Archives February 2023

ม.นเรศวร จัดกิจกรรมส่งเสริมประชาธิปไตย แสดงวิสัยทัศน์ผู้นำนิสิต

เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 กองกิจการนิสิตร่วมกับ สภานิสิต มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมประชาธิปไตย ประจำปีการศึกษา 2566 ณ บริเวณหน้าหอพักนิสิต มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้รับเกียรติจากคุณศิริวรรณ กมลพัฒนะ ผู้อำนวยการกองกิจการนิสิต เป็นประธานกล่าวเปิดโครงการ ภายในงานมีกิจกรรมหลากหลาย อาทิ วงเสวนาเกี่ยวกับการเลือกตั้งในมหาวิทยาลัย

การแสดง Performance art และ การแนะนำตัวการแสดงวิสัยทัศน์ ของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งในตำแหน่ง สมาชิกสภานิสิต ประธานสโมสรนิสิตทุกคณะ และ นายกองค์การนิสิต ประจำปีการศึกษา 2566 ซึ่งปีนี้ การชิงตำแหน่งนายกองค์การนิสิตมีผู้สมัคร 2 พรรค ได้แก่ พรรคมวลนิสิต และพรรคไชยานุภาพ นอกจากว่าที่ผู้สมัครจะได้แสดงวิสัยทัศน์ต่างๆ แล้วยังเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรม ได้มีคำถามประเด็นต่างๆ กับว่าที่ลงสมัครตำแหน่งนายกองค์การนิสิตซึ่งการเลือกตั้งผู้นำนิสิตในปีนี้จะเป็นการเลือกตั้งแบบออนไลน์ เปิดระบบเลือกตั้งในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566 ตั้งแต่เวลา 08.30 น. และจะปิดระบบเลือกตั้งในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 16.30 น. เชิญชวนนิสิตทุกคน อย่าลืมใช้สิทธิใช้เสียงในการเลือกตั้งครั้งนี้

ที่มา: กองกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยนเรศวร

บพข. กองทุน ววน. หนุนต่อเนื่อง “ท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิ ต้องเป็นศูนย์”

เมื่อวันที่ 7-8 กุมภาพันธ์ 2566, แผนงานกลุ่มท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) โดยกองทุนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ร่วมมือ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) จัดงานนิทรรศการและการประชุมเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Carbon Neutral Tourism) “พัฒนาพื้นที่ภาคเหนืออย่างยั่งยืน บนฐานคิดการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์” ณ จ.พิษณุโลก ภายใต้รูปแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความเข้าใจและทักษะของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการขับเคลื่อนแผนการท่องเที่ยว คาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศ และพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยในทุกมิติ หลังจากได้มีการดำเนินการในพื้นที่ภาคใต้ จ.สงขลา ไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

นายพชรเสฏฐ์ ศิริสาริศา รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยจำเป็นต้องเป็นการพัฒนาไปในทิศทางเดียวกับการพัฒนาในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโลกที่เน้นการพัฒนาที่ยั่งยืน ลดผลกระทบที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากกิจกรรมต่าง ๆ ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ด้วยการหาแนวทางขับเคลื่อนการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้น้อยที่สุดจนถึงการผลักดันให้เกิดการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ซึ่งงานการแสดงนิทรรศการและการประชุมเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้ จะได้สร้างความเข้าใจและทักษะของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนแผนการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศไทย และยังเป็นการจัดนิทรรศการเผยแพร่องค์ความรู้อย่างบูรณาการเพื่อการท่องเที่ยวไทยไร้คาร์บอน ในปี 2564 และ ปี 2565 ร่วมกัน และยังเป็นแนวทางในการพัฒนางานและความคิดเกี่ยวกับการท่องเที่ยว รวมถึงสถานประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว แหล่งท่องเที่ยว ชุมชนท่องเที่ยว และประชาชนทั่วไปที่มีความสนใจต่อการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในอนาคต

ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาวอาวุโส สกสว. และประธานคณะอนุกรรมการแผนงานกลุ่มท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (บพข.) กล่าวว่า สกสว. และกองทุน ววน. เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) รวมทั้งเสนอของบประมาณจากรัฐบาลเพื่อนำมาจัดสรรให้กับหน่วยงานในระบบ ววน.ราว 190 แห่ง ประกอบด้วย หน่วยบริหารและจัดการทุน 9 แห่ง มหาวิทยาลัยและหน่วยงานต่าง ๆ โดยมีระบบ การติดตามประเมินผลและการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์อย่างครบวงจร

แผนด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ได้รับสนับสนุนงบประมาณการวิจัยประมาณ 200 ล้านบาทต่อปี โดยออกแบบแผนงานวิจัยเพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจการท่องเที่ยว 2 กลุ่ม กลุ่มแรก “แผนการท่องเที่ยวมูลค่าสูง” เน้นการทำงานร่วมกับภาคเอกชน เพื่อสร้างรายได้และคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนและคนในภาคการท่องเที่ยว คือ 1)การท่องเที่ยวบนฐานมรดกชาติการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ 2)การยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ 3)การยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง และกลุ่มที่ 2 “แผนงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์” มุ่งเน้นการยกระดับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เพื่อเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์

กลุ่มการท่องเที่ยวบนฐานมรดกธรรมชาติ การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ เป็นกลุ่มที่มีความเข้มแข็ง มีภาคีเครือข่ายในการทำงานตามกรอบความร่วมมือ (MOU) 8 องค์กรพันธมิตรจาก 3 กระทรวง บูรณาการ/ขับเคลื่อนการส่งเสริมและสนับสนุนการท่องเที่ยวที่มีการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ช่วยลดโลกร้อน ระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการอุดมศึกษาฯ พร้อมด้วย 8 ภาคีเครือข่ายที่ร่วมมือกัน ประกอบด้วย สกสว. บพข. องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) (สสปน.) หอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) (อพท.) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (สทอ.) ที่มีกลไกการทำงานร่วมกัน โดย อบก. สนับสนุนให้เกิดการคํานวณการปล่อยคาร์บอนของบริการการท่องเที่ยว (Product Category Rules : PCR) ทั้งในการเดินทาง ที่พัก อาหาร การจัดการของเสีย ซึ่งในปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ จะมีการเพิ่มเติม PCR ของกิจกรรม การท่องเที่ยวเชิงกีฬา การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ สปา เป็นต้น โดยเน้นการทำงานวิจัยร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชน และผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว

“จังหวัดพิษณุโลก จัดเป็น MICE City จังหวัดที่ 9 มีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์บนฐานมรดกทางวัฒนธรรมประวัติศาสตร์อันงดงาม การท่องเที่ยวเชิงกีฬา การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ บพข. ได้สนับสนุนงานวิจัยให้ภาคเหนือตอนล่าง เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวคุณภาพ เช่น กลุ่มที่ต้องการพักผ่อน ดูแลรักษาสุขภาพ กลุ่ม MICE นักเดินทางเพื่อเป็นรางวัล กลุ่มเป้าหมาย กลุ่ม Tourism for all กลุ่มท่องเที่ยวที่รักษ์ธรรมชาติเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติ การท่องเที่ยวในสวนผลไม้ ที่มีการคิด การลด การชดเชยการปล่อยคาร์บอนและขยายผลบอกต่อให้นักท่องเที่ยวและชุมชนที่รองรับนักท่องเที่ยวได้เข้าใจกระบวนการ ที่มุ่งสู่การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์” ผศ.สุภาวดี กล่าวเสริม

ทั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ ในการออกบูธแสดงผลงานจากวิจัยจาก 4 หน่วยงานหลัก คือ มหาวิทยาลัยรามคำแหง สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (สทอ.) มหาวิทยาลัยนเรศวร และมหาวิทยาลัยพะเยา และบูธจากวิสาหกิจชุมชน ของดีในชุมชนภาคเหนือ จำนวน 13 บูธ คือ ชุมชนท่องเที่ยวบ้านวังส้มซ่า สมาคมการท่องเที่ยวโดยชุมชนจังหวัดลำปาง หรือ จำปุยโฮมสเตย์ วิสาหกิจชุมชนการท่องเที่ยวโดยชุมชนไตลื้อเมืองลวงเหนือ วิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์บัวกว๊านพะเยา กลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชนชมภู วิสาหกิจชุมชนบ้านเนินกระบาก วิสาหกิจชุมชน คนเอาถ่านบ้านเขาปรัง วิสาหกิจชุมชนเมืองหมักพิศโลก วิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกรบ้านบึงเวียน กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านหนองกุลา ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมไทยลื้อเชียงคำ จ.พะเยาโฮมสเตย์บ้านท่าขันทอง และชมรมส่งเสริมท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านไร่กองขิง ซึ่งได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี

ที่มา: mgronline

ม.นเรศวร ตระหนักถึงการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างรู้คุณค่า

วันอนุรักษ์น้ำโลก หรือ World Water Day ตรงกับวันที่ 22 มีนาคม ของทุกปี ซึ่งถือเป็นวันสำคัญวันหนึ่งของมวลมนุษยชาติเลยทีเดียว เพราะมนุษย์เราต้องใช้ทรัพยากรน้ำในการดำรงชีวิต

วันอนุรักษ์น้ำโลก มีจุดเริ่มต้นจากการประชุมเรื่องสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ที่เมืองริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล ในวันที่ 22 มีนาคม ปี 1992 ที่มีเนื้อหาสำคัญโดยตระหนักถึงการใช้ทรัพยากรน้ำของมนุษย์ จึงมีแนวคิดที่จะจัดกิจกรรมที่จะเป็นแผนแม่บทให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกได้เฝ้าระวังทรัพยากรน้ำในประเทศนั้น ๆ และในวันนั้นเองสมัชชาทั่วไปแห่งสหประชาชาติก็ได้ออกประกาศให้วันที่ 22 มีนาคม ของทุกปี เป็นวัน World Water Day หรือ วันอนุรักษ์น้ำโลก

โดยทางองค์การสหประชาชาติจะกำหนดธีม หรือหัวข้อประเด็นของวันอนุรักษ์น้ำโลกในแต่ละปีแตกต่างกันออกไป ซึ่งแม้การรณรงค์ในวันน้ำโลกจะไม่สามารถประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาได้ แต่การกำหนดหัวข้อของวันน้ำโลกในแต่ละปีนั้นถือเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงประเด็นปัญหาสำคัญเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำที่เชื่อมโยงกับประชากรโลกได้เป็นอย่างดี และในปี 2023 ได้กำหนดธีมรณรงค์ไว้ คือ Partnerships and Cooperation for Water

มหาวิทยาลัยนเรศวร เล็งเห็นถึงความสำคัญในการมีส่วนร่วมการอนุรักษ์น้ำ และตระหนักถึงการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างรู้คุณค่า มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการแหล่งน้ำภายในมหาวิทยาลัย หมุนเวียนการใช้น้ำเพื่อลดการใช้อย่างศูนย์เปล่าโดยการนำน้ำเสียจากชุมชนรอบมหาวิทยาลัยเข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสียของมหาวิทยาลัย ก่อนปล่อยสู่ธรรมชาติหรือนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป เช่น รดน้ำต้นไม้ นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญในเรื่องการใช้น้ำอย่างประหยัด ใช้สุขภัณฑ์ประหยัดน้ำ การรณรงค์ร่วมมือกันประหยัดน้ำ โดยมี อาจารย์ บุคลากร และนิสิต เข้ามามีส่วนร่วม “รู้คุณค่า และใช้น้ำให้เกิดประประโยชน์”

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยนเรศวรให้ความสำคัญต่อการบริการนิสิตในมหาวิทยาลัยนเรศวร โดยมีจุดบริการน้ำดื่มฟรีที่ถูกสุขอนามัย บริการทั้งในส่วนอาคารเรียนต่างๆ และหอพักนิสิต รวมถึงบุคลากร ให้เข้าถึงบริการน้ำดื่มที่สะอาด ปลอดภัยถูกหลักสุขอนามัยโดยไม่มีค่าใช้จ่าย และให้ความรู้ในด้านการบริหารจัดการน้ำ ทั้งน้ำสะอาดและน้ำเสีย ให้ความรู้กับหน่วยงาน นิสิต และภาคประชาชนที่สนใจ เพื่อนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อหน่วยงานและชุมชน รวมถึงมีส่วนร่วมในการช่วยแก้ไขกฤติเกี่ยวกับแหน่งน้ำ หรือโรคที่มากับน้ำ ผ่านความร่วมมือและงานวิจัย เป็นต้น

ที่มา: kapook.com

4 ฉากทัศน์ แก้ปัญหาฝุ่น ‘PM2.5’ อย่างยั่งยืนใน 15 ปี

ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาค่าความเข้มข้นของ ‘PM2.5’ ในบรรยากาศเกินค่ามาตรฐานความปลอดภัยต่อสุขภาพประชาชน ทั้งในกรุงเทพมหานครและหลายจังหวัดในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา และเป็นปัญหาที่จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต

ในปี 2565 จากการรวบรวมข้อมูล DustBoy พบว่า จำนวนวันที่ PM2.5 เกินมาตรฐาน WHO ในหลายเขตของ กทม. สูงกว่า 40 – 70 วัน โดยเขตที่เกินมาตรฐานที่สุด คือ เขตดินแดง เกินค่ามาตรฐานถึง 249 วัน PM2.5 ส่งผลให้คนเสียชีวิตก่อนวัยอันควรกว่า 4,486 คนต่อปีในกทม. ความเสียหายต่อเศรษฐกิจในกทม. คิดเป็น 4.51 แสนล้านบาทต่อปีในปี 2562

อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาฝุ่นต้องอาศัยระยะเวลา แม้แต่ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นต้นแบบของการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศและการแก้ปัญหาฝุ่น มีกฎหมาย Clean Air Act ซึ่งเป็นต้นแบบในหลายๆ ประเทศ ก็ยังต้องใช้เวลากว่า 10-15 ปีในการแก้ไขปัญหา

เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 “รศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์” ผู้เชี่ยวชาญระดับสูง สกสว. กล่าวในงานแถลงข่าว ‘ววน.รวมพลังฝ่าวิกฤต PM2.5’ ณ ห้องประชุม อาคารพระจอมเกล้า ถนนโยธี โดยทำการวิเคราะห์ 4 ฉากทัศน์ของการจัดการฝุ่นและมลพิษทางอากาศ โดยการใช้ AI ประมวลผลจับคู่งานวิจัยในฐานข้อมูลของแผนปฏิบัติการด้านวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ที่ได้ให้ทุนไปในช่วง ปี 2563 – 2565 จำนวนกว่า 18,227 ชิ้น ออกมาเป็น 4 มาตรการ แก้ปัญหาฝุ่นยั่งยืนใน 15 ปีหากมีการนำเอางานวิจัยมาใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ดังนี้

มาตรการที่ 1 คือ มาตรการเร่งด่วน ปกป้องตนเอง : การแก้ไขปัญหาฝุ่นต้องใช้เวลา 10-15 ปี ถึงจะสามารถแก้ไขอย่างเป็นระบบ ดังนั้น ในช่วงนี้ ประชาชนต้องลดการสัมผัส PM2.5 ในบรรยากาศ ป้องตนเองโดยการเช็กค่าฝุ่นละอองในขณะนั้นว่า อยู่ในระดับที่ส่งผลต่อสุขภาพหรือไม่ โดย กระทรวง อว. มีเครือข่ายเซ็นเซอร์กระจายอยู่ทั่วประเทศ มากกว่า 1,300 จุด สามารถเข้าไปดูในเว็บไซต์ คลิก

เซ็นเซอร์ที่มีการใช้งานแพร่หลายคือ DustBoy โดยในปัจจุบัน เขตกทม. มีผู้ใช้งาน 1.5 แสนคนต่อปี เพื่อปกป้องตนเอง ในช่วงค่าฝุ่นสูง ก็จะสามารถลดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรไปได้ 86 คนต่อปี ต้องมีการกระตุ้นเชิงพฤติกรรมให้คนหันมาใช้ข้อมูลจากเซ็นเซอร์เพื่อลดการสัมผัสฝุ่น PM2.5 อีกทั้งในปัจจุบันมีการใช้ไลน์ในการแจ้งเตือนแต่ละจุดที่อยู่ ว่ามีฝุ่นเข้มข้นมากน้อยแค่ไหน อันตรายหรือไม่ รวมถึงจะมีแอปฯ ของกระทรวง อว. ออกมาในช่วงเดือน ก.พ. – มี.ค. นี้เพื่อเตือนภัยฝุ่น

มาตรการที่ 2 เมืองแห่งรถไฟฟ้า : การเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้รถยนต์ EV เพื่อลดการปลดปล่อยฝุ่นจากการจราจร โดย 59% ของฝุ่น PM2.5 ใน กทม. มาจากการขนส่งและการจราจร ตามแผนคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ หรือ บอร์ด EV จะเปลี่ยนไปใช้รถ EV 37 % ของรถทั้งหมดในปัจจุบัน ภายใน 14 ปีข้างหน้า หรือ ปี 2578 จะลดการปลดปล่อยฝุ่น ใน กทม. ได้ 22%

ซึ่งจากแบบจำลองจะลดวันที่ฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐานลงได้ 52.38% รวมจำนวนวันที่ฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน WHO ในทุกเขตประมาณ 538 วัน ลดโอกาสเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้ 2,350 คนต่อปีในกทม. ลดความเสียหายต่อเศรษฐกิจ กทม. ได้ 2.36 แสนล้านบาท ต่อปี เทียบกับข้อมูลปี 62 ซึ่งงานวิจัย ววน. มีความพร้อมในระดับต้นแบบอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะรถไฟฟ้ารางเบา รถไฟฟ้าระหว่างเมือง รถบรรทุกไฟฟ้า รถจักรยานไฟฟ้า

มาตรการที่ 3 อุตสาหกรรมสะอาดขึ้น : 20% ของฝุ่น PM2.5 ใน กทม. มาจากโรงงานอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้า ซึ่งจริงๆ แล้วการปลดปล่อยปลายปล่องนั้นมีเทคโนโลยีลดปล่อยได้กว่า 90% ของเทคโนโลยีที่ไทยใช้อยู่ในปัจจุบัน ในสหรัฐอเมริกา พื้นที่ที่มีค่าคุณภาพอากาศไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน จะมีติดตั้งระบบบำบัดมลพิษปลายปล่องที่เข้มงวดเป็นพิเศษ

  • “หากไทยนำแนวคิดนี้มาใช้จะสามารถปรับระบบบำบัดมลพิษอากาศจากโรงงานและโรงไฟฟ้าให้ลดการปลดปล่อยลงได้ 75% ลดการปลดปล่อยฝุ่นพิษได้อีก 15% ของทั้งหมดที่ปล่อยในกทม. รวมถึง ลดวันที่ฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน WHO ในกทม. ลงได้ 16.53% รวมจำนวนวันที่ฝุ่นเกินค่ามาตรฐาน WHO ในทุกเขตประมาณ 944 วัน ลดโอกาสเสียชีวิตก่อนวันอันควร ได้ 733 คนต่อปีในกทม. ลดความเสียหายต่อเศรษฐกิจในกรุงเทพฯ ได้ 0.74 แสนล้านบาท ต่อปี เป็นเทคโนโลยีที่มีความพร้อมใช้ในต่างประเทศ แค่ต้องนำมาใช้จริงและงานวิจัยในระบบ ววน. ต้องพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้ขึ้นมาเอง”

สำหรับอุตสาหกรรมสะอาดต้องมองให้ครบทั้งห่วงโซ่อุปทานการผลิต วัตถุดิบที่ได้มาในการผลิตปลดปล่อยฝุ่นมากน้อยแค่ไหน เช่น อุตสาหกรรมการเกษตร มีหลากหลายเทคนิคและกระบวนการผลิตเพื่อลดการปลดปล่อยฝุ่น ซึ่งมีหลายงานวิจัยและนวัตกรรมของภาคเอกชน เช่น เครื่องจักรขนาดเล็กช่วยตัดใบอ้อยเพื่อลดการเผาที่ใช้ในพื้นที่นำร่อง จ.สิงห์บุรี นวัตกรรมการจัดการเผาเศษวัสดุจากการเกษตรกรรมหรือ แอป FireD (ไฟดี) แอปพลิเคชั่นการจองเผา ในวันที่สภาพอากาศเหมาะสม และไม่ส่งผลให้ค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน

มาตรการที่ 4 กลไกตลาดเสริมอำนาจผู้บริโภค : ซึ่งเป็นมาตรการที่สำคัญมาก เพราะ 20% ของ PM2.5 ในกทม. มาจากการเผาชีวมวล เศษวัสดุทางการเกษตร ขณะที่การผลิตในปัจจุบัน มีหลากหลายกระบวนการผลิตที่สะอาดเพื่อลด PM2.5 กว่า 80% สามารถลดวันที่ฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐานในกทม. ได้ 16.62% ขณะเดียวกัน การใช้ฉาก PM2.5 และมลพิษอากาศกับผลิตภัณฑ์จะทำให้ผู้บริโภคทราบข้อมูล ส่งผลต่อกลไกตลาด ส่งผลต่อการผลิตสะอาดมากขึ้น ลดโอกาสเสียชีวิตก่อนวัยอันควรราว 746 คนต่อปีในกทม.  ลดความเสียหายต่อเศรษฐกิจในกทม. ราว 0.75 แสนล้านบาทต่อปี เทียบกับปี 2562

ปัจจุบัน มีเทคโนโลยีทางเลือกอยู่แล้วโดยในไทยมีนักวิจัยที่สามารถประเมินการปล่อย PM2.5 ได้ งานนำร่องที่ดีเป็นวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ประเมินการปลดปล่อย ฝุ่นละออง PM2.5 จากการจราจรประเภทต่างๆ เทคนิคนี้สามารถนำไปใช้กับผลิตภัณฑ์ได้ เพื่อให้ผู้บริโภคเลือกสินค้าสะอาด

  • “การเตรียมการเพื่ออนาคตหมดปัญหา PM2.5 ทั้ง 4 มาตรการนั้น ‘มาตรการปกป้องตนเอง’ ววน. ไทย มีความพร้อมของเทคโนโลยี นวัตกรรม นำเข้ามาใช้ได้ แต่ต้องพัฒนาเพิ่มเติมในระยะกลาง ระยะยาว ‘มาตรการเมืองแห่งรถไฟฟ้า’ ต้องมีการลงทุนเพิ่มมากโดยประชาชน ประชาชนปรับตัวแล้ว และ นโยบายภาครัฐสนับสนุนรถ EV สร้างความเชื่อมั่นในการใช้รถไฟฟ้า”

“ส่วน ‘อุตสาหกรรมสะอาดขึ้น‘ มีหลากหลายเทคนิคการลดการปล่อยมลพิษ แต่ต้องการกฎหมาย รวมถึงภาครัฐ เอกชน ลงทุนเพิ่มมากในการปรับระบบการผลิต อุตสาหกรรมปรับตัว ราชการปรับตัว ด้าน ‘การใช้กลไกตลาดเสริมอำนาจผู้บริโภค’ ต้องลงทุนเพิ่มมากเพื่อการผลิตที่สะอาดขึ้น รวมถึงฉลากสิ่งแวดล้อม ประชาชนปรับตัว อุตสาหกรรมปรับตัว” รศ.ดร.ธนพล กล่าว 

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ

NU SciPark ลงพื้นที่ถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน Tech Transfer to Community ส่งเสริมการรับงานไปทำที่บ้าน

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 เจ้าหน้าที่อุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวรลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานโครงการ “การผลิตภัณฑ์ขิงเพื่อการค้า เส้นทางนวัตกรรมเทคโนโลยีเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจและการตลาดสร้างสรรค์” โดยมี ผศ.ดร.ภคพร วัฒนดำรงค์ สังกัดคณะบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์ และการสื่อสาร มหาวิทยาลัยนรศวร เป็นหัวหน้าโครงการ ทั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากสำนักงานจัดหางานจังหวัดเพชรบูรณ์

จัดกิจกรรม “การอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง เส้นทางนวัตกรรมเทคโนโลยีเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์” ณ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านทฤษฎีใหม่ การลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน Tech Transfer to Community เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีกระบวนการผลิต และการแปรรูปขิงและมะขามให้กับสมาชิกในชุมชน และเป็นการส่งเสริมการรับงานไปทำที่บ้าน โดยดำเนินงานภายใต้แผนงานการส่งเสริมการนำนวัตกรรมไปใช้ประโยซน์ในพื้นที่เพื่อพัฒนาสังคมและชุมชน (Area based Innovation for Community)(โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน Tech Transfer to Community) ประจำปี 2565

ที่มา: อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

นักวิจัย ม.นเรศวร เผย 4 ฉากทัศน์สำคัญลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่ผ่านการปฏิบัติจริงนำมาปรับใช้ใน กทม.

ข่าว 3 มิติ ยังติดตามปัญหาค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM2.5 เกินค่ามาตรฐานอย่างต่อเนื่อง โดยวันนี้ (7 กุมภาพันธ์ 2566) ค่าฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ส่วนใหญ่ของกรุงเทพมหานครลดลงมาอยู่ในเกณฑ์เกือบปกติเเล้ว ด้านนักวิชาการจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้นำเสนอ 4 ฉากทัศน์สำคัญที่จะทำให้ปัญหาฝุ่นลดลงได้ นำเสนอผ่านพื้นที่จริงที่ประสบความสำเร็จแล้ว สู่การปรับใช้ในกรุงเทพมหานคร

ที่มา: ข่าว3มิติ

ม.นเรศวร ร่วมลงนามเพื่อพัฒนาแผนงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับจังหวัดตาก

วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566 รองศาสตราจารย์ ดร.สัมฤทธิ์ โม้พวง คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และนายสาธิต มณฑาทิพย์ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดตาก ร่วมกันลงนามสัญญาในการดำเนินงาน “โครงการการพัฒนาศักยภาพสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด เพื่อพัฒนาแผนงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับจังหวัดตาก” เพื่อจัดทำรายงานข้อมูลก๊าซเรือนกระจก และแผนการลดก๊าซเรือนกระจกระดับจังหวัด พร้อมทั้งจัดทำรายงานสภาพการณ์ความเสี่ยง (Risk Profile) จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของจังหวัด ตามแนวทางของแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ และจัดทำแผนปฏิบัติการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับพื้นที่

ที่มา: คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร ให้การต้อนรับคณะศึกษาดูงานจากหน่วยงาน Emerging Energy และ Renewable Energy Innovation ภายใต้บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)ม.นเรศวร

วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566 รศ.ดร.นิพนธ์ เกตุจ้อย ผู้อำนวยการวิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี (SGtech) พร้อมด้วยผู้บริหาร อาจารย์ และบุคลากร ร่วมให้การต้อนรับคณะศึกษาดูงานจากหน่วยงาน Emerging Energy และ Renewable Energy Innovation ภายใต้บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อเยี่ยมชมและรับฟังบรรยาย โดย ดร.ยอดธง เม่นสิน รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ ดร.พรทิพย์ เม่นสิน ในหัวข้อ
– ระบบโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็ก Microgrid system และ Energy management system EMS/DERS/VPP Net zero energy
– Energy trading platform และการบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่

ที่มา: วิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนเรศวรdg 7

ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร “กะหล่ำปลีผง” รูปแบบชงน้ำดื่ม

ทางเลือกในการควบคุมระดับโคเลสเตอรอลในเลือด งานวิจัยนี้ได้นำกะหล่ำปลีมาแปรรูปเป็นผงกะหล่ำปลี ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ดัดแปลง เพื่อเตรียมเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย โดยผลิตภัณฑ์นี้มี ไฟเบอร์สูง ,จับกรดน้ำดีสูง และลดโคเลสเตอรอลในโมเซลล์ และเหมาะสมกับผู้บริโภคทุกช่วงวัย รวมถึงผู้ที่ควบคุมระดับคอเลสเตอรอลในเลือด และผู้ที่สนใจดูแลสุขภาพตนเอง

นักวิจัย : รองศาสตราจารย์ ดร.นันทีทิพ ลิ้มเพียรชอบ และ รองศาสตราจารย์ ดร.วรี ติยะบุญชัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

สนใจขอรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี สนใจติดต่อกองการถ่ายทอดเทคโนโลยีและบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา
ที่มา: กองการถ่ายทอดเทคโนโลยีและบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา มหาวิทยาลัยนเรศวร

นักวิจัย ม.นเรศวร 1 ใน 2 นักวิจัยไทยที่ได้รับรางวัลพิเศษในงาน IPITEx ปี 2023 จัดโดย วช. ชูผลงานแห่งความภาคภูมิใจ ส่งออกผลไม้ไทยไปตีตลาดโลก

นักวิจัยไทย รศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท จากมหาวิทยาลัยนเรศวร 1 ใน 2 ของนักวิจัยไทยที่ได้รับรางวัลพิเศษในงานนวัตกรรมและเทคโนโลยีทรัพย์สินทางปัญญานานาชาติ หรือ IPITEX 2023 จัดโดย วช.ในงานวันนักประดิษฐ์ 2566 หมาดๆ เปิดใจ ผลงานแห่งความภาคภูมิใจส่งออกผลไม้ไทยไปตีตลาดโลก

เมื่อวันที่ 8 ก.พ. รศ. ดร. พีระศักดิ์ ฉายประสาท หัวหน้าทีมวิจัยจาก คณะเกษตรศาสตร์ และสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า ประเทศไทยมีชื่อเสียงในการส่งออกผลไม้สดโดยเฉพาะมะม่วงนำ้ดอกไม้สีทองที่มีความโดดเด่นและได้รับความนิยมอย่างมากจากชาวต่างชาติ แต่ยังมีตลาดอีกหลายแห่งที่น่าสนใจและควรได้รับการพัฒนาสนับสนุนให้มีการส่งออก อาทิ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และสหรัฐอเมริกา

ในช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมาผู้ส่งออกผลไม้ไทยต้องประสบปัญหาในการขนส่งสินค้าทางอากาศเป็นอย่างมาก ทีมวิจัยได้ค้นพบแนวทางช่วยเหลือผู้ส่งออกมะม่วงนำ้ดอกไม้สีทอง จาก งานวิจัย ที่ วช.ให้ทุนในโครงการ การบริหารจัดการสายโซ่คุณค่ามะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง

ด้วยการประเมินความสุกแก่ของมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองโดยใช้เทคนิค เนียร์อินฟราเรดสเปกโตรสโกปีแบบไม่ทำลายผลิตผล สามารถประเมินคุณภาพได้อย่างรวดเร็วถูกต้องมีความแม่นยำสูงและเชื่อถือได้ ในการขนส่งทางเรือใช้ตู้คอนเทนเนอร์ควบคุมบรรยากาศให้มีความเข้มข้นออกซิเจนที่ 3 เปอร์เซนต์และคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ที่ 5 เปอร์เซนต์ร่วมกับสารชะลอความสุกแก่ I-MCP เก็บรักษาที่อุณหภูมิ 13-15 องศาเซลเซียส รวมทั้งใช้บรรจุภัณฑ์ดัดแปลงสภาพบรรยากาศ ได้แก่ถุง White Ethylene absorbing Bag ห่อมะม่วงน้ำดอกไม้ ทำการส่งไปที่เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ใช้เวลาขนส่ง 28 วัน มีระยะเวลาจำหน่ายอีก 7-9 วัน

ผลการประเมินความคุ้มค่าพบว่า การขนส่งทางเรือด้วยวิธีนี้มีต้นทุนต่อกล่องต่ำกว่าการขนส่งทางอากาศอย่างมีนัยสำคัญ การเน่าเสียของมะม่วงต่อปริมาณการส่งออกไม่เกิน 30 เปอร์เซนต์ ลดต้นทุน 11 เปอร์เซนต์ต่อปริมาณการส่งออกตั้งแต่ 5 ตันขึ้นไป เป็นแรงจูงใจที่สามารถเป็นทางเลือกในการส่งออกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองไปต่างประเทศได้ ช่วยผู้ส่งออกผลไม้สดไทยให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกอีกทางหนึ่ง

รศ.ดร. พีระศักดิ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีข่าวที่น่ายินดีว่า ผลงานวิจัยเรื่องส้มโอฉายรังสีเพื่อการส่งออกที่ ทีมวิจัยได้รับทุนจาก วช. โดยความร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ หรือ สทน. สามารถตอบโจทย์การส่งออก ส้มโอไปยังสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรก เนื่องจากข้อกำหนดการส่งออกผลไม้ มะม่วง ลำไยและส้มโอ จะต้องผ่านการฉายรังสีในปริมาณ 400 เกรย์ เพื่อป้องกันแมลงวันผลไม้ ซึ่ง ทีมวิจัยได้ทำเรื่องนี้สำเร็จแล้ว มีส้มโอที่ต้านทานรังสีในปริมาณ 400 เกรย์โดยรักษาคุณภาพไว้ได้ ประกอบด้วยพันธ์ส้มโอพันธ์ุทับทิมสยาม พันธุ์ขาวใหญ่ พันธุ์ทองดีและพันธุ์ขาวน้ำผึ้ง ซึ่งจะทำให้ส้มโอไทยสามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้มากขึ้น เพราะรสชาติหวานอมเปรี้ยว มีผิวและสีสันสวยงามเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคโดยเฉพาะชาวเอเชียที่นิยมนำส้มโอไปไหว้บรรพบุรุษ ไหว้เจ้าตามประเพณีและในงานประเพณี ถือเป็นผลไม้มงคล จะทำให้เกษตรกรสวนส้มโอที่ปลูกในพื้นที่ต่างๆ อาทิ ที่พิจิตร สมุทรสาคร สมุทรสงคราม นครปฐมและส้มโอทับทิมสยามที่ปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยในระหว่าง 5-12 มีนาคม 2566 เราจะนำส้มโอและมะม่วงมหาชนกไปจัดแสดงในงาน Natural Product ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าเกษตร สินค้าธรรมชาติและการแปรรูปที่ใหญ่ที่สุด จัดที่แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา โดยได้รับความร่วมมือจากกรมวิชาการเกษตร ผู้ส่งออกผู้นำเข้าของไทยซึ่งจะเป็นการประกาศความพร้อมในการส่งส้มโอ และมะม่วงมหาชนกไปยังสหรัฐอเมริกาต่อไป

รศ.ดร. พีระศักดิ์ ฉายประสาท นักวิจัยมือทองด้านการเกษตรและผลไม้ไทยกล่าวถึงโครงการวิจัยล่าสุดที่เพิ่งได้รับทุนจาก บพข. ได้แก่ โครงการท่องเที่ยวเชิงเกษตรไร้คารบอน เป็นโครงการระยะ1ปี6เดือน เราจะทำโครงการพานักท่องเที่ยวเข้าไปสัมผัสสวนผลไม้ที่ไร้คาร์บอนตอบโจทย์ผู้บริโภคที่อยากเข้าไปเยี่ยมชมสวนตั้งแต่ช่วงใกล้เก็บเกี่ยว เพื่อสัมผัสกับธรรมชาติ ซึ่งกำหนดพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง และปากช่อง ได้แก่ มะม่วงน้ำดอกไม้ที่พิษณุโลก สตรอเบอรี่ที่เขาค้อ องุ่นไซมัสแค้ทที่นำมาปลูกตั้งแต่พิษณุโลกถึงเชียงใหม่ เราอยากให้การท่องเที่ยวเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรอย่างที่ในต่างประเทศทำกัน เป็นการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวจากสวนผลไม้ซึ่งจะต้องมีสิ่งดึงดูดใจใหม่ๆ ซึ่งจะทำให้เกษตรกรต้องปรับตัว

“เราจะเข้าไปให้คำแนะนำเรื่องการจัดการพื้นที่ การบริหารจัดการนักท่องเที่ยว ความสะดวกสบาย ความปลอดภัย ให้นักท่องเที่ยวรู้สึกไปแล้วอยากไปอีก กิจกรรมจะมีทั้งชม ชิม ช้อป แชะ ทั้งหมดจะทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยในพื้นที่ เพื่อทำให้สวนผลไม้ขายได้มากขึ้น เพราะตอนนี้คนเริ่มโหยหาการท่องเที่ยวใหม่ๆที่ไม่เคยไป เชื่อว่าการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำหรือไร้คาร์บอนจะเป็นกระแสตอบรับในเทรนด์ใหม่ของโลก

ไฮไลท์แห่งแรกที่เราเลือกคือ ปากช่อง เพราะอยู่ใกล้กรุงเทพสามารถเป็นทริปต์วันเดียวได้ และมีการปลูกผลไม้อยู่มาก แต่จะทำอย่างไรให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ เป็นโจทย์ที่เราจะเปิดตัวในเร็วๆ นี้

ที่มา: mgronline

Sustainability

NARESUAN UNIVERSITY

Solverwp- WordPress Theme and Plugin