มหาวิทยาลัยนเรศวรลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ ภาคเหนือตอนล่าง : กรณีศึกษาจังหวัดพิษณุโลก
เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2564 ศาสตารจารย์ ดร.จิรวัฒน์ พิระสันต์ ปฏิบัติหน้าที่แทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมผู้บริหาร ร่วมให้การต้อนรับภาคีเครือข่าย จำนวน 12 หน่วยงาน ในพิธีลงนามบันทึกบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ ภาคเหนือตอนล่าง : กรณีศึกษาจังหวัดพิษณุโลก โดยมี นายรณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เป็นประธานในพิธีเปิดงาน ณ ห้องประชุมพระพุทธชินราช ชั้น 7 ศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก (หลังใหม่)
สำหรับการดำเนินงานดังกล่าว ดร.กิตติ สัจจา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)ได้กล่าวว่า โครงการนี้ ได้รับความร่วมมือจากภาครัฐกว่า 12 หน่วยงาน ที่จะร่วมผลักดันให้เกิดกระบวนการและกลไกของหน่วยงานนำไปสู่การขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาพัฒนาคุณภาพชีวิตของครัวเรือนยากจนในพื้นที่จังหวัดพิษรูโลกอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำ โดยการใช้ประโยชน์จากระบบฐานข้อมูลครัวเรือนยากจนร่วมกันของทุกภาคส่วน นับเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะก่อให้เกิดการบูรณาการช่วยเหลือคนจนอย่างตรงจุด
สำหรับจังหวัดพิษณุโลกคณะผู้วิจัยได้ค้นหาและสอบทานข้อมูลคนจน จำนวน 24,000 ข้อมูล ครอบคลุมพื้นที่ 9 อำเภอ จากนั้น ดำเนินการสร้างนวัตกรรมแก้จนที่เหมาะสมกับบริบทและคนจนเป้าหมาย โดยทุนศักยภาพ 5 มิติ ประกอบด้วย ทุนสังคม ทุนมนุษย์ ทุนทางกายภาพ ทุนทางการเงิน และทุนธรรมชาติ นำมาสู่การวิเคราะห์เชิงคุณภาพเชื่อมโยงบริบท เพื่อการสร้างนวัตกรรมแก้จนที่สอดคล้องกับบริบทและคนจนเป้าหมาย โดยมีเป้าหมายคนจนในพื้นที่ 2 อำเภอ ๆ ได้แก่ ตำบลชุมแสงสงคราม ตำบลวังอิทก อำเภอบางระกำ และตำบลไทรย้อย อำเภอเนินมะปราง รวมเป็น 2,000 คน ทั้งนี้คนจนได้รับการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาที่สอดคล้องกับบริบทกลุ่มเป้าหมายอย่างน้อย 10%
ด้วยกระบวนการสร้างนักจัดการข้อมูลชุมชน และภาคีเครือข่ายในชุมชน สามารถติดตามสถานะคนจนให้เป็นปัจจุบัน จัดทำข้อมูลให้มีชีวิต ส่งต่อและประสานความช่วยเหลือครัวเรือนยากจนในระดับพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดระบบความช่วยเหลือครัวเรือนยากจนเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการสานพลังขับเคลื่อนจากวัด ทหาร หน่วยงาน และชุมชน หนุนเสริมทักษะอาชีพ ทักษะการใช้ชีวิตของครัวเรือนยากจน การบูรณาการสร้างระบบสาธารณสุขที่เหมาะสม ทั้งนี้การพัฒนาภาคีเครือข่ายด้วยนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนในจังหวัดพิษณุโลกแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ จะเป็นการสานพลังที่จะนำไปสู่กระบวนการแก้ไขปัญหาให้คนพิษณุโลกหลุดพ้นจากความยากจน สามารถเข้าถึงทรัพยากร การศึกษา สวัสดิการต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตได้อย่างเท่าเทียมและยั่งยืน
ที่มา: ประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัยนเรศวร