Archives October 2022

สทนช. ร่วมมือ ม.นเรศวร วางแผนสำรองน้ำต้นทุนในฤดูฝน เพื่อเตรียมพร้อมรองรับภัยแล้ง อย่างมีประสิทธิภาพ

สืบเนื่องจากจังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดที่มีความสำคัญที่มีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยวในระดับโลก ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเข้ามามากกว่า 13 ล้านคน (ข้อมูลปี 2559) สามารถทำรายได้เข้าประเทศมากกว่า 3.7 แสนล้านบาท และในปี 2562 มีนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวในภูเก็ตจำนวน 14.54 ล้านคน ทำรายได้เข้าประเทศมากกว่า 4.7 แสนล้านบาท (กองเศรษฐกิจการท่องเที่ยว กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา, 2563) ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต ปัญหาสำคัญหลายประการของจังหวัดภูเก็ตที่เกี่ยวข้องกับเรื่องน้ำ ได้แก่ ปัญหาอุทกภัย ปัญหาน้ำอุปโภค-บริโภคไม่เพียงพอ และปัญหาคุณภาพน้ำ

แต่ปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ได้แก่ ปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภค-บริโภค และปัญหาอุทกภัย ถึงแม้ว่ามีการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลางโดยกรมชลประทานแล้ว แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับอัตราความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้น จากปัญหาดังกล่าวทำให้จังหวัดภูเก็ตได้ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่แก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งอย่างเป็นระบบ (Area Based) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ต้องสนับสนุนการท่องเที่ยว แต่มีสภาพปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งอยู่ในเกณฑ์สูง ประกอบกับมีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูง จึงต้องเร่งดำเนินการหามาตรการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน

นายสราวุธ ชีวะประเสริฐ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)

โดย สทนช. ติดตามความก้าวหน้าและวางแผนสำรองน้ำต้นทุน ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ณ “อ่างเก็บน้ำคลองกะทะ” “โครงการวางท่อน้ำดิบพร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำ (คลองกะทะ) เพื่อสูบผันน้ำในฤดูฝนไปผลิตน้ำประปาและรักษาน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำคลองกะทะ” ณ “สถานีผลิตน้ำคลองกะทะ การประปาส่วนภูมิภาค สาขาภูเก็ต” “ขุมน้ำประปาเทศบาลตำบลเชิงทะเล” และ “โครงการแก้มลิงบ้านโคกโตนดพร้อมระบบผันน้ำไปยังอ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ” โดยคาดว่าโครงการข้างต้น จะช่วยสำรองน้ำต้นทุนของจังหวัดภูเก็ตได้กว่า 0.85 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

รศ.ดร.เดช วัฒนชัยยิ่งเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม

นายสราวุธ ชีวะประเสริฐ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าและติดตามผลการการศึกษาของโครงการ ซึ่ง สทนช. อยู่ระหว่างดำเนินการโครงการศึกษาแผนหลักแบบบูรณาการเพื่อการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งพื้นที่เฉพาะ (Area based) เกาะภูเก็ต โดยได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยนเรศวรและกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาดำเนินการศึกษา ด้านการจัดทำแผนหลักแบบบูรณาการ แนวทางการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการที่ครอบคลุมตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ทั้ง 6 ด้าน ตลอดจนรวบรวม กลั่นกรองและจัดลำดับความสำคัญ แผนปฏิบัติการ ระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาวของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจัดทำรายงานศึกษาวางโครงการเบื้องต้น สำหรับโครงการที่มีความเร่งด่วน ตามแนวทางการแก้ปัญหาตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ทั้ง 6 ด้าน อย่างน้อย 6 โครงการ

จากการศึกษาพบว่า จังหวัดภูเก็ต มีปริมาณน้ำต้นทุนรวม 80.90 ล้านลูกบาศก์เมตร แบ่งออกเป็น อ่างเก็บน้ำ 21.53 ล้านลูกบาศก์เมตร โครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก 1.49 ล้านลูกบาศก์เมตร ขุมน้ำและขุมเหมือง 21.02 ล้านลูกบาศก์เมตร แหล่งน้ำขนาดเล็ก 9.75 ล้านลูกบาศก์เมตร และน้ำบาดาล 27.11 ล้านลูกบาศก์เมตร คาดว่าจะมีความต้องการใช้น้ำรวม 87.67 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปีในปี 2570 และในปี 2583 คาดว่าจะมีความต้องการใช้น้ำถึง 104.93 ล้านลูกบาศก์เมตร ด้วยเหตุนี้ แหล่งน้ำต้นทุนในปัจจุบัน จึงยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำ โดยเฉพาะความต้องการน้ำเพื่อการท่องเที่ยว ซึ่งในอนาคตจะมีความต้องการน้ำถึง 23.58 ล้านลูกบาศก์เมตร ในปี 2570 และ 33.18 ล้านลูกบาศก์เมตร ในปี 2580 หรือคิดเป็นร้อยละ 26.89 และ 31.62 ของความต้องการน้ำทั้งหมดต่อปี

พื้นที่ “อ่างเก็บน้ำคลองกะทะ” แหล่งผลิตน้ำต้นทุนในการผลิตน้ำประปาในเขตอำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต

“การเพิ่มศักยภาพให้แก่การสำรองน้ำต้นทุนของจังหวัดภูเก็ตในช่วงฤดูฝน เพื่อรองรับความต้องการน้ำในช่วงฤดูแล้ง มีความสำคัญต่อการบริหารจัดการน้ำเพื่ออุปโภค บริโภค และอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักของจังหวัดภูเก็ตและของประเทศ จากการศึกษา ได้มีการวางโครงการเบื้องต้นแล้ว จำนวน 6 โครงการ ซึ่งสอดคล้องตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ทั้ง 6 ด้าน ของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ” นายสราวุธ กล่าว

โครงการวางท่อน้ำดิบพร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำ (คลองกะทะ) เพื่อสูบผันน้ำในฤดูฝนไปผลิตน้ำประปาส่วนภูมิภาค สาขาภูเก็ต

ทางด้าน รศ.ดร.เดช วัฒนชัยยิ่งเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงภาพรวมแผนการดำเนินการจัดการน้ำพื้นที่เฉพาะ (Area based) เกาะภูเก็ต ว่าเป็นการบูรณาการร่วมกันจากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน โดยมีเป้าหมายหลักในการจัดการสำรองน้ำต้นทุนเพื่อการอุปโภค-บริโภค โดยเรื่องแรกที่ให้ความสำคัญคือเรื่องของน้ำประปา ที่ทาง สทนช. ได้มีการวางนโยบายและแนวทางการแก้ไขปัญหา เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีน้ำประปาไว้อุปโภค-บริโภค ได้อย่างเพียงพอ และเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถสูงสุดในการรองรังรับภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำสะอาดเพื่อการบริโภคในอนาคต

รวมไปถึงโครงการก่อสร้างสระน้ำแก้มลิงบ้านโคกโตนดพร้อมระบบผันน้ำไปยังอ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ ที่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งเพราะได้เสริมประสิทธิภาพสูงสุดในการกักเก็บน้ำในพื้นที่ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำและเป็นแหล่งต้นทุนที่สำคัญในอนาคต ประกอบกับทาง สทนช. ได้มีแผนการดำเนินการดูแลป่าต้นน้ำ และดูแลในส่วนของคุณภาพการบำบัดน้ำเสีย เพื่อให้ได้น้ำที่มีคุณภาพสูงและลดการปนเปื้อน

คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ สนทช. เยี่ยมชมขุมน้ำประปาเทศบาลตำบลเชิงทะเล
คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ สนทช. ติดตามโครงการแก้มลิงบ้านโคกโตนดพร้อมระบบผันน้ำไปยังอ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ

นายนิธิเดช มากเกตุ วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำทั้ง 4 แหล่ง จะเห็นได้ว่าแหล่งน้ำจากทั้ง 4 แหล่ง ค่อนข้างมีความแตกต่างกัน โดยส่วนตรงนี้จะมีทั้งกรมชลประทาน ที่ดูแลในพื้นที่ชลประทาน เข้าไปสำรวจหน่วยงานในท้องถิ่นที่มีแหล่งผลิตระบบน้ำประปาด้วยตัวเอง รวมถึงการประปาส่วนภูมิภาคที่ผลิตน้ำเพื่อแจกจ่ายให้กับคนในพื้นที่ต่างๆ โดยแผนการดำเนินงานทั้งหมดนี้ ยังไม่เคยรวบรวมมาไว้ด้วยกัน ด้วยเหตุนี้ทาง สทนช. จึงได้จัดทำโครงการนี้ขึ้นมาเพื่อรวมแผนหลักให้มีการบูรณาการร่วมกันกับหลายหน่วยงานเข้าด้วยกัน เพื่อแลกเปลี่ยนปัญหา และกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาไปพร้อมๆ กัน

โครงการแก้มลิงบ้านโคกโตนดพร้อมระบบผันน้ำไปยังอ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ

“ถ้าหากแผนงานทั้งหมดนี้ได้บรรจุอยู่ในที่เดียวกันแล้ว จะขับเคลื่อนได้อย่างไร โดยตามกระบวน พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ เราจะขับเคลื่อนผ่านอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด ในตอนนี้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ดำเนินการมาแล้ว 5 ปี ตัวแผนบูรณาการที่จะทำต่อไปก็จะเป็นแผนอีก 15 ปีถัดมา ว่าภายใน 15 ปีจะเกิดอะไรขึ้นกับภูเก็ต และในอีก 15 ปีจะเป็นอย่างไร ส่วนนี้เราจะนำแผนมารวบรวมและวิเคราะห์ในเชิงวิศวกรรม และในพื้นที่ เพื่อทำแผนนำเสนอต่ออนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดภูเก็ต และเสนอไปยังคณะกรรมการลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันตก และเสนอคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เพื่อให้อนุมัติแผน เพราะฉะนั้นแผนทั้งหมดจะขับเคลื่อนโดยผ่าน พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ อย่างถูกต้อง และเมื่อมีการบูรณาการน้ำกันแล้วก็จะสามารถตอบคำถามได้ว่า ในจังหวัดภูเก็ตเมื่อพัฒนาเต็มศักยภาพแล้วเพียงพอหรือไม่เพียงพออย่างไร ซึ่งการดำเนินการต่อไปก็จะมีประชุมกลุ่มย่อยอีกครั้ง เพื่อพิจารณาข้อมูลใน 4 พื้นที่ โดยมีเจ้าหน้าที่แต่ละตำบล แต่ละอำเภอ เข้ามาให้ความเห็นเพิ่มเติม เพื่อทำให้ข้อมูลหนักแน่นยิ่งขึ้นก่อนที่จะดำเนินการแผนต่อไป” นายนิธิเดช กล่าว

ที่มา: เทคโนโลยีเกษตร

ม.นเรศวร ร่วมขับเคลื่อนนโยบาย Net Zero Emission ประกาศใช้มาตรฐานลด “ก๊าซเรือนกระจก” 7 มาตรฐานต่อเนื่อง

วิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นหนึ่งในหน่วยงานกว่า 200 รายทั่วประเทศ ที่สามารถนำมาตรฐาน Net Zero Emission ไปใช้เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์กว่า 50 ล้านตันต่อปี และเคยได้รับโล่เกียรติยศ จากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ ทส. & องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO ณ งาน “ร้อยดวงใจ ร่วมใจลดโลกร้อน” ภายใต้แนวคิด “Climate Actions – Together”

         กระทรวงอุตสาหกรรมขับเคลื่อนนโยบาย Net Zero Emission เดินหน้าประกาศใช้มาตรฐานลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 7 มาตรฐานอย่างต่อเนื่อง  เผยภาคอุตสาหกรรมนำไปใช้ ลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์แล้วกว่า 50 ล้านตัน  

         นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ประกาศใช้มาตรฐานลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 7 มาตรฐานอย่างต่อเนื่อง อาทิ มาตรฐานข้อกำหนดและข้อแนะนำระดับองค์กร การวัดปริมาณและการรายงานผลการปลดปล่อย และลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก มาตรฐานแนวทางการหาปริมาณคาร์บอนฟุตพริ๊นท์  มาตรฐานแนวทางการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และมาตรฐานสำหรับหน่วยตรวจสอบความใช้ได้และทวนสอบก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น เพื่อขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ โดยผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการของไทยนำมาตรฐานดังกล่าวไปใช้ เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม  โดยเฉพาะปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกที่มีสาเหตุมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และจากการตรวจสอบพบว่ามีผู้ประกอบการนำมาตรฐานดังกล่าวไปใช้แล้วกว่า 200 รายทั่วประเทศ โดยข้อมูลตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2562 – 15 สิงหาคม 2565 ประเทศไทยสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้แล้วกว่า 50 ล้านตัน ซึ่งมาตรฐานลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้ง 7 มาตรฐานที่ สมอ. ได้ประกาศใช้เป็นมาตรฐานการตรวจสอบและรับรองแห่งชาติ (มตช.) หรือมาตรฐานระบบการจัดการขององค์กรที่กำหนดโดย ISO หรือองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (International Organization for Standardization – ISO) เพื่อส่งเสริมให้ประเทศสมาชิกนำไปใช้ลดก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรมและภาคการบริการในประเทศ โดย สมอ. ในฐานะผู้แทนประเทศไทยในการเป็นสมาชิกของ ISO ได้นำมาตรฐานดังกล่าวมาประกาศใช้ และผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งองค์กรต่าง ๆ นำมาตรฐานไปใช้ เพื่อช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสามารถปรับตัวเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของ 166 ประเทศสมาชิกของ ISO ที่ได้ร่วมกันรณรงค์เนื่องในวันมาตรฐานโลกปีนี้ว่า “วิสัยทัศน์ร่วม เพื่อโลกที่ดีกว่าเดิม มาตรฐานสำหรับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SHARED VISION FOR A BETTER WORLD STANDARDS FOR SDGs)” โดยมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาความไม่เสมอภาคในสังคม  การพัฒนาเศรษฐกิจแบบยั่งยืน และการชะลอการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยตั้งเป้าให้ทุกประเทศบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ภายในปี 2573

         ด้าน นายบรรจง  สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบการกว่า 200 รายทั่วประเทศนำมาตรฐานดังกล่าวไปใช้แล้วพบว่า สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์ได้กว่า 50 ล้านตัน ตามที่ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวข้างต้น ซึ่งเป็นข้อมูลจากหน่วยตรวจสอบความใช้ได้และทวนสอบก๊าซเรือนกระจก ที่ได้รับการรับรองจาก สมอ. จำนวน 11 ราย ได้แก่ 1) บริษัท ทูฟ นอร์ด (ประเทศไทย) จำกัด  2) สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ  3) ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านกลยุทธ์ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  4) วิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนเรศวร  5) หน่วยรับรองการจัดการก๊าซเรือนกระจก มหาวิทยาลัยพะเยา  6) บริษัท เอสจีเอส (ประเทศไทย) จำกัด  7) บริษัท บูโร เวอริทัส เซอทิฟิเคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด  8) บริษัท อีซีอีอีจำกัด  9)  บริษัท เอ็นพีซี เซฟตี้ แอนด์ เอ็นไวรอนเมนทอล เซอร์วิส จำกัด  10) มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ และ 11)  หน่วยวิจัยเพื่อการจัดการพลังงานและเศรษฐนิเวศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 “นอกจากนี้ สมอ. ยังได้เตรียมประกาศใช้มาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหามลพิษทางดินอีก 1 ฉบับ ได้แก่ มาตรฐานการจัดการเพื่อมุ่งสู่การฝังกลบกากอุตสาหกรรมเป็นศูนย์ ซึ่งมีข้อกำหนดที่สำคัญ คือ การวิเคราะห์การไหลของกากอุตสาหกรรม วิธีการในการลดกากอุตสาหกรรม  การคำนวณการลดกากอุตสาหกรรม  และการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับกากอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้น หากสถานประกอบการนำมาตรฐานนี้ไปใช้จะสามารถลดของเสียได้ตั้งแต่ต้นทาง ทำให้กากอุตสาหกรรมที่ต้องนำไปฝังกลบเหลือน้อยที่สุด หรือไม่มีเหลือการฝังกลบกากอุตสาหกรรมเลยก็ว่าได้ ซึ่งคาดว่ามาตรฐานดังกล่าวจะประกาศใช้ภายในเดือนธันวาคม 2565 นี้” เลขาธิการ สมอ. กล่าวทิ้งท้าย

ที่มา: กองส่งเสริมและพัฒนาด้านการมาตรฐาน สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)

ม.นเรศวร จัดกิจกรรมวันรักต้นไม้ประจำปีของชาติ 2565

เมื่อเวลา 9.00 น. วันศุกร์ที่ 21 ตุลาคม 2565 นายรุ่งรัตน์ พระนาค ผู้อำนวยการกองอาคารสถานที่เป็นประธานกล่าวเปิดกิจกรรมวันรักต้นไม้ประจำปีของชาติ 2565 โดยภายในกิจกรรมบุคลากรกองอาคารสถานที่ได้ร่วมกันปลูกต้นเสลาจำนวน 60 ต้น รดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย ตัดแต่งกิ่งไม้และกำจัดวัชพืชในพื้นที่ที่ได้ปลูกต้นไม้ ณ บริเวณพื้นที่สวนสุขภาพริมคลองหนองเหล็ก

ที่มา: กองอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยนเรศวร

จัดระบบขนส่งมวลชนด้วยรถไฟฟ้า ให้นิสิตได้ใช้เดินทางฟรี!! ลดการพึ่งพาน้ำมัน

มหาวิทยาลัยนเรศวร จัดระบบขนส่งมวลชนด้วยรถไฟฟ้าให้นิสิตได้ใช้เดินทางฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย และลดการใช้รถจักรยานยนต์ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และช่วยลด PM 2.5 แถมยังช่วยประหยัดการใช้น้ำมันทุกวันตลอดทั้งปี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้เป็นเปิดภาคเรียนปีการศึกษาใหม่ของ มหาวิทยาลัยนเรศวร ตำบลท่าโพธิ์ อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก บรรยากาศวันเปิดเทอมเป็นไปอย่างคึกคัก มีนิสิตจากทั้งในและต่างจังหวัด ทุกชั้นปีจำนวนประมาณ 26,000 คน กลับเข้ามาเรียนออนไซต์ ภายในมหาวิทยาลัยอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งส่วนใหญ่นิสิตจะใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะ เพื่อความสะดวกในการเดินเรียน เนื่องจาก มหาวิทยาลัยมีพื้นที่กว้างพันกว่าไร่

ขณะเดียวกัน นิสิตบางส่วนเลือกใช้บริการ ระบบขนส่งมวลชนมหาวิทยาลัยนเรศวร ที่จัดรถโดยสารขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า ขนาด 35-40 ที่นั่ง มี 16 คัน และขนาด 11-14 ที่นั่ง มี 5 คัน รวม 21 คัน เอาไว้ให้นิสิตใช้ในการเดินทางเพื่อความประหยัด ลดค่าใช้จ่าย จากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นมาก และยังเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาสิ่งแวดล้อม ลดมลพิษภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งพบว่า นิสิตพากันออกมาใช้บริการกันตลอดเวลาและทุกเส้นทางที่โครงการขนส่งมวลชนมหาวิทยาลัยนเรศวร จัดเส้นทางเดินรถเอาไว้ ตั้งแต่ เวลา 07.00 น.ถึง 19.30 น.

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิริชัย ตันรัตนวงศ์ รองอธิการบดีฝ่ายโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีสารสนเทศ เปิดเผยว่า โครงการขนส่งมวลชนมหาวิทยาลัยนเรศวร เริ่มมาตั้งแต่เมื่อเดือนมิถุนายน ปีพ.ศ.2555 หรือประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา และนิสิตส่วนใหญ่ นิยมใช้รถจักรยานยนต์ในการขับขี่ ซึ่งค่อนข้างสิ้นเปลืองและไม่ปลอดภัย จึงอำนวยความสะดวกให้แก่นิสิต ด้วยการจัดหารถขนส่งมวลชนและปรับเปลี่ยนมาใช้รถไฟฟ้า เพื่อลดมลพิษในมหาวิทยาลัย โดยรถขนส่งมวลชน เริ่มรับนิสิตจากหอพักไปส่งยังตึกเรียนต่างๆ โดยรถจะทยอยออกวิ่งให้บริการ ทุกๆ 4 นาที รอบมหาวิทยาลัย

ด้านนิสิตที่มาใช้บริการ บอกกับผู้สื่อข่าวถึงสาเหตุที่เลือกใช้บริการรถว่า สะดวก รวดเร็ว และครอบคลุมพื้นที่ที่จะต้องเดินทางไปเรียนได้เป็นอย่างดี เพราะมีหลายเส้นทางและมีตลอดทั้งวัน และที่สำคัญช่วยประหยัดน้ำมันรถจักรยานยนต์ เนื่องจากน้ำมันเบนซินในช่วงนี้มีราคาแพงมาก

อ่านต่อ : https://ch3plus.com/news/social/morning/296981
ที่มา: ch3plus.com

วช.หนุนทีมวิจัย ม.นเรศวร ต่อยอดเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจากอินทผลัม สู่มะพร้าวน้ำหอมได้สำเร็จครั้งแรก

วช.สนับสนุนทีมวิจัย ม.นเรศวร ต่อยอดเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจากอินทผลัม สู่มะพร้าวน้ำหอมได้สำเร็จครั้งแรก พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีและช่วยผู้ประกอบการผลิตน้ำมะพร้าวน้ำหอม 100 % พร้อมดื่มด้วยเทคโนโลยีความดันสูง ช่วยยืดอายุน้ำมะพร้าวสด นาน 2 เดือนโดยที่รสชาติไม่เปลี่ยนแปลง และปลอดภัยต่อผู้บริโภค

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันงานวิจัยถูกนำมาใช้ประโยชน์ด้านการเกษตรอย่างแพร่หลาย ทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีในด้านการปรับปรุงสายพันธุ์ที่มีคุณภาพ ด้านกระบวนการผลิต เก็บเกี่ยว รวมไปถึงด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในเชิงพาณิชย์ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ที่ผ่านมาสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ให้ทุนสนับสนุนกับโครงการ “การคัดเลือกสายพันธุ์และขยายพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมและอินทผลัมเชิงพาณิชย์” มี “รศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท” จากคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นหัวหน้าโครงการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขยายพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมที่มีต้นพันธุ์ที่ดีในอนาคต ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรแล้ว ยังส่งเสริมภาคการส่งออกมะพร้าวน้ำหอมให้มีการเติบโตมากขึ้นอีกด้วย

รศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท เปิดเผยว่า การขยายพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมในสภาพปลอดเชื้อด้วยเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เป็นการต่อยอดองค์ความรู้และเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อที่ทีมวิจัยประสบความสำเร็จมาแล้ว กับการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่ออินทผลัม ไม้ผลที่กำลังได้รับความนิยม ปัจจุบันทีมวิจัยได้มีการขยายพันธุ์สู่เชิงพาณิชย์ เพื่อลดการนำเข้าต้นพันธุ์ราคาแพงจากต่างประเทศและช่วยลดต้นทุนการผลิตอินทผลัมให้กับเกษตรกรไทย

ทั้งนี้ทีมวิจัย ฯ ได้นำองค์ความรู้และทักษะการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อดังกล่าว และการตรวจสอบต้นพันธุ์แท้ของมะพร้าวน้ำหอมในระดับดีเอ็นเอของพืช มาใช้ในการพัฒนาการขยายพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมพันธุ์ก้นจีบ ซึ่งการผลิตต้นพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมจากต้นพันธุ์ดียังไม่เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร เนื่องจากการเพาะต้นกล้าจากผลมะพร้าวมีอัตราการงอกเพียง 50 – 55 % ขณะเดียวกันหากเกษตรกรซื้อจากแหล่งจำหน่ายต้นพันธุ์มะพร้าวทั่วไป กว่าจะทราบว่าเป็นมะพร้าวน้ำหอมแท้หรือไม่ต้องใช้เวลาในการปลูกกว่า 3 ปี ถึงจะจำแนกมะพร้าวน้ำหอมแท้ออกจากมะพร้าวต้นเตี้ยชนิดอื่น ๆ ที่มีลักษณะคล้ายกันได้ เพราะต้องจำแนกจาก ปัจจัยต่าง ๆ เช่น ลักษณะผล กาบใบ ลำต้น และการทดสอบชิมน้ำและเนื้อ

การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจึงเป็นทางเลือกในการเพิ่มประสิทธิภาพในการขยายพันธุ์ในอนาคต โดยจะทำให้ได้ต้นพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมในปริมาณมาก ปลอดโรค ให้ผลผลิตที่มีคุณภาพตามต้นแม่พันธุ์ และคงอัตลักษณ์มะพร้าวน้ำหอมพันธุ์ก้นจีบ 100 % ช่วยลดอัตราความเสี่ยงของเกษตรกรในเรื่องพันธุ์ที่ไม่แท้

สำหรับกระบวนการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อของมะพร้าวน้ำหอม จะเริ่มต้นจากการคัดเลือกต้นพันธุ์ที่ดี น้ำและเนื้อมีรสชาติหวาน หอม จำนวนทะลายสูง จำนวนผลต่อทะลายพอเหมาะ และให้ผลสม่ำเสมอ จากนั้นจะใช้เทคนิคปลอดเชื้อตัดชิ้นส่วนของพืช (Explant) ที่ผ่านการฟอกฆ่าเชื้อแล้วมาเลี้ยงในขวดแก้วที่บรรจุอาหารเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ซึ่งผ่านการนึ่งฆ่าเชื้อมาแล้ว เมื่อเซลล์จากชิ้นส่วนต่าง ๆ ของมะพร้าวที่นำมาเลี้ยงได้รับอาหารและแร่ธาตุต่าง ๆ จะมีการเจริญเติบโตเป็นต้นโดยตรง หรือเกิดเป็นกลุ่มของเซลล์ที่เรียกว่าแคลลัส และเมื่อนำแคลลัส ไปเลี้ยงในสภาพที่มีแสง จะเกิดยอดใหม่ที่มีสีเขียว ชักนำให้เกิดยอดและราก เมื่อต้นกล้ามียอดและรากที่สมบูรณ์ จึงนำออกปลูก อนุบาลในโรงเรือน และนำออกปลูกในแปลงปลูกต่อไป

“ทีมวิจัยใช้เวลาประมาณ 2 ปีในพัฒนาการขยายพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมพันธุ์ก้นจีบด้วยเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมีการตรวจสอบในระดับดีเอ็นเอ ปัจจุบันถือได้ว่าเป็นครั้งแรกที่มีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อต้นพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมได้สำเร็จ และได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับภาคเอกชน ”

นอกจากนี้ รศ.ดร.พีระศักดิ์

X

ยังมีแนวคิดในการนำเทคโนโลยีการแปรรูปด้วยความดันสูง (High Pressure Processing: HPP) ซึ่งเป็นกระบวนการฆ่าเชื้อก่อโรคที่อาจพบได้ในผลิตภัณฑ์ที่อุณหภูมิห้อง แบบไม่ใช้ความร้อน (Non-thermal process) มาใช้ในการแปรรูปน้ำมะพร้าวน้ำหอม 100 % พร้อมดื่ม ให้กับผู้ประกอบการ สามารถช่วยยืดอายุการเก็บรักษาน้ำมะพร้าวน้ำหอมสดพร้อมดื่มได้นานถึง 2 เดือน โดยที่น้ำมะพร้าวพร้อมดื่มยังมีคุณภาพใกล้เคียงมะพร้าวสด หอม หวาน และคงคุณค่าทางโภชนาการ คุณภาพทางประสาทสัมผัสของผลิตภัณฑ์ไม่สูญเสียไปจากเดิม และปลอดภัยต่อผู้บริโภค

ทีมวิจัย ฯ ได้มีการนำต้นพันธุ์และผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวน้ำหอมและอินทผลัม มาจัดแสดงในงานวันคล้ายวันสถาปนาสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ครบรอบ 63 ปี ระหว่างวันที่ 25-28 ตุลาคม 2565 ที่สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ บางเขน กรุงเทพฯ

ที่มา: mgronline

ม.นเรศวร เข้าร่วมเตรียมความพร้อมก่อนการแข่งขันเส้นทางสู่นวัตวณิชย์ (Research to Market Thailand 2022 : R2M 2022)

📣 วันที่ 26 – 28 ตุลาคม 2565 อุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้เข้าร่วมเตรียมความพร้อมก่อนการแข่งขันเส้นทางสู่นวัตวณิชย์ (Research to Market Thailand 2022 : R2M 2022) กิจกรรม Boot Camp R2M ระดับภูมิภาค โดยอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์ เป็นผู้จัดขึ้น ณ โรงแรมต้นทองรีสอร์ท อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ โดยมีมหาวิทยาลัยเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ ร่วมส่งทีมนักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวรวมจำนวน 9 แห่ง รวม 22 ทีม

🔹 โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษา และทีมนักศึกษาที่เป็นตัวแทนมหาวิทยาลัยนเรศวรทั้ง 3 ทีม ได้แก่
1. ทีม 5EVER ชื่อผลงาน : ลูกชิ้นไข่ขาว ทีมนิสิตจากคณะเกษตรศาสตร์ฯ
2. ทีม ไปด้วยกันไปได้ไกล ชื่อผลงาน : ผลิตภัณฑ์กันแดดสำหรับนักกีฬา
3. ทีม Perfecttwin DT ชื่อผลงาน : PaperMFresh Underarms Pads ผลิตภัณฑ์แผ่นระงับกลิ่นกายใต้วงแขน ทีมนิสิตจากคณะเภสัชศาสตร์

🔸 ทั้งนี้ตัวแทนมหาวิทยาลัยทั้ง 3 ทีม ต้องเตรียมความพร้อม เสริมสร้างองค์ความรู้ ทักษะด้านการเขียนแผนนวัตกรรม และการนำเสนอผลงาน ก่อนเข้าสู่เวทีการแข่งขันเพื่อคัดเลือกตัวแทนระดับภูมิภาค ในวันที่ 25 – 26 พฤศจิกายน 2565 ณ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ที่มา: อุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร

“ของเก่ามีค่า” กระเป๋าทำมือ DIY มอบให้กับโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร

เช้าวันนี้ (20 ตุลาคม 2565) นางศิริวรรณ  กมลพัฒนะ ผู้อำนวยการกองกิจการนิสิต พร้อมด้วยหัวหน้างานกิจกรรมพัฒนานิสิต และบุคลากร นำกระเป๋าทำมือ DIY จากเสื้อยืดที่ไม่ใช้แล้ว จำนวน 1,100 ใบ มอบให้กับ ผศ.พญ.พิริยา นฤขัตรพิชัย คณบดีคณะแพทยศาสตร์  ณ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร พิษณุโลก

ที่มา: กองกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยนเรศวร

โครงการอบรมเชิงปฎิบัติการระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001 : 2015 และการจัดการความปลอดภัย ISO 45001

วันพฤหัสบดีที่ 20 ตุลาคม 2565 กลุ่มสาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อมและอาชีวอนามัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้จัดโครงการอบรมเชิงปฎิบัติการระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001 : 2015 และการจัดการความปลอดภัย ISO 45001 สำหรับนิสิตหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย และนิสิตหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม ชั้นปีที่ 4 ณ ห้องประชุมไพจิตร ปวะบุตร ชั้น 4 อาคารเรียนรวมคณะสาธารณสุขศาสตร์ โดยมี ดร.สุดาวดี ยะสะกะ และอาจารย์ ยุวดี ทองมี เป็นผู้กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดโครงการฯ ซึ่งได้รับเกียรติจาก คุณฬุริยา หิมะชาติ ที่ปรึกษาและวิทยากร ระบบการบริหารงานทางด้านระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยและระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม เป็นวิทยากรบรรยายให้แก่นิสิตทั้งสองสาขาวิชา เพื่อเป็นการเสริมสร้างความรู้ ความสามารถ และทักษะด้านการจัดทำระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมและระบบการจัดการความปลอดภัย สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการวางแผนการจัดทำระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมและระบบการจัดการความปลอดภัยที่ทันสมัยเป็นปัจจุบันในการประกอบวิชาชีพ ต่อไป

ที่มา: สาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม คณะสาธารณสุขศาสตร์ มน.

มน.จับมือ มช. สร้างความร่วมมือเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลสำหรับการประกันคุณภาพการศึกษาของหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์

เมื่อวันจันทร์ที่ 17 ตุลาคม 2565 รองศาสตราจารย์ ดร.ศรินทร์ทิพย์ แทนธานี รักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมด้วยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นภิสา ไวฑูรเกียรติ คณบดีคณะสังคมศาสตร์ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่าง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่กับมหาวิทยาลัยนเรศวร โดยมีศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมด้วยรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ และผู้บริหารคณะฯ ให้การต้อนรับ เพื่อสร้างความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลสำหรับการประกันคุณภาพการศึกษาของหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ ทั้งในระดับปริญญาตรี และระดับบัณฑิตศึกษา พรัอมทั้งการส่งเสริมสนับสนุนการเรียนการสอน การวิจัย การแลกเปลี่ยนความร่วมมือทางวิชาการ ตลอดจนถ่ายทอดความรู้และพัฒนาเครือข่ายด้านการวิจัย ซึ่งคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมพัฒนาวิชาการฯ และคณะ ณ ห้องบัวเรศ คำทอง ชั้น 5 สำนักงานมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ขอบคุณภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ที่มา: งานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

เนคเทค สวทช. X พันธมิตร จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ HIL Solutions for Power Converter Applications in EV

รศ.ดร.ศักดา สมกุล หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการ SEPCON SGtech มหาวิทยาลัยนเรศวร และ อาจารย์ศุภลักษณ์ ศรีตา อาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนา นิสิตปริญญาเอก สาขาวิขาสมาร์ตกริดเทคโนโลยี SGtech เป็นวิทยากรบรรยายในการอบรมเชิงปฏิบัติการ HIL Solutions for Power Converter Applications in EV ที่จัดขึ้นโดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค สวทช.) ร่วมกับ บริษัท พีทีเอส คอมบิเนชั่น จำกัด OPAL-RT TECHNOLOGIES และมหาวิทยาลัยนเรศวร ในวันที่ 7 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา

– รศ.ดร.ศักดา สมกุล บรรยายหัวข้อ “เทคนิคการออกแบบ และพัฒนาระบบแปลงผันกำลังงาน (Power converter) สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า” และร่วมเสวนาในหัวข้อ “ทิศทางการวิจัยทางด้านระบบแปลงผันกำลังงาน (Power converter) สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า”

– อาจารย์ศุภลักษณ์ ศรีตา บรรยายหัวข้อ “การประยุกต์ใช้ฮาร์ดแวร์อินเดอะลูป (Hardware-in-the-Loop) ในงานทดสอบผลิตภัณฑ์”

ที่มา: วิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนเรศวร

Sustainability

NARESUAN UNIVERSITY

Solverwp- WordPress Theme and Plugin