Archives 2023

TM Clearing House อุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร

วันที่ 18 มกราคม 2566 ดร.สราวุธ สัตยากวี ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และการถ่ายทอดเทคโนโลยี และรักษาการในตำเเหน่งรองผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร เเละเจ้าหน้าที่อุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร เข้าร่วม ประชุม Retreat แนวทางการดำเนินการโครงการ Talent Mobility ประจำปีงบประมาณ 2566 พร้อมด้วยคณะกรรมการพิจารณาโครงการ Talent Mobility ผู้บริหาร ผู้แทนสถาบันอุดมศึกษา นักวิจัย และเจ้าหน้าที่จากเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคทั่วประเทศ ณ อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดขอนแก่น

——————————————————–

สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ดำเนินโครงการการเคลื่อนย้ายบุคลากรเพื่อพัฒนาศักยภาพการวิจัยในภาคอุตสาหกรรม (Talent Mobility) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพบุคลากรวิจัยของสถาบันอุดมศึกษา ผ่านการเคลื่อนย้ายบุคลากรในการพัฒนาองค์ความรู้ การแก้ไขปัญหา ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถด้านการวิจัยและพัฒนาให้กับสถานประกอบการ ได้กำหนดจัดการประชุม Retreat แนวทางการดำเนินการโครงการ Talent Mobility ประจำปีงบประมาณ 2566 โดยมี ศาสตราจารย์ ปริญญา จินดาประเสริฐ ประธานคณะกรรมการ Talent Mobility เป็นประธานการประชุม และผู้ช่วยศาสตราจารย์ธัญญานุภาพ อานันทนะ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ เป็นผู้นำเสนอผลการวิเคราะห์และสรุปผลการถอดบทเรียนเพื่อพัฒนาศักยภาพการบริหารจัดการศูนย์อำนวยความสะดวก Talent Mobility (TM Clearing House) และนำเสนอ (ร่าง) แนวทางการดำเนินการโครงการ Talent Mobility และผู้เข้าร่วมการประชุม ร่วมระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการโครงการ Talent Mobility

ที่มา: อุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร ร่วมกับเทศบาลนครพิษณุโลก จับมือ สสส. จัดกิจกรรมสุขกลางเมือง เรื่องแรงบันดาลใจในวัยเยาว์

วันนี้(16 ม.ค.)เทศบาลนครพิษณุโลก ร่วมกับกลุ่มลานละมุน สภาเด็กและเยาวชนเทศบาลนครพิษณุโลก เครือข่าย Young Phitsanulok Forum กลุ่มพิดโลกจัดเต็ม เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน (ขสย.) มูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว เครือข่ายองค์กรงดเหล้าภาคเหนือตอนล่าง มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม วิทยาลัยอาชีวศึกษาพิษณุโลก วิทยาลัยเทคนิคพิษณุโลก สำนักงานสาธารณสุข จ.พิษณุโลก สรรพสามิตพื้นที่พิษณุโลก บ้านพักเด็กและครอบครัว จ.พิษณุโลก วัฒนธรรม จ.พิษณุโลก และสถานีตำรวจภูธรเมืองพิษณุโลก ร่วมจัดกิจกรรมเนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติประจำปี 2566 ภายใต้แนวคิด สุขกลางเมือง : เรื่องแรงบันดาลใจในวัยเยาว์ ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายในงานมีการแสดงจากกลุ่มเด็กเยาวชน การออกบูธกิจกรรม การแสดงจากศิลปิน และการเสวนาในหัวข้อ “เด็กไม่เคยเป็นผู้ใหญ่ ร่วมปลูกดอกไม้ให้เมืองสองแคว”

ดร.เปรมฤดี ชามพูนท นายเทศมนตรีนครพิษณุโลก กล่าวว่า เทศบาลนครพิษณุโลกเห็นความสำคัญของการสร้างพื้นที่ปลอดภัย สร้างสรรค์ ให้ประชาชนในพื้นที่ด้วยการผลักดันให้เกิดสวนสาธารณะ สวนสุขภาพถึงสามแห่งในเขตเทศบาล โดยหวังให้ประชาชนได้ใช้เป็นที่พักผ่อน ออกกำลัง และให้เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ ผู้พิการได้ใช้เป็นสถานที่ทำกิจกรรมที่สนใจ

“เทศบาลในฐานะเป็นผู้ดูแล ผู้จัดการเมือง พยายามจัดการให้มีพื้นที่สำหรับคนทุกกลุ่ม การมีสวนสาธารณะเป็นทางเลือกแต่ไม่ใช่คำตอบทั้งหมด กลุ่มเด็กและเยาวชน เป็นอีกกลุ่มที่เราให้ความสนใจ ยอมรับว่าในช่วงแรกผู้ใหญ่อย่างเราไม่สามารถสื่อสารถึงความต้องการที่แท้จริงของเด็กได้ แต่หลังเกิดการมีสภาเด็กและเยาวชนเทศบาลนครพิษณุโลกทำให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้เทศบาลได้ทราบถึงความต้องการที่แท้จริงของเยาวชนทั้งเรื่องกีฬาเอ็กซ์ตรีม อีสปอร์ต คอสเพลย์ หรือกิจกรรมสร้างสรรค์อื่น ๆ ทำให้เทศบาลสามารถสนับสนุนทั้งพื้นที่ อุปกรณ์ หรือมีแนวนโยบายที่ตรงกับความต้องการของเยาวชนได้มากขึ้น” ดร.เปรมฤดี กล่าว

นายจักรภัทร ชูสกุลพัฒนา ผู้ประสานงานเยาวชน YSDN พิษณุโลก ตัวแทนคณะผู้จัดงาน กล่าวว่า ตนและเพื่อน ๆ อยากเห็นจังหวัดพิษณุโลกและทุกจังหวัดมีพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้แด็ก เยาวชน ได้เข้าถึงและใช้ประโยชน์ มีพื้นที่ในการแสดงออกซึ่งความสามารถ ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ และอยากให้ภาครัฐสนับสนุน การจัดกิจกรรมเนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2566 ภายใต้ชื่องานสุขกลางเมือง : เรื่องแรงบันดาลใจในวัยเยาว์ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกเพื่อส่งเสริมและพัฒนาเด็กและเยาวชน ส่งเสริมให้เกิดพื้นที่สร้างสรรค์ เกิดการเรียนรู้ในเด็กและเยาวชนจังหวัดพิษณุโลก ทั้งพื้นที่กายภาพ พื้นที่ความคิด พื้นที่สร้างสรรค์ และยั่งยืน โดยเหตุผลที่เลือกใช้สวนกลางเมืองพิษณุโลกเป็นสถานที่จัดงานเนื่องจากเป็นสวนสาธารณะที่เป็นสถานที่ห้ามดื่ม ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และห้ามสูบบุหรี่ตามกฎหมาย มีความปลอดภัย

“ผู้ใหญ่ทุกภาคส่วนในสังคมควรจะปรับมุมมองที่ว่า หาเพชรในตม เพราะเราไม่จำเป็นต้องไปหาเพชรในตม เพียงแค่ปรับสภาพตมให้มีสภาพแวดล้อมที่ดี และตมก็จะสร้างเพชรขึ้นมาได้ ภายใต้ความเชื่อที่ว่า ถ้าสภาพแวดล้อมดี คนก็จะดีตามไปด้วย” นายจักรภัทร กล่าว

นางสาวศิวรินทร์ พูลวงษ์ (วรินทร์) ศิลปินแนวเพลงอินดี้ กล่าวว่าในฐานะที่ตนเป็นศิลปินรุ่นใหม่ และเป็นผู้ปกครองที่มีลูก อยากเห็นการมีพื้นที่ปลอดภัย และสร้างสรรค์แบบนี้เกิดขึ้นในทุกจังหวัด เพราะนอกจากจะเป็นพื้นที่ให้ทุกคนในครอบครัว สามารถทำกิจกรรมร่วมกันเกิดความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวแล้ว ยังเป็นพื้นที่ที่ให้เด็กได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข การได้ออกไปทำกิจกรรมดี ๆ ในพื้นที่ดี ๆ จะทำให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน

​ด้าน นางทิชา ณ นคร ผู้อำยวนการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย)บ้านกาญจนาภิเษก และที่ปรึกษามูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว กล่าวว่า เด็กจำนวนมากในประเทศนี้อยู่ในครอบครัวที่ต้องดิ้นรนหาเลี้ยงชีพ ไม่มีเวลามากพอที่จะส่งเสริมให้เด็กได้มีทักษะชีวิตที่สามารถนำพาตัวเองให้รอดพ้นจากปัญหาสังคมที่เข้ามาคุกคามในหลายมิติ จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาล หน่วยงานภาครัฐ ที่ต้องส่งเสริมให้เกิดพื้นที่สร้างสรรค์ กิจกรรมสร้างสรรค์ ที่ทุกคนต้องเข้าถึงได้โดยง่าย

“เมื่อเด็กไม่เคยเป็นผู้ใหญ่มีก่อน จึงไม่สามารถที่จะจัดการหรือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวเองเหมือนอย่างที่ผู้ใหญ่อยากให้เป็นได้ และถึงแม้ผู้ใหญ่จะเคยเป็นเด็กมาก่อนก็ใช่ว่าจะสามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวเด็กได้ทุกเรื่อง การเปิดโอกาสให้เด็กได้เติบโตในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดี จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ทุกฝ่ายต้องให้ความสำคัญโดยเฉพาะรัฐบาล หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง หรือแม้แต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความใกล้ชิดกับประชาชนมากสุด” นางทิชา กล่าว

ที่มา: mgronline

“จิตอาสาเต้านมเทียม” คืนความมั่นใจให้ชีวิตผู้ป่วยหญิงที่เป็นมะเร็งเต้านม

กิจกรรมจิตอาสาเต้านมเทียม ม.นเรศวร เริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2560 เพื่อคืนคุณภาพชีวิตผู้ป่วยหญิงที่เป็นมะเร็งเต้านม แต่เดิมทำเพื่อบริจาคให้กับโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร ต่อมาได้ขยายผลไปโรงพยาบาลต่าง ๆ ในจังหวัดพิษณุโลก เช่น โรงพยาบาลพุทธชินราช โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ และขยายไปยังโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศ เช่น โรงพยาบาลหาดใหญ่ โรงพยาบาลสงขลา ศูนย์มะเร็งลำปาง ศูนย์มะเร็งลพบุรี เป็นต้น เพื่อคืนความมั่นใจ ให้กลับมาใช้ชีวิตได้ปกติมีความมั่นใจ เป็นต้น

ปัจจุบันบริจาคให้กับโรงพยาบาลต่าง ๆ กว่า 1,000 คู่ และเปิดรับสำหรับคนไข้ที่ประสงค์ขอรับกับกลุ่มกิจกรรมโดยตรงผ่าน Facebook จิตอาสาเต้านมเทียม มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

นอกจากนี้ยังจัดกิจกรรมให้ความรู้กับหน่วยงานที่สนใจ ทำเต้านมเทียม และที่สำคัญเป็นการจัดสรรเวลาให้นิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวรได้เข้าร่วมกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ เรียนรู้การแบ่งปันและการช่วยเหลือผู้อื่น ฝึกสมาธิ ความอดทด เกิดความสามัคคีและมีความรับผิดชอบ

ที่มา: จิตอาสาเต้านมเทียม มหาวิทยาลัยนเรศวร

สำนักหอสมุดได้นำเสื้อผ้าที่ตู้ลืมของ บริจาคให้กับทางชมรมสืบสานวัฒนธรรมม้ง มหาวิทยาลัยนเรศวร นำไปบริจาคต่อให้กับน้องๆบนดอยได้ใส่กันหนาว ในโครงการเปิดบ้านส่องวิถีม้ง ครั้งที่ 7

เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา สำนักหอสมุดได้นำเสื้อผ้าที่ตู้ลืมของ บริจาคให้กับทางชมรมสืบสานวัฒนธรรมม้ง

มหาวิทยาลัยนเรศวร นำไปบริจาคต่อให้กับน้องๆบนดอยได้ใส่กันหนาว ในโครงการเปิดบ้านส่องวิถีม้ง ครั้งที่ 7 ระหว่างวันที่ 29-31 ธันวาคม 2565 ณ บ้านเจดีย์โคะ ตำบลมหาวัน อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

ที่มา: สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม. นเรศวร พัฒนาระบบ ‘อพม.Smart’ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาสังคมได้รวดเร็ว แม่นยำ

นักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ ม. นเรศวร พัฒนาระบบ ‘อพม.Smart’ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาสังคมได้รวดเร็ว แม่นยำ ร่วมกับ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และมูลนิธิศูนย์วิจัยและติดตามความเป็นธรรมทางสุขภาพ เพื่อขยายผลใช้ทั้งประเทศ

ซึ่งเป็นระบบไอที ที่ช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาสังคมได้รวดเร็ว แม่นยำ และปัจจุบันระบบนี้ใช้ได้เฉพาะใน 16 จังหวัดทดลอง เท่านั้น โดยมีเป้าหมายที่จะขยายพื้นที่ให้ครอบคลุมทั้ง 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร โดยให้ อพม. ที่มีจำนวนกว่า 300,000 คนทั่วประเทศ ได้เป็นหนึ่งในกลุ่มแรกที่ได้ใช้งาน

โดยนักวิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์ที่ร่วมพัฒนาระบบดังกล่าว นำโดย ผศ.ดร. ธนะธร พ่อค้า (ผู้ช่วยคณบดีด้านนวัตกรรมการเรียนรู้ คณะวิทยาศาสตร์) ดร. ณัฐพล คุ้มใหญ่โต ผศ.ดร.วินัย วงษ์ไทย และ นิสิตคณะวิทยาศาสตร์หลายคนที่มิได้เอ่ยนาม นำโดย นายธนกฤต ไกรสิงห์ นายชมพูนิกข์ เตียวเจริญพร นายณัฐสรัญ บุญเกตุ นายดิสทัต เชื้อเขตรกรรม นางสาวสุนิษา ไกรเพชร เป็นต้น และผู้ช่วยวิจัยหลายท่าน เช่น นางสาวณัฐนาถ รัตนประหาต

รมว.พม. ยัง ร่วมขับเคลื่อนการใช้งาน อพม. Smart ที่ร่วมพัฒนาโดย คณะวิทยาศาสตร์ ม. นเรศวร เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 65 ณ ห้องปรินซ์บอลรูม 2 – 3 โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ โดยผู้เข้าประชุม คือ ผู้เกี่ยวข้องจาก สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) ทุกจังหวัด ประมาณ 300 คน

ที่มา: กองการวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยวิทยาลัยนเรศวร

ลอกคลองน้ำทิ้งชุมชน ม.นเรศวร

เมื่อเวลา 13.30 น. วันศุกร์ที่ 6 มกราคม 2566 นายรุ่งรัตน์ พระนาค ผู้อำนวยการกองอาคารสถานที่ลงพื้นที่ดูความคืบหน้าในการลอกคลองน้ำทิ้งจากชุมชนลงคลองหนองเหล็ก ขอขอบคุณ นายธวัช สิงหเดช นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าโพธิ์ ในการประสานงานเครื่องจักรกลจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลกและขอขอบคุณทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง มา ณ ที่นี้

ที่มา: กองอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ตรวจเชื้อโควิดใน ‘น้ำเสีย’ ของเที่ยวบินจีน เฝ้าระวังไวรัสกลายพันธุ์

นวัตกรรมการตรวจเชื้อ ‘โควิด-โอมิครอน-ฝีดาษลิง’ ในน้ำเสีย ที่มาจากเครื่องบิน สนามบิน และชุมชน เครื่องมือเฝ้าระวังโรคระบาดและไวรัสกลายพันธุ์ หลังเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวจีน

รายงานจากหนังสือพิมพ์เซาท์ไชนามอร์นิงโพสต์ ชี้แจงว่า คณะทำงานเฉพาะกิจระหว่างหน่วยงานเพื่อการรับมือโรคโควิด-19 แห่งคณะรัฐมนตรีจีน สั่งให้รัฐบาลท้องถิ่นตรวจน้ำเสียจากบ้านเรือนที่เข้าสู่โรงงานบำบัดน้ำเสีย 

ขณะเดียวกันหลาย ๆ ประเทศ เช่น เบลเยียม แคนาดา ออสเตรีย และออสเตรเลีย ก็มีนโยบายประกาศให้สั่งตรวจ “น้ำเสีย” ของเครื่องบินที่มาจากจีน รวมถึงติดตามการเปลี่ยนแปลงในอัตราการติดเชื้อ ปริมาณไวรัส และทำการถอดลำดับพันธุกรรมไวรัส เพื่อเฝ้าระวังโรคระบาด และเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ของไวรัสหลังการเปิดประเทศ

ซึ่งประเทศไทยได้ใช้นวัตกรรมตรวจหาน้ำเสียเพื่อหาเชื้อโควิด-19 และฝีดาษลิงในสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินเชียงใหม่ มาเป็นระยะเวลา 9 เดือน (มกราคม 2565 – กันยายน 2565) และได้มีประกาศจากกระทรวงสาธารณสุขเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2566 ว่าจะมีการตรวจเชื้อโควิด-19 ในน้ำเสียจากเที่ยวบินที่มาจากจีนในไตรมาส 2566 นี้ด้วย

โครงการวิจัยดังกล่าวนำร่องจาก “วิจัยว่าการตรวจเศษซากเชื้อ SARS-CoV-2 ในน้ำเสียชุมชน” มีผู้วิจัยคือ ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.นเรศวร งานวิจัยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ผ่านสํานักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) 

ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ ให้สัมภาษณ์กับทางกรุงเทพธุรกิจว่า การตรวจวัดเศษซากเชื้อโควิด-19 โอมิครอน และฝีดาษลิงในน้ำเสียโสโครกจากสนามบินสุวรรณภูมิ ทำได้โดยการตรวจน้ำเสียของสิ่งปฏิกูลจากมนุษย์ 

ได้แก่ อุจจาระหรือปัสสาวะ ที่มาจากผู้โดยสารในเที่ยวบิน ทั้งการใช้ห้องน้ำบนเครื่องบิน และห้องน้ำในสนามบินขาเข้า-ขาออก ซึ่งผลการตรวจอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่มกราคม – กันยายน 2565 ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่จะไม่พบเชื้อไวรัส 

ตรวจเชื้อโควิดใน ‘น้ำเสีย’ ของเที่ยวบินจีน เฝ้าระวังไวรัสกลายพันธุ์

นอกจากนี้ ยังใช้การตรวจดังกล่าวกับน้ำเสียในชุมชนต่าง ๆ รวม 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง พิษณุโลก นครสวรรค์ ตาก และยะลา การตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสในน้ำเสีย สามารถนำไปประยุกต์เพื่อเฝ้าระวังอีกหลาย ๆ ด้าน แบ่งออกเป็นดังนี้

  1. เฝ้าระวังการติดเชื้อโควิด และแจ้งเตือนล่วงหน้าก่อนเกิดการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนในระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน กลุ่มอาคาร (คอนโด) และอาคาร (โรงเรียน มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า สถานีขนส่ง ร้านอาหาร สถานที่ราชการ) 
  2. คาดการณ์ (คำนวณอย่างคร่าว ๆ) จำนวนผู้ติดเชื้อทั้งที่แสดงและไม่แสดงอาการในระดับชุมชน หรือกลุ่มอาคาร
  3. ประเมินความจำเป็นที่จะต้องดำเนินมาตรการเข้มงวด เช่น มาตรการล็อกดาวน์บางส่วนของเมือง
  4. ประเมินความสำเร็จของการดำเนินมาตรการ
  5. ประเมินการติดเชื้อในชุมชนที่เพิ่มขึ้นหลังเปิดประเทศ
  6. เฝ้าระวังการติดเชื้อ SARS-CoV-2 สายพันธุ์ต่าง ๆ ในชุมชน โดยฉพาะสายพันธุ์อันตรายใหม่ ๆ
  7. ประเมินประสิทธิภาพของวัคซีนในการลดการติดเชื้อในชุมชน

“ในขณะนี้กำลังพัฒนาเพื่อสามารถตรวจเชื้อสายพันธุ์ใหม่ ๆ ได้ เช่น ไวรัสอาร์เอสวี (RSV) ที่ทำให้เกิดภาวะปอดอักเสบ โดยใช้วิธีการเดียวกันคือ เก็บน้ำเสียมาตรวจไวรัส 4-5 ชนิด” ผศ.ดร.ธนพล กล่าว 

นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกมาวิพากษ์วิจารณ์นิยามของประโยคที่ว่า “การเสียชีวิตจากโควิด-19” ของทางการจีน ซึ่งทาง WHO ระบุว่า สถิติอย่างเป็นทางการของจีนสะท้อนภาพที่ต่ำกว่าความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาตัวตามโรงพยาบาล หรือตัวเลขผู้เสียชีวิตทั่วประเทศ

ซึ่งผู้เชี่ยวชาญจากรายงาน Why monitor wastewater of flights arriving from China for Covid? มองว่า มาตรการตรวจสอบและวิเคราะห์น้ำเสีย จะช่วยเพิ่มข้อมูลที่ขาดหายไปจากจีนได้เป็นอย่างดี “การได้รู้ว่า ผู้โดยสาร 30-50% ที่เดินทางมาจากจีนนั้นติดโควิดอยู่ ถือว่าเป็นประโยชน์อย่างมากในช่วงที่ตัวเลขที่เชื่อถือได้นั้นขาดหายไป”

อย่างไรก็ตาม การเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวเข้ามายังคงต้องใช้เทคนิค RT-PCR และการถอดรหัสสารพันธุกรรมจากตัวอย่างน้ำเสียถือเป็นการป้องกันเชิงรุกที่สำคัญ 

เพราะเมื่อมีการตรวจวินิจฉัยเชื้อได้อย่างรวดเร็วก็จะสามารถแยกผู้ป่วยออกจากสังคมเพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษาได้ทันท่วงที และสามารถลดการแพร่ระบาดของโรคต่าง ๆ และเฝ้าระวังไวรัสที่จะกลายพันธุ์ได้

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ

NU Transit : ตัวช่วยในการวางแผนการเดินทาง ที่จะทำให้คุณถึงจุดหมายได้ทันเวลา

มหาวิทยาลัยนเรศวร พัฒนา Web Application แสดงการเดินรถไฟฟ้าของมหาวิทยาลัยนเรศวร ถูกจัดทำขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาคมมหาวิทยาลัยนเรศวรและประชาชนที่ใช้บริการรถไฟฟ้า ให้สามารถตรวจสอบการเดินรถไฟฟ้าในขณะที่ต้องการใช้งานว่าอยู่จุดไหน ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้งานสามารถวางแผนการเดินทางได้อย่างแม่นยำ เป็นการอำนวยความสะดวกและส่งเสริงการใช้รถไฟฟ้า และลดการใช้รถยนต์และจักรยานยนต์ส่วนบุคคลส่วนบุคคลลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์

ด้วยการแสดงข้อมูลการเดินรถไฟฟ้าแบบ Real Time โดยผู้ใช้งานสามารถเข้าใช้งานได้ที่ https://transit.nu.ac.th/ และยังสามารถตรวจสอบเส้นทางการเดินรถไฟฟ้า ทั้งสายสีเหลือง และสายสีแดง ที่ทางมหาวิทยาลัยมีให้บริการได้อีกด้วย

สามารถใช้งานร่วมกับ NU Map เพื่อทราบตำแหน่งสถานที่ต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัย ได้ที่ https://numap.nu.ac.th
ที่มา: กองบริการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

วิกฤตฝุ่นตอนนี้เป็นอย่างไร? และ ความเป็นไปได้ในการจัดการฝุ่นและมลพิษทางอากาศ 

ผศ. ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.นเรศวร กล่าวว่า ในฐานะนักวิจัยที่ทำงานด้านวิศวะกรรมสิ่งแวดล้อม และในฐานะที่อยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เรามีโครงการที่ทำด้านฝุ่นเยอะ ผมก็เลยอยากจะเล่าให้ฟังถึงทิศทางที่จะเป็นไปได้ 4 ฉากทัศน์ของการจัดการฝุ่นและมลพิษทางอากาศ 

เอาที่สถานการณ์ปัจจุบันก่อน ข้อมูลที่เรานำมาจากการตรวจวัดคุณภาพอากาศของ เครื่อง Low Cost Sensor ของดัสท์บอยซึ่งกระจายอยู่ทั่วกรุงเทพมหานครเช่นเดียวกัน 

ซึ่งจากการเก็บข้อมูลเราพบว่า ปี 2022 มีวันที่ฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานที่ WHO แนะนำ ประมาณ 249 วัน ถือว่าเป็นวันที่มีความเสี่ยงที่จะรับสารก่อมะเร็งและโรคหัวใจเกินค่าที่จะยอมรับได้ ถ้ารวมทุกเขตของ กทม. จะพบว่า มีจำนวนวันที่ PM 2.5 เกินมาตรฐานของ WHO อยู่ 1,131 วัน 

ข้อมูลจาก World Bank บอกไว้ว่า PM 2.5 ทำให้คนเสียชีวิตก่อนวัยอันควรประมาณ 4,486 คน ต่อปี เฉพาะแค่ใน กทม. และนับเป็นความเสียหายทางเศรษฐกิจของ กทม. อยู่ที่ประมาณ 4.51 แสนล้านบาทต่อปี

งานวิจัยของเราในระบบ ววน. มีงานวิจัยอยู่ประมาณ 200 กว่าโครงการที่ทำเรื่องฝุ่น ใช้งบประมาณไปเกือบ 600 ล้านบาท เรามีหลายนวัตกรรมที่จำแนกและติดตามฝุ่น ไม่ว่าจะเป็น Sensor ดาวเทียม และการเก็บตัวอย่าง เครื่องกรองฝุ่น หน้ากาก แผ่นกรอง แอปพลิเคชัน การลดการเผา

ทาง สกสว. ใช้ Ai แมทช์ฉากทัศน์ 4 ฉากทัศน์กับงานวิจัยเกือบ 20,000 เรื่อง ด้วยกัน โดยมีรายละเอียดดังนี้

ฉากทัศน์ที่ 1 อัตตาหิอัตโนนาโถ 

ตนเป็นที่พึ่งของตน แต่จริง ๆ แล้ว กทม. มีความพร้อมทางโครงสร้างในการทำให้เราช่วยตัวเองได้อยู่ เพราะถ้าเราไม่มีโครงสร้างอย่างตัว 70 สถานี ที่ช่วยให้ประชาชนปกป้องตัวเองได้ ยกตัวอย่างเครื่อง Low Cost Sensor ของดัสท์บอย ที่จะมีการแจ้งฐานเข้าข้อมูลของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. คล้ายกับแอปพลิเคชัน AirBKK ที่ดูว่าค่าฝุ่นเป็นอย่างไรบ้างในแต่ละช่วงเวลา แปลว่า ถ้าเราจะอัตตาหิอัตโนนาโถ ก่อนที่เราจะออกไปไหน เราต้องดูค่าฝุ่นก่อนว่าอยู่ระดับไหน ถ้าขึ้นสีเขียว สีฟ้า เราก็อาจจะไม่ต้องทำอะไรมาก มีความปลอดภัยอยู่ในระดับที่ปลอดภัย  แต่ถ้าเริ่มเป็นสีส้ม สีแดง แปลว่าเราต้องทำมาตรการบางอย่าง ต้องใส่หน้ากาก เปลี่ยนกำหนดการ หรือยังไม่ออกจากบ้าน มีหลากหลายมาตรการในการอัตตาหิอัตโนนาโถ  

ซึ่งจากข้อมูลของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. ที่เก็บข้อมูลมา เราพบว่า คนกรุงเทพฯ เข้าถึงข้อมูลและใช้ประโยชน์จากเครื่องของดัสท์บอย 150,000 คนต่อปี จำนวนนี้ถือว่าน้อยมาก โดยในจำนวนนี้ สามารถลดโอกาสเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้ 86 คนต่อปี ดังนั้นจากงานวิจัยทำให้เห็นว่า เราขาดระบบการกระตุ้นให้คน กทม. เข้าถึงการใช้ข้อมูล ทั้งจาก Sensor และ สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของ กทม. ในการปกป้องตัวเอง 

อย่างไรก็ดี การปกป้องตัวเองก็มีค่าใช้จ่าย เช่น ค่าใช้จ่ายของการใช้หน้ากาก ค่าใช้จ่ายในการจัดแจงเปลี่ยนตารางต่าง ๆ ซึ่ง ผศ. ดร.วิษณุ อรรถวานิช จากมหาวิทยาลัยเกษตรศษสตร์ ทำข้อมูลมาว่า ค่าใช้จ่ายต่อครัวเรือนประมาณ 6,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ที่เราอาจจะแบกไว้โดนไม่รู้ตัว 

ฉากทัศน์นี้ จริง ๆ ค่อนข้างดี เพราะเรามีโครงสร้างพื้นฐานค่อนข้างพร้อม เช่น สถานีวัดคุณภาพอากาศที่เรามีกว่า 70 สถานี อีกทั้งยังมีของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมอีกต่างหาก แต่ข้อเสียก็คือมันไม่ได้ลดการปลดปล่อยฝุ่นที่ต้นตอ เรายังอยู่กับฝุ่นและไม่รู้ว่าจะเพิ่มขึ้นอีกหรือเปล่าก็ไม่รู้ มันลดความเสียหายของชีวิตได้ทันทีที่เราใส่หน้ากาก พยายามหลีกเลี่ยงฝุ่น การจะทำให้เป็นระดับนั้นได้ ต้องทำให้เป็นวัฒนธรรม ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งค่อนข้างยาก จริง ๆ สหรัฐอเมริกา และยุโรปเองก็มีการใช้ฉากทัศน์นี้เหมือนกัน แต่ว่าเป็นฉากทัศน์เสริม ไม่ใช่ฉากทัศน์หลัก

ฉากทัศน์ที่ 2 เมืองแห่งรถไฟฟ้า

ฉากทัศน์นี้หลาย ๆ คนรออยู่ เพราะได้ข่าวว่า ฉากทัศน์นี้จะช่วยแก้ไขปัญหาฝุ่นให้ กทม. และประเทศไทย 

ข้อมูลจากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในปี 2019 บอกว่า มีการปลดปล่อยฝุ่น PM 2.5 จากการขนส่งหรือการจราจร 59% ซึ่งในจำนวนนี้รัฐบาลวางแผนที่จะเปลี่ยนผ่านให้เป็นรถไฟฟ้าในอีก 14 ปี โดยจะคาดว่าจะเปลี่ยนได้ 37% ของจำนวนรถทั้งหมดในปัจจุบัน และถ้าเราทำได้ตามเป้าใน 14 ปี จะสามารถลดการปลดปล่อย PM 2.5 ได้ 22% 

ถามว่า 22% พอไหม ผมเอาปี 2020 เป็นฐานในการคำนวนต่อ โดยถ้าเราลดการปลดปล่อยไปได้ 22% จากการจัดการรถให้เป็นรถไฟฟ้าตามแผน จะลดวันที่ทำให้ฝุ่นเกินค่ามาตรฐานออกไป จนแถบไม่มีเลยหรือเปล่า ซึ่งพบว่า ไม่ใช่ ดังนั้นฉากทัศน์นี้ไม่ใช่ฉากทัศน์เดียวที่จะแก้ไขปัญหาอยู่ เพราะจากการคำนวณดูแล้ว ถ้าปรับตามเป้าใน 14 ปี จะลดวันที่ฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน 25 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ลงได้ 52.38% คือลดจาก 1,131 วัน เหลือ  538 วัน และจะลดโอกาสการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของคน กทม. ได้ประมาณ 2,350 คนต่อปี ลดความเสียหายต่อเศรษฐกิจใน กทม. ได้ประมาณ 2.36 แสนล้านบาทต่อปี 

เรามีความพร้อมแค่ไหน เราสามารถซื้อรถเข้ามาได้ แต่มันไม่ยั่งยืน กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเองก็มีการทำงานวิจัยต้นแบบรถในระดับอุตสาหกรรม เช่น รถไฟฟ้ารางเบา รถโดยสารระหว่างเมือง รถจักรยานไฟฟ้า และเรือไฟฟ้า เพื่อเป็นต้นแบบในอุตสาหกรรม

แต่จะทำอย่างไรให้คนไทยเชื่อว่า รถไฟฟ้าที่เราซื้อ โดยงานวิจัยนวัตกรรมของไทยมันใช้ได้ดีจริง ๆ และจะใช้ตัวนี้เพื่อความยั่งยืนต่อไป เรายังต้องการงานวิจัยเชิงเศรษฐศาสตร์ พฤติกรรมการเปลี่ยนผ่าน เพราะภาระจะตกไปอยู่กับเจ้าของรถที่ต้องเปลี่ยน รัฐบาลต้องเตรียมโครงสร้างพื้นฐานเยอะ เอกชนก็ต้องมีการรองรับโครงสร้างพื้นฐานด้วยเช่นเดียวกัน

ฉากทัศน์นี้สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐ และเป็นฉากทัศน์ที่ดีตรงผู้ก่อให้เกิดมลพิษเป็นผู้จ่าย ซึ่งยังต้องมีการปรับและเตรียมการเยอะ

ฉากทัศน์ที่ 3 อุตสาหกรรมสะอาด (ขึ้น) 

เป็นฉากทัศน์ที่ต่างประเทศมีกฎหมายมา 40-50 ปี ใช้เป็นฉากทัศน์แรก คือการจัดการที่ปลายปล่อง หรือแหล่งกำเนิด ทำให้อุตสาหกรรมสะอาดขึ้น เหมือนที่ กทม. มีการไปสำรวจปลายปล่องที่ปลดปล่อยมลพิษด้านฝุ่น 

ฉากทัศน์นี้ทาง Clean Air Act ของสหรัฐอเมริกาใช้เป็นฉากทัศน์แรก เพราะจัดการง่ายสุด โรงงานอยู่นิ่ง ๆ ปลายปล่องตรวจวัดได้ สามารถจัดการได้ โดยข้อมูล กทม. บอกว่า 20% ของ PM 2.5 มาจากโรงงานอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้า ความจริงเทคโนโลยีของการปลดปล่อยมลพิษจากปลายปล่องของต่างประเทศดีกว่าที่เราใช้มาก ๆ ลดได้ประมาณ 90% แต่กฎหมายบ้านเรา การปลดปล่อยปลายปล่อง ปล่อยเท่า ๆ กันหมดเลย ไม่ว่าโรงงานนั้นจะอยู่ที่ไหน ขอแค่เป็นโรงงานประเภทนี้ ลักษณะแบบนี้ปลดปล่อยเท่ากัน ไม่ว่าเขตนั้นจะมีมลพิษอากาศหนักแค่ไหน

ในพื้นที่ที่มลพิษทางอากาศหนักอยู่แล้วใน กทม. หรือบางเขตมีการสร้างโรงงานใหม่ หรือโรงงานที่มีอยู่แล้ว ปลดปล่อยได้เท่ากับที่ที่มีอากาศสะอาดเลย ซึ่งมันไม่สมเหตุสมผล กฎหมายของต่างประเทศบอกว่า ที่ไหนที่มีมลพิษ มี PM 2.5 มีมลพิษอากาศอื่น ๆ เป็นค่าที่ยอมรับได้อยู่แล้ว โรงงานที่มาตั้งต้องปลดปล่อยน้อยมาก ๆ จนไม่สร้างมลพิษเพิ่ม ดังนั้นเขาต้องติดตั้งระบบบำบัดที่ดีมาก ๆ ไม่งั้นก็ไปตั้งที่อื่น หรือซื้อโควต้าการปลดปล่อยจากโรงงานอื่นที่มีอยู่ เพื่อให้มลพิษที่ปลดปล่อยไม่เกิน กฎหมายนี้บ้านเราไม่มี เราสามารถปรับโรงงานในบ้านเราให้ลดการปลดปล่อยมลพิษได้ 75% ผมว่าสบายมาก ผมเอาตัวเลขนี้มาคำนวณ

ถ้าเอาฉากทัศน์นี้มาใช้ จะลดวันที่ฝุ่นเกินค่ามาตรฐานไปได้ 16.53% หรือประมาณ 944 วัน ก็ยังไม่ใช่ฉากทัศน์เดียวที่แก้ไขปัญหาได้อยู่ดี แต่จะลดโอกาสเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้ประมาณ 733 คนต่อปี และลดความเสียหายต่อเศรษฐกิจของ กทม. ได้ประมาณ 0.74 แสนล้านบาทต่อปี แต่น่าเสียดายว่า พอเราไม่มีกฎหมายที่ทำให้การผลิตสะอาดขึ้นเรื่อย ๆ งานวิจัยเทคโนโลยีการทำให้การบำบัดปลายปล่องดีขึ้นแทบไม่มีเลย เพราะไม่มีกฎหมาย ไม่มีความต้องการ ขณะที่ต่างประเทศพัฒนาดีขึ้นกว่าปัจจุบันกว่า 90%  ซึ่งดีกว่าที่เราใช้อยู่มาก ๆ 

ดังนั้นในฉากทัศน์นี้เราต้องซื้อเทคโนโลยีเข้ามาก่อน และเราต้องพัฒนาเดินหน้าต่อ ฉากทัศน์นี้เป็นฉากทัศน์ที่จัดการได้ง่าย ตามหลักผู้ก่อให้เกิดมลพิษจะเป็นผู้จ่าย ภาคเอกชนต้องลงทุน ภาครัฐต้องกำกับอย่างเข้มงวด อย่างที่ กทม. ทำ ต้องมีการทำ PRTR  เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม เพื่อนำไปสู่การใส่ใจการผลิตที่สะอาดโดยภาคประชาชน  

ฉากทัศน์ที่ 4 ใช้กลไกตลาดเสริมอำนาจผู้บริโภค

เป็นฉากทัศน์ที่ใช้ได้กับฉากทัศน์ 2 และ 3 ด้วย แต่อันนี้เอามาจับกับเรื่องชีวมวล โดยงานวิจัยของกรุงเทพฯ พบว่า PM 2.5 ที่มาจากการเผาชีวมวลมีประมาณ 20% ซึ่งจะเห็นว่าเรามีนวัตกรรมหลายทางเลือกในการผลิตให้สะอาดขึ้นจากการเผาชีวมวล ทาง สกสว. เคยจัดงานเสวนาปีที่แล้ว และได้คุยกับโรงน้ำตาลมิตรผลใช้จริงที่ จ.สิงห์บุรี เก็บอ้อยสด และไม่มีการเผาอ้อย เอาใบอ้อยไปทำโรงไฟฟ้าชีวมวล มีการรับซื้อในอ้อย ซึ่งเป็นการผลิตแบบสะอาด ที่ลดการปลดปล่อยมลพิษ PM 2.5 ได้ ถือเป็น 1 ในทางเลือก หรือถ้าจะต้องเผาจริง ๆ ผู้เผาสามารถจองผ่านแอปพลิเคชันอย่างไฟดี (FireD) ได้ ที่เชียงใหม่ใช้แล้วลดการเกิด Hot Spot ได้ประมาณ 60% ทำให้ค่ามลพิษไม่เกินค่าที่ยอมรับได้

แต่ถึงแม้จะมีนวัตกรรมแบบนี้ แต่การใช้ก็ไม่ได้ง่าย ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งทำให้กำไรลดลง ต้นทุนการผลิตเพิ่มมากขึ้น อาจทำให้ผู้ผลิตไม่ใช้ ทั้งที่จริงแล้ว ถ้าใช้เทคโนโลยีเหล่านี้จะลดการปลดปล่อย PM 2.5 ได้ 80% ปัญหาก็กลับมาว่า ทำไมเขาถึงไม่ใช่ ก็เพราะเขาไม่มีแรงจูงใจอะไรมากระตุ้น

รู้ไหมว่า น้ำตาลที่เราซื้อ เสื้อผ้าที่เราใส่ หรือขนม 1 ถุงที่เรากินมันปลดปล่อย PM 2.5 เท่าไหร่ พอเราไม่รู้ เราก็ไม่สามารถเลือกในสิ่งที่ถูกได้ ในต่างประเทศมีการใช้ฉลากสิ่งแวดล้อม แต่พูดถึงก๊าซเลือนกระจก คาร์บอนไดออกไซด์เป็นหลัก ว่าผลิตภัณฑ์แต่ละอันที่เราซื้อ มีการปล่อยก๊าซเลือนกระจกเท่าไหร่ แนวคิดเดียวกัน ถ้าเรามาใช้กับ PM 2.5 มลพิษอากาศมันเทียบได้เลยว่าแต่ละอย่างปลดปล่อยมลพิษทางอากาศไปเท่าไหร่ ซึ่งอำนาจของเราตอนจัดการเรื่องฝุ่นอยู่ที่ตอนเราซื้อ ถ้าเรามีข้อมูลเราสามารถเลือกซื้อสิ่งที่ปลดปล่อยมลพิษทางอากาศน้อยกว่าได้ ทำให้เกิดการแข่งขันในตลาด

อย่างตอนเด็ก ๆ เวลาเราจะซื้อตู้เย็นสักตู้ จะเห็นฉลากเบอร์ 3 เบอร์ 4 และเบอร์ 5 ตอนนี้มีใครเจอเบอร์ 3 กับเบอร์ 4 บ้าง ไม่มีแล้ว เลือกเบอร์ 5 กันหมด คนซื้อเลือกซื้อเบอร์ 5 เพราะมันประหยัดในหลาย ๆ เรื่อง ดีต่อสิ่งแวดล้อม การพัฒนาทำให้เกิดทิศทางที่สะอาดขึ้นเอง ดังนั้นผมเชื่อว่า อำนาจของผู้บริโภคอยู่ที่ตอนเงินอยู่ในมือเรา เราไม่สามารถขอให้คนอื่นแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ เราต้องแก้เอง แต่ตอนนี้เราไม่มีข้อมูลที่จะตัดสินใจ เรื่องของฉลากสิ่งแวดล้อม ฉลากในการลดการปลดปล่อยมลพิษจะช่วยเรามาก ๆ 

ถ้าเราเอาฉากทัศน์นี้มาใช้ในกรุงเทพฯ จะช่วยลดการปลดปล่อยได้ประมาณ 16%  ลดโอกาสการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้ประมาณ 746 คน และลดความเสียหายต่อเศรษฐกิจของ กทม. ได้อีกประมาณ 0.75 แสนล้านบาท แต่ถ้าใช้ในต่างจังหวัด ช่วยได้มาก

ดังนั้นจะเห็นว่า ไม่มีทางที่ทำอย่างเดียวแล้วจะสำเร็จ การเปลี่ยนไปใช้รถไฟฟ้า ไม่ใช่เปลี่ยนแล้วจะจบ หลายทางเลือกอาจจะต้องประกอบร่วมกัน

นวัตกรรมใหม่! จาก “กากกาแฟ” สู่พลาสติกชีวภาพ ย่อยสลายเองได้ ช่วยบำรุงดิน

ปัจจุบัน ”ปัญหาขยะพลาสติก” เป็นหนึ่งปัญหาสำคัญแม้ในอุตสาหกรรมการเกษตร “ถุงเพาะปลูก” เป็นถุงพลาสติกสังเคราะห์ที่ไม่นิยมนำกลับมารีไซเคิล เนื่องจากมีการปนเปื้อนสูง ยากต่อการผลิตพลาสติกขึ้นมาใหม่ เมื่อต้นไม้โตขึ้น ถุงเพาะปลูกจึงกลายเป็นขยะที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ และทำลายสิ่งแวดล้อม

นักวิจัยมหาวิทยาลัยนเรศวร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศรารัตน์ มหาศรานนท์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จึงคิดค้นพลาสติกชีวภาพจาก “กากกาแฟ” มาเพื่อแก้ไขปัญหานี้ ถุงพลาสติกนี้มีความยืดหยุ่น มีต้นทุนการผลิตต่ำ และสามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ ช่วยลดปัญหาขยะพลาสติก ไม่ก่อสารพิษให้โลก ถือเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมฝีมือคนไทยที่ตอบโจทย์ ใช้ต้นทุนต่ำในการผลิต และสามารถนำไปต่อยอดในธุรกิจอื่น ๆ ได้ เช่น ถุงบรรจุหมวกคลุมผม ถุงคอตตอนบัดในโรงแรม ถือเป็นวัสดุจากธรรมชาติที่ช่วยอนุรักษ์ธรรมชาติได้อีกด้วย

ใช้ถุงพลาสติกชีวภาพจาก “กากกาแฟ” ดียังไง ?
– สะอาดปลอดภัย
– ย่อยสลายเองได้โดยไม่ต้องถอดถุงทิ้ง
– กากกาแฟมีคุณสมบัติเป็นปุ๋ย น้ำมันกากกาแฟช่วยเพิ่มธาตุอาหารที่พืชต้องการในดิน
– ถุงสามารถกันแสงยูวีได้ ช่วยยืดอายุของสิ่งของที่บรรจุในถุง

ที่มา: We Love PTT

Sustainability

NARESUAN UNIVERSITY

Solverwp- WordPress Theme and Plugin