Archives March 2023

โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การช่วยเหลือผู้ป่วยในภาวะเจ็บป่วยฉุกเฉิน หลักสูตร BLS Provider for Non-HCP

ในวันจันทร์ที่ 27 มีนาคม 2566 อบรมหลักสูตร BLS Provider for Non-HCP สำหรับเจ้าหน้าที่และบุคลากรโรงพยาบาลทันตกรรม และ วันอังคารที่ 28 มีนาคม 2566 อบรมหลักสูตร BLS Provider Course for Health Care Provider สำหรับ อาจารย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร และพยาบาล โดยมี ทีมวิทยากร 10 ท่าน จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร นำทีมโดย นพ.พิเชษฐ์ วัฒนไพโรจน์รัตน์ ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ ๗ รอบ พระชนมพรรษา ๒ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในกรณีที่อาจเกิดเหตุอันไม่พึงประสงค์หรือเกิดภาวะฉุกเฉินภายในโรงพยาบาลทันตกรรม โดยบุคลากรทุกคนได้รับการทบทวนฝึกอบรมเรื่องการช่วยฟื้นคืนชีพเบื้องต้นและมีความสามารถในการฝึกปฏิบัติเกี่ยวกับการวินิจฉัย และรักษาความเจ็บป่วยหรือการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นฉับพลันของผู้ป่วยอย่างเร่งด่วน (Medical emergency)

ที่มา: คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร ส่งเสริมเยาวชนตระหนักถึงความสำคัญของการเรียนรู้ Coding

วันที่ 17 – 18 มีนาคม 2566 ดร.ยุทธพงษ์ ทองพบ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม และนักวิจัยมหาวิทยาลัยนเรศวร ศ.ดร.สมยศ พลับเที่ยง ศ.ดร.ระเบียน วังคีรี คณะวิทยาศาสตร์ เข้าร่วมงาน “CODING ERA” Next Wave of Thailand’s Education ยุคโค้ดดิ้ง: คลื่นลูกใหม่แห่งการศึกษาไทย มหกรรมการเรียนรู้ด้าน Coding และโซลูชั่นครั้งยิ่งใหญ่ เพื่อการเรียนรู้แบบ Coding Edutainment จากแพลตฟอร์มเว็บเบสโค้ดดิ้งเกม “CodeComba” ส่งเสริมเยาวชนตระหนักถึงความสำคัญของการเรียนรู้ Coding พร้อมผลักดันและกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาทักษะ Coding สร้างบุคลากรตรงตาม ความต้องการตลาดแรงงานแห่งอนาคต จัดขึ้น ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ร่วมกับพันธมิตร บริษัท โค้ด คอมแบท (เอสอีเอ) จำกัด พร้อมผู้สนับสนุน บริษัท เทอมาเทค เทคโนโลยี ไทยแลนด์, มิวซ์ อินโนเวชั่น จำกัด และเครือข่ายนักวิจัยทั่วประเทศไทย โดยในงานได้รับเกียรติจาก ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดงาน พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การพัฒนากำลังคนด้านโค้ดดิ้งและปัญญาประดิษฐ์ เพื่อการเปลี่ยนผ่านประเทศไทย” พร้อมด้วย ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. และคุณศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมงาน

ที่มา: กองการวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยวิทยา

ดนตรีสร้างแรงบันดาลใจ เพื่อเสริมภูมิคุ้มกันทางจิตใจและพัฒนาศักยภาพให้แก่ผู้ต้องขังชาย

วันที่ 13-15 มีนาคม 2566 ผู้ช่วยศาสตาจารย์ ดร.ศศิณัฐ พงษ์นิล ผู้ช่วยคณบดี และ อาจารย์ภูมินทร์ ภูมิรัตน์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาดุริยางคศาสตร์ตะวันตก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้รับเชิญเป็นวิทยากรอบรมวิชาดนตรีสร้างแรงบันดาลใจ เพลงประสานเสียง ภายใต้โครงการอบรมโปรแกรมการป้องกันการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขัง เพื่อเสริมภูมิคุ้มกันทางจิตใจและพัฒนาศักยภาพให้แก่ผู้ต้องขังชาย จำนวน 50 คน ณ เรือนจำกลางพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก

ที่มา: คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร บริการวิชาการให้ความรู้สู่ชุมชนแก่มารดาหลังคลอด เรื่อง การดูแลมารดาหลังคลอดและการคุมกำเนิด

ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา มีภารกิจด้านการเรียนการสอนและให้บริการดูแลรักษาสตรีตั้งครรภ์ ตั้งแต่ระยะก่อนคลอด ระยะคลอดและหลังคลอด ซึ่งการจัดการเรียนการสอน รายวิชาสุขภาพและโรคของสตรี 1-2 สำหรับนิสิตแพทย์ชั้นปี 4 ได้จัดกิจกรรมบริการวิชาการให้ความรู้สู่ชุมชน โดยให้นิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 4 ให้ความรู้แก่มารดาหลังคลอด เรื่อง การดูแลมารดาหลังคลอดและการคุมกำเนิด เมื่อวันอังคารที่ 14 มีนาคม 2566 เวลา 11.00 น. – 12.00 น. ณ หอผู้ป่วยสูติและนรีเวชกรรม ชั้น 6 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา 1 โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร

ที่มา: คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

อบรม “เทรนกิจกรรมและบริการ ที่ตอบสนองความต้องการของนิสิต”

ดร.จารุวรรณ แดงบุบผา ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต ได้ให้เกียรติเป็นประธานเปิดโครงการพลิกโฉมหน่วยงาน กิจกรรม Design Thinking (ครั้งที่ 3) โดยมีหัวข้ออบรม “เทรนกิจกรรมและบริการ ที่ตอบสนองความต้องการของนิสิต”

โดยได้รับเกียรติจาก ผศ.รัชด ชมภูนิช รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิตและพัฒนาอย่างยั่งยื่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้แก่บุคลากรกองกิจการนิสิต มน.เพื่อนำไปพัฒนาตนเองและองค์กรต่อไป

ที่มา: กองกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยนเรศวร

ขอชื่นชมและยกย่องเชิดชูเกียรตินิสิตกระทำความดี

เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2566 รองศาสตราจารย์ ดร.ศรินทร์ทิพย์ แทนธานี รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้มอบเกียรติบัตรยกย่องเชิดชูเกียรติผู้มีความประพฤติดีเด่นด้านความ “ซื่อสัตย์สุจริต” ให้แก่ นายอรรคพล นนทะการ นิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ นิสิตได้เก็บของมีค่าส่งคืนแก่เจ้าของในที่สาธารณะ สมควรได้รับการยกย่องให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่สังคม

ทั้งนี้ ดร.จรัสดาว คงเมือง รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานิสิต ศิษย์เก่า และศิลปวัฒนธรรม และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิริชัย ตันรัตนวงศ์ รองอธิการบดีฝ่ายโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีสารสนเทศ ร่วมแสดงความชื่นชมด้วย

ที่มา: กองกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร ลงนามสัญญาโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตราฐานของประเทศไทย (TVER)

พิธีลงนามสัญญาโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตราฐานของประเทศไทย (TVER) ระหว่างบริษัทอินเตอร์ ฟาร์อีสท์ วินด์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ลงนามโดย ดร.สุเมธ สุทธภักติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และวิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี ลงนามโดย รองศาสตราจารย์ ดร.วัฒนพงศ์ รักษ์วิเชียร ผู้อำนวยการวิทยาลัยฯ

ที่มา: วิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนเรศวร

มอบทุนการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2565 โดยมอบทุนการศึกษาให้แก่นิสิตคณะเกษตรศาสตร์ฯ ทั้งสิ้น จำนวน 39 ทุน

วันที่ 8 มีนาคม 2566 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สิทธิชัย ชูสำโรง รองคณบดีฝ่ายสารสนเทศและกิจการนิสิต เป็นประธานพิธีมอบทุนการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2565 โดยมอบทุนการศึกษาให้แก่นิสิตคณะเกษตรศาสตร์ฯ ทั้งสิ้น จำนวน 39 ทุน

ที่มา: คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

การผลิตน้ำประปา การจัดหาน้ำสะอาดและการจัดการคุณภาพน้ำของมหาวิทยาลัยนเรศวร

วันพฤหัสบดีที่ 9 มีนาคม 2566 เวลา 14.00 น. บุคลากรกองอาคารสถานที่ ให้การต้อนรับคณะศึกษาดูงานนิสิตคณะสาธารณสุขศาสตร์ สาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม ชั้นปีที่ 2 ประจำปีการศึกษา 2565 จำนวน 67 คน อาจารย์ ณัฐพงศ์ โปรยสุรินทร์ พร้อมด้วยคณาจารย์ เพื่อเข้ามาศึกษาดูงานการผลิตน้ำประปา การจัดหาน้ำสะอาดและการจัดการคุณภาพน้ำของมหาวิทยาลัยนเรศวร บรรยากาศเป็นไปด้วยน่ารักและความอบอุ่น ณ โรงผลิตน้ำประปา มหาวิทยาลัยนเรศวร

ที่มา: กองอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยนเรศวร

นวัตกรรมพลาสติกเพื่อการเกษตรที่ผลิตจากวัตถุดิบที่มาจากธรรมชาติและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

จะดีแค่ไหน ถ้าบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่เราใช้กันทุกวัน จะไม่ไปจบที่หลุมฝังกลบ หรือลอยอยู่ในทะเล แต่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ทั้งหมด และสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างยั่งยืนได้ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้มอบรางวัลนักคิดสิ่งประดิษฐ์รุ่นใหม่ ประจำปี 2562 แก่ผลงานสิ่งประดิษฐ์ “NU Bio Bags นวัตกรรมพลาสติกเพื่อสิ่งแวดล้อม” แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศรารัตน์ มหาศรานนท์ และคณะ แห่งคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อให้ผลงานจากนักวิจัยเป็นที่รู้จัก และได้รับการต่อยอดในภาคธุรกิจ และนำไปสู่การปรับใช้ในวงกว้างเพื่อแก้ปัญหาขยะมูลฝอยในประเทศ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศรารัตน์ มหาศรานนท์ นักวิจัยมหาวิทยาลัยนเรศวร พัฒนานวัตกรรม “NU Bio Bags พลาสติกเพื่อสิ่งแวดล้อม” ถูกพัฒนาขึ้นโดยการผลิตจากไบโอคอมโพสิตฟิล์มของพอลิแลคติกแอซิดหรือพีแอลเอผสมกากกาแฟ และใช้วัตถุดิบที่มาจากธรรมชาติปราศจากการใช้สารเคมี เป็นพลาสติกเพื่อการเกษตรที่สามารถย่อยสลายได้ 100% และไม่มีสารเคมีตกค้างในสิ่งแวดล้อม และสามารถย่อยสลายทางชีวภาพได้

มีองค์ประกอบหลัก คือเซลลูโลส เฮมิเซลลูโลส ลิกนิน และมีส่วนประกอบของน้ำมันกาแฟ ที่มีคุณสมบัติเป็นพลาสติกไซเซอร์ที่นำมาแทนพวกสารเคมีพาทาเลท อีกทั้งที่เลือกกากกาแฟ เนื่องจากมีธาตุอาหาร ไนโตรเจน โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส ที่พืชต้องการสำหรับการเจริญเติบโตของพืช มีความสามารถในการป้องกันรังสียูวี ทำให้รากพืชสามารถเจริญเติบโตได้อย่างเต็มที่โดยที่ไม่โดนแสงแดดทำลายในขั้นตอนเพราะชำกล้า และกากกาแฟสามารถช่วยไล่ศัตรูพืชได้ เช่น มด รวมถึงสัตว์ที่มีผิวหนังเป็นเมือก เช่น หอยทาก ไส้เดือน และแมลงบางชนิด มักไม่ชอบความเป็นกรดที่อยู่ในกากกาแฟ คุณสมบัติเด่นของ NU Bio Bags จากไบโอคอมโพสิตฟิล์มพีแอลเอผสมกากกาแฟ สามารถย่อยสลายทางชีวภาพได้ 100% ย่อยสลายแล้วไม่มีสารเคมีตกค้าง เนื่องจากในกาแฟนั้นมีน้ำมันกาแฟเป็นองค์ประกอบอยู่จึงเสมือนเป็นตัวช่วยในการผสมแบบธรรมชาติ ในการเพิ่มความยืดหยุ่นให้แก่พีเอลเอ

กระบวนการผลิตถุงปลูกพืชเริ่มจากผสมด้วยเครื่องหลอมอัดรีดแบบสกรูคู่ มาใช้ในกระบวนการเป่าฟิล์มด้วยเครื่องอัดรีดแบบเป่า โดยนำกากกาแฟมาใส่เป็นสารตัวเติม และมีการพัฒนาต่อยอดจากถุงปลูกพืช NU Bio Bags เป็นบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ในห้องน้ำตามโรงแรม อาทิ สบู่ก้อน รวมถึงต่อยอดไปสู่การทำถุงบรรจุภัณฑ์ข้าวกล้อง และถุงบรรจุช้อน-ส้อม จนปัจจุบันผลิตภัณฑ์จากไบโอคอมโพสิตฟิล์มพีแอลเอผสมกากกาแฟ ได้ถูกนำเข้าไปใช้จริงในบริษัท กาแฟพันธุ์ไทย เพื่อประชาสัมพันธ์ในเชิงการสร้างเรื่องราวความเป็นมาและการใช้ประโยชน์จากกาแฟที่เป็นของเหลือทิ้ง อีกด้วย

ที่มา: สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ

Sustainability

NARESUAN UNIVERSITY

Solverwp- WordPress Theme and Plugin