ม.นเรศวร ร่วมวางแผนหลักบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบึงกาฬ
เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2565 นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของจังหวัดบึงกาฬ ว่า บึงกาฬเป็นจังหวัดหนึ่งที่ประสบปัญหาภัยแล้ง อุทกภัย และขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคซ้ำซาก สทนช. อยู่ระหว่างดำเนินการโครงการศึกษาแผนบูรณาการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ โดยได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยนเรศวร และกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาดำเนินการศึกษา ทั้งด้านการจัดทำแผนบูรณาการตามสภาพปัญหาพื้นที่ในเชิงลึก จัดทำแผนการพัฒนาบึงหรือหนองน้ำธรรมชาติที่มีศักยภาพของจังหวัดบึงกาฬ และจัดทำรายงานวางโครงการเบื้องต้นที่สำคัญเร่งด่วน ปัจจุบันที่ปรึกษาได้ลงพื้นที่พบปะประชาชนกว่า 5 ครั้ง ผ่านกิจกรรมการประชุมปฐมนิเทศและการประชุมกลุ่มย่อย โดยมีประชาชนเข้าร่วมกว่า 611 คน เพื่อสอบถามความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และนำมาประกอบการจัดทำแผนบูรณาการ (Integrated Master Plan) พร้อมจัดทำแผนการพัฒนาบึงหรือหนองน้ำธรรมชาติที่มีศักยภาพของจังหวัดบึงกาฬ โดยจะดำเนินการศึกษาแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2566
ปัจจุบัน จังหวัดบึงกาฬ มีความต้องการใช้น้ำรวม 92.529 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี โดยมีความต้องการน้ำเพื่อการเกษตรในเขตชลประทาน 0.825 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และนอกเขตชลประทาน 8.494 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ส่วนความต้องการน้ำอุปโภคบริโภคพบว่า ความต้องการน้ำอุปโภคบริโภคในปัจจุบัน 20.274 ล้านลูกบาศก์เมตร ในอนาคต 20 ปีข้างหน้า จังหวัดบึงกาฬจะมีความต้องการใช้น้ำรวม 22.715 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี เพิ่มขึ้น 2.441 ล้านลูกบาศก์เมตร ด้วยเหตุนี้ การพัฒนาแหล่งน้ำของจังหวัดบึงกาฬ จึงเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงของทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูแล้ง ผ่านการจัดทำแผนหลักแบบบูรณาการ โดยชุมชนมีส่วนร่วมในการกำหนดรูปแบบการพัฒนา เพื่อเพิ่มศักยภาพในการกักเก็บน้ำเพื่อการเกษตร อุปโภคบริโภค การประปา และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของชุมชน ในช่วง 16 ปีที่ผ่านมา จังหวัดบึงกาฬมีพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมทั้งหมดเท่ากับ 880.27 ตร.กม. และในรอบ 10 ปี จังหวัดบึงกาฬมีพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งทั้งหมดเท่ากับ 237.264 ตารางกิโลเมตร อีกทั้งระดับน้ำในแม่น้ำโขงลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงฤดูแล้ง หากมีการพัฒนาศักยภาพของบึง หนอง แหล่งน้ำต่างๆ ในจังหวัดบึงกาฬ อย่างมีประสิทธิภาพ จะช่วยกักเก็บน้ำในช่วงฤดูฝน ให้เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำในภาคส่วนต่างๆ ในฤดูแล้ง
จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่า บึงหรือหนองน้ำธรรมชาติที่มีศักยภาพจำนวน 8 แห่ง ถูกนำมาพิจารณา ได้แก่ ห้วยบังบาตร หนองเชียงบุญมา หนอนนาแซง บึงขามเบี้ย หนองผักชี หนองใหญ่ หนองสามหนอง และ หนองร้อน ซึ่งหากมีการพัฒนาบึงหรือหนองน้ำทั้ง 8 แห่งตามแผน จะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับแหล่งน้ำได้ แม้จังหวัดบึงกาฬมีปริมาณน้ำต้นทุนเพียงพอต่อความต้องการน้ำทั้งจังหวัด แต่มีปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภคในระดับตำบล ระดับหมู่บ้าน พบว่า มีระบบประปาหมู่บ้าน 574 หมู่บ้าน ไม่มีระบบประปา 43 หมู่บ้าน ซึ่งจำเป็นต้องมีการก่อสร้างประตูระบายน้ำ สร้างฝาย ระบบเชื่อมโยงแหล่งน้ำ พัฒนาแหล่งน้ำ ขุดลอกแหล่งน้ำ ปรับปรุงซ่อมแซมระบบประปา และขยายเขตประปา
ที่มา: dailynews