ม.นเรศวร ร่วมเวทีหาความร่วมมือเฝ้าระวังผลกระทบมลพิษข้ามแดน จ.น่าน จัดโดย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)

ทุก ๆ ปี ประเทศไทยเผชิญมลพิษทางอากาศจากหลายปัจจัย อาทิ ฝุ่นการก่อสร้างและโรงงานอุตสาหกรรม ควันท่อไอเสียรถยนต์ ไฟป่า หรือการเผาเศษวัสดุทางการเกษตร  ซึ่งหน่วยงานภาครัฐพยายามออกมาตราการต่าง ๆ ในการแก้ปัญหา แต่สำหรับมลพิษข้ามพรมแดน จากการเผาหรืออุตสาหกรรมอย่างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ยังไม่มีกฎหมายรองรับระหว่างประเทศ ฉะนั้น เมื่อไหร่กระแสลมเปลี่ยนทิศก็จะพัดฝุ่นละอองฟุ้งกระจายเข้าไปซ้ำเติมมลพิษทางอากาศในประเทศไทยให้เพิ่มสูงขึ้นกระทบกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ ต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นห่วงโซ่อาหารสำคัญของประชาชนที่อาศัยใกล้แหล่งกำเนิดมลพิษ ยิ่งโดยเฉพาะ ต.ขุนน่าน และต.ห้วยโก๋น อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน พื้นที่ใกล้โรงไฟฟ้าหงสา สปป.ลาว เริ่มสังเกตเห็นความผิดปกติทางการเกษตรไม่ได้ผลผลิตเท่าที่ควร เรื่องนี้ถูกพูดถึงกับในกลุ่มชาวบ้าน และต้องการหาคำตอบ

สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จึงได้สนับสนุนการจัดทำโครงการ “การพัฒนาระบบเฝ้าระวังผลกระทบทางสุขภาพโดยชุมชน จังหวัดน่าน ประเทศไทย กรณีมลพิษข้ามพรมแดนจากโรงไฟฟ้าถ่านหินหงสา สปป. ลาว ภายใต้ชุดโครงการวิจัยเดียวกันนี้ มีการทำงานเชิงข้อมูลกับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร, คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี, มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ และสำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะ ไทยพีบีเอส โดยเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2566 ร่วมกันเปิดเวทีเพื่อนำเสนอข้อมูลผลกระทบการศึกษา และหารือความร่วมมือกับภาคประชาชนสังคมน่าน ในการเฝ้าระวังผลกระทบทางสุขภาพจากมลพิษข้ามแดน ณ ศูนย์การเรียนรู้และบริการวิชาการเครือข่ายแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตำบลผาสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดน่าน นอกจากชาวบ้าน คุณครูในพื้นที่ต.ห้วยโก๋น และต.ขุนน่าน ภาคประชาสังคมในน่าน ยังมีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เข้าร่วมรับฟังและร่วมเสนอเเนวทางการเฝ้าระวัง

รศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ นักวิชาการนักวิจัยทางด้านสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เล่าถึงความคืบหน้าของผลการติดตามจากระบบเฝ้าระวัง จากการตรวจวัด

รศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ นักวิชาการนักวิจัยทางด้านสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

“งานวิจัยที่เราทำที่น่านเริ่มจากประชาชนมีข้อสงสัยและมีความกังวลจากประสบการณ์ที่เขาสังเกตเห็นว่าตั้งแต่มีการตั้งโรงไฟฟ้าที่อยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน เขารู้สึกว่าตัวพืชผลทางการเกษตรของเขา เริ่มมีอาการผิดปกติ ที่เขาไม่เคยเห็นมาก่อนในช่วงก่อนหน้านี้ เช่นอาการพืชมีลักษณะใบไหม้เพิ่มมากขึ้น ข้าวเม็ดรีบ พืชผลทางการเกษตรผลผลิตตกต่ำกว่าที่เคย ชาวบ้านจึงมีความสงสัยว่าจะเกี่ยวข้องกับมลพิษที่มาข้ามพรมแดนหรือไม่”

ประชาชนในพื้นที่ยังอิงกับระบบนิเวศค่อนข้างเยอะ มีการจับปลาในพื้นที่มากิน เขาจึงก็มีความกังวลว่าถ้ามีแหล่งปลดปล่อยมลพิษอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน แล้วมลพิษข้ามพรมแดนมานั้นจะเกิดการตกสะสมของสารพิษในปลาที่พวกเขาบริโภคหรือไม่ งานวิจัยเราจึงเริ่มจากตรงนี้เพื่อตอบความสงสัยของประชาชนด้วยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ สิ่งแรกที่เราทำก็คือ ทำแบบจำลองคอมพิวเตอร์ว่าถ้ามีมลพิษปลดปล่อยมาจากแหล่งกำเนิดที่อยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน ข้ามพรมแดนมากับลมมาตกสะสมในชายแดนของจังหวัดน่าน จะมีการตกลงพื้นที่ตรงไหนอย่างไรบ้าง จึงเกิดตัวแผนที่ความเสี่ยงออกมาว่ามลพิษที่ถูกปลดปล่อยออกมาจะไปตกอยู่บริเวณไหน จากนั้นเราก็ทำการเข้าไปเก็บตัวอย่างเพื่อทำการตรวจวัดตัวชี้วัดสำคัญที่เกี่ยวข้องกับมลพิษที่ตกสะสม อย่างเช่น 

ก๊าซกรด ที่ปลดปล่อยออกมาจากตัวโรงไฟฟ้า ก็จะดูว่ามีการตกสะสมของกรดในพื้นที่เกษตรกรรมหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ที่ประชาชนพบว่าพืชผลเสียหายผิดปกติ เราจึงทำการเก็บตัวอย่างวัดความเป็นกรดเป็นด่างของดินในพื้นที่ 

การเก็บตัวปลา เพื่อดูว่ามีปรอทซึ่งเป็นมลพิษข้ามพรมแดนที่ออกมาจากโรงไฟฟ้าได้ ตกสะสมในระดับที่นัยยะสำคัญหรือไม่ เราก็ตามไปถึงว่าแล้วประชาชนที่บริโภคปลา มีการสะสมของปรอทในเส้นผมหรือไม่ ดูตัวชี้วัดทางชีวภาพตั้งแต่การตกสะสมในระบบนิเวศ ร่วมไปถึงการตกสะสมในอาหารของมนุษย์ และที่สะสมในตัวของมนุษย์

พบว่าเมื่อทำการเก็บตัวอย่างตามที่แผนที่ความเสี่ยงชี้มา พบว่าหลายบริเวณที่แบบจำลองคอมพิวเตอร์คาดการณ์ว่าจะมีการตกกระทบของกรดในระดับที่สามารถเกิดผลกระทบได้ พบว่ามีดินที่มีความเป็นกรดเพิ่มมากขึ้นสอดคล้องกับแบบจำลองแผนที่ความเสี่ยง

การเก็บตัวอย่างปลา ตามจุดที่แบบจำลองเราคาดการณ์ว่าน่าจะมีปรอทตกสะสม ก็พบว่าในเนื้อปลามีปรอทสะสมอยู่ และในเส้นผมของคนที่อาศัยในบริเวณที่มีปรอทสะสมเนื้อปลา ก็พบว่ามีปรอทสะสมในเส้นผมของคนในระดับที่สูงขึ้นด้วย ซึ่งสอดคล้องทางสถิติทั้งผลกระทบจากก๊าซกรดที่ตกสะสมลงในพื้นที่ ก๊าซกรดกับประสบการณ์ของคนของเกษตรกรในพื้นที่ ที่บอกว่าพืชผลทางการเกษตรเสียหายมีความสอดคล้องกัน แล้วก็ปรอทที่สะสมในปลา ปรอทที่พบในเส้นผมของคน ก็สอดคล้องกับแผนที่ความเสี่ยงที่มีการตกสะสม เราเลยสรุปว่าน่าจะมีมลพิษ ที่ถูกปลดปล่อยจสกประเทศเพื่อนบ้านข้ามพรมแดนเข้ามานั้น เริ่มตกลงมาสะสมลงในพื้นที่ของจังหวัดน่านแล้ว แต่ยังไม่อยู่ในระดับที่เป็นอันตราย แต่ค่ามลพิษที่เพิ่มขึ้นจากค่าตามธรรมชาติประมาณ 5 เท่าในปัจจุบัน ซึ่งมลพิษเหล่านี้เป็นมลพิษที่สะสม เพราะฉะนั้นถ้ามีการประกอบกิจการอย่างต่อเนื่องโดยที่ไม่ได้ลดการปล่อยตัวมลพิษ ก็อาจจะมีการสะสมถึงระดับที่ทำให้เกิดผลกระทบเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพของคนในชุมชนได้

วิจัยเราต้องการชี้เห็นมีว่าปัญหาเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยะสำคัญ ต้องมีการทำงานร่วมกันของภาคประชาชน นักวิชาการ หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ที่เป็นผู้ปล่อยมลพิษ ต้องควบคุมการปล่อยมลพิษ เพื่อป้องกันปัญหาเหล่านี้ไม่ให้ถึงในระดับที่ก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรง ซึ่งตอนนี้ยังสามารถแก้ปัญหาได้เพราะพึ่งเริ่มเกิดขึ้น ถ้าเรายอมรับปัญหาร่วมกันและมีการเฝ้าระวังอย่างเป็นระบบ มีการชี้ให้เห็นว่าต้องลดการปลดปล่อยอย่างไร ต้องฟื้นฟูธรรมชาติอย่างไร ปัญหาเหล่านี่ ที่มีมูลค่าเป็นพันล้านบาท ตาทที่เราประเมินใน 30 ปีสามารถป้องกันได้ 

ผลกระทบทางการเกษตรเป็นการประเมินที่เรียกว่า Worst case scenario ประเมินแบบกรณีเลวร้ายที่สุด ที่อิงถึงความเสียหายที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา จากการสอบถามชาวบ้านว่าผลผลิตเขาลดลงตกต่ำอย่างไร เราก็จะเอาความเสียหายตรงนั้นมาคูณ แล้วก็คำนวณขยายไปในพื้นที่ทั้งหมดที่กรดสามารถตกสะสมได้  แล้วพบว่าความเสียหายประมาณ 800 กว่าล้านบาทได้ใน 30 ปี ถ้าไม่ดำเนินการ ความเสียหายระดับนี่จะเกิดขึ้นกับภาคประชาชนได้โดยที่ประชาชนเองก็จะมีความสงสัยอยู่ตลอดว่าเกิดอะไรขึ้นทำไมผลผลิตเสียหาย ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากมลพิษข้ามพรมแดน แม้ว่าความเสียหายจะ 800 ล้านบาท แต่มันคือความเสียหายที่เราคาดการณ์ว่าในอีก 30 ปีซึ่งสามารถป้องกันได้ ถ้าเรายอมรับปัญหาและลดการปล่อยตัวมลพิษที่แหล่งกำเนิด เราจะสามารถทำให้ความเสียหายนั้นไม่เกิดหรือว่าลดน้อยลงที่สุดที่เป็นไปได้

ในระยะที่ 2 เราจะทำการพัฒนาเครื่องมือที่ให้ชุมชนสามารถเก็บตัวอย่างได้และชุมชนที่เก็บตัวอย่างที่เห็นความผิดปกติในพื้นที่ ทำงานกับนักวิจัยแล้วประเมินผลว่าเกี่ยวข้องกับมลพิษใหม่หรือไม่ ส่งตัวอย่างมาตรวจในวิเคราะห์เพิ่มมากขึ้นในห้องปฏิบัติการ ที่ผ่านมาเราพัฒนาร่วมกับชุมชนเป็นหลักแต่ว่าการจะป้องกันปัญหาการที่จะทำให้ปัญหาเหล่านี้ไม่เกิด และลดผลกระทบพันล้านให้ได้ ต้องมีหลายภาคส่วนเข้ามาเกี่ยวข้อง หนึ่งในนั้นก็คือหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงอยู่แล้วในการป้องกันไม่ให้ผลกระทบเกิด กับภาคเอกชนที่เป็นผู้ปลดปล่อยมลพิษ เพราะเป็นคนที่สามารถบอกได้ว่าเราสามารถลดการปล่อยจากปลายป่องได้ เพื่อให้ผลกระทบเหล่านี้ไม่เกิด เพราะฉะนั้นในโครงการในระยะต่อไป คือ 

1. เราจะทำให้ภาคประชาสังคมเข้มแข็งเพิ่มมากขึ้นโดยการขยายจำนวนคนที่เข้ามาใช้ฐานข้อมูลเก็บตัวอย่างรายงานผลกระทบจากสิ่งที่ตัวเองสังเกตเห็นในพื้นที่ตัวเองมากขึ้น ก็คือสร้างเดต้าให้เป็นบิ๊กเดต้ามากขึ้น 

2. จะทำอย่างไรให้หน่วยงานรัฐที่ต้องทำงานรับใช้ประชาชนอยู่แล้วมาอิงข้อมูลตรงนี้ เพราะว่าประชาชนได้เห็นผลกระทบที่เกิดขึ้น รายงานผ่านตัวแอพพลิเคชั่น c-site บันทึกไว้ในฐานข้อมูลแล้ว จะทำอย่างไรให้งานภาครัฐเชื่อมกับฐานข้อมูลนี้ เหมือนที่ภาควิชาการเชื่อมภาคประชาชน ให้หน่วยงานรัฐเข้ามาทำงานร่วมกันเป็น 3 ภาคส่วน 

3. หน่วยงานรัฐต้องช่วยในการวางกลไกในการทำให้ลดการปล่อยมลพิษข้ามพรมแดนซึ่งต้องดึงภาคเอกชนเข้ามาต้องทำให้ผู้ก่อให้เกิดมลพิษนะครับยอมรับในกระบวนการเห็นด้วยกับกระบวนการและเห็นว่ากระบวนการนี้เป็นกระบวนการสร้างสรรค์ คือไม่ได้มาเพื่อปิดโรงไฟฟ้า ไม่ได้มาเพื่อทำให้เขาเสียหายนะ แต่มาเพื่อช่วยเขาในการป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต 

ผศ.ดร.ว่าน วิริยา ผู้ช่วยหัวหน้าศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ขณะที่ ผศ.ดร.ว่าน วิริยา ผู้ช่วยหัวหน้าศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เฝ้าระวังจากตรวจวัด เล่าว่า เราเก็บตัวอย่างทางด้านอากาศ น้ำฝน และน้ำผิวดิน ส่วนทางด้านชีวภาพเราจะเก็บไลเคนและเปลือกไม้ที่นำจะไปตรวจสารเคมี ข้อค้นพบของเราอันดับแรก คือทางด้านเคมีของอาทางด้านอากาศและด้านชีวภาพที่ชี้ไปในทางเดียวกัน คือน่าจะมีแหล่งกำเนิดของมลพิษทางอากาศมาจากแหล่งเดียวกัน แต่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นแหล่งไหน เราระบุได้จากสารเคมีบางตัว อย่างเช่น ตัวโลหะหนัก แมงกานีส งานวิจัยระบุว่ามาจากแหล่งกำเนิด คือ 1. ฝุ่นถนน 2. โรงไฟฟ้าถ่านหิน 3. การจราจร 3 แหล่งนี้เป็นแหล่งของมลพิษทางอากาศ แต่เรายังไม่สามารถระบุสัดส่วนว่ามีปริมาณมากน้อยเท่าไหร่ แต่เรารู้ว่ามาจาก 3 แหล่งนี้

เราทำการเก็บตัวอย่างโดยใช้สารเคมีในการตรวจวัดอย่างเช่น

  • อากาศเราวัดฝุ่น PM 2.5 ในลักษณะเรียลไทม์โดยเราใช้โลว์คอสเซ็นเซอร์ติดตั้งในหมู่บ้านต่าง ๆ ติดตามตรวจสอบ 9 พื้นที่ เก็บตัวอย่างของ PM 2.5 แบบเรียลไทม์ และเก็บฝุ่นตัวอย่างที่เป็นฝุ่นจริง ๆ โดยใส่ตัวฟิลเตอร์แล้วนำไปวิเคราะห์ว่าในฝุ่นนั้น มีไอออนขนาดไหน มีโลหะหนักกี่ชนิด และมีปริมาณมากน้อยเท่าไร ซึ่งจะสามารบ่งบอกถึงที่มาของฝุ่นได้ว่า เพราะฝุ่นมาจากอะไร เกิดจากที่ไหนจะสามารถระบุเหมือนเป็นรอยนิ้วมือ 
  • ก๊าซ เราใช้ Test kit ที่เราออกแบบและปรับปรุงพัฒนาขึ้นมาจากอันเดิม ซึ่งเพิ่งสามารถใช้งานได้ง่ายนักเรียนและครู สามารถใช้งานได้ ตัวเทสคิดเราตรวจสอบติดตามตรวจสอบ ไนโตรเจนไดออกไซด์(NO2) ซึ่งเป็นแหล่งที่มาของการเผาไหม้ ทั้งจากการจราจรทั้งจากโรงไฟฟ้าและแหล่งอื่น ๆ ซึ่งตัวนี้ก็จะเป็นการติดตามตรวจสอบอย่างง่ายที่สามารถใช้งานได้
  • ฝน ตัวอย่างน้ำฝนเราให้เจ้าหน้าที่เก็บและโรงเรียนเป็นคนเก็บเพื่อนำมาวิเคราะห์ ไอออน ที่ละลายในน้ำตรวจสอบค่าพีเอช ค่าอีซี เพื่อดูว่าเป็นฝนกรดหรือไม่ มีมลพิษปลอมปนมาหรือเปล่า อย่างเช่นไนโตรเจนไดออกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ มีปนมาหรือไม่
  • น้ำผิวดิน เก็บตัวอย่างจากแหล่งน้ำต่าง ๆ ที่มีในหมู่บ้าน เก็บแหล่งน้ำที่มันที่ชาวบ้านใช้งานในชีวิตประจำวันนำไปตรวจสอบค่าอีซี ค่าพีเอช โลหะหนัก เพื่อนำมาวิเคราะห์
  • ส่วนชีวภาพนั้นเราทำการตรวจสอบไรเคน ตัวไรเคนจะมีหลายชนิดมาก ทั้งทนต่อมลพิษทางอากาศและไม่ทนต่อมลพิษทางอากาศซึ่งจะเป็นตัวบ่งชี้ถึงคุณภาพอากาศ และเก็บตัวอย่างอื่น ๆ เช่นเก็บเปลือกไม้ มาตรวจดูว่ามีการสะสมของโลหะหนักหรือไม่ อันนี้ก็เป็นกระบวนการทางเคมีที่ตรวจสอบมลพิษที่อยู่ในอากาศ และเคมีที่ตรวจสอบทางชีวภาพ

ระยะที่ 2 อันเดิมเราก็ยังทำอยู่เพื่อเป็นข้อมูล Baseline อีกรอบหนึ่ง เพราะว่าเราจะเก็บให้มันสมบูรณ์มากขึ้น แต่ว่าอันที่เราเก็บเพิ่มขึ้นในระยะที่ 2 คือ 1.เราจะเก็บตัวอย่างเพื่อนำไปวิเคราะห์สารอีกกลุ่มหนึ่ง ก็คือสารก่อมะเร็ง สารก่อมะเร็งชนิดนี้จะอยู่ในฝุ่น 2. เราจะเก็บตัวอย่างจากมนุษย์ คือเก็บตัวอย่างจากปัสสวะ ว่ามีการตกค้างในมนุษย์หรือไม่ โดยสารกลุ่มที่จะบ่งบอกว่ามีการสะสมของสารก่อมะเร็งเกิดขึ้น มาจากการรับสัมผัสฝุ่นละออง pm2.5 หรือไม่ จะเป้นส่วนที่ทำเพิ่มขึ้น

อีกอย่างคือ ตัวติดตามตรวจสอบ pm 2.5 หรือว่าเครื่องโลว์คอสเซ็นเซอร์ เราจะมีการบูรณาการเพิ่มจำนวนมากขึ้นและจะนำไปติดตั้งในประเทศเพื่อนบ้าน ก็คือประเทศลาว และเราจะมีการทำงานร่วมกับสำนักงานควบคุมโรคและกรมอนามัย ที่มาร่วมทำในของเรื่องสุขภาพ หาแนวทางและการป้องกันในการระวังเฝ้าระวัง สภาวะสุขภาพ และหน่วยงานภาครัฐอย่างสาธารณสุขมาช่วยเพื่อขยายองค์ความรู้แล้วก็ขยายการเฝ้าระวังให้มากขึ้นเพื่อให้ชุมชนได้ตื่นตัวมากขึ้น

โดยเวทีในครั้งนี้มีคุณศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกับชาวบ้านถึงผลกระทบของมลพิษจากโรงไฟฟ้าถ่านหินหงสา และผลกระทบต่อพืชผลการเกษตรของชาวบ้าน เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่อไป  

ศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

จากผลวิจัยทำให้ได้รับรู้ว่ามันมีผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสิ่งมีชีวิตแล้วก็ต่อสุขภาพ ทั้งในเรื่องปลาที่อยู่ในต้นน้ำของบ้านน้ำรีที่มีค่าปรอทสูง ส่งผลกระทบต่อพืชและต่อสุขภาพของคนในพื้นที่ ที่มีโอกาสที่จะเป็นโรคทางเดินหายใจ โรคภูมิแพ้ หรือเป็นมะเร็ง แม้ยังไม่พบผู้ป่วยสูงมากก็ตาม จากข้อมูลของนักวิจัยที่มีการติดตั้งเซ็นเซอร์ตรวจวัดและมีทิศทางลมพัดที่มาจากตัวโรงไฟฟ้าเข้ามาที่บ้านน้ำรีและบ้านน้ำช้าง ในอำเภอเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งมันก็มีความเป็นไปได้ว่าในช่วงของเดือนปลายเดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับผลกระทบจากฝุ่นละอองและสารปรอท ซึ่งอันนี้เป็นภาพรวมของผลกระทบที่มีการตั้งโรงไฟฟ้า และเมื่อได้ฟังจากคนในพื้นที่คิดว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้น 

“เขาไม่ได้รับและไม่ได้ใช้ไฟ ตามที่โรงไฟฟ้าเคยบอกเขาไว้ ทำให้ชาวบ้านก็ไม่ได้ประโยชน์จากการมีโรงไฟฟ้าเลย เพราะว่าโรงไฟฟ้าเป็นการขายไฟให้แก่ประเทศไทย ซึ่งต้องเข้าสู่ระบบกริดในสายส่งที่จะส่งไปให้กับคนไทยทั้งประเทศได้ใช้”

นอกจากนี้ก็จะมีผู้ที่จะมาร้องเรียนกสม.เข้าตรวจสอบโครงการโรงไฟฟ้าในหงสา กสม.ก็จะทำหน้าที่ตรวจสอบตามอำนาจหน้าที่ของกสม. ซึ่งกระบวนการของกสม.ในการตรวจสอบ คือ เข้ารับฟังข้อมูลจากผู้ร้องและฟังข้อมูลจากตัวของบริษัทบริษัทหงสาด้วย ซึ่งหุ้นใหญ่ก็เป็นหุ้นที่มาจากบ้านปูนและลาดบุรีของกฟผ.เอง ซึ่งกสม.เราก็จะตรวจสอบซึ่งหุ้นใหญ่ซึ่งเป็นคนไทยเราสามารถตรวจสอบ 

การตรวจสอบผู้ประกอบการภาคเอกชนกสม.จะมีหลักในการตรวจสอบคือหลักของสหประชาชาติเกี่ยวกับการปฏิบัติตามธุรเกี่ยวกิจกับสิทธิมนุษยชน เราจะใช้หลักการนี้ตรวจสอบ นอกเหนือจากการตรวจสอบด้านสิทธิเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรม ตัวสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ การมีโครงการพัฒนาและส่งผลกระทบต่าง ๆ ต้องมีมาตรฐานการดำรงชีวิตที่ดีแล้วก็ได้รับการเยียวยาหากได้รับผลกระทบจากตัวโครงการ

ซึ่งเราจะต้องตรวจสอบไปถึงขั้นที่เรียกว่าเขามีการลงทุน สร้างโรงไฟฟ้าอย่างไรการประกอบกิจการเขาเป็นอย่างไร และผลกระทบที่มาจากการประกอบกิจการนั้นมีผลกระทบต่อสุขภาพ ต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง และชาวบ้านในพื้นที่มีข้อเสนออย่างไร ที่จะให้กสม.ช่วยคุ้มครองสิทธิหรือเยียวยาสิทธิผลกระทบจากนั้นเกิดขึ้น ซึ่งเราจะใช้กระบวนการหารือจากทุกฝ่าย ทั้งนักวิชาการที่มีข้อมูลงานวิจัยที่มารองรับ เราต้องหาทางออกร่วมกันเพราะว่ากรณีการตรวจสอบของกสม.ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิชุมชนกับโครงการพัฒนา การแก้ปัญหามันมีความจำเป็นที่ผู้ประกอบการต้องรับผิดชอบต่อความผลกระทบและความเสียหายที่เกิดขึ้น

โดยระบบเทคโนโลยีและงานวิชาการพัฒนาไปมากนั้น จึงสนับสนุนนักวิจัย สวรส. เสนอให้ประชาชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการเฝ้าระวัง ซึ่ง กสม.จะใช้หลักนี้ในการตรวจสอบกิจการโครงการว่าประชาชนต้องมีส่วนร่วมเป็นหลักในการตรวจสอบและเฝ้าระวัง ซึ่งจะยั่งยืนเมื่อเทียบกับให้ภาครัฐเป้นผู้ตรวจสอบมลพิษเพียงอย่างเดียว แล้วรู้ข้อมูลกันภายในระหว่างผู้ประกอบการกับภาครัฐนั้นไม่เพียงพอ จำเป็นต้องให้คนในพื้นที่ร่วมรับรู้ข้อมูลด้วย

โรงไฟฟ้าหงสา ตั้งอยู่ที่เมืองหงสา แขวงไชยบุรี ประเทศลาว เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2553 ก่อนจะเปิดดำเนินการ ในเดือนพฤศจิกายน 2558 ระยะเวลาสัมปทาน 25 ปี มีพื้นที่รวม 76.4 ตารางกิโลเมตร โดยแหล่งเชื้อเพลิงมาจากถ่านหินลิกไนต์ที่ผลิตจากเหมืองแร่ในพื้นที่โครงการ ปริมาณสำรองลิกไนต์อยู่ที่ 577.4 ล้านตัน โรงไฟฟ้าต้องการปีละ 14.3 ล้านตัน รวมอายุสัมปทานทั้งหมด 370.8 ล้านตัน ว่ากันว่าศักยภาพของโรงไฟฟ้าแห่งนี้จะสามารถขยายกำลังการผลิตเพิ่ม 900 เมกะวัตต์ โดยเป็นการแบ่งขายให้ไทย 1,473 เมกะวัตต์ และขายให้ลาว 100 เมกะวัตต์ ภายใต้รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (จากโรงไฟฟ้าถึงหลวงพระบาง)

ที่มา: thecitizen.plus

รายการ “เท่าทันภัยพิบัติ” ทาง ททบ.5 ช่วงข่าวเด่นทันสถานการณ์

รายการ “เท่าทันภัยพิบัติ” ทาง ททบ.5 ช่วงข่าวเด่นทันสถานการณ์ วันที่ 12 มิถุนายน2566

ประเด็น/หัวข้อ : เครื่องมือติดตามจุดความร้อนและความเข้มฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ด้วยเทคโนโลยีอวกาศ เพื่อลดปัญหามลพิษอากาศในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน

โดย ดร.พลปรีชา ชิดบุรี รักษาการฯ ผู้อำนวยการการสถานภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศภูมิสารสนเทศ ภาคเหนือตอนล่าง มหาวิทยาลัยนเรศวร

ที่มา: งานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ให้ความรู้ ภาวะโลกร้อนและปรากฏการณ์เอลนีโญ

รายการ : สาธารณสุข สร้างสุข เรื่อง : ภาวะโลกร้อนและปรากฏการณ์เอลนีโญ

ผู้ดำเนินรายการ : ผศ.ดร. พันธ์ทิพย์ หินหุ้มเพ็ชร รองคณบดีฝ่ายประกันคุณภาพการศึกษา และอาจารย์ประจำสาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

วันเวลาออกอากาศ : ทุกวันพฤหัสบดี เวลา 18.30 – 19.00 น. ผ่านคลื่น : F.M.107.25 MHz สถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยนเรศวร ผ่านเว็บไซต์ : https://nuradio.nu.ac.th/?p=5327 ผ่าน Youtube : https://youtu.be/L9RN6bI3vQU

ที่มา: สถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยนเรศวร NUradio Naresuan

ม.นเรศวร ลงนามสัญญาโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตราฐานของประเทศไทย (TVER)

พิธีลงนามสัญญาโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตราฐานของประเทศไทย (TVER) ระหว่างบริษัทอินเตอร์ ฟาร์อีสท์ วินด์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ลงนามโดย ดร.สุเมธ สุทธภักติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และวิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี ลงนามโดย รองศาสตราจารย์ ดร.วัฒนพงศ์ รักษ์วิเชียร ผู้อำนวยการวิทยาลัยฯ

ที่มา: วิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนเรศวร

บพข. กองทุน ววน. หนุนต่อเนื่อง “ท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิ ต้องเป็นศูนย์”

เมื่อวันที่ 7-8 กุมภาพันธ์ 2566, แผนงานกลุ่มท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) โดยกองทุนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ร่วมมือ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) จัดงานนิทรรศการและการประชุมเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Carbon Neutral Tourism) “พัฒนาพื้นที่ภาคเหนืออย่างยั่งยืน บนฐานคิดการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์” ณ จ.พิษณุโลก ภายใต้รูปแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความเข้าใจและทักษะของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการขับเคลื่อนแผนการท่องเที่ยว คาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศ และพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยในทุกมิติ หลังจากได้มีการดำเนินการในพื้นที่ภาคใต้ จ.สงขลา ไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

นายพชรเสฏฐ์ ศิริสาริศา รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยจำเป็นต้องเป็นการพัฒนาไปในทิศทางเดียวกับการพัฒนาในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโลกที่เน้นการพัฒนาที่ยั่งยืน ลดผลกระทบที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากกิจกรรมต่าง ๆ ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ด้วยการหาแนวทางขับเคลื่อนการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้น้อยที่สุดจนถึงการผลักดันให้เกิดการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ซึ่งงานการแสดงนิทรรศการและการประชุมเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้ จะได้สร้างความเข้าใจและทักษะของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนแผนการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศไทย และยังเป็นการจัดนิทรรศการเผยแพร่องค์ความรู้อย่างบูรณาการเพื่อการท่องเที่ยวไทยไร้คาร์บอน ในปี 2564 และ ปี 2565 ร่วมกัน และยังเป็นแนวทางในการพัฒนางานและความคิดเกี่ยวกับการท่องเที่ยว รวมถึงสถานประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว แหล่งท่องเที่ยว ชุมชนท่องเที่ยว และประชาชนทั่วไปที่มีความสนใจต่อการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในอนาคต

ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาวอาวุโส สกสว. และประธานคณะอนุกรรมการแผนงานกลุ่มท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (บพข.) กล่าวว่า สกสว. และกองทุน ววน. เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) รวมทั้งเสนอของบประมาณจากรัฐบาลเพื่อนำมาจัดสรรให้กับหน่วยงานในระบบ ววน.ราว 190 แห่ง ประกอบด้วย หน่วยบริหารและจัดการทุน 9 แห่ง มหาวิทยาลัยและหน่วยงานต่าง ๆ โดยมีระบบ การติดตามประเมินผลและการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์อย่างครบวงจร

แผนด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ได้รับสนับสนุนงบประมาณการวิจัยประมาณ 200 ล้านบาทต่อปี โดยออกแบบแผนงานวิจัยเพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจการท่องเที่ยว 2 กลุ่ม กลุ่มแรก “แผนการท่องเที่ยวมูลค่าสูง” เน้นการทำงานร่วมกับภาคเอกชน เพื่อสร้างรายได้และคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนและคนในภาคการท่องเที่ยว คือ 1)การท่องเที่ยวบนฐานมรดกชาติการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ 2)การยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ 3)การยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง และกลุ่มที่ 2 “แผนงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์” มุ่งเน้นการยกระดับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เพื่อเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์

กลุ่มการท่องเที่ยวบนฐานมรดกธรรมชาติ การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ เป็นกลุ่มที่มีความเข้มแข็ง มีภาคีเครือข่ายในการทำงานตามกรอบความร่วมมือ (MOU) 8 องค์กรพันธมิตรจาก 3 กระทรวง บูรณาการ/ขับเคลื่อนการส่งเสริมและสนับสนุนการท่องเที่ยวที่มีการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ช่วยลดโลกร้อน ระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการอุดมศึกษาฯ พร้อมด้วย 8 ภาคีเครือข่ายที่ร่วมมือกัน ประกอบด้วย สกสว. บพข. องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) (สสปน.) หอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) (อพท.) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (สทอ.) ที่มีกลไกการทำงานร่วมกัน โดย อบก. สนับสนุนให้เกิดการคํานวณการปล่อยคาร์บอนของบริการการท่องเที่ยว (Product Category Rules : PCR) ทั้งในการเดินทาง ที่พัก อาหาร การจัดการของเสีย ซึ่งในปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ จะมีการเพิ่มเติม PCR ของกิจกรรม การท่องเที่ยวเชิงกีฬา การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ สปา เป็นต้น โดยเน้นการทำงานวิจัยร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชน และผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว

“จังหวัดพิษณุโลก จัดเป็น MICE City จังหวัดที่ 9 มีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์บนฐานมรดกทางวัฒนธรรมประวัติศาสตร์อันงดงาม การท่องเที่ยวเชิงกีฬา การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ บพข. ได้สนับสนุนงานวิจัยให้ภาคเหนือตอนล่าง เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวคุณภาพ เช่น กลุ่มที่ต้องการพักผ่อน ดูแลรักษาสุขภาพ กลุ่ม MICE นักเดินทางเพื่อเป็นรางวัล กลุ่มเป้าหมาย กลุ่ม Tourism for all กลุ่มท่องเที่ยวที่รักษ์ธรรมชาติเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติ การท่องเที่ยวในสวนผลไม้ ที่มีการคิด การลด การชดเชยการปล่อยคาร์บอนและขยายผลบอกต่อให้นักท่องเที่ยวและชุมชนที่รองรับนักท่องเที่ยวได้เข้าใจกระบวนการ ที่มุ่งสู่การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์” ผศ.สุภาวดี กล่าวเสริม

ทั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ ในการออกบูธแสดงผลงานจากวิจัยจาก 4 หน่วยงานหลัก คือ มหาวิทยาลัยรามคำแหง สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (สทอ.) มหาวิทยาลัยนเรศวร และมหาวิทยาลัยพะเยา และบูธจากวิสาหกิจชุมชน ของดีในชุมชนภาคเหนือ จำนวน 13 บูธ คือ ชุมชนท่องเที่ยวบ้านวังส้มซ่า สมาคมการท่องเที่ยวโดยชุมชนจังหวัดลำปาง หรือ จำปุยโฮมสเตย์ วิสาหกิจชุมชนการท่องเที่ยวโดยชุมชนไตลื้อเมืองลวงเหนือ วิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์บัวกว๊านพะเยา กลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชนชมภู วิสาหกิจชุมชนบ้านเนินกระบาก วิสาหกิจชุมชน คนเอาถ่านบ้านเขาปรัง วิสาหกิจชุมชนเมืองหมักพิศโลก วิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกรบ้านบึงเวียน กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านหนองกุลา ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมไทยลื้อเชียงคำ จ.พะเยาโฮมสเตย์บ้านท่าขันทอง และชมรมส่งเสริมท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านไร่กองขิง ซึ่งได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี

ที่มา: mgronline

4 ฉากทัศน์ แก้ปัญหาฝุ่น ‘PM2.5’ อย่างยั่งยืนใน 15 ปี

ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาค่าความเข้มข้นของ ‘PM2.5’ ในบรรยากาศเกินค่ามาตรฐานความปลอดภัยต่อสุขภาพประชาชน ทั้งในกรุงเทพมหานครและหลายจังหวัดในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา และเป็นปัญหาที่จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต

ในปี 2565 จากการรวบรวมข้อมูล DustBoy พบว่า จำนวนวันที่ PM2.5 เกินมาตรฐาน WHO ในหลายเขตของ กทม. สูงกว่า 40 – 70 วัน โดยเขตที่เกินมาตรฐานที่สุด คือ เขตดินแดง เกินค่ามาตรฐานถึง 249 วัน PM2.5 ส่งผลให้คนเสียชีวิตก่อนวัยอันควรกว่า 4,486 คนต่อปีในกทม. ความเสียหายต่อเศรษฐกิจในกทม. คิดเป็น 4.51 แสนล้านบาทต่อปีในปี 2562

อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาฝุ่นต้องอาศัยระยะเวลา แม้แต่ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นต้นแบบของการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศและการแก้ปัญหาฝุ่น มีกฎหมาย Clean Air Act ซึ่งเป็นต้นแบบในหลายๆ ประเทศ ก็ยังต้องใช้เวลากว่า 10-15 ปีในการแก้ไขปัญหา

เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 “รศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์” ผู้เชี่ยวชาญระดับสูง สกสว. กล่าวในงานแถลงข่าว ‘ววน.รวมพลังฝ่าวิกฤต PM2.5’ ณ ห้องประชุม อาคารพระจอมเกล้า ถนนโยธี โดยทำการวิเคราะห์ 4 ฉากทัศน์ของการจัดการฝุ่นและมลพิษทางอากาศ โดยการใช้ AI ประมวลผลจับคู่งานวิจัยในฐานข้อมูลของแผนปฏิบัติการด้านวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ที่ได้ให้ทุนไปในช่วง ปี 2563 – 2565 จำนวนกว่า 18,227 ชิ้น ออกมาเป็น 4 มาตรการ แก้ปัญหาฝุ่นยั่งยืนใน 15 ปีหากมีการนำเอางานวิจัยมาใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ดังนี้

มาตรการที่ 1 คือ มาตรการเร่งด่วน ปกป้องตนเอง : การแก้ไขปัญหาฝุ่นต้องใช้เวลา 10-15 ปี ถึงจะสามารถแก้ไขอย่างเป็นระบบ ดังนั้น ในช่วงนี้ ประชาชนต้องลดการสัมผัส PM2.5 ในบรรยากาศ ป้องตนเองโดยการเช็กค่าฝุ่นละอองในขณะนั้นว่า อยู่ในระดับที่ส่งผลต่อสุขภาพหรือไม่ โดย กระทรวง อว. มีเครือข่ายเซ็นเซอร์กระจายอยู่ทั่วประเทศ มากกว่า 1,300 จุด สามารถเข้าไปดูในเว็บไซต์ คลิก

เซ็นเซอร์ที่มีการใช้งานแพร่หลายคือ DustBoy โดยในปัจจุบัน เขตกทม. มีผู้ใช้งาน 1.5 แสนคนต่อปี เพื่อปกป้องตนเอง ในช่วงค่าฝุ่นสูง ก็จะสามารถลดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรไปได้ 86 คนต่อปี ต้องมีการกระตุ้นเชิงพฤติกรรมให้คนหันมาใช้ข้อมูลจากเซ็นเซอร์เพื่อลดการสัมผัสฝุ่น PM2.5 อีกทั้งในปัจจุบันมีการใช้ไลน์ในการแจ้งเตือนแต่ละจุดที่อยู่ ว่ามีฝุ่นเข้มข้นมากน้อยแค่ไหน อันตรายหรือไม่ รวมถึงจะมีแอปฯ ของกระทรวง อว. ออกมาในช่วงเดือน ก.พ. – มี.ค. นี้เพื่อเตือนภัยฝุ่น

มาตรการที่ 2 เมืองแห่งรถไฟฟ้า : การเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้รถยนต์ EV เพื่อลดการปลดปล่อยฝุ่นจากการจราจร โดย 59% ของฝุ่น PM2.5 ใน กทม. มาจากการขนส่งและการจราจร ตามแผนคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ หรือ บอร์ด EV จะเปลี่ยนไปใช้รถ EV 37 % ของรถทั้งหมดในปัจจุบัน ภายใน 14 ปีข้างหน้า หรือ ปี 2578 จะลดการปลดปล่อยฝุ่น ใน กทม. ได้ 22%

ซึ่งจากแบบจำลองจะลดวันที่ฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐานลงได้ 52.38% รวมจำนวนวันที่ฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน WHO ในทุกเขตประมาณ 538 วัน ลดโอกาสเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้ 2,350 คนต่อปีในกทม. ลดความเสียหายต่อเศรษฐกิจ กทม. ได้ 2.36 แสนล้านบาท ต่อปี เทียบกับข้อมูลปี 62 ซึ่งงานวิจัย ววน. มีความพร้อมในระดับต้นแบบอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะรถไฟฟ้ารางเบา รถไฟฟ้าระหว่างเมือง รถบรรทุกไฟฟ้า รถจักรยานไฟฟ้า

มาตรการที่ 3 อุตสาหกรรมสะอาดขึ้น : 20% ของฝุ่น PM2.5 ใน กทม. มาจากโรงงานอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้า ซึ่งจริงๆ แล้วการปลดปล่อยปลายปล่องนั้นมีเทคโนโลยีลดปล่อยได้กว่า 90% ของเทคโนโลยีที่ไทยใช้อยู่ในปัจจุบัน ในสหรัฐอเมริกา พื้นที่ที่มีค่าคุณภาพอากาศไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน จะมีติดตั้งระบบบำบัดมลพิษปลายปล่องที่เข้มงวดเป็นพิเศษ

  • “หากไทยนำแนวคิดนี้มาใช้จะสามารถปรับระบบบำบัดมลพิษอากาศจากโรงงานและโรงไฟฟ้าให้ลดการปลดปล่อยลงได้ 75% ลดการปลดปล่อยฝุ่นพิษได้อีก 15% ของทั้งหมดที่ปล่อยในกทม. รวมถึง ลดวันที่ฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน WHO ในกทม. ลงได้ 16.53% รวมจำนวนวันที่ฝุ่นเกินค่ามาตรฐาน WHO ในทุกเขตประมาณ 944 วัน ลดโอกาสเสียชีวิตก่อนวันอันควร ได้ 733 คนต่อปีในกทม. ลดความเสียหายต่อเศรษฐกิจในกรุงเทพฯ ได้ 0.74 แสนล้านบาท ต่อปี เป็นเทคโนโลยีที่มีความพร้อมใช้ในต่างประเทศ แค่ต้องนำมาใช้จริงและงานวิจัยในระบบ ววน. ต้องพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้ขึ้นมาเอง”

สำหรับอุตสาหกรรมสะอาดต้องมองให้ครบทั้งห่วงโซ่อุปทานการผลิต วัตถุดิบที่ได้มาในการผลิตปลดปล่อยฝุ่นมากน้อยแค่ไหน เช่น อุตสาหกรรมการเกษตร มีหลากหลายเทคนิคและกระบวนการผลิตเพื่อลดการปลดปล่อยฝุ่น ซึ่งมีหลายงานวิจัยและนวัตกรรมของภาคเอกชน เช่น เครื่องจักรขนาดเล็กช่วยตัดใบอ้อยเพื่อลดการเผาที่ใช้ในพื้นที่นำร่อง จ.สิงห์บุรี นวัตกรรมการจัดการเผาเศษวัสดุจากการเกษตรกรรมหรือ แอป FireD (ไฟดี) แอปพลิเคชั่นการจองเผา ในวันที่สภาพอากาศเหมาะสม และไม่ส่งผลให้ค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน

มาตรการที่ 4 กลไกตลาดเสริมอำนาจผู้บริโภค : ซึ่งเป็นมาตรการที่สำคัญมาก เพราะ 20% ของ PM2.5 ในกทม. มาจากการเผาชีวมวล เศษวัสดุทางการเกษตร ขณะที่การผลิตในปัจจุบัน มีหลากหลายกระบวนการผลิตที่สะอาดเพื่อลด PM2.5 กว่า 80% สามารถลดวันที่ฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐานในกทม. ได้ 16.62% ขณะเดียวกัน การใช้ฉาก PM2.5 และมลพิษอากาศกับผลิตภัณฑ์จะทำให้ผู้บริโภคทราบข้อมูล ส่งผลต่อกลไกตลาด ส่งผลต่อการผลิตสะอาดมากขึ้น ลดโอกาสเสียชีวิตก่อนวัยอันควรราว 746 คนต่อปีในกทม.  ลดความเสียหายต่อเศรษฐกิจในกทม. ราว 0.75 แสนล้านบาทต่อปี เทียบกับปี 2562

ปัจจุบัน มีเทคโนโลยีทางเลือกอยู่แล้วโดยในไทยมีนักวิจัยที่สามารถประเมินการปล่อย PM2.5 ได้ งานนำร่องที่ดีเป็นวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ประเมินการปลดปล่อย ฝุ่นละออง PM2.5 จากการจราจรประเภทต่างๆ เทคนิคนี้สามารถนำไปใช้กับผลิตภัณฑ์ได้ เพื่อให้ผู้บริโภคเลือกสินค้าสะอาด

  • “การเตรียมการเพื่ออนาคตหมดปัญหา PM2.5 ทั้ง 4 มาตรการนั้น ‘มาตรการปกป้องตนเอง’ ววน. ไทย มีความพร้อมของเทคโนโลยี นวัตกรรม นำเข้ามาใช้ได้ แต่ต้องพัฒนาเพิ่มเติมในระยะกลาง ระยะยาว ‘มาตรการเมืองแห่งรถไฟฟ้า’ ต้องมีการลงทุนเพิ่มมากโดยประชาชน ประชาชนปรับตัวแล้ว และ นโยบายภาครัฐสนับสนุนรถ EV สร้างความเชื่อมั่นในการใช้รถไฟฟ้า”

“ส่วน ‘อุตสาหกรรมสะอาดขึ้น‘ มีหลากหลายเทคนิคการลดการปล่อยมลพิษ แต่ต้องการกฎหมาย รวมถึงภาครัฐ เอกชน ลงทุนเพิ่มมากในการปรับระบบการผลิต อุตสาหกรรมปรับตัว ราชการปรับตัว ด้าน ‘การใช้กลไกตลาดเสริมอำนาจผู้บริโภค’ ต้องลงทุนเพิ่มมากเพื่อการผลิตที่สะอาดขึ้น รวมถึงฉลากสิ่งแวดล้อม ประชาชนปรับตัว อุตสาหกรรมปรับตัว” รศ.ดร.ธนพล กล่าว 

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ

นักวิจัย ม.นเรศวร เผย 4 ฉากทัศน์สำคัญลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่ผ่านการปฏิบัติจริงนำมาปรับใช้ใน กทม.

ข่าว 3 มิติ ยังติดตามปัญหาค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM2.5 เกินค่ามาตรฐานอย่างต่อเนื่อง โดยวันนี้ (7 กุมภาพันธ์ 2566) ค่าฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ส่วนใหญ่ของกรุงเทพมหานครลดลงมาอยู่ในเกณฑ์เกือบปกติเเล้ว ด้านนักวิชาการจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้นำเสนอ 4 ฉากทัศน์สำคัญที่จะทำให้ปัญหาฝุ่นลดลงได้ นำเสนอผ่านพื้นที่จริงที่ประสบความสำเร็จแล้ว สู่การปรับใช้ในกรุงเทพมหานคร

ที่มา: ข่าว3มิติ

ม.นเรศวร ร่วมลงนามเพื่อพัฒนาแผนงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับจังหวัดตาก

วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566 รองศาสตราจารย์ ดร.สัมฤทธิ์ โม้พวง คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และนายสาธิต มณฑาทิพย์ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดตาก ร่วมกันลงนามสัญญาในการดำเนินงาน “โครงการการพัฒนาศักยภาพสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด เพื่อพัฒนาแผนงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับจังหวัดตาก” เพื่อจัดทำรายงานข้อมูลก๊าซเรือนกระจก และแผนการลดก๊าซเรือนกระจกระดับจังหวัด พร้อมทั้งจัดทำรายงานสภาพการณ์ความเสี่ยง (Risk Profile) จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของจังหวัด ตามแนวทางของแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ และจัดทำแผนปฏิบัติการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับพื้นที่

ที่มา: คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

NU Transit : ตัวช่วยในการวางแผนการเดินทาง ที่จะทำให้คุณถึงจุดหมายได้ทันเวลา

มหาวิทยาลัยนเรศวร พัฒนา Web Application แสดงการเดินรถไฟฟ้าของมหาวิทยาลัยนเรศวร ถูกจัดทำขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาคมมหาวิทยาลัยนเรศวรและประชาชนที่ใช้บริการรถไฟฟ้า ให้สามารถตรวจสอบการเดินรถไฟฟ้าในขณะที่ต้องการใช้งานว่าอยู่จุดไหน ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้งานสามารถวางแผนการเดินทางได้อย่างแม่นยำ เป็นการอำนวยความสะดวกและส่งเสริงการใช้รถไฟฟ้า และลดการใช้รถยนต์และจักรยานยนต์ส่วนบุคคลส่วนบุคคลลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์

ด้วยการแสดงข้อมูลการเดินรถไฟฟ้าแบบ Real Time โดยผู้ใช้งานสามารถเข้าใช้งานได้ที่ https://transit.nu.ac.th/ และยังสามารถตรวจสอบเส้นทางการเดินรถไฟฟ้า ทั้งสายสีเหลือง และสายสีแดง ที่ทางมหาวิทยาลัยมีให้บริการได้อีกด้วย

สามารถใช้งานร่วมกับ NU Map เพื่อทราบตำแหน่งสถานที่ต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัย ได้ที่ https://numap.nu.ac.th
ที่มา: กองบริการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

วิกฤตฝุ่นตอนนี้เป็นอย่างไร? และ ความเป็นไปได้ในการจัดการฝุ่นและมลพิษทางอากาศ 

ผศ. ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.นเรศวร กล่าวว่า ในฐานะนักวิจัยที่ทำงานด้านวิศวะกรรมสิ่งแวดล้อม และในฐานะที่อยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เรามีโครงการที่ทำด้านฝุ่นเยอะ ผมก็เลยอยากจะเล่าให้ฟังถึงทิศทางที่จะเป็นไปได้ 4 ฉากทัศน์ของการจัดการฝุ่นและมลพิษทางอากาศ 

เอาที่สถานการณ์ปัจจุบันก่อน ข้อมูลที่เรานำมาจากการตรวจวัดคุณภาพอากาศของ เครื่อง Low Cost Sensor ของดัสท์บอยซึ่งกระจายอยู่ทั่วกรุงเทพมหานครเช่นเดียวกัน 

ซึ่งจากการเก็บข้อมูลเราพบว่า ปี 2022 มีวันที่ฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานที่ WHO แนะนำ ประมาณ 249 วัน ถือว่าเป็นวันที่มีความเสี่ยงที่จะรับสารก่อมะเร็งและโรคหัวใจเกินค่าที่จะยอมรับได้ ถ้ารวมทุกเขตของ กทม. จะพบว่า มีจำนวนวันที่ PM 2.5 เกินมาตรฐานของ WHO อยู่ 1,131 วัน 

ข้อมูลจาก World Bank บอกไว้ว่า PM 2.5 ทำให้คนเสียชีวิตก่อนวัยอันควรประมาณ 4,486 คน ต่อปี เฉพาะแค่ใน กทม. และนับเป็นความเสียหายทางเศรษฐกิจของ กทม. อยู่ที่ประมาณ 4.51 แสนล้านบาทต่อปี

งานวิจัยของเราในระบบ ววน. มีงานวิจัยอยู่ประมาณ 200 กว่าโครงการที่ทำเรื่องฝุ่น ใช้งบประมาณไปเกือบ 600 ล้านบาท เรามีหลายนวัตกรรมที่จำแนกและติดตามฝุ่น ไม่ว่าจะเป็น Sensor ดาวเทียม และการเก็บตัวอย่าง เครื่องกรองฝุ่น หน้ากาก แผ่นกรอง แอปพลิเคชัน การลดการเผา

ทาง สกสว. ใช้ Ai แมทช์ฉากทัศน์ 4 ฉากทัศน์กับงานวิจัยเกือบ 20,000 เรื่อง ด้วยกัน โดยมีรายละเอียดดังนี้

ฉากทัศน์ที่ 1 อัตตาหิอัตโนนาโถ 

ตนเป็นที่พึ่งของตน แต่จริง ๆ แล้ว กทม. มีความพร้อมทางโครงสร้างในการทำให้เราช่วยตัวเองได้อยู่ เพราะถ้าเราไม่มีโครงสร้างอย่างตัว 70 สถานี ที่ช่วยให้ประชาชนปกป้องตัวเองได้ ยกตัวอย่างเครื่อง Low Cost Sensor ของดัสท์บอย ที่จะมีการแจ้งฐานเข้าข้อมูลของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. คล้ายกับแอปพลิเคชัน AirBKK ที่ดูว่าค่าฝุ่นเป็นอย่างไรบ้างในแต่ละช่วงเวลา แปลว่า ถ้าเราจะอัตตาหิอัตโนนาโถ ก่อนที่เราจะออกไปไหน เราต้องดูค่าฝุ่นก่อนว่าอยู่ระดับไหน ถ้าขึ้นสีเขียว สีฟ้า เราก็อาจจะไม่ต้องทำอะไรมาก มีความปลอดภัยอยู่ในระดับที่ปลอดภัย  แต่ถ้าเริ่มเป็นสีส้ม สีแดง แปลว่าเราต้องทำมาตรการบางอย่าง ต้องใส่หน้ากาก เปลี่ยนกำหนดการ หรือยังไม่ออกจากบ้าน มีหลากหลายมาตรการในการอัตตาหิอัตโนนาโถ  

ซึ่งจากข้อมูลของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. ที่เก็บข้อมูลมา เราพบว่า คนกรุงเทพฯ เข้าถึงข้อมูลและใช้ประโยชน์จากเครื่องของดัสท์บอย 150,000 คนต่อปี จำนวนนี้ถือว่าน้อยมาก โดยในจำนวนนี้ สามารถลดโอกาสเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้ 86 คนต่อปี ดังนั้นจากงานวิจัยทำให้เห็นว่า เราขาดระบบการกระตุ้นให้คน กทม. เข้าถึงการใช้ข้อมูล ทั้งจาก Sensor และ สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของ กทม. ในการปกป้องตัวเอง 

อย่างไรก็ดี การปกป้องตัวเองก็มีค่าใช้จ่าย เช่น ค่าใช้จ่ายของการใช้หน้ากาก ค่าใช้จ่ายในการจัดแจงเปลี่ยนตารางต่าง ๆ ซึ่ง ผศ. ดร.วิษณุ อรรถวานิช จากมหาวิทยาลัยเกษตรศษสตร์ ทำข้อมูลมาว่า ค่าใช้จ่ายต่อครัวเรือนประมาณ 6,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ที่เราอาจจะแบกไว้โดนไม่รู้ตัว 

ฉากทัศน์นี้ จริง ๆ ค่อนข้างดี เพราะเรามีโครงสร้างพื้นฐานค่อนข้างพร้อม เช่น สถานีวัดคุณภาพอากาศที่เรามีกว่า 70 สถานี อีกทั้งยังมีของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมอีกต่างหาก แต่ข้อเสียก็คือมันไม่ได้ลดการปลดปล่อยฝุ่นที่ต้นตอ เรายังอยู่กับฝุ่นและไม่รู้ว่าจะเพิ่มขึ้นอีกหรือเปล่าก็ไม่รู้ มันลดความเสียหายของชีวิตได้ทันทีที่เราใส่หน้ากาก พยายามหลีกเลี่ยงฝุ่น การจะทำให้เป็นระดับนั้นได้ ต้องทำให้เป็นวัฒนธรรม ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งค่อนข้างยาก จริง ๆ สหรัฐอเมริกา และยุโรปเองก็มีการใช้ฉากทัศน์นี้เหมือนกัน แต่ว่าเป็นฉากทัศน์เสริม ไม่ใช่ฉากทัศน์หลัก

ฉากทัศน์ที่ 2 เมืองแห่งรถไฟฟ้า

ฉากทัศน์นี้หลาย ๆ คนรออยู่ เพราะได้ข่าวว่า ฉากทัศน์นี้จะช่วยแก้ไขปัญหาฝุ่นให้ กทม. และประเทศไทย 

ข้อมูลจากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในปี 2019 บอกว่า มีการปลดปล่อยฝุ่น PM 2.5 จากการขนส่งหรือการจราจร 59% ซึ่งในจำนวนนี้รัฐบาลวางแผนที่จะเปลี่ยนผ่านให้เป็นรถไฟฟ้าในอีก 14 ปี โดยจะคาดว่าจะเปลี่ยนได้ 37% ของจำนวนรถทั้งหมดในปัจจุบัน และถ้าเราทำได้ตามเป้าใน 14 ปี จะสามารถลดการปลดปล่อย PM 2.5 ได้ 22% 

ถามว่า 22% พอไหม ผมเอาปี 2020 เป็นฐานในการคำนวนต่อ โดยถ้าเราลดการปลดปล่อยไปได้ 22% จากการจัดการรถให้เป็นรถไฟฟ้าตามแผน จะลดวันที่ทำให้ฝุ่นเกินค่ามาตรฐานออกไป จนแถบไม่มีเลยหรือเปล่า ซึ่งพบว่า ไม่ใช่ ดังนั้นฉากทัศน์นี้ไม่ใช่ฉากทัศน์เดียวที่จะแก้ไขปัญหาอยู่ เพราะจากการคำนวณดูแล้ว ถ้าปรับตามเป้าใน 14 ปี จะลดวันที่ฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน 25 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ลงได้ 52.38% คือลดจาก 1,131 วัน เหลือ  538 วัน และจะลดโอกาสการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของคน กทม. ได้ประมาณ 2,350 คนต่อปี ลดความเสียหายต่อเศรษฐกิจใน กทม. ได้ประมาณ 2.36 แสนล้านบาทต่อปี 

เรามีความพร้อมแค่ไหน เราสามารถซื้อรถเข้ามาได้ แต่มันไม่ยั่งยืน กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเองก็มีการทำงานวิจัยต้นแบบรถในระดับอุตสาหกรรม เช่น รถไฟฟ้ารางเบา รถโดยสารระหว่างเมือง รถจักรยานไฟฟ้า และเรือไฟฟ้า เพื่อเป็นต้นแบบในอุตสาหกรรม

แต่จะทำอย่างไรให้คนไทยเชื่อว่า รถไฟฟ้าที่เราซื้อ โดยงานวิจัยนวัตกรรมของไทยมันใช้ได้ดีจริง ๆ และจะใช้ตัวนี้เพื่อความยั่งยืนต่อไป เรายังต้องการงานวิจัยเชิงเศรษฐศาสตร์ พฤติกรรมการเปลี่ยนผ่าน เพราะภาระจะตกไปอยู่กับเจ้าของรถที่ต้องเปลี่ยน รัฐบาลต้องเตรียมโครงสร้างพื้นฐานเยอะ เอกชนก็ต้องมีการรองรับโครงสร้างพื้นฐานด้วยเช่นเดียวกัน

ฉากทัศน์นี้สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐ และเป็นฉากทัศน์ที่ดีตรงผู้ก่อให้เกิดมลพิษเป็นผู้จ่าย ซึ่งยังต้องมีการปรับและเตรียมการเยอะ

ฉากทัศน์ที่ 3 อุตสาหกรรมสะอาด (ขึ้น) 

เป็นฉากทัศน์ที่ต่างประเทศมีกฎหมายมา 40-50 ปี ใช้เป็นฉากทัศน์แรก คือการจัดการที่ปลายปล่อง หรือแหล่งกำเนิด ทำให้อุตสาหกรรมสะอาดขึ้น เหมือนที่ กทม. มีการไปสำรวจปลายปล่องที่ปลดปล่อยมลพิษด้านฝุ่น 

ฉากทัศน์นี้ทาง Clean Air Act ของสหรัฐอเมริกาใช้เป็นฉากทัศน์แรก เพราะจัดการง่ายสุด โรงงานอยู่นิ่ง ๆ ปลายปล่องตรวจวัดได้ สามารถจัดการได้ โดยข้อมูล กทม. บอกว่า 20% ของ PM 2.5 มาจากโรงงานอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้า ความจริงเทคโนโลยีของการปลดปล่อยมลพิษจากปลายปล่องของต่างประเทศดีกว่าที่เราใช้มาก ๆ ลดได้ประมาณ 90% แต่กฎหมายบ้านเรา การปลดปล่อยปลายปล่อง ปล่อยเท่า ๆ กันหมดเลย ไม่ว่าโรงงานนั้นจะอยู่ที่ไหน ขอแค่เป็นโรงงานประเภทนี้ ลักษณะแบบนี้ปลดปล่อยเท่ากัน ไม่ว่าเขตนั้นจะมีมลพิษอากาศหนักแค่ไหน

ในพื้นที่ที่มลพิษทางอากาศหนักอยู่แล้วใน กทม. หรือบางเขตมีการสร้างโรงงานใหม่ หรือโรงงานที่มีอยู่แล้ว ปลดปล่อยได้เท่ากับที่ที่มีอากาศสะอาดเลย ซึ่งมันไม่สมเหตุสมผล กฎหมายของต่างประเทศบอกว่า ที่ไหนที่มีมลพิษ มี PM 2.5 มีมลพิษอากาศอื่น ๆ เป็นค่าที่ยอมรับได้อยู่แล้ว โรงงานที่มาตั้งต้องปลดปล่อยน้อยมาก ๆ จนไม่สร้างมลพิษเพิ่ม ดังนั้นเขาต้องติดตั้งระบบบำบัดที่ดีมาก ๆ ไม่งั้นก็ไปตั้งที่อื่น หรือซื้อโควต้าการปลดปล่อยจากโรงงานอื่นที่มีอยู่ เพื่อให้มลพิษที่ปลดปล่อยไม่เกิน กฎหมายนี้บ้านเราไม่มี เราสามารถปรับโรงงานในบ้านเราให้ลดการปลดปล่อยมลพิษได้ 75% ผมว่าสบายมาก ผมเอาตัวเลขนี้มาคำนวณ

ถ้าเอาฉากทัศน์นี้มาใช้ จะลดวันที่ฝุ่นเกินค่ามาตรฐานไปได้ 16.53% หรือประมาณ 944 วัน ก็ยังไม่ใช่ฉากทัศน์เดียวที่แก้ไขปัญหาได้อยู่ดี แต่จะลดโอกาสเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้ประมาณ 733 คนต่อปี และลดความเสียหายต่อเศรษฐกิจของ กทม. ได้ประมาณ 0.74 แสนล้านบาทต่อปี แต่น่าเสียดายว่า พอเราไม่มีกฎหมายที่ทำให้การผลิตสะอาดขึ้นเรื่อย ๆ งานวิจัยเทคโนโลยีการทำให้การบำบัดปลายปล่องดีขึ้นแทบไม่มีเลย เพราะไม่มีกฎหมาย ไม่มีความต้องการ ขณะที่ต่างประเทศพัฒนาดีขึ้นกว่าปัจจุบันกว่า 90%  ซึ่งดีกว่าที่เราใช้อยู่มาก ๆ 

ดังนั้นในฉากทัศน์นี้เราต้องซื้อเทคโนโลยีเข้ามาก่อน และเราต้องพัฒนาเดินหน้าต่อ ฉากทัศน์นี้เป็นฉากทัศน์ที่จัดการได้ง่าย ตามหลักผู้ก่อให้เกิดมลพิษจะเป็นผู้จ่าย ภาคเอกชนต้องลงทุน ภาครัฐต้องกำกับอย่างเข้มงวด อย่างที่ กทม. ทำ ต้องมีการทำ PRTR  เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม เพื่อนำไปสู่การใส่ใจการผลิตที่สะอาดโดยภาคประชาชน  

ฉากทัศน์ที่ 4 ใช้กลไกตลาดเสริมอำนาจผู้บริโภค

เป็นฉากทัศน์ที่ใช้ได้กับฉากทัศน์ 2 และ 3 ด้วย แต่อันนี้เอามาจับกับเรื่องชีวมวล โดยงานวิจัยของกรุงเทพฯ พบว่า PM 2.5 ที่มาจากการเผาชีวมวลมีประมาณ 20% ซึ่งจะเห็นว่าเรามีนวัตกรรมหลายทางเลือกในการผลิตให้สะอาดขึ้นจากการเผาชีวมวล ทาง สกสว. เคยจัดงานเสวนาปีที่แล้ว และได้คุยกับโรงน้ำตาลมิตรผลใช้จริงที่ จ.สิงห์บุรี เก็บอ้อยสด และไม่มีการเผาอ้อย เอาใบอ้อยไปทำโรงไฟฟ้าชีวมวล มีการรับซื้อในอ้อย ซึ่งเป็นการผลิตแบบสะอาด ที่ลดการปลดปล่อยมลพิษ PM 2.5 ได้ ถือเป็น 1 ในทางเลือก หรือถ้าจะต้องเผาจริง ๆ ผู้เผาสามารถจองผ่านแอปพลิเคชันอย่างไฟดี (FireD) ได้ ที่เชียงใหม่ใช้แล้วลดการเกิด Hot Spot ได้ประมาณ 60% ทำให้ค่ามลพิษไม่เกินค่าที่ยอมรับได้

แต่ถึงแม้จะมีนวัตกรรมแบบนี้ แต่การใช้ก็ไม่ได้ง่าย ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งทำให้กำไรลดลง ต้นทุนการผลิตเพิ่มมากขึ้น อาจทำให้ผู้ผลิตไม่ใช้ ทั้งที่จริงแล้ว ถ้าใช้เทคโนโลยีเหล่านี้จะลดการปลดปล่อย PM 2.5 ได้ 80% ปัญหาก็กลับมาว่า ทำไมเขาถึงไม่ใช่ ก็เพราะเขาไม่มีแรงจูงใจอะไรมากระตุ้น

รู้ไหมว่า น้ำตาลที่เราซื้อ เสื้อผ้าที่เราใส่ หรือขนม 1 ถุงที่เรากินมันปลดปล่อย PM 2.5 เท่าไหร่ พอเราไม่รู้ เราก็ไม่สามารถเลือกในสิ่งที่ถูกได้ ในต่างประเทศมีการใช้ฉลากสิ่งแวดล้อม แต่พูดถึงก๊าซเลือนกระจก คาร์บอนไดออกไซด์เป็นหลัก ว่าผลิตภัณฑ์แต่ละอันที่เราซื้อ มีการปล่อยก๊าซเลือนกระจกเท่าไหร่ แนวคิดเดียวกัน ถ้าเรามาใช้กับ PM 2.5 มลพิษอากาศมันเทียบได้เลยว่าแต่ละอย่างปลดปล่อยมลพิษทางอากาศไปเท่าไหร่ ซึ่งอำนาจของเราตอนจัดการเรื่องฝุ่นอยู่ที่ตอนเราซื้อ ถ้าเรามีข้อมูลเราสามารถเลือกซื้อสิ่งที่ปลดปล่อยมลพิษทางอากาศน้อยกว่าได้ ทำให้เกิดการแข่งขันในตลาด

อย่างตอนเด็ก ๆ เวลาเราจะซื้อตู้เย็นสักตู้ จะเห็นฉลากเบอร์ 3 เบอร์ 4 และเบอร์ 5 ตอนนี้มีใครเจอเบอร์ 3 กับเบอร์ 4 บ้าง ไม่มีแล้ว เลือกเบอร์ 5 กันหมด คนซื้อเลือกซื้อเบอร์ 5 เพราะมันประหยัดในหลาย ๆ เรื่อง ดีต่อสิ่งแวดล้อม การพัฒนาทำให้เกิดทิศทางที่สะอาดขึ้นเอง ดังนั้นผมเชื่อว่า อำนาจของผู้บริโภคอยู่ที่ตอนเงินอยู่ในมือเรา เราไม่สามารถขอให้คนอื่นแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ เราต้องแก้เอง แต่ตอนนี้เราไม่มีข้อมูลที่จะตัดสินใจ เรื่องของฉลากสิ่งแวดล้อม ฉลากในการลดการปลดปล่อยมลพิษจะช่วยเรามาก ๆ 

ถ้าเราเอาฉากทัศน์นี้มาใช้ในกรุงเทพฯ จะช่วยลดการปลดปล่อยได้ประมาณ 16%  ลดโอกาสการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้ประมาณ 746 คน และลดความเสียหายต่อเศรษฐกิจของ กทม. ได้อีกประมาณ 0.75 แสนล้านบาท แต่ถ้าใช้ในต่างจังหวัด ช่วยได้มาก

ดังนั้นจะเห็นว่า ไม่มีทางที่ทำอย่างเดียวแล้วจะสำเร็จ การเปลี่ยนไปใช้รถไฟฟ้า ไม่ใช่เปลี่ยนแล้วจะจบ หลายทางเลือกอาจจะต้องประกอบร่วมกัน

Sustainability

NARESUAN UNIVERSITY

Solverwp- WordPress Theme and Plugin