ม.นเรศวร ยืนยันระบบ 3R น้ำภาคธุรกิจบริการ คุ้มค่า ประหยัดน้ำจริง ช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ EEC
เนื่องด้วยแนวโน้มความต้องการใช้น้ำใน 3 จังหวัดพื้นที่โครงการ EEC จ.ชลบุรี, จ.ระยอง, และ จ.ฉะเชิงเทรา ที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ตามการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการค้าและบริการ ได้ทำให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่มีอยู่จำกัดในพื้นที่ ให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วน กลายเป็นอีกหนึ่งความท้าทายสำคัญของโครงการ EEC ที่ต้องเร่งจัดการ
ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ นักวิจัยประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดเผยว่า จากการศึกษาประเมินความคุ้มค่าของระบบ 3R ทั้งด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ (Water Efficiency: WE) และนำน้ำเสียมาบำบัดใช้ซ้ำ (Water Reuse: WR) สำหรับภาคเอกชน พบว่า มาตรการดังกล่าวสามารถนำมาใช้ดำเนินการได้จริง มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ และช่วยลดอัตราการใช้น้ำภาคธุรกิจการค้าและการบริการได้ในระยะยาว
สำหรับทางเลือกที่มีความคุ้มค่าและมีความเสี่ยงน้อยที่สุด ในการใช้ระบบ 3R ในภาคธุรกิจบริการ EEC ผศ.ดร.ธนพล เสนอว่า ควรเน้นให้ทุกอาคารใหม่ติดตั้งทั้งระบบเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ และการนำน้ำกลับมาใช้ซ้ำ ทันที ส่วนอาคารเก่าให้ติดตั้งระบบนำน้ำกลับมาใช้ซ้ำให้ครบ 100% ภายในกรอบเวลา 5 ปี ซึ่งแนวทางดังกล่าวมีศักยภาพในการลดการใช้น้ำในภาคอุปทานได้ถึง 22 – 33 ล้าน ล้านลูกบากศ์เมตร (ลบ.ม.) /ปี
“จากการสำรวจกลุ่ม 195 ประเภทอาคารภาคบริการในพื้นที่ EEC พบว่า มี 59 ประเภทอาคารมีความคุ้มทุนที่จะติดตั้งระบบบริหารจัดการน้ำอัจฉริยะ ดังนั้นจึงควรลำดับความจำเป็นในการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายรัฐในการลดการใช้น้ำ 15% โดยเน้นดำเนินการ 3R ใน 5 ประเภทอาคารภาคบริการที่มีความคุ้มค่าที่สุดเป็นอันดับแรก” เขากล่าว
“อีก 54 ประเภทอาคารที่คุ้มทุนในการดำเนินการ 3R แม้จะมีบทบาทรองในการบรรลุเป้าหมายลดการใช้น้ำ 15% ของรัฐ แต่รัฐก็ควรสนับสนุนและส่งเสริมให้ดำเนินการ 3R ตามแนวคิดระบบบริหารจัดการน้ำอัจฉริยะ เพื่อประโยชน์ของภาคเอกชนเองและของสังคมโดยรวม”
โดยจากรายงานการศึกษาแนวโน้มความต้องการใช้น้ำในพื้นที่ EEC ของ ดร.วินัย เชาวน์วิวัฒน์ นักวิจัยฝ่ายนวัตกรรมสารสนเทศทรัพยากรน้ำ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ชี้ว่า กลุ่มธุรกิจการค้าและการบริการ ถือเป็นกลุ่มผู้ใช้น้ำรายใหญ่ที่สุดในพื้นที่ โดยจากวิเคราะห์ข้อมูลการใช้น้ำของกลุ่มธุรกิจดังกล่าวในปี พ.ศ.2561 พบว่า กลุ่มธุรกิจการค้าและบริการใน 3 จังหวัด EEC มีความต้องการใช้น้ำสูงถึง 37.9 ล้าน ลบ.ม./ปี และยังมีความต้องการใช้น้ำพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ในอัตราเฉลี่ยปีละ 4%
จากแนวโน้มดังกล่าว ดร.วินัย คาดการณ์ว่า ภายในปี พ.ศ.2570 จะมีความต้องการใช้น้ำของกลุ่มธุรกิจภาคบริการในพื้นที่ EEC จะสูงขึ้นเป็น 57.4 ล้านลบ.ม./ปี หรือเพิ่มขึ้นกว่า 51% เมื่อเทียบกับความต้องการใช้น้ำปี พ.ศ.2561 และคาดว่า ในปี พ.ศ.2580 ความต้องการใช้น้ำจะไต่ระดับถึง 75.7 ล้าน ลบ.ม./ปี คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ.2561 ถึง 99%
ดร.จตุภูมิ ภูมิบุญชู อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า เพื่อให้องค์กรภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องดำเนินการติดตั้งระบบจัดการน้ำอัจฉริยะ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นที่จะต้องออกมาตรการบังคับหรือส่งเสริมสร้างแรงจูงใจ เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายลดการใช้น้ำ 15%
“การส่งเสริมให้ภาคธุรกิจติดตั้งระบบ 3R น้ำ ให้สอดคล้องกับเป้าหมาย สามารถส่งเสริมกำหนดมาตรการส่งเสริมได้ผ่านทั้งทางกฎหมายและกลไกทางเศรษฐศาสตร์ เช่น การกำหนดราคาค่าน้ำประปา, ค่าบำบัดน้ำเสีย, หรือค่าใช้ท่อน้ำทิ้งในการปล่อยน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วลงสู่แหล่งน้ำ อย่างที่ใช้ในประเทศเยอรมนีและออสเตรเลีย” ดร.จตุภูมิ เสนอ
“นอกจากนี้ยังควรออกมาตรการอื่นๆ เช่น การจัดตั้งกองทุน เพื่อให้ความช่วยเหลือทางการเงินกับผู้ประกอบการ โดยใช้เงินสนับสนุนจากรัฐบาล หรือเงินสมทบจากค่าบำบัดน้ำเสีย”
เขาเน้นย้ำว่า การส่งเสริมการติดตั้งระบบ 3R น้ำ ไม่จำเป็นต้องทำกับทุกธุรกิจ แต่ทำเพียงเฉพาะบางธุรกิจในบางบพื้นที่ที่มีความคุ้มทุนในการติดตั้งระบบเท่านั้น โดยต้องดำเนินการ่ผ่านมาตรการเชิงบังคับ ผสมผสานกับมาตรการช่วยเหลือควบคู่กันไป
ที่มา: greennews