Archives July 2022

ม.นเรศวร จับมือภาคเอกชนปั้นแรงงานป้อนอุตสาหกรรมโลจิสติกส์

นายพงศ์ศิริ ศิริธร ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท เคอรี่ โลจิสติคส์ (ประเทศไทย) เปิดเผยภายหลังลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ กับคณะโลจิสติกส์และดิจิทัลซัพพลายเชน มหาวิทยาลัยนเรศวรว่า ได้พัฒนาหลักสูตรและบุคลากรร่วมกัน เพื่อปฏิบัติการดิจิทัลแล็บ ในการติดตั้งซอฟต์แวร์ โปรแกรม Transportation Management System และ Warehouse Management System คณะโลจิสติกส์และดิจิทัลซัพพลายเชน คาดว่า จะใช้ห้องปฏิบัติการภายในปี 66

นอกจากนี้ความร่วมมือดังกล่าว จะเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้มีการฝึกงานและการศึกษาที่เน้นปฏิบัติการในหน่วยงาน หรือสหกิจศึกษา โดยจัดโปรแกรมการฝึกงาน ระหว่างคณะฯ และบริษัทเคอรี่ของนิสิตชั้นปีที่ 3 และปีที่ 4 ซึ่งทำให้นิสิตจะได้เรียนและทำงานเสมือนกับการเป็นพนักงานจริง รวมทั้งเพื่อการทำวิจัยร่วมกัน ในเรื่องทางบริษัทเคอรี่มีความสนใจเป็นพิเศษ อย่างเช่นเส้นทางรถไฟลาวจีนที่กำลังเป็นที่น่าสนใจในแวดวงโลจิสติกส์ และเพื่อพัฒนาทรัพยากรบุคคล การศึกษาดูงาน การแลกเปลี่ยนบุคลากร มาปฏิบัติงานระหว่างหน่วยงาน

การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ จะจัดการฝึกอบรมระยะสั้นและหลักสูตรการศึกษา รวมทั้งความร่วมมือด้านการจัดส่งนิสิตคณะโลจิสติกส์และดิจิทัลซัพพลายเชนไปปฏิบัติสหกิจศึกษาที่ บริษัท เคอรี่ โลจิสติคส์ (ประเทศไทย) จำกัด และคณะโลจิสติกส์และดิจิทัลซัพพลายเชน มหาวิทยาลัยนเรศวร

นายวัชรพล สุขโหตุ คณบดีคณะโลจิสติกส์และดิจิทัลซัพพลายเชน มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ กับ บริษัท เคอรี่ โลจิสติคส์ (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นภาคเอกชนที่มีความพร้อมและความเชี่ยวชาญ ทั้งในด้านซัพพลายเชนโซลูชั่น โลจิสติกส์ การขนถ่ายสินค้า การจัดการคลังสินค้า และการกระจายสินค้าทั่วประเทศ จะเป็นประโยชน์และเป็นโอกาสของคณะฯ ที่จะดำเนินกิจกรรมด้านการวิชาการ การวิจัย รวมถึงการฝึกอบรมระยะสั้น และการสหกิจศึกษา

นอกจากนั้น บริษัท เคอรี่ โลจิสติคส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ให้การสนับสนุนด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น ระบบการจัดการคลังสินค้า (WMS) และระบบการจัดการการขนส่ง (TMS) สำหรับการสร้างห้องปฏิบัติการดิจิทัล ของคณะโลจิสติกส์และดิจิทัลซัพพลายเชน ซึ่งเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อกันทั้ง 2 ฝ่าย เป็นการทำงานร่วมกันของทั้ง 2 ฝ่าย

ที่มา: dailynews

ม.นเรศวร จัดกิจกรรมปลูกต้นกล้วยหอมทอง เพิ่มพื้นที่สีเขียว

เมื่อเวลา 9.00 น. วันศุกร์ที่ 8 กรกฎาคม 2565 บุคลากรกองอาคารสถานที่ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมปลูกต้นกล้วยหอมทอง กว่า 500 ต้น เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ เพิ่มพื้นที่สีเขียว อีกทั้งสามารถใช้ประโยชน์จากผลผลิตที่เกิดขึ้นได้อีกด้วย โดย นายรุ่งรัตน์ พระนาค ผู้อำนวยการกองอาคารสถานที่ เป็นประธานกล่าวเปิดกิจกรรม ณ พื้นที่ด้านหลังอาคารหอพักบุคลากร มน.นิเวศ 4 และขอขอบคุณ ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 6 จังหวัดพิษณุโลก ที่ให้ความอนุเคราะห์พันธุ์กล้วย มา ณ ที่นี้

……….เกร็ดความรู้…………

กล้วยหอม หรือกล้วยหอมทอง ชื่อสามัญคือ Gros Michel ชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Musa (AAA) ‘Hom’ ลักษณะประจำพันธุ์ที่ปลูก กล้วยหอมทองที่ปลูกเป็นหน่อกล้วยที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ (โดยมีระยะเวลาในห้องปฏิบัติการ 1 ปี แล้วนำออกมาอนุบาลในโรงเรือนอีก 3 เดือน เพื่อได้หน่อพร้อมปลูก) อายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 8- 10 เดือน(การสุกแก่ใช้เวลาประมาณ 3 เดือน) ลักษณะผลใหญ่ ปลายโค้งเรียวยาว เปลือกบาง เมื่อสุกจะมีสีเหลืองทอง รสหวาน มีกลิ่นหอม

ประโยชน์ ของกล้วยหอมทองมีมากมาย เช่น ให้พลังงานมากถึง 100 กิโลแคลลอรี่ต่อหน่วย มีน้ำตาล อยู่ 3 ชนิด ได้แก่ ซูโครส ฟรุกโตส และกรูโคส รวมทั้งเส้นใยอาหาร ดังนั้น เราจะได้รับพลังงาน ที่สามารถนำไปใช้ได้ทันที เพียงกล้วยหอมทอง 2 ผล ก็ให้พลังงานได้นานถึง 90 นาที และยังมี สรรพคุณอื่นๆ เช่น ช่วยให้คลายเครียด เพราะกล้วยหอมทองมีสาร Tryptophan ที่ร่างกายเปลี่ยนเป็น Serotonin ซึ่งเป็นสารกระตุ้นทำให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลาย ช่วยลดการเกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ ลดอาการจุกเสียดแน่นท้อง และช่วยลดท้องผูก

กิจกรรมปลูกต้นไม้ (ต้นกล้วยหอมทอง) เพิ่มพื้นที่สีเขียว

Sustainability

NARESUAN UNIVERSITY

Solverwp- WordPress Theme and Plugin