ม.นเรศวร ร่วมมือ นครยะลาตรวจซากเชื้อโควิดในน้ำเสีย พยากรณ์การระบาดล่วงหน้า!

วันพฤหัสดีที่ 25 พฤศจิกายน 2564 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ จ.สงขลา จำนวนผู้ที่เชื้อยังทรงตัวในทุกจังหวัด มีเพียง จ.นราธิวาส ที่ผู้ติดเชื้อใหม่ลดลงอย่างมากเหลือเพียงแค่ 69 ราย และไม่มีผู้ป่วยเสียชีวิตต่อเนื่องเป็นเวลา 8 วันแล้ว

ข้อมูลจากศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. ระบุว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมของสามจังหวัดชายแดนใต้ และ จ.สงขลา ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.- 25 พ.ย.64 มีจำนวนผู้ติดเชื้อ (ไม่รวมผู้ต้องขังในเรือนจำ) อยู่ที่ 191,530 ราย

ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ จ.สงขลา วันพฤหัสบดีที่ 25 พ.ย. มีตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่รวม 938 ราย และเสียชีวิต 6 ศพ แยกตามจังหวัดได้ดังนี้

จ.สงขลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 470 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมเพิ่มเป็น 60,444 ราย ติดเชื้อภายในประเทศ 60,421 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 23 ราย เป็นผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 5,889 ราย รักษาหายแล้ว 54,302 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตใหม่ 2 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 253 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจ 5,266 ราย

จำนวนผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.หาดใหญ่ 14,241 ราย, อ.เมืองสงขลา 8,001 ราย, อ.จะนะ 7,882 ราย, อ.สิงหนคร 5,048 ราย, อ.สะเดา 4,605 ราย, อ.เทพา 4,566 ราย, อ.รัตภูมิ 3,633 ราย, อ.สะบ้าย้อย 3,327 ราย, อ.นาทวี 1,639 ราย, อ.บางกล่ำ 1,546 ราย, อ.ระโนด 1,022 ราย, สทิงพระ 880 ราย, ควนเนียง 812 ราย, อ.นาหม่อม 621 ราย, อ.คลองหอยโข่ง 372 ราย, อ.กระแสสินธุ์ 82 ราย, เป็นกรณีเรือนจำ รวม 1,331 ราย เป็นคนต่างจังหวัด 813 ราย และจากต่างประเทศ 23 ราย

covidsouth25114

จ.ปัตตานี มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 228 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 45,452 ราย รักษาหายแล้ว 29,700 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 3 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 441 ราย ผู้ป่วยแยกรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลปัตตานี 135 ราย, โรงพยาบาลสนามจังหวัด 74 ราย, โรงพยาบาลสนามอำเภอ 354 ราย, โรงพยาบาลชุมชน 449 ราย, โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร 3 ราย, โรงพยาบาลสนามค่ายสมเด็จพระสุริโยทัย 34 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส 48 ราย, สิโรรส-ปาร์ควิว ฮอสพิเทล 148 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส เรนโบว์ ฮอสพิเทล 115 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส-ดิอามาน รีสอร์ท 22 ราย, โรงพยาบาลธัญรักษ์สะพานปูน – โรงยิมบานา 13 ราย, โรงพยาบาลธัญรักษ์ เซาท์เทิร์น วิว 87 ราย และ Home Isolation 608 ราย

จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ยืนยันสะสมแยกตามรายอำเภอ ได้แก่ อ.เมือง 11,631 ราย, อ.ไม้แก่น 1,108 ราย, อ.ยะหริ่ง 3,548 ราย, อ.หนองจิก 4,464 ราย, อ.โคกโพธิ์ 2,773 ราย, อ.สายบุรี 5,509 ราย, อ.แม่ลาน 696 ราย, อ.ยะรัง 4,331 ราย, อ.ปะนาเระ 1,684 ราย, อ.ทุ่งยางแดง 2,072 ราย, อ.มายอ 4,530 ราย และ อ.กะพ้อ 1,746 ราย

จ.นราธิวาส มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 69 ราย แยกเป็นพื้นที่ อ.เมือง 17 ราย, อ.ตากใบ 10 ราย, อ.ยี่งอ 3 ราย, อ.แว้ง 1 ราย, อ.สุคิริน 3 ราย, อ.รือเสาะ 4 ราย, อ.บาเจาะ 10 ราย, อ.ระแงะ 10 ราย, อ.ศรีสาคร 3 ราย, อ.เจาะไอร้อง 2 ราย, อ.สุไหงปาดี 6 ราย ทำให้มีผู้ป่วยสะสม 41,682 ราย รักษาหายสะสม 40,650 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 378 ราย

ผู้ติดเชื้อแยกตามพื้นที่ได้ดังนี้ อ.เมือง 8,289 ราย, อ.ระแงะ 4,840 ราย, อ.รือเสาะ 2,244 ราย, อ.บาเจาะ 3,610 ราย, อ.จะแนะ 1,761 ราย, อ.ยี่งอ 3,013 ราย, อ.ตากใบ 3,158 ราย, อ.สุไหงโก-ลก 3,592 ราย, อ.สุไหงปาดี 3,365 ราย, อ.ศรีสาคร 2,093 ราย, อ.แว้ง 2,298 ราย, อ.สุคิริน 1,189 ราย และ อ.เจาะไอร้อง 2,230 ราย

จ.ยะลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 171 ราย ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มเป็น 46,582 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 2,251 ราย รักษาหายแล้ว 46,258 ราย มีผู้เสียชีวิตใหม่ 1 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 325 ราย ซึ่งจำนวนผู้ป่วยแยกตามพื้นที่ ได้แก่ อ.เมืองยะลา 16,648 ราย, อ.เบตง 4,931 ราย, อ.รามัน 6,192 ราย, อ.ยะหา 5,503 ราย, อ.บันนังสตา 7,163 ราย, อ.ธารโต 2,369 ราย, อ.กาบัง 1,259 ราย และ อ.กรงปินัง 2,517 ราย

ผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษา 2,251 ราย แยกเป็นโรงพยาบาลยะลา 86 ราย, โรงพยาบาลเบตง 68 ราย, โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) 6 แห่ง 248 ราย, โรงพยาบาลสิโรรส 127 ราย, โรงพยาบาลสนาม อ.เมือง 116 ราย, โรงพยาบาลสนามเบตง 115 ราย, โรงพยาบาลสนามรามัน 28 ราย, โรงพยาบาลสนามบันนังสตา 0 ราย, โรงพยาบาลสนามยะหา 54 ราย, โรงพยาบาลสนามธารโต 5 ราย, โรงพยาบาลสนามกรงปินัง 7 ราย, โรงพยาบาลสนามกาบัง 20 ราย, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ศอ.12 ยะลา 43 ราย, Hospitel ยะลา 0 ราย, Hospitel เบตง 8 ราย, ผู้ป่วยแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) 972 ราย , ผู้ป่วยแยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation) 354 ราย

covidsouth25112

ที่บริเวณที่แยกโรงเรียนรัชตะวิทยา อ.เมือง จ.ยะลา เทศบาลนครยะลาร่วมกับมหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก โดย ผศ.ดร. ธนพล เพ็ญรัตน์ และคณะ ได้ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างน้ำภายในเขตเทศบาล เพื่อตรวจสารพันธุกรรมของ SAR-COV-2 (รหัสพันธุกรรมของไวรัสโรคซาร์ และโควิด) ในน้ำเสีย โดยวิธี qRT-PCR ซึ่งทางมหาวิทยาลัยนเรศวรได้ทำการวิจัยการเฝ้าระวังเชิงรุกและการเตือนภัย (3-14 วัน) ล่วงหน้าจากการแพร่เชื้อ SARS-CoV-2 ในสถานที่สุ่มเสี่ยงและชุมชน ด้วยการตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสในน้ำเสียโสโครกโดยวิธี Loop Mediated Isothermal Amplification (LAMP) Assays

ผศ.ดร.ธนพล กล่าวว่า เป็นการเฝ้าระวังเชิงรุกที่แจ้งเตือนล่วงหน้าได้ก่อนการระบาด สามารถลดความรุนแรงของการระบาดลงได้ โดยการตรวจสารพันธุกรรมของ SAR-COV-2 ในน้ำเสียโดย qRT-PCR หากพบเชื้อก็จะสามารถแจ้งเตือนก่อนการแพร่ระบาดได้ 3-14 วัน ซึ่งวิธีการนี้ได้ดำเนินการแล้วในหลายประเทศทั่วโลก สำหรับประเทศไทยเริ่มดำเนินการในภาคเหนือ เช่น พิษณุโลก เชียงใหม่ ตาก และนครสวรรค์

ส่วนในภาคใต้ เทศบาลนครยะลาได้ขอความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อดำเนินการตรวจตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสในน้ำเสียโสโครกจากรางระบายน้ำในเขตเทศบาลนครยะลา ตั้งแต่วันที่ 25 พ.ย.64 เป็นต้นไป เพื่อเป็นข้อมูลให้สามารถทำการสืบสวนและแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าหากตรวจพบสารพันธุกรรมของ SARS-CoV-2 ในน้ำเสีย และสามารถพัฒนาเป็นแผนระดับองค์กรในการตอบโต้สถานการณ์การระบาดของโควิดในรอบต่อไป ซึ่งการนำวิธีการนี้มาใช้จะทำให้มีผู้ติดเชื้อจากการระบาดระลอกอื่นๆ ในอนาคตลดน้อยลง ลดความเสียหายต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคมได้

นายยู่สิน จินตภากร รองนายกเทศมนตรีนครยะลา กล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่ดี เป็นการหาซากเชื้อที่เกิดจากโควิด-19 มาทำการวิเคราะห์ เพื่อหาผู้ป่วยในวงกว้าง ซึ่งเราสามารถคาดการณ์ได้ว่า จะมีผู้ติดเชื้อประมาณกี่คนในชุมชนนี้หรือในบริเวณโดยรอบที่เราทำการตรวจหาเชื้อจากน้ำ จากนั้นจะนำไปสู่การตรวจ ATK หรือ PCR อย่างตรงกลุ่มเป้าหมาย สามารถประหยัดงบประมาณและสามารถพยากรณ์ได้ว่า ก่อนที่จะเกิดการระบาดของโควิด-19 จะสามารถระบาดได้ประมาณกี่สัปดาห์จำนวนคนกี่คนที่จะติดเชื้อ โดยการคาดการณ์สามารถทราบล่วงหน้าประมาณ 5-7 วัน

เทศบาลนครยะลาเป็นแห่งแรกในภาคใต้ที่ได้รับความร่วมมือจากอาจารย์ทางมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้อนุเคราะห์มาตรวจหาเชื้อซากโควิดในบ่อบำบัดน้ำเสียในพื้นที่ชุมชนซึ่งทางเทศบาลนครยะลาได้มีการลงพื้นที่ตรวจ 40 จุด เพื่อที่จะได้รู้พื้นที่ที่ชัดเจน เชื่อว่านวัตกรรมใหม่ในการป้องกันการระบาดของเชื้อโควิด จะช่วยให้เราได้คาดการณ์ล่วงหน้าและสามารถหาแนวทางในการแก้ปัญหาอย่างมีหลักการและทันกับสถานการณ์มากทีสุด

covidsouth25113

ที่สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดปัตตานี บริเวณสนามกีฬากลางองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานนราธิวาส ร่วมกับสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดปัตตานี จัดกิจกรรม “SHA Clinic @ปัตตานี” โดยมีสถานประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดปัตตานี จำนวน 40 ราย เช่น โรงแรม ภัตตาคาร/ร้านอาหาร แหล่งท่องเที่ยว ชุมชนท่องเที่ยว ห้างสรรพสินค้า เข้าร่วมกิจกรรม เพื่อเรียนรู้และศึกษาข้อมูลยื่นขอตราสัญลักษณ์ SHA

ทาง ททท.ได้รับความร่วมมือในการขับเคลื่อนและผลักดันผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวในการยื่นรับตราสัญลักษณ์ SHA และ SHA Plus จากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ โดยเป็นการนำมาตรการความปลอดภัยด้านสาธารณสุขผนวกกับมาตรฐานการให้บริการที่มีคุณภาพของสถานประกอบการ เพื่อสร้างความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยว โดยมีมาตรฐานเบื้องต้นจากกรมควบคุมโรคที่กำหนดเป็นบรรทัดฐานของทุกสถานประกอบการ 3 องค์ประกอบ คือ 1.สุขลักษณะอาคารและอุปกรณ์เครื่องใช้ที่มีอยู่ในอาคาร 2.การจัดอุปกรณ์ทำความสะอาดเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรค และ 3.การป้องกันสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน

น.ส.นวพร ชัวชมเกตุ ผอ.ททท.สำนักงานนราธิวาส กล่าวถึงขั้นตอนการสมัครและประโยชน์จากโครงการนี้ว่า ขั้นตอนในการลงทะเบียนสมัครไม่ยาก สามารถดาวน์โหลดแอปฯไทยชนะ และลงทะเบียนข้อมูลในเว็บไซต์พร้อมแนบภาพ เมื่อมีการประเมินและตรวจสอบผ่านจะได้รับโลโก้ SHA

สำหรับในพื้นที่ชายแดนใต้มีเงื่อนไขเพิ่มเติมบ้าง เช่น การท่องเที่ยวชุมชน คนในชุมชนต้องได้รับการฉีดวัคซีน 70% ร้านค้าเล็กๆ หรือแผงลอยก็สามารถขอรับสัญลักษณ์และใบอนุญาตนี้ได้ เพื่อสร้างโอกาสและความมั่นใจในการบริการ ไม่เสียโอกาสทางการตลาด เมื่อสมัครและแนบเอกสารครบ รอประมาณ 3-4 วัน ก็จะได้รับการตอบรับการตรวจสอบ เพราะขณะนี้มีร้านที่สมัครเข้ามาทั่วประเทศจำนวนมากเพื่อให้ผ่านมาตรฐานในการให้บริการแก่นักท่องเที่ยว

ด้าน น.ส.วรรณา อาลีตระกูล นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวปัตตานี ผู้จัดการฝ่ายขายและประชาสัมพันธ์โรงแรม ซี.เอส.ปัตตานี กล่าวว่า โรงแรม ซี.เอส.ปัตตานี ได้สมัครเข้าร่วมโครงการแล้ว ได้เตรียมข้อมูลและภาพไว้พร้อม ขั้นตอนการสมัครก็ไม่ยาก ผู้ประกอบการในปัตตานีควรสมัครเข้าร่วมโครงการนี้ เพื่อความมั่นใจทั้งผู้ประกอบการและลูกค้าในการเปิดรับการท่องเที่ยวมากขึ้น

ที่มา: สำนักข่าวอิศรา

เสวนา “ตรวจไวรัสในน้ำเสีย” ระบบเตือนภัย ประเมินประสิทธิภาพวัคซีน และมาตรการเชิงรุกรับมือโควิดในชุมชน

ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม ร่วมกับสถานความเป็นเลิศเพื่อความยั่งยืนด้านสุขภาวะ สิ่งแวดล้อม และอุตสาหกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และภาคีเครือข่าย ขอเชิญผู้สื่อข่าวและผู้ที่สนใจเข้าร่วมเสวนาออนไลน์ “ตรวจไวรัสในน้ำเสีย” ระบบเตือนภัย ประเมินประสิทธิภาพวัคซีน และมาตรการเชิงรุกรับมือโควิดในชุมชน วันเสาร์ที่ 4 กันยายน 2564 เวลา 10.00 – 13.00 น.

10.00 – 10.45 น. ทฤษฎีและตัวอย่างการใช้งานการตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสในน้ำเสียโสโครกเพื่อการเฝ้าระวังเชิงรุกการติดเชื้อ SARS-CoV-2 ในชุมชนในต่างประเทศ โดย ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์

10.45-11.15 น. การตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสในน้ำเสียโสโครกด้วย RT-qPCR
โดย รศ.ดร.อภินันท์ ลิ้มมงคล และ ดร.พญ.อัญพัชญ์ อติพิมลพัชญ์

11.15-11.45 น. การตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสด้วยโดยวิธี Loop Mediated Isothermal Amplification (LAMP) Assays และ ศักยภาพการใช้กับน้ำเสียโสโครก โดย ดร.วรรณสิกา เกียรติปฐมชัย

11.45-12.15 น. มาตรการความปลอดภัยในการเก็บตัวอย่างน้ำเสียและการทำงานในห้องปฏิบัติการตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสในน้ำเสียโสโครกด้วย RT-qPCR โดย ดร.วิสาข์ สุพรรณไพบูลย์ และ
ดร.ศิริวรรณ วิชัย

12.15-12.30 น. แนวคิดการใช้งานการตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสในน้ำเสียโสโครกเพื่อการเฝ้าระวังเชิงรุก, การสืบสวนเพื่อเตือนภัยล่วงหน้า, และการประเมินประสิทธิภาพของวัคซีนและมาตรการตอบโต้การแพร่เชื้อ SARS-CoV-2 ในชุมชนสำหรับประเทศไทย โดย ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์

12.30-12.50 น. แลกเปลี่ยนความคิดเห็น / ถาม-ตอบ

12.50-13.00 น. กล่าวปิดการเสวนา โดย ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์

ดำเนินรายการ

โดย พนม ทะโน กรรมการบริหารชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม / IMN เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง

จัดโดย

  • สถานความเป็นเลิศเพื่อความยั่งยืนด้านสุขภาวะ สิ่งแวดล้อมและอุตสาหกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
  • คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
  • ห้องปฏิบัติการระบาดวิทยาน้ำเสียเพื่อการเตือนภัยล่วงหน้า มหาวิทยาลัยนเรศวร
  • สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม (GreenNews)
  • ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม

คลิกอีเวนต์เพื่อแจ้งเตือนจาก Facebook Live (https://fb.me/e/10GiiZNN0) รับชม Live บนเพจ

https://www.facebook.com/WBEEarlyWarningLab
https://www.facebook.com/SHEI.COE.NU
https://www.facebook.com/greennewsagency
https://www.facebook.com/thaisej


เสวนาออนไลน์ประเด็นจัดการสิ่งแวดล้อมฯ มีเวทีทั้งหมด 2 ครั้ง เวทีดังกล่าวนับเป็น(รอบสอง) ติดตามเวที“จัดการสิ่งแวดล้อมใน-นอกที่พักอย่างไร ไม่เสี่ยงติดโควิด” (รอบแรก) หรือรับชมไลฟ์ย้อนหลังได้ที่ https://greennews.agency/?p=25267

ที่มา: greennews

เครือข่าย SUN Thailand ร่วมขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยสีเขียว สู่ความยั่งยืน

มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย (Sun Thailand) ครั้งที่ 2/2563 ระหว่างวันที่ 27-29 สิงหาคม พ.ศ. 2563 ณ มหาวิทยาลัยนเรศวร อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก  โดยศาสตราจารย์ ดร.จิรวัฒน์ พิระสันต์ รองอธิการบดี, ดร.สุชาติ เมืองแก้ว ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษประจำมหาวิทยาลัย, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดลเดช ตั้งตระการพงษ์ ผู้ช่วยอธิการบดี พร้อมด้วยคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุม ซึ่งการจัดเครือข่าย SUN ในครั้งนี้ มีแนวคิดพัฒนาในเรื่องของกายภาพและเรื่องอื่นๆ สู่การเป็นมหาวิทยาลัยที่ยั่งยืน มีความสวยงาม เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถอยู่ได้ในศตวรรษที่ 21 โดยมีการจัดกิจกรรมพาตัวแทนจากสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของประเทศไทยที่มาร่วมงาน ศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กิจกรรมความยั่งยืน ณ มหาวิทยาลัยนเรศวร อาทิ ศึกษาดูงานด้านการจัดการอย่างยั่งยืนภายในมหาวิทยาลัย เยี่ยมชมสถานีรถไฟฟ้า โรงผลิตน้ำประปา สวนพลังงาน วิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี แหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานทดแทน สถานีบำบัดน้ำเสียรวมของมหาวิทยาลัย  พร้อมทั้งศึกษาดูงานศูนย์คัดแยกขยะเพื่อรีไซเคิล วงษ์พาณิชย์ สำนักงานใหญ่ จังหวัดพิษณุโลก 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ คันธมานนท์ รองอธิการบดีอาวุโสฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย ปี 2563 (SUN Thailand) กล่าวว่า  การประชุมครั้งนี้นอกจากที่มหาวิทยาลัยเครือข่ายจะได้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานของมหาวิทยาลัยสู่ความยั่งยืน ทั้งการบริหารจัดการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการสร้างให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในมิติต่าง ๆแล้ว ตัวแทนจากสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของประเทศยังได้มี แนวคิดหลักในการขับเคลื่อนให้ SUN Thailand ก้าวไปข้างหน้า คือการวิเคราะห์ผลกระทบต่อการพัฒนาด้านความยั่งยืน ทั้งการรณรงค์ในเรื่องของขยะ ระดมสมองในการออกแบบและวางแผนเพื่อการขับเคลื่อนไปสู่ความยั่งยืนในการลดขยะโดยใช้เวลาและงบประมาณที่น้อยลง มุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว  นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้ร่วมคิดและถอดบทเรียนที่จะนำไปสู่แนวทาง ในการเริ่มต้นทำงานเพื่อความยั่งยืน ทั้งในระดับมหาวิทยาลัยและ ชุมชน  โดยใช้หลักการที่เป็นความรู้ท้องถิ่น นำหลักหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นแนวทางในการ จะทำให้เกิดการขับเคลื่อน ความยั่งยืน (SEP for SDGs ) นำความสามารถที่มีอีกทั้งแนวคิดที่ได้ไปตอบโจทย์ประเทศ (ปฏิญญาวังจันทน์) 

เครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย (Sustainable University Network of Thailand) เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2559 เป็นความร่วมมือของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยที่ยกระดับบทบาทภารกิจการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ของนโยบายความยั่งยืนและเชื่อมโยงในระดับนานาชาติ รวมถึงการกำหนดมาตรฐานการชี้วัดความเป็นมหาวิทยาลัยที่พัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับสากล นำไปสู่การเป็นต้นแบบสำคัญของทุกภาคส่วนภายในสังคมของประเทศ   ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 30 มหาวิทยาลัยและอยู่ภายใต้ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับฉันทามติได้รับการเลือกตั้งให้เป็นประธานเครือข่าย มหาวิทยาลัยยั่งยืน แห่งประเทศไทย พ.ศ.2562 (Sustainable University Network of Thailand) พ.ศ.2562    

ที่มา: งานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

รองอธิการบดี พร้อมผู้นำนิสิต เข้าตรวจระบบถังเก็บน้ำประปาหอพักนิสิต

เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2564 ศาสตราจารย์ ดร.จิรวัฒน์ พิระสันต์ รองอธิการบดี มน. พร้อมด้วยผู้นำนิสิต และหัวหน้างานบริการสวัสดิการนิสิต ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมความเป็นอยู่ดูเรื่องสภาพแวดล้อม  ที่พักอาศัย และเรื่องของระบบถังเก็บน้ำประปา ที่ต้องใช้เป็นพื้นฐาน ผลเป็นที่น่าพอใจ ณ หอพักนิสิต มหาวิทยาลัยนเรศวร

ที่มา: กองกิจการนิสิต

แปรน้ำเสียชุมชน เป็นกลไกเฝ้าระวังเชิงรุกการระบาดเชื้อโควิด-19 ต้นทุนต่ำ

นวัตกรรมจาก “ระบาดวิทยาน้ำเสีย”

“น้ำเสียชุมชนสามารถใช้ในการเฝ้าระวังติดเชื้อโควิดได้” ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) เปิดเผยถึงแนวคิดหลักของทีมวิจัย สถานความเป็นเลิศเพื่อความยั่งยืนด้านสุขภาวะ สิ่งแวดล้อม และอุตสาหกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มน. ซึ่งรวมถึงรศ.ดร.อภินันท์ ลิ้มมงคล ดร.พญ.อัญพัชญ์ อติพิมลพัชญ์ ดร.วิสาข์ สุพรรณไพบูลย์ ดร.ศิริวรรณ วิชัย และดร.วรรณสิกา เกียรติปฐมชัย

“เชื้อที่ออกมาจากการขับถ่ายอุจจาระและปัสสาวะจะมีความไวในการตรวจจับการติดเชื้อค่อนข้างสูง หากมีคนติดเชื้อแค่ 1 คนใน 20,000 คน ก็สามารถตรวจพบได้ ซึ่งนั่นจะทำให้เราสามารถแจ้งเตือนการระบาดของเชื้อล่วงหน้าได้ โดยไม่ต้องรอให้ตรวจเจออาการ คือสามารถตรวจพบจากเศษซากไวรัสในน้ำเสีย” ดร.ธนพล อธิบาย

เปิดเผยและนำเสนอสู่สาธารณะผ่านเวทีเสวนาออนไลน์ “ตรวจไวรัสในน้ำเสีย” ระบบเตือนภัย ประเมินประสิทธิภาพวัคซีน และมาตรการเชิงรุกรับมือโควิดในชุมชน” ซึ่งจัดขึ้นวานนี้ (4 กันยายน 2564) โดย สถานความเป็นเลิศฯ ร่วมกับชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อมและองค์กรเครือข่าย 

เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 หรือ โควิด-19 จำนวนผู้ติดเชื้อยังอยู่ในจำนวนหลักหมื่น มีแนวโน้มสูงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ 

“เรานำชุดความรู้วิศวกรรมประยุกต์ตรวจวัดหาสารพันธุกรรมโควิด-19 เพื่อจะได้มีส่วนช่วยการควบคุมการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสฯ ด้วยเทคนิค Wastewater-Based Epidemiology (WBE) หรือ ระบาดวิทยาน้ำเสีย เพื่อตรวจจับการติดเชื้อ จากน้ำเสียระบบท่อระบายส่วนกลาง เป็นการตรวจจับระดับชุมชน โดยดูจากเวฟหลั่งสารพันธุกรรม ขับถ่ายไปปรากฏท่อบำบัดน้ำเสีย 

ถ้าเราสามารถจับเวฟนี้ได้ก่อนก็สามารถดำเนินมาตรการ ลดผู้ติดเชื้อได้โดยไม่ต้องรอให้ถึงแสดงอาการแล้ว ล่วงหน้าได้ 3 – 14 วัน มีความสำคัญตีมูลค่ามหาศาลในการดำเนินเศรษฐกิจ ในแต่ละวัน” ดร.ธนพล กล่าว

“การนำ ‘วิทยาการตรวจวัดน้ำเสีย’ วิธีการตรวจหาสารพันธุกรรมโควิด ที่สากล 55 ประเทศ นำเทคนิคไปใช้อย่างไรแพร่หลาย เพื่อช่วยเฝ้าระวัง แจ้งเตือนล่วงหน้า ช่วยติดตาม แต่วิธีนี้ยังเป็นองค์ความรู้ยังใหม่ในประเทศไทย

มันเกินกว่าแค่คำว่างานวิจัย คือใช้เป็นการมอนิเตอร์ เฝ้าระวัง ชุมชนจริง การตรวจสอบสารพันธุกรรมในน้ำเสีย เพื่อใช้ในการเฝ้าระวัง เตือนภัยล่วงหน้าได้จริงในระดับชุมชน” ดร.ธนพล กล่าว

ภาพ : unsplash

6 ศักยภาพ “ใช้งานจริง”

ดร.ธนพลได้รวบรวมศักยภาพการใช้ประโยชน์จากการตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสในน้ำเสียโสโครก “WBE” ดังนี้

  1. ใช้เฝ้าระวังการติดเชื้อโควิด-19 และแจ้งเตือนล่วงหน้าก่อนเกิดการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนในระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน กลุ่มอาหาหร (คอนโด) และอาคารทั่วไป (โรงเรียน มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า สถานีขนส่ง ร้านอาหาร หรือสถานที่ราชการ)
  2. ใช้คาดการณ์ (คำนวณอย่างคร่าว ๆ) จำนวนผู้ติดเชื้อทั้งที่แสดงอาการและไม่แสดงออาการในระดับชุมชน หรือกลุ่มอาคาร
  3. ใช้ประเมินความจำเป็นที่จะต้องดำเนินมาตรการเข้มงวด เช่นมาตรการล็อกดาวน์ เป็นต้น
  4. ใช้ประเมินความสำเร็จของการดำเนินมาตรกร เช่นมาตรการล็อกดาวน์ เป็นต้น
  5. ใช้ประเมินการติดเชื้อในชุมชนที่เพิ่มขึ้นหลังคลายล็อกดาวน์
  6.  ใช้เฝ้าระวังการติดเชื้อโควิด SARS-CoV-2 สายพันธุ์ต่าง ๆ ในชุมชน โดยเฉพาะสายพันธุ์อันตรายใหม่ ๆ

“เป็นการเฝ้าระวังการติดเชื้อในชุมชนโดยไม่ต้องไล่ตรวจทีละคน ในทางทฤษฏีสามารถตรวจพลได้ 1 คนต่อ 100 คน ถึง 2 ล้านคน นั่นคือสามารถเฝ้าระวังประชากรทั้งโลก 2.1 พันล้านคนโดยการตรวจระบบบำบัดน้ำเสียเพียง 105,600 แห่ง

อัตราการตรวจพบ 1 ต่อ 200 คนถึง 10,000 คน (ประมาณความเป็นไปได้สำหรับประเทศไทย) สามารถใช้ควบคู่กับการตรวจแบบคลินิก ปัจจุบันประเทศในสหภาพยุโรป ออสเตรเลีย อิสราเอล จีน และสหรัฐ กำลังพัฒนาใช้ WBE ในระดับประเทศ

ในทางปฏิบัติ ระบาดวิทยาน้ำเสีย (WBE) สามารถใช้เฝ้าระวังติดเชื้อแจ้งเตือนล่วงหน้า สามารถคาดการณ์ผู้ติดเชื้อ ประเมินความจำเป็น ประเมินความสำเร็จมากตราล็อกดาวน์ หรือประเมินการติดเชื้อในชุมชนเพิ่มขึ้นในช่วงล็อกดาวน์ เฝ้าระวังการติดสายพันธุ์ใหม่ ๆ ประเมินประสิทธิภาพวัคซีนด้วย

ประเทศไทยเราสามารถใช้วิธีการตรวจ (WBE) วัดหาสารพันธุกรรมฯจากน้ำเสียได้เช่นเดียวกับต่างประเทศ เป็นการตรวจในรายชุมชน แทนทั้งจังหวัดอำเภอ ประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบาย ขณะนี้ไทยอยู่ในขั้นที่ 2 ตรวจเจอก่อนแล้วค่อยดำเนินการมาตรการ แต่สามารถ เฝ้าระวังในสายพันธุ์ต่างได้ๆ เพื่อจัดสรรทรัพยากรวัคซีน และ ชุดตรวจ ATK ที่มีจำกัด ให้พื้นที่มีผลกระทบก่อนทั้งชุมชนและสังคม” ดร.ธนพล กล่าว

พนม ทะโน (ซ้ายบน) ผู้แทนชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม เสวนากับ 5 นักวิจัย สถานความเป็นเลิศเพื่อความยั่งยืนด้านสุขภาวะ สิ่งแวดล้อม และอุตสาหกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มน. ผ่านวงเสวนาออนไลน์ฯ 4 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา

นำร่อง สู่ “มาตรการเฝ้าระวัง-จัดการ” วิกฤตโควิดในไทย

“โควิด – 19 เป็นปัญหาสุขภาพ มันเป็นโรคติดเชื้อจากสิ่งแวดล้อมเหมือน เป็นโรคที่แอร์บอร์น (Airborne)  จากคนหนึ่งสู่คนหนึ่งผ่าน เมื่อวานเราได้พูดถึงการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างไรในการจัดการติดเชื้อโควิดได้ ประเด็นนี้เหมือนกัน เราใช้หลักวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ วิทยาศาสตร์การแพทย์ ในการเฝ้าระวัง ตรวจพบล่วงหน้า 2-14 วัน  

องค์ความรู้และนวัตกรรมการตรวจวัดล่วงหน้านี้ยังใหม่ในไทย สามารถนำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ได้หลายอย่างมาก การนำร่องที่ประสบความสำเร็จสามารถใช้ได้ และดูข้อจำกัด และรู้ภาคส่วนของภาครัฐ ในการร่วมมือกันเป็นสิ่งสำคัญ เพราะฉะนั้นนักวิจัยอย่างเดียวไม่เพียงพอ 

เรากำลังทำทดลองนำร่องในพื้นที่ 5 จังหวัด ว่ามีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน นำผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามาร่วมวิจัยเพื่อนำไปสู่การออกมาตรการต่อไป โดยร่วมกับกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ศูนย์อนามัยภาคต่างๆ สิ่งแวดล้อมภาค ทางเมืองเทศบาล ที่เกี่ยวข้อง ตอนนี้อยู่ในขั้นการสร้างความเข้าใจระบบการตรวจวัด ห้องปฏิบัติการพร้อมแล้ว” ดร.ธนพล กล่าว

นอกจากนี้ในเวทีฯ ยังได้มีการนำเสนอ 2 เทคนิคที่ใช้ในการตรวจสารพันธุกรรมฯ คือเทคนิค RT – qPCR (ทำให้สารพันธุฯเข้มข้น) ซึ่งใช้เวลาตรวจ 1 วัน และเทคนิคแลมป์ LAMP (แสดงผลการตรวจวัดด้วยการเปลี่ยนแปลงสี) ที่ตรวจได้ภายใน 2-3 ชั่วโมง ด้วยการลงทุนหลัก 1 แสนบาท สำหรับห้องปฏิบัติการ 

การนำระบาดวิทยาน้ำเสียเป็นมาตรการเฝ้าระวังไวรัส COVID-19 ในต่างประเทศ

บทเรียนจากสหรัฐอเมริกา

เวทีฯ ยังได้มีการนำเสนอบทเรียนการพัฒนาประยุกต์แนวคิดนี้ใช้งานจริงในหลายประเทศทั่วโลกในระดับที่แตกต่างกัน รวมถึงในอินเดีย และสหรัฐอเมริกา

“ที่ Southeastern Virginia มีการทำแผนที่ความเสี่ยง Risk map เป็นการตรวจจาก 9 โรงบำบัดน้ำเสีย พบว่าในแต่ละช่วงของเดือน พบการเพิ่มขึ้นของสายพันธุกรรมไวรัสไม่เหมือนกัน  แสดงว่าการใช้มาตรการเดียวกันทั้งเมืองอาจจะรุนแรงเกินไป สามารถปรับใช้เพียงแต่ละเมือง เพื่อให้ดำเนินเศรษฐกิจยังคงเดินได้อยู่ 

ประเมินความจำเป็นมาตรการเข้มงวด เช่น มาตรการล็อคดาวน์ การรู้ว่าจำเป็นเมื่อช้าเกินไป กับรู้ว่าล่วงหน้า แบบไหนจะดีกว่าถ้าเรารู้ล่วงหน้า 3 อาทิตย์ มาตรบางส่วนเราจะล็อคดาวน์แค่บางส่วนของเมือง หรือสามารถตรวจเส้นแผนภูมิ (CURVE) ประเทศสหรัฐอเมริกา รัฐเพนซิลเวเนีย สร้างแบบจำลองทำนายผู้ติดเชื้อในอนาคต 3 สัปดาห์ หรือเรียกว่า Vector autoregression (VAR) วิธีทางสถิติ โดยจากร่องระบบน้ำเสีย 

การใช้ WBE มีความไวในการตรวจพบ เวฟที่มาจะก่อนคือ การหลั่งสารพันธุ์กรรมในน้ำเสีย พบว่าหากเริ่มหลั่งน้อยลง เพราะการติดเนื้อน้อยลง สามารถประเมินความสำเร็จจากมาตรการล็อกดาวน์ และได้ผลไวกว่าตรวจทางคลินิก ที่รัฐมอนแทนา MONTANA ประเมินมาตรการล็อกดาวน์ เช่นกัน

การประเมินหลังจากคลายล็อกดาวน์ เฝ้าระวังการระบาดของสายพันธุ์ B.1.1.7 อเมริกานอกจะคำนวณได้ว่ามีผู้ติดเชื้อเท่าไรแล้วสามารถเอาไปขยายผลวิเคราะห์ต่อเพื่อบอกสายพันธุ์ใหม่ได้ การประเมิน ดำเนินการในหอ ฉีดไฟเซอร์ จำนวนเคสลดลงไหม การตรวจสารพันธุกรรมในน้ำเสีย พบว่าหลังจากฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ไม่พบสารพันธุกรรมในไวรัสเสียเลย สามารถบอกได้ว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน โดยลดการตรวจแบบรายบุคคล แต่รายเมืองสามารถดูสารพันธุกรรมในน้ำเสีย 

Web จะมีบทบาทในการประเมินและจัดสรรวัคซีน การตรวจสารพันธุกรรมในน้ำเสียสามารถใช้จัดสรรวัคซีนได้ ตอนนี้มีจำกัด และสามารถใช้ที่ไหน สามารถตรวจสอบเมืองให้เหมาะสมกับเมืองนั้นๆ ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention, CDC) ออกมาตรการในการใช้WBE สำหรับการเฝ้าระวังชุมชน ในอเมริกา ซึ่งเป็นเป็นประโยชน์กับประเทศไทยที่จะได้ประโยชน์จากศึกษางานวิจัยนี้ และคณะวิจัยเรากำลังนำร่อง ถ้ามีส่วนสำเร็จจะขยายผลไปสู่พื้นที่อื่นเพิ่มมากขึ้น” เนื้อหาส่วนหนึ่งของการนำเสนอในเวที

ที่มา: greennews

ม.นเรศวร ยืนยันระบบ 3R น้ำภาคธุรกิจบริการ คุ้มค่า ประหยัดน้ำจริง ช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ EEC

เนื่องด้วยแนวโน้มความต้องการใช้น้ำใน 3 จังหวัดพื้นที่โครงการ EEC จ.ชลบุรี, จ.ระยอง, และ จ.ฉะเชิงเทรา ที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ตามการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการค้าและบริการ ได้ทำให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่มีอยู่จำกัดในพื้นที่ ให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วน กลายเป็นอีกหนึ่งความท้าทายสำคัญของโครงการ EEC ที่ต้องเร่งจัดการ

น้ำเสีย

ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ นักวิจัยประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดเผยว่า จากการศึกษาประเมินความคุ้มค่าของระบบ 3R ทั้งด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ (Water Efficiency: WE) และนำน้ำเสียมาบำบัดใช้ซ้ำ (Water Reuse: WR) สำหรับภาคเอกชน พบว่า มาตรการดังกล่าวสามารถนำมาใช้ดำเนินการได้จริง มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ และช่วยลดอัตราการใช้น้ำภาคธุรกิจการค้าและการบริการได้ในระยะยาว

สำหรับทางเลือกที่มีความคุ้มค่าและมีความเสี่ยงน้อยที่สุด ในการใช้ระบบ 3R ในภาคธุรกิจบริการ EEC ผศ.ดร.ธนพล เสนอว่า ควรเน้นให้ทุกอาคารใหม่ติดตั้งทั้งระบบเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ และการนำน้ำกลับมาใช้ซ้ำ ทันที ส่วนอาคารเก่าให้ติดตั้งระบบนำน้ำกลับมาใช้ซ้ำให้ครบ 100% ภายในกรอบเวลา 5 ปี ซึ่งแนวทางดังกล่าวมีศักยภาพในการลดการใช้น้ำในภาคอุปทานได้ถึง 22 – 33 ล้าน ล้านลูกบากศ์เมตร (ลบ.ม.) /ปี

“จากการสำรวจกลุ่ม 195 ประเภทอาคารภาคบริการในพื้นที่ EEC พบว่า มี 59 ประเภทอาคารมีความคุ้มทุนที่จะติดตั้งระบบบริหารจัดการน้ำอัจฉริยะ ดังนั้นจึงควรลำดับความจำเป็นในการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายรัฐในการลดการใช้น้ำ 15% โดยเน้นดำเนินการ 3R ใน 5 ประเภทอาคารภาคบริการที่มีความคุ้มค่าที่สุดเป็นอันดับแรก” เขากล่าว

“อีก 54 ประเภทอาคารที่คุ้มทุนในการดำเนินการ 3R แม้จะมีบทบาทรองในการบรรลุเป้าหมายลดการใช้น้ำ 15% ของรัฐ แต่รัฐก็ควรสนับสนุนและส่งเสริมให้ดำเนินการ 3R ตามแนวคิดระบบบริหารจัดการน้ำอัจฉริยะ เพื่อประโยชน์ของภาคเอกชนเองและของสังคมโดยรวม”

โดยจากรายงานการศึกษาแนวโน้มความต้องการใช้น้ำในพื้นที่ EEC ของ ดร.วินัย เชาวน์วิวัฒน์ นักวิจัยฝ่ายนวัตกรรมสารสนเทศทรัพยากรน้ำ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ชี้ว่า กลุ่มธุรกิจการค้าและการบริการ ถือเป็นกลุ่มผู้ใช้น้ำรายใหญ่ที่สุดในพื้นที่ โดยจากวิเคราะห์ข้อมูลการใช้น้ำของกลุ่มธุรกิจดังกล่าวในปี พ.ศ.2561 พบว่า กลุ่มธุรกิจการค้าและบริการใน 3 จังหวัด EEC มีความต้องการใช้น้ำสูงถึง 37.9 ล้าน ลบ.ม./ปี และยังมีความต้องการใช้น้ำพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ในอัตราเฉลี่ยปีละ 4%

จากแนวโน้มดังกล่าว ดร.วินัย คาดการณ์ว่า ภายในปี พ.ศ.2570 จะมีความต้องการใช้น้ำของกลุ่มธุรกิจภาคบริการในพื้นที่ EEC จะสูงขึ้นเป็น 57.4 ล้านลบ.ม./ปี หรือเพิ่มขึ้นกว่า 51% เมื่อเทียบกับความต้องการใช้น้ำปี พ.ศ.2561 และคาดว่า ในปี พ.ศ.2580 ความต้องการใช้น้ำจะไต่ระดับถึง 75.7 ล้าน ลบ.ม./ปี คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ.2561 ถึง 99%

ดร.จตุภูมิ ภูมิบุญชู อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า เพื่อให้องค์กรภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องดำเนินการติดตั้งระบบจัดการน้ำอัจฉริยะ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นที่จะต้องออกมาตรการบังคับหรือส่งเสริมสร้างแรงจูงใจ เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายลดการใช้น้ำ 15%

อ่างเก็บน้ำประแสร จ.ระยอง หนึ่งในอ่างเก็บน้ำสำคัญในพื้นที่ EEC / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ปรัชญ์ รุจิวนารมย์

“การส่งเสริมให้ภาคธุรกิจติดตั้งระบบ 3R น้ำ ให้สอดคล้องกับเป้าหมาย สามารถส่งเสริมกำหนดมาตรการส่งเสริมได้ผ่านทั้งทางกฎหมายและกลไกทางเศรษฐศาสตร์ เช่น การกำหนดราคาค่าน้ำประปา, ค่าบำบัดน้ำเสีย, หรือค่าใช้ท่อน้ำทิ้งในการปล่อยน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วลงสู่แหล่งน้ำ อย่างที่ใช้ในประเทศเยอรมนีและออสเตรเลีย” ดร.จตุภูมิ เสนอ

“นอกจากนี้ยังควรออกมาตรการอื่นๆ เช่น การจัดตั้งกองทุน เพื่อให้ความช่วยเหลือทางการเงินกับผู้ประกอบการ โดยใช้เงินสนับสนุนจากรัฐบาล หรือเงินสมทบจากค่าบำบัดน้ำเสีย”

เขาเน้นย้ำว่า การส่งเสริมการติดตั้งระบบ 3R น้ำ ไม่จำเป็นต้องทำกับทุกธุรกิจ แต่ทำเพียงเฉพาะบางธุรกิจในบางบพื้นที่ที่มีความคุ้มทุนในการติดตั้งระบบเท่านั้น โดยต้องดำเนินการ่ผ่านมาตรการเชิงบังคับ ผสมผสานกับมาตรการช่วยเหลือควบคู่กันไป

ที่มา: greennews

ม.นเรศวร จัดโครงการบำเพ็ญประโยชน์ สร้างฝายชะลอน้ำแบบกึ่งถาวร

กลุ่มนิสิตจิตอาสามหาวิทยาลัยนเรศวรและชมรมกลุ่มด้านบำเพ็ญประโยชน์และรักษาสิ่งแวดล้อม ร่วมกับสโมสรโรตารีลุ่มน้ำเข็กได้ร่วมกันทำโครงการบำเพ็ญประโยชน์ สร้างฝายชะลอน้ำแบบกึ่งถาวร ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2563 ในพื้นที่ บ้านตอเรือ หมู่ที่ 13 ตำบล วังนกแอ่น อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาคลองเรือที่ไหลพาดผ่านกลางหมู่บ้านตอเรือ ไปลงน้ำตกไผ่สีทอง ยาวประมาณ 5 กิโลเมตร ให้มีน้ำเพียงพอสำหรับทำการเกษตร กิจกรรมในครั้งนี้มีชาวบ้านในชุมชน จำนวน 30 คน บุคลากร นิสิตจิตอาสาและนิสิตกลุ่มด้านบำเพ็ญประโยชน์ฯ จำนวน 43 คน เข้าร่วมกิจกรรมสร้างฝายในครั้งนี้

ที่มา: กองกิจการนิสิต มหาวิยาลัยนเรศวร

สายน้ำยังติดเชื้อ คพ.อัดฉีดงบเพิ่ม 200 ล้าน ต่อเวลาฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ประลอง ดำรงค์ไทย เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการไตรภาคีเพื่อติดตามการดำเนินโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ จังหวัดกาญจนบุรี จากการปนเปื้อนสารตะกั่วครั้งที่ 29 เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ.2563 ณ สำนักงานโครงการ หมู่บ้านคลิตี้บน พร้อมเปิดเผยว่า ได้ดำเนินโครงการฟื้นฟูมาแล้ว 955 วันจากระยะเวลาที่ตั้งไว้ทั้งหมด 1,000 วัน ผลสรุปปลายเดือนพฤษภาคม คืบหน้า 78.82% 

โครงการฟื้นฟูลำห้วยเริ่มต้นปลายปี พ.ศ.2560 จะครบกำหนดสัญญาวันที่ 13 สิงหาคม ปีนี้ ภารกิจหลักคือดูดตะกอนปนเปื้อนหางแร่ตะกั่วจากกิจกรรมโรงแต่งแร่เมื่อยี่สิบก่อนออกจากลำห้วยเพื่อฟื้นฟูคุณภาพน้ำ ปัจจุบัน ได้ตะกอนแล้วสิ้น 5,400 ตัน จากเป้าหมาย 40,000 ตัน

“โครงการทำไม่เสร็จใน 3 ปีเพราะเป็นปัญหาสะสมมานาน บริษัทแร่ได้ทิ้งแร่ในพื้นที่กว่าหลายสิบปี จะให้แก้เสร็จเลยเป็นไปไม่ได้ ผมยืนยันว่า พวกเราทำงานอย่างโปร่งใส แต่ยอมรับว่ามีความผิดพลาดที่พร้อมแก้ไข” ประลอง กล่าว

ประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวในการประชุมคณะกรรมการไตรภาคีครั้งที่ 29 / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ณิชา เวชพานิช

เขาชี้ว่า โครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้เป็นเรื่องท้าทาย เพราะเป็นครั้งแรกของไทยที่ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมปนเปื้อนขนาดใหญ่เช่นนี้ ระหว่างปฏิบัติงาน พบกองกากแร่ตะกั่วและดินปนเปื้อนที่ตกหล่นจากการสำรวจหลายจุด เช่น ตะกอนบนบกใกล้บริเวณเหมืองแร่เดิมและใกล้พื้นที่อยู่อาศัย จึงได้ดำเนินการขุดออกแล้วกว่า 8,000 ตัน เพื่อนำไปปรับเสถียรแล้วส่งฝังกลบ

นอกจากนั้น ยังพบอุปสรรคหลายอย่างหน้างาน สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้เจ้าหน้าที่โครงการไม่สามารถเดินทางเข้า-ออกหมู่บ้านได้ ต้องชะงักการทำงานกว่าสองเดือน รวมถึงขั้นตอนขุดดินเพื่อสร้างหลุมฝังกลบตะกอนพบหินถึง 90% จากที่ประเมินไว้ 50% จึงใช้เวลานานขึ้น

วิธีฟื้นฟูคือดูดตะกอนจากลำห้วยขึ้นมาใส่ถุง Geotextile ซึ่งซ้อนทับกันเพื่อให้น้ำสะอาดไหลออก ทิ้งตะกอนไว้ข้างในถุง ณ จุดฟื้นฟูบริเวณหมู่บ้านคลิตี้ล่าง มิถุนายน พ.ศ.2563 / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ณิชา เวชพานิช

ตามข้อกำหนดการดำเนินงาน (TOR) หากดำเนินการฟื้นฟูล่าช้ากว่าแผน บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) ซึ่งรับจ้างฟื้นฟูด้วยงบประมาณ 450 ล้านบาท จะต้องเสียค่าปรับเป็นเงิน 0.05% ของมูลค่าโครงการ คิดเป็น 200,000 บาทต่อวัน ทว่าด้วยเหตุไม่คาดคิดต่างๆ กรมควบคุมมลพิษในฐานะผู้ว่าจ้างจะผ่อนผันค่าปรับเพื่อช่วยเหลือ

“เราเห็นผลชัดเจนว่าความเป็นอยู่ชาวคลิตี้ดีขึ้น สัญญาณโทรศัพท์และถนนหนทางพัฒนา ที่สำคัญค่าตะกั่วเฉลี่ยในเลือดชาวคลิตี้โดยรวมมีแนวโน้มลดลงหลังจากโครงการฟื้นฟู”

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษเผยว่าจะนำเรื่องต่ออายุโครงการฟื้นฟูระยะสองเข้าประชุมสภาผู้แทนราษฎร 24-25 มิถุนายนนี้ เพื่อขอเบิกงบจำนวน 200 ล้านบาทสำหรับดำเนินการต่อในปีพ.ศ. 2564

สุเมธ เลาคำ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาโครงการและเทคโนโลยี บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) ชี้แจ้งว่า จะดำเนินการดูดตะกอนจากห้วยคลิตี้จนถึงสิ้นเดือนมิถุนายนและหยุดช่วงฤดูฝนเพราะเป็นฤดูน้ำหลากทำงานยากและอาจอันตรายกับผู้ปฏิบัติงาน ระหว่างนั้นจะเน้นกำจัดตะกอนบนบก สำหรับโครงการระยะสองจะเน้นเอาตะกอนขอบตลิ่งซึ่งมีค่าตะกั่วสูงออกเพื่อไม่ให้ชะลงแหล่งน้ำซ้ำรอย รวมถึงตะกอนบนดินใกล้พื้นที่อยู่อาศัย

ด้านชาวบ้านในพื้นที่ นิติพล ตันติวานิช ผู้ใหญ่บ้าน แสดงความเห็นด้วยต่อการฟื้นฟู

“ถึงต่างประเทศจะทำอะไรแบบนี้มานาน แต่มันเป็นครั้งแรกของประเทศไทย เราไม่รู้ว่าแผนที่เขียนมาอันไหนผิดถูกหรือเปล่า  พอปฏิบัติหน้างานแล้วค่อยรู้ปัญหา อย่างน้อยการฟื้นฟูทำให้เราเห็นเชิงปริมาณว่าตะกอนที่มีตะกั่วปนเปื้อนมันไปอยู่ในถุงแล้วถูกส่งไปฝังกลบ”

โครงการฟื้นฟูดำเนินการท่ามกลางความกังวลของสมาชิกไตรภาคีบางส่วน ชลาลัย นาสวนสุวรรณ ตัวแทนชาวบ้านคลิตี้ล่างและหนึ่งในคณะกรรมการไตรภาคี  ได้ยื่นหนังสือแก่อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ สะท้อนข้อห่วงกังวลต่างๆ ของชาวคลิตี้ล่าง เช่น ความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานฟื้นฟูลำห้วย เนื่องจากชาวบ้านคลิตี้ล่างบางส่วนที่ทำงานดูดตะกอนจากห้วยต้องแช่ในน้ำทั้งวันและขาดชุดป้องกันเหมาะสม บางรายมีอาการผื่นคัน นอกจากนี้เธอเรียกร้องให้ผู้ประกอบโครงการชี้แจ้งทำความเข้าใจกับชาวบ้านที่การสร้างฝายดักตะกอนทับที่ทำกิน

พร้อมกันนั้น เธอได้ยื่นหนังสือข้อเสนอแนะของผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร หนึ่งในคณะกรรมธิการไตรภาคี ซึ่งเรียกร้องให้ผู้รับผิดชอบโครงการแสดงหลักฐานว่าได้ดำเนินงานสอดคล้องกับหลัก TOR และเปิดให้ชาวบ้านคลิตี้ล่างมีส่วนร่วมเก็บข้อมูลกระบวนการฟื้นฟูลำห้วยมากยิ่งขึ้น

ถุงเก็บตะกอนดูดจากลำห้วยและตะกอนขุดบนบกจะถูกนำมาฝังที่หลุมฝังกลบขนาดใหญ่ปูพื้นด้วยวัสดุหลายชั้นเพื่อป้องกันการรั่วซึม / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ณิชา เวชพานิช

ปัญหาลำห้วยคลิตี้และพื้นที่ใกล้เคียงปนเปื้อนสารตะกั่วดำเนินมานานกว่า 40 ปี เมื่อพ.ศ.2518 ชาวบ้านสังเกตพบว่าโรงแต่งแร่ บริษัทตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) ได้ปล่อยน้ำเสียและทิ้งหางแร่ที่มีสารตะกั่วในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ชาวบ้านจึงได้ยื่นฟ้องศาล ผลพิพากษาให้กรมควบคุมมลพิษดำเนินการฟื้นฟูแทนบริษัทตะกั่วฯ ที่เพิกเฉย โดยเรียกเก็บค่าใช้จ่ายทั้งหมดกับบริษัทฯ ผู้ก่อมลพิษ ทางหน่วยงานรัฐจึงได้ว่าจ้างบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) ดำเนินการฟื้นฟู

ท่ามกลางความคิดเห็นที่แตกต่าง วันที่ 14 เมษายน พ.ศ.2563 ชาวบ้านคลิตี้ล่างส่วนหนึ่งได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อให้ตรวจสอบและระงับการฟื้นฟูที่ไม่ปฏิบัติตามหลักชั่วคราว ขณะเดียวกัน 27 เมษายน ชาวบ้านอีกจำนวนหนึ่ง ได้จัดประชุมหารือและยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมให้ดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยต่อไป

รายงานข่าวชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของซีรี่ย์ “สี่สิบปี คลิตี้สีขุ่น” ชวนผู้อ่านฟื้นฟูความทรงจำคดีสิ่งแวดล้อมครั้งประวัติศาสตร์ ไปพร้อมกับช่วงเวลาฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ติดตามปัญหาการปนเปื้อนสารพิษที่ยังสืบเนื่องสู่ปัจจุบัน

ที่มา: greennews

นักวิจัย ม.นเรศวร แนะตรวจสารพันธุกรรม COVID-19 ในน้ำเสียของสิ่งปฏิกูล

ผศ. ดร. ธนพล เพ็ญรัตน์ หัวหน้าโครงการวิจัยการใช้โฟมที่ปรับเสถียรด้วยอนุภาคแม่เหล็กนาโนร่วมกับการเหนี่ยวนำความร้อนทางแม่เหล็กไฟฟ้าในการเร่งการฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนสารอินทรีย์ระเหยด้วยวิธีสกัดไอดิน จากมหาวิทยาลัยนเรศวร ภายใต้การสนับสนุนทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เปิดเผยว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาสถิติการติดเชื้อ COVID-19 รายใหม่ของไทยในแต่ละวันค่อนข้างคงที่ ขณะที่หลายจังหวัดรวมถึงพิษณุโลกไม่พบการติดเชื้อรายใหม่มาหลายวัน คำถามคือเมื่อใดจะเปิดเมืองได้อีกครั้ง บทความในนิวยอร์กไทม์ส ระบุว่าสหรัฐอเมริกาต้องตรวจการติดเชื้อให้มากกว่าปัจจุบันอีกวันละ ๓ เท่า จึงจะกลับมาเปิดเมืองได้อีกครั้ง โดยปัจจุบันสหรัฐอเมริกามีอัตราการตรวจที่ ๑๐,๘๖๓ ต่อประชาการ ๑ ล้านคน ส่วนของประเทศไทยอยู่ที่ ๑,๔๔๐ การตรวจต่อประชากร ๑ ล้านคน ต่ำกว่าสหรัฐอเมริกาประมาณ ๗.๕ เท่า

อย่างไรก็ตาม ไทยยังมีอีกหนึ่งทางเลือกในการเปิดเมือง นั่นคือ การตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสโคโรนาในน้ำโสโครกเพื่อคัดกรอง ซึ่งจะทำให้สามารถตรวจการติดเชื้อโดยไม่ต้องตรวจทุกคนในจังหวัด ด้วยการตรวจน้ำโสโครก หรือน้ำเสียของสิ่งปฏิกูลจากมนุษย์ ได้แก่ อุจจาระ ปัสสาวะ ในหนึ่งวันคนเราขับถ่ายอุจจาระเฉลี่ยประมาณ ๑๒๘ กรัมต่อคน และมีน้ำเสียจากสุขาที่รวมกิจกรรมชำระล้างการขับถ่ายอีกประมาณ ๒๕ – ๕๐ ลิตรต่อคนต่อวัน โดยผู้ติดเชื้อนั้นมีรายงานว่า มีสารพันธุกรรมของไวรัส COVID-19 สูงตั้งแต่ ๖๓๐,๐๐๐ copies ต่อมิลลิลิตรของอุจจาระถึง ๓๐,๐๐๐,๐๐๐ copies ต่อมิลลิลิตรของอุจจาระ ซึ่งงานวิจัยจากสหรัฐอเมริกาตรวจเจอได้ต่ำที่สุด คือ ๑๐ copies ต่อมิลลิลิตรของน้ำเสีย วิธีการตรวจใช้ RT-qPCR ปกติแบบที่ใช้ตรวจในคน ถ้าใช้ตัวเลข ๑๐ copies ต่อมิลลิลิตรเป็นค่าต่ำสุด และคำนวณจะพบว่า จ. พิษณุโลกซึ่งมีประชากรประมาณ ๘๖๖,๘๙๑ คน สามารถตรวจตัวอย่างน้ำโสโครกเพียง ๙๐ ตัวอย่าง สำหรับสมมติฐานว่าอุจจาระของผู้ติดเชื้อมีสารพันธุกรรมของไวรัสที่ ๓๐,๐๐๐,๐๐๐ copies ต่อมิลลิลิตร หรือ ๔,๒๖๗ ตัวอย่าง สำหรับสมมติฐานว่ามีสารพันธุกรรมของไวรัส ๖๓๐,๐๐๐ copies ต่อมิลลิลิตร ตัวอย่างน้ำโสโครกที่เป็นตัวแทนของทั้ง จ. พิษณุโลกยังน้อยกว่าการตรวจทุกคนในจังหวัด ประหยัดงบประมาณและเวลาอย่างมากมาย

นักวิจัยระบุว่า สามารถใช้เทคนิคการเก็บตัวอย่างน้ำแบบผสมรวมในการเก็บตัวอย่างน้ำเสียที่เป็นตัวแทนของคน ๑,๐๐๐ คนได้ เช่น ถ้ามีคอนโด ๒๐๐ ห้อง มีคนอยู่ ๔๐๐ คน ให้เก็บตัวอย่างน้ำโสโครกรวมของคอนโดนั้น ๆ มาผสมกับคอนโดอื่นในบริเวณข้างเคียง ไล่ตรวจไปทีละโซนทีละพื้นที่ หรือหากมีจุดที่มีน้ำเสียรวมของตำบลหนึ่งไหลมารวมกันก็เก็บตรงจุดนั้นเป็นตัวแทนของตำบลนั้นได้ หากตรวจแล้วพบก็สืบหากันต่อไปโดยอาจจะต้องแยกตรวจน้ำเสียรายตึก รายคอนโด หรือโซนของหมู่บ้าน จะทำให้เข้าถึงตัวผู้ติดเชื้อได้ไวขึ้น ถึงขั้นนี้การดูประวัติการเดินทาง กิจกรรม และอาการทางสุขภาพร่วมด้วยน่าจะทำให้เข้าถึงผู้ติดเชื้อได้เร็วขึ้น โดยที่ผู้ตรวจใส่ชุด PPE ก็เพียงพอแล้ว งานเก็บน้ำเสียจึงเป็นงานที่นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม วิศวกรสิ่งแวดล้อม หรือสิ่งแวดล้อมภาค สิ่งแวดล้อมจังหวัด แม้แต่สถานีอนามัยก็สามารถทำได้ หากได้รับการอบรมพื้นฐานมา ไม่จำเป็นต้องใช้บุคลากรทางการแพทย์ ด้วยเหตุนี้จังหวัดที่มีการล็อกดาวน์จนไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มมาระยะหนึ่งแล้ว การตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสในน้ำโสโครกอาจช่วยให้เปิดเมืองได้เร็วขึ้น ทั้งยังช่วยให้เราเฝ้าระวังการกลับมาของไวรัสด้วยหลักการและตรรกะแนวคิดเดียวกัน การตรวจน้ำเสียในโรงพยาบาลหรือโรงแรมที่มีขาจรจากต่างจังหวัดเข้ามาพักหลังเปิดเมือง ทำให้เราเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงได้ ในทำนองเดียวกันการตรวจน้ำโสโครกจากห้องน้ำในสนามบิน หรือแม้แต่จากห้องน้ำของเครื่องบินเองก็จะช่วยเฝ้าระวังได้อีกทางหนึ่ง นอกเหนือจากการวัดอุณหภูมิแบบปัจจุบัน

ม.นเรศวร เปิดสวิตซ์สถานีสูบน้ำเสีย ก่อนปล่อยสู่ธรรมชาติ

เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2562 ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กาญจนา เงารังษี อธิการบดี ผศ.ดร.ดลเดช ตั้งตระการพงษ์ ผู้ช่วยอธิการบดี รศ.นพ.ศิริเกษม ศิริลักษณ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ นายรุ่งรัตน์ พระนาค ผู้อำนวยการกองอาคารสถานที่ นายธวัช สิงหเดช นายก อบต.ท่าโพธ์ พร้อมด้วยบุคลากรมหาวิทยาลัยนเรศวรและผู้นำชุมชน ร่วมกันเปิดสวิตซ์สถานีสูบน้ำเสียจุดที่ 9 น้ำเสียชุมชน เพื่อนำน้ำเสียจากชุมชนรอบมหาวิทยาลัยเข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสียของมหาวิทยาลัย ก่อนปล่อยสู่ธรรมชาติหรือนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป เช่น รดน้ำต้นไม้ เป็นต้น

ที่มา: กองอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยนเรศวร

Sustainability

NARESUAN UNIVERSITY

Solverwp- WordPress Theme and Plugin