Archives February 2023

ม.นเรศวร ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการ Talent Mobility “การพัฒนาสูตรอาหารจิ้งหรีด”

เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566 อุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ดร.ยุพา หาญบุญทรง อาจารย์ประจำภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ดร.อภิรชัย วงษ์ศรีวรพล ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น และผู้แทนจากสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม ลงพื้นที่เพื่อติดตามความก้าวหน้าของโครงการ “การพัฒนาสูตรอาหารจิ้งหรีดต้นทุนต่ำและโปรแกรมการให้อาหารเพื่อยกระดับมาตรฐานการเลี้ยงของฟาร์มเกษตรกรเครือข่าย” โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ทศพร อินเจริญ สังกัด คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นหัวหน้าโครงการ ดำเนินงานร่วมกับ บริษัท ล้านฟาร์มฮัก จำกัด ภายใต้โครงการ Talent Mobility ประจำปีงบประมาณ 2565

ที่มา: อุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร ใส่ใจการรักษามาตรฐานความสะอาด “อาหารปลอดภัย” ตามหลักสุขาภิบาล เพื่อให้นิสิตปลอดภัย

มหาวิทยาลัยนเรศวร ใส่ใจการรักษามาตรฐานความสะอาด ตามหลักสุขาภิบาล เพื่อให้นิสิต และผู้รับบริการปลอดภัยจากการใช้บริการ เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566 กองกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้รับการตรวจมาตรฐานอาหาร (Clean Food Good Taste) ตามมาตรฐานอาหารของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข โดยมีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก เข้าตรวจ ณ ศูนย์อาหาร NU square

ที่มา: กองกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยนเรศวร

กิจกรรมทำใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์ (การมีใบขับขี่รถจักรยานยนต์ใบแรก) รุ่นที่ 1

🧡 ม.นเรศวร ห่วงใยในสวัสดิภาพ ของนักเรียนและนิสิต เพื่อการขับขี่รถจักรยานยนต์อย่างปลอดภัย

🛵กิจกรรมทำใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์(การมีใบขับขี่รถจักรยานยนต์ใบแรก)รุ่นที่ 1 นักเรียนโรงเรียนมัธยมสาธิต มหาวิทยาลัยนเรศวร

—————————

⏰ระหว่างวันที่ 7-8 กุมภาพันธ์ 2566ณ กรมการขนส่งทางบก สำนักงานขนส่งจังหวัดพิษณุโลก แห่งที่ 2

ที่มา: กองกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร เป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรม SECRA Thailand Workshop ขับเคลื่อนการสร้างความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรม SECRA Thailand Workshop ซึ่งเป็นกิจกรรมภายใต้โครงการ Strengthening University-Enterprise Collaboration for Resilient Communities in Asia หรือที่รู้จักกันในชื่อย่อว่า โครงการ SECRA โดยโครงการนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากโปรแกรม Erasmus+ ของ European Union (EU) ซึ่งมีระยะเวลาโครงการ 3 ปี โดยมีวัตถุประสงค์ในการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยและภาคเอกชน เพื่อพัฒนาชุมชนที่มีความยืดหยุ่นและสามารถรับมือกับภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 รองศาสตราจารย์ ดร.ศรินทิพย์ แทนธานี รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้เป็นประธานกล่าวเปิดงาน SECRA Thailand Workshop ซึ่งจัดขึ้น ณ ห้อง EN617 อาคารเรียนรวม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยในงานนี้ได้รับเกียรติจาก ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และ คุณ Bill Ho ผู้อำนวยการ ADPC Academy, Asian Disaster Preparedness Center (ADPC) ซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็น keynote speaker ในงาน

กิจกรรม SECRA Thailand Workshop นี้มีสมาชิกจากหลายประเทศเข้าร่วม ได้แก่ เอสโตเนีย, อังกฤษ, สวีเดน, ฟิลิปปินส์, ศรีลังกา และ ไทย โดยประเทศไทยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ศรินทิพย์ แทนธานี รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นหัวหน้าของกลุ่มประเทศไทย (country leader) สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-10 กุมภาพันธ์ 2566 โดยกิจกรรมนี้มุ่งเน้นการสร้างความร่วมมือในระดับนานาชาติระหว่างมหาวิทยาลัยและภาคเอกชนในการพัฒนาชุมชนที่มีความยืดหยุ่นต่อภัยพิบัติและสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว

กิจกรรมนี้เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการดำเนินงานที่สอดคล้องกับ SDGs 17: การสร้างความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเน้นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย ภาครัฐ และภาคเอกชนในระดับนานาชาติ เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายในการพัฒนาชุมชนที่มีความยืดหยุ่น โดยเฉพาะในด้านการเตรียมความพร้อมและการรับมือกับภัยพิบัติที่เกิดขึ้นทั่วโลก โครงการ SECRA จึงเป็นการแสดงถึงความร่วมมือที่สำคัญในการพัฒนาแนวทางการจัดการภัยพิบัติอย่างยั่งยืน ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับนานาชาติ

การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ยังสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของมหาวิทยาลัยนเรศวรในการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในการวิจัยและพัฒนา เพื่อพัฒนาชุมชนให้สามารถรับมือกับความเสี่ยงต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นการส่งเสริมเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยเฉพาะ SDGs 17: การสร้างความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และยังมีการพัฒนาความสามารถของนักวิจัยและบุคลากรในมหาวิทยาลัยในการทำงานร่วมกับพันธมิตรจากต่างประเทศเพื่อพัฒนากลยุทธ์ที่สามารถนำไปใช้ได้ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงจากภัยพิบัติ

การมีส่วนร่วมของมหาวิทยาลัยนเรศวรในโครงการ SECRA เป็นก้าวสำคัญในการเชื่อมโยงการศึกษาและการวิจัยในระดับสากลกับการพัฒนาท้องถิ่น เพื่อสร้างความยืดหยุ่นให้กับชุมชนและเสริมสร้างความสามารถในการจัดการกับภัยพิบัติในอนาคต ซึ่งเป็นการสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับโลก

ที่มา: งานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

NU SciPark ต้อนรับ ผู้เข้าอบรม SECRA (Strengthening University-Enterprise Collaboration for Resilient Communities in Asia)

วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 16.45 – 17.30 น. รองศาสตราจารย์ ดร.ศรินทร์ทิพย์ แทนธานี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร ดร.พิสุทธิ์ อภิชยกุล รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และการถ่ายทอดเทคโนโลยี และผู้บริหารคณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดงาน SECRA (Strengthening University-Enterprise Collaboration for Resilient Communities in Asia) ได้นำผู้เข้าอบรมต่างประเทศ จำนวน 50 ท่าน ได้แก่ ประเทศศรีลังกา ฟิลิปปินส์ อังกฤษ สวีเดน และเอสโตเนีย เข้าศึกษาดูงานอุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร อาคารมหาธรรมราชาโดยมี ดร.สราวุธ สัตยากวี ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และการถ่ายทอดเทคโนโลยี ให้การต้อนรับและบรรยายเกี่ยวกับการทำงานและการให้บริการต่าง ๆ ของอุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร ทั้งนี้ได้นำผู้เข้าอบรมเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการวิจัยเครื่องมือแพทย์ โรงงานต้นแบบสารสกัดและผลิตภัณฑ์สมุนไพร เเละบริษัท ดาริน แล็บบอราทอรี่ส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจประเภทการผลิตให้บริการด้านการวิจัยพัฒนา ผลิตและจำหน่าย เครื่องสำอาง อาหารเสริม บริษัทยังได้เข้าร่วมเข้าร่วมพัฒนาธุรกิจภายใต้โครงการดำเนินงาน อุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร ตั้งแต่ปี 2562

ที่มา: อุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร

นักวิจัย ม.นเรศวร ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2566

วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2566 รองศาสตราจารย์ ดร.กรกนก อิงคนินันท์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม ดร.ยุทธพงษ์ ทองพบ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม และนางเจนจิต นาคปรีชา ผู้อำนวยการกองการวิจัยและนวัตกรรม ร่วมแสดงความยินดีและมอบของที่ระลึกให้แก่นักวิจัยมหาวิทยาลัยนเรศวร ที่ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2566 เข้ารับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2566 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร โดยมหาวิทยาลัยนเรศวรได้รับรางวัลจำนวน 6 รางวัล ดังนี้
1. รางวัลการวิจัยแห่งชาติ รางวัลผลงานวิจัย #ระดับดีเด่น สาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย ผลงานวิจัยเรื่อง “การใช้เครื่องมือด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและวิศวกรรมชีวเวชเพื่อเสริมสร้างความยั่งยืนของการทำเหมืองแร่ทองคำในประเทศไทยในอนาคต”
1. รศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์
2. รศ.ดร.มนุพัศ โลหิตนาวี
3. ดร.สุภาวรรณ ศรีรัตนา
4. นางสาววรากร มณีชูเกตุ
5. นางสาวฐิติพร พลัดบุญ
6. Mr. Quoc Ba Tran
7. ดร.สิรินาฏ เลาหะโรจนพันธ์
8. นายเกียรติพงษ์ คาดี

2. รางวัลการวิจัยแห่งชาติ รางวัลผลงานวิจัย #ระดับดีมาก สาขาสังคมวิทยา ผลงานวิจัยเรื่อง “เศรษฐกิจนอกระบบในเครือข่ายสังคมข้ามชาติของแรงงานชาวเวียดนามในประเทศไทย”
1. รศ.ดร.อัจฉริยา ชูวงศ์เลิศ
2. Mr.Van Ton Le

3. รางวัลการวิจัยแห่งชาติ รางวัลผลงานวิจัย #ระดับดี สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์ ผลงานวิจัยเรื่อง “การพัฒนานวัตกรรมในการจัดการการส่งเสริมสุขภาพพระสงฆ์อย่างมีส่วนร่วมกับพระคิลานุปัฏฐาก”
1. รศ.ดร.พนิดา จงสุขสมสกุล
2. ผศ.ดร.พนมขวัญ ริยะมงคล

4. รางวัลการวิจัยแห่งชาติ รางวัลสิ่งประดิษฐ์คิดค้น #ประกาศเกียรติคุณ สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์ ผลงานวิจัยเรื่อง “รูปเเเบบเทคโนโลยีความจริงเสมือน (AR) สำหรับเเหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ในจังหวัดพิษณุโลก”
1. ผศ.ดร.กนกกาญจน์ เสน่ห์ นมะหุต
2. รศ.ดร.จักรกฤษณ์ เสน่ห์ นมะหุต
3. ดร.เกษวดี พุทธภูมิพิทักษ์

5. รางวัลการวิจัยแห่งชาติ วิทยานิพนธ์ #ระดับดีมาก สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผลงานวิจัยเรื่อง “การศึกษาศักยภาพ การรักษาของเซลล์ต้นกำเนิดมีเซนไคมอลด้วยเทคโนโลยีปรับแต่งจีโนมจากเอนไซม์ Cas9 และเวคเตอร์ Adeno-Associated Virus (AAZ)” ดร.วรัชรี ศรีฟ้า

6. รางวัลการวิจัยแห่งชาติ วิทยานิพนธ์ #ระดับดี สาขาปรัชญา ผลงานวิจัยเรื่อง “ลักษณาการและการสาแดงในดนตรีหน้าพาทย์ศักดิ์สิทธิ์ของประเทศไทย” ผศ.ดร.เดชา ศรีคงเมือง

ที่มา: กองการวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร จัดการอบรมหลักสูตร Entrepreneurship Spirit Bootcamp สุดเข้มข้น

เตรียมตัวดี มีชัยไปกว่าครึ่ง!! หน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจในสถาบันอุดมศึกษาเครือข่ายภาคเหนือตอนล่าง นำโดย NU SciPark จัดการอบรมหลักสูตร Entrepreneurship Spirit Bootcamp สุดเข้มข้น ปูพื้นฐานด้านธุรกิจให้กับผู้เข้าร่วมโครงการหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจในสถาบันอุดมศึกษา ในวันที่ 3-5 กุมภาพันธ์ 2566 ณ The Zense Boutique Hotel Phitsanulok

วิทยากรในหลักสูตร
– ดร.จารุวรรณ แดงบุบผา คณะบริหารธุรกิจฯ มหาวิทยาลัยนเรศวร
– อาจารย์อนุวัต เชื้อเย็น iGTC : มหาวิทยาลัยแม่โจ้
– ดร.ปรเมษฐ์ ชุ่มยิ้ม สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
– ดร.ปัญญวัณ ลำเพาพงศ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

โครงการหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจในสถาบันอุดมศึกษา (UBI) มุ่งเน้นการทำหน้าที่บ่มเพาะธุรกิจ เสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการให้เข้มแข็ง ทั้งด้าน Business Plan & Technology Development of Product จากสภาพแวดล้อมทางวิชาการในสถาบันอุดมศึกษา ยกระดับเป็นบริษัทเต็มรูปแบบในอนาคต
ที่มา: อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงฯ เครือข่ายประกันคุณภาพด้านสถาปัตยกรรม

เมื่อวันที่ 2-3 กุมภาพันธ์ 2566 อาจารย์วราภรณ์ ยูงหนู หัวหน้าภาควิชาดนตรี พร้อมด้วย ดร.ภูริตา เรืองจิรยศ อาจารย์วรวิทย์ ทองเนื้ออ่อน อาจารย์ประจำภาควิชาศิลปะการแสดง คุณรัตนาภรณ์ กุลจันทร์ เจ้าหน้าที่สังกัดภาควิชาดนตรีและภาควิชาศิลปะการแสดง และ คุณวิไลพร ชอบคุณ ผู้รับผิดชอบงานประกันคุณภาพการศึกษา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เข้าร่วมประชุมสัมมนาโครงการประชุมสัมมนาเครือข่ายการประกันคุณภาพการศึกษาของกลุ่มสถาบันอุดมศึกษาทางด้านสถาปัตยกรรม ศิลปกรรมและการออกแบบ ณ ห้องประชุมโพธิพุทธ อาคารเรียนรวมและศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญาล้านนา (เจ็ดยอด) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จังหวัดเชียงใหม่ โดยได้มีการร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเครือข่ายประกันคุณภาพการศึกษาของกลุ่มสถาบันอุดมศึกษาทางด้านสถาปัตยกรรม ศิลปกรรมและการออกแบบ 7 สถาบันการศึกษา 10 คณะวิชา ได้แก่
1.คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
2.คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
3.คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
4.คณะสถาปัตยกรรม ศิลปกรรมและการออกแบบ มหาวิทยาลัยนเรศวร
5.คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
6.คณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
7.คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
8. คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
9.คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ
10.คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

การร่วมมือตามข้อตกลงความร่วมมือนี้ สถาบันการศึกษา คณะวิชาทุกแห่งตกลงให้มีกำหนดระยะเวลา 3 ปี ในการร่วมกันพัฒนา ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการประกันคุณภาพการศึกษากลุ่มสถาบันอุดมศึกษาทางด้านสถาปัตยกรรม ศิลปกรรมและการออกแบบ ตลอดจนเสริมสร้างศักยภาพองค์กรโดยใช้ระบบการประกันคุณภาพภายในของสถาบันการศึกษาเป็นกลไกขับเคลื่อนและสร้างเครือข่ายการปฏิบัติงานของคณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนักศึกษา ด้านการประกันคุณภาพการศึกษาระหว่างสถาบัน

ที่มา: คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร Faculty of Humanities NU

Sustainability

NARESUAN UNIVERSITY

Solverwp- WordPress Theme and Plugin