ม.นเรศวรเปิดตัวนวัตกรรมฝีมือคนไทย “ผงแป้งพอกตัวลูกสุกรแรกคลอด” ช่วยลดการตายของลูกสุกร ส่วนผสมทำมาจากสมุนไพรที่หาง่ายในประเทศ สามารถย่อยสลายได้ง่าย ช่วยเพิ่มมูลค่าผลผลิตมาได้อีกทางหนึ่ง
เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2566 ร.ศ.ดร.วันดี ทาตระกูล อาจารย์ประจำคณะเกษตรศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ต.ท่าโพธิ์ อ.เมือง จ.พิษณุโลก พร้อมทีมวิจัยและตัวแทนบริษัทเฟิร์สลี่เทค จำกัด ได้แถลงข่าวเปิดตัวผลงานวิจัย “ผงแป้งพอกตัวลูกสุกรแรกคลอด” จากสมุนไพรไทยลดความเสี่ยงอัตราการตายของลูกสุกร โดยนวัตกรรมนี้ได้รับความไว้วางใจจากบริษัทเฟิร์สลี่เทค จำกัด รับการถ่ายทอดนวัตกรรมสู่เชิงพาณิชย์ และพร้อมวางจำหน่ายในไทยช่วงเดือนมีนาคม 2566 นี้
อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์การเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ม.นเรศวร กล่าวต่อว่า เบื้องต้นตั้งกลุ่มเป้าหมายไว้ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้ที่เคยใช้ผงพอกตัวลูกสุกรแรกคลอดอยู่แล้วแต่เป็นผลิตภัณฑ์นำเข้า หรือผลิตจากวัตถุดิบชนิดอื่น และกลุ่มเกษตรกรผู้ที่ไม่เคยใช้ผงพอกตัวลูกสุกรมาเลย โดยราคาผลิตภัณฑ์จากนวัตกรรมชิ้นนี้จะวางจำหน่ายในไทยเพียง 250 บาท (น้ำหนัก 5 กิโลกรัม) ซึ่งราคาจะถูกกว่าสินค้านำเข้าและสินค้าประเภทอื่นถึง 30-40 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งไม่มีอันตรายหากปนเปื้อนในน้ำ เพราะเป็นนวัตกรรมที่ผลิตจากสมุนไพรไทย อาทิ ขมิ้นชัน ไพล และฝาง
รศ.ดร.วันดี กล่าวอีกว่า “ผงแป้งพอกตัวลูกสุกรแรกคลอด” สามารถใช้พอกตัวลูกสุกร ทำให้ลูกสุกรสามารถ เข้าถึงเต้านมได้เร็วขึ้น และยังมีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อจุลลินทรีย์ที่ทำให้เกิดท้องเสียในลูกสุกร และทำให้พื้นคอกแห้งอยู่เสมอ โดยมีส่วนผสมจากสมุนไพรที่เป็นวัตถุดิบหาได้ง่ายจากภายในประเทศ อีกทั้งสามารถย่อยสลายได้ง่าย และเป็นการช่วยเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรให้แก่เกษตรกรได้อีกทางหนึ่ง
อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์การเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ม.นเรศวร กล่าวอีกว่า นวัตกรรม “ผงแป้งพอกตัวลูกสุกรแรกคลอด” ประกอบไป ด้วยแร่ธาตุจากธรรมชาติ เมื่อสัมผัสกับน้ำจะไม่ทำให้เกิดความร้อน ไม่มีสารเคมีเจือปน และไม่ออกฤทธิ์ระคายเคืองต่อผิวหนัง ไม่เพียงแต่จะใช้โรยตัวลูกสุกรเพื่อดูดซับความชื้น แล้วยังสามารถลดกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ในคอก รวมถึงช่วยรักษาสภาพแวดล้อมภายในคอกให้ปลอดโรคมากยิ่งขึ้น มีจุดเด่นคือลดความชื้น รักษาอุณหภูมิในร่างกายลูกสุกร อุณหภูมิภายนอกสูงกว่าในมดลูกลูกหมูมีพลังงานสะสมน้อยควรมีการดูดนมมากกว่า ควบคุมแบคทีเรียแห้งกว่า เชื้อโรคก็น้อยกว่า สายสะดือแห้งเร็ว ลดการเกิดสะดืออักเสบ
สำหรับแนวโน้มสถานการณ์สินค้าสุกร ปี 2566 โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรคาดว่าปี 2566 การผลิตสุกรในประเทศไทยจะมีปริมาณ 17.47 ล้านตัว เพิ่มขึ้น จาก 15.51 ล้านตัว ของปี 2565 คิดเป็นร้อยละ 12.66 เนื่องจากจำนวนแม่พันธุ์สุกรที่เพิ่มขึ้นจะสามารถขยายการผลิต สุกรได้เพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตามเกษตรกรยังคงมีความกังวลจากความเสี่ยงของโรคระบาดในสุกร และต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ (biosecurity).
ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์