วว. จับมือ ม.นเรศวร ผลักดันนำ “ผลงานผลิตภัณฑ์งานวิจัย” ต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยนเรศวร ลงนามบันทึกความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ สนับสนุนผลักดันนำผลงาน/ผลิตภัณฑ์งานวิจัยต่อยอดการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์
ศ. (วิจัย) ดร. ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และ รศ. ดร. ศรินทร์ทิพย์ แทนธานี รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร ลงนามบันทึกความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาองค์ความรู้ งานวิจัย ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ผลักดันให้เกิดการนำผลงาน ผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมจากงานวิจัยไปสู่กิจกรรมด้านบริการวิชาการ ต่อยอดการใช้ประโยชน์ทั้งเชิงพาณิชย์ เชิงนโยบายและเชิงสาธารณะ สู่การนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจของประเทศ โดยมีระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปี โอกาสนี้ ดร.อาภากร สุปัญญา รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์และจัดการนวัตกรรม วว. ดร.พัชทรา มณีสินธุ์ รองผู้ว่าการบริการอุตสาหกรรม วว. และ รศ.ดร.กรองกาญจน์ ชูทิพย์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมด้วยผู้บริหาร บุคลากร ทั้งสองหน่วยงานร่วมเป็นเกียรติและเยี่ยมชมโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ของ วว. ดังนี้ ศูนย์นวัตกรรมการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรม (ICPIM) ศูนย์ความเลิศด้านสาหร่าย (ALEC) สายการผลิตอาหารแปรรูป โรงงานบริการนวัตกรรมอาหาร (FISP) และห้องปฏิบัติการทดสอบการสลายตัวทางชีวภาพของวัสดุ (BioD)
ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า วว. และมหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวง อว. ซึ่งมีความร่วมมือด้านการศึกษาและพัฒนางานวิจัย การวิเคราะห์ทดสอบ และการพัฒนาบุคลากร นิสิต และนักศึกษาระหว่างสองหน่วยงาน มาแล้ว ในปัจจุบันยังคงมีภารกิจที่คล้ายกันคลึงกันหลากหลายด้าน โดยเฉพาะงานด้านวิจัยและพัฒนา ที่เน้นการพัฒนาและยกระดับความสามารถผู้ประกอบการไทย ซึ่งมหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นมหาวิทยาลัยอันดับต้นๆ ของภาคเหนือ โดยวางวิสัยทัศน์ให้เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อสังคมของผู้ประกอบการ (University for Entrepreneurial Society) ซึ่งตรงกับ วว. ที่มุ่งการพัฒนางานวิจัยและโครงสร้างพื้นฐานของหน่วยงานให้สอดคล้องกับบริบทของการพัฒนาผู้ประกอบการเพื่อตอบโจทย์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเพิ่มมากขึ้น คือ การสร้างความเข้มแข็งให้ SMEs และชุมชน ผ่านระบบนิเวศนวัตกรรม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี อย่างยั่งยืน (Strengthening SMEs and communities through an innovation science and technology ecosystem for sustainability)
ทั้งนี้ทั้งสองหน่วยงานจะมุ่งพัฒนาความร่วมมือให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ดังนี้
1. เพื่อร่วมกันส่งเสริม พัฒนาองค์ความรู้ งานวิจัย ด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งสนับสนุนการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรม นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจของประเทศ
2. ร่วมกันใช้ประโยชน์ในเรื่อง ทรัพยากรและความสามารถตามภารกิจหลักของทั้งสองหน่วยงาน ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาประเทศ ได้แก่ การสนับสนุนการใช้เครื่องมือ และอุปกรณ์ทางด้านวิทยาศาสตร์ รวมทั้งห้องปฏิบัติการในการปฏิบัติภารกิจร่วมกัน
3. ร่วมกันใช้ความรู้ความสามารถ และองค์ความรู้ทางงานวิจัยของทั้งสองหน่วยงานนำมา สนับสนุนการพัฒนา และวิจัยของหน่วยงานภาคเอกชน ชุมชน และหน่วยงานของรัฐ เพื่อบูรณการการทำงานและลดข้อจำกัดด้านงบประมาณและกำลังคนร่วมกัน
4. ร่วมกันพัฒนางานวิจัยคุณภาพสูง (Advance technology) เพื่อสนับสนุนงานด้านวิชาการ และภาคธุรกิจ รวมทั้งภาคอุตสาหกรรม
“ทั้งสองหน่วยงานจะร่วมดำเนินงานอันจะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมากต่อการพัฒนาประเทศไทยในอนาคต เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ใช้นวัตกรรมขับเคลื่อน พลิกฟื้นเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่ออย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน สำหรับการเยี่ยมชมหน่วยที่ให้บริการลูกค้าในระดับมาตรฐานสากลของ วว. ได้แก่ ICPIM, ALEC, FISP และ BioD ที่สามารถวิจัยและพัฒนาผู้ประกอบการที่มาขอรับบริการ ให้ก้าวเข้าสู่การค้าขายกับตลาดโลกได้ โดยใช้โครงสร้างพื้นฐานและการบริการดังกล่าว ความร่วมมือของทั้งสองหน่วยงานและการเยี่ยมชมในครั้งนี้ จะเป็นโอกาสอันดีในการสร้าง idea และ prototype ด้านงานวิจัยควบคู่กับการพัฒนาผู้ประกอบการร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมในระยะเวลาอันใกล้” …. ผู้ว่าการ วว. กล่าว
ที่มา: mgronline