ระบาดของหนอนผีเสื้อกลางคืนเจาะเมล็ดทุเรียนในขณะที่ผลอ่อน โดยตัวหนอนเจาะเข้าไปกัดกินเมล็ดภายในผลทุเรียน ถ่ายมูล ทำให้ทุเรียนเปรอะเปื้อน สร้างความเสียหายแก่ผลทุเรียนในช่วงฤดูฝนเป็นจำนวนมาก

วิธีดูแลทุเรียน ในระยะให้ผลผลิต
สถานวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว คณะเกษตรศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ดำเนินโครงการ “การจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตทุเรียนหลงลับแลเพื่อการส่งออก” แก่สหกรณ์การเกษตร อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ตั้งแต่การปลูกจนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิต เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร ผู้ประกอบการการค้า และผู้ส่งออก

สำหรับการดูแลต้นทุเรียนในระยะให้ผลผลิต มหาวิทยาลัยนเรศวร มีคำแนะนำดังนี้

การให้น้ำ ควรให้น้ำสม่ำเสมอในช่วงที่มีการเจริญเติบโตทางใบ และงดน้ำในช่วงปลายฝนเพื่อเตรียมการออกดอก เมื่อต้นทุเรียนออกดอกแล้วให้ควบคุมปริมาณน้ำที่จะให้ โดยค่อยๆ เพิ่มปริมาณน้ำขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้ดอกทุเรียนมีพัฒนาการที่ดี จนเมื่อดอกทุเรียนพัฒนาถึงระยะหัวกําไล (ก่อนดอกบาน 1 สัปดาห์) ให้ลดปริมาณน้ำลง โดยให้เพียง 1 ใน 3 ของปกติ เพื่อช่วยให้มีการติดผลดีขึ้น และให้น้ำในปริมาณนี้ไปจนดอกบานและติดผลใน 1 สัปดาห์ จากนั้นจึงค่อยๆ เพิ่มปริมาณน้ำขึ้นเรื่อยๆ และต้องให้น้ำอย่างเพียงพอและสม่ำเสมอตลอดช่วงพัฒนาการของผลทุเรียน
การใส่ปุ๋ย ควรใส่ปุ๋ยและวัสดุปรับปรุงดินตามผลการตรวจวิเคราะห์ดิน หรืออาจใส่ปุ๋ยตามแนวทางดังนี้

ใส่ปุ๋ยเพื่อเพิ่มความสมบูรณ์ต้นหลังเก็บเกี่ยว โดยใส่ปุ๋ยอินทรีย์ จํานวน 20-50 กิโลกรัม ต่อต้น ส่วนปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 ใส่อัตราเป็นกิโลกรัมต่อต้น เท่ากับ 1 ใน 3 ของเส้นผ่าศูนย์กลางทรงพุ่ม
ใส่ปุ๋ยเพื่อส่งเสริมพัฒนาการของผล เมื่อผลมีอายุ 7 สัปดาห์ ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 12-12-17 หรือ 13-13-21 อัตราเป็นกิโลกรัมต่อต้น เท่ากับ 1 ใน 3 ของเส้นผ่าศูนย์กลางทรงพุ่ม
ใส่ปุ๋ยเพื่อเพิ่มคุณภาพเนื้อ เมื่อผลมีอายุ 10-11 สัปดาห์ ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 0-0-50 อัตรา 1 ถึง 2 กิโลกรัมต่อต้น
การตัดแต่งดอก ทำการตัดแต่งดอกหลังจากออกดอก 5 สัปดาห์ ควรตัดแต่งช่อดอกบนกิ่งขนาดเล็ก (เส้นผ่าศูนย์กลางกิ่งน้อยกว่า 2 เซนติเมตร) หรือดอกที่อยู่ปลายกิ่งทิ้งให้เหลือเฉพาะดอกรุ่นในกิ่งเดียวกัน ให้มีจํานวนช่อดอก ประมาณ 3-6 ช่อดอก ต่อความยาวกิ่ง 1 เมตร แต่ละช่อดอกห่างกัน ประมาณ 30 เซนติเมตร
การตัดแต่งผล

ครั้งที่ 1 เมื่อผลอายุ 4-5 สัปดาห์ หลังดอกบาน ตัดแต่งผลที่มีขนาดเล็ก รูปทรงบิดเบี้ยว และไม่อยู่ในตําแหน่งที่ต้องการออก เหลือผลไว้ประมาณ 2-3 เท่า ของจำนวนผลที่ต้องการไว้จริง ครั้งที่ 2 เมื่อผลอายุ 6 สัปดาห์ หลังดอกบาน ระยะนี้ผลที่ปกติจะมีการขยายตัวด้านยาว สีผิวเขียวสดใส หนามมีขนาดปกติเรียวเล็ก ถ้าตรวจพบผลที่มีพัฒนาการผิดปกติ มีขนาดเล็ก หนามแดง หรือมีโรคแมลงเข้าทำลายให้ตัดทิ้ง

การเก็บเกี่ยวผลผลิต ใช้วิธีนับอายุ โดยประมาณ ตั้งแต่ดอกบานจนถึงผลแก่พร้อมที่จะตัดได้ พันธุ์กระดุม 90-100 วัน พันธุ์ชะนี 100-110 วัน พันธุ์ก้านยาว, พันธุ์กบ 120-135 วัน พันธุ์หมอนทอง 115-120 วัน พันธุ์หลงลับแล 105-110 วัน พันธุ์หลินลับแล 110-115 วัน

วช. จับมือ ม.นเรศวร ยืดอายุทุเรียนสดแบบแกะพู

หวังเจาะตลาดพรีเมียม อเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้

ดร. วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากความได้เปรียบทางด้านภูมิศาสตร์และวิทยาการในเรื่องการเพาะปลูก ทำให้ประเทศไทยเป็นผู้ปลูกและผู้ส่งออกทุเรียนรายใหญ่ของโลก แต่ถึงกระนั้นการส่งออกทุเรียนผลสดก็ยังประสบปัญหา เพราะผู้บริโภคไม่สามารถมองเห็นคุณภาพเนื้อทุเรียนได้ เกิดความไม่เชื่อมั่นในผลผลิต จึงมีแนวโน้มว่าผู้บริโภคจะเปลี่ยนรสนิยมไปบริโภคทุเรียนแบบแกะพูมากขึ้น เช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกา ก็มีผู้ขายทุเรียนสดแบบแกะพูเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ดังนั้น งานวิจัยจึงมีบทบาทสำคัญในการสร้างนวัตกรรม และสร้างแนวทางใหม่ๆ ที่ช่วยส่งเสริม สนับสนุน และขยายตลาดส่งออกให้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็เป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ประกอบการในการส่งออกทุเรียนไปสู่ตลาดระดับพรีเมียมที่มีมูลค่ามากกว่าเดิม

ผศ.ดร. พีระศักดิ์ ฉายประสาท คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่า ทางมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เรื่อง “การบริหารจัดการสายโซ่คุณค่ามะม่วงน้ำดอกไม้สีทองและทุเรียนหมอนทอง” จนสามารถพัฒนาและยืดอายุการเก็บรักษาทุเรียนสดแบบแกะพูเพื่อการส่งออกจนเป็นผลสำเร็จ

วช. จับมือ มหาวิทยาลัยนเรศวร ยืดอายุทุเรียนสดแบบแกะพู

วิธีดำเนินการเริ่มจากคัดเลือกผลทุเรียนที่ได้มาตรฐาน ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งทุเรียนเกรดดีที่มีเปลือกสวย และทุเรียนที่มีตำหนิ และเป็นทุเรียนที่สุกพอดี เพื่อนำมาแกะเอาเฉพาะเนื้อ โดยจะคัดเลือกแต่พูที่สวยน่ารับประทาน ได้มาตรฐาน แล้วนำไปบรรจุกล่องที่โรงงานมาตรฐานส่งออกในจังหวัดปทุมธานี ในกล่องที่บรรจุทุเรียนจะใส่ซองบรรจุสารดูดซับก๊าซเอทิลินเพื่อชะลอให้ทุเรียนสุกช้าลง (“เอทิลีน” เป็นสารที่ผลไม้แก่เต็มที่ เช่น ทุเรียน มะม่วง กล้วย สร้างขึ้นเองโดยธรรมชาติเพื่อเร่งการสุก)

กล่องที่บรรจุจะต้องเป็นกล่องพลาสติกแบบแอนตี้ฟ็อก ที่ป้องกันการเกิดหยดน้ำและป้องกันไม่ให้เกิดฝ้าขึ้นในกล่อง  วิธีการนี้จะช่วยยืดอายุทุเรียนแกะพู จากไม่เกิน 3 วัน ให้เป็น 7-10 วัน ดังนั้น จึงมีเวลาเพียงพอสำหรับการขนส่ง การส่งออกสินค้าสำหรับผู้ค้าที่อยู่ปลายทาง และมีเวลาเพียงพอที่จะวางสินค้าให้อยู่ในตลาด สำหรับประเทศที่ส่งออกคือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นตลาดระดับพรีเมียมที่ผู้บริโภคสั่งซื้อด้วยระบบพรีออเดอร์ จึงไม่มีสินค้าเหลือตกค้าง

ผศ.ดร. พีระศักดิ์ ฉายประสาท

ข้อดีของการส่งออกทุเรียนแบบแกะพู คือ สามารถนำทุเรียนที่เปลือกไม่สวยแต่เนื้อดีมาใช้ได้ แต่ข้อเสียคือ ในทุเรียนหนึ่งผลอาจจะคัดทุเรียนเนื้อดีได้ไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ทุเรียนส่วนที่เหลือที่ไม่ได้คุณภาพก็จะถูกนำไปแยกขายตามเกรด ดังนั้น ราคาขายปลายทางของทุเรียนแบบแกะพูจึงค่อนข้างสูง เช่น ในสหรัฐอเมริกา ผู้บริโภคซื้อในราคากล่องละประมาณ 30-40 เหรียญสหรัฐ ขณะที่ต้นทุนทุเรียนที่ออกจากสวนอยู่ที่ประมาณ 150 บาท ต่อกิโลกรัม เมื่อบวกค่าดำเนินการต่างๆ เช่น บรรจุกล่อง ค่าขนส่งทางเครื่องบิน ผู้ส่งออกจะได้กำไรไม่ต่ำกว่า 50 เปอร์เซ็นต์

แต่ปัญหาของการส่งออกด้วยวิธีแกะเนื้อ คือ มีปริมาณผลทุเรียนคุณภาพดีไม่เพียงพอ เพราะทุเรียนผลส่วนใหญ่ถูกส่งออกไปประเทศจีน ดังนั้น เพื่อให้มีผลทุเรียนเพียงพอสำหรับใช้งานจึงต้องดำเนินการแบบครบวงจรจากต้นทางคือ ส่งเสริมกระบวนการเพาะปลูกที่ได้มาตรฐานให้แก่เกษตร ซึ่งเป็นโครงการที่ศูนย์วิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องในการจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตทุเรียนเพื่อการส่งออกให้แก่เกษตรกรในจังหวัดอุตรดิตถ์ ปัจจุบัน มีผู้ประกอบการส่งออกทุเรียนแบบแกะพูไม่มาก ในขณะที่ตลาดในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ มีความต้องการสูงมาก จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ส่งออกของไทย

คุณประนอม ใจใหญ่

ด้าน คุณประนอม ใจใหญ่ เจ้าของสวนใจใหญ่ จังหวัดอุตรดิตถ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ทุเรียนตกเกรดที่มีปัญหาหนอนเจาะผล ผลทุเรียนมีเชื้อราสีดำ ทำให้ขายสินค้าไม่ได้ราคา นอกจากนี้ ทุเรียนหลินลับแล และหลงลับแล เกษตรกรตัดทุเรียนที่ความสุก 90-95 เปอร์เซ็นต์ ทำให้มีอายุการขายสั้น 3-4 วันเท่านั้น แต่นวัตกรรมใหม่ของมหาวิทยาลัยนเรศวร ช่วยแก้ไขปัญหาทุเรียนตกเกรดได้เป็นอย่างดี เพราะนวัตกรรมดังกล่าวช่วยยืดอายุการขายการแกะทุเรียนสดได้ยาวนานขึ้น ลูกค้ามีความมั่นใจในคุณภาพสินค้ามากขึ้น เพราะได้มองเห็นด้วยสายตาว่า เนื้อทุเรียนที่นำมาขายนั้นมีคุณภาพอย่างไร การขายทุเรียนสดแบบแกะพูจึงเป็นทางเลือกของผู้ซื้อที่ต้องการบริโภคทุเรียนที่มีคุณภาพ ซึ่งเป็นสินค้าในระดับพรีเมียม และเป็นโอกาสสำหรับผู้ผลิต ผู้ส่งออกที่จะเปิดตลาดใหม่ๆ ที่มีมูลค่าสูงในอนาคต

ที่มา: เทคโนโลยีเกษตร

Sustainability

NARESUAN UNIVERSITY

Solverwp- WordPress Theme and Plugin