อขอบพระคุณคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยนเรศวร ปี พ.ศ.2564 ที่ได้มอบทุนการศึกษา สมทบกองทุนการศึกษาเพื่อนิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นจำนวนเงิน 21,062 บาท ทั้งนี้ ท่านผู้อำนวยการสำนักงานอธิการบดี นายประจินต์ เมฆสุธีพิทักษ์ เป็นผู้แทนในการส่งมอบ ขอขอบพระคุณทุกท่าน ไว้ ณ โอกาสนี้
ที่มา: กองกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยนเรศวร
วันที่ 13 กันยายน 2565 ที่ห้องประชุมสถานคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์(บ้านสองแคว) จังหวัดพิษณุโลก นายรณรงค์ นครจินดา รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก พร้อมด้วย ดร.จิรวัฒน์ พิระสันต์ หัวหน้าโครงการวิจัยพร้อมคณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดตัวโครงการ “การศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำภาคเหนือตอนล่าง : กรณีศึกษาจังหวัดพิษณุโลก ระยะที่ 2” เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนจนในพื้นที่ 2 ตำบลของ ได้แก่ ต.วังอิทก และ ต.ชุมแสงสงคราม ของ อ.บางระกำ และ ต.ไทรย้อย อ.เนินมะปราง โดยเฉพาะ อ.บางระกำ ได้ศึกษา จำนวน 2,000 คน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีศักยภาพในการประกอบอาชีพตรงตามที่ผู้จ้างงานต้องการ
โครงการนี้ได้รับความร่วมมือจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)ภายใต้แผนงาน ริเริ่มสำคัญ การวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาคนจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำ คือการพัฒนาระบบฐานข้อมูลครัวเรือนคนจนที่ถูกต้องและแม่นยำ อีกทั้งมีระบบและกลไกในการส่งต่อคนจนไปยังหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัด การยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนจนให้หลุดพ้นจากความยากจนลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ตลอดจนค้นหา และพัฒนานวัตกรรม การแก้ไขปัญหาความยากจนต่างๆให้เหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทและความต้องการของคนจนในพื้นที่ ภายใต้ความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม
ดร.จิรวัฒน์ พิระสันต์ หัวหน้าโครงการวิจัยพร้อมคณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้กล่าวว่า สำหรับโครงการแก้ปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำของภาคเหนือตอนล่าง ทางมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ทำการวิจัยและรับผิดชอบ จังหวัดพิษณุโลก ในภาคเหนือตอนล่าง โดยได้เริ่มในระยะนี้เป็นระยะที่ 2 ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2564 ทาง บพท. ได้ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุดมศึกษาได้ตระหนักถึงความยากจนของประชาชน จึงมอบหมายให้มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งเป็นหน่วยงานทางวิชาการได้เข้ามาโดยนำเอากลไกต่างๆเข้ามาพัฒนาคนจนในรูปแบบต่างๆ โดยทั่วประเทศมี 10 จังหวัดนำร่อง จ.พิษณุโลกเป็นจังหวัดหนึ่งในภาคเหนือตอนล่าง เพียงจังหวัดเดียวที่ได้รับการจัดทำการวิจัย ซึ่งเราทำสำเร็จแล้วในเฟสที่ 1 โดยเลือก อ.บางระกำ และ อ.เนินมะปราง เป็น อำเภอนำร่องในการพัฒนาอาชีพของประชาชนที่มีความยากจนขึ้นมา ซึ่งหลังจากการได้ทำการสำรวจร่วมกับทางจังหวัดแล้ว ทำให้เห็นได้ว่าความยากจนของประชาชนในจังหวัดพิษณุโลก ดีขึ้น ที่เราปูพรมพื้นที่ อ.บางระกำ ประชาชน คนจนจำนวน 2000 คน ให้ผ่านความยากจนให้ได้ภายในปีนี้
ในระยะที่ 2 งานของเราจึงมีอยู่ 3 เรื่องด้วยกัน คือเรื่องของการสำรวจใหม่อีกรอบหนึ่งสำหรับคนจนใน อ.บางระกำ ว่ามีการตกสำรวจหรือไม่ เรื่องที่ 2 คือการสร้างกลไก “โมเดลสร้างอาชีพ” ขึ้นมาทั้งหมด 16 อาชีพ อาทิ การพัฒนาคุณภาพพันธุ์ข้าว การสร้างอาชีพต่างๆ อาทิ วิถีการทำปลาร้า ,ปลาส้ม, การแปรรูปเกล็ดปลา ซึ่งล้วนแล้วต่อยอดจากอาชีพดั่งเดิม ของชาวบ้าน เพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้และพัฒนาชีวิตที่ดีขึ้น โดยในการที่จะนำพัฒนาคนจนของเราขึ้นมา รวมทั้งพัฒนาวิสาหกิจชุมชน อีก 5 แห่ง เพื่อที่จะให้คนจนเข้าไปอยู่ในวิสาหกิจชุมชน นอกจากนี้เรายังทำแพลตฟอร์มคนจนทั้ง 2,000 คน เข้าไปอยู่ในแพลตฟอร์มของเรารวมทั้ง ถ้าใครไม่ได้รับการพัฒนาในอาชีพ แต่มีความสามารถในด้านอื่นๆ เราก็จะนำเข้าไปอยู่แพลตฟอร์ม โดยมีตัวแทนของหน่วยงานเอกชน เพื่อมาเลือกหาแรงงานที่จะเข้าไปร่วมงานเพื่อช่วยเหลือคนจนให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น คือทางเราจะดูและในเรื่องของการพัฒนาทักษะอาชีพต่างๆ ร่วมไปถึงการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรียกได้ว่าเป็นการทำงานร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ เพื่อยกระดับปัญหาคนจนให้หมดไป
ซึ่งโครงการนี้ถือว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับคนจนในอำเภอบางระกำให้ใช้ทรัพยากรที่มีเพื่อเพิ่มมูลค่า สร้างรายได้เพิ่มขึ้น พัฒนาศักยภาพให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก และมีช่องทางในการหางานทำที่สามารถเข้าถึงผู้จ้างงานได้ง่าย หรือให้ผู้จ้างงานเข้าถึงคนจนที่มีศักยภาพตามที่ต้องการได้
ที่มา: phitsanulokhotnews
เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2566, มหาวิทยาลัยนเรศวรภายใต้การนำของ รองศาสตราจารย์ ดร.วัฒนา พัดเกตุ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ได้เปิดการประชุมระดับนานาชาติ ระเบียงเศรษฐกิจหลวงพระบาง อินโดจีน และเมาะลำไย ครั้งที่ 5 (The 5th LIMEC Academic International Conference) ซึ่งจัดขึ้นโดย คณะโลจิสติกส์และดิจิทัลซัพพลายเชน เพื่อเสริมสร้างการพัฒนาเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจหลวงพระบาง อินโดจีน และเมาะลำไย การประชุมครั้งนี้ถือเป็นเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์จากนักวิจัย คณาจารย์ นักศึกษา และผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขา ที่มารวมตัวกันเพื่อผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาคตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งมีความสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “เทคโนโลยีดิจิทัลด้านโลจิสติกส์สำหรับฐานชีวิตใหม่” (Logistics for New Normal with Digital Technology) ซึ่งสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงในเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดขึ้นหลังการระบาดของโรค COVID-19 โดยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพในการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน การปรับตัวอย่างรวดเร็วของภาคธุรกิจในภูมิภาคและในระดับโลกหลังวิกฤตได้ผลักดันให้ เทคโนโลยีดิจิทัล กลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่มีบทบาทในการเชื่อมโยงการทำธุรกิจ การค้า และการลงทุน ซึ่งสามารถช่วยพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตและยั่งยืน
การประชุมครั้งนี้ได้เน้นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการจัดการโลจิสติกส์ข้ามแดน โดยเฉพาะในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจที่มีการเคลื่อนไหวของสินค้าและบริการข้ามประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการพัฒนา โลจิสติกส์ ได้กลายเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาค การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลจึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการการขนส่งและการกระจายสินค้าระหว่างประเทศ ซึ่งส่งผลดีต่อ SDG 8 (การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและการทำงานที่ดี) โดยสามารถสร้างงานและอาชีพใหม่ ๆ และเสริมสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในภูมิภาค
นอกจากนี้ การประชุมครั้งนี้ยังสอดคล้องกับ SDG 1 (การขจัดความยากจน) โดยการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนที่สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจในพื้นที่ชนบทและเขตพื้นที่เศรษฐกิจต่างๆ ซึ่งช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน การพัฒนาภาคธุรกิจในพื้นที่เหล่านี้สามารถช่วยลดความยากจนและเสริมสร้างโอกาสทางการงานสำหรับประชาชนในท้องถิ่น
การประชุม LIMEC ครั้งที่ 5 ยังเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้นักวิจัย คณาจารย์ และนักศึกษาได้แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญในหลายสาขา โดยเฉพาะในด้านโลจิสติกส์ ดิจิทัลซัพพลายเชน และการพัฒนาเศรษฐกิจภาคธุรกิจ การประชุมครั้งนี้สะท้อนถึงบทบาทของมหาวิทยาลัยในการสนับสนุน SDG 4 (การศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต) เนื่องจากเป็นการสร้างโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนาทักษะใหม่ ๆ ให้กับบุคลากรในภาคธุรกิจและนักศึกษา
การบรรยายพิเศษและการเสวนาครั้งนี้เน้นการใช้ ดิจิทัลทรานฟอเมชั่น ในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและการทำงานในโลกหลังการระบาด โดยเฉพาะในการ สร้างความยืดหยุ่นให้กับโซ่อุปทาน ในโลกหลังการระบาดของ COVID-19 ซึ่งสามารถช่วยสร้างความมั่นคงและยั่งยืนในระบบเศรษฐกิจและธุรกิจ การเสวนาเหล่านี้ทำให้ผู้เข้าร่วมได้รับแนวทางในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สามารถใช้ในการปรับตัวในสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและพลิกผัน
การประชุมครั้งนี้ยังเป็นการเปิดโอกาสให้คณะโลจิสติกส์และดิจิทัลซัพพลายเชนของมหาวิทยาลัยนเรศวรเผยแพร่งานวิจัยในระดับสากล โดยการเปิดตัว “1st International Journal & Conference of Logistics and Digital Supply Chain” ซึ่งเป็นวารสารวิชาการนานาชาติที่มุ่งเน้นการเผยแพร่ผลงานวิจัยในด้านโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน การเปิดตัววารสารนี้ช่วยเพิ่มมาตรฐานทางวิชาการและสร้างโอกาสในการเผยแพร่งานวิจัยทางการศึกษาและวิทยาศาสตร์ในวงกว้าง ซึ่งเป็นการสนับสนุน SDG 4 โดยตรงในการส่งเสริมการศึกษาระดับสูงและการวิจัยที่มีคุณภาพ
มหาวิทยาลัยนเรศวรยังคงมุ่งมั่นที่จะเป็นศูนย์กลางของการศึกษาและการวิจัยที่สามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในภูมิภาคและระดับโลก โดยการขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจใน ระเบียงเศรษฐกิจหลวงพระบาง อินโดจีน และเมาะลำไย การประชุมครั้งนี้เป็นการส่งเสริมการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างสามประเทศหลักที่อยู่ในเขตระเบียงเศรษฐกิจนี้ และเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนในพื้นที่
วช. สนับสนุนทีมวิจัย ม.นเรศวร ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตองุ่นไชน์มัสแคทเพื่อการพาณิชย์ เผยจุดเด่นทำให้เป็นองุ่นไร้เมล็ด เพิ่มมูลค่า และเก็บเกี่ยวได้ 2 รอบต่อปี ซึ่งนอกจากจะเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรผู้ปลูกองุ่นแล้ว ยังทำให้คนไทยเข้าถึงการบริโภคองุ่นพันธุ์นี้ได้ง่ายขึ้นและลดการนำเข้าจากต่างประเทศเก็บตก… จากงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 กับอีกหนึ่งบูธที่ได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมงานเป็นอย่างมากจากการนำเสนอผลงานที่มุ่งยกระดับผลผลิตทางเกษตรเพื่อการพาณิชย์และการส่งออกในอนาคตของทีมวิจัยจากคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวรที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ในภาคการเกษตร การปลูกผลไม้ให้มีคุณภาพสูง และได้มาตรฐานจนเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศได้นั้น เกษตรกรผู้ปลูกจำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้ เทคโนโลยี และเงินลงทุนค่อนข้างสูง อย่างเช่น การปลูกองุ่นไชน์มัสแคทที่จำเป็นต้องสร้างโรงเรือนและต้นพันธุ์องุ่น รวมทั้งอาศัยหลักการจัดการที่ถูกต้อง โดยใช้เทคโนโลยีการผลิตและหลังการเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จึงได้สนับสนุนทุนวิจัยให้กับโครงการ “การจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตองุ่นไชน์มัสแคทเพื่อการพาณิชย์” ในปีงบประมาณ 2563 ภายใต้โครงการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อชุมชน เพื่อยกระดับกระบวนการผลิตพร้อมทั้งถ่ายทอด สร้างความรู้ความเข้าใจให้เกิดแก่เกษตรกร ตลอดจนเพิ่มศักยภาพและสร้างมาตรฐานการผลิตองุ่นไชน์มัสแคท เพื่อการพาณิชย์และการส่งออกในอนาคต
โดยมี “รศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท” ผู้อำนวยการสถานความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นหัวหน้าโครงการ เปิดเผย ถึงที่มาของโครงการดังกล่าวว่า เนื่องจากทีมวิจัยได้รับการสนับสนุนจากสโมสรโรตารี่สากลในการไปฝึกอบรมพร้อมกับเกษตรกรที่ประเทศญี่ปุ่น ก่อนที่จะกลับมาช่วยพัฒนาการผลิตองุ่นไชน์มัสแคทในประเทศไทย หลังจากนั้นจึงได้รับทุนวิจัยจาก วช.ในการจัดอบรมเพื่อถ่ายทอดความรู้แก่นักวิชาการ เกษตรกรผู้ปลูกองุ่นไชน์มัสแคทและผู้ที่สนใจในปี 2564
“จากที่เราไปศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่นทั้งเรื่องเทคโนโลยีการปลูก การเก็บเกี่ยว และการเก็บรักษา ซึ่งก็ได้นำมาถ่ายทอดให้กับเกษตรกรจริงๆ ที่เมืองไทยและได้ผลผลิตเรียบร้อยแล้ว โดยที่ผ่านมามีการถ่ายทอดองค์ความรู้ไปแล้ว 2 รุ่น เช่น การใช้องุ่นพันธุ์ไชน์มัสแคทต่อยอดกับองุ่นป่า และกระบวนการในการทำให้องุ่นออกดอก และติดผล ซึ่งจุดเด่นของโครงการนื้คือ สามารถทำให้เกิดเป็นองุ่นไร้เมล็ดที่มีราคาสูงขึ้นได้ เกษตรกรผู้ปลูกองุ่นในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างสามารถปลูกจนจำหน่ายได้จริงแล้วในเชิงพาณิชย์ และสามารถเก็บเกี่ยวผลองุ่นได้ถึง 2 รอบต่อปี”รศ.ดร.พีระศักดิ์ กล่าวว่า การพัฒนาการปลูกองุ่นพันธุ์ไชน์มัสแคท ซึ่งมีราคาสูง นอกจากจะทำให้คนไทยเข้าถึงการบริโภคองุ่นพันธ์นี้ง่ายขึ้นแล้ว ยังทำให้กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกองุ่น เช่น ในพื้นตำบลวงฆ้อง อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก มีคุณภาพชีวิตหรือเศรษฐกิจดีขึ้น เนื่องจากมีรายได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 15 % และสามารถลดการนำเข้าองุ่นไชน์มัสแคทได้ ซึ่งในอนาคตทีมวิจัยอยากให้โครงการนี้ขยายพื้นที่ปลูกไปยังจังหวัดอื่นๆ เพื่อมีการผลิตที่เพียงพอกับความต้องการบริโภคภายในประเทศอย่างไรก็ดี ภายในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 คณะเกษตรศาสตร์ฯ จากมหาวิทยาลัยนเรศวร ยังได้ นำผลงาน “การจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตทุเรียนหลงลับแลและหมอนทองเชิงพาณิชย์ในเขตภาคเหนือตอนล่าง” ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก วช. มาจัดแสดง
นอกจากจะมีการฝึกอบรมเกษตรกรในการเรื่องของเทคโนโลยีการปลูก การดูแลรักษา การแก้ปัญหาแพร่ระบาดของแมลง และการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ยังมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการตรวจสอบคุณภาพของผลทุเรียน ทดแทนวิธีการเดิมที่เกษตรกรดูจากสีผิว หนาม และใช้ไม้เคาะ เพื่อประเมินความแก่ของผลทุเรียน โดยเครื่องตรวจสอบความแก่ของผลทุเรียน เป็นเทคโนโลยี NIR (Near Infrared ) ที่นำเข้าจากต่างประเทศ และนำมาพัฒนาเพิ่มเติมในส่วนของสมการที่พัฒนาขึ้นโดยอาศัยการเก็บข้อมูลจริงกว่า 400 ตัวอย่างเพื่อให้การตรวจวัดหาค่าน้ำหนักแห้งในผลทุเรียนที่มีความอ่อน-แก่ในระดับต่าง ๆ มีความแม่นยำมากขึ้น
ที่มา: เทคโนโลยีเกษตร
วันที่ 18 กรกฎาคม 2565 รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานิสิต ศิษย์เก่า และศิลปวัฒนธรรม (ดร.จรัสดาว คงเมือง) และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ให้การต้อนรับผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก (นายรณชัย จิตรวิเศษ) และ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดพิษณุโลก (นางวัชรินทร์ จิตรวิเศษ) พร้อมด้วยคณะ ให้เกียรติตรวจเยี่ยมติดตามนักเรียนทุนในพระบรมราชานุเคราะห์ และพระราชานุเคราะห์ จังหวัดพิษณุโลก ปีการศึกษา 2565 ณ ห้องประชุมเสลา 1 สำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร โดยมีนักเรียนทุนพระราชทานฯ ในสังกัดมหาวิทยาลัยนเรศวร จำนวน 17 คน ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก และนายกเหล่ากาชาดจังหวัดพิษณุโลก ได้พูดคุย ซักถามเกี่ยวกับผลการเรียน ความเป็นอยู่ ครอบครัว สวัสดิการต่างๆ และการใช้ชีวิตของนักเรียนทุนพระราชทาน โดยได้มอบถุงยังชีพและเงินทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนทุนทุกคนด้วย
ที่มา: กองกิจการนิสิต มหาวิยาลัยนเรศวร
มหาวิทยาลัยนเรศวรได้มีการดำเนินกิจกรรมที่สอดคล้องกับ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้าน SDG 1: การขจัดความยากจน และ SDG 2: การขจัดความหิวโหย ผ่านการส่งเสริมโอกาสทางการอาหารและการสนับสนุนค่าครองชีพของนิสิต โดยกิจกรรมที่จัดขึ้นในช่วงเปิดภาคเรียนที่ 1 ประจำปีการศึกษา 2566 เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ชัดเจนในการดำเนินงานที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาที่ยั่งยืน
ในช่วงต้นปีการศึกษา 2566 ผู้ประกอบการในศูนย์อาหาร NU Canteen และ NU Square ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยนเรศวรในการจัดกิจกรรมแจกคูปองส่วนลดสำหรับนิสิต โดยคูปองนี้มีมูลค่าตั้งแต่ 10 – 20 บาท ซึ่งสามารถใช้เป็นส่วนลดในการซื้ออาหารและเครื่องดื่มภายในศูนย์อาหารต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัย การแจกคูปองในครั้งนี้มุ่งหวังที่จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของนิสิต โดยเฉพาะในช่วงเปิดภาคเรียนใหม่ ที่นิสิตบางคนอาจจะต้องปรับตัวกับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งยังเป็นการสนับสนุนให้นิสิตสามารถเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพได้ง่ายขึ้นในราคาที่สมเหตุสมผล
กิจกรรมนี้สอดคล้องกับ SDG 1: การขจัดความยากจน โดยการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านอาหารของนิสิต ซึ่งเป็นกลุ่มที่มักจะมีรายได้จำกัด เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาที่ยังอยู่ในวัยเรียนและไม่ได้มีรายได้ประจำจากการทำงาน คูปองส่วนลดนี้จึงช่วยให้พวกเขาสามารถประหยัดเงินได้ ซึ่งช่วยบรรเทาความยากจนทางเศรษฐกิจในระดับบุคคลและครอบครัว นอกจากนี้ยังช่วยส่งเสริมการเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพ โดยไม่ให้มีปัญหาการขาดแคลนอาหารหรือการเลือกกินในราคาที่สูงจนเกินไป
การดำเนินกิจกรรมนี้ยังสะท้อนถึงการให้ความสำคัญกับความยั่งยืนทางสังคม โดยเฉพาะในด้านการสนับสนุนการดูแลสุขภาพของนิสิตให้เข้าถึงอาหารที่ดีและมีประโยชน์ ซึ่งส่งผลดีต่อการเรียนและการพัฒนาศักยภาพของนิสิตอย่างยั่งยืน
กิจกรรมการแจกคูปองส่วนลดยังเชื่อมโยงกับ SDG 2: การขจัดความหิวโหย เพราะอาหารเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญต่อการดำรงชีวิต หากนิสิตสามารถเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพและราคาย่อมเยาได้ ก็จะสามารถดูแลสุขภาพของตัวเองได้ดียิ่งขึ้น และไม่ต้องเผชิญกับปัญหาความหิวโหยหรือขาดสารอาหารซึ่งอาจส่งผลต่อการเรียนรู้และพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ของนิสิต
การช่วยลดค่าใช้จ่ายในด้านอาหารยังเป็นการสนับสนุนให้ผู้เรียนสามารถเลือกบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ ไม่ต้องลดทอนคุณค่าทางโภชนาการเพียงเพราะปัญหาด้านค่าใช้จ่าย ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการมีสุขภาพที่ดี และสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารให้กับนิสิตในระยะยาว
กิจกรรมแจกคูปองนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่การช่วยเหลือนิสิตในช่วงเปิดเทอมเท่านั้น แต่ยังเป็นตัวอย่างที่ดีในการสร้างความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย, ศูนย์อาหาร, และผู้ประกอบการภายนอกในการสนับสนุนการศึกษาและการพัฒนาที่ยั่งยืนในด้านเศรษฐกิจและสังคม ผ่านการช่วยเหลือในด้านค่าครองชีพของนิสิต ซึ่งเป็นการสนับสนุนที่เป็นประโยชน์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
การแจกคูปองส่วนลดในศูนย์อาหาร NU Canteen และ NU Square ยังเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริม ความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ เนื่องจากช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายภายในชุมชนมหาวิทยาลัยและเพิ่มการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการสร้างสังคมที่ยั่งยืน
ที่มา: งานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
เมื่อวันศุกร์ที่ 26 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา กองกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้จัดพิธีมอบทุนการศึกษา “มูลนิธินายประจักษ์ และนางสาลี่ คนตรง” ประจำปีการศึกษา 2564 ณ ห้องประชุมสุพรรณกัลยา 1 สำนักงานอธิการบดี โดยได้รับเกียรติจาก นายอานนท์ณัฏฐ์ เปรมฤทัย ประธานกรรมการมูลนิธินายประจักษ์ และนางสาลี่ คนตรง และคณะ เป็นผู้มอบทุนฯ ร่วมกับ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร (ศาสตราจารย์ ดร.จิรวัฒน์ พิระสันต์) ผู้อำนวยการกองกิจการนิสิต และคณาจารย์ผู้แทนสถาบัน ทั้งนี้มีนักเรียนและนิสิตที่ได้รับทุน จำนวนทั้งสิ้น 26 ทุน จาก 5 สถาบัน ได้แก่ นิสิตจากมหาวิทยาลัยนเรศวร จำนวน 5 ทุน นักเรียนจากโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม จำนวน 5 ทุน นักเรียนจากโรงเรียนพุทธชินราช จำนวน 5 ทุน นักเรียนจากโรงเรียนพิษณุโลกปัญญานุกูล จำนวน 7 ทุน และสามเณรจากโรงเรียนวัดธรรมจักรวิทยา จำนวน 4 ทุน ซึ่งทุนดังกล่าวถือเป็นโอกาสทางการศึกษาแก่เยาวชน นักเรียน และนิสิตที่มีความตั้งใจศึกษาเล่าเรียน มีความประพฤติดี แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ อีกทั้งยังเป็นการส่งต่อโอกาสและแบ่งปันไปยังผู้อื่นในสังคม เพื่อให้ “ผู้รับ” ในวันนี้ ได้มีโอกาสพัฒนาตนเองให้เป็น “ผู้ให้” ในวันหน้า และร่วมแบ่งปันโอกาสทางการศึกษาให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้อย่างยั่งยืน และส่งต่อความสุขสู่บุคคลอื่นในสังคมต่อไปอย่างไม่มีสิ้นสุดต่อไป
ที่มา: กองกิจการนิสิต
เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2564 ศาสตารจารย์ ดร.จิรวัฒน์ พิระสันต์ ปฏิบัติหน้าที่แทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมผู้บริหาร ร่วมให้การต้อนรับภาคีเครือข่าย จำนวน 12 หน่วยงาน ในพิธีลงนามบันทึกบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ ภาคเหนือตอนล่าง : กรณีศึกษาจังหวัดพิษณุโลก โดยมี นายรณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เป็นประธานในพิธีเปิดงาน ณ ห้องประชุมพระพุทธชินราช ชั้น 7 ศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก (หลังใหม่)
สำหรับการดำเนินงานดังกล่าว ดร.กิตติ สัจจา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)ได้กล่าวว่า โครงการนี้ ได้รับความร่วมมือจากภาครัฐกว่า 12 หน่วยงาน ที่จะร่วมผลักดันให้เกิดกระบวนการและกลไกของหน่วยงานนำไปสู่การขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาพัฒนาคุณภาพชีวิตของครัวเรือนยากจนในพื้นที่จังหวัดพิษรูโลกอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำ โดยการใช้ประโยชน์จากระบบฐานข้อมูลครัวเรือนยากจนร่วมกันของทุกภาคส่วน นับเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะก่อให้เกิดการบูรณาการช่วยเหลือคนจนอย่างตรงจุด
สำหรับจังหวัดพิษณุโลกคณะผู้วิจัยได้ค้นหาและสอบทานข้อมูลคนจน จำนวน 24,000 ข้อมูล ครอบคลุมพื้นที่ 9 อำเภอ จากนั้น ดำเนินการสร้างนวัตกรรมแก้จนที่เหมาะสมกับบริบทและคนจนเป้าหมาย โดยทุนศักยภาพ 5 มิติ ประกอบด้วย ทุนสังคม ทุนมนุษย์ ทุนทางกายภาพ ทุนทางการเงิน และทุนธรรมชาติ นำมาสู่การวิเคราะห์เชิงคุณภาพเชื่อมโยงบริบท เพื่อการสร้างนวัตกรรมแก้จนที่สอดคล้องกับบริบทและคนจนเป้าหมาย โดยมีเป้าหมายคนจนในพื้นที่ 2 อำเภอ ๆ ได้แก่ ตำบลชุมแสงสงคราม ตำบลวังอิทก อำเภอบางระกำ และตำบลไทรย้อย อำเภอเนินมะปราง รวมเป็น 2,000 คน ทั้งนี้คนจนได้รับการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาที่สอดคล้องกับบริบทกลุ่มเป้าหมายอย่างน้อย 10%
ด้วยกระบวนการสร้างนักจัดการข้อมูลชุมชน และภาคีเครือข่ายในชุมชน สามารถติดตามสถานะคนจนให้เป็นปัจจุบัน จัดทำข้อมูลให้มีชีวิต ส่งต่อและประสานความช่วยเหลือครัวเรือนยากจนในระดับพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดระบบความช่วยเหลือครัวเรือนยากจนเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการสานพลังขับเคลื่อนจากวัด ทหาร หน่วยงาน และชุมชน หนุนเสริมทักษะอาชีพ ทักษะการใช้ชีวิตของครัวเรือนยากจน การบูรณาการสร้างระบบสาธารณสุขที่เหมาะสม ทั้งนี้การพัฒนาภาคีเครือข่ายด้วยนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนในจังหวัดพิษณุโลกแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ จะเป็นการสานพลังที่จะนำไปสู่กระบวนการแก้ไขปัญหาให้คนพิษณุโลกหลุดพ้นจากความยากจน สามารถเข้าถึงทรัพยากร การศึกษา สวัสดิการต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตได้อย่างเท่าเทียมและยั่งยืน
ที่มา: ประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัยนเรศวร
เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 กองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร จัดนิทรรศการพิพิธภัณฑ์ผ้า เรื่อง “ลาย” (Pattern Exhibition 2021) โดยมีศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กาญจนา เงารังษี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นประธานกล่าวเปิดงาน นิทรรศการพิพิธภัณฑ์ผ้า เรื่อง “ลาย” จัดขึ้นเพื่อบอกเล่าเรื่องราวประวัติความเป็นมาและวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่น ที่เป็นการผสมผสานวัฒนธรรมการทอผ้าของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกถ่ายทอดสืบต่อกันมาเป็นร้อยปี
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์และสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่ รวมถึงสร้างโอกาสฟื้นฟูอาชีพด้านหัตถกรรมและสร้างรายได้เพิ่มหลังเกิดการแพร่ระบาดของโรคโคโรน่าไวรัส (COVID-19) ที่ทำให้ชุมชนหรือกลุ่มเป้าหมายขาดรายได้หรือรายได้หดหาย สร้างรายได้และลดการเหลื่อมล้ำด้านรายได้ อีกทั้งยังเป็นการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับลวดลายผ้า ด้วยเทคนิคต่าง ๆ ในรูปแบบการจัดแสดงนิทรรศการ
โดยนิทรรศการได้รับความอนุเคราะห์ผ้า และเครื่องแต่งกาย จากคุณวีร์สุดา เม่นชาวนา (ร้านไหมไทยโบราณ) ซึ่งเป็นนักสะสมผ้า กว่า 50 ชิ้น ผลิตภัณฑ์ลวดลายจักสานจากโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องจักสานไม้ไผ่กว่า 20 ชิ้น ผลิตภัณฑ์ลวดลายผ้าขาวม้าจากโครงการพัฒนาและสร้างผู้ประกอบการด้วยผลิตภัณฑ์ผ้าขาวม้าลายเหลือหางขาว จังหวัดพิษณุโลก กว่า 20 ชิ้น ผลิตภัณฑ์ลวดลายผ้าพิมพ์จากวัสดุธรรมชาติ จากโครงการพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์ผ้าด้วยผ้าพิมพ์สีธรรมชาติเคลือบนาโนเทคโนโลยี เพื่อสร้างรายได้เพิ่มให้กับวิสาหกิจชุมชน กว่า 20 ชิ้น และผ้าจากคลังสะสมพิพิธภัณฑ์ผ้า กว่า 20 ชิ้น รวมวัตถุจัดแสดงนิทรรศการในครั้งนี้ ทั้งสิ้นกว่า 100 รายการ
ภายในพิธีเปิดยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจต่าง ๆ มากมาย อาทิ กิจกรรมชมปั๊บ ลดปุ๊บ สามารถเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จักสานในโครงการและเลือกซื้องานจักสานในราคาพิเศษ พร้อมชมสาธิตจักสานจากกลุ่มจักสานบ้านท่าโรงตะวันตก กิจกรรมชอปปั๊บ ตัดปุ๊บ ซื้อผ้าขาวม้าลายเหลืองหางขาวจากกลุ่มทอผ้าบ้านม่วงหอมในราคาพิเศษ พร้อมรับสิทธิ์ตัดเย็บเครื่องแต่งกาย 1 ชุด โดยผู้สนใจรับชมนิทรรศการจะจัดแสดงระหว่างวันที่ 10 สิงหาคม – 15 กันยายน 2564 ณ อาคารพิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร สอบถามเพิ่มเติม กองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร โทรศัพท์ 0 5596 1207
ที่มา: phitsanulokhotnews
Sustainability