Archives January 2023

“คลินิกกฎหมายนเรศวรเพื่อสิทธิมนุษยชน” ความหวัง ของคนไร้สัญชาติ

       สถานะคนไร้รัฐไร้สัญชาติที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนในประเทศเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แม้จะมีความพยายามร่วมมือจากหลายภาคส่วนเพื่อแก้ไขปัญหานี้ โดยมีแนวนโยบายและกฎหมายที่ครอบคลุม แต่ปัญหาในทางปฏิบัติยังคงเป็นสาเหตุหลักที่ยังไม่สามารถยุติวงจรไร้สัญชาติได้อย่างเด็ดขาดส่งผลให้ยังมีเด็กที่อยู่ในสถานะไร้รัฐ ไร้สัญชาติอยู่นับแสนๆคน ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย

       ดังนั้น มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยคณะนิติศาสตร์ จึงให้ความสำคัญในการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้มีปัญหาทางสถานะบุคคลและสิทธิ จึงได้จัดตั้ง “คลินิกกฎหมายนเรศวรเพื่อสิทธิมนุษยชน” มุ่งแก้ปัญหาคนไร้สัญชาติทั่วประเทศ 

       โดย งานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จัดให้มีงานแถลงข่าวสื่อมวลชน ในประเด็น “คลินิกกฎหมายนเรศวรเพื่อสิทธิมนุษยชน ความหวัง ของคนไร้สัญชาติ” โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ กิติวรญา รัตนมณี และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรพร หาระบุตร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมด้วย นางสาวอลิษา นิสิตไร้สัญชาติ ปริญญาโท คณะบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์และการสื่อสาร มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นผู้แถลงข่าว ณ อาคารสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยนเรศวร

       ด้าน ผศ.กิติวรญา รัตนมณี  อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดเผยว่า จากข้อมูลจำนวนราษฎรของสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564  พบว่าในประเทศไทยมีประชากรที่ไม่มีสัญชาติไทยซึ่งได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎร 973,656 คน จากประชากรในทะเบียนราษฎรทั้งหมด 66,171,439 คน คิดเป็นร้อยละ 1.47 ซึ่งภาวะไร้สัญชาติทำให้เด็กเข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐานที่จำเป็นหลายประการ เช่น สิทธิในการรักษาพยาบาล สิทธิในการศึกษา สิทธิในการเดินทาง รวมถึงสวัสดิการต่างๆจากรัฐ นำไปสู่การขาดโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของตน การถูกเลือกปฏิบัติ และการถูกกีดกันจากการมีส่วนร่วมในสังคม ดังนั้น เด็กไร้สัญชาติจึงถือเป็นประชากรกลุ่มเปราะบางซึ่งต้องการความคุ้มครองทางสังคม

       ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2553-ปัจจุบัน คลินิกกฎหมายนเรศวรเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ให้ความช่วยเหลือในการให้คำปรึกษาแก่นิสิตไร้สัญชาติในมหาวิทยาลัยนเรศวรทั้งสิ้นประมาณ 27 คน จากคณะสาธารณสุขศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะมนุษยศาสตร์ นิสิตจบการศึกษาแล้ว 17 คน (มีสัญชาติไทย 13 คน ไร้สัญชาติ 4 คน) และกำลังศึกษาอยู่ 10 คน (ไร้สัญชาติทั้ง 10 คน) ช่วยเหลือบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติในพิษณุโลกและจังหวัดอื่นๆกว่า 200 คน และช่วยให้บุคคลไร้ที่พึ่งในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งวังทอง อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก 322 คน ได้รับการถ่ายบัตรประจำตัว ได้รับการตรวจพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล ทั้งนี้เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมาสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งวังทองได้จัดทำโครงการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลและจัดทำบัตรประจำตัวประชาชน เพื่อขจัดปัญหาความไร้รัฐทั้งหมด จึงกล่าวได้ว่าปัจจุบันสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งวังทองเหลือเพียงปัญหาความไร้สัญชาติซึ่งยังต้องได้รับการแก้ไขปัญหาและขับเคลื่อนต่อไป

       นอกเหนือจากงานให้บริการทางวิชาการ ที่สำคัญ “คลินิกกฎหมายนเรศวรเพื่อสิทธิมนุษยชน” เป็นกิจกรรมเสริมหลักสูตรในการจัดการเรียนการสอนวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล วิชาวิจัยทางกฎหมาย และวิชากฎหมายสิทธิมนุษยชน ที่บูรณาการการบริการวิชาการ การเรียนการสอน และการวิจัยเข้าด้วยกัน

       ด้าน นางสาวอลิษา นิสิตไร้สัญชาติ ปริญญาโท คณะบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์และการสื่อสาร มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้เปิดเผยถึงความลำบากและปัญหาในการไม่มีสัญชาติไทย ว่า “การขอทุนการศึกษา เพื่อศึกษาในระดับปริญญาโทไม่สามารถทำได้ และการเดินทางมาเรียนคนที่ไม่ได้ถือสัญชาติไทยจะต้องขอใบอนุญาตออกนอกพื้นที่ ซึ่งในการไปขอแต่ละครั้งมีความยุ่งยากมาก ซึ่งมีสัญญาเพียง 1 ปี เมื่อครบสัญญาก็ต้องไปต่อใหม่ และที่สำคัญมากคือเรื่องโอกาสในการสอบบรรจุเป็นข้าราชการครู ปัญหาตรงนี้ทำให้ไม่มีโอกาสแม้กระทั่งสมัครสอบ ก.พ.  เนื่องจากไม่มีสัญชาติไทย”

       ในส่วน นางสาวสุขฤทัย อุ้มอารีกุล บัณฑิตเกียรตินิยมอันดับ 1 คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดเผยความรู้สึกหลังจากที่ได้รับสัญชาติไทยว่า  “ขอบคุณทุกๆท่านที่มีส่วนช่วยเหลือให้ได้มีวันนี้ หลังจากที่ใช้บัตรบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียนมาจนถึงอายุ 25 ปี 5 เดือน การดำเนินกระบวนการที่ยาวนานกว่า 6 ปี เริ่มตั้งเเต่เรียนอยู่ชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยนเรศวร ปี 2556 โดย ศ.ดร.วิทยา จันทร์ศิลา อดีตรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร พาไปพบกับ ผศ.กิติวรญา รัตนมณี จึงได้เริ่มต้นดำเนินการให้คำเเนะนำ และเริ่มดำเนินการจริงจังเมื่อ 21กุมภาพันธ์ 2560 โดยความช่วยเหลือของ 3 คณะทำงาน คือ 1.คลินิกกฎหมายนเรศวรเพื่อสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยนเรศวร 2.คณะทำงานของบางกอกคลินิก และ3.คลินิกกฎหมายโรงพยาบาลอุ้มผาง  ซึ่งหนูรอคอยวันนี้มานานแสนนาน หนูอยากมีนามสกุล อยากมีสัญชาติไทย และหนูดีใจมากๆ ค่ะ หนูจะตั้งใจทำสิ่งดีๆ เพื่อเมืองไทยต่อไปค่ะ หลังจากได้รับการรับรองสิทธิในสัญชาติไทย หนูก็ได้รับโอกาสดีเข้ามา โดยเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2563 ได้รับบรรจุเป็นข้าราชการ ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจในชีวิตของการทำงาน ในฐานะนักวิชาการสาธารณสุขปฏิบัติการ ”

       มหาวิทยาลัยนเรศวร ให้ความสำคัญการเป็น พลโลก/พลเมืองโลก หรือ Global Citizenship เพราะปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลกเรานี้มีความเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน อีกทั้งยังส่งผลต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์ การเป็นพลโลกไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าคุณเป็นคนชาติใด อาศัยอยู่ที่ไหน ประเทศไหน ปัญหาสำคัญคือทุกคนไม่ได้เกิดมาอย่างเท่าเทียมกัน จึงเป็นความท้าทายของเราในฐานะสถาบันการศึกษาในการจัดเตรียมผู้คนให้มีประสิทธิภาพ และสามารถมีโอกาสที่จะทำงานหรือใช้ชีวิตร่วมกันบนโลกใบนี้ได้ เราจะผลิตบัณฑิตเพื่อประเทศใดประเทศหนึ่งไม่ได้อีกต่อไป แต่ต้องผลิตบัณฑิตที่มีความเป็น “พลโลก” เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน หรือทำงานร่วมกันได้ ซึ่งท้ายที่สุดจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งนี้ผู้ที่สนใจ หรือมีปัญหาสถานะไร้รัฐ ไร้สัญชาติ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook page ‘คลินิกกฎหมายนเรศวรเพื่อสิทธิมนุษยชน Naresuan Legal Clinic’ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลันเรศวร เบอร์โทรศัพท์ 055-961739 ในวันและเวลาราชการ

ที่มา: งานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ดอกไม้กำลังจะบาน ณ อาคารอุทยานองค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช

เมื่อเวลา 9.00 น. วันจันทร์ที่ 23 มกราคม 2566 นายรุ่งรัตน์ พระนาค ผู้อำนวยการกองอาคารสถานที่พร้อมด้วยบุคลากรเข้าร่วมกันปลูกไม้ดอกไม้ประดับบริเวณด้านหน้าอาคารอุทยานองค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เพื่อตกแต่งสถานที่และเตรียมความพร้อมพิธีพระราชทานปริญญาบัตร

ที่มา: กองอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร ส่งเสริมบทบาทสตรีเป็นพื้นที่แห่งความเท่าเทียม

สภามหาวิทยาลัยนเรศวรมีมติแต่งตั้ง รองศาสตราจารย์ ดร.นิทรา กิจธีระวุฒิวงษ์ ให้ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ ทั้งนี้ ตั้งแต่ วันที่ 25 มกราคม 2566 เป็นต้นไป ตามมติที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยนเรศวร

ในการประชุมครั้งที่ 305 (13/2565) เมื่อวันเสาร์ที่ 24 ธันวาคม 2565 ณ ห้องประชุมสุพรรณกัลยา 3 อาคารสำนักงานอธิการบดี ชั้น 3 มหาวิทยาลัยนเรศวร

ที่มา: สาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม คณะสาธารณสุขศาสตร์ มน.

ศึกษาดูงานระบบบำบัดน้ำเสียของมหาวิทยาลัยนเรศวร

วันจันทร์ที่ 30 มกราคม 2566 บุคลากรกองอาคารสถานที่ ให้การต้อนรับ อาจารย์อำพล เตโชวาณิชย์ และคณะศึกษาดูงานนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ภาควิชาวิศวกรรมโยธา ปีที่ 3 จำนวน 59 คน เพื่อศึกษาดูงานระบบบำบัดน้ำเสียของมหาวิทยาลัยนเรศวร ณ สถานีบำบัดน้ำเสียส่วนกลาง มหาวิทยาลัยนเรศวร

ที่มา: ที่มา: กองอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร ร่วมจัดงานอบรมเชิงปฏิบัติการ “ระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์” บนหลังคา (Solar Rooftop)

วิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมกับ สมาคมไฟฟ้าและพลังงานไอทริปเปิลอี (ประเทศไทย) [IEEE Power & Energy Society (Thailand)] จัดงานอบรมเชิงปฏิบัติการ“ระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop): นโยบาย ข้อกำหนด การใช้โปรแกรมออกแบบ ติดตั้ง ควบคุมและบำรุงรักษา”

โดยมี รศ.ดร.นิพนธ์ เกตุจ้อย ผู้อำนวยการวิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี และทีมงาน SGtech ร่วมบรรยายในหัวข้อ“การออกแบบระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ โดยใช้โปรแกรม PVsys” และหัวข้อ dg “การอบรมเชิงปฏิบัติการ การใช้โปรแกรม PVsys สำหรับออกแบบระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์”ในวันที่ 23 มกราคม 2566 ณ ห้อง Arnoma โรงแรมอโนมา แกรนด์ กรุงเทพฯ

ที่มา: วิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนเรศวร

นักวิจัย ม.นเรศวร แปรรูปกะหล่ำปลี-โหระพา ลดความเสี่ยงไขมันในเส้นเลือด

เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2566 รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ.นันทิพ ลิ้มเพียรชอบ และ รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ.วรี ติยะบุญชัย อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ร่วมแถลงผลวิจัยแปรรูปกะหล่ำปลี และโหระพาเป็นอาหารเสริม ลดความเสี่ยงไขมันในเส้นเลือด โรคหัวใจและโรคอ้วน

รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ.นันทิพ กล่าวว่า ในปัจจุบันภาวะคอเลสเตอรอลสูง นับว่าเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญที่ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดคอเลสเตอรอล เป็นไขมันชนิดหนึ่งใช้เป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์ฮอร์โมนและเป็นส่วนหนึ่งของเยื่อบุเซลล์คอเลสเตอรอลส่วนใหญ่ถูกสังเคราะห์ขึ้นจากตับ บางส่วนพบอยู่ในอาหารที่เรารับประทาน “กะหล่ำปลีผง” ผลิตด้วยกรรมวิธี Freeze-dry โดยผงที่ได้จะมีลักษณะฟูละเอียดสีเขียวอ่อน มีกลิ่นอ่อนความคงตัวทางกายภาพดี หากเก็บที่อุณหภูมิที่เหมาะสมและแสดงฤทธิ์ในการจับกับกรดน้ำดี เนื่องจากกรดน้ำดีมีความสัมพันธ์กับระดับคอเลสเตอรอล ในกระแสเลือดโดยการจับกรดน้ำดีในทางเดินอาหาร จะส่งผลให้มีการขับกรดน้ำดีทิ้งออกทางอุจจาระ และส่งผลต่อเนื่องให้ดับคอเลสเตอรอลไปใช้สร้างกรดน้ำดีเพิ่มมากขึ้น จึงส่งผลทำให้ระดับของคอเลสเตอรอล ในเลือดลดลงได้ ถือว่ามีประโยชน์ต่อร่างกายเป็นอย่างมาก ล่าสุดผลงานวิจัยดังกล่าว ได้จดอนุสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว พร้อมทั้งจะวิจัยต่อยอดผลิตภัณฑ์ ให้มีการพัฒนาต่อไป

ที่มา: dailynews

เพื่อนพิงใจเวลาท้อ ศูนย์สุขภาวะนิสิต มหาวิทยาลัยนเรศวร

>>>เปิดเทอมนี้พบกันค่ะ เพื่อนพิงใจเวลาท้อ เวลาเครียดเวลาหาคนคุยด้วยไม่ได้
>>> ทางนี้มีคนคอยรับฟัง และช่วยเหลือน่าาาา
………………………………………………………
พบกับพี่ๆ ใจดี 4 คน >> วันจันทร์ – ศุกร์

– วันจันทร์ พี่เกด >> พี่สาวอารมณ์ดี

ฝีมือทำกับข้าวยืนหนึ่ง พึ่งพิงได้

รอยยิ้มสดใส พร้อมสร้างความสุข

ด้วยบอร์ดเกมส์ อิ่มเอมใจ

เหมือนมีเพื่อนสนิทสุดๆ มานั่งคุยด้วย

– วันอังคาร พี่แหม๋ว>>พี่สาวที่เป็นผู้ให้

ใจเย็น เข้าใจความรู้สึก สุขุมนุ่มลึก

และพร้อมรับฟัง

– วันพุธ/พฤหัส พี่นน>>สบายใจ

เมื่ออยู่ใกล้ อบอุ่น เป็นมิตร ใจดี มีความเป็นแม่สูง

และพร้อมอยู่ข้างๆ ลูกๆ เสมอ

– วันศุกร์ พี่ขวัญ>>กระตือรือร้น รับฟัง

ใส่ใจ ห่วงใย ทุกคน

……………………………………………………..

เวลา 08.30 – 20.00 น. ณ ศูนย์สุขภาวะนิสิต (ห้องขวัญ3)

อาคารขวัญเมือง หอพักนิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวร

…………………………………………………….

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม 0-5596-1273 (พี่นน)

ที่มา: ศูนย์สุขภาวะนิสิต มหาวิทยาลัยนเรศวร

ขอเชิญเข้าร่วมอบรมการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สมุนไพร สำหรับนักวิจัยและผู้ประกอบการ

วันที่ 26 – 27 มกราคม 2566 รูปแบบ Onsite: ห้องประชุมมหามนตรี อาคารอุทยานองค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชมหาวิทยาลัยนเรศวร (KNECC) Online: Facebook Live เพจ DRI Naresuan University

ที่มา: อุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร

อาจเป็นรูปภาพของ 1 คน และ ข้อความ

ม.นเรศวร ร่วม วช. เผย พร้อมส่งสตรอว์เบอร์รีพันธุ์ 89 ออกสู่ตลาดปีหน้า

วันที่ 26 มกราคม 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ผู้ทรงคุณวุฒิ วช. และสื่อมวลชน ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการวิจัยเรื่อง “การวิจัยและการพัฒนาเทคโนโลยีก่อนและหลังเก็บเกี่ยวสตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 89 ในเขตภาคเหนือ” ดำเนินโครงการโดย รองศาสตราจารย์ ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท และคณะนักวิจัย แห่งมหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อคัดเลือกสายพันธุ์ที่มีศักยภาพในการผลิตสารแอนโทไซยานินในสตรอว์เบอร์รี ณ สถานีเกษตรโครงการหลวงทุ่งหลวง อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่

รองศาสตราจารย์ ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า สตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 89 เป็นพันธุ์ลูกผสมระหว่างสตรอว์เบอร์รีพันธุ์ 329 เป็นสายพันธุ์พ่อและสตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 80 เป็นสายพันธุ์แม่ ซึ่งถูกปรับปรุงพันธุ์ขึ้นในระหว่างปี พ.ศ. 2557 – 2563 ทำให้สตรอว์เบอร์รีสายพันธุ์นี้มีขนาดใหญ่เทียบเท่าสตรอว์เบอร์รีเกาหลี อีกทั้งมีกลิ่นหอม ทนต่อการขนส่ง และมีปริมาณสารแอนโทไซยานินหรือสารต้านอนุมูลอิสระสูง เฉลี่ย 40.83 มิลลิกรัม/100 กรัม สูงกว่าพันธุ์การค้าทั่วไป 1-2 เท่า ซึ่งส่งผลดีต่อสุขภาพ ดังนั้น จึงเหมาะแก่การนําไปส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก โดยสายพันธุ์นี้ได้รับพระราชทานนามว่า “สตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 89” ในปี พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา

ที่มา: เทคโนโลยีเกษตร

ม.นเรศวร ร่วมงานดนตรีไทยอุดมศึกษา ครั้งที่ 45 “สังคีตศิลป์สุนทรีย์ เทิดพระบารมีจอมราชัน”

มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ส่งนิสิตและบุคลากร เข้าร่วมงานดนตรีไทยอุดมศึกษา ครั้งที่ 45 “สังคีตศิลป์สุนทรีย์ เทิดพระบารมีจอมราชัน” ในระหว่างวันที่ 25 – 28 ธันวาคม 2565 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ โดยมหาวิทยาลัยได้เข้าร่วมการบรรเลงดนตรีไทย จำนวน 3 รายการ ได้แก่ การบรรเลงดนตรีไทยวงเดี่ยวสถาบัน ในบทเพลง จีนเด็ดดอกไม้ เถา,การบรรเลงดนตรีไทยกลุ่มสถาบันอุดมศึกษาภาคเหนือ ในบทเพลง ลาวดวงดอกไม้ ออกซุ้ม และเข้าร่วมบรรเลงดนตรีไทยวงมหาดุริยางค์ ฝึกซ้อมการบรรเลงโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์พรชัย ผลนิโครธ ,ผู้ช่วยศาสตราจารย์บุตตรี สุขปาน และอาจารย์ประชากร ศรีสาคร อาจารย์ประจำภาควิชาดุริยางคศาสตร์ไทย คณะมนุษยศาตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร อีกทั้งยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงทอดพระเนตรการแสดงดนตรีไทย และร่วมบรรเลงดนตรีไทยวงมหาดุริยางค์ (ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์) ในบทเพลงชื่นชุมนุมกลุ่มดนตรี และเพลงชุดนเรนทราทิตย์ (รายงานโดยนายณัฐพล ประดิษฐ์กุล นักวิชาการศึกษา กองกิจการนิสิต)

ที่มา: กองกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยนเรศวร

Sustainability

NARESUAN UNIVERSITY

Solverwp- WordPress Theme and Plugin