NU. Marketplace : U2T for BCG จัดขึ้น ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซาพิษณุโลก

วันที่ 23 มีนาคม 2566 คณบดีคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มอบหมาย รองศาสตราจารย์ ดร.นพวรรณ บุญชู รองคณบดีฝ่ายบริการวิชาการ เป็นตัวแทนร่วมงาน NU. Marketplace : U2T for BCG จัดขึ้น ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซาพิษณุโลก และร่วมต้อนรับ ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ เลขานุการรัฐมนตรีกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และผู้บริหารมหาวิทยาลัยนเรศวร นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ศรินทร์ทิพย์ แทนธานี รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร เข้าการเยี่ยมชมบูธแสดงสินค้าจากวิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมไทยไกรป่าแฝก (U2T ตำบลป่าแฝก) ดำเนินโครงการขับเคลื่อนเศรษกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG พื้นที่ตำบลป่าแฝก อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย โดย คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งภายในงานได้รวมสินค้าเด่นจากฝีมือชุมชนต้นแบบ ที่พัฒนาแนวคิดผลิตภัณฑ์ ต่อยอดองค์ความรู้ส่งเสริมและผลักดันสินค้าและบริการออกสู่ตลาดผ่านช่องทางการจัดจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้จากการแสดงผลงานและจำหน่ายผลิตภัณฑ์

ที่มา: คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

“NU Marketplace : U2T for BCG” พิธีรวมพลังและแสดงนิทรรศการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจ BCG

วันที่ 22 – 23 มีนาคม 2566 อุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร นำโดย ดร.พิสุทธิ์ อภิชยกุล รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และการถ่ายทอดเทคโนโลยี และรักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร และ ดร.สราวุธ สัตยากวี ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และการถ่ายทอดเทคโนโลยี และรักษาการในตำแหน่งรองผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่อุทยานวิทยาศาตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร เข้าร่วมกิจกรรม “NU Marketplace : U2T for BCG” ในพิธีรวมพลังและแสดงนิทรรศการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจ BCG ทั้งนี้ได้เชิญ ผู้ประกอบการจากจังหวัดพิจิตร เพชรบูรณ์ สุโขทัย และพิษณุโลก จำนวน 9 ราย มาร่วมออกบูธจำหน่ายสินค้า ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนจากที่มาจากการต่อยอดความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม

โดย นายนิสิต สวัสดิเทพ ปลัดจังหวัดพิษณุโลก กล่าวต้อนรับแขกผู้มีเกียรติ และ รศ.ดร.ศรินทร์ทิพย์ แทนธานี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวรายงานและวัตถุประสงค์การจัดการกิจกรรม และกิจกรรมในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้มอบนโยบาย U2T for BCG เพื่อให้สถาบันศึกษา นำองค์ความรู้สู่การพัฒนาผู้ประกอบการ ให้เกิดความเข้มแข็ง ณ ลานโปรโมชั่น ชั้น 1 ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พิษณุโลก

อุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมสนับสนุนการพัฒนาผู้ประกอบการให้ได้รับกับโอกาสทางธุรกิจและพัฒนาเทคโนโลยีอย่างเสมอภาคและยั่งยืน

ที่มา: อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร ออกบูธนิทรรศการ ในงาน Shift Fundamental to applied Research (FARE Project) ครั้งที่ 2

วันที่ 29 มีนาคม 2566 ดร.สราวุธ สัตยากวี ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และการถ่ายทอดเทคโนโลยี และรักษาการในตำแหน่งรองผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร

ได้เข้าร่วมเป็นวิทยากรสร้างแรงบันดาลใจและในความรู้ในเรื่องการเชื่อมโยงงานวิจัยพื้นฐาน งานวิจัยประยุกต์ สู่การนำไปใช้ประโยชน์เชื่อมโยงกับภาคเอกชน

และอุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวรได้ร่วมออกบูธนิทรรศการ แสดงผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการที่ได้เข้ามาพัฒนาและบ่มเพราะธุรกิจจนสามารถยกระดับและได้การรับรองมาตรฐาน รวมถึงประชาสัมพันธ์บริการของอุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร

อีกทั้งยังมีการประชุมหารือความร่วมมือด้านวิจัยและบริการวิชาการ 9 สถาบัน และนำเสนอฐานข้อมูลความร่วมมือด้านการวิจัยและบริการวิชาการ

ที่มา: อุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร

NU SciPark ต้อนรับคณะกรรมการติดตามการดำเนินโครงการส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมรายใหม่

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 ดร.สราวุธ สัตยากวี ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และการถ่ายทอดเทคโนโลยี เเละรักษาการในตำเเหน่งรองผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่อุทยาน ฯ ให้การต้อนรับคณะกรรมการติดตามการดำเนินโครงการส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมรายใหม่ ระหว่างกิจการขนาดใหญ่และมหาวิทยาลัย (Business Brotherhood) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 นอกจากนี้ยังเข้าเยี่ยมชมสถานวิจัยเครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ คณะเภสัชศาสตร์ (Cosnat) ณ อุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร อาคารมหาธรรมราชา ชั้น 2 โซน B มหาวิทยาลัยนเรศวร

โดยมีคณะกรรมการ ดังนี้
– ดร.ชาญวิทย์ ตรีเดช นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
– คุณเกียรติรัตน์ ทองผาย ที่ปรึกษาอาวุโส สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
– คุณนัยนา เปลี่ยนผัน นักพัฒนานโยบาย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
– คุณนายสนามชัย แพนดี นักส่งเสริมนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

ที่มา: อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร เข้าร่วมงานประชุมหน่วยงานภาคีเครือข่าย สภาอุตสาหกรรม จังหวัดพิษณุโลก

วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 ดร.สราวุธ สัตยากวี ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และการถ่ายทอดเทคโนโลยี และรักษาการในตำแหน่งรองผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นวิทยากรบรรยายพิเศษ “หัวข้อวิเคราะห์ทิศทางเศรษฐกิจไทย ปี2566 และการรับมือของ SMEs” พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ อุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมจัดนิทรรศการกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย สภาอุตสาหกรรมจังหวัดพิษณุโลก ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2566 ณ ห้องอุทัยธานี โรงแรมท็อปแลนด์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ เป็นแหล่งข้อมูลและเป็นศูนย์กลางการให้บริการที่ส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนางานวิจัยและเทคโนโลยีนวัตกรรมบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน สร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ด้วยการผลักดันให้มีการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์

ที่มา: อุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร

นวัตกรรมใหม่ “ผงแป้งพอกตัวลูกสุกรแรกคลอด” เพื่อช่วยลดการตายของลูกสุกร

ม.นเรศวรเปิดตัวนวัตกรรมฝีมือคนไทย “ผงแป้งพอกตัวลูกสุกรแรกคลอด” ช่วยลดการตายของลูกสุกร ส่วนผสมทำมาจากสมุนไพรที่หาง่ายในประเทศ สามารถย่อยสลายได้ง่าย ช่วยเพิ่มมูลค่าผลผลิตมาได้อีกทางหนึ่ง

เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2566 ร.ศ.ดร.วันดี ทาตระกูล อาจารย์ประจำคณะเกษตรศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ต.ท่าโพธิ์ อ.เมือง จ.พิษณุโลก พร้อมทีมวิจัยและตัวแทนบริษัทเฟิร์สลี่เทค จำกัด ได้แถลงข่าวเปิดตัวผลงานวิจัย “ผงแป้งพอกตัวลูกสุกรแรกคลอด” จากสมุนไพรไทยลดความเสี่ยงอัตราการตายของลูกสุกร โดยนวัตกรรมนี้ได้รับความไว้วางใจจากบริษัทเฟิร์สลี่เทค จำกัด รับการถ่ายทอดนวัตกรรมสู่เชิงพาณิชย์ และพร้อมวางจำหน่ายในไทยช่วงเดือนมีนาคม 2566 นี้

อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์การเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ม.นเรศวร กล่าวต่อว่า เบื้องต้นตั้งกลุ่มเป้าหมายไว้ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้ที่เคยใช้ผงพอกตัวลูกสุกรแรกคลอดอยู่แล้วแต่เป็นผลิตภัณฑ์นำเข้า หรือผลิตจากวัตถุดิบชนิดอื่น และกลุ่มเกษตรกรผู้ที่ไม่เคยใช้ผงพอกตัวลูกสุกรมาเลย โดยราคาผลิตภัณฑ์จากนวัตกรรมชิ้นนี้จะวางจำหน่ายในไทยเพียง 250 บาท (น้ำหนัก 5 กิโลกรัม) ซึ่งราคาจะถูกกว่าสินค้านำเข้าและสินค้าประเภทอื่นถึง 30-40 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งไม่มีอันตรายหากปนเปื้อนในน้ำ เพราะเป็นนวัตกรรมที่ผลิตจากสมุนไพรไทย อาทิ ขมิ้นชัน ไพล และฝาง

รศ.ดร.วันดี กล่าวอีกว่า “ผงแป้งพอกตัวลูกสุกรแรกคลอด” สามารถใช้พอกตัวลูกสุกร ทำให้ลูกสุกรสามารถ เข้าถึงเต้านมได้เร็วขึ้น และยังมีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อจุลลินทรีย์ที่ทำให้เกิดท้องเสียในลูกสุกร และทำให้พื้นคอกแห้งอยู่เสมอ โดยมีส่วนผสมจากสมุนไพรที่เป็นวัตถุดิบหาได้ง่ายจากภายในประเทศ อีกทั้งสามารถย่อยสลายได้ง่าย และเป็นการช่วยเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรให้แก่เกษตรกรได้อีกทางหนึ่ง

อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์การเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ม.นเรศวร กล่าวอีกว่า นวัตกรรม “ผงแป้งพอกตัวลูกสุกรแรกคลอด” ประกอบไป ด้วยแร่ธาตุจากธรรมชาติ เมื่อสัมผัสกับน้ำจะไม่ทำให้เกิดความร้อน ไม่มีสารเคมีเจือปน และไม่ออกฤทธิ์ระคายเคืองต่อผิวหนัง ไม่เพียงแต่จะใช้โรยตัวลูกสุกรเพื่อดูดซับความชื้น แล้วยังสามารถลดกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ในคอก รวมถึงช่วยรักษาสภาพแวดล้อมภายในคอกให้ปลอดโรคมากยิ่งขึ้น มีจุดเด่นคือลดความชื้น รักษาอุณหภูมิในร่างกายลูกสุกร อุณหภูมิภายนอกสูงกว่าในมดลูกลูกหมูมีพลังงานสะสมน้อยควรมีการดูดนมมากกว่า ควบคุมแบคทีเรียแห้งกว่า เชื้อโรคก็น้อยกว่า สายสะดือแห้งเร็ว ลดการเกิดสะดืออักเสบ

สำหรับแนวโน้มสถานการณ์สินค้าสุกร ปี 2566 โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรคาดว่าปี 2566 การผลิตสุกรในประเทศไทยจะมีปริมาณ 17.47 ล้านตัว เพิ่มขึ้น จาก 15.51 ล้านตัว ของปี 2565 คิดเป็นร้อยละ 12.66 เนื่องจากจำนวนแม่พันธุ์สุกรที่เพิ่มขึ้นจะสามารถขยายการผลิต สุกรได้เพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตามเกษตรกรยังคงมีความกังวลจากความเสี่ยงของโรคระบาดในสุกร และต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ (biosecurity).

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์

ผนึกกำลัง 8 มหาวิทยาลัยไทย ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจเครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย (Research University Network : RUN) เพื่อสร้างงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีผลกระทบสูงสู่การตอบโจทย์สำคัญของประเทศ

วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2566 รองศาสตราจารย์ ดร.ศรินทร์ทิพย์ แทนธานี รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.กรกนก อิงคนินันท์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม เข้าร่วมพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจเครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย (Research University Network : RUN) ระหว่าง 8 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ มหาวิทยาลัยนเรศวร ณ ห้องประชุม The Brick X อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่

เครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย หรือ RUN (Research University Network : RUN) เกิดขึ้นเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็ง ในการวิจัย พัฒนาศักยภาพ สร้างขีดความสามารถทางการศึกษา การวิจัยและพัฒนาของประเทศสู่ภูมิภาค ภายใต้แนวคิดด้วยความจริงใจ ความเท่าเทียม และมุ่งสู่ความเป็นเลิศ (Sincerely, Equally, Excellently) โดยสร้างงานวิจัยจากโจทย์วิจัยที่มีความสำคัญต่อประเทศ ภูมิภาคและของโลกเป็นตัวตั้ง ด้วยความมุ่งมั่นว่างานวิจัยดังกล่าวจะตอบสนอง และเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาในอนาคต อีกทั้งจะเป็นศูนย์กลางการสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาประเทศและภูมิภาคอาเซียน ภายใต้กรอบแนวความคิดการร่วมมือกันคือ การแบ่งปันทรัพยากรในการวิจัย (resource sharing) โดยเครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย มุ่งพัฒนางานวิจัย ใน 7 คลัสเตอร์ คือ พลังงาน อาหารและน้ำ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ วัสดุศาสตร์ สุขภาพ อาเซียนศึกษา และโลจิสติกส์ มีการแบ่งปันทรัพยากรในการวิจัย อาจารย์และนักวิจัย นิสิตนักศึกษาทุกระดับจนถึงหลังปริญญาเอก (Postdoc) เครื่องมือวิจัย การแลกเปลี่ยนประสบการณ์และวิธีการบริหารงานวิจัย และร่วมกันสร้างโครงการวิจัยและวิเคราะห์ปัญหางานวิจัยร่วมกัน โดยมหาวิทยาลัยนเรศวรรับผิดชอบคลัสเตอร์โลจิสติกส์ เพื่อรวบรวมนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญมาร่วมกันทำงานวิจัย รวมถึงแลกเปลี่ยนทรัพยากรด้านการวิจัยร่วมกันเพื่อสร้างผลงานวิจัยที่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศต่อไป

ที่มา: สำนักงานบริหารงานวิจัย ม.เชียงใหม่

ม.นเรศวร นำทีมนิสิต เข้าร่วมการนำเสนอผลงานผลิตภัณฑ์กันแดดสำหรับนักกีฬา ในเการแข่งขันโครงการ “เส้นทางสู่นวัตวณิชย์ ครั้งที่ 10”

วันที่ 18 – 19 กุมภาพันธ์ 2566 อุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร นำโดย ดร.ปัญญวัณ ลำเพาพงศ์ ตัวแทนผู้บริหารมหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมด้วย ดร.สราวุธ สัตยากวี ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และการถ่ายทอดเทคโนโลยี เเละรักษาการในตำเเหน่งรองผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร นำทีมไปด้วยกันไปได้ไกล (นิสิตจากคณะเภสัชศาสตร์) เข้าร่วมการนำเสนอผลงานผลิตภัณฑ์กันแดดสำหรับนักกีฬา ในเการแข่งขันโครงการ “เส้นทางสู่นวัตวณิชย์ ครั้งที่ 10” รอบระดับประเทศ ประจำปี 2565 ณ โรงแรมคริสตัลหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยอุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมการแข่งขันดังกล่าว

สรุปผลการแข่งขัน R2M ครั้งที่ 10 รอบประเทศ ดังนี้
🥇รางวัลชนะเลิศ : ทีม Spark tech จากมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี
🥈รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 : ทีม Bee Plus จากมหาวิทยาลัยพะเยา
🥉รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 : ทีม สิริมงคล (Sirimongkol) จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น
🏅รางวัลชมเชย 2 รางวัล ได้แก่
🎖️ทีม Fyty จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
🎖️ทีม Enigma จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

Nu scipark มีความมุ่งมั่นในการพัฒนานิสิตสู่การเป็นผู้ประกอบการด้วยการเสริมสร้างศักยภาพให้เข้มแข็งทั้งด้าน Business plan&Technology development of product จากสภาพแวดล้อมทางวิชาการในมหาวิทยาลัย รวมทั้งการนำผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมที่สร้างสรรค์ โดยนิสิตและบุคลากรพัฒนาสู่กระบวนการเชิงพาณิชย์ สร้างวงจรรายได้ผลประโยชน์กลับสู่มหาวิทยาลัย

ที่มา: อุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร

บพข. กองทุน ววน. หนุนต่อเนื่อง “ท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิ ต้องเป็นศูนย์”

เมื่อวันที่ 7-8 กุมภาพันธ์ 2566, แผนงานกลุ่มท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) โดยกองทุนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ร่วมมือ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) จัดงานนิทรรศการและการประชุมเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Carbon Neutral Tourism) “พัฒนาพื้นที่ภาคเหนืออย่างยั่งยืน บนฐานคิดการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์” ณ จ.พิษณุโลก ภายใต้รูปแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความเข้าใจและทักษะของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการขับเคลื่อนแผนการท่องเที่ยว คาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศ และพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยในทุกมิติ หลังจากได้มีการดำเนินการในพื้นที่ภาคใต้ จ.สงขลา ไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

นายพชรเสฏฐ์ ศิริสาริศา รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยจำเป็นต้องเป็นการพัฒนาไปในทิศทางเดียวกับการพัฒนาในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโลกที่เน้นการพัฒนาที่ยั่งยืน ลดผลกระทบที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากกิจกรรมต่าง ๆ ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ด้วยการหาแนวทางขับเคลื่อนการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้น้อยที่สุดจนถึงการผลักดันให้เกิดการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ซึ่งงานการแสดงนิทรรศการและการประชุมเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้ จะได้สร้างความเข้าใจและทักษะของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนแผนการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศไทย และยังเป็นการจัดนิทรรศการเผยแพร่องค์ความรู้อย่างบูรณาการเพื่อการท่องเที่ยวไทยไร้คาร์บอน ในปี 2564 และ ปี 2565 ร่วมกัน และยังเป็นแนวทางในการพัฒนางานและความคิดเกี่ยวกับการท่องเที่ยว รวมถึงสถานประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว แหล่งท่องเที่ยว ชุมชนท่องเที่ยว และประชาชนทั่วไปที่มีความสนใจต่อการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในอนาคต

ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาวอาวุโส สกสว. และประธานคณะอนุกรรมการแผนงานกลุ่มท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (บพข.) กล่าวว่า สกสว. และกองทุน ววน. เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) รวมทั้งเสนอของบประมาณจากรัฐบาลเพื่อนำมาจัดสรรให้กับหน่วยงานในระบบ ววน.ราว 190 แห่ง ประกอบด้วย หน่วยบริหารและจัดการทุน 9 แห่ง มหาวิทยาลัยและหน่วยงานต่าง ๆ โดยมีระบบ การติดตามประเมินผลและการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์อย่างครบวงจร

แผนด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ได้รับสนับสนุนงบประมาณการวิจัยประมาณ 200 ล้านบาทต่อปี โดยออกแบบแผนงานวิจัยเพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจการท่องเที่ยว 2 กลุ่ม กลุ่มแรก “แผนการท่องเที่ยวมูลค่าสูง” เน้นการทำงานร่วมกับภาคเอกชน เพื่อสร้างรายได้และคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนและคนในภาคการท่องเที่ยว คือ 1)การท่องเที่ยวบนฐานมรดกชาติการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ 2)การยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ 3)การยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง และกลุ่มที่ 2 “แผนงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์” มุ่งเน้นการยกระดับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เพื่อเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์

กลุ่มการท่องเที่ยวบนฐานมรดกธรรมชาติ การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ เป็นกลุ่มที่มีความเข้มแข็ง มีภาคีเครือข่ายในการทำงานตามกรอบความร่วมมือ (MOU) 8 องค์กรพันธมิตรจาก 3 กระทรวง บูรณาการ/ขับเคลื่อนการส่งเสริมและสนับสนุนการท่องเที่ยวที่มีการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ช่วยลดโลกร้อน ระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการอุดมศึกษาฯ พร้อมด้วย 8 ภาคีเครือข่ายที่ร่วมมือกัน ประกอบด้วย สกสว. บพข. องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) (สสปน.) หอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) (อพท.) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (สทอ.) ที่มีกลไกการทำงานร่วมกัน โดย อบก. สนับสนุนให้เกิดการคํานวณการปล่อยคาร์บอนของบริการการท่องเที่ยว (Product Category Rules : PCR) ทั้งในการเดินทาง ที่พัก อาหาร การจัดการของเสีย ซึ่งในปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ จะมีการเพิ่มเติม PCR ของกิจกรรม การท่องเที่ยวเชิงกีฬา การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ สปา เป็นต้น โดยเน้นการทำงานวิจัยร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชน และผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว

“จังหวัดพิษณุโลก จัดเป็น MICE City จังหวัดที่ 9 มีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์บนฐานมรดกทางวัฒนธรรมประวัติศาสตร์อันงดงาม การท่องเที่ยวเชิงกีฬา การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ บพข. ได้สนับสนุนงานวิจัยให้ภาคเหนือตอนล่าง เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวคุณภาพ เช่น กลุ่มที่ต้องการพักผ่อน ดูแลรักษาสุขภาพ กลุ่ม MICE นักเดินทางเพื่อเป็นรางวัล กลุ่มเป้าหมาย กลุ่ม Tourism for all กลุ่มท่องเที่ยวที่รักษ์ธรรมชาติเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติ การท่องเที่ยวในสวนผลไม้ ที่มีการคิด การลด การชดเชยการปล่อยคาร์บอนและขยายผลบอกต่อให้นักท่องเที่ยวและชุมชนที่รองรับนักท่องเที่ยวได้เข้าใจกระบวนการ ที่มุ่งสู่การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์” ผศ.สุภาวดี กล่าวเสริม

ทั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ ในการออกบูธแสดงผลงานจากวิจัยจาก 4 หน่วยงานหลัก คือ มหาวิทยาลัยรามคำแหง สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (สทอ.) มหาวิทยาลัยนเรศวร และมหาวิทยาลัยพะเยา และบูธจากวิสาหกิจชุมชน ของดีในชุมชนภาคเหนือ จำนวน 13 บูธ คือ ชุมชนท่องเที่ยวบ้านวังส้มซ่า สมาคมการท่องเที่ยวโดยชุมชนจังหวัดลำปาง หรือ จำปุยโฮมสเตย์ วิสาหกิจชุมชนการท่องเที่ยวโดยชุมชนไตลื้อเมืองลวงเหนือ วิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์บัวกว๊านพะเยา กลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชนชมภู วิสาหกิจชุมชนบ้านเนินกระบาก วิสาหกิจชุมชน คนเอาถ่านบ้านเขาปรัง วิสาหกิจชุมชนเมืองหมักพิศโลก วิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกรบ้านบึงเวียน กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านหนองกุลา ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมไทยลื้อเชียงคำ จ.พะเยาโฮมสเตย์บ้านท่าขันทอง และชมรมส่งเสริมท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านไร่กองขิง ซึ่งได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี

ที่มา: mgronline

NU SciPark ลงพื้นที่ถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน Tech Transfer to Community ส่งเสริมการรับงานไปทำที่บ้าน

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 เจ้าหน้าที่อุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวรลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานโครงการ “การผลิตภัณฑ์ขิงเพื่อการค้า เส้นทางนวัตกรรมเทคโนโลยีเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจและการตลาดสร้างสรรค์” โดยมี ผศ.ดร.ภคพร วัฒนดำรงค์ สังกัดคณะบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์ และการสื่อสาร มหาวิทยาลัยนรศวร เป็นหัวหน้าโครงการ ทั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากสำนักงานจัดหางานจังหวัดเพชรบูรณ์

จัดกิจกรรม “การอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง เส้นทางนวัตกรรมเทคโนโลยีเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์” ณ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านทฤษฎีใหม่ การลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน Tech Transfer to Community เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีกระบวนการผลิต และการแปรรูปขิงและมะขามให้กับสมาชิกในชุมชน และเป็นการส่งเสริมการรับงานไปทำที่บ้าน โดยดำเนินงานภายใต้แผนงานการส่งเสริมการนำนวัตกรรมไปใช้ประโยซน์ในพื้นที่เพื่อพัฒนาสังคมและชุมชน (Area based Innovation for Community)(โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน Tech Transfer to Community) ประจำปี 2565

ที่มา: อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

Sustainability

NARESUAN UNIVERSITY

Solverwp- WordPress Theme and Plugin