Archives August 2023

ม.นเรศวร กระชับความร่วมมือทางวิชาการ 5 มหาวิทยาลัยจากญี่ปุ่น เพื่อส่งเสริมการศึกษาและการพัฒนาที่ยั่งยืน

มหาวิทยาลัยนเรศวรได้เสริมสร้างความร่วมมือทางวิชาการกับ 5 มหาวิทยาลัยจากประเทศญี่ปุ่น ได้แก่ Aichi University, Iwate University, Kanazawa University, Shinshu University, และ Soka University โดยการจัดโครงการ “2023 NU Cultural Exchange Program” ซึ่งเป็นโครงการแลกเปลี่ยนนิสิตระยะสั้นเชิงวัฒนธรรมภาคฤดูร้อน ณ มหาวิทยาลัยนเรศวร ระหว่างวันที่ 20 สิงหาคม – 2 กันยายน 2566 โดยมีนิสิตจากประเทศญี่ปุ่นเข้าร่วมจำนวน 15 คน

กิจกรรมการแลกเปลี่ยนและการเรียนรู้ โครงการนี้มีระยะเวลา 14 วัน ซึ่งได้จัดกิจกรรมหลากหลายที่ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้และวัฒนธรรมระหว่างนิสิตจากทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะในด้าน SDG 4: การศึกษาที่มีคุณภาพ ที่มุ่งเน้นการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง ทั้งในด้านการใช้ชีวิตในประเทศไทย ศิลปวัฒนธรรม และการกีฬา ที่มีเอกลักษณ์และความแตกต่างจากประเทศญี่ปุ่น โดยนิสิตแลกเปลี่ยนได้มีโอกาสเรียนรู้และสัมผัสกิจกรรมต่างๆ เช่น

  • การทดลองทำอาหารไทย เช่น ส้มตำ และต้มยำกุ้ง
  • การประดิษฐ์ผ้าคล้องพวงกุญแจ
  • การตกแต่งกระเป๋าด้วยสีจากดอกไม้ธรรมชาติ
  • การประดิษฐ์เข็มกลัดจากแผ่นเงิน
  • การเรียนรู้การแต่งกายไทยและการฝึกเล่นดนตรีไทย
  • การฝึกนาฏศิลป์ไทยและมวยไทย

กิจกรรมทั้งหมดมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจในวัฒนธรรมไทยและส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้ผ่านประสบการณ์ตรง ทำให้นิสิตญี่ปุ่นได้สัมผัสถึงความเป็นเอกลักษณ์ของไทยในด้านต่างๆ ทั้งในแง่ของวัฒนธรรม การดำเนินชีวิต และกีฬา ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้.

การต้อนรับและการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ: ในวันที่ 21 สิงหาคม 2566 คณะนิสิตแลกเปลี่ยนชาวญี่ปุ่นได้เข้าพบผู้บริหารมหาวิทยาลัยนเรศวร ณ ห้องสุพรรณกัลยา 3 สำนักงานอธิการบดี โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ศรินทิพย์ แทนธานี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ให้เกียรติเป็นผู้กล่าวต้อนรับและมอบของที่ระลึกให้กับคณะนิสิต พร้อมทั้งถ่ายรูปร่วมกันเพื่อเป็นที่ระลึกของการมาเยือนครั้งนี้.

การสร้างความร่วมมือทางวิชาการ (SDG 17): การดำเนินการจัดโครงการนี้เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการขับเคลื่อน SDG 17: การสร้างความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมหาวิทยาลัยนเรศวรได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำจากประเทศญี่ปุ่นในการส่งเสริมและสร้างเครือข่ายการศึกษาและวิจัยข้ามประเทศผ่านกิจกรรมแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและการศึกษาผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นพัฒนาทักษะทั้งด้านวิชาการและการมีปฏิสัมพันธ์กับวัฒนธรรมที่แตกต่าง. การร่วมมือกันในโครงการนี้ไม่เพียงแต่ช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยไทยและญี่ปุ่น แต่ยังเป็นการเปิดโอกาสให้ทั้งนิสิตจากสองประเทศได้รับความรู้และประสบการณ์ที่หลากหลาย ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความเข้าใจที่ดีระหว่างกัน และนำไปสู่การพัฒนาความร่วมมือทางวิชาการในอนาคต.

ความสำคัญของโครงการ: โครงการ “2023 NU Cultural Exchange Program” จึงถือเป็นการสนับสนุนการเรียนรู้และการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งเป็นการสร้างความร่วมมือในระดับนานาชาติ ซึ่งสอดคล้องกับทั้ง SDG 4: การศึกษาที่มีคุณภาพ และ SDG 17: การสร้างความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน มหาวิทยาลัยนเรศวรจึงเป็นผู้นำในการจัดกิจกรรมที่ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มศักยภาพทางวิชาการให้กับนิสิต ยังเป็นการสร้างโอกาสในการพัฒนาทักษะการทำงานร่วมกับบุคคลจากหลายประเทศ เพื่อนำไปสู่การสร้างสังคมที่ยั่งยืนและเปิดกว้างสำหรับการเรียนรู้ในทุกมิติ.

ที่มา: กองพัฒนาภาษา และกิจการต่างประเทศ ม.นเรศวร

ม.นเรศวร ฝึกอบรมป้องกันอัคคีภัยและฝึกซ้อมดับเพลิง

วันจันทร์ที่ 28 สิงหาคม 2566 เวลา 9.00 น. นายรุ่งรัตน์ พระนาค ผู้อำนวยการกองอาคารสถานที่เป็นประธานในพิธีเปิด โครงการฝึกอบรมป้องกันอัคคีภัยและฝึกซ้อมดับเพลิง โดยได้รับความร่วมมือ จากกองบริการการศึกษาและ เจ้าพนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเทศบาลนครพิษณุโลกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าโพธิ์ ซึ่งเป็นองค์กรที่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ในการป้องกันอัคคีภัย มาเป็นวิทยากรในการอบรมให้ความรู้ ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา (อาคารเรียนรวม QS)

ที่มา: งานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผนึกกำลัง INCUBATOR เพื่อเฟ้นหาสุดยอดนักธุรกิจหน้าใหม่

อุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผนึกกำลัง INCUBATOR เพื่อเฟ้นหาสุดยอดนักธุรกิจหน้าใหม่ ✨✨

วันที่ 25-26 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา ผศ.ดร.สมลักษณ์ วรรณฤมล กีเยลาโรว่า ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร นำทีม NU SciPark ร่วมกับวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเย็บผ้าเครื่องนอนยางพาราเขาคีริส และบริษัท แมพพิเดีย จำกัด ตัวแทนผู้ประกอบการภายใต้การดำเนินงานของอุทยานฯ ร่วมกิจกรรมการประกวดสุดยอดไอเดียธุรกิจนวัตกรรมระดับประเทศ “RSP New Release 2023” และออกบูธแสดงสินค้าและบริการของ Success case ของ 16 เครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง (จ.นครราชสีมา) และโรงแรมแคนทารี โคราช

โดยกิจกรรม Networking day ในวันแรก เป็นการพูดคุยและแนะนำที่มาของกิจกรรม และเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้ ในหัวข้อ “ธุรกิจนวัตกรรมสู่ความสำเร็จ” โดยตัวแทนผู้ประกอบการจากอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคทั้ง 4 แห่ง

และกิจกรรม Pitching day ในวันที่สอง เป็นกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการใหม่ ภายใต้แผนงานบ่มเพาะธุรกิจวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้ได้พบกับเครือข่ายหรือหน่วยงานที่จะสามารถช่วยต่อยอดในเชิงธุรกิจและเทคโนโลยีได้ ผ่านการประกวดการนำเสนอ (Pitching) เพื่อเฟ้นหาธุรกิจที่มีศักยภาพสูงสุดให้เป็นผู้ชนะ RSP First รับเงินรางวัลและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ซึ่งจะเป็นส่วนในการผลักดันให้เกิดการเติบโตของธุรกิจต่อไป

ที่มา: อุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร

จิตอาสาแยกขยะในหอพัก เปลี่ยนมาเป็นกาแฟฟรี!!

จากกิจกรรมจิตอาสาแยกขยะในหอพัก เปลี่ยนมาเป็นกาแฟฟรีสำหรับพวกเราทุกคนค่ะ คืนนี้มีกาแฟกับชามะนาวค่ะ เจอกัน 2 ทุ่มเหมือนเดิม ที่ป้อมยามหอใน อย่าลืมนำแก้วมาใส่ด้วยนะคะ

ที่มา: หอพักนิสิต มหาวิทยาลัยนเรศวร NU Dorm

กิจกรรมให้ความรู้ “แนะนำอาหารตามวัย”

อีกหัวข้อในโครงการให้ความรู้เกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพในเด็ก ที่จัดขึ้น ณ คลินิกกุมารเวชกรรม โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร โดยมี ผศ.พญ.ทิพยกาญจน์ มะโนประเสริฐกุล, ผศ.พญ.ศรัญญา ศรีจันท์ทองศิริ และพญ.จิตติมา มนต์วิรัตน์กุล เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาเกี่ยวกับเนื้อหาและความรู้ต่างๆ

ที่มา: ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ การจัดทำแผนที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมและการแพร่กระจายมลพิษทางอากาศฯ

เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2566 รองศาสตราจารย์ ดร.ศรินทร์ทิพย์ แทนธานี รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นประธานเปิดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ การจัดทำแผนที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมและการแพร่กระจายมลพิษทางอากาศด้านฝุ่นควันเพื่อการบริหารจัดการชุมชน ณ ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ อาคารกองบริการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมนี้ได้รับเกียรติจาก ดร.พิจิตต รัตตกุล ประธานเครือข่ายพัฒนาความเข้มแข็งต่อภัยพิบัติไทยมูลนิธิเตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติในประเทศไทย ให้เกียรติกล่าวนำปฐมบท “บทบาทการใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศสำหรับพัฒนาความเข้มแข็งต่อภัยพิบัติไทย” และได้รับเกียรติจากนายวรฤทธิ์ ประเสริฐ และนางสาวกมลฉัตร ศรีจะตะ จากสถานภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ภาคเหลือตอนล่าง(GISTNU) มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นวิทยากรบรรยาย ให้กับบุคลากรหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อใช้ประโยชน์ในพื้นที่ในการพัฒนาสังคมและชุมชน โดยโครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ สถานวิจัยความเป็นเลิศทางวิชาการด้านเทคโนโลยีพลังงานและสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร (โครงการ SECRA และโครงการ FOUNTAIN ภายใต้การสนับสนุนของโปรแกรม ERASMUS+ จาก EU

ที่มา: คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

NU Safety Day “การสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยในการทำงาน”

     เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2566 รศ.ดร.ศรินทร์ทิพย์ แทนธานี รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมวันความปลอดภัยมหาวิทยาลัยนเรศวร NU Safety Day ประจำปี 2566 “การสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยในการทำงาน” และให้เกียรติบรรยายพิเศษ เรื่อง “ทิศทางการขับเคลื่อนงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานให้สอดรับกับนโยบาย มหาวิทยาลัยเพื่อสังคมของผู้ประกอบการ” ซึ่งมหาวิทยาลัยนเรศวรได้เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องของความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานของอาจารย์ บุคลากร และนิสิตของมหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นอย่างยิ่ง จึงได้กำหนดจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการสื่อสารงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน และเป็นส่วนช่วยส่งเสริมในการสร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัย

ทั้งนี้ ภายในงานมีการบรรยายพิเศษด้านความปลอดภัย อาทิ การบรรยาย เรื่อง “การขับเคลื่อนงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเพื่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนสำหรับสถาบันการศึกษาและหน่วยงานภาครัฐ” การบรรยาย เรื่อง “โรคจากการประกอบอาชีพและการตรวจสุขภาพ ตามปัจจัยเสี่ยง” และการบรรยาย เรื่อง “ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับรังสีและการป้องกันอันตรายจากรังสี” นอกจากนี้ยังมีพิธีมอบรางวัลด้านต่าง ๆ เช่น รางวัลหน่วยงานต้นแบบที่มีการดำเนินงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน รางวัลห้องปฏิบัติการต้นแบบด้านความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับสารเคมี และรางวัลภาพถ่ายด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ในหัวเรื่อง “Safety awareness for safety culture” เป็นต้น อีกทั้งมีการจัดแสดงนิทรรศการให้ความรู้ด้านความปลอดภัย โดยได้รับความสนใจจากอาจารย์ เจ้าหน้าที่ นิสิตและประชาชน เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก ณ หอประชุมมหาราช ศูนย์แสดงนิทรรศการและการจัดประชุมสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มหาวิทยาลัยนเรศวร

ที่มา: งานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับพลังงานรถไฟฟ้า

ยินดีต้อนรับคณะครู โรงเรียนอนุบาลและประถมสาธิตมหาวิทยาลัยนเรศวร เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2566 เวลา 13.00 น. บุคลากรกองอาคารสถานที่ให้การต้อนรับคณะครู บุคลากร และนักเรียนระดับประถมศึกษาชั้นปีที่ 1 โรงเรียนอนุบาลและประถมสาธิตมหาวิทยาลัยนเรศวร จำนวน 62 คน

ในกิจกรรมศึกษาแหล่งเรียนรู้เพิ่มประสบการณ์ เรื่อง “ความรู้เกี่ยวกับพลังงานรถไฟฟ้า” สาธิตการทำงานของรถไฟฟ้ามหาวิทยาลัย ณ สถานีขนส่งมวลชน มหาวิทยาลัยนเรศวร

ที่มา: กองอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร เปิดตลาดวัฒนธรรม เฉลิมฉลองวาระแห่งมงคลฤกษ์ พิธีบวงสรวงเททองหล่อพระพุทธชินราช

มหาวิทยาลัยนเรศวร เฉลิมฉลองวาระแห่งมงคลฤกษ์ จัดพิธีบวงสรวงเททองหล่อพระพุทธชินราช ประจำมหาวิทยาลัยนเรศวร ในโครงการสมโภชพระพุทธชินราช 666 ปี x ครบรอบสถาปนามหาวิทยาลัยนเรศวร 33 ปี✨

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2566 กองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร จัดพิธีบวงสรวงเททองหล่อพระพุทธชินราช ประจำมหาวิทยาลัยนเรศวร ในโครงการสมโภชพระพุทธชินราช 666 ปี x ครบรอบสถาปนามหาวิทยาลัยนเรศวร 33 ปี โดยมีพระราชรัตนสุธี เจ้าคณะจังหวัดพิษณุโลก เป็นประธานในพิธีเททองหล่อพระฝ่ายสงฆ์ จ่าสิบเอก ดร.ทวี บูรณเขตต์ ผู้ก่อตั้งโรงหล่อบูรณะไทย และรองศาสตราจารย์ ดร.ศรินทร์ทิพย์ แทนธานี รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นประธานฝ่ายฆราวาส พร้อมด้วยคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยนเรศวร คณาจารย์ บุคลากร นิสิตและพุทธศาสนิกชนร่วมพิธี เพื่อนำไปประดิษฐาน ณ หอพักนิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวร

ทั้งนี้ภายในงานมีกิจกรรมต่างๆ มากมาย นำโดยนิทรรศการพระพุทธชินราช การสาธิตการปั้นพระพุทธชินราชจำลอง สกุลช่างพิษณุโลก จ่าทวี โดยจ่าสิบเอก ดร.ทวี บูรณเขตต์ ผู้ก่อตั้งโรงหล่อบูรณะไทย และ “พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี” ศิลปาจารย์ ประจำปี พ.ศ. 2565 การใส่บาตรพระประจำวันเกิดเสริมสร้างความมั่นคง นิทรรศการมหาวิทยาลัยนเรศวร ตลาดวัฒนธรรม และกิจกรรมตัดตุงเต่ารั้ง เสริมพลัง NU กิจกรรมผูกพันรัก ถักตุงใย กิจกรรมถักสานเส้นตอก เป็นดอกไม้ไทย กิจกรรมพู่คล้องใจ สายใยเทาแสด ณ ลานพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช มหาวิทยาลัยนเรศวร

ที่มา: งานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร ร่วมงาน “พิษณุโลกใส่ผ้าไทยได้ทุกวัยและทุกวัน”

เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2566 ดร.จารุวรรณ แดงบุบผา ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมด้วยนายวชิรพงษ์ วงศ์ประสิทธิ์ รักษาการในตำแหน่งหัวหน้างานพัฒนานวัตศิลป์ ร่วมงาน “พิษณุโลกใส่ผ้าไทยได้ทุกวัยและทุกวัน” โดยมีนายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เป็นประธานในการเปิดงาน พร้อมด้วยนางดนิตา สมจิตต์ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดพิษณุโลก จัดโดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดพิษณุโลก

ในการนี้นายวชิรพงษ์ วงศ์ประสิทธิ์ รักษาการในตำแหน่งหัวหน้างานพัฒนานวัตศิลป์ ร่วมเสวนา หัวข้อ “พิษณุโลกใส่ผ้าไทยได้ทุกวัยและทุกวัน” เพื่อรณรงค์เชิญชวนให้สวมใส่ผ้าไทย เพื่อเป็นการอนุรักษ์ต่อยอดภูมิปัญญาเกี่ยวกับการแปรรูปผ้าไทยผลิตเป็นสินค้า ให้เกิดประโยชน์ในการส่งเสริมเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ และสร้างเศรษฐกิจฐานรากในระดับจังหวัดและชุมชนตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)

ทั้งนี้ นางสาวนรกมล สุวรรณ นิสิตคณะบริหารธุรกิจเศรษฐศาสตร์และการสื่อสาร สาขาการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยนเรศวร เข้ารับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ระดับอุดมศึกษา เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการส่งเสริม รณรงค์ และประชาสัมพันธ์การสวมใส่ผ้าไทยต่อไป ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พิษณุโลก

ที่มา: กองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร

Sustainability

NARESUAN UNIVERSITY

Solverwp- WordPress Theme and Plugin