Archives August 2022

เด็กๆ แห่แข่งขันเครื่องบินกระดาษพับ ในงานสัปดาห์ วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ที่มหาวิทยาลัยนเรศวร

วันที่ 18 สิงหาคม 2565 ที่ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ต.ท่าโพธิ์ อ.เมือง จ.พิษณุโลก ได้จัดงานสัปดาห์ วิทยาศาสตร์แห่งชาติในส่วนภูมิภาค ภาคเหนือตอนล่างขึ้น ซึ่งบรรยากาศมีน้องๆ นักเรียนจากหลากหลายโรงเรียนในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างเดินทางมาร่วมกิจกรรมอย่างคึกคัก
สำหรับการจัดงานครั้งนี้ ทางกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ ได้ให้คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นศูนย์กลางในการจัดงานสัปดาห์ วิทยาศาสตร์แห่งชาติในส่วนภูมิภาค ภาคเหนือตอนล่าง โดยได้ดำเนินการกิจกรรมระหว่างวันที่ 17-19 สิงหาคม 2565 ภายใต้โครงการสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ครั้งที่ 33 ประจำปี 2565 ในรูปแบบ Onsite และรูปแบบ Online (บางส่วน) โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคักมีนักเรียนจาก 9 จังหวัดภาคเหนือตอนล่างเดินทางมาร่วมกิจกรรมจำนวนมาก
ในขณะที่ทางร้านค้าที่มาเปิดร้านภายในงาน ระบุว่าปีนี้มีนักเรียนเดินทางมาร่วมกิจกรรมลดน้อยลงกว่าทุกปีที่ผ่านมา ทั้งนี้เนื่องจากยังกังวลเรื่องสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด -19 นอกจากนี้ที่บริเวณตึกฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ภาควิชาฟิสิกส์ได้จัดการแข่งขันเครื่องบินกระดาษพับ ไม่จำกัดระดับชั้น ทำให้มีนักเรียนในสังกัดโรงเรียนเขตภาคเหนือตอนล่าง ประกอบด้วย จ.อุตรดิตถ์, พิษณุโลก, ตาก, กำแพงเพชร, เพชรบูรณ์, สุโขทัย, พิจิตร, นครสวรรค์ และอุทัยธานี เข้าร่วมแข่งขันเครื่องบินกระดาษพับ ทั้งประเภทร่อนนาน และประเภทแม่นยำ จำนวน 168 คน
สำหรับผู้ที่ชนะการแข่งขัน ประเภทร่อนนาน รางวัลชนะเลิศ เงินรางวัล 800 บาท รองชนะเลิศลำดับที่ 1 เงินรางวัล 500 บาท และรองชนะเลิศลำดับที่ 2 เงินรางวัล 300 บาท พร้อมใบประกาศนียบัตร ซึ่งจะมอบให้ผู้เข้าแข่งขันที่ทำสถิติที่ดีที่สุด 20 อันดับด้วยเช่นกัน ส่วนประเภทแม่นยำ รางวัลชนะเลิศ เงินรางวัล 800 บาท รองชนะเลิศลำดับที่ 1 เงินรางวัล 500 บาท และรองชนะเลิศลำดับที่ 2 เงินรางวัล 300 บาท ส่วนใบประกาศนียบัตรจะมอบให้ผู้เข้าแข่งขันที่ผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศเท่านั้น ซึ่งการแข่งขันเครื่องบินกระดาษพับจะเป็นการฝึกให้เด็กๆได้มีสมาธิ มีทักษะในเรื่องรูปทรง ว่าลักษณะไหนเมื่อพับออกมาจะร่อนได้นานที่สุดและร่อนนานที่สุดอีกด้วย

ที่มา: phitsanulokhotnews

ม.นเรศวร จัดโครงการอบรมแกนนำจิตอาสาเฝ้าระวังปัญหายาเสพติดภายในหอ

กองกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้จัดโครงการอบรมแกนนำจิตอาสาเฝ้าระวังปัญหายาเสพติดภายในหอ เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2565 ณ อาคารขวัญเมือง มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยมีผู้อำนวยการกองกิจการนิสิต เป็นประธานเปิดโครงการฯ โดยได้รับเกียรติจาก คุณวิทวัส บุญธรรมกุล จากสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภาค6 ซึ่งเป็นศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยนเรศวร คณะนิติศาสตร์ บรรยายในหัวข้อ “สถานการณ์การแพร่ระบาดของยาเสพติดในปัจจุบัน” โดยมีนิสิตหอพักและนิสิตที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ เพื่อร่วมกันร่างแผนงานการเฝ้าระวังและแก้ไขปัญหายาเสพติด มหาวิทยาลัยนเรศวร

ที่มา: กองกิจการนิสิต มหาวิยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร เปิดบ้านจัดสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ครั้งที่ 33

รศ.ดร.ศรินทร์ทิพย์ แทนธานี รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นประธานเปิดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ครั้งที่ 33 ประจำปี 2565 พัฒนาเยาวชนภูมิภาคให้ก้าวไกล ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในหัวข้อ “เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (BIO-Circular Green Economy)” โดยจัดระหว่างวันที่ 17 – 19 สิงหาคม 2565 ณ บริเวณคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ภายในงานจัดให้มีกิจกรรมต่างๆ มากมาย อาทิ การแข่งขันเพื่อคัดเลือกตัวแทน ไปแข่งขันระดับประเทศ การบรรยายจากผู้ทรงคุณวุฒิ การจัดนิทรรศการทางวิชาการของทางคณะวิทยาศาสตร์ และจากหน่วยงานและคณะต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัยนเรศวร กิจกรรมให้ความรู้อีกมากมาย รวมไปถึงการจำหน่ายสินค้าทางการเกษตรและอุตสาหกรรม ตลอดจนสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์

ที่มา: งานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ให้ความรู้ร่วมสร้างจิตสำนึกและมาตรการเพื่อความปลอดภัยอย่างแท้จริงตามกฎหมายจราจรทางบก

วันที่ 16 สิงหาคม 2565 รศ.ดร.บุญญรัตน์ โชคบันดาลชัย คณบดีคณะนิติศาสตร์ ร่วมการสัมมนา เรื่อง จิตสำนึกและมาตรการเพื่อความปลอดภัยอย่างแท้จริงตามกฎหมายจราจรทางบก โดยเข้าร่วมเวทีอภิปราย ภายใต้หัวข้อ “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและมหาวิทยาลัยกับการสร้างมาตรการสำหรับความปลอดภัยบนถนน” โดยมี นายจุมพฏ วรรณฉัตรสิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ เป็นผู้ร่วมอภิปราย และนายอรรณพ ศักดิ์ศิริญดากุล ผู้พิพากษา และเลขานุการศาลยุติธรรมประจำภาค 6 เป็นผู้ดำเนินรายการ จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ณ ห้องประชุมวังจันทน์ คอนเวนชั่น โรงแรมวังจันทน์ริเวอร์วิว จังหวัดพิษณุโลก และระบบออนไลน์ผ่านโปรแกรม Zoom Meeting

ที่มา: คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ให้ความรู้กฏหมายสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ LGBTI Rights

วันที่ 2 สิงหาคม 2565 รองศาสตราจารย์ ดร.บุญญรัตน์ โชคบันดาลชัย คณบดีคณะนิติศาสตร์ เป็นประธานเปิดกิจกรรมบรรยายให้ความรู้ด้านกฎหมาย ภายใต้โครงการวันรพี ประจำปีการศึกษา 2565 ซึ่งเป็นความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ กับ มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยได้รับเกียรติจาก ดร.เชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อ “สิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ LGBTI Rights” ให้แก่นิสิตคณะนิติศาสตร์ กิจกรรมครั้งนี้จัดขึ้น ณ ห้องศาลจำลอง ชั้น 4 อาคารคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และผ่านทางระบบออนไลน์ (โปรแกรม Zoom Meeting)

ที่มา: คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

สิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ LGBTI Rights

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ขอเชิญนิสิตและผู้สนใจเข้าร่วมฟังบรรยายให้ความรู้ด้านกฎหมาย ในโครงการวันรพี ประจำปีการศึกษา 2565 หัวข้อ “สิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ LGBTI Rights” ในวันอังคารที่ 2 สิงหาคม 2565 เวลา 9.30 – 12.00 น. ณ ห้องศาลจำลอง ชั้น 4 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร (จำนวน 50 ที่นั่ง) ออนไลน์ผ่านโปรแกรม ZOOM Meeting (จำนวน 300 ที่นั่ง) ที่ https://nu-ac-th.zoom.us/j/97926718794… Meeting ID: 979 2671 8794 Passcode: 551111
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม : งานกิจการและศิษย์เก่าสัมพันธ์ คณะนิติศาสตร์ โทร. 0-5596-1733, 0-5596-1734

ที่มา: คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร จัดโครงการพัฒนาศักยภาพนิสิต เพื่อผลิตบัณฑิตคุณภาพ

เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2565 ดร.จรัสดาว คงเมือง รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานิสิต ศิษย์เก่าและศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นประธานเปิดโครงการพัฒนาศักยภาพนิสิต เพื่อผลิตบัณฑิตคุณภาพ โดยได้รับเกียรติจาก ดร.วรพรต ยอดเพชร ที่ปรึกษาโครงการรุ่นเยาว์ ด้านการศึกษาเพื่อสุขภาพและความเป็นอยู่องค์การยูเนสโก(ศิษย์เก่าคณะศึกษาศาสตร์ รหัส 55)กรุงเทพมหานคร เป็นวิทยากรให้ความรู้ในหัวข้อ ทักษะอนาคต: การเรียนรู้และพัฒนาการที่ยั่งยืน (SDGs) มีนิสิตเข้าร่วมรับฟังการบรรยายในครั้งนี้ จำนวน 400 คน ณ ห้องมหาราช อาคารอาคารอุทยานองค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช มหาวิทยาลัยนเรศวร

ที่มา: กองกิจการนิสิต มหาวิยาลัยนเรศวร

ออกบูธแสดงการทดสอบพารามิเตอร์ ด้านคุณภาพทางสิ่งแวดล้อม

เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2565 รศ.ดร.ณรงค์ศักดิ์ หนูสอน คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ พร้อมด้วย ผศ.ดร.รุ่ง วงศ์วัฒน์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ ตัวแทนคณาจารย์และนิสิตทุกหลักสูตรของคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมจัดบูธประชาสัมพันธ์หลักสูตรในโครงการ Thailand Education Expo 2022 ณ ห้องมหาราช อุทยานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มหาวิทยาลัยนเรศวร (King Naresuan Exhibition and Convention Center) โดยมีนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปลายในจังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดใกล้เคียง เข้าร่วมโครงการดังกล่าวเป็นจำนวน 1,800 คน

ในการนี้ สาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม เข้าร่วมการจัดกิจกรรมออกบูธประชาสัมพันธ์ นำโดย ผศ.ดร.พีรญา อึ้งอุดรภักดี หัวหน้ากลุ่มสาขาอนามัยสิ่งแวดล้อมและอาชีวอนามัย พร้อมด้วย ผศ.ดร.พันธ์ทิพย์ หินหุ้มเพ็ชร รองคณบดีฝ่ายประกันคุณภาพการศึกษา และ ดร.มนัสวี พานิชนอก อาจารย์ประจำสาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม และนิสิตสาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม ได้แก่ 1. นางสาวจริญญา มูลตองคะ 2. นายพุฒิเมธ เฉิดฉาย 3. นางสาววิลาสิณี สาตเวช

โดยประชาสัมพันธ์หลักสูตรพร้อมทำกิจกรรมต่าง ๆ ในบูธแสดงการทดสอบพารามิเตอร์ต่าง ๆ ด้านคุณภาพทางสิ่งแวดล้อม และคุณภาพด้านสุขาภิบาลอาหาร ให้ความรู้ด้านการจัดการขยะของเสียอันตราย และเชิญชวนน้อง ๆ นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายเพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยต่อไป

ทางสาขาวิชาฯ ต้องขอบคุณนิสิตทั้งสามท่าน ที่ช่วยเหลือสาขาวิชาฯ ในการประชาสัมพันธ์หลักสูตรฯ ในครั้งนี้ เชื่อว่าพลังงานดีๆ ที่นิสิตได้ถ่ายทอดไปให้แก่น้อง ๆ ทุกคน จะเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจเข้าเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นของน้อง ๆ ต่อไป

ที่มา: สาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม คณะสาธารณสุขศาสตร์ มน.

วช. สนับสนุนทีมวิจัย ม.นเรศวร ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตองุ่นไชน์มัสแคทเพื่อการพาณิชย์

วช. สนับสนุนทีมวิจัย ม.นเรศวร ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตองุ่นไชน์มัสแคทเพื่อการพาณิชย์ เผยจุดเด่นทำให้เป็นองุ่นไร้เมล็ด เพิ่มมูลค่า และเก็บเกี่ยวได้ 2 รอบต่อปี ซึ่งนอกจากจะเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรผู้ปลูกองุ่นแล้ว ยังทำให้คนไทยเข้าถึงการบริโภคองุ่นพันธุ์นี้ได้ง่ายขึ้นและลดการนำเข้าจากต่างประเทศเก็บตก… จากงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 กับอีกหนึ่งบูธที่ได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมงานเป็นอย่างมากจากการนำเสนอผลงานที่มุ่งยกระดับผลผลิตทางเกษตรเพื่อการพาณิชย์และการส่งออกในอนาคตของทีมวิจัยจากคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวรที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ในภาคการเกษตร การปลูกผลไม้ให้มีคุณภาพสูง และได้มาตรฐานจนเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศได้นั้น เกษตรกรผู้ปลูกจำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้ เทคโนโลยี และเงินลงทุนค่อนข้างสูง อย่างเช่น การปลูกองุ่นไชน์มัสแคทที่จำเป็นต้องสร้างโรงเรือนและต้นพันธุ์องุ่น รวมทั้งอาศัยหลักการจัดการที่ถูกต้อง โดยใช้เทคโนโลยีการผลิตและหลังการเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จึงได้สนับสนุนทุนวิจัยให้กับโครงการ “การจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตองุ่นไชน์มัสแคทเพื่อการพาณิชย์” ในปีงบประมาณ 2563  ภายใต้โครงการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อชุมชน เพื่อยกระดับกระบวนการผลิตพร้อมทั้งถ่ายทอด สร้างความรู้ความเข้าใจให้เกิดแก่เกษตรกร ตลอดจนเพิ่มศักยภาพและสร้างมาตรฐานการผลิตองุ่นไชน์มัสแคท  เพื่อการพาณิชย์และการส่งออกในอนาคต

โดยมี “รศ.ดร.พีระศักดิ์  ฉายประสาท” ผู้อำนวยการสถานความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นหัวหน้าโครงการ เปิดเผย ถึงที่มาของโครงการดังกล่าวว่า  เนื่องจากทีมวิจัยได้รับการสนับสนุนจากสโมสรโรตารี่สากลในการไปฝึกอบรมพร้อมกับเกษตรกรที่ประเทศญี่ปุ่น ก่อนที่จะกลับมาช่วยพัฒนาการผลิตองุ่นไชน์มัสแคทในประเทศไทย  หลังจากนั้นจึงได้รับทุนวิจัยจาก วช.ในการจัดอบรมเพื่อถ่ายทอดความรู้แก่นักวิชาการ เกษตรกรผู้ปลูกองุ่นไชน์มัสแคทและผู้ที่สนใจในปี 2564

“จากที่เราไปศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่นทั้งเรื่องเทคโนโลยีการปลูก การเก็บเกี่ยว และการเก็บรักษา ซึ่งก็ได้นำมาถ่ายทอดให้กับเกษตรกรจริงๆ ที่เมืองไทยและได้ผลผลิตเรียบร้อยแล้ว  โดยที่ผ่านมามีการถ่ายทอดองค์ความรู้ไปแล้ว 2 รุ่น  เช่น การใช้องุ่นพันธุ์ไชน์มัสแคทต่อยอดกับองุ่นป่า และกระบวนการในการทำให้องุ่นออกดอก และติดผล ซึ่งจุดเด่นของโครงการนื้คือ สามารถทำให้เกิดเป็นองุ่นไร้เมล็ดที่มีราคาสูงขึ้นได้ เกษตรกรผู้ปลูกองุ่นในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างสามารถปลูกจนจำหน่ายได้จริงแล้วในเชิงพาณิชย์  และสามารถเก็บเกี่ยวผลองุ่นได้ถึง 2 รอบต่อปี”รศ.ดร.พีระศักดิ์ กล่าวว่า การพัฒนาการปลูกองุ่นพันธุ์ไชน์มัสแคท ซึ่งมีราคาสูง นอกจากจะทำให้คนไทยเข้าถึงการบริโภคองุ่นพันธ์นี้ง่ายขึ้นแล้ว ยังทำให้กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกองุ่น เช่น ในพื้นตำบลวงฆ้อง อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก มีคุณภาพชีวิตหรือเศรษฐกิจดีขึ้น เนื่องจากมีรายได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 15 % และสามารถลดการนำเข้าองุ่นไชน์มัสแคทได้ ซึ่งในอนาคตทีมวิจัยอยากให้โครงการนี้ขยายพื้นที่ปลูกไปยังจังหวัดอื่นๆ  เพื่อมีการผลิตที่เพียงพอกับความต้องการบริโภคภายในประเทศอย่างไรก็ดี  ภายในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 คณะเกษตรศาสตร์ฯ จากมหาวิทยาลัยนเรศวร  ยังได้ นำผลงาน “การจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตทุเรียนหลงลับแลและหมอนทองเชิงพาณิชย์ในเขตภาคเหนือตอนล่าง” ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก วช. มาจัดแสดง

นอกจากจะมีการฝึกอบรมเกษตรกรในการเรื่องของเทคโนโลยีการปลูก การดูแลรักษา การแก้ปัญหาแพร่ระบาดของแมลง และการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว  ยังมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการตรวจสอบคุณภาพของผลทุเรียน  ทดแทนวิธีการเดิมที่เกษตรกรดูจากสีผิว หนาม และใช้ไม้เคาะ เพื่อประเมินความแก่ของผลทุเรียน โดยเครื่องตรวจสอบความแก่ของผลทุเรียน เป็นเทคโนโลยี NIR (Near Infrared ) ที่นำเข้าจากต่างประเทศ และนำมาพัฒนาเพิ่มเติมในส่วนของสมการที่พัฒนาขึ้นโดยอาศัยการเก็บข้อมูลจริงกว่า 400 ตัวอย่างเพื่อให้การตรวจวัดหาค่าน้ำหนักแห้งในผลทุเรียนที่มีความอ่อน-แก่ในระดับต่าง ๆ  มีความแม่นยำมากขึ้น

ที่มา: เทคโนโลยีเกษตร

นวัตกรรมโปรตีนจิ้งหรีด อันดับ 1 ของเมืองไทยสู่ผู้นำตลาดโลก

เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2565 รศ.ดร.ศรินทร์ทิพย์ แทนธานี รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย และ ผศ.ดร.วรสิทธิ์ โทจำปา คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมงานแถลงข่าว “ความสำเร็จโครงการนวัตกรรมโปรตีนจิ้งหรีด อันดับ 1 ของเมืองไทยสู่ผู้นำตลาดโลก” โดย บริษัท ไทย เอนโท ฟู้ด จำกัด ร่วมกับ บริษัท ไทยชูการ์ เทอร์มิเนิ้ล จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุน ณ ห้องวิคเตอร์ ชั้น 7 สามย่านมิตรทาวน์

โดยวางเป้าหมายเป็นบริษัทผู้นำอุตสาหกรรมการผลิตโปรตีนจิ้งหรีดของไทย พร้อมวางเป้าหมายผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางโปรตีนจิ้งหรีดของโลก และสร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้ภาคการเกษตร ชุมชน สังคม และประเทศ ตั้งเป้ารายได้ 250 ล้านบาทในปี 2566 ด้วยสัดส่วนการขายในประเทศ 30% และต่างประเทศ 70% โดยเบื้องต้นโครงการมีมูลค่าการลงทุน 200 ล้านบาท เพื่อสร้างโรงงานและจัดหาเครื่องจักร รวมถึงร่วมผลักดันทางการตลาดด้วยฐานลูกค้าอุตสาหกรรมที่บริษัทมีอยู่เดิม สำหรับโรงงานแปรรูปผงโปรตีนจิ้งหรีดสามารถเริ่มการผลิตได้ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2565นี้ โดยมีกำลังการผลิตผงโปรตีนจิ้งหรีดมากกว่า 1,200 ตันต่อปี โครงการนี้ถือเป็นความสำเร็จของการนำโครงการวิจัยที่มีการร่วมทุนของภาครัฐและภาคเอกชน ไปขยายผลเชิงพาณิชย์ได้อย่างเป็นรูปธรรม ที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยนเรศวร “University for Entrepreneurial Society” ภายใต้ชื่อโครงการวิจัย “โครงการนวัตกรรมการผลิต Insect-based functional ingredients สําหรับอุตสาหกรรมอาหารและอาหารสัตว์แบบครบวงจรด้วยระบบ Modern insect farming และ Zero-waste” ซึ่งเป็นโครงการวิจัยต่อเนื่อง 3 ปี ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก สกสว. (ปีที่ 1) และ บพข. (ปีที่ 2) โดยมี ผศ. ดร. ขนิษฐา รุตรัตนมงคล คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นหัวหน้าโครงการ โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตโปรตีนทางเลือกและส่วนประกอบฟังก์ชั่นมูลค่าสูงจากแมลงสู่การผลิตในระดับอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่งได้ศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อผลิตโปรตีนคุณภาพสูงจากแมลงในระดับอุตสาหกรรม รวมถึงพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตส่วนประกอบจากแมลงที่มีมูลค่าสูง เช่น โปรตีนเข้มข้น โปรตีนไฮโดรไลเสท เปปไทด์ที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพ และน้ำมัน เป็นต้น เป้าหมายหลักได้แก่ อุตสาหกรรมอาหารแปรรูปและเครื่องดื่ม และรับจ้างผลิตเจาะตลาดโออีเอ็ม ขณะที่กลุ่มลูกค้าประชาชนขายในรูปของอาหาร หรือขนม ที่มีส่วนผสมของผงโปรตีนและผงโปรตีนเวย์ เพื่อการออกกำลังกาย

ที่มา: งานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

Sustainability

NARESUAN UNIVERSITY

Solverwp- WordPress Theme and Plugin