4 ฉากทัศน์ แก้ปัญหาฝุ่น ‘PM2.5’ อย่างยั่งยืนใน 15 ปี
ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาค่าความเข้มข้นของ ‘PM2.5’ ในบรรยากาศเกินค่ามาตรฐานความปลอดภัยต่อสุขภาพประชาชน ทั้งในกรุงเทพมหานครและหลายจังหวัดในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา และเป็นปัญหาที่จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต
ในปี 2565 จากการรวบรวมข้อมูล DustBoy พบว่า จำนวนวันที่ PM2.5 เกินมาตรฐาน WHO ในหลายเขตของ กทม. สูงกว่า 40 – 70 วัน โดยเขตที่เกินมาตรฐานที่สุด คือ เขตดินแดง เกินค่ามาตรฐานถึง 249 วัน PM2.5 ส่งผลให้คนเสียชีวิตก่อนวัยอันควรกว่า 4,486 คนต่อปีในกทม. ความเสียหายต่อเศรษฐกิจในกทม. คิดเป็น 4.51 แสนล้านบาทต่อปีในปี 2562
อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาฝุ่นต้องอาศัยระยะเวลา แม้แต่ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นต้นแบบของการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศและการแก้ปัญหาฝุ่น มีกฎหมาย Clean Air Act ซึ่งเป็นต้นแบบในหลายๆ ประเทศ ก็ยังต้องใช้เวลากว่า 10-15 ปีในการแก้ไขปัญหา
เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 “รศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์” ผู้เชี่ยวชาญระดับสูง สกสว. กล่าวในงานแถลงข่าว ‘ววน.รวมพลังฝ่าวิกฤต PM2.5’ ณ ห้องประชุม อาคารพระจอมเกล้า ถนนโยธี โดยทำการวิเคราะห์ 4 ฉากทัศน์ของการจัดการฝุ่นและมลพิษทางอากาศ โดยการใช้ AI ประมวลผลจับคู่งานวิจัยในฐานข้อมูลของแผนปฏิบัติการด้านวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ที่ได้ให้ทุนไปในช่วง ปี 2563 – 2565 จำนวนกว่า 18,227 ชิ้น ออกมาเป็น 4 มาตรการ แก้ปัญหาฝุ่นยั่งยืนใน 15 ปีหากมีการนำเอางานวิจัยมาใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ดังนี้
มาตรการที่ 1 คือ มาตรการเร่งด่วน ปกป้องตนเอง : การแก้ไขปัญหาฝุ่นต้องใช้เวลา 10-15 ปี ถึงจะสามารถแก้ไขอย่างเป็นระบบ ดังนั้น ในช่วงนี้ ประชาชนต้องลดการสัมผัส PM2.5 ในบรรยากาศ ป้องตนเองโดยการเช็กค่าฝุ่นละอองในขณะนั้นว่า อยู่ในระดับที่ส่งผลต่อสุขภาพหรือไม่ โดย กระทรวง อว. มีเครือข่ายเซ็นเซอร์กระจายอยู่ทั่วประเทศ มากกว่า 1,300 จุด สามารถเข้าไปดูในเว็บไซต์ คลิก
เซ็นเซอร์ที่มีการใช้งานแพร่หลายคือ DustBoy โดยในปัจจุบัน เขตกทม. มีผู้ใช้งาน 1.5 แสนคนต่อปี เพื่อปกป้องตนเอง ในช่วงค่าฝุ่นสูง ก็จะสามารถลดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรไปได้ 86 คนต่อปี ต้องมีการกระตุ้นเชิงพฤติกรรมให้คนหันมาใช้ข้อมูลจากเซ็นเซอร์เพื่อลดการสัมผัสฝุ่น PM2.5 อีกทั้งในปัจจุบันมีการใช้ไลน์ในการแจ้งเตือนแต่ละจุดที่อยู่ ว่ามีฝุ่นเข้มข้นมากน้อยแค่ไหน อันตรายหรือไม่ รวมถึงจะมีแอปฯ ของกระทรวง อว. ออกมาในช่วงเดือน ก.พ. – มี.ค. นี้เพื่อเตือนภัยฝุ่น
มาตรการที่ 2 เมืองแห่งรถไฟฟ้า : การเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้รถยนต์ EV เพื่อลดการปลดปล่อยฝุ่นจากการจราจร โดย 59% ของฝุ่น PM2.5 ใน กทม. มาจากการขนส่งและการจราจร ตามแผนคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ หรือ บอร์ด EV จะเปลี่ยนไปใช้รถ EV 37 % ของรถทั้งหมดในปัจจุบัน ภายใน 14 ปีข้างหน้า หรือ ปี 2578 จะลดการปลดปล่อยฝุ่น ใน กทม. ได้ 22%
ซึ่งจากแบบจำลองจะลดวันที่ฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐานลงได้ 52.38% รวมจำนวนวันที่ฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน WHO ในทุกเขตประมาณ 538 วัน ลดโอกาสเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้ 2,350 คนต่อปีในกทม. ลดความเสียหายต่อเศรษฐกิจ กทม. ได้ 2.36 แสนล้านบาท ต่อปี เทียบกับข้อมูลปี 62 ซึ่งงานวิจัย ววน. มีความพร้อมในระดับต้นแบบอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะรถไฟฟ้ารางเบา รถไฟฟ้าระหว่างเมือง รถบรรทุกไฟฟ้า รถจักรยานไฟฟ้า
มาตรการที่ 3 อุตสาหกรรมสะอาดขึ้น : 20% ของฝุ่น PM2.5 ใน กทม. มาจากโรงงานอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้า ซึ่งจริงๆ แล้วการปลดปล่อยปลายปล่องนั้นมีเทคโนโลยีลดปล่อยได้กว่า 90% ของเทคโนโลยีที่ไทยใช้อยู่ในปัจจุบัน ในสหรัฐอเมริกา พื้นที่ที่มีค่าคุณภาพอากาศไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน จะมีติดตั้งระบบบำบัดมลพิษปลายปล่องที่เข้มงวดเป็นพิเศษ
- “หากไทยนำแนวคิดนี้มาใช้จะสามารถปรับระบบบำบัดมลพิษอากาศจากโรงงานและโรงไฟฟ้าให้ลดการปลดปล่อยลงได้ 75% ลดการปลดปล่อยฝุ่นพิษได้อีก 15% ของทั้งหมดที่ปล่อยในกทม. รวมถึง ลดวันที่ฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน WHO ในกทม. ลงได้ 16.53% รวมจำนวนวันที่ฝุ่นเกินค่ามาตรฐาน WHO ในทุกเขตประมาณ 944 วัน ลดโอกาสเสียชีวิตก่อนวันอันควร ได้ 733 คนต่อปีในกทม. ลดความเสียหายต่อเศรษฐกิจในกรุงเทพฯ ได้ 0.74 แสนล้านบาท ต่อปี เป็นเทคโนโลยีที่มีความพร้อมใช้ในต่างประเทศ แค่ต้องนำมาใช้จริงและงานวิจัยในระบบ ววน. ต้องพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้ขึ้นมาเอง”
สำหรับอุตสาหกรรมสะอาดต้องมองให้ครบทั้งห่วงโซ่อุปทานการผลิต วัตถุดิบที่ได้มาในการผลิตปลดปล่อยฝุ่นมากน้อยแค่ไหน เช่น อุตสาหกรรมการเกษตร มีหลากหลายเทคนิคและกระบวนการผลิตเพื่อลดการปลดปล่อยฝุ่น ซึ่งมีหลายงานวิจัยและนวัตกรรมของภาคเอกชน เช่น เครื่องจักรขนาดเล็กช่วยตัดใบอ้อยเพื่อลดการเผาที่ใช้ในพื้นที่นำร่อง จ.สิงห์บุรี นวัตกรรมการจัดการเผาเศษวัสดุจากการเกษตรกรรมหรือ แอป FireD (ไฟดี) แอปพลิเคชั่นการจองเผา ในวันที่สภาพอากาศเหมาะสม และไม่ส่งผลให้ค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน
มาตรการที่ 4 กลไกตลาดเสริมอำนาจผู้บริโภค : ซึ่งเป็นมาตรการที่สำคัญมาก เพราะ 20% ของ PM2.5 ในกทม. มาจากการเผาชีวมวล เศษวัสดุทางการเกษตร ขณะที่การผลิตในปัจจุบัน มีหลากหลายกระบวนการผลิตที่สะอาดเพื่อลด PM2.5 กว่า 80% สามารถลดวันที่ฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐานในกทม. ได้ 16.62% ขณะเดียวกัน การใช้ฉาก PM2.5 และมลพิษอากาศกับผลิตภัณฑ์จะทำให้ผู้บริโภคทราบข้อมูล ส่งผลต่อกลไกตลาด ส่งผลต่อการผลิตสะอาดมากขึ้น ลดโอกาสเสียชีวิตก่อนวัยอันควรราว 746 คนต่อปีในกทม. ลดความเสียหายต่อเศรษฐกิจในกทม. ราว 0.75 แสนล้านบาทต่อปี เทียบกับปี 2562
ปัจจุบัน มีเทคโนโลยีทางเลือกอยู่แล้วโดยในไทยมีนักวิจัยที่สามารถประเมินการปล่อย PM2.5 ได้ งานนำร่องที่ดีเป็นวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ประเมินการปลดปล่อย ฝุ่นละออง PM2.5 จากการจราจรประเภทต่างๆ เทคนิคนี้สามารถนำไปใช้กับผลิตภัณฑ์ได้ เพื่อให้ผู้บริโภคเลือกสินค้าสะอาด
- “การเตรียมการเพื่ออนาคตหมดปัญหา PM2.5 ทั้ง 4 มาตรการนั้น ‘มาตรการปกป้องตนเอง’ ววน. ไทย มีความพร้อมของเทคโนโลยี นวัตกรรม นำเข้ามาใช้ได้ แต่ต้องพัฒนาเพิ่มเติมในระยะกลาง ระยะยาว ‘มาตรการเมืองแห่งรถไฟฟ้า’ ต้องมีการลงทุนเพิ่มมากโดยประชาชน ประชาชนปรับตัวแล้ว และ นโยบายภาครัฐสนับสนุนรถ EV สร้างความเชื่อมั่นในการใช้รถไฟฟ้า”
“ส่วน ‘อุตสาหกรรมสะอาดขึ้น‘ มีหลากหลายเทคนิคการลดการปล่อยมลพิษ แต่ต้องการกฎหมาย รวมถึงภาครัฐ เอกชน ลงทุนเพิ่มมากในการปรับระบบการผลิต อุตสาหกรรมปรับตัว ราชการปรับตัว ด้าน ‘การใช้กลไกตลาดเสริมอำนาจผู้บริโภค’ ต้องลงทุนเพิ่มมากเพื่อการผลิตที่สะอาดขึ้น รวมถึงฉลากสิ่งแวดล้อม ประชาชนปรับตัว อุตสาหกรรมปรับตัว” รศ.ดร.ธนพล กล่าว
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ