Love Alarm – เวลาแห่งความรักและความสุขที่ ม.นเรศวร

Love Alarm – เวลาแห่งความรักและความสุข โปรเจกต์วันแห่งความรักของกองกิจการนิสิต ที่ได้จัดให้ลานกิจกรรม NU Playground กลายเป็นสถานที่ที่อบอวลไปด้วยความรักของทุกความสัมพันธ์ ทุกสิ่งในงานล้วนแต่สีชมพู รวมถึงสีท้องฟ้าที่เป็นใจให้กับงานของเราด้วย

ในกิจกรรมนี้เราได้เชิญคู่รัก 2 คู่ที่เป็นศิษย์เก่าของเรา และจุดเริ่มต้นของความรักทั้ง 2 คู่เกิดขึ้นที่ มหาวิทยาลัยนเรศวร

เริ่มต้นที่คู่แรก พี่พล เฉลิมพล รัตนชาญชัย ศิษย์เก่ารหัส 45 และพี่ออย เกษราภรณ์ รัตนชาญชัย ศิษย์เก่ารหัส 46
คู่รักศิษย์เก่าแห่งร้าน X-cite T-Shirt ที่คอยดูแลและผลิตเสื้อให้กับกิจกรรมของนิสิตในมหาวิทยาลัย จุดเริ่มต้นความรักทั้งคู่เกิดขึ้นบ่มเพาะ และเติบโตไปพร้อมๆ กันกับมหาวิทยาลัยจริงๆ เลยสำหรับคู่นี้ และยังทำให้ผู้ที่มาเข้าร่วมในงานได้เรียนรู้มุมมองของความรักสำหรับผู้ใหญ่ ที่ต้องอาศัยความเข้าใจและการให้อภัยซึ่งกันและกัน

ต่อกันเลยสำหรับคู่รัก LGBTQ คู่รักวัยแรกแย้ม กับน้องฟลุ๊ค ชรินทร์ ระวังทรัพย์ ศิษย์เก่ารหัส 58 และน้องฟลุ๊ค เกริกเกียรติ ต่อเขต ศิษย์เก่ารหัส 59 ต้องขอบคุณน้องทั้ง 2 คนที่มาเล่าประสบการณ์ตั้งแต่เริ่ม Callout กับครอบครัว การเริ่มต้นความรักของทั้งคู่ รวมถึงการมีรักในวัยเรียน ถ้าได้ยินคำนี้รู้สึกยังไงบ้าง ซึ่งน้องฟลุ๊ค ชรินทร์ ระวังทรัพย์ ได้ให้ข้อคิดที่สำหรับสำหรับการมีความรักในวัยเรียน มีได้แต่ต้องรู้จักป้องกัน ต้องขอนับถือในตัวของทั้งสองคนที่ออกมาเล่าประสบการณ์นี้ให้กับผู้เข้าร่วมงานได้เรียนรู้ไปพร้อมๆกัน

ทางเราต้องขอชื่นชมและยินดีกับความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น ที่รั้วแห่งมหาวิทยาลัยนเรศวร เชื่อว่ามีศิษย์เก่าอีกหลายคู่เลยที่ความรักเริ่มต้น และเติบโตที่ที่แห่งนี้ เราขอเป็นกำลังใจให้กับทุกความสัมพันธ์ ท้ายนี้ขอขอบคุณศิษย์เก่าทุกคนที่ยังรัก และกลับมาหา กลับมาช่วยกันพัฒนามหาวิทยาลัยรอชมการเติบโตของทุกคนตลอดไป…. เพราะศิษย์เก่า คือ ทรัพยากรที่มีค่าของมหาวิทยาลัยนเรศวร

ที่มา: กองกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยนเรศวร

นิสิต ม.นเรศวร สามารถแต่งกายมาเรียนตามเพศสภาพ

นิสิต ม.นเรศวร สามารถแต่งกายมาเรียนตามเพศสภาพ ได้ตาม พรบ. มหาวิทยาลัยนเรศวร ที่ประกาศราชกิจจานุเบกษา ไว้ตั้งแต่ 17 ธันวาคม 2561

นับเป็นความก้าวหน้าในการทำความเข้าใจเรื่องเพศสภาพของนิสิตที่มีการแสดงออกตัวตนทางเพศภาวะมากขึ้น และสิ่งนี้จะช่วยทำให้ส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ ซึ่งสอดคล้องกับ พ.ร.บ. ความเท่าเทียมทางเพศ และหลักสากลในเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศ (thestandard, 2018)

ที่มา: Mornornews

สำนักหอสมุดขอแนะนำหนังสือ LGBTQ เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับกลุ่มคน LGBTQ+ อย่างอ่อนโยน

มิถุนายนเดือนแห่งของความภาคภูมิใจของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ LGBTQ+ และเพื่อเป็นการสนับสนุนในเรื่องความเข้าใจในความหลากหลาย

สำนักหอสมุดขอแนะนำหนังสือ LGBTQ เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับกลุ่มคน LGBTQ+ อย่างอ่อนโยนและเข้าใจง่าย พร้อมทั้งนิยาย Boy Loves สามารถมายืมหนังสือได้ที่หอสมุดชั้น 2 ได้เลยจ้า!

ม.นเรศวร บริการวิชาการให้ความรู้สู่ชุมชนแก่มารดาหลังคลอด เรื่อง การดูแลมารดาหลังคลอดและการคุมกำเนิด

ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา มีภารกิจด้านการเรียนการสอนและให้บริการดูแลรักษาสตรีตั้งครรภ์ ตั้งแต่ระยะก่อนคลอด ระยะคลอดและหลังคลอด ซึ่งการจัดการเรียนการสอน รายวิชาสุขภาพและโรคของสตรี 1-2 สำหรับนิสิตแพทย์ชั้นปี 4 ได้จัดกิจกรรมบริการวิชาการให้ความรู้สู่ชุมชน โดยให้นิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 4 ให้ความรู้แก่มารดาหลังคลอด เรื่อง การดูแลมารดาหลังคลอดและการคุมกำเนิด เมื่อวันอังคารที่ 14 มีนาคม 2566 เวลา 11.00 น. – 12.00 น. ณ หอผู้ป่วยสูติและนรีเวชกรรม ชั้น 6 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา 1 โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร

ที่มา: คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร ส่งเสริมบทบาทสตรีเป็นพื้นที่แห่งความเท่าเทียม

สภามหาวิทยาลัยนเรศวรมีมติแต่งตั้ง รองศาสตราจารย์ ดร.นิทรา กิจธีระวุฒิวงษ์ ให้ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ ทั้งนี้ ตั้งแต่ วันที่ 25 มกราคม 2566 เป็นต้นไป ตามมติที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยนเรศวร

ในการประชุมครั้งที่ 305 (13/2565) เมื่อวันเสาร์ที่ 24 ธันวาคม 2565 ณ ห้องประชุมสุพรรณกัลยา 3 อาคารสำนักงานอธิการบดี ชั้น 3 มหาวิทยาลัยนเรศวร

ที่มา: สาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม คณะสาธารณสุขศาสตร์ มน.

“จิตอาสาเต้านมเทียม” คืนความมั่นใจให้ชีวิตผู้ป่วยหญิงที่เป็นมะเร็งเต้านม

กิจกรรมจิตอาสาเต้านมเทียม ม.นเรศวร เริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2560 เพื่อคืนคุณภาพชีวิตผู้ป่วยหญิงที่เป็นมะเร็งเต้านม แต่เดิมทำเพื่อบริจาคให้กับโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร ต่อมาได้ขยายผลไปโรงพยาบาลต่าง ๆ ในจังหวัดพิษณุโลก เช่น โรงพยาบาลพุทธชินราช โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ และขยายไปยังโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศ เช่น โรงพยาบาลหาดใหญ่ โรงพยาบาลสงขลา ศูนย์มะเร็งลำปาง ศูนย์มะเร็งลพบุรี เป็นต้น เพื่อคืนความมั่นใจ ให้กลับมาใช้ชีวิตได้ปกติมีความมั่นใจ เป็นต้น

ปัจจุบันบริจาคให้กับโรงพยาบาลต่าง ๆ กว่า 1,000 คู่ และเปิดรับสำหรับคนไข้ที่ประสงค์ขอรับกับกลุ่มกิจกรรมโดยตรงผ่าน Facebook จิตอาสาเต้านมเทียม มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

นอกจากนี้ยังจัดกิจกรรมให้ความรู้กับหน่วยงานที่สนใจ ทำเต้านมเทียม และที่สำคัญเป็นการจัดสรรเวลาให้นิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวรได้เข้าร่วมกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ เรียนรู้การแบ่งปันและการช่วยเหลือผู้อื่น ฝึกสมาธิ ความอดทด เกิดความสามัคคีและมีความรับผิดชอบ

ที่มา: จิตอาสาเต้านมเทียม มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร จัดประชุมการเสริมสร้างความสัมพันธ์ ไทย-สหรัฐ ผ่านความสัมพันธ์ภาคประชาชนระหว่างเยาวสตรีไทย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นภิสา ไวฑูรเกียรติ คณบดีคณะสังคมศาสตร์ ได้เป็นประธานในการเปิดการประชุมแบบ Townhall ในหัวข้อ การเสริมสร้างความสัมพันธ์ ไทย – สหรัฐ ผ่านความสัมพันธ์ภาคประชาชนระหว่างเยาวสตรีไทย ในวันที่ 7 กันยายน 2565 เวลา 14.00 น. – 16.00 น. ณ ห้อง Main Conference อาคารศูนย์บริการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยมี Ms.Dana Durkee ผู้แทนจากสถานกงสุลใหญ่สหรัฐฯ เชียงใหม่ และ Mr.Benjamin Zawacki ผู้เชี่ยวชาญโครงการอาวุโส มูลนิธิเอเชีย The Asia Foundation ร่วมเปิดงาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับกลุ่มยุวสตรีที่มีประสบการณ์การอาศัยอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อก่อให้เกิดการอภิปรายและตระหนักรู้ในประเด็นสิทธิสตรีอันจะนำไปสู่แนวทางการพัฒนาความเท่าเทียมทางเพศต่อไป โดยมี คุณญาดา ช่วยจำแนก จากปาตานี ฟอรั่ม และคุณวรรณดี ถวิลบุญ คุณครูโรงเรียนหัวหิน ซึ่งเป็นผู้มีประสบการณ์ในอเมริกา ร่วมเป็นวิทยากร

ที่มา: คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

รายการ รักไม่รู้โรย เรื่อง ปัญหาเรื่องเต้านมคุณแม่หลังคลอด

รายการ รักไม่รู้โรย เรื่อง ปัญหาเรื่องเต้านมคุณแม่หลังคลอด
>>วิทยากรโดย อาจารย์กนกอร มังกรประดิษฐ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการพยาบาลมารดรและทารก

ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.วรวรรณ์ ทิพย์วารีรมย์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
ที่มา: สถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยนเรศวร NUradio Naresuan

https://www.youtube.com/watch?v=VOpAWtuAzWU&t=54s

กยศ. มอบรางวัลกิจกรรมเชิดชูคนดี กยศ. เพื่อเป็นต้นแบบที่ดี (Role Model) จิตอาสาเต้านมเทียม

กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) มอบรางวัลกิจกรรมเชิดชูคนดี กยศ. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เพื่อเป็นต้นแบบที่ดี (Role Model) ให้แก่ นักเรียน นักศึกษา ศิษย์เก่า กยศ. และสถานศึกษา เพื่อสร้างขวัญกำลังใจและความภาคภูมิใจแก่ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นต้นแบบที่ดี

วันนี้ (26 สิงหาคม 2565) ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ 4 ชั้น 4 กระทรวงการคลัง ได้มีพิธีมอบรางวัลกิจกรรมเชิดชูคนดี กยศ. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 โดยมี นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง และประธานกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลและร่วมแสดงความยินดีแก่ผู้ได้รับรางวัล

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เปิดเผยว่า “ในโอกาสที่กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาได้จัดงานมอบรางวัลกิจกรรมเชิดชูคนดี กยศ. ให้แก่ นักเรียน นักศึกษา ศิษย์เก่า กยศ. และสถานศึกษา ซึ่งทุกท่านถือเป็นผู้ที่มีคุณงามความดี และเป็นต้นแบบที่ดีให้กับรุ่นน้องได้เห็นคุณค่าของเงินกู้ยืมมีทัศนคติที่ดีและถูกต้องต่อการกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา และมีคุณธรรมจริยธรรมจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคม รวมถึงมีความรับผิดชอบในการชำระเงินคืนกองทุน ซึ่งสมควรที่จะได้รับการยกย่องให้เป็นต้นแบบที่ดีของสังคมต่อไป ทั้งนี้ กองทุนมีความภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในการสร้างโอกาสทางการศึกษา และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ เพื่อเป็นกำลังสำคัญให้กับประเทศชาติในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมต่อไป กองทุนได้ดำเนินการคัดเลือกรางวัลกิจกรรมเชิดชูคนดี กยศ. โดยร่วมกับสถานศึกษาที่เข้าร่วมดำเนินงานกองทุนทั่วประเทศ เพื่อสรรหาผู้ที่เป็นต้นแบบที่ดี (Role Model) ให้แก่ นักเรียน นักศึกษา ศิษย์เก่า กยศ. และสถานศึกษา เพื่อสร้างขวัญกำลังใจและความภาคภูมิใจแก่ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นต้นแบบที่ดีในการประพฤติปฏิบัติตน มีจิตสาธารณะ มีจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคม รวมถึงสร้างเครือข่ายผู้เป็นต้นแบบที่ดีของกองทุนที่จะได้เป็นส่วนสำคัญในการร่วมสร้างประโยชน์แก่สังคม และร่วมกันดำเนินกิจกรรมสาธารณประโยชน์ที่เกี่ยวกับกองทุนในโอกาสต่างๆ ทั้งนี้ กองทุนได้ประกาศผลการคัดเลือกต้นแบบที่ดี จำนวน 36 รางวัล ประกอบด้วย

นักเรียน นักศึกษา กยศ. ต้นแบบ จำนวน 12 รางวัล (แบ่งเป็นประเภทเดี่ยว จำนวน 9 รางวัล ประเภทกลุ่ม 3 รางวัล) โดยจะได้รับรางวัลทุนการศึกษา พร้อมใบประกาศเกียรติคุณ และเข็มคนดี กยศ.

ศิษย์เก่า กยศ. ต้นแบบ จำนวน 12 รางวัล โดยจะได้รับรางวัลทุนการศึกษา พร้อมใบประกาศเกียรติคุณ และเข็มคนดี กยศ.

สถานศึกษาต้นแบบ 12 รางวัล โดยจะได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณ ในฐานะที่เป็นต้นแบบ    การบริหารจัดการงานกองทุนที่ดี มีการสร้างเครือข่ายจิตสาธารณะ เพื่อปลูกฝังให้นักเรียน นักศึกษา ร่วมทำประโยชน์เพื่อสังคมส่วนรวมอย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ กองทุนเป็นหน่วยงานของรัฐในกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ดำเนินการให้กู้ยืมเงินแก่นักเรียน นักศึกษา ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ระดับอาชีวศึกษา จนถึงระดับอุดมศึกษา ผ่านสถานศึกษามากกว่า 4,000 แห่ง โดยมีผู้กู้ยืมที่ได้รับโอกาสทางการศึกษาทั่วประเทศกว่า 6.2 ล้านราย ซึ่งทุกคนล้วนเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้าต่อไป” ผู้จัดการกองทุนฯ กล่าวในที่สุด

   ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยนเรศวรได้รับการคัดเลือกต้นแบบที่ดีและได้รับรางวัล  ดังนี้
1. นักเรียน นักศึกษา กยศ. ต้นแบบ
              1. นางสาวเบญจรัตน์ ดีเรือง มหาวิทยาลัยนเรศวร

2. ประเภทกลุ่ม “จิตอาสาเต้านมเทียม”
            1. นางสาวเอมมิกา ใจกลม มหาวิทยาลัยนเรศวร
              2. นางสาวกัญญ์วรา ขันวิเศษ มหาวิทยาลัยนเรศวร
              3. นางสาวรวิสรา สมบูรณ์มา มหาวิทยาลัยนเรศวร
              4. นางสาวธนภรณ์ ชัยสิทธิ์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
              5. นางสาวมานิตา สุนทรพจน์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

3. ​ประเภทกลุ่ม
              1. นายเกรียงศักดิ์ ลีลาศักดิ์สิริ มหาวิทยาลัยนเรศวร
              2. นางสาวมูนา กียะ มหาวิทยาลัยนเรศวร
              3. นางสาวณัฐติกรณ์ โยธาสิงห์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
              4. นางสาววชิราภรณ์ รุ่งอินทร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

4. สถานศึกษาต้นแบบ
              มหาวิทยาลัยนเรศวร

ที่มา: กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)

ม.นเรศวรจัดกิจกรรม “NU Art & Craft Fun Fair 2022”  สร้างพื้นที่สร้างสรรค์ (Creative Space) เพื่อพัฒนานิสิตให้มีความเป็นพลโลก (Global Citizenship)

       วันที่ 20 สิงหาคม 2565 มหาวิทยาลัยนเรศวรจัดกิจกรรม “NU Art & Craft Fun Fair 2022” ระหว่างวันที่ 19  – 20  สิงหาคม 2565  ณ ลานกิจกรรม กองกิจการนิสิต พิพิธภัณฑ์ผ้า และหอศิลป์มหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อสร้างกิจกรรมให้เกิดการกระตุ้นให้มีพื้นที่สร้างสรรค์ (Creative Space) ทั้งในเชิงกายภาพ เศรษฐกิจและสังคม ย้ำจุดยืนของความเท่าเทียม ความเสมอภาค และความหลากหลายในทุกมิติ โดยเป็นการจัดงานร่วมกันของกองกิจการนิสิตและกองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ที่ได้รับการสนับสนุนจากทั้งหน่วยงานภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย

       รองศาสตราจารย์ ดร.ศรินทร์ทิพย์  แทนธานี  รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยนเรศวรมีนโยบาย “มหาวิทยาลัยเพื่อสังคมของผู้ประกอบการ (University for Entrepreneurial Society)”  ซึ่งจากโยบายดังกล่าวต้องอาศัยทุกภาคส่วนของมหาวิทยาลัยตลอดจนองค์ความรู้และนวัตกรรมในการสร้างความร่วมมือกันทั้งในภาคอุตสาหกรรม ภาคเอกชน และสิ่งแวดล้อม เพื่อก่อให้เกิดการสร้างความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยมีกลไกในการขับเคลื่อนที่สำคัญคือ การสร้าง “The Entrepreneur Mindset” ให้แก่บุคลากรและนิสิต เพราะแนวคิดนี้จะทำให้เราพัฒนาตัวเองให้กล้าเผชิญกับความท้าทาย พร้อมรับมือกับปัญหาที่จะเข้ามา รู้จักเป็นผู้บุกเบิกในการเริ่มต้น หรือนำความคิดสร้างสรรค์มาสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดเป็นนวัตกรรมหรือ Innovation จากการคิดแบบนี้จะทำให้สามารถนำไปปรับใช้หรือต่อยอดการทำงานและธุรกิจ เพื่อให้เกิดรายได้มากขึ้นอีก   ดังนั้นเพื่อให้เกิดการกระตุ้นนิสิตจึงได้จัดกิจกรรมดังกล่าวนี้ขึ้นให้เพื่อเกิดพื้นที่สร้างสรรค์ (Creative Space) ทั้งในเชิงกายภาพเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้เป็นพื้นที่ในการฝึกปฏิบัติจริง

       ด้าน ดร.จรัสดาว คงเมือง รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานิสิต ศิษย์เก่า และศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า  กิจกรรม “NU Art & Craft Fun Fair 2022” เป็นการทำงานแบบ Cross-Functional ระหว่างกองกิจการนิสิต และกองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม พร้อมทั้งได้รับความร่วมมือจากหลาย ๆ หน่วยงานในมหาวิทยาลัยและภาคเอกชน เพื่อเป็นกิจกรรมในการพัฒนานิสิตให้สามารถมีมุมมองสอดคล้องกับนโยบายมหาวิทยาลัยและมีความเป็นพลโลก (Global Citizenship) ซึ่งมหาวิทยาลัยจะสร้างนิสิตให้เป็นผู้มีศักยภาพในการที่จะสามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและโลกที่สามารถทำงานที่ใด ๆ ในโลกนี้ได้  โดยให้นิสิตมีประสบการณ์ในวัฒนธรรมที่หลากหลาย นอกจากนั้น เรายังให้ความสำคัญเกี่ยวกับเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ขององค์การสหประชาชาติด้วย

       หัวใจสำคัญในการจัดงานในครั้งนี้ คือ

       – การเคารพและเห็นคุณค่าของความหลากหลายและความแตกต่าง ซึ่งความหลากหลายนี้เรามองในหลายๆ มิติ ไม่ว่าจะเป็นความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIA+) ความหลากหลายทางวัฒนธรรม (Cultural Diversity) รวมไปถึงความเท่าเทียม/ความเสมอภาค ของกลุ่มเปราะบางด้วย

       – การแต่งกายชุดนิสิตตามเพศสภาพคือการแสดงออกถึงเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่เราควรเคารพ

       – พัฒนานิสิตให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม มีความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่น การทำงานเป็นทีม รวมทั้งสามารถทำงานร่วมกับคนต่างภาษาและวัฒนธรรมได้

       – นิสิตมองเห็นคุณค่า ในการอนุรักษ์สืบสานศิลปวัฒนธรรม ในหลากหลายมิติ

       กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก ๆ ส่วนแรกคือ Art & Craft ซึ่งประกอบไปด้วย Art Exhibition (นิทรรศการผ้าแห่งขุนเขา, Art Therapy, Doll House และ Art Collections), Art & Craft Workshop, Art & Craft Market (มีสินค้าจากโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบลหรือที่เรียกว่า U2T และร้านค้าอื่น ๆ) , Art Innovation (ผลงานของนิสิตและคณาจารย์จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ศิลปะและการออกแบบ) และ Art Talk (การสร้างสรรค์งานศิลปะ Speed Art โดยศิลปินพื้นบ้านเมืองบางขลัง คุณอุเทน ลำไย และการสร้างสรรค์งานศิลปะ Speed Painter โดย คุณบัลลังค์ เชยบาล) และ ส่วนที่สองจะเป็น Fun Fair ซึ่งจะมีกิจกรรมหลักคือ NU Pride, Equity and Diversity Parade นอกจากนั้นยังมีการประกวดชุดประดิษฐ์จากวัสดุเหลือใช้/ ใช้ซ้ำ (ชุด Recycle) ซึ่งเป็นการสนับสนุนให้นิสิตมีความคิดสร้างสรรค์แบบรักษ์โลกและให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้นยังมี Performing Arts, มีการแสดงดนตรีและ Talent Show ในพื้นที่งานจะมีการฉายหนังกลางแปลง Food Truck, Food Kiosk และ Outdoor Café’  ซึ่งกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นนี้น่าจะทำให้นิสิตมีความสนุกสนาน และได้การเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กัน

       มหาวิทยาลัยวิทยาลัยนเรศวร ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียม ความเสมอภาคและความหลากหลาย พัฒนานิสิตให้เป็น Global Citizen เพื่อตอกย้ำวิสัยทัศน์ “มหาวิทยาลัยเพื่อสังคมของผู้ประกอบการ (University for Entrepreneurial Society)”

ที่มา: งานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

Sustainability

NARESUAN UNIVERSITY

Solverwp- WordPress Theme and Plugin