Archives May 2023

แบบสอบถาม “ศักยภาพและความพร้อมของหน่วยงานราชการในการดำเนินงานด้านระบบโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็กแบบมีการใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์”

ขอความอนุเคราะห์หน่วยงานราชการ กรอกแบบสอบถาม “ศักยภาพและความพร้อมของหน่วยงานราชการในการดำเนินงานด้านระบบโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็กแบบมีการใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์” ภายใต้โครงการศึกษาและออกแบบระบบโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็กแบบมีการใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ในพื้นที่ส่วนราชการ

– โดยสามารถแสกนคิวอาร์โค้ดในรูป หรือคลิกลิ้ง https://forms.office.com/r/NXCz2rWeAn
ที่มา: วิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนเรศวร

การอยู่บ้านอย่างไรให้ประหยัดพลังงาน

ดร.บงกช ประสิทธิ์ นักวิจัย SGtech ให้สัมภาษณ์กับสถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยนเรศวร ในรายการ Good Affternoon เรื่อง การอยู่บ้านอย่างไรให้ประหยัดพลังงาน

รายการ Good Affternoon ออกอากาศ วันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 14.00 – 16.00 น.
ที่มา: nuradio

Love Alarm – เวลาแห่งความรักและความสุขที่ ม.นเรศวร

Love Alarm – เวลาแห่งความรักและความสุข โปรเจกต์วันแห่งความรักของกองกิจการนิสิต ที่ได้จัดให้ลานกิจกรรม NU Playground กลายเป็นสถานที่ที่อบอวลไปด้วยความรักของทุกความสัมพันธ์ ทุกสิ่งในงานล้วนแต่สีชมพู รวมถึงสีท้องฟ้าที่เป็นใจให้กับงานของเราด้วย

ในกิจกรรมนี้เราได้เชิญคู่รัก 2 คู่ที่เป็นศิษย์เก่าของเรา และจุดเริ่มต้นของความรักทั้ง 2 คู่เกิดขึ้นที่ มหาวิทยาลัยนเรศวร

เริ่มต้นที่คู่แรก พี่พล เฉลิมพล รัตนชาญชัย ศิษย์เก่ารหัส 45 และพี่ออย เกษราภรณ์ รัตนชาญชัย ศิษย์เก่ารหัส 46
คู่รักศิษย์เก่าแห่งร้าน X-cite T-Shirt ที่คอยดูแลและผลิตเสื้อให้กับกิจกรรมของนิสิตในมหาวิทยาลัย จุดเริ่มต้นความรักทั้งคู่เกิดขึ้นบ่มเพาะ และเติบโตไปพร้อมๆ กันกับมหาวิทยาลัยจริงๆ เลยสำหรับคู่นี้ และยังทำให้ผู้ที่มาเข้าร่วมในงานได้เรียนรู้มุมมองของความรักสำหรับผู้ใหญ่ ที่ต้องอาศัยความเข้าใจและการให้อภัยซึ่งกันและกัน

ต่อกันเลยสำหรับคู่รัก LGBTQ คู่รักวัยแรกแย้ม กับน้องฟลุ๊ค ชรินทร์ ระวังทรัพย์ ศิษย์เก่ารหัส 58 และน้องฟลุ๊ค เกริกเกียรติ ต่อเขต ศิษย์เก่ารหัส 59 ต้องขอบคุณน้องทั้ง 2 คนที่มาเล่าประสบการณ์ตั้งแต่เริ่ม Callout กับครอบครัว การเริ่มต้นความรักของทั้งคู่ รวมถึงการมีรักในวัยเรียน ถ้าได้ยินคำนี้รู้สึกยังไงบ้าง ซึ่งน้องฟลุ๊ค ชรินทร์ ระวังทรัพย์ ได้ให้ข้อคิดที่สำหรับสำหรับการมีความรักในวัยเรียน มีได้แต่ต้องรู้จักป้องกัน ต้องขอนับถือในตัวของทั้งสองคนที่ออกมาเล่าประสบการณ์นี้ให้กับผู้เข้าร่วมงานได้เรียนรู้ไปพร้อมๆกัน

ทางเราต้องขอชื่นชมและยินดีกับความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น ที่รั้วแห่งมหาวิทยาลัยนเรศวร เชื่อว่ามีศิษย์เก่าอีกหลายคู่เลยที่ความรักเริ่มต้น และเติบโตที่ที่แห่งนี้ เราขอเป็นกำลังใจให้กับทุกความสัมพันธ์ ท้ายนี้ขอขอบคุณศิษย์เก่าทุกคนที่ยังรัก และกลับมาหา กลับมาช่วยกันพัฒนามหาวิทยาลัยรอชมการเติบโตของทุกคนตลอดไป…. เพราะศิษย์เก่า คือ ทรัพยากรที่มีค่าของมหาวิทยาลัยนเรศวร

ที่มา: กองกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร สร้างโอกาสความเท่าเทียม เพราะความพิการไม่ใช่อุปสรรคในการเรียน

ในปีการศึกษา 2566 มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้พิจารณาให้นายวรรธณะ คำอินทร์ หรือน้องทาม มีความพิการทางด้านร่างกาย ไม่มีแขนทั้งสองข้าง เข้าศึกษาต่อในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ศิลปะและการออกแบบ

และเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2566 นำโดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ฯ พาน้องทาม เข้าเยี่ยมชมหอพักที่จะใช้พักอาศัยและใช้ชีวิตอยู่ในระหว่างการศึกษา และทดลองการใช้บริการต่าง ๆ ในหอพัก อาทิ การขึ้นลงบันได การเปิดห้องห้องพัก เป็นต้น รวมทั้งได้อธิบายการใช้ห้องส่วนรวมต่างๆ อุปกรณ์เครื่องใช้ ภายในหอพักให้ทางน้องทามทราบ ในเบื้องต้นแล้ว

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยนเรศวร มีศูนย์บริการนิสิตพิการมหาวิทยาลัยนเรศวร (NU DSS) อยู่ในการดูแลของกองกิจการนิสิต จะช่วยส่งเสริม สนับสนุนให้นิสิตพิการหรือมีความบกพร่อง สามารถเข้าถึงระบบการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยได้อย่างเท่าเทียมกับนิสิตทั่วไป โดยจัดหาบริการสนับสนุน เพื่อช่วยให้นิสิตพิการสามารถบรรลุเป้าหมายทางการศึกษาได้

ขอบคุณภาพและข้อมูล จาก Paul wonder กองกิจการนิสิต และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์

นิสิต ม.นเรศวร สามารถแต่งกายมาเรียนตามเพศสภาพ

นิสิต ม.นเรศวร สามารถแต่งกายมาเรียนตามเพศสภาพ ได้ตาม พรบ. มหาวิทยาลัยนเรศวร ที่ประกาศราชกิจจานุเบกษา ไว้ตั้งแต่ 17 ธันวาคม 2561

นับเป็นความก้าวหน้าในการทำความเข้าใจเรื่องเพศสภาพของนิสิตที่มีการแสดงออกตัวตนทางเพศภาวะมากขึ้น และสิ่งนี้จะช่วยทำให้ส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ ซึ่งสอดคล้องกับ พ.ร.บ. ความเท่าเทียมทางเพศ และหลักสากลในเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศ (thestandard, 2018)

ที่มา: Mornornews

สำนักหอสมุดขอแนะนำหนังสือ LGBTQ เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับกลุ่มคน LGBTQ+ อย่างอ่อนโยน

มิถุนายนเดือนแห่งของความภาคภูมิใจของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ LGBTQ+ และเพื่อเป็นการสนับสนุนในเรื่องความเข้าใจในความหลากหลาย

สำนักหอสมุดขอแนะนำหนังสือ LGBTQ เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับกลุ่มคน LGBTQ+ อย่างอ่อนโยนและเข้าใจง่าย พร้อมทั้งนิยาย Boy Loves สามารถมายืมหนังสือได้ที่หอสมุดชั้น 2 ได้เลยจ้า!

ศิษย์เก่าจบไปแล้ว หรือ บุคคลภายนอก ก็เข้าใช้บริการได้ ฟรี!!

ศิษย์เก่าจบไปแล้ว หรือ บุคคลภายนอก ก็เข้าใช้บริการสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยนเรศวรได้ ฟรี !!
เพียงยื่นบัตรประจำตัวประชาชนที่จุดประชาสัมพันธ์ ชั้น 1 ณ จุดติดต่อสอบถาม ก่อนเข้าใช้บริการ

สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นแหล่งการเรียนรู้ชั้นเลิศของปวงชนด้วยนวัตกรรมบริการที่ทันสมัย มีเป้าหมายเป็นแหล่งการเรียนรู้ชั้นเลิศของปวงชนด้วยนวัตกรรมบริการที่ทันสมัย เพื่อพัฒนาสำนักหอสมุดให้เป็นแหล่งสารสนเทศหลักที่ประชาคมมหาวิทยาลัยนเรศวรเลือกเข้าใช้บริการ และพัฒนาสำนักหอสมุดให้มีทรัพยากรสารสนเทศที่หลากหลาย ครอบคลุมทุกหลักสูตรการเรียนการสอน รวมถึงพัฒนาสำนักหอสมุดเพื่อสร้างการใฝ่เรียนรู้ และทักษะการแสวงหาสารสนเทศ ให้แก่ประชาคมมหาวิทยาลัยนเรศวร และการบริการสำหรับประชาชนทั่วไป ตลอดจนพัฒนาการดำเนินงานในทุกด้านอย่างต่อเนื่องตามระบบและกลไกการประกันคุณภาพ และบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพสามารถตรวจสอบได้โดยยึดหลักธรรมาภิบาล

ที่มา: สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร บูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมด้านความยั่งยืนให้กับนิสิต

วันที่ 10 พฤษภาคม 2556 ดร.จรัสดาว คงเมือง รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานิสิต ศิษย์เก่า และศิลปวัฒนธรรม พร้อมด้วย รศ.ดร.อรรถกร ทองทา ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ และนางจิระประภา ศรีปัตตา ผู้อำนวยการกองพัฒนาคุณภาพการศึกษา ร่วมประชุมหารือแนวทางการจัดกิจกรรมด้านความยั่งยืน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและสร้างการมีส่วนร่วมด้านความยั่งยืนให้กับนิสิต โดยมีตัวแทนจาก 3 หน่วยงานร่วมประชุม คือ งานประชาสัมพันธ์ กองกลาง, กองกิจการนิสิต และกองพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยร่วมประชุม ณ ห้อง Main Conference อาคารบริการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยนเรศวร

โดยกิจกรรมด้านการส่งเสริมและสร้างการมีส่วนร่วมด้านความยั่งยืนให้กับนิสิต จะเป็นการสอดแทรกกิจกรรมโดยเน้นการสร้างการรับรู้ การสร้างความตระหนัก ด้านการเป็นพลเมืองโลก มีจิตสำนึกความรับผิดชอบและการมรส่วนร่วม ซึ่งจะมีการจัดการอบรมให้ความรู้ การประกวดการมีส่วนร่วมอนุรักษ์ การนำขยะมาสร้างมูลค่าผ่านกิจกรรมการประกวดชุดแฟนซี การสร้างมูลค่าจากสินค้าที่ทำมาจากขยะรีไซเคิล รวมถึงการจัดการประกวดสื่อด้านความยั่งยืน และการจัดนิทรรศการด้านขยะ เป็นต้น

ที่มา: กองพัฒนาคุณภาพการศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร จัดเวทีผู้บริหารพบประชาคม เพื่อร่วมขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยอย่างยั่งยืน

      เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2566 คณาจารย์และบุคลากรมหาวิทยาลัยนเรศวรร่วมงาน “เวทีผู้บริหารพบประชาคมมหาวิทยาลัยนเรศวรประจำปี 2566 (ครั้งที่ 2)” โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ศรินทร์ทิพย์ แทนธานี รักษาราชการแทนอธิการบดี พร้อมทีมบริหารมหาวิทยาลัย รายงานผลการดำเนินงานการบริหารมหาวิทยาลัย ในวาระครบ 1 ปี แก่ประชาคมมหาวิทยาลัยนเรศวร และทิศทางการพัฒนามหาวิทยาลัยในแต่ละพันธกิจ อาทิ ความคืบหน้าการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ การพัฒนาพื้นที่บึงระมาณ เพื่อที่จะสร้างเมืองนวัตกรรมปศุสัตว์และอาหารสัตว์แห่งอนาคต นอกจากนั้นยังมีโครงการยกระดับตำรับยาแผนไทยสู่มาตรฐานสากล ซึ่งเป็นโครงการที่มหาวิทยาลัยได้ร่วมมือกับภาคเอกชน เพื่อสร้างโรงงานต้นแบบในอนาคต

      ด้านการขับเคลื่อน Business Unit เตรียมการปรับรูปโฉมหน่วยงานที่สามารถหารายได้ ได้แก่ คลินิคอาศรมเสลา คณะสาธารณสุขศาสตร์ ธาราบําบัด คณะสหเวชศาสตร์ ศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย คณะพยาบาลศาสตร์ และโรงพยาบาลทันตกรรม คณะทันตแพทยศาสตร์ เป็นต้น

      ผลการดำเนินงานดังกล่าวจะส่งผลให้บุคลากรเกิดความเข้าใจในการปฏิบัติงานไปในทิศทางเดียวกัน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากรทั้งสายวิชาการและสายสนับสนุนวิชาการให้มีศักยภาพที่เข้มแข็งเป็นทีมทำงานที่มีประสิทธิภาพ ก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ เพื่อจะมีบทบาทอย่างยิ่งในการเป็นผู้นำต่อการเปลี่ยนแปลง และสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม รวมทั้งการหารายได้เพิ่มเพื่อการพึ่งพาตนเองของมหาวิทยาลัย ซึ่งประชาคมต้องมีเป้าหมายเดียวกัน และได้รับถ่ายทอดนโยบายและทิศทางการบริหารงานสู่ การปฏิบัติ เกิดการบริหารงานแบบมีส่วนร่วมเพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน เพื่อให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยเพื่อสังคมของผู้ประกอบการ (University for Entrepreneurial Society)

      โดยมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 400 คน ณ ห้องประชุมมหาราช อาคารอุทยานองค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ชั้น 2 มหาวิทยาลัยนเรศวร และผู้เข้าร่วมงานผ่านทาง Microsoft Teams กว่า 1,800 คน

 ทั้งนี้ คำถามที่ประชาคมถามมาภายในงานผู้บริหารพบประชาคม ทางทีมผู้บริหารจะตอบทุกคำถามทาง www.nu.ac.th เร็วๆนี้

** รับชมกิจกรรมเวทีผู้บริหารพบประชาคม ประจำปี 2566 ครั้งที่ 2 ย้อนหลังได้ที่ https://bit.ly/42NtEfx
** รับชมภาพบรรยากาศภายในงานเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/nu.university
** Download ไฟล์เอกสารนำเสนอของผู้บริหาร https://bit.ly/42OWv3p

ที่มา: งานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร ขยายพันธุ์ทุเรียนด้วยเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ หนุนเกษตรกรสร้างรายได้

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้มอบหมายให้กลุ่มสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ นำสื่อมวลชนเยี่ยมชมโครงการวิจัยของ “รศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท” และคณะ แห่งคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ที่ได้ดำเนินงานวิจัยซึ่งได้รับการสนับสนุนโดย วช. ภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ในการศึกษาการขยายพันธุ์ทุเรียนในสภาพปลอดเชื้อด้วยเทคนิคการเพาะ เลี้ยงเนื้อเยื่อ เพื่อให้ได้ทุเรียนที่มีลักษณะตรงตามสายพันธุ์ 100% สามารถให้ผลผลิตที่มีคุณภาพตามต้นแม่พันธุ์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขยายพันธุ์ทุเรียนในอนาคต และได้คุณภาพด้านรสชาติที่ตรงตามความต้องการผู้บริโภค

รศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท แห่งคณะเกษตรศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยนเรศวร หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้รับการสนับสนุนทุนจาก วช. ในการศึกษาวิจัยการขยายพันธุ์ทุเรียนในสภาพปลอดเชื้อด้วยเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) เพื่อการอนุรักษ์พันธุกรรมทุเรียนหลงลับแล หลินลับแล และพื้นเมืองคุณภาพดีในเขตภาคเหนือตอนล่าง เริ่มจากการคัดเลือกสายพันธุ์ทุเรียนที่มีอัตลักษณ์ในแต่ละพื้นที่ พันธุ์ทุเรียนที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจในอนาคต รวมถึงพันธุ์การค้าที่มีชื่อเสียง โดยทุเรียนที่ทำการทดลองมี 3 สายพันธุ์ ได้แก่ หลงลับแล หลินลับแล และพันธุ์พื้นเมือง และคุณลักษณะทางการเกษตรที่ดีและเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค เพื่อนำมาขยายพันธุ์ด้วยเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช ทำให้สามารถเพิ่มปริมาณได้อย่างทวีคูณ ซึ่งจะส่งผลให้ทุเรียนมีคุณภาพดีสม่ำเสมอ เกษตรผู้ปลูกและผู้ประกอบการได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้นอีกด้วย

สำหรับประโยชน์ที่เกษตรกรหรือผู้ประกอบการจะได้รับในการขยายพันธุ์ทุเรียนด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ได้แก่ 1. ได้ทุเรียนที่มีลักษณะตรงตามสายพันธุ์ 100% ที่ให้ผลผลิตที่มีคุณภาพตามต้นแม่พันธุ์ เช่น ลักษณะของเนื้อ รสชาติ คงอัตลักษณ์ทุเรียนชนิดนั้น ๆ เป็นต้น 2. สามารถตอบสนองความต้องการของเกษตรกรที่มีความต้องการเพาะปลูกทุเรียนที่มีปริมาณมากในท้องตลาดได้ 3. ส่งเสริมภาคธุรกิจทุเรียนของที่มีอัตลักษณ์ในแต่ละพื้นที่ ให้มีการเติบโตมากขึ้นกว่าเดิม และ 4. สามารถสร้างผลิตผลของทุเรียนได้ตรงตามสายพันธุ์และได้คุณภาพด้านรสชาติที่ตรงตามความต้องการผู้บริโภค

ในโอกาสนี้ คณะนักวิจัยได้นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่สวนประภาพรรณ ตำบลบ้านแยง อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก เพื่อเยี่ยมผลผลิตที่ได้จากโครงการฯ โดยมี คุณเนาวรัตน์ มะลิวรรณ เกษตรกรเจ้าของสวนฯ ให้การต้อนรับและให้ความรู้เกี่ยวกับทุเรียนแก่คณะสื่อมวลชนอีกด้วย

คุณเนาวรัตน์ มะลิวรรณ เจ้าของสวนประภาพรรณ เปิดเผยว่า ในนามของสวนประภาพรรณ ต้องขอขอบคุณทาง วช. และ รศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท แห่งมหาวิทยาลัยนเรศวร ที่ได้นำองค์ความรู้จากงานวิจัยมาถ่ายทอดให้กับเกษตรกร ถือว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ซึ่งงานวิจัยจาก ม.นเรศวร ได้มีส่วนช่วยให้การทำสวนทุเรียนประสบความสำเร็จ มีผลผลิตที่ดีขึ้น และสวนประภาพรรณจะเป็นต้นแบบให้กับสวนทุเรียนบริเวณใกล้เคียงได้มาศึกษาความสำเร็จจากการทำสวนทุเรียนตามแนวทางการวิจัยต่อไป

ที่มา: กองการวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร

Sustainability

NARESUAN UNIVERSITY

Solverwp- WordPress Theme and Plugin