นักวิจัย ม.นเรศวร 1 ใน 2 นักวิจัยไทยที่ได้รับรางวัลพิเศษในงาน IPITEx ปี 2023 จัดโดย วช. ชูผลงานแห่งความภาคภูมิใจ ส่งออกผลไม้ไทยไปตีตลาดโลก

นักวิจัยไทย รศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท จากมหาวิทยาลัยนเรศวร 1 ใน 2 ของนักวิจัยไทยที่ได้รับรางวัลพิเศษในงานนวัตกรรมและเทคโนโลยีทรัพย์สินทางปัญญานานาชาติ หรือ IPITEX 2023 จัดโดย วช.ในงานวันนักประดิษฐ์ 2566 หมาดๆ เปิดใจ ผลงานแห่งความภาคภูมิใจส่งออกผลไม้ไทยไปตีตลาดโลก

เมื่อวันที่ 8 ก.พ. รศ. ดร. พีระศักดิ์ ฉายประสาท หัวหน้าทีมวิจัยจาก คณะเกษตรศาสตร์ และสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า ประเทศไทยมีชื่อเสียงในการส่งออกผลไม้สดโดยเฉพาะมะม่วงนำ้ดอกไม้สีทองที่มีความโดดเด่นและได้รับความนิยมอย่างมากจากชาวต่างชาติ แต่ยังมีตลาดอีกหลายแห่งที่น่าสนใจและควรได้รับการพัฒนาสนับสนุนให้มีการส่งออก อาทิ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และสหรัฐอเมริกา

ในช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมาผู้ส่งออกผลไม้ไทยต้องประสบปัญหาในการขนส่งสินค้าทางอากาศเป็นอย่างมาก ทีมวิจัยได้ค้นพบแนวทางช่วยเหลือผู้ส่งออกมะม่วงนำ้ดอกไม้สีทอง จาก งานวิจัย ที่ วช.ให้ทุนในโครงการ การบริหารจัดการสายโซ่คุณค่ามะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง

ด้วยการประเมินความสุกแก่ของมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองโดยใช้เทคนิค เนียร์อินฟราเรดสเปกโตรสโกปีแบบไม่ทำลายผลิตผล สามารถประเมินคุณภาพได้อย่างรวดเร็วถูกต้องมีความแม่นยำสูงและเชื่อถือได้ ในการขนส่งทางเรือใช้ตู้คอนเทนเนอร์ควบคุมบรรยากาศให้มีความเข้มข้นออกซิเจนที่ 3 เปอร์เซนต์และคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ที่ 5 เปอร์เซนต์ร่วมกับสารชะลอความสุกแก่ I-MCP เก็บรักษาที่อุณหภูมิ 13-15 องศาเซลเซียส รวมทั้งใช้บรรจุภัณฑ์ดัดแปลงสภาพบรรยากาศ ได้แก่ถุง White Ethylene absorbing Bag ห่อมะม่วงน้ำดอกไม้ ทำการส่งไปที่เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ใช้เวลาขนส่ง 28 วัน มีระยะเวลาจำหน่ายอีก 7-9 วัน

ผลการประเมินความคุ้มค่าพบว่า การขนส่งทางเรือด้วยวิธีนี้มีต้นทุนต่อกล่องต่ำกว่าการขนส่งทางอากาศอย่างมีนัยสำคัญ การเน่าเสียของมะม่วงต่อปริมาณการส่งออกไม่เกิน 30 เปอร์เซนต์ ลดต้นทุน 11 เปอร์เซนต์ต่อปริมาณการส่งออกตั้งแต่ 5 ตันขึ้นไป เป็นแรงจูงใจที่สามารถเป็นทางเลือกในการส่งออกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองไปต่างประเทศได้ ช่วยผู้ส่งออกผลไม้สดไทยให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกอีกทางหนึ่ง

รศ.ดร. พีระศักดิ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีข่าวที่น่ายินดีว่า ผลงานวิจัยเรื่องส้มโอฉายรังสีเพื่อการส่งออกที่ ทีมวิจัยได้รับทุนจาก วช. โดยความร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ หรือ สทน. สามารถตอบโจทย์การส่งออก ส้มโอไปยังสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรก เนื่องจากข้อกำหนดการส่งออกผลไม้ มะม่วง ลำไยและส้มโอ จะต้องผ่านการฉายรังสีในปริมาณ 400 เกรย์ เพื่อป้องกันแมลงวันผลไม้ ซึ่ง ทีมวิจัยได้ทำเรื่องนี้สำเร็จแล้ว มีส้มโอที่ต้านทานรังสีในปริมาณ 400 เกรย์โดยรักษาคุณภาพไว้ได้ ประกอบด้วยพันธ์ส้มโอพันธ์ุทับทิมสยาม พันธุ์ขาวใหญ่ พันธุ์ทองดีและพันธุ์ขาวน้ำผึ้ง ซึ่งจะทำให้ส้มโอไทยสามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้มากขึ้น เพราะรสชาติหวานอมเปรี้ยว มีผิวและสีสันสวยงามเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคโดยเฉพาะชาวเอเชียที่นิยมนำส้มโอไปไหว้บรรพบุรุษ ไหว้เจ้าตามประเพณีและในงานประเพณี ถือเป็นผลไม้มงคล จะทำให้เกษตรกรสวนส้มโอที่ปลูกในพื้นที่ต่างๆ อาทิ ที่พิจิตร สมุทรสาคร สมุทรสงคราม นครปฐมและส้มโอทับทิมสยามที่ปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยในระหว่าง 5-12 มีนาคม 2566 เราจะนำส้มโอและมะม่วงมหาชนกไปจัดแสดงในงาน Natural Product ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าเกษตร สินค้าธรรมชาติและการแปรรูปที่ใหญ่ที่สุด จัดที่แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา โดยได้รับความร่วมมือจากกรมวิชาการเกษตร ผู้ส่งออกผู้นำเข้าของไทยซึ่งจะเป็นการประกาศความพร้อมในการส่งส้มโอ และมะม่วงมหาชนกไปยังสหรัฐอเมริกาต่อไป

รศ.ดร. พีระศักดิ์ ฉายประสาท นักวิจัยมือทองด้านการเกษตรและผลไม้ไทยกล่าวถึงโครงการวิจัยล่าสุดที่เพิ่งได้รับทุนจาก บพข. ได้แก่ โครงการท่องเที่ยวเชิงเกษตรไร้คารบอน เป็นโครงการระยะ1ปี6เดือน เราจะทำโครงการพานักท่องเที่ยวเข้าไปสัมผัสสวนผลไม้ที่ไร้คาร์บอนตอบโจทย์ผู้บริโภคที่อยากเข้าไปเยี่ยมชมสวนตั้งแต่ช่วงใกล้เก็บเกี่ยว เพื่อสัมผัสกับธรรมชาติ ซึ่งกำหนดพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง และปากช่อง ได้แก่ มะม่วงน้ำดอกไม้ที่พิษณุโลก สตรอเบอรี่ที่เขาค้อ องุ่นไซมัสแค้ทที่นำมาปลูกตั้งแต่พิษณุโลกถึงเชียงใหม่ เราอยากให้การท่องเที่ยวเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรอย่างที่ในต่างประเทศทำกัน เป็นการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวจากสวนผลไม้ซึ่งจะต้องมีสิ่งดึงดูดใจใหม่ๆ ซึ่งจะทำให้เกษตรกรต้องปรับตัว

“เราจะเข้าไปให้คำแนะนำเรื่องการจัดการพื้นที่ การบริหารจัดการนักท่องเที่ยว ความสะดวกสบาย ความปลอดภัย ให้นักท่องเที่ยวรู้สึกไปแล้วอยากไปอีก กิจกรรมจะมีทั้งชม ชิม ช้อป แชะ ทั้งหมดจะทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยในพื้นที่ เพื่อทำให้สวนผลไม้ขายได้มากขึ้น เพราะตอนนี้คนเริ่มโหยหาการท่องเที่ยวใหม่ๆที่ไม่เคยไป เชื่อว่าการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำหรือไร้คาร์บอนจะเป็นกระแสตอบรับในเทรนด์ใหม่ของโลก

ไฮไลท์แห่งแรกที่เราเลือกคือ ปากช่อง เพราะอยู่ใกล้กรุงเทพสามารถเป็นทริปต์วันเดียวได้ และมีการปลูกผลไม้อยู่มาก แต่จะทำอย่างไรให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ เป็นโจทย์ที่เราจะเปิดตัวในเร็วๆ นี้

ที่มา: mgronline

ม.นเรศวร ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการ Talent Mobility “การพัฒนาสูตรอาหารจิ้งหรีด”

เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566 อุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ดร.ยุพา หาญบุญทรง อาจารย์ประจำภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ดร.อภิรชัย วงษ์ศรีวรพล ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น และผู้แทนจากสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม ลงพื้นที่เพื่อติดตามความก้าวหน้าของโครงการ “การพัฒนาสูตรอาหารจิ้งหรีดต้นทุนต่ำและโปรแกรมการให้อาหารเพื่อยกระดับมาตรฐานการเลี้ยงของฟาร์มเกษตรกรเครือข่าย” โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ทศพร อินเจริญ สังกัด คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นหัวหน้าโครงการ ดำเนินงานร่วมกับ บริษัท ล้านฟาร์มฮัก จำกัด ภายใต้โครงการ Talent Mobility ประจำปีงบประมาณ 2565

ที่มา: อุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร ใส่ใจการรักษามาตรฐานความสะอาด “อาหารปลอดภัย” ตามหลักสุขาภิบาล เพื่อให้นิสิตปลอดภัย

มหาวิทยาลัยนเรศวร ใส่ใจการรักษามาตรฐานความสะอาด ตามหลักสุขาภิบาล เพื่อให้นิสิต และผู้รับบริการปลอดภัยจากการใช้บริการ เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566 กองกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้รับการตรวจมาตรฐานอาหาร (Clean Food Good Taste) ตามมาตรฐานอาหารของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข โดยมีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก เข้าตรวจ ณ ศูนย์อาหาร NU square

ที่มา: กองกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยนเรศวร

นักวิจัย ม.นเรศวร แปรรูปกะหล่ำปลี-โหระพา ลดความเสี่ยงไขมันในเส้นเลือด

เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2566 รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ.นันทิพ ลิ้มเพียรชอบ และ รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ.วรี ติยะบุญชัย อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ร่วมแถลงผลวิจัยแปรรูปกะหล่ำปลี และโหระพาเป็นอาหารเสริม ลดความเสี่ยงไขมันในเส้นเลือด โรคหัวใจและโรคอ้วน

รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ.นันทิพ กล่าวว่า ในปัจจุบันภาวะคอเลสเตอรอลสูง นับว่าเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญที่ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดคอเลสเตอรอล เป็นไขมันชนิดหนึ่งใช้เป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์ฮอร์โมนและเป็นส่วนหนึ่งของเยื่อบุเซลล์คอเลสเตอรอลส่วนใหญ่ถูกสังเคราะห์ขึ้นจากตับ บางส่วนพบอยู่ในอาหารที่เรารับประทาน “กะหล่ำปลีผง” ผลิตด้วยกรรมวิธี Freeze-dry โดยผงที่ได้จะมีลักษณะฟูละเอียดสีเขียวอ่อน มีกลิ่นอ่อนความคงตัวทางกายภาพดี หากเก็บที่อุณหภูมิที่เหมาะสมและแสดงฤทธิ์ในการจับกับกรดน้ำดี เนื่องจากกรดน้ำดีมีความสัมพันธ์กับระดับคอเลสเตอรอล ในกระแสเลือดโดยการจับกรดน้ำดีในทางเดินอาหาร จะส่งผลให้มีการขับกรดน้ำดีทิ้งออกทางอุจจาระ และส่งผลต่อเนื่องให้ดับคอเลสเตอรอลไปใช้สร้างกรดน้ำดีเพิ่มมากขึ้น จึงส่งผลทำให้ระดับของคอเลสเตอรอล ในเลือดลดลงได้ ถือว่ามีประโยชน์ต่อร่างกายเป็นอย่างมาก ล่าสุดผลงานวิจัยดังกล่าว ได้จดอนุสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว พร้อมทั้งจะวิจัยต่อยอดผลิตภัณฑ์ ให้มีการพัฒนาต่อไป

ที่มา: dailynews

ขอเชิญเข้าร่วมอบรมการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สมุนไพร สำหรับนักวิจัยและผู้ประกอบการ

วันที่ 26 – 27 มกราคม 2566 รูปแบบ Onsite: ห้องประชุมมหามนตรี อาคารอุทยานองค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชมหาวิทยาลัยนเรศวร (KNECC) Online: Facebook Live เพจ DRI Naresuan University

ที่มา: อุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร

อาจเป็นรูปภาพของ 1 คน และ ข้อความ

ม.นเรศวร ร่วม วช. เผย พร้อมส่งสตรอว์เบอร์รีพันธุ์ 89 ออกสู่ตลาดปีหน้า

วันที่ 26 มกราคม 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ผู้ทรงคุณวุฒิ วช. และสื่อมวลชน ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการวิจัยเรื่อง “การวิจัยและการพัฒนาเทคโนโลยีก่อนและหลังเก็บเกี่ยวสตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 89 ในเขตภาคเหนือ” ดำเนินโครงการโดย รองศาสตราจารย์ ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท และคณะนักวิจัย แห่งมหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อคัดเลือกสายพันธุ์ที่มีศักยภาพในการผลิตสารแอนโทไซยานินในสตรอว์เบอร์รี ณ สถานีเกษตรโครงการหลวงทุ่งหลวง อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่

รองศาสตราจารย์ ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า สตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 89 เป็นพันธุ์ลูกผสมระหว่างสตรอว์เบอร์รีพันธุ์ 329 เป็นสายพันธุ์พ่อและสตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 80 เป็นสายพันธุ์แม่ ซึ่งถูกปรับปรุงพันธุ์ขึ้นในระหว่างปี พ.ศ. 2557 – 2563 ทำให้สตรอว์เบอร์รีสายพันธุ์นี้มีขนาดใหญ่เทียบเท่าสตรอว์เบอร์รีเกาหลี อีกทั้งมีกลิ่นหอม ทนต่อการขนส่ง และมีปริมาณสารแอนโทไซยานินหรือสารต้านอนุมูลอิสระสูง เฉลี่ย 40.83 มิลลิกรัม/100 กรัม สูงกว่าพันธุ์การค้าทั่วไป 1-2 เท่า ซึ่งส่งผลดีต่อสุขภาพ ดังนั้น จึงเหมาะแก่การนําไปส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก โดยสายพันธุ์นี้ได้รับพระราชทานนามว่า “สตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 89” ในปี พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา

ที่มา: เทคโนโลยีเกษตร

ม.นเรศวร จัดกิจกรรม Food Maker Space Workshop @NU

ระหว่างวันที่ 14 – 15 มกราคม 2566 Food Innopolis เมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis: FI) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้จัดกิจกรรม Food Maker Space Workshop @NU : “The Science Behind Bakery” ณ อาคารนวัตกรรมเทคโนโลยีการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรและอาหาร มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยได้รับเกียรติจาก ดร.พิสุทธิ์ อภิชยกุล รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และการถ่ายทอดเทคโนโลยีและรักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นประธานกล่าวเปิดกิจกรรมดังกล่าว เเละได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.วรสิทธิ์ โทจำปา คณบดีคณะเกษตรทรัพยากรธรรมชาติเเละสิ่งเเวดล้อมกล่าวถึงที่มาวัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรม ทั้งนี้ดร.เจษฎา วิชาพร รองคณบดีฝ่ายบริการวิชาการและสื่อสารองค์กร คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมเปิดงานให้การต้อนรับผู้เข้าร่วมกิจกรรมเเละคุณสุธีรา อาจเจริญ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจเมืองนวัตกรรมอาหาร

ในฐานะหน่วยงานเครือข่ายเมืองนวัตกรรมอาหาร (FI@NU) และวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านเบเกอรี่ระดับประเทศ รศ.ดร.นภัสรพี เหลือสกุล คณบดี คณะอุตสาหกรรมอาหาร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (FI@KMITL) จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการแบบเข้มข้นฉลอง Food Maker Space Platform ที่พร้อมให้ผู้ประกอบการ และผู้ที่สนใจเข้ามาใช้บริการเครื่องมือ อุปกรณ์ ต่างๆ

กิจกรรม workshop ครั้งนี้เน้นการถ่ายทอดความรู้พื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์เบเกอรี่ให้แก่ผู้ประกอบการในพื้นที่จ.พิษณุโลก และพื้นที่ใกล้เคียง ได้มีความเข้าใจ และมีความรู้เกี่ยวกับในการเลือกใช้ ingredients ประเภทต่างๆ เช่น แป้ง น้ำตาล ไขมัน วัตถุเจือปนอาหาร ที่เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ประเภทต่างๆ และสามารถนำไปใช้ในการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ของตนเองได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างผู้เชี่ยวชาญด้านเบเกอรี่ระหว่างหน่วยงานเครือข่าย Food Innopolis อีกด้วย โดยมีอาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญ และนักวิชาการ จากม.นเรศวร เข้าร่วมกิจกรรมกว่าสิบท่าน เพื่อนำองค์ความรู้ และประสบการณ์ไปใช้ในการถ่ายทอด และฝึกอบรมผู้ประกอบการในพื้นที่ต่อไปในอนาคต

ที่มา: อุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร

แจกข้าวต้มหมูสับให้กับน้องๆ นิสิตที่มาอ่านหนังสือ

ภาพบรรยากาศวันที่ 8 มกราคม 2566 กับการแจกข้าวต้มหมูสับให้กับน้องๆ นิสิตที่มาอ่านหนังสือที่สำนักหอสมุด

อ่านหนังสือ ไม่ต้องกลัวหิว

เวลา 19.00 น. จนกว่าของจะหมดดด

สถานที่ : หน้าอาคารเรียนรู้ (โซนทางเข้าพื้นที่ IRA ชั้น 1)
ที่มา: สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยนเรศวร

อ่านหนังสือแล้วอิ่มท้อง

วันนี้ไม่ต้องกลัว อ่านไปหิวไปอีกแล้วว หอสมุดใจดีแจกฟรี!

ปาท่องโก๋ + น้ำเต้าหู้ 100 ชุดสำหรับน้อง ๆ ที่มาอ่านหนังสือสอบที่หอสมุด

เวลา 19.00 น. จนกว่าของจะหมดดด

สถานที่ : หน้าอาคารเรียนรู้ (โซนทางเข้าพื้นที่ IRA ชั้น 1)

สำนักหอสมุด เริ่มต้นด้วยปาท่องโก๋กับน้ำเต้าหู้ 100 ชุดและส้มสายน้ำผึ้งสดๆ มาแจกน้องนิสิตที่มาอ่านหนังสือ
ที่มา: สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยนเรศวร

วช. หนุน “สทน. – ม.นเรศวร” เปิดตัวส้มโอ ฉายรังสี ก่อนส่งออกไปสหรัฐอเมริกา

วันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้สนับสนุนทุนวิจัยให้กับสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) สทน. และมหาวิทยาลัยนเรศวร แก่โครงการ “การศึกษาผลของการฉายรังสีต่อคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวมะม่วงมหาชนกและส้มโอเพื่อการส่งออกประเทศสหรัฐอเมริกา” เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์การดำเนินกิจกรรมของโครงการวิจัยและช่วยเผยแพร่กิจกรรมฉายรังสีผลไม้เพื่อการส่งออกของประเทศไทยให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกได้ทราบอย่างทั่วถึง จึงได้จัดกิจกรรมเพื่อแนะนำและชิมส้มโอภายในงานประชุมระหว่างประเทศ International Meeting on Radiation Processing ครั้งที่ 20 (IMRP20) ขึ้น ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 เวลา 13.00-14.30 น. ณ ห้อง Air โรงแรมอวานี พลัส ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ หัวข้อหลักส่วนหนึ่งของการประชุมเป็นเรื่องเกี่ยวกับการฉายรังสีเพื่อสุขอนามัยพืช (Phytosanitary Irradiation Forum) โดยเป็นงานประชุมชั้นนำที่จัดขึ้นเป็นเป็นประจำทุก 2-3 ปี เพื่อให้นักวิชาการและผู้ประกอบการในแวดวงเทคโนโลยีการฉายรังสีจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกได้มาพบปะแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านวิชาการและหารือในธุรกิจการฉายรังสีรวมไปถึงการสร้างเครือข่ายแก่กัน ในปีนี้มีผู้เข้าร่วมงาน 350 คน จาก 41 ประเทศทั่วโลก

รศ.ดร. พีระศักดิ์ ฉายประสาท นักวิจัย จากมหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 สหรัฐอเมริกาได้อนุญาตให้นำเข้าผลไม้สด (fresh fruit) ของไทย 7 ชนิด ได้แก่ มะม่วง ลำไย มังคุด ลิ้นจี่ เงาะ และสับปะรด โดยจะต้องได้รับการฉายรังสีก่อนส่งออกไปยังสหรัฐฯ นับเป็นการเปิดตลาดผลไม้ไทยที่สร้างความภาคภูมิใจให้แก่ประเทศชาติ ต่อมาในปี พ.ศ. 2562 ทีมวิจัยซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) BEDO มหาวิทยาลัยนเรศวร และสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ ได้ประสบผลสำเร็จในการวิจัยเรื่องคุณภาพของมะม่วงฉายรังสี จนกระทั่งสามารถส่งออกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองให้ได้คุณภาพมาตรฐานสู่ตลาดสหรัฐอเมริกาได้อย่างเต็มภาคภูมิ ได้รับการรับรองจากกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกาและเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค และในปัจจุบันทางสหรัฐอเมริกาได้ออกกฏระเบียบเพิ่มเติมให้ไทยสามารถส่งออกส้มโอผลสดได้ตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 จึงเกิดเป็นโจทย์วิจัยที่ท้าทายและรอคำตอบจากนักวิจัยไทยเป็นอย่างยิ่ง ปัจจุบันคณะผู้วิจัยได้ดำเนินการทำ dose mapping เพื่อเตรียมการส่งออกส้มโอผลสดไปสหรัฐอเมริกา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการกระจายของรังสีในบรรจุภัณฑ์ส้มโอและปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพหลังการฉายรังสีแกมมา เพื่อให้สอดคล้องกับกฎระเบียบของทางสหรัฐอเมริกา ผลการทำ dose mapping ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในเดือนตุลาคม ปี พ.ศ. 2565 ขณะนี้กำลังรอให้เจ้าหน้าที่ของหน่วยงาน Animal and Plant Health Inspection Service (APHIS) จากกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกามาร่วมดำเนินการกับเจ้าหน้าที่จากกรมวิชาการเกษตรรับรองผลอีกครั้งโดยเร็วที่สุด จากนั้นผู้ประกอบการไทยจะสามารถส่งออกส้มโอผลสดได้ทันที 

โดยคณะผู้วิจัยมีโครงการจะนำส้มโอฉายรังสีไปจัดแสดงในงาน Natural Products Expo West 2023 ณ เมืองอนาไฮม์ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ในระหว่างวันที่ 7-11 มีนาคม พ.ศ. 2566 ที่จะถึงนี้ด้วย
การจัดกิจกรรมแนะนำและชิมส้มโอภายในงานประชุมระหว่างประเทศ International Meeting on Radiation Processing ในครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสอันดีในการเผยแพร่ให้ต่างชาติได้รู้จักส้มโอผลสดของไทยให้มากยิ่งขึ้นเพื่อให้สามารถต่อยอดในทางธุรกิจต่อไป

ดร.หาญณรงค์ ฉ่ำทรัพย์ รองผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า การฉายรังสีโดยทั่วไปคือการเตรียมใส่กล่อง การฉายรังสี และขั้นตอนหลังการฉายรังสี การเตรียมใส่กล่องมันขึ้นอยู่ว่าส่งไปประเทศไหน และประเทศนั้นต้องการอย่างไร ในกรณีออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา ต่างกัน ถ้าเป็นอเมริกาต้อง 9-10 ลูกต่อกล่อง ซึ่งขนาดกล่องจะขึ้นอยู่กับผลส้มโอ เมื่อได้กล่องตามที่อเมริกาต้องการแล้ว จึงนำเข้าฉายรังสี ขั้นตอนการฉายรังสีในขั้นตอนที่ 2 เป็นการฉายรังสีแกมมา electron beam และรังสีเอ็กเรย์ อเมริกาให้ฉายได้ทุกรังสี ขึ้นอยู่ที่เราจะใช้รังสีไหน แต่ปัจจุบันสหรัฐอเมริกาให้ใช้รังสีแกมม่า ดังนั้นเมื่อเตรียมเสร็จก็จะใส่เข้าไปในตู้คอนเทนเนอร์ ที่มีรังสีแกมมา ตรงนี้เป็นกระบวนการที่อเมริกาบอกว่าประเทศไทยจะต้องใช้รังสี 400 เกรย์ ถึงจะฆ่าเชื้อได้ หลังจากฉายรังสี สิ่งที่ต้องทำเลยคือนำออกจากเครื่อง และนำขึ้นรถเข้าห้องเย็น พร้อมส่งออกเลย ระหว่างการขนส่งห้ามเปิดเด็ดขาด ถ้าเปิดจะถูกตีกลับหมด

สำหรับ อาหาร ผลไม้ทุกชนิด ที่ได้ฉายรังสีจะมีตราดอกไม้สีเขียวอ่อน ที่เรียกว่า radura ต้องติดว่าให้ผู้บริโภครู้ว่าผ่านการฉายรังสีฆ่าเชื้อมาแล้ว

ที่มา: mgronline

Sustainability

NARESUAN UNIVERSITY

Solverwp- WordPress Theme and Plugin