ม.นเรศวร จัดกิจกรรมปลูกต้นกล้วยหอมทอง เพิ่มพื้นที่สีเขียว

เมื่อเวลา 9.00 น. วันศุกร์ที่ 8 กรกฎาคม 2565 บุคลากรกองอาคารสถานที่ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมปลูกต้นกล้วยหอมทอง กว่า 500 ต้น เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ เพิ่มพื้นที่สีเขียว อีกทั้งสามารถใช้ประโยชน์จากผลผลิตที่เกิดขึ้นได้อีกด้วย โดย นายรุ่งรัตน์ พระนาค ผู้อำนวยการกองอาคารสถานที่ เป็นประธานกล่าวเปิดกิจกรรม ณ พื้นที่ด้านหลังอาคารหอพักบุคลากร มน.นิเวศ 4 และขอขอบคุณ ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 6 จังหวัดพิษณุโลก ที่ให้ความอนุเคราะห์พันธุ์กล้วย มา ณ ที่นี้

……….เกร็ดความรู้…………

กล้วยหอม หรือกล้วยหอมทอง ชื่อสามัญคือ Gros Michel ชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Musa (AAA) ‘Hom’ ลักษณะประจำพันธุ์ที่ปลูก กล้วยหอมทองที่ปลูกเป็นหน่อกล้วยที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ (โดยมีระยะเวลาในห้องปฏิบัติการ 1 ปี แล้วนำออกมาอนุบาลในโรงเรือนอีก 3 เดือน เพื่อได้หน่อพร้อมปลูก) อายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 8- 10 เดือน(การสุกแก่ใช้เวลาประมาณ 3 เดือน) ลักษณะผลใหญ่ ปลายโค้งเรียวยาว เปลือกบาง เมื่อสุกจะมีสีเหลืองทอง รสหวาน มีกลิ่นหอม

ประโยชน์ ของกล้วยหอมทองมีมากมาย เช่น ให้พลังงานมากถึง 100 กิโลแคลลอรี่ต่อหน่วย มีน้ำตาล อยู่ 3 ชนิด ได้แก่ ซูโครส ฟรุกโตส และกรูโคส รวมทั้งเส้นใยอาหาร ดังนั้น เราจะได้รับพลังงาน ที่สามารถนำไปใช้ได้ทันที เพียงกล้วยหอมทอง 2 ผล ก็ให้พลังงานได้นานถึง 90 นาที และยังมี สรรพคุณอื่นๆ เช่น ช่วยให้คลายเครียด เพราะกล้วยหอมทองมีสาร Tryptophan ที่ร่างกายเปลี่ยนเป็น Serotonin ซึ่งเป็นสารกระตุ้นทำให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลาย ช่วยลดการเกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ ลดอาการจุกเสียดแน่นท้อง และช่วยลดท้องผูก

กิจกรรมปลูกต้นไม้ (ต้นกล้วยหอมทอง) เพิ่มพื้นที่สีเขียว