นิสิตพิการพบผู้บริหาร ม.นเรศวร

เมื่อวันพุธที่ 20 กรกฎาคม 2565 ผู้บริหารมหาวิทยาลัยนเรศวร นำโดย รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร  (รศ.ดร.ศรินทร์ทิพย์ แทนธานี)  รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ (รศ.ดร.วัฒนา พัดเกตุ) รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานิสิต ศิษย์เก่าและศิลปวัฒนธรรม (ดร.จรัสดาว คงเมือง) ผู้อำนวยการกองกิจการนิสิต (นางศิริวรรณ กมลพัฒนะ) และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ได้เปิดโอกาสให้นิสิตพิการจากศูนย์ให้บริการนิสิตพิการ : NU DSS เข้าร่วมพูดคุย ถามไถ่ความเป็นอยู่ด้วยความเป็นกันเองและความอบอุ่น เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจในการใช้ชีวิตในรั้วของมหาวิทยาลัยนเรศวร ทั้งนี้ปัจจุบันศูนย์ให้บริการนิสิตพิการ : NU DSS มีนิสิตพิการอยู่ภายใต้การดูแล จำนวนทั้งสิ้น 20 คน แบ่งเป็น นิสิตพิการทางสายตา จำนวน 3 คน นิสิตพิการทางร่างกายและการเคลื่อนไหว จำนวน 15 คน นิสิตพิการทางการได้ยิน จำนวน 1 คน และนิสิตพิการทางการเรียน (สมองการสั่งการช้า) จำนวน 1 คน และเพื่อเป็นการแสดงความขอบคุณต่อความเมตตาของท่านอธิการบดีฯ และทีมผู้บริหารมหาวิทยาลัย ตัวแทนนิสิตพิการได้มอบถุงผ้าเพ้นท์มือให้เป็นของที่ระลึกแก่ท่านอธิการบดีฯ ด้วย ซึ่งการเพ้นท์ถุงผ้าเป็นกิจกรรมที่ศูนย์ให้บริการนิสิตพิการ : NU DSS จัดทำขึ้น เพื่อให้นิสิตพิการสามารถใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์และสร้างทักษะต่อยอดการสร้างรายได้ให้ตัวเองในอนาคตได้อีกด้วย

ที่มา: กองกิจการนิสิต มหาวิยาลัยนเรศวร

ขับเคลื่อนอาชีพ สำหรับคนพิการในยุคโควิดด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม

🎯 ขอเชิญคณาจารย์ และบุคคลผู้สนใจ ส่งบทความวิจัย และบทความวิชาการ ในสัมมนาวิชาการระดับชาติด้านคนพิการ ครั้งที่ 14 ประจำปี 2565 การขับเคลื่อนอาชีพ สำหรับคนพิการในยุคโควิดด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม “Driving occupation for persons with disabilities in the COVID-19 pandemic with technology and innovation”
📍 วันที่ 26 สิงหาคม 2565 จัดแบบ Online และ Onsite ผ่านโปรแกรม ZOOM ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติ อุทยานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มหาวิทยาลัยนเรศวร📄ส่งบทความได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 7 มิถุนายน 2565กำหนดการรับส่งบทความ https://archdb.arch.nu.ac.th/ncpd/downloads/schedule2022.pdf
📍รายละเอียดเพิ่มเติมhttps://archdb.arch.nu.ac.th/ncpd/homeติดต่อสอบถามได้ที่📞055-962452 (ผู้ประสานงาน คุณกนกพร เอี่ยมละออ)คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ศิลปะและการออกแบบ มหาวิทยาลัยนเรศวร
📨 ncpdnu2022@gmail.com Fax: 055-962554

ม.นเรศวร ร่วมพัฒนา “ฐานข้อมูล” ที่ถูกต้อง เรียลไทม์ เครื่องมือเริ่มต้นช่วยสกัดเด็กหลุดจากระบบการศึกษา

“การมีระบบฐานข้อมูลที่ดีช่วยลดระยะเวลาในการทำงาน ไม่ต้องทำงานที่ซ้ำซ้อน ลดภาระงานเอกสาร  มีเวลาจัดเตรียมการเรียนการสอนได้มากขึ้น รวมทั้งสามารถนำมาเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ทำให้เกิดความรวดเร็ว เกิดประโยชน์ มีประสิทธิภาพ ช่วยให้ทำงานได้ดี โดยเฉพาะการมีข้อมูลที่น่าเชื่อถือ”

นุตประวีณ์ ภัครวัฒน์อังกูร ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านราหุล จังหวัดเพชรบูรณ์ หนึ่งในเครือข่ายโรงเรียนพัฒนาตนเอง (TSQP) ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เริ่มต้นเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงหลังจากนำระบบสารสนเทศ Q-INFO มาใช้สนับสนุนการบริหาร ​การจัดการเรียนการสอน รวมทั้งภารกิจสำคัญอย่างการติดตามเด็กกลับมาเรียน สกัดเด็กหลุดจากระบบการศึกษาในช่วงนี้

หลังจากที่เข้าไปร่วมอบรมและนำระบบสารสนเทศ Q-INFO มาใช้ สิ่งแรกที่เปลี่ยนไปคือ จากการเขียนเอกสารประเมินผลตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ ป.พ. ที่เดิมครูต้องเขียนเอง แต่ระบบนี้ช่วยให้การทำงานสะดวกขึ้น ไม่ต้องมานั่งเขียนเอง แต่พิมพ์ออกมาจากระบบได้เลย อีกด้านหนึ่งยังเห็นข้อมูลเด็กในเชิงลึก เพื่อนำไปสู่การช่วยเหลือ ที่เชื่อมโยงกับระบบ CCT

จุดเด่นของระบบนี้คือ ครูมีข้อมูลที่ช่วยกันจัดเก็บแบบเรียลไทม์ ทั้งข้อมูลพื้นฐานของนักเรียน  ไปจนถึงอัตราการเข้าเรียนและผลการเรียน ​ทำให้ผู้บริหารสามารถเข้าไปเช็กได้เลยว่านักเรียนคนไหนขาดเรียนบ่อยแค่ไหน หรือเด็กคนไหนกำลังมีปัญหาในการเรียนที่จุดใด ก็จะสามารถรู้ได้ทันที ช่วยให้สามารถเข้าไปแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที 

ยกตัวอย่างที่ผ่านมามีเด็กที่ขาดเรียนไปเป็นสัปดาห์ เมื่อทราบเรื่องก็ติดต่อสอบถามไปยังผู้ปกครองว่านักเรียนขาดเรียนไปไหน หรือถ้าติดต่อผู้ปกครองไม่ได้ก็ประสานไปยังผู้ใหญ่บ้านว่าครอบครัวนี้ยังอยู่ในพื้นที่หรือย้ายไปไหน  เพื่อช่วยติดตามให้เขากลับมาเรียนได้ตามปกติ ไม่หลุดจากระบบการศึกษา

ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 จะมีเด็กที่ไม่สามารถเรียนออนไลน์ได้ โรงเรียนจึงปรับให้เรียนแบบออนแฮนด์ มารับใบงานไปทำที่บ้านแล้วนำมาส่ง ครูจะคอยติดตามไม่ให้เด็กขาดหายไปในช่วงนี้ และเมื่อถึงช่วงเปิดโรงเรียนได้ปกติ ก็จะคอยติดตามอีกรอบว่ามีเด็กคนไหนยังไม่กลับมาเรียน

“เปิดเทอมมาตั้งแต่ 1 ธันวาคม ตอนนี้เด็กกลับมาเรียนเกือบครบ 100% จะมีบ้างที่นักเรียนไม่สบาย เราก็ให้นักเรียนรักษาตัวอยู่บ้านให้หายดีก่อนค่อยมาเรียน ขณะที่นักเรียนกลุ่มเสี่ยงหรือมาจากต่างพื้นที่ก็ให้กักตัวอยู่บ้านก่อน 2 สัปดาห์ แล้วก่อนมาเรียนก็ให้ตรวจสอบก่อน ถ้าปกติถึงจะให้เข้ามาเรียนได้ โดยสถานการณ์ขณะนี้ไม่น่าเป็นห่วงแต่อย่างใด”

สำรวจและ​ซ่อมเสริม “ความรู้”
ป้องกันเรียนไม่รู้เรื่อง ชดเชยช่วงปิดเรียน

ส่วนมาตรการรองรับหลังเปิดเทอมก็ถือเป็นอีกประเด็นที่สำคัญ ผอ.นุตประวีณ์อธิบายเพิ่มเติมว่า ในช่วงการเรียนทั้งออนไลน์และออนแฮนด์ที่ผ่านมา อาจทำให้เด็กๆ ไม่ได้รับความรู้เต็มที่เหมือนกับเรียนที่โรงเรียน ช่วงที่กลับมาเรียนอีกครั้ง  จึงต้องมีการเรียนซ่อมเสริมให้นักเรียน

“ครูจะเป็นคนสำรวจว่าเด็กแต่ละคนมีจุดอ่อนตรงไหน เด็กเล็กๆ หลายคนช่วงที่เรียนที่บ้านนานๆ จะทำให้เขาอ่านเขียนได้น้อยลง ครูก็จะไปสอนเสริมให้เขาก่อน เพราะการอ่านออกเขียนได้เป็นพื้นฐานสำคัญ ในขณะที่เด็กคนไหนที่เรียนทัน ครูก็ต้องเพิ่มเนื้อหาที่แอดวานซ์ให้เขาได้พัฒนา  ต้องยอมเหนื่อยขึ้นเพื่อให้ลูกศิษย์เรียนรู้ได้ดีขึ้น จากในวง PLC เราจะรับรู้ถึงจิตวิญญาณความเป็นครูของแต่ละคนที่เสียสละทุ่มเทเพื่อเด็กๆ”

สร้างการเรียนรู้ที่ดีขึ้น
ครูต้องไม่ชี้ถูกชี้ผิด แต่เปิดพื้นที่ให้เด็กคิดด้วยตัวเอง

โรงเรียนบ้านราหุลได้นำกระบวนการของมูลนิธิลำปลายมาศพัฒนาเข้ามาใช้ โดยมีทีมโค้ชจากมหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นพี่เลี้ยงให้กับทีมครู ตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผนการทำงานไปจนถึงการลงมือปฏิบัติ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง

เมื่อครูเริ่มเปลี่ยนรูปแบบการสอนให้เด็กรู้จักคิด ครูเริ่มใช้โทนเสียงที่ต่ำ ไม่ใช้การสั่งแต่เปลี่ยนเป็นการพูดคุยเสนอแนะ  ทำให้เด็กกล้าแสดงออกมากขึ้น

“ระยะเวลาแค่ 3 เดือนแรกเราก็เห็นผลความเปลี่ยนแปลง จากการใช้จิตศึกษาเข้ามาช่วยให้นักเรียนรู้จักกำกับตัวเอง จนตอนนี้ช่วงเข้าแถวตอนเช้า แทบไม่ได้ยินเสียงนักเรียนคุยกัน จากแต่ก่อนที่เสียงจ้อกแจ้กวุ่นวาย

“รูปแบบนี้ต้องเริ่มจากการเปลี่ยนของครูก่อน ซึ่งครูทั้งโรงเรียนก็พร้อมใจกันเปลี่ยน บางคนตอนแรกอาจจะต่อต้านบ้าง คิดว่าเดี๋ยวจะเกษียณอยู่แล้ว ทำไมต้องมาเปลี่ยน แต่พอครูคนอื่นเริ่มเปลี่ยน  และเห็นผลความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเด็ก ครูที่ยังไม่เปลี่ยนก็เปลี่ยนตาม ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ” 

ที่มา: กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

ม.นเรศวร กสศ. ร่วมมือ สพฐ. เดินหน้า ระบบสารสนเทศเฟสสอง เชื่อมข้อมูล สกัดเด็กหลุดทันท่วงที

กสศ.ร่วมมือกับ สพฐ. เดินหน้าพัฒนาระบบสารสนเทศดูแลช่วยเหลือนักเรียน ระยะ 2 ตั้งเป้าหมายลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ป้องกันความเสี่ยงเด็กหลุดออกจากระบบ ลดภาระครูในการกรอกข้อมูล พร้อมเชื่อมโยงข้อมูลให้รับทราบปัญหาของนักเรียนสู่การช่วยเหลือรายบุคคล นำร่องในเขตพื้นที่การศึกษา 29 แห่ง มีโรงเรียนร่วมแล้วกว่า 1,000 โรงเรียน 

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จัดการประชุมชี้แจงการดำเนินงานโครงการพัฒนาระบบสารสนเทศดูแลช่วยเหลือนักเรียนระยะที่ 2 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 ผ่านระบบ Zoom Meeting เพื่อให้ทราบถึงกรอบแนวทางการดำเนินงานและการขยายผลการทำงานร่วมกันในการให้ความช่วยเหลือแก่เด็กนักเรียนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยมีครูประจำชั้น ครูแอดมินระบบโรงเรียน ผู้อำนวยการสถานศึกษา และเจ้าหน้าที่เขตพื้นที่การศึกษา จำนวน 29 เขตพื้นที่นำร่อง เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้

ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณทุกฝ่ายที่เห็นความสำคัญของการส่งเสริมการจัดการศึกษาในแต่ละเขตพื้นที่ และร่วมกันออกแบบเครื่องมือการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อจัดทำระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน 

ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ.

โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของเด็กและเยาวชนไทย เพราะสิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานคือข้อมูลของเด็กรายบุุคคล ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดว่าเราจะจัดการศึกษาที่ดีมีคุณภาพได้อย่างไร จากที่ผ่านมาหลายหน่วยงานได้ช่วยกันเก็บรวบรวมข้อมูลผ่านช่องทางต่างๆ จนมีประวัตินักเรียนที่บันทึกผ่านการลงพื้นที่เยี่ยมบ้านดูสภาพความเป็นจริง

สิ่งที่สำคัญคือเรายังไม่มีการเชื่อมโยงข้อมูลทั้งระบบในลักษณะเครือข่ายที่ใช้ร่วมกันได้ทั้งประเทศ จึงกลายเป็นว่าข้อมูลที่มียังคงกระจัดกระจาย  และใช้กันอยู่เพียงเฉพาะในหน่วยงานนั้นๆ

วันนี้เป็นโอกาสดีที่ สพฐ. กสศ. และมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ร่วมกันออกแบบโปรแกรมรวบรวมข้อมูลของนักเรียนทุกคน และมีแบบแผนการทำงานที่ลงรายละเอียดว่าจะเก็บข้อมูลด้านใด หรือจะนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไร นับเป็นจุดเริ่มต้นที่เราได้นำเทคโนโลยีมาช่วยสร้าง Big Data ซึ่งแสดงผลได้เลยว่าเด็กทุกคนไม่ว่าจะเรียนอยู่ตรงไหนในประเทศ ก็ยังสามารถติดตามได้ทั้งหมด

“ทั้งนี้ยังเชื่อมข้อมูลกับกระทรวงสาธารณสุข หรือกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะทำให้ทราบชัดเจน แยกแยะได้ว่านักเรียนที่อยู่ในข้อมูลนั้นเป็นกลุ่มใด เช่น นักเรียนกลุ่มด้อยโอกาส กลุ่มพิการ กลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ สามารถให้ความช่วยเหลือได้หมดและตรงจุด พร้อมอยากฝากให้ผู้ที่บันทึกข้อมูลทำโปรแกรมต่างๆ ตรวจสอบมากขึ้นด้วยว่า มีการเก็บข้อมูลที่ซ้ำซ้อนกันหรือไม่อย่างไร หากมีควรนำมาจัดเก็บไว้ในที่เดียวกัน เพื่อให้เกิดการจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ และการเก็บข้อมูลของนักเรียนเพื่อให้ความช่วยเหลือ ถือเป็นคุณูปการอย่างยิ่งสำหรับการบริหารจัดการข้อมูลในอนาคต และเป็นประโยชน์อย่างมากในการให้ความช่วยเหลือแก่เด็กนักเรียนในสังกัด สพฐ.ต่อไป พร้อมขอบคุณ กสศ.และมหาวิทยาลัยนเรศวร ที่ช่วยสร้างความร่วมมือเพื่อดูแลเด็กนักเรียน” ดร.อัมพรกล่าว 

นายนิสิต เนินเพิ่มพิสุทธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจ
คุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน สพฐ.

ด้านนายนิสิต เนินเพิ่มพิสุทธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน สพฐ. กล่าวว่า ที่ผ่านมาศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน ประสานความร่วมมือกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ดำเนินโครงการพัฒนาระบบสารสนเทศดูแลช่วยเหลือนักเรียน โดยทดลองระบบนำร่องระยะที่ 1 ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 29 แห่ง รวม 616 โรงเรียน ซึ่งประสบความสำเร็จในด้านการนำข้อมูลมาช่วยจัดทำระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนและนักเรียนยากจนพิเศษ 

ขณะนี้ได้มีการต่อยอดขยายผลใช้งานระบบสารสนเทศดูแลช่วยเหลือนักเรียนในโรงเรียนให้มากขึ้น โดยเป็นการดำเนินงานไปสู่ระยะที่ 2 ทำให้มีโรงเรียนที่เห็นประโยชน์การดำเนินงานเข้าร่วมโครงการเพิ่มอีก 391 โรงเรียน รวมแล้วทั้งสิ้น 1,005 แห่ง การเชื่อมโยงข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์ต่อเด็กนักเรียนอย่างมากที่ช่วยลดความเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ในการพัฒนากำลังคนเพื่อไปสู่การพัฒนาประเทศต่อไป

ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า การรับรู้ต้นทุนด้านข้อมูลทางการศึกษาได้ตั้งแต่ระดับชั้นปฐมวัยจนไปสู่ชั้นเรียนที่สูงขึ้น จะสามารถทำให้เกิดการจัดสรรความช่วยเหลือแก่เด็กได้มากขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาต่อไปในอนาคต 

กลุ่มโรงเรียนที่เข้าร่วมทั้งในเขตพื้นที่การศึกษา 29 แห่งนี้ ถือเป็นผู้เบิกทางในการพัฒนาระบบในปี 2565 ต่อไป ซึ่งจากการเก็บข้อมูลในปี 2563-2564 ที่ผ่านมาพบว่า จากเด็กนักเรียนยากจนพิเศษกว่า 1,235,000 คน มีเด็กที่ยังไม่สามารถกลับคืนเข้าสู่ระบบการศึกษาได้ประมาณ 54,000 คน ส่วนใหญ่อยู่ในชั้นเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 3 ร้อยละ 47.54 รองลงมาคือชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 หลังจากนี้จะมีการติดตามนักเรียนกลับคืนสู่ระบบการศึกษาได้มากขึ้น 

ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการ กสศ.

สำหรับข้อมูลดังกล่าวสะท้อนได้ว่า จากการเชื่อมต่อข้อมูลของทั้ง DMC และ CCT ทำให้รับทราบถึงสถานการณ์ของเด็กนักเรียนได้ปีละ 2 ครั้ง ส่งผลต่อการให้ความช่วยเหลือไปยังเด็กที่มีความสำคัญมากกว่าเดิม สามารถตามเด็กนักเรียนให้กลับคืนสู่ระบบการศึกษาได้ และยังช่วยลดภาระของครูได้อย่างมากอีกด้วย จากเดิมที่ต้องลงข้อมูลจดไว้ในสมุด ก็สามารถลงบันทึกไว้ในโปรแกรมรูปแบบ One Application และนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นต่อไป

“การลงบันทึกข้อมูลเหล่านี้ก็ถือว่ามีความสำคัญ เพราะ กสศ.ได้ร่วมมือกับหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ในการให้ความช่วยเหลือกับนักเรียนที่ต้องการศึกษาต่อในระดับชั้นที่สูงขึ้นไป เช่น ได้ร่วมนำส่งข้อมูลไปยังสถาบันระดับอุดมศึกษาผ่านระบบ TCAS โดยอัตโนมัติ ทำให้สถาบันการศึกษาได้รับทราบข้อมูลความยากจนของเด็กและนำมาสู่ความช่วยเหลือได้อย่างตรงจุดมากกว่าเดิม ซึ่งมหาวิทยาลัยสามารถนำข้อมูลนี้มาใช้ประกอบการพิจารณาให้ทุนการศึกษาได้ต่อเนื่องทันที ขณะเดียวกันยังได้รายงานข้อมูลที่เก็บไว้ไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จนทำให้เกิดการระดมทุนให้ความช่วยเหลือแก่เด็กนักเรียนที่ยากจนได้มากขึ้น” 

ดร.ไกรยสกล่าวว่า ข้อมูลที่เก็บไว้ในระบบสามารถนำมาใช้กับภาคการสาธารณสุขได้เช่นกัน โดยเฉพาะบางครอบครัวที่มีผู้ป่วยติดเตียง โดย กสศ.ได้ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในการเชื่อมโยงข้อมูล เพื่อให้รับทราบถึงจำนวนผู้ป่วยในสถานะต่างๆ ที่เป็นปัจจุบันมากขึ้น และยืนยันว่าการประชุมครั้งนี้จะช่วยต่อยอด ขยายผลให้มีการนำข้อมูลที่เป็นประโยชน์มาใช้งานได้จริง และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในปีการศึกษา 2565 ต่อไป

นางสาวรักชนก กลิ่นเจริญ นักวิชาการ สำนักบริหารเงินอุดหนุนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ กสศ. กล่าวถึงกรอบแนวทางและปฏิทินการดำเนินงานโครงการ ระยะที่ 2 นี้ว่า จะดำเนินงานทั้งในมิติของการเชื่อมโยงข้อมูลนักเรียนรายบุคคลจากระบบ DMC และข้อมูลการคัดกรองความยากจน ระบบ CCT เพื่อนำไปสู่การประมวลผลเพื่อทำงานช่วยเหลือนักเรียนเป็นรายบุคคล คัดกรองความเสี่ยงของนักเรียนที่ครอบคลุมมิติอื่นๆ จำแนกกลุ่มนักเรียนให้ชัดเจน ทั้งกลุ่มปกติ กลุ่มเสี่ยง หรือนักเรียนที่มีปัญหา และการแจ้งเตือนแบบ Early Warning เพื่อนำมาสู่การให้ความช่วยเหลือแบบทันท่วงที 

พร้อมจุดเน้นการทำงานร่วมกันในเรื่องการถอดบทเรียนกลไกการทำงานระบบดูแลช่วยเหลือของสถานศึกษา เพื่อศึกษา วิเคราะห์ และพัฒนาแนวทางการทำงานสู่การติดตามการช่วยเหลือนักเรียน ด้วยการส่งเสริมกิจกรรมต่างๆ ภายในสถานศึกษา (School-Based Interventions) เพื่อให้ความช่วยเหลือมาถึงเด็กได้มากที่สุด นอกจากนี้ยังเก็บรวบรวมความคิดเห็นของผู้ใช้งานและการพัฒนาระบบงานและระบบสารสนเทศที่สอดคล้องกับบริบทการทำงาน เพื่อปรับปรุงระบบให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นในอนาคตต่อไป

ขณะเดียวกันยังได้เปิดช่องทางการอบรมการใช้งานเครื่องมือสารสนเทศและประชุมแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ระหว่างครูผู้สอน ผู้ดูแลระบบ รวมไปถึงเจ้าหน้าที่เขตพื้นที่การศึกษา ให้มีความเข้าใจในการดำเนินงานมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการอบรมผ่านระบบออนไลน์ และมีการพัฒนาระบบการเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านระบบ E-Learning เพื่อให้คุณครูผู้ปฏบัติงานสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองทุกที่ทุกเวลา  ซึ่งจะสามารถเปิดลงทะเบียนให้อบรมได้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2565 เป็นต้นไป 

ทั้งนี้หลังจากวันที่ 7 ธันวาคมเป็นต้นไป สถานศึกษาที่อยู่ในโครงการนำร่อง สามารถเริ่มดำเนินการบันทึกข้อมูลผ่านระบบสารสนเทศ ทั้งการรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล และคัดกรองความเสี่ยงที่ครอบคลุมทุกมิติ โดยระบบนี้จะดำเนินการให้บันทึกข้อมูลได้จนถึงเดือนมีนาคม 2565 

ที่มา: กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

ม.นเรศวร และ สพฐ.-กสศ. ร่วมผนึกกำลังพัฒนาระบบสารสนเทศ

วันที่ 26 มีนาคม 2564 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดการประชุมสร้างความเข้าใจการดำเนินการพื้นที่ต้นแบบระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ระดับเขตพื้นที่การศึกษา สถานศึกษาต้นแบบ ที่โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการคอนเวนชั่นเซนเตอร์ โดยมีตัวแทนจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาใน 22 จังหวัดร่วมประชุม โดยระบบสารสนเทศเพื่อหลักประกันโอกาสทางการเรียนรู้ การคัดกรองนักเรียนยากจน และการดูแลช่วยเหลือนักเรียนนี้ ทางมหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นผู้พัฒนาแอปพลิเคชั่น ให้บุคลากรทางการศึกษาได้ประเมินและคัดกรองเป็นรายบุคคล เพื่อเป็นปัจจัยการพิจารณาข้อมูลในการรับทุนการศึกษา ที่ช่วยลดภาระของครอบครัวที่ยากจน และเด็กทุกคนยังสามารถอยู่ในระบบการศึกษาโดยได้รับการดูแลอย่างครอบคลุมทุกมิติ ทั้งด้านของสภาพความเป็นอยู่ของครอบครัว สุขภาพกาย สุขภาพจิต ข้อมูลด้านพฤติกรรม รวมถึงการประเมินภาวะด้านอารมณ์หรืออีคิว

ดร.สายพันธุ์ ศรีพงษ์พันธุ์สกุล รองผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครอง และช่วยเหลือเด็กนักเรียน สพฐ. กล่าวว่า ระบบนี้จะทำให้ครูและผู้อำนวยการโรงเรียนได้ทราบถึงพฤติกรรมเชิงลึกของนักเรียนว่าเป็นอย่างไรบ้าง ต้องดูแลอย่างไร และเขตพื้นที่การศึกษาได้รับทราบข้อมูลของนักเรียนไปจนถึงครอบครัวอย่างรอบด้าน ทุกมิติ ทั้งในเรื่องของความเสี่ยงจากการเดินทาง ปัญหาครอบครัว ปัญหาเรื่องสุขภาพกายและสุขภาพจิต ของเด็กนักเรียน ซึ่งจะมีส่วนช่วยเหลือเด็กได้ พร้อมกันนี้ยังทำให้เกิดการวางแผนแก้ไขปัญหาที่มีความครอบคลุมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นายสนิท แย้มเกสร รองเลขาธิการ สพฐ. กล่าวว่า ถึงการทำงานของ กสศ.เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาของเด็กนักเรียนไทย ว่า แม้ว่าหน่วยงานนี้จะได้รับการจัดตั้งมาในปี 2561 หรือเกือบ 3 ปี แต่สิ่งที่ได้เห็นคือ การทำงานที่จริงจัง เกิดเห็นผลเป็นรูปธรรม และสามารถช่วยเหลือนักเรียนที่มีความยากจนได้มาก อีกทั้งในการจัดทำระบบสารสนเทศเพื่อหลักประกันโอกาสทางการเรียนรู้ การคัดกรองนักเรียนยากจน และการดูแลช่วยเหลือนักเรียนนั้น มองว่า เรื่องที่มีความสำคัญมากที่สุด คือการให้เด็กที่อยู่ในระบบการศึกษา แต่การศึกษาไม่ได้มีเพียงแค่การเข้ามาเรียนในโรงเรียนและจบไปตามช่วงชั้น แต่สิ่งที่สำคัญคือหากไม่เห็นสภาพความเป็นจริงของเด็ก ก็จะไม่สามารถป้อนให้ความช่วยเหลือแก่เด็กได้ ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นควรจะเป็นไปในรูปแบบของการคัดกรอง ตามระบบ ให้เกิดการดูแลช่วยเหลือตามระบบของโรงเรียนและส่งต่อความช่วยเหลือไปยังเด็กนักเรียนต่อไป

ส่วน ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า ที่ผ่านมาจากการทำงานเยี่ยมบ้านของนักเรียนตามระบบการคัดกรองเด็กยากจนอย่างมีเงื่อนไข หรือ CCT ทำให้มีข้อมูลคุณภาพที่สูงขึ้น ได้เห็นสภาพปัญหาครอบครัวที่แท้จริง ทำให้ได้เห็นว่ามิติของการแก้ไขปัญหาเด็กนักเรียนยากจน ไม่ได้มีปัจจัยมาจากมิติของเศรษฐกิจและสังคมเพียงอย่างเดียว แต่การจะลดความเสี่ยงไม่ให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา จะต้องขยายฐานการให้ความช่วยเหลือดูแลเชื่อมโยงกับระบบการคัดกรองให้เป็นระบบเดียวกันครบทุกมิติ ให้ครูได้รับทราบถึงปัญหาความยากจนของเด็กพร้อมปัจจัยเสี่ยงอื่นๆไปในครั้งเดียวกัน ข้อมูลเหล่านี้ผู้ปกครองจะให้ข้อมูลตามความเป็นจริงแก่ครู เพื่อให้ครูจะนำไปดูแลนักเรียนในโรงเรียนเป็นรายคน สามารถปิดช่องโหว่และความเสี่ยงอย่างรอบด้าน แต่หากเกินกำลังที่โรงเรียนหรือครูจะดูแลได้ ก็นำข้อมูลเหล่านี้ส่งต่อไปยังกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เช่น หน่วยงานด้านสุขภาพ การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และด้านอื่นๆ ทำให้เกิดการบูรณาการการทำงานเพื่อช่วยเหลือนักเรียนโดยมีเด็กเป็นศูนย์กลางต่อไป ดังนั้นการพัฒนาความร่วมมือครั้งนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งของการให้ความช่วยเหลือกับเด็กนักเรียนได้อย่างตรงจุดมากขึ้น

ดร.ไกรยศ กล่าวอีกว่า โดยการทำงานของ กสศ. กับ สพฐ. และมหาวิทยาลัยนเรศวรครั้งนี้ มีเป้าหมายร่วมกัน คือ ป้องกันไม่ให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา เพราะเด็กหลายคนมีความตั้งใจการเรียนมาก แต่ก็ประสบปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ ต้องมาเป็นเสาหลักของครอบครัว มาดูแลสมาชิกในบ้านที่อาจจะป่วยติดบ้านหรือติดเตียง หรือผู้ปกครองอยู่ภาวะที่ไม่สามารถดูแลเด็กได้ เพื่อปลดพันธนาการต่างๆให้กับเด็กได้มีสมาธิและตั้งใจกับการเรียนอย่างเต็มที่ และจะให้อยู่ในระบบการศึกษาได้ต่อไป ช่วยให้มีกำลังใจในการศึกษาที่ไปได้ไกลที่สุดตามศักยภาพของเด็ก ซึ่งระบบนี้ก็จะเป็นตัวอย่าง เป็นต้นแบบให้มีการขยายร่วมมือกับกระทรวงอื่นด้วย เช่น กระทรวงมหาดไทย ที่นำไปใช้ในโรงเรียนเทศบาล โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน โรงเรียนพระปริยัติธรรม หรือโรงเรียนเอกชน เพื่อให้นำข้อมูลไปใช้ร่วมกันด้วย

ด้าน ดร.วรลักษณ์ คงเด่นฟ้า นักวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า ระบบสารสนเทศที่เข้ามาใหม่ จะช่วยการทำงานของครูในสองประเด็น คือ 1. ระบบนี้มีการเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลอื่นของ สพฐ. และ กสศ. เช่น CCT หรือ DMC ให้เข้ามาในระบบ ทำให้ครูไม่ต้องกรอกข้อมูลที่ซ้ำซ้อนสามารถดึงข้อมูลเดิมมาได้ทันที 2. คือระบบการทำงานเดิมไม่มีระบบสารสนเทศ ที่รวบรวมมาจากโรงเรียนต่าง ๆได้เลย หากมีข้อมูลนี้จะทำให้การรวบรวมข้อมูลสามารถทำได้ง่ายมากขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ประโยชน์จะเกิดขึ้นที่ตัวเด็กนักเรียน เพราะเป็นระบบที่ครูจะมีข้อมูลส่วนบุคคลของเด็กที่จะพิจารณาความช่วยเหลืออย่างถูกต้อง และยังมีระบบการแจ้งเตือนและเฝ้าระวังความเสี่ยง หากเด็กนักเรียนขึ้นสัญลักษณ์สีแดงก็เป็นการเตือนได้ว่าครูจะเข้าไปหาเด็กนักเรียนคนไหน และสามารถให้ความช่วยเหลือได้อย่างไรบ้าง ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สามารถเห็นได้จนถึงเขตพื้นที่การศึกษา ที่จะทำให้พิจารณาในการให้ความช่วยเหลือแก่โรงเรียนได้ด้วยเช่นกัน

ดร.วรลักษณ์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามได้วางแผนนะยะเวลาของกระบวนการไว้โดยคร่าวๆ คือ ในช่วงเดือนมี.ค.นี้ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจะวางแผนให้เริ่มมีการคัดเลือกหาโรงเรียนที่สมัครใจเป็นพื้นที่นำร่อง ในเดือน เม.ย.จะเริ่มสอนไปยังเขตพื้นที่ที่สมัครและโรงเรียนที่เข้าสมัครร่วมทดลองใช้ระบบ จากนั้นในเดือน พ.ค. – มิ.ย.จะทดลองในเป็นระยะเวลาสองเดือน คาดว่าจะนำไปสู่ภาพใหญ่มีการใช้งานจริงได้ในช่วงภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 นี้ ส่วนตัวคาดหวังว่า หากระบบนี้นำไปใช้ในทุกโรงเรียนทำเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการดูแลเด็กของตนเองได้ มีการส่งข้อมูลต่อเนื่อง เก็บประวัติในทุกปี ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมาก เพราะจะสามารถเห็นประวัติเด็กอย่างต่อเนื่อง ระบบจะเข้าไปสู่ระบบสารสนเทศ และจะส่งผลไปถึงภาพรวมของประเทศที่สามารถตรวจสอบได้ว่า ขณะนี้เด็กนักเรียนกำลังประสบปัญหาด้านใด เพื่อนำไปสู่การวางนโยบายในภาพใหญ่ และช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้อีกด้วย เพราะระบบนี้จะมีการดูแลเป็นรายบุคคล

ทั้งนี้ ดร.วิมพ์วิภา รักสม รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา มัธยมศึกษาจังหวัด พังงา ภูเก็ต ระนอง ระบุถึงข้อเสนอแนะจากการใช้งานระบบสารสนเทศ ว่า ระบบดังกล่าวถือว่ามีประโยชน์ต่อทั้งนักเรียน ที่ใช้ในการบริหารจัดการการเรียนการสอน ทั้งกลุ่มปกติ กลุ่มเสี่ยง กลุ่มที่มีปัญหา รวมถึงกลุ่มที่มีความสามารถพิเศษ ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมการศึกษาโดยไม่ทิ้งไว้ใครไว้ข้างหลัง มีประโยชน์สำหรับโรงเรียนและเขตพื้นที่การศึกษาคือทำให้ได้เห็นข้อมูลในภาพรวมว่าแต่ละพื้นที่เด็กนักเรียนมีปัญหาความเสี่ยงในด้านใด เพื่อทำให้การแก้ไขปัญหาเด็กนักเรียนนั้นตรงจุดมากยิ่งขึ้น

ที่มา: สำนักข่าวอิศรา

นิสิต ม.นเรศวร ร่วมสิงห์อาสาลงพื้นที่ภาคเหนือ มอบเสื้อกันหนาวแก่ชาวบ้านในพื้นที่ห่างไกล

ในปีนี้สิงห์อาสาและเครือข่ายนักศึกษาจากหลายสถาบัน ระดมทีมงานลงพื้นที่ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อส่งมอบเสื้อกันหนาวถึงมือชาวบ้านในถิ่นทุนกันดาร ให้ไออุ่นกว่า 50,000 ตัว

โดยล่าสุดได้ลงพื้นที่ ที่โรงเรียนบ้านห้วยสัมป่อย ต.ดอยแก้ว อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ซึ่งกลุ่มสิงห์อาสา โดยบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด และมูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี พร้อมด้วยนักศึกษาจากเครือข่ายนักศึกษาสิงห์อาสาภาคเหนือรวม 11 สถาบัน ร่วมมอบเสื้อกันหนาวกว่า 1,000 ตัว นอกจากนี้ มูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี และ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้นำนักศึกษาแพทย์และนักศึกษาทันตแพทย์ให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพช่วงฤดูหนาวและการดูแลสุขภาพช่องปากให้แก่ชาวบ้านและเด็กๆในชุมชน

ซึ่งหมู่บ้านห้วยส้มป่อย มีทั้งสิ้น 207 ครัวเรือน ประชากรทั้งหมดประมาณ 700 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวเผ่าปกาเกอะญอ ประกอบอาชีพเกษตรกรรมปลูกลำไยเป็นหลัก พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่บนภูเขาสูงชัน และที่ราบเชิงเขา โดยอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลกว่า 1,200 เมตร เป็นพื้นที่ป่าสมบูรณ์รวมถึงเป็นป่าต้นน้ำ อุทยานแห่งชาติออบหลวง และพื้นที่รอยต่ออุทยานแห่งชาติอินทนนท์ ในช่วงเดือน ธ.ค.-ม.ค. จะประสบภัยหนาว อุณหภูมิโดยเฉลี่ยในฤดูหนาวอยู่ระหว่าง 5-10 องศาเซลเซียส

นักศึกษาจากเครือข่ายนักศึกษาสิงห์อาสาภาคเหนือ ที่มาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ มีจำนวนกว่า 100 คน จาก 11 สถาบัน ประกอบด้วย ม.แม่ฟ้าหลวง ม.ราชภัฏเชียงราย ม.เทคโนโลยีราชมงคลล้านนา วิทยาเขตเชียงราย ม.เชียงใหม่ ม.ราชภัฏเชียงใหม่ ม.เทคโนโลยีราชมงคลล้านนา วิทยาเขตเชียงใหม่ ม.ราชภัฏลำปาง ม.ราชภัฏกำแพงเพชร ม.นเรศวร ม.ราชภัฏพิบูลสงคราม และ ม.พะเยา ร่วมลงพื้นที่ในครั้งนี้ด้วย

โดย ในช่วงฤดูหนาว ตลอดเดือนธันวาคมที่ผ่านมา สิงห์อาสาและเหล่าคณะกรรมการเครือข่ายนักศึกษาสิงห์อาสา ได้ลงพื้นที่มอบเสื้อกันหนาวในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือหลายพื้นที่ อาทิ เลย สกลนคร มหาสารคาม เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก น่าน พะเยา เชียงราย ซึ่งหลังจากนี้ก็จะลงพื้นที่อย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นการรับประกันว่าพี่น้องในถิ่นทุรกันดารที่กำลังประสบภัยหนาวจะได้มีเสื้อกันหนาวสิงห์อาสาใส่คลายความหนาวรับไออุ่นตลอดช่วงฤดูหนาวนี้แน่นอน

ทั้งนี้ยังได้มีหน่วยแพทย์เคลื่อนที่โดยมูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี ที่ขับเคลื่อนภารกิจลงพื้นที่ดูแลรักษาเรื่องสุขภาพของชาวบ้านและเด็กๆ ให้มีสุขภาวะอนามัยที่แข็งแรงสมบูรณ์ ต่อเนื่องมานานกว่า 3 ทศวรรษ ก็จะเดินหน้าควบคู่ไปพร้อมกับการมอบเสื้อกันหนาวให้ไออุ่นอีกด้วย

ที่มา: sanook.com

รมว.พม.ร่วมมือพัฒนาชีวิตคนพิการและคุณแม่คุณพ่อวัยใสกับมหาวิทยาลัยนเรศวร

เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2562 ที่ห้องประชุมวิทยาลัยพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) และกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) มหาวิทยาลัยนเรศวร และวิทยาลัยเทคโนโลยีธุรกิจอาหารไทยและนานาชาติ
โดยมี นางธนาภรณ์ พรมสุวรรณ อธิบดีกรมกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ นายธนสุนทร สว่างสาลี รองอธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ศาสตราจารย์พิเศษ  ดร.กาญจนา เงารังสี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร และนางสาวมารีน่า จงเลิศเจษฎาวงศ์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคโนโลยีธุรกิจอาหารไทยและนานาชาติ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการนำองค์ความรู้ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในการส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงาน รวมถึงความร่วมมือระหว่างกันในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  ทั้งนี้เพื่อการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพและคุณภาพชีวิตคนพิการในด้านต่างๆ การพัฒนาอาชีพและศักยภาพสตรี อีกทั้งเพื่อการสร้างความเข้มแข็งให้แก่สถาบันครอบครัว และการคุ้มครองสวัสดิภาพบุคคลในครอบครัว 
นายจุติ กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือทางวิชาการครั้งนี้ เนื่องจากนโยบายของกระทรวง พม. มุ่งหวังให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายได้อยู่ดีมีสุขด้วยคุณภาพชีวิตที่ดีในสังคมคุณภาพ โดยมีพันธกิจในการพัฒนาคนและสังคมให้มีคุณภาพ เต็มตามศักยภาพมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง และสร้างเสริมภาคีเครือข่ายจากทุกภาคส่วนในการมีส่วนร่วมพัฒนาสังคม รวมทั้งเสริมสร้างขีดความสามารถของคนในการช่วยเหลือตนเองในการดำรงชีวิตอย่างมั่นคง ผ่านการสร้างศักยภาพและพัฒนาอาชีพที่สร้างสรรค์ อาทิ เชฟ บาริสต้า การปลูกผักสวนครัว เกษตรปลอดภัย และการเลี้ยงปลาสวยงาม เป็นต้น
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างรากฐานคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างมั่นคงและยั่งยืน การส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการและสตรี เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของสังคม การส่งเสริมเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับคนพิการ และการส่งเสริมการจัดสวัสดิการด้านต่างๆ  อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม รวมถึงการส่งเสริมความเสมอภาคและเท่าเทียมระหว่างเพศ และการเสริมสร้างความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว ซึ่งสอดคล้องกับปรัชญาของมหาวิทยาลัยนเรศวร และเจตนารมณ์ของวิทยาลัยเทคโนโลยีธุรกิจอาหารไทยและนานาชาติ ที่มุ่งกระจายโอกาสและความเสมอภาคให้กับประชาชน ด้วยการใช้องค์ความรู้ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี  และนวัตกรรม นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน  
นายจุติ กล่าวต่อไปว่า กระทรวง พม. ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) และกรมกิจการสตรีและครอบครัว (สค.) บูรณาการและประสานความร่วมมือกับหน่วยงานในระดับพื้นที่ ร่วมกับมหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อพัฒนาโครงการหรือกิจกรรม เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนพิการและสตรี
โดยมหาวิทยาลัยนเรศวร จะสนับสนุนทรัพยากรที่จำเป็นต่อการดำเนินโครงการ อาทิ องค์ความรู้ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ นิสิต และเครื่องมือ อุปกรณ์  เป็นต้น และวิทยาลัยเทคโนโลยีธุรกิจอาหารไทย และนานาชาติ จะให้ความร่วมมือในการสร้างหลักสูตรในการพัฒนาอาชีพและยกระดับศักยภาพคนพิการ พร้อมทั้งสนับสนุนทรัพยากรที่จำเป็นต่อการดำเนินโครงการ อาทิ อาจารย์และผู้สอนที่มีประสบการณ์อุปกรณ์และสื่อการเรียนการสอน  และการประเมินผลการฝึกทักษะวิชาชีพ เป็นต้น

ที่มา: phitsanulokhotnews

มหาวิทยาลัยนเรศวร พัฒนาระบบการแพทย์ระยะไกล เชื่อมโยง รพ.กับผู้ป่วย เข้าถึงการรักษาเท่าเทียม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พีรธร บุณยรัตพันธุ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมด้วยนายนิพนธ์ จงวิชิต ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระสายเสียงโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) นายแพทย์ปิยะ ศิริลักษณ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก และคณะผู้บริหาร ได้ร่วมกันนำเสนอโครงการพัฒนาต้นแบบของเทคโนโลยีที่ช่วยในการพัฒนาคุณภาพการให้บริการทางการแพทย์ฉุกเฉินทางไกลในชนบท
โดยผ่านเครือข่ายดิจิทัลความเร็วสูง (ระยะที่  2) หวังเชื่อมโยงเครือข่ายโรงพยาบาล ศูนย์แพทย์ในจังหวัดพิษณุโลกแบบครบวงจร เพื่อยกระดับการรักษาและลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงทางการแพทย์ในประเทศไทย นายนิพนธ์ จงวิชิต รักษาการผู้จัดการกองทุนวิจัยและพัฒนาฯ กล่าวว่า จากปัญหาระบบทางการแพทย์ของประเทศไทยมีความขาดแคลนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่ชนบทพื้นที่ห่างไกล เนื่องด้วยจำนวนแพทย์ที่ไม่เพียงพอ และส่วนใหญ่อยู่ในโรงพยาบาลส่วนกลาง และโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในเขตเมือง ส่งผลให้แพทย์ไม่มีเพียงพอและรับรองกับจำนวนผู้ป่วยในเขตพื้นที่ห่างไกล
ดังนั้น กทปส. เล็งเห็นถึงความสำคัญและปัจจัยดังกล่าวจึงเป็นที่มาของการมอบทุน เพื่อทำโครงการพัฒนาคุณภาพการให้บริการทางการแพทย์ฉุกเฉินทางไกลในชนบทโดยผ่านเครือข่ายดิจิทัลความเร็วสูง เพื่อลดช่องว่างทางการแพทย์ที่เกิดขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัดความเร็วสูง ศักยภาพของเทคโนโลยีไร้สายสร้างจุดแข็ง ในการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบแพทย์ทางไกลและให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสามารถเข้าถึงผู้ป่วยได้ทุกพื้นที่ทุกเวลาแบบ Real Time สำหรับโครงการพัฒนาคุณภาพการให้บริการทางการแพทย์ฉุกเฉินทางไกลในชนบท โดยผ่านเครือข่ายดิจิทัลความเร็วสูงโดย
ทางมหาวิทยาลัยนเรศวรได้รับทุนสนับสนุน จาก กทปส. มีลักษณะคล้าย Tele Health รูปแบบครบวงจร มีแพทย์เป็นที่ปรึกษาให้กับผู้ป่วยและพยาบาลผ่าน Application เชื่อมต่อสำหรับแพทย์ โครงการดังกล่าวได้รับทุนครั้งแรกเมื่อปี 2557 ทำเป็นโครงการต้นแบบทดลองทั้งสิ้น 4-5 โรงพยาบาลในพื้นที่ ทั้งนี้ในการพัฒนาระบบแพทย์ทางไกลให้สามารถ เชื่อมโยง รับส่งข้อมูลรวมทั้งการเข้าถึงฐานข้อมูลผู้ป่วย ได้อย่างรวดเร็วซึ่งเทคโนโลยีดิจิทัลความเร็วสูงจะเชื่อมต่อภาพ จากการรักษาให้กับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการตรวจรักษาผ่านระบบเชื่อมโยงด้านการโทรคมนาคมเข้าสู่โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลในพื้นที่ หรือทำการเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญปลายทาง ทำให้ลดปัญหาการขาดแคลนแพทย์ทุกพื้นที่ในประเทศ และเกิดความเท่าเทียม ในการเข้าถึงรักษาลดปัญหาการเสียชีวิตของประชาชน
โดยการนำเอาเทคโนโลยีด้านการโทรคมนาคมดิจิทัลความเร็วสูงมาพัฒนาร่วมกับระบบทางการแพทย์โดยเกิดการพัฒนาต่อยอดอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อประโยชน์ต่อวงการแพทย์ไทยและประชาชนในประเทศอีกด้วย ล่าสุดทางมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ยื่นขอทุนต่อเนื่องเพื่อขยายโครงการต่อไปในปี 2561 ในโครงการพัฒนาต้นแบบของเทคโนโลยี ที่ช่วยในการพัฒนาคุณภาพการให้บริการทางการแพทย์ฉุกเฉินทางไกลในชนบท โดยผ่านเครือข่ายดิจิทัล ความเร็วสูงระยะที่ 2 เพื่อจะเชื่อมโยงโรงพยาบาลทุกแห่งในจังหวัด เป็นสิ่งที่เห็นถึงความสำเร็จของโครงการและการดำเนินการที่เห็นภาพเป็นประโยชน์ ในการเชื่อมโยงระหว่างโรงพยาบาล สาธารณสุข ทั้งจังหวัด สถานีอนามัย และบุคลากร อย่างแพทย์ พยาบาลสู่การรักษาผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และคาดว่าในอีก 2 ปีจะมีการขยายเพิ่ม
ซึ่งหลังจากนี้ทางกระทรวงสาธารณสุข จะมารับช่วงต่อไปขยายผลในจังหวัดอื่นๆต่อไป ในอนาคตปี 2564 การขยายต่อยอดโครงการจะเป็นไปในส่วนของนโยบายของทางกระทรวง หากแผนการพัฒนาโครงการดังกล่าวสำเร็จ กทปส.เชื่อว่าจะช่วยในการรักษาโรคที่ไม่ได้รุนแรง ทำให้เกิดความรวดเร็วขึ้นอย่างมาก ทางด้าน ศ.ดรไพศาล มุณีสว่าง คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยนเรศวร ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า โครงการพัฒนาคุณภาพการบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินทางไกลในชนบท โดยเครือข่ายโดยผ่านเครือข่ายดิจิตัลความเร็วสูง ถือว่าเป็นต้นแบบให้กับโรงพยาบาลในพื้นที่ชนบท พื้นที่ห่างไกลกับโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลใหญ่ ในพื้นที่เขตเมืองหรือกรุงเทพฯ
ปัจจุบันได้ทำการทดลองวางระบบและเชื่อมต่อการทำงานกับเข้ากับโรงพยาบาล ภายใต้การทำงานของมหาวิทยาลัยนเรศวร โรงพยาบาลในจังหวัดพิษณุโลก 8 แห่งโรงพยาบาลศูนย์อีก 2 แห่ง รวมแล้ว 10 โรงพยาบาล โดยได้ทำการศึกษาวิเคราะห์และนำโจทย์ด้านเทคโนโลยีเข้ามาผนวกใช้ ซึ่งจัดการปัญหาที่ได้ทำการศึกษาคือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญไม่ได้อยู่กับที่ มีการเดินทางอยู่ตลอดเวลาผู้ป่วยไม่สามารถที่จะรอได้ต้องการการรักษาอย่างทันที ดังนั้นระบบแพทย์ทางไกลที่ดีตอบโจทย์คือระบบโทรศัพท์ทางไกล หรือเรียกว่า โมบายแอพพลิเคชั่น บนสมาร์ทโฟนที่สามารถให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเชื่อมต่อ สามารถให้คำปรึกษาได้ตลอดเวลา ขณะนี้มีโรงพยาบาลเข้าร่วมโครงการและเชื่อมกับระบบประมาณ 289 แห่งจากในระยะแรกมี 13 แห่งแบ่งเป็นโรงพยาบาลในจังหวัดพิษณุโลก 157 แห่งและโรงพยาบาลในจังหวัดสุโขทัย 132 แห่ง  
คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของระบบการทำงานของโครงการได้พัฒนาและขยายผลโครงการระยะที่ 1 ถึงโครงการระยะที่ 2 ซึ่งเป็นการพัฒนา โดยผ่าน Application NUMED ซึ่งมีการพัฒนาฟังก์ชัน การเชื่อมต่อการ service บน Application โดยการจัดตารางเวรเพื่อให้การให้คำปรึกษาให้ฟังชั่นสามารถสนทนา (Chat) ที่ความสามารถส่งข้อมูลภาพและวีดีโอแบบกลุ่มได้ รวมถึงพัฒนาฟังก์ชั่นการค้นหาข้อมูลผู้ป่วยบน Application ด้วยการป้อนรหัส 13 หลักโดยได้พัฒนาระบบการศึกษาแบบแยกตามกลุ่มความเชี่ยวชาญของแพทย์ นอกจากนี้ในส่วนฟังก์ชันการสื่อสารระหว่างผู้ป่วยและผู้ให้คำปรึกษาโดยไม่ต้องเปิดเคส ระบบได้ทำการจัดเก็บ (BackUp Delta) และบริหารการจัดการข้อมูลจากระบบศูนย์ข้อมูลบนคลาวด์มายังเซิร์ฟเวอร์ประจำสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ให้สามารถใช้ข้อมูลได้สะดวกยิ่งขึ้น อีกทั้งยังได้พัฒนาโดยการสร้างระบบ web Admin สำหรับผู้ดูแลและจัดการใช้งานให้กับโรงพยาบาลต้นสังกัดเป็นผู้ดูแล เป็นต้น

ที่มา: phitsanulokhotnews

Sustainability

NARESUAN UNIVERSITY

Solverwp- WordPress Theme and Plugin