ม.นเรศวร ร่วมพัฒนา “ฐานข้อมูล” ที่ถูกต้อง เรียลไทม์ เครื่องมือเริ่มต้นช่วยสกัดเด็กหลุดจากระบบการศึกษา
“การมีระบบฐานข้อมูลที่ดีช่วยลดระยะเวลาในการทำงาน ไม่ต้องทำงานที่ซ้ำซ้อน ลดภาระงานเอกสาร มีเวลาจัดเตรียมการเรียนการสอนได้มากขึ้น รวมทั้งสามารถนำมาเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ทำให้เกิดความรวดเร็ว เกิดประโยชน์ มีประสิทธิภาพ ช่วยให้ทำงานได้ดี โดยเฉพาะการมีข้อมูลที่น่าเชื่อถือ”
นุตประวีณ์ ภัครวัฒน์อังกูร ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านราหุล จังหวัดเพชรบูรณ์ หนึ่งในเครือข่ายโรงเรียนพัฒนาตนเอง (TSQP) ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เริ่มต้นเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงหลังจากนำระบบสารสนเทศ Q-INFO มาใช้สนับสนุนการบริหาร การจัดการเรียนการสอน รวมทั้งภารกิจสำคัญอย่างการติดตามเด็กกลับมาเรียน สกัดเด็กหลุดจากระบบการศึกษาในช่วงนี้
หลังจากที่เข้าไปร่วมอบรมและนำระบบสารสนเทศ Q-INFO มาใช้ สิ่งแรกที่เปลี่ยนไปคือ จากการเขียนเอกสารประเมินผลตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ ป.พ. ที่เดิมครูต้องเขียนเอง แต่ระบบนี้ช่วยให้การทำงานสะดวกขึ้น ไม่ต้องมานั่งเขียนเอง แต่พิมพ์ออกมาจากระบบได้เลย อีกด้านหนึ่งยังเห็นข้อมูลเด็กในเชิงลึก เพื่อนำไปสู่การช่วยเหลือ ที่เชื่อมโยงกับระบบ CCT
จุดเด่นของระบบนี้คือ ครูมีข้อมูลที่ช่วยกันจัดเก็บแบบเรียลไทม์ ทั้งข้อมูลพื้นฐานของนักเรียน ไปจนถึงอัตราการเข้าเรียนและผลการเรียน ทำให้ผู้บริหารสามารถเข้าไปเช็กได้เลยว่านักเรียนคนไหนขาดเรียนบ่อยแค่ไหน หรือเด็กคนไหนกำลังมีปัญหาในการเรียนที่จุดใด ก็จะสามารถรู้ได้ทันที ช่วยให้สามารถเข้าไปแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที
ยกตัวอย่างที่ผ่านมามีเด็กที่ขาดเรียนไปเป็นสัปดาห์ เมื่อทราบเรื่องก็ติดต่อสอบถามไปยังผู้ปกครองว่านักเรียนขาดเรียนไปไหน หรือถ้าติดต่อผู้ปกครองไม่ได้ก็ประสานไปยังผู้ใหญ่บ้านว่าครอบครัวนี้ยังอยู่ในพื้นที่หรือย้ายไปไหน เพื่อช่วยติดตามให้เขากลับมาเรียนได้ตามปกติ ไม่หลุดจากระบบการศึกษา
ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 จะมีเด็กที่ไม่สามารถเรียนออนไลน์ได้ โรงเรียนจึงปรับให้เรียนแบบออนแฮนด์ มารับใบงานไปทำที่บ้านแล้วนำมาส่ง ครูจะคอยติดตามไม่ให้เด็กขาดหายไปในช่วงนี้ และเมื่อถึงช่วงเปิดโรงเรียนได้ปกติ ก็จะคอยติดตามอีกรอบว่ามีเด็กคนไหนยังไม่กลับมาเรียน
“เปิดเทอมมาตั้งแต่ 1 ธันวาคม ตอนนี้เด็กกลับมาเรียนเกือบครบ 100% จะมีบ้างที่นักเรียนไม่สบาย เราก็ให้นักเรียนรักษาตัวอยู่บ้านให้หายดีก่อนค่อยมาเรียน ขณะที่นักเรียนกลุ่มเสี่ยงหรือมาจากต่างพื้นที่ก็ให้กักตัวอยู่บ้านก่อน 2 สัปดาห์ แล้วก่อนมาเรียนก็ให้ตรวจสอบก่อน ถ้าปกติถึงจะให้เข้ามาเรียนได้ โดยสถานการณ์ขณะนี้ไม่น่าเป็นห่วงแต่อย่างใด”
สำรวจและซ่อมเสริม “ความรู้”
ป้องกันเรียนไม่รู้เรื่อง ชดเชยช่วงปิดเรียน
ส่วนมาตรการรองรับหลังเปิดเทอมก็ถือเป็นอีกประเด็นที่สำคัญ ผอ.นุตประวีณ์อธิบายเพิ่มเติมว่า ในช่วงการเรียนทั้งออนไลน์และออนแฮนด์ที่ผ่านมา อาจทำให้เด็กๆ ไม่ได้รับความรู้เต็มที่เหมือนกับเรียนที่โรงเรียน ช่วงที่กลับมาเรียนอีกครั้ง จึงต้องมีการเรียนซ่อมเสริมให้นักเรียน
“ครูจะเป็นคนสำรวจว่าเด็กแต่ละคนมีจุดอ่อนตรงไหน เด็กเล็กๆ หลายคนช่วงที่เรียนที่บ้านนานๆ จะทำให้เขาอ่านเขียนได้น้อยลง ครูก็จะไปสอนเสริมให้เขาก่อน เพราะการอ่านออกเขียนได้เป็นพื้นฐานสำคัญ ในขณะที่เด็กคนไหนที่เรียนทัน ครูก็ต้องเพิ่มเนื้อหาที่แอดวานซ์ให้เขาได้พัฒนา ต้องยอมเหนื่อยขึ้นเพื่อให้ลูกศิษย์เรียนรู้ได้ดีขึ้น จากในวง PLC เราจะรับรู้ถึงจิตวิญญาณความเป็นครูของแต่ละคนที่เสียสละทุ่มเทเพื่อเด็กๆ”
สร้างการเรียนรู้ที่ดีขึ้น
ครูต้องไม่ชี้ถูกชี้ผิด แต่เปิดพื้นที่ให้เด็กคิดด้วยตัวเอง
โรงเรียนบ้านราหุลได้นำกระบวนการของมูลนิธิลำปลายมาศพัฒนาเข้ามาใช้ โดยมีทีมโค้ชจากมหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นพี่เลี้ยงให้กับทีมครู ตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผนการทำงานไปจนถึงการลงมือปฏิบัติ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง
เมื่อครูเริ่มเปลี่ยนรูปแบบการสอนให้เด็กรู้จักคิด ครูเริ่มใช้โทนเสียงที่ต่ำ ไม่ใช้การสั่งแต่เปลี่ยนเป็นการพูดคุยเสนอแนะ ทำให้เด็กกล้าแสดงออกมากขึ้น
“ระยะเวลาแค่ 3 เดือนแรกเราก็เห็นผลความเปลี่ยนแปลง จากการใช้จิตศึกษาเข้ามาช่วยให้นักเรียนรู้จักกำกับตัวเอง จนตอนนี้ช่วงเข้าแถวตอนเช้า แทบไม่ได้ยินเสียงนักเรียนคุยกัน จากแต่ก่อนที่เสียงจ้อกแจ้กวุ่นวาย
“รูปแบบนี้ต้องเริ่มจากการเปลี่ยนของครูก่อน ซึ่งครูทั้งโรงเรียนก็พร้อมใจกันเปลี่ยน บางคนตอนแรกอาจจะต่อต้านบ้าง คิดว่าเดี๋ยวจะเกษียณอยู่แล้ว ทำไมต้องมาเปลี่ยน แต่พอครูคนอื่นเริ่มเปลี่ยน และเห็นผลความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเด็ก ครูที่ยังไม่เปลี่ยนก็เปลี่ยนตาม ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ”
ที่มา: กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา