ผู้สูงอายุชาวระนอง ยิ้มร่าใส่ฟันเทียมพระราชทาน

เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2565 ที่โรงพยาบาลระนอง หน่วยทันตกรรมพระราชทาน ม.นเรศวร นำโดย อาจารย์ทันตแพทย์ ดร.พรพจน์ เจียงกองโค เลขานุการหน่วยทันตกรรมพระราชทาน ม.นเรศวร พร้อมกับเหล่าทันตแพทย์อีก 30 ท่าน ลงพื้นที่ใส่ฟันเทียมพระราชทานให้กับผู้สูงอายุ ที่ไม่มีฟันเลยให้ได้ใส่ฟันเทียมทั้งปาก เสร็จภายใน 1 วัน 28 ราย

อาจารย์ทันตแพทย์ ดร.ยศณรงค์ ศิริเมธาวงศ์ ทันตแพทย์ประจำ ม.นเรศวร กล่าวว่า โครงการหน่วยทันตกรรมพระราชทาน มหาวิทยาลัยนเรศวร จัดตั้งขึ้นมาร่วม 5 ปี เพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยที่ไร้ฟันในถิ่นทุรกันดาร ที่เดินทางไปมาลำบาก และห่างไกลความเจริญ โดยจุดเด่นหน่วยทันตกรรมพระราชทาน จากเดิมผู้ไร้ฟันต้องเดินทางมาทำฟันเทียม 4-5 ครั้ง ใช้เวลา 1-2 เดือน เราสามารถให้บริการทำฟันเทียมทั้งปากภายในวันเดียว (complete denture in one day) ให้แก่ประชาชน ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่หน่วยทันตกรรมพระราชทาน ได้ร่วมกันคิดค้นขึ้นมา เป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ป่วยไร้ฟันชาวไทยทุกคน และการเดินทางมาใส่ฟันเทียมพระราชทานที่ จ.ระนอง เพราะได้รับทราบข้อมูลว่า ในพื้นที่ยังขาดแคลนทันตแพทย์สำหรับใส่ฟันปลอม ให้กับประชาชนอีกนับร้อยนับพันราย โดยข้อมูลเบื้องต้น ผู้ป่วยบางราย รอคิวใส่ฟันมาร่วม 2 ปี นับว่าเป็นโอกาสอันดี ที่หน่วยฯสามารถเข้ามาช่วยการบริหารจัดการผู้ป่วยได้รวดเร็วขึ้น ไม่ต้องรอคิวนาน ทางฝ่ายทันตกรรมโรงพยาบาลระนอง ได้ให้การดูแลและสนับสนุนด้วยดี

นายห้วน พัฒมาก วัย 81 ปี เดินทางมาจากพื้นที่ในหุบเขา ต.ละอุ่นเหนือ อ.ละอุ่น จ.ระนอง กล่าวน้อมสำนึกพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระราชทานฟันเทียมมาให้ และขอบคุณเจ้าหน้าที่ลูกๆทุกคนให้อยู่เย็นเป็นสุข อย่าให้มีความเจ็บความไข้ ขอให้มีอายุยืนอยู่ไปนานๆ และอวยพรให้ทุกคน ได้ถูกลอตเตอรี่ รางวัลที่ 1 ถ้าถูกกันทุกคน พร้อมยิ้มอย่างมีความสุข หลังได้รับการใส่ฟันเทียมพระราชทาน

ที่มา: dailynews

กยศ. มอบรางวัลกิจกรรมเชิดชูคนดี กยศ. เพื่อเป็นต้นแบบที่ดี (Role Model) จิตอาสาเต้านมเทียม

กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) มอบรางวัลกิจกรรมเชิดชูคนดี กยศ. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เพื่อเป็นต้นแบบที่ดี (Role Model) ให้แก่ นักเรียน นักศึกษา ศิษย์เก่า กยศ. และสถานศึกษา เพื่อสร้างขวัญกำลังใจและความภาคภูมิใจแก่ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นต้นแบบที่ดี

วันนี้ (26 สิงหาคม 2565) ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ 4 ชั้น 4 กระทรวงการคลัง ได้มีพิธีมอบรางวัลกิจกรรมเชิดชูคนดี กยศ. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 โดยมี นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง และประธานกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลและร่วมแสดงความยินดีแก่ผู้ได้รับรางวัล

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เปิดเผยว่า “ในโอกาสที่กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาได้จัดงานมอบรางวัลกิจกรรมเชิดชูคนดี กยศ. ให้แก่ นักเรียน นักศึกษา ศิษย์เก่า กยศ. และสถานศึกษา ซึ่งทุกท่านถือเป็นผู้ที่มีคุณงามความดี และเป็นต้นแบบที่ดีให้กับรุ่นน้องได้เห็นคุณค่าของเงินกู้ยืมมีทัศนคติที่ดีและถูกต้องต่อการกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา และมีคุณธรรมจริยธรรมจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคม รวมถึงมีความรับผิดชอบในการชำระเงินคืนกองทุน ซึ่งสมควรที่จะได้รับการยกย่องให้เป็นต้นแบบที่ดีของสังคมต่อไป ทั้งนี้ กองทุนมีความภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในการสร้างโอกาสทางการศึกษา และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ เพื่อเป็นกำลังสำคัญให้กับประเทศชาติในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมต่อไป กองทุนได้ดำเนินการคัดเลือกรางวัลกิจกรรมเชิดชูคนดี กยศ. โดยร่วมกับสถานศึกษาที่เข้าร่วมดำเนินงานกองทุนทั่วประเทศ เพื่อสรรหาผู้ที่เป็นต้นแบบที่ดี (Role Model) ให้แก่ นักเรียน นักศึกษา ศิษย์เก่า กยศ. และสถานศึกษา เพื่อสร้างขวัญกำลังใจและความภาคภูมิใจแก่ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นต้นแบบที่ดีในการประพฤติปฏิบัติตน มีจิตสาธารณะ มีจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคม รวมถึงสร้างเครือข่ายผู้เป็นต้นแบบที่ดีของกองทุนที่จะได้เป็นส่วนสำคัญในการร่วมสร้างประโยชน์แก่สังคม และร่วมกันดำเนินกิจกรรมสาธารณประโยชน์ที่เกี่ยวกับกองทุนในโอกาสต่างๆ ทั้งนี้ กองทุนได้ประกาศผลการคัดเลือกต้นแบบที่ดี จำนวน 36 รางวัล ประกอบด้วย

นักเรียน นักศึกษา กยศ. ต้นแบบ จำนวน 12 รางวัล (แบ่งเป็นประเภทเดี่ยว จำนวน 9 รางวัล ประเภทกลุ่ม 3 รางวัล) โดยจะได้รับรางวัลทุนการศึกษา พร้อมใบประกาศเกียรติคุณ และเข็มคนดี กยศ.

ศิษย์เก่า กยศ. ต้นแบบ จำนวน 12 รางวัล โดยจะได้รับรางวัลทุนการศึกษา พร้อมใบประกาศเกียรติคุณ และเข็มคนดี กยศ.

สถานศึกษาต้นแบบ 12 รางวัล โดยจะได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณ ในฐานะที่เป็นต้นแบบ    การบริหารจัดการงานกองทุนที่ดี มีการสร้างเครือข่ายจิตสาธารณะ เพื่อปลูกฝังให้นักเรียน นักศึกษา ร่วมทำประโยชน์เพื่อสังคมส่วนรวมอย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ กองทุนเป็นหน่วยงานของรัฐในกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ดำเนินการให้กู้ยืมเงินแก่นักเรียน นักศึกษา ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ระดับอาชีวศึกษา จนถึงระดับอุดมศึกษา ผ่านสถานศึกษามากกว่า 4,000 แห่ง โดยมีผู้กู้ยืมที่ได้รับโอกาสทางการศึกษาทั่วประเทศกว่า 6.2 ล้านราย ซึ่งทุกคนล้วนเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้าต่อไป” ผู้จัดการกองทุนฯ กล่าวในที่สุด

   ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยนเรศวรได้รับการคัดเลือกต้นแบบที่ดีและได้รับรางวัล  ดังนี้
1. นักเรียน นักศึกษา กยศ. ต้นแบบ
              1. นางสาวเบญจรัตน์ ดีเรือง มหาวิทยาลัยนเรศวร

2. ประเภทกลุ่ม “จิตอาสาเต้านมเทียม”
            1. นางสาวเอมมิกา ใจกลม มหาวิทยาลัยนเรศวร
              2. นางสาวกัญญ์วรา ขันวิเศษ มหาวิทยาลัยนเรศวร
              3. นางสาวรวิสรา สมบูรณ์มา มหาวิทยาลัยนเรศวร
              4. นางสาวธนภรณ์ ชัยสิทธิ์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
              5. นางสาวมานิตา สุนทรพจน์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

3. ​ประเภทกลุ่ม
              1. นายเกรียงศักดิ์ ลีลาศักดิ์สิริ มหาวิทยาลัยนเรศวร
              2. นางสาวมูนา กียะ มหาวิทยาลัยนเรศวร
              3. นางสาวณัฐติกรณ์ โยธาสิงห์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
              4. นางสาววชิราภรณ์ รุ่งอินทร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

4. สถานศึกษาต้นแบบ
              มหาวิทยาลัยนเรศวร

ที่มา: กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)

ม.นเรศวร ผนึกกำลังจัด “สัมมนาวิชาการระดับชาติด้านคนพิการ ครั้งที่ 14” มุ่งขับเคลื่อนอาชีพคนพิการ ยุคโควิด-19 ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม

วันที่ 26 สิงหาคม 2565 น. ที่ศูนย์แสดงนิทรรศการและการประชุมนานาชาติ มหาวิทยาลัยนเรศวร นางสาวสราญภัทร อนุมัติราชกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เป็นประธานในพิธีเปิดงานสัมมนาวิชาการระดับชาติด้านคนพิการ ครั้งที่ 14 ประจำปี 2565 การขับเคลื่อนอาชีพสำหรับคนพิการในยุคโควิดด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม “Driving occupation for persons with disabilities in the COVID-19 pandemic with technology and innovation” ในรูปแบบการจัด Online และ Onsite ผ่านโปรแกรม Zoom meeting

พร้อมมอบเกียรติบัตรและโล่รางวัลให้แก่ผลงานบทความวิชาการ จำนวน 3 รางวัล และการประกวดนวัตกรรม จำนวน 6 รางวัล โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กำพล ทรัพย์สมบูรณ์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวรายงาน พร้อมด้วย รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณาจารย์ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ผู้แทนหน่วยงานองค์กรด้านคนพิการ สื่อมวลชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมงาน

ที่มา: กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

โอเคเบตง ถอดประสบการณ์ตรงครูจากผู้ใช้ Q-Info

“…ให้ลองคิดภาพว่าแต่ก่อนครูคนหนึ่งต้องจัดการข้อมูลนักเรียนมากมายแค่ไหน เด็กคนเดียวมีใบ ปพ.1 ถึง ปพ.9 ชั้นหนึ่งมีเด็กกี่คนก็คูณเข้าไป จะหยิบมาใช้แต่ละที เอกสารจิปาถะเหล่านี้ก็กองกระจัดกระจายเต็มโต๊ะ แต่พอข้อมูลเหล่านี้เปลี่ยนเป็นดิจิทัลแพลตฟอร์ม จากกระดาษย้ายไปอยู่บนหน้าจอ เราเข้าถึงข้อมูลได้เร็วมาก ดูผ่านสมาร์ทโฟนบนฝ่ามือได้เลย ทีนี้จะหาข้อมูลก็ง่าย ประหยัดทรัพยากร หรือวางแผนจัดการทุกอย่างในโรงเรียนก็ทำได้สะดวกขึ้น ที่สำคัญเลยคือลดภาระงานครู ครูก็มีเวลาติดตามแก้ปัญหาให้เด็กใกล้ชิดเป็นรายคนจริง ๆ โอกาสเสี่ยงหลุดมันก็ลดลง จากประสบการณ์ของโรงเรียนเราที่นำมาใช้ ต้องบอกว่ากลไกทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้น ๆ เท่านั้น”

เสียงยืนยันจาก ผู้อำนวยการนิษฐเนตร เทพเกื้อ โรงเรียนบ้านตาเนาะแมเราะ อ.เบตง จ.ยะลา 1 ในโรงเรียนต้นแบบจากโรงเรียนกว่า 1,500 แห่ง ทุกสังกัดทั่วประเทศ ที่นำระบบสารสนเทศเพื่อส่งเสริมคุณภาพการศึกษา ‘Q-Info’ (Quality Learning Information System) ซึ่งวิจัยและพัฒนาโดย กสศ. และ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร มาใช้จัดการโรงเรียน และเห็นผลความเปลี่ยนแปลงในเวลาอันสั้น

Q-Info เป็นเครื่องมือติดตามดูแลนักเรียนรายบุคคลในมิติแวดล้อมทุกด้าน(Student Profile) ซึ่งจะบันทึกและแสดงผลการเรียน การเข้าเรียน สุขภาพกาย สุขภาพจิต สถานะเศรษฐกิจ และสถานภาพครอบครัว ออกแบบให้สอดคล้องกับการดำเนินงานภายในโรงเรียน ช่วยครูจัดงานสอนหรืองานทะเบียนวัดผล และเป็นตัวช่วยผู้บริหารสถานศึกษาในการจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษา ทั้งระยะสั้นและระยะยาว

เมื่อเปลี่ยนเอกสารกองมหึมาเป็นฐานข้อมูลบนฝ่ามือได้ เวลาของครูก็คืนกลับมา

ครูรีซูวัน ดอเลาะ โรงเรียนบ้านตาเนาะแมเราะ เล่าถึงช่วงเวลาเริ่มต้นใช้งาน Q-Info ที่โรงเรียนว่า “เป็นธรรมดาที่พอมีสิ่งใหม่เข้ามา การรับรู้ของบุคลากรก็แตกเป็นสองฝ่าย มีทั้งคนที่ยังไม่เปิดใจ กังวลว่าจะใช้เป็นไหม หรือเครียดว่าต้องทำยังไง กับอีกฝ่ายหนึ่งที่ชำนาญเรื่องเทคโนโลยีมากกว่า พวกนี้จะมองเห็นระบบ เข้าใจขั้นตอน ไปจนถึงตระหนักว่าการนำนวัตกรรมมาใช้ จะส่งผลดีในวันข้างหน้าอย่างไร

“ถ้าจะทำให้ทุกคนเห็นภาพไปทางเดียวกัน มันต้องทำงานเป็นทีม วิธีของโรงเรียนเราคือให้ครูทุกคนได้ทดลองล็อกอิน กรอกข้อมูล จัดลำดับขั้นตอนใช้งาน จากนั้นเราจะแยกคนที่ทำได้กับยังไม่เข้าใจออกจากกัน แล้วให้จับคู่ทำไปพร้อมกัน โดยมีครูแกนนำอีกคนหนึ่งพาทำบนจอใหญ่ ค่อยทำความรู้จักไปทีละเมนู ทีละคุณลักษณะ(Feature) ทีละคุณสมบัติ(Function) พอเริ่มเข้าใจมากขึ้นก็ลองทำซ้ำ ๆ ทีละคน ไม่นานทุกคนก็สามารถทำได้

“แน่นอนว่าช่วงแรกคือตอนเปิดภาคเรียนที่หนึ่ง เราจะเจอความทุลักทุเลอยู่บ้าง มีคนท้อ มีคนไปช้ากว่าคนอื่น แต่เพราะเรามีบัดดี้ที่คอยดูแลไม่ทิ้งกันอยู่ สักพักอุปสรรคก็ค่อย ๆ หมดไป จนเข้าเทอมสอง ผลดีมันค่อย ๆ ปรากฏ ครูเริ่มสบาย คราวนี้เขาเริ่มเห็นแล้วว่าไม่ต้องกรอกข้อมูลซ้ำ ๆ เหมือนเดิม จบปีเก่าผ่านไปถึงปีการศึกษาใหม่ ข้อมูลก็ยังอยู่ จะดึงเอามาใช้ก็ก็อปปี้วางได้เลย สะดวกรวดเร็วมาก ๆ แล้วที่ทุกคนชอบใจคือไม่ต้องหอบแฟ้มเอกสารเล่มหนา ๆ ติดตัวอีกแล้ว แค่พกสมาร์ทโฟนเครื่องเดียวเปิดทำตรงไหนก็ได้ มีข้อมูลอัพเดทเรียลไทม์ เรียกดูและติดตามผลได้ตลอด คือแค่เราเสียเวลายุ่งยากเทอมเดียว แต่จากนั้นโรงเรียนจะมีฐานข้อมูลที่ไม่สูญหาย ไม่ว่าจะผ่านไปอีกสิบหรือยี่สิบปีก็ยังอยู่ตรงนั้น”                   

ครูรีซูวันกล่าวว่า สำหรับครูแล้ว งานเอกสารที่ลดลงเท่ากับการได้ ‘เวลา’ เพิ่มขึ้น ใน 1 วันที่มี 24 ชั่วโมงเท่าเดิม ซึ่งอีกด้านหนึ่งหมายถึงครูมีชั่วโมงสำหรับการจัดเตรียมการสอนมากขึ้น การติดตามเอาใจใส่นักเรียนทีละคนก็ทำได้เต็มที่

“พองานเอกสารลดลง เวลาที่เพิ่มขึ้นมาเราสามารถเอาไปใช้พัฒนาทั้งคุณภาพการเรียนการสอน และปรับปรุงระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนให้ดีขึ้น พอสองสิ่งนี้มีประสิทธิภาพ จำนวนนักเรียนกลุ่มเสี่ยงหลุดจากระบบก็น้อยลง”

ระบบตรวจจับความเสี่ยง เตือนทันทีก่อนสายเกินแก้

นอกจากลดภาระงานครู Q-Info ยังมีระบบแจ้งเตือนที่ทำให้มองเห็นความผิดปกติของเด็กได้อย่างรวดเร็ว จากการประเมินผ่านตัวชี้วัดต่าง ๆ โดยเมื่อทำการกรอกข้อมูลพื้นฐานของนักเรียนแล้ว ระบบจะแจ้งเตือนผลตัวชี้วัดของนักเรียนกลุ่มเสี่ยงที่มีคะแนนต่ำกว่าเกณฑ์ ซึ่งครูสามารถนำมาออกแบบแผนการดูแลเด็กเป็นรายคน หรือเป็นรายวิชา

ส่วนเรื่องการติดตามนักเรียน ครูประจำชั้นจะได้รับการประมวลผลข้อมูลจากบันทึกการเข้าเรียนของเด็กในแต่ละวัน ผลที่แสดงจะเป็นข้อมูลเรียลไทม์ซึ่งทั้งครูและผู้บริหารเรียกดูได้ทันที ว่าวันนั้น ๆ นักเรียนขาดกี่คน ใครลาป่วย ลากิจ ใครหยุดเรียนหายไปเฉย ๆ หรือคนไหนที่ขาดเรียนบ่อย ๆ หยุดเกิน 2-3 วันติดต่อกัน ระบบจะแจ้งเตือนทันที เพื่อให้มีการติดตามหรือลงพื้นที่เยี่ยมบ้านรับทราบปัญหา ก่อนจะสายเกินไป

ครูรีซูวันระบุว่า Q-Info คือนวัตกรรมที่ช่วยพัฒนาการเรียนการสอนของครู และเปลี่ยนแปลงโรงเรียนทั้งระบบในระยะยาวได้โดยตรง ด้วยการบันทึกข้อมูลเชิงลึกที่ละเอียด ครบรอบด้าน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการทำรายงานในแต่ละภาคการศึกษา ก่อนการประชุมทบทวนข้อบกพร่อง และหาแนวทางพัฒนาหลักสูตรที่โรงเรียนใช้ในแต่ละเทอม

“ระบบแสดงให้เราเห็นได้หมด ว่าแต่ละภาคแต่ละเทอม เด็กชั้นหนึ่งห้องหนึ่งมีเกรดเฉลี่ยสูงต่ำอย่างไร ค่าตัวเลขพวกนี้เองที่จะสะท้อนให้เห็นว่าเราต้องปรับปรุงหลักสูตรหรือการเรียนการสอนตรงไหน เพิ่มหรือลดอะไร อะไรคือจุดแข็งจุดอ่อน แล้วบทสรุปที่ได้จากข้อมูลนี้ จะนำมาใช้แก้ปัญหาของโรงเรียนหรือของนักเรียนได้ในทันที รวมถึงยังเป็นข้อมูลอ้างอิงในการจัดสรรงบประมาณของโรงเรียนในภาคเรียนถัดไปได้อีกด้วย”

ผู้อำนวยการนิษฐเนตร กล่าวสรุปว่าการใช้ระบบ Q-Info ในระยะยาว จะกลายเป็นกลไกที่เชื่อมต่อสถานศึกษาทั้งประเทศไว้ด้วยกัน ทำให้การส่งรับข้อมูลหรือส่งต่อเด็กนักเรียนง่ายขึ้น นอกจากนี้ผลดีที่เกิดขึ้นกับโรงเรียนและนักเรียน ยังทำให้ครูได้เห็นประโยชน์ เห็นคุณค่าที่แท้จริงของข้อมูล และช่วยตอบคำถามไปในตัวว่า ‘เราเก็บข้อมูลของเด็ก ๆ กันไปทำไม’ เพราะสิ่งที่ครูทุกท่านลงใจลงแรงไปนั้น ท้ายที่สุดแล้ว ข้อมูลเหล่านี้เองที่จะกลับมาพัฒนาตัวนักเรียนได้จริง ๆ”

ที่มา: กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

ม.นเรศวร ร่วม กสศ. จับมือ สพฐ. เปิดระบบสารสนเทศการดูแลช่วยเหลือนักเรียน คัดกรองความเสี่ยงหลุดระบบการศึกษา 6 ด้าน

เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2565 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พร้อมด้วย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมกันชี้แจงการดำเนินงานโครงการพัฒนาระบบสารสนเทศการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 โดยมีครูผู้ปฏิบัติงาน ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่ และเจ้าหน้าที่เขตพื้นที่การศึกษาจาก 26 เขตพื้นที่ครอบคลุม 4 ภูมิภาค เข้าร่วมรับฟังแนวทางการทำงานด้านข้อมูล ปฏิทินการดำเนินงาน และการใช้เครื่องมือคัดกรองความเสี่ยงของนักเรียน เพื่อป้องกันการหลุดออกจากระบบการศึกษาของนักเรียนกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส

ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.)

ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ขณะนี้ สพฐ. อยู่ระหว่างดำเนินการหารือและพัฒนาเครื่องมือจัดเก็บข้อมูลนักเรียนกลุ่มเสี่ยงให้สอดรับกับนโยบายกระทรวงศึกษาธิการเรื่องความปลอดภัยในโรงเรียน โดยหนึ่งในความปลอดภัยคือนักเรียนต้องได้รับการประเมิน คัดกรอง และการดูแลผ่านการทำงานระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ซึ่งจากการทำงานของ สพฐ. ร่วมกับ กสศ. โดยมีทีมวิจัยและพัฒนาระบบสารสนเทศ จากมหาวิทยาลัยนเรศวร ช่วยคิดค้นนวัตกรรม พัฒนาการจัดเก็บข้อมูลการรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล การคัดกรองความเสี่ยงนักเรียน โดย สพฐ. เล็งเห็นความสำคัญในการทำงานเรื่องดังกล่าว โดยใช้กลไก ฉกชน. ส่วนภูมิภาค เพื่อคัดเลือกพื้นที่นำร่องตั้งแต่ปีการศึกษา 2564 ถือเป็นโอกาสดีที่ สพฐ. จะได้เดินหน้านโยบายความปลอดภัยในโรงเรียนไปพร้อมกัน

“จากการใช้งานระบบสารสนเทศการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ทำให้เราได้รู้ข้อมูลว่ายังมีความไม่ปลอดภัยในตัวนักเรียนอยู่อีกมาก โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 หรือ 2 ปีกว่าที่ผ่านมา เมื่อกลับมาเปิดเรียน On Site ในช่วงนี้ ทำให้ได้เห็นว่านักเรียนมีปัญหาที่ค่อนข้างซับซ้อนขึ้น โดยเฉพาะปัญหาในเรื่องของสุขภาพจิต มีหลายปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวนักเรียน ทำให้เราต้องหันกลับมาให้ความสำคัญและให้ความสนใจกับระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนในสถานศึกษาให้มากขึ้น” 

เลขาธิการ กพฐ.  กล่าวต่อไปว่า การจะทำให้เด็กคนหนึ่งมีความปลอดภัยและได้รับการช่วยเหลือดูแลอย่างจริงจัง ต้องเกิดจากความร่วมมือของผู้ปกครองเป็นลำดับแรก ในขณะที่ตัวนักเรียนก็ต้องมีความเข้าใจว่าในภาวะที่กำลังประสบปัญหาต้องทำอย่างไร ลำดับถัดมาคือสถานศึกษา ประกอบด้วยผู้บริหาร ครู ตลอดจนเพื่อนในโรงเรียนเดียวกัน ไปจนถึงบทบาทของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในการสนับสนุนและรวมถึงระบบของ สพฐ. เอง ซึ่งขณะนี้ได้วางระบบเรื่องความปลอดภัยไว้ทั้งระบบแล้ว

“แต่สิ่งที่เราอยากได้และอยากทำตรงนี้ให้สมบูรณ์ขึ้นไปอีก คือหากเรามีระบบสารสนเทศเพื่อเก็บฐานข้อมูลที่ดี ก็เหมือนกับเราได้เริ่มต้นจัดทำแฟ้มประวัติคนไข้ให้กับนักเรียนของเรา ทุกคนจะมีแฟ้มประวัติของตนเอง ซึ่งในแฟ้มประวัตินี้จะมีข้อมูลการคัดกรองทุกๆ ด้านของนักเรียน เวลาเราส่งต่อนักเรียนในแต่ละช่วงชั้นก็จะทำให้เรารู้สภาพของนักเรียน มีการประเมินนักเรียนเป็นระยะและบันทึกไว้ในแฟ้มประวัตินี้ ผมคิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการจัดการศึกษาของเราเป็นอย่างยิ่ง”

ทั้งนี้ เลขาธิการ กพฐ. ได้มอบหมายให้สถานศึกษาใน 26 เขตพื้นที่การศึกษานำร่อง ร่วมกันถอดบทเรียนว่าเมื่อได้จัดเก็บประวัตินักเรียนแล้ว เห็นจุดเด่น จุดด้อย หรือข้อบกพร่องอะไรบ้าง ทั้งในส่วนของการดำเนินงานและเครื่องมือที่ใช้ แล้ววิเคราะห์ว่าจะต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแก้ไขอย่างไร โดยมั่นใจว่าถ้าหากการทดลองในโรงเรียนนำร่องทั้ง 26 เขตประสบความสำเร็จ ปีการศึกษาหน้า สพฐ. จะนำเครื่องมือนี้ขยายผลไปยังสถานศึกษาในสังกัดทุกแห่ง

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ.

ด้าน ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้กล่าวขอบคุณ สพฐ. ที่ให้ความร่วมมือในการเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาระบบสารสนเทศการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในการบันทึกประวัติศาสตร์การศึกษาไทยด้านการดูแลช่วยเหลือนักเรียน และถือเป็นการต่อยอดการทำงานตามนโยบายพาน้องกลับมาเรียนของนายกรัฐมนตรี โดยยืนยันว่าการจัดเก็บข้อมูลนักเรียนผ่านระบบสารสนเทศ จะช่วยให้นักเรียนที่ประสบปัญหาได้รับการดูแลช่วยเหลืออย่างเป็นระบบมากขึ้น

“เมื่อเรามีโอกาสพาน้องๆ กลับมาสู่โรงเรียนได้แล้ว เราน่าจะมีโอกาสดูแลรักษาไม่ให้เขาหลุดจากระบบซ้ำอีก ระบบสารสนเทศการดูแลช่วยเหลือนักเรียนนอกจากดึงเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษากลับมาได้แล้ว ยังมีโอกาสช่วยส่งต่อเด็กๆ เหล่านี้ให้ได้เรียนต่อในระดับสูงสุดตามที่พวกเขาต้องการได้อย่างเต็มศักยภาพด้วย แต่น้องๆ เหล่านี้จะไม่มีโอกาสเดินทางไปถึงจุดนั้นได้เลยหากไม่มีระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่คอยดูแล คุ้มครอง ป้องกัน ไม่ให้เขาหลุดออกไปจากระบบการศึกษาได้อีก”

ดร.ไกรยส ภัทราวาท กล่าวว่า ปีการศึกษา 2565 กสศ. ร่วมกับ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้พัฒนาระบบสารสนเทศการดูแลช่วยเหลือนักเรียนให้เป็นระบบ One Application หรือเรียกสั้นๆ ว่าระบบ One App โดยบูรณาการกับฐานข้อมูลปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน,ระบบ DMC, ระบบ CCT ซึ่งลดขั้นตอนการกรอกข้อมูลซ้ำซ้อนในการออกเยี่ยมบ้านเพื่อคัดกรองและทำความรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคลแต่ละครั้ง มีเป้าหมายลดภาระด้านงานเอกสารของคุณครูลงกว่าร้อยละ 80

“การเก็บข้อมูลลงระบบ One App ให้เป็นระบบเดียวกัน คุณครูจะทำงานครั้งเดียวแต่สามารถเรียกใช้ข้อมูลได้ทั้งการรายงานข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็กและรายงานผลต่างๆ ไปยังผู้บริหารสถานศึกษาในลำดับถัดไปได้ เราตั้งใจที่จะทำให้การทำงานด้านข้อมูลเป็นการทำงานครั้งเดียวและสามารถนำไปใช้ได้หลายๆ ครั้ง โดยใช้เวลาสั้นที่สุดและไม่ต้องใช้กระดาษ สถานศึกษาใน 26 เขตพื้นที่นำร่องจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ใช้ One App ขยายไปสู่เขตพื้นที่การศึกษาอื่นๆ ต่อไป”

ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวต่อไปว่า หลังจากคุณครูกรอกข้อมูลนักเรียนเข้าสู่ระบบสารสนเทศ นอกจากเด็กๆ จะได้รับการดูแลในระบบการศึกษา เด็กทุกคนยังจะได้เข้าสู่ระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษา เช่น บางคนเมื่อจบการศึกษาภาคบังคับอาจไปเรียนต่อ กศน. หรือได้รับการพัฒนาทักษะอาชีพไปเป็นผู้ประกอบการ มีงานทำ มีรายได้ โดย กสศ. จะรับหน้าที่เชื่อมต่อข้อมูลไปยังภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้รับช่วงต่อในการดูแลเด็กแต่ละคน เช่น ทุน กยศ. หรือทุนอื่นๆ จากภาคเอกชน

“ท้ายที่สุดไม่ว่าน้องๆ จะเลือกเส้นทางไหน ล้วนแล้วแต่เป็นเป้าหมายของระบบการศึกษาทั้งนั้น คือมีเส้นทางที่มีความยืดหยุ่นเพียงพอตามความถนัดเป็นรายบุคคล ซึ่งทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้อย่างยั่งยืน ถ้าเราไม่มีระบบช่วยเหลือดูแลนักเรียนด้วยทางเลือกที่หลากหลาย เราไม่ได้มองโจทย์ไปที่เรื่องการศึกษาเพียงอย่างเดียว แต่เรามองว่าต้องมีเส้นทางการพัฒนาทักษะตามศตวรรษที่ 21 ทักษะสังคม เรื่องของอารมณ์ หรือปัญหาอื่นๆ ที่ทำให้เด็กต้องหลุดออกจากระบบการศึกษาแม้มีศักยภาพก็ตาม”

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2561 กสศ. ได้ทำงานร่วมกับ สพฐ. จัดทำฐานข้อมูลนักเรียนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส เพื่อการจัดสรรทุนเสมอภาค สร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง โดยมีจุดเน้นต่อไปในปีการศึกษา 2565-2566 คือมุ่งการทำงานในเชิงคุณภาพ โดยจะขยายการทำงานไปในมิติด้านสุขภาพทั้งกายและจิต พฤติกรรม การเรียน และความถนัดเฉพาะด้านเป็นรายบุคคล ซึ่งระบบสารสนเทศการดูแลช่วยเหลือนักเรียนให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้เป็นอย่างมาก

ระบบสารสนเทศการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 ได้เปิดระบบให้คุณครูดำเนินการรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล คัดกรองความเสี่ยง ประเมินจุดแข็งจุดอ่อน (SDQ) ประเมินความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) และการติดตามการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม ถึง ตุลาคม 2565  โดยจุดเน้นการทำงานในปีนี้ มีการปรับปรุงแบบฟอร์มจัดเก็บรวบรวมข้อมูลที่ครอบคลุมทุกมิติ สอดรับกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPA โดยมั่นใจได้ว่าข้อมูลส่วนตัวของนักเรียนทุกคนจะได้รับความปลอดภัย และการปรับปรุงระบบสารสนเทศ ให้คุณครูมีความสะดวกและประหยัดเวลาในการทำงานมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการจัดทำหน้าสรุปรายงาน การติดตามนักเรียนที่มีแนวโน้มความเสี่ยงแบบเรียลไทม์ ผ่านหน้ารายงานผลแบบ Dashboard สถานการณ์ รายชั้นเรียน รายสถานศึกษา รายเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อสนับสนุนการทำงานตั้งแต่ระดับพื้นที่จนถึงการจัดทำนโยบายเพื่อการส่งต่อโอกาสทางการศึกษาเป็นรายบุคคล 

นิสิตพิการพบผู้บริหาร ม.นเรศวร

เมื่อวันพุธที่ 20 กรกฎาคม 2565 ผู้บริหารมหาวิทยาลัยนเรศวร นำโดย รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร  (รศ.ดร.ศรินทร์ทิพย์ แทนธานี)  รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ (รศ.ดร.วัฒนา พัดเกตุ) รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานิสิต ศิษย์เก่าและศิลปวัฒนธรรม (ดร.จรัสดาว คงเมือง) ผู้อำนวยการกองกิจการนิสิต (นางศิริวรรณ กมลพัฒนะ) และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ได้เปิดโอกาสให้นิสิตพิการจากศูนย์ให้บริการนิสิตพิการ : NU DSS เข้าร่วมพูดคุย ถามไถ่ความเป็นอยู่ด้วยความเป็นกันเองและความอบอุ่น เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจในการใช้ชีวิตในรั้วของมหาวิทยาลัยนเรศวร ทั้งนี้ปัจจุบันศูนย์ให้บริการนิสิตพิการ : NU DSS มีนิสิตพิการอยู่ภายใต้การดูแล จำนวนทั้งสิ้น 20 คน แบ่งเป็น นิสิตพิการทางสายตา จำนวน 3 คน นิสิตพิการทางร่างกายและการเคลื่อนไหว จำนวน 15 คน นิสิตพิการทางการได้ยิน จำนวน 1 คน และนิสิตพิการทางการเรียน (สมองการสั่งการช้า) จำนวน 1 คน และเพื่อเป็นการแสดงความขอบคุณต่อความเมตตาของท่านอธิการบดีฯ และทีมผู้บริหารมหาวิทยาลัย ตัวแทนนิสิตพิการได้มอบถุงผ้าเพ้นท์มือให้เป็นของที่ระลึกแก่ท่านอธิการบดีฯ ด้วย ซึ่งการเพ้นท์ถุงผ้าเป็นกิจกรรมที่ศูนย์ให้บริการนิสิตพิการ : NU DSS จัดทำขึ้น เพื่อให้นิสิตพิการสามารถใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์และสร้างทักษะต่อยอดการสร้างรายได้ให้ตัวเองในอนาคตได้อีกด้วย

ที่มา: กองกิจการนิสิต มหาวิยาลัยนเรศวร

ขับเคลื่อนอาชีพ สำหรับคนพิการในยุคโควิดด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม

🎯 ขอเชิญคณาจารย์ และบุคคลผู้สนใจ ส่งบทความวิจัย และบทความวิชาการ ในสัมมนาวิชาการระดับชาติด้านคนพิการ ครั้งที่ 14 ประจำปี 2565 การขับเคลื่อนอาชีพ สำหรับคนพิการในยุคโควิดด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม “Driving occupation for persons with disabilities in the COVID-19 pandemic with technology and innovation”
📍 วันที่ 26 สิงหาคม 2565 จัดแบบ Online และ Onsite ผ่านโปรแกรม ZOOM ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติ อุทยานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มหาวิทยาลัยนเรศวร📄ส่งบทความได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 7 มิถุนายน 2565กำหนดการรับส่งบทความ https://archdb.arch.nu.ac.th/ncpd/downloads/schedule2022.pdf
📍รายละเอียดเพิ่มเติมhttps://archdb.arch.nu.ac.th/ncpd/homeติดต่อสอบถามได้ที่📞055-962452 (ผู้ประสานงาน คุณกนกพร เอี่ยมละออ)คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ศิลปะและการออกแบบ มหาวิทยาลัยนเรศวร
📨 ncpdnu2022@gmail.com Fax: 055-962554

ม.นเรศวร ร่วมพัฒนา “ฐานข้อมูล” ที่ถูกต้อง เรียลไทม์ เครื่องมือเริ่มต้นช่วยสกัดเด็กหลุดจากระบบการศึกษา

“การมีระบบฐานข้อมูลที่ดีช่วยลดระยะเวลาในการทำงาน ไม่ต้องทำงานที่ซ้ำซ้อน ลดภาระงานเอกสาร  มีเวลาจัดเตรียมการเรียนการสอนได้มากขึ้น รวมทั้งสามารถนำมาเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ทำให้เกิดความรวดเร็ว เกิดประโยชน์ มีประสิทธิภาพ ช่วยให้ทำงานได้ดี โดยเฉพาะการมีข้อมูลที่น่าเชื่อถือ”

นุตประวีณ์ ภัครวัฒน์อังกูร ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านราหุล จังหวัดเพชรบูรณ์ หนึ่งในเครือข่ายโรงเรียนพัฒนาตนเอง (TSQP) ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เริ่มต้นเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงหลังจากนำระบบสารสนเทศ Q-INFO มาใช้สนับสนุนการบริหาร ​การจัดการเรียนการสอน รวมทั้งภารกิจสำคัญอย่างการติดตามเด็กกลับมาเรียน สกัดเด็กหลุดจากระบบการศึกษาในช่วงนี้

หลังจากที่เข้าไปร่วมอบรมและนำระบบสารสนเทศ Q-INFO มาใช้ สิ่งแรกที่เปลี่ยนไปคือ จากการเขียนเอกสารประเมินผลตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ ป.พ. ที่เดิมครูต้องเขียนเอง แต่ระบบนี้ช่วยให้การทำงานสะดวกขึ้น ไม่ต้องมานั่งเขียนเอง แต่พิมพ์ออกมาจากระบบได้เลย อีกด้านหนึ่งยังเห็นข้อมูลเด็กในเชิงลึก เพื่อนำไปสู่การช่วยเหลือ ที่เชื่อมโยงกับระบบ CCT

จุดเด่นของระบบนี้คือ ครูมีข้อมูลที่ช่วยกันจัดเก็บแบบเรียลไทม์ ทั้งข้อมูลพื้นฐานของนักเรียน  ไปจนถึงอัตราการเข้าเรียนและผลการเรียน ​ทำให้ผู้บริหารสามารถเข้าไปเช็กได้เลยว่านักเรียนคนไหนขาดเรียนบ่อยแค่ไหน หรือเด็กคนไหนกำลังมีปัญหาในการเรียนที่จุดใด ก็จะสามารถรู้ได้ทันที ช่วยให้สามารถเข้าไปแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที 

ยกตัวอย่างที่ผ่านมามีเด็กที่ขาดเรียนไปเป็นสัปดาห์ เมื่อทราบเรื่องก็ติดต่อสอบถามไปยังผู้ปกครองว่านักเรียนขาดเรียนไปไหน หรือถ้าติดต่อผู้ปกครองไม่ได้ก็ประสานไปยังผู้ใหญ่บ้านว่าครอบครัวนี้ยังอยู่ในพื้นที่หรือย้ายไปไหน  เพื่อช่วยติดตามให้เขากลับมาเรียนได้ตามปกติ ไม่หลุดจากระบบการศึกษา

ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 จะมีเด็กที่ไม่สามารถเรียนออนไลน์ได้ โรงเรียนจึงปรับให้เรียนแบบออนแฮนด์ มารับใบงานไปทำที่บ้านแล้วนำมาส่ง ครูจะคอยติดตามไม่ให้เด็กขาดหายไปในช่วงนี้ และเมื่อถึงช่วงเปิดโรงเรียนได้ปกติ ก็จะคอยติดตามอีกรอบว่ามีเด็กคนไหนยังไม่กลับมาเรียน

“เปิดเทอมมาตั้งแต่ 1 ธันวาคม ตอนนี้เด็กกลับมาเรียนเกือบครบ 100% จะมีบ้างที่นักเรียนไม่สบาย เราก็ให้นักเรียนรักษาตัวอยู่บ้านให้หายดีก่อนค่อยมาเรียน ขณะที่นักเรียนกลุ่มเสี่ยงหรือมาจากต่างพื้นที่ก็ให้กักตัวอยู่บ้านก่อน 2 สัปดาห์ แล้วก่อนมาเรียนก็ให้ตรวจสอบก่อน ถ้าปกติถึงจะให้เข้ามาเรียนได้ โดยสถานการณ์ขณะนี้ไม่น่าเป็นห่วงแต่อย่างใด”

สำรวจและ​ซ่อมเสริม “ความรู้”
ป้องกันเรียนไม่รู้เรื่อง ชดเชยช่วงปิดเรียน

ส่วนมาตรการรองรับหลังเปิดเทอมก็ถือเป็นอีกประเด็นที่สำคัญ ผอ.นุตประวีณ์อธิบายเพิ่มเติมว่า ในช่วงการเรียนทั้งออนไลน์และออนแฮนด์ที่ผ่านมา อาจทำให้เด็กๆ ไม่ได้รับความรู้เต็มที่เหมือนกับเรียนที่โรงเรียน ช่วงที่กลับมาเรียนอีกครั้ง  จึงต้องมีการเรียนซ่อมเสริมให้นักเรียน

“ครูจะเป็นคนสำรวจว่าเด็กแต่ละคนมีจุดอ่อนตรงไหน เด็กเล็กๆ หลายคนช่วงที่เรียนที่บ้านนานๆ จะทำให้เขาอ่านเขียนได้น้อยลง ครูก็จะไปสอนเสริมให้เขาก่อน เพราะการอ่านออกเขียนได้เป็นพื้นฐานสำคัญ ในขณะที่เด็กคนไหนที่เรียนทัน ครูก็ต้องเพิ่มเนื้อหาที่แอดวานซ์ให้เขาได้พัฒนา  ต้องยอมเหนื่อยขึ้นเพื่อให้ลูกศิษย์เรียนรู้ได้ดีขึ้น จากในวง PLC เราจะรับรู้ถึงจิตวิญญาณความเป็นครูของแต่ละคนที่เสียสละทุ่มเทเพื่อเด็กๆ”

สร้างการเรียนรู้ที่ดีขึ้น
ครูต้องไม่ชี้ถูกชี้ผิด แต่เปิดพื้นที่ให้เด็กคิดด้วยตัวเอง

โรงเรียนบ้านราหุลได้นำกระบวนการของมูลนิธิลำปลายมาศพัฒนาเข้ามาใช้ โดยมีทีมโค้ชจากมหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นพี่เลี้ยงให้กับทีมครู ตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผนการทำงานไปจนถึงการลงมือปฏิบัติ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง

เมื่อครูเริ่มเปลี่ยนรูปแบบการสอนให้เด็กรู้จักคิด ครูเริ่มใช้โทนเสียงที่ต่ำ ไม่ใช้การสั่งแต่เปลี่ยนเป็นการพูดคุยเสนอแนะ  ทำให้เด็กกล้าแสดงออกมากขึ้น

“ระยะเวลาแค่ 3 เดือนแรกเราก็เห็นผลความเปลี่ยนแปลง จากการใช้จิตศึกษาเข้ามาช่วยให้นักเรียนรู้จักกำกับตัวเอง จนตอนนี้ช่วงเข้าแถวตอนเช้า แทบไม่ได้ยินเสียงนักเรียนคุยกัน จากแต่ก่อนที่เสียงจ้อกแจ้กวุ่นวาย

“รูปแบบนี้ต้องเริ่มจากการเปลี่ยนของครูก่อน ซึ่งครูทั้งโรงเรียนก็พร้อมใจกันเปลี่ยน บางคนตอนแรกอาจจะต่อต้านบ้าง คิดว่าเดี๋ยวจะเกษียณอยู่แล้ว ทำไมต้องมาเปลี่ยน แต่พอครูคนอื่นเริ่มเปลี่ยน  และเห็นผลความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเด็ก ครูที่ยังไม่เปลี่ยนก็เปลี่ยนตาม ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ” 

ที่มา: กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

ม.นเรศวร กสศ. ร่วมมือ สพฐ. เดินหน้า ระบบสารสนเทศเฟสสอง เชื่อมข้อมูล สกัดเด็กหลุดทันท่วงที

กสศ.ร่วมมือกับ สพฐ. เดินหน้าพัฒนาระบบสารสนเทศดูแลช่วยเหลือนักเรียน ระยะ 2 ตั้งเป้าหมายลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ป้องกันความเสี่ยงเด็กหลุดออกจากระบบ ลดภาระครูในการกรอกข้อมูล พร้อมเชื่อมโยงข้อมูลให้รับทราบปัญหาของนักเรียนสู่การช่วยเหลือรายบุคคล นำร่องในเขตพื้นที่การศึกษา 29 แห่ง มีโรงเรียนร่วมแล้วกว่า 1,000 โรงเรียน 

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จัดการประชุมชี้แจงการดำเนินงานโครงการพัฒนาระบบสารสนเทศดูแลช่วยเหลือนักเรียนระยะที่ 2 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 ผ่านระบบ Zoom Meeting เพื่อให้ทราบถึงกรอบแนวทางการดำเนินงานและการขยายผลการทำงานร่วมกันในการให้ความช่วยเหลือแก่เด็กนักเรียนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยมีครูประจำชั้น ครูแอดมินระบบโรงเรียน ผู้อำนวยการสถานศึกษา และเจ้าหน้าที่เขตพื้นที่การศึกษา จำนวน 29 เขตพื้นที่นำร่อง เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้

ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณทุกฝ่ายที่เห็นความสำคัญของการส่งเสริมการจัดการศึกษาในแต่ละเขตพื้นที่ และร่วมกันออกแบบเครื่องมือการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อจัดทำระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน 

ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ.

โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของเด็กและเยาวชนไทย เพราะสิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานคือข้อมูลของเด็กรายบุุคคล ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดว่าเราจะจัดการศึกษาที่ดีมีคุณภาพได้อย่างไร จากที่ผ่านมาหลายหน่วยงานได้ช่วยกันเก็บรวบรวมข้อมูลผ่านช่องทางต่างๆ จนมีประวัตินักเรียนที่บันทึกผ่านการลงพื้นที่เยี่ยมบ้านดูสภาพความเป็นจริง

สิ่งที่สำคัญคือเรายังไม่มีการเชื่อมโยงข้อมูลทั้งระบบในลักษณะเครือข่ายที่ใช้ร่วมกันได้ทั้งประเทศ จึงกลายเป็นว่าข้อมูลที่มียังคงกระจัดกระจาย  และใช้กันอยู่เพียงเฉพาะในหน่วยงานนั้นๆ

วันนี้เป็นโอกาสดีที่ สพฐ. กสศ. และมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ร่วมกันออกแบบโปรแกรมรวบรวมข้อมูลของนักเรียนทุกคน และมีแบบแผนการทำงานที่ลงรายละเอียดว่าจะเก็บข้อมูลด้านใด หรือจะนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไร นับเป็นจุดเริ่มต้นที่เราได้นำเทคโนโลยีมาช่วยสร้าง Big Data ซึ่งแสดงผลได้เลยว่าเด็กทุกคนไม่ว่าจะเรียนอยู่ตรงไหนในประเทศ ก็ยังสามารถติดตามได้ทั้งหมด

“ทั้งนี้ยังเชื่อมข้อมูลกับกระทรวงสาธารณสุข หรือกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะทำให้ทราบชัดเจน แยกแยะได้ว่านักเรียนที่อยู่ในข้อมูลนั้นเป็นกลุ่มใด เช่น นักเรียนกลุ่มด้อยโอกาส กลุ่มพิการ กลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ สามารถให้ความช่วยเหลือได้หมดและตรงจุด พร้อมอยากฝากให้ผู้ที่บันทึกข้อมูลทำโปรแกรมต่างๆ ตรวจสอบมากขึ้นด้วยว่า มีการเก็บข้อมูลที่ซ้ำซ้อนกันหรือไม่อย่างไร หากมีควรนำมาจัดเก็บไว้ในที่เดียวกัน เพื่อให้เกิดการจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ และการเก็บข้อมูลของนักเรียนเพื่อให้ความช่วยเหลือ ถือเป็นคุณูปการอย่างยิ่งสำหรับการบริหารจัดการข้อมูลในอนาคต และเป็นประโยชน์อย่างมากในการให้ความช่วยเหลือแก่เด็กนักเรียนในสังกัด สพฐ.ต่อไป พร้อมขอบคุณ กสศ.และมหาวิทยาลัยนเรศวร ที่ช่วยสร้างความร่วมมือเพื่อดูแลเด็กนักเรียน” ดร.อัมพรกล่าว 

นายนิสิต เนินเพิ่มพิสุทธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจ
คุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน สพฐ.

ด้านนายนิสิต เนินเพิ่มพิสุทธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน สพฐ. กล่าวว่า ที่ผ่านมาศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน ประสานความร่วมมือกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ดำเนินโครงการพัฒนาระบบสารสนเทศดูแลช่วยเหลือนักเรียน โดยทดลองระบบนำร่องระยะที่ 1 ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 29 แห่ง รวม 616 โรงเรียน ซึ่งประสบความสำเร็จในด้านการนำข้อมูลมาช่วยจัดทำระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนและนักเรียนยากจนพิเศษ 

ขณะนี้ได้มีการต่อยอดขยายผลใช้งานระบบสารสนเทศดูแลช่วยเหลือนักเรียนในโรงเรียนให้มากขึ้น โดยเป็นการดำเนินงานไปสู่ระยะที่ 2 ทำให้มีโรงเรียนที่เห็นประโยชน์การดำเนินงานเข้าร่วมโครงการเพิ่มอีก 391 โรงเรียน รวมแล้วทั้งสิ้น 1,005 แห่ง การเชื่อมโยงข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์ต่อเด็กนักเรียนอย่างมากที่ช่วยลดความเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ในการพัฒนากำลังคนเพื่อไปสู่การพัฒนาประเทศต่อไป

ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า การรับรู้ต้นทุนด้านข้อมูลทางการศึกษาได้ตั้งแต่ระดับชั้นปฐมวัยจนไปสู่ชั้นเรียนที่สูงขึ้น จะสามารถทำให้เกิดการจัดสรรความช่วยเหลือแก่เด็กได้มากขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาต่อไปในอนาคต 

กลุ่มโรงเรียนที่เข้าร่วมทั้งในเขตพื้นที่การศึกษา 29 แห่งนี้ ถือเป็นผู้เบิกทางในการพัฒนาระบบในปี 2565 ต่อไป ซึ่งจากการเก็บข้อมูลในปี 2563-2564 ที่ผ่านมาพบว่า จากเด็กนักเรียนยากจนพิเศษกว่า 1,235,000 คน มีเด็กที่ยังไม่สามารถกลับคืนเข้าสู่ระบบการศึกษาได้ประมาณ 54,000 คน ส่วนใหญ่อยู่ในชั้นเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 3 ร้อยละ 47.54 รองลงมาคือชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 หลังจากนี้จะมีการติดตามนักเรียนกลับคืนสู่ระบบการศึกษาได้มากขึ้น 

ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการ กสศ.

สำหรับข้อมูลดังกล่าวสะท้อนได้ว่า จากการเชื่อมต่อข้อมูลของทั้ง DMC และ CCT ทำให้รับทราบถึงสถานการณ์ของเด็กนักเรียนได้ปีละ 2 ครั้ง ส่งผลต่อการให้ความช่วยเหลือไปยังเด็กที่มีความสำคัญมากกว่าเดิม สามารถตามเด็กนักเรียนให้กลับคืนสู่ระบบการศึกษาได้ และยังช่วยลดภาระของครูได้อย่างมากอีกด้วย จากเดิมที่ต้องลงข้อมูลจดไว้ในสมุด ก็สามารถลงบันทึกไว้ในโปรแกรมรูปแบบ One Application และนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นต่อไป

“การลงบันทึกข้อมูลเหล่านี้ก็ถือว่ามีความสำคัญ เพราะ กสศ.ได้ร่วมมือกับหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ในการให้ความช่วยเหลือกับนักเรียนที่ต้องการศึกษาต่อในระดับชั้นที่สูงขึ้นไป เช่น ได้ร่วมนำส่งข้อมูลไปยังสถาบันระดับอุดมศึกษาผ่านระบบ TCAS โดยอัตโนมัติ ทำให้สถาบันการศึกษาได้รับทราบข้อมูลความยากจนของเด็กและนำมาสู่ความช่วยเหลือได้อย่างตรงจุดมากกว่าเดิม ซึ่งมหาวิทยาลัยสามารถนำข้อมูลนี้มาใช้ประกอบการพิจารณาให้ทุนการศึกษาได้ต่อเนื่องทันที ขณะเดียวกันยังได้รายงานข้อมูลที่เก็บไว้ไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จนทำให้เกิดการระดมทุนให้ความช่วยเหลือแก่เด็กนักเรียนที่ยากจนได้มากขึ้น” 

ดร.ไกรยสกล่าวว่า ข้อมูลที่เก็บไว้ในระบบสามารถนำมาใช้กับภาคการสาธารณสุขได้เช่นกัน โดยเฉพาะบางครอบครัวที่มีผู้ป่วยติดเตียง โดย กสศ.ได้ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในการเชื่อมโยงข้อมูล เพื่อให้รับทราบถึงจำนวนผู้ป่วยในสถานะต่างๆ ที่เป็นปัจจุบันมากขึ้น และยืนยันว่าการประชุมครั้งนี้จะช่วยต่อยอด ขยายผลให้มีการนำข้อมูลที่เป็นประโยชน์มาใช้งานได้จริง และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในปีการศึกษา 2565 ต่อไป

นางสาวรักชนก กลิ่นเจริญ นักวิชาการ สำนักบริหารเงินอุดหนุนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ กสศ. กล่าวถึงกรอบแนวทางและปฏิทินการดำเนินงานโครงการ ระยะที่ 2 นี้ว่า จะดำเนินงานทั้งในมิติของการเชื่อมโยงข้อมูลนักเรียนรายบุคคลจากระบบ DMC และข้อมูลการคัดกรองความยากจน ระบบ CCT เพื่อนำไปสู่การประมวลผลเพื่อทำงานช่วยเหลือนักเรียนเป็นรายบุคคล คัดกรองความเสี่ยงของนักเรียนที่ครอบคลุมมิติอื่นๆ จำแนกกลุ่มนักเรียนให้ชัดเจน ทั้งกลุ่มปกติ กลุ่มเสี่ยง หรือนักเรียนที่มีปัญหา และการแจ้งเตือนแบบ Early Warning เพื่อนำมาสู่การให้ความช่วยเหลือแบบทันท่วงที 

พร้อมจุดเน้นการทำงานร่วมกันในเรื่องการถอดบทเรียนกลไกการทำงานระบบดูแลช่วยเหลือของสถานศึกษา เพื่อศึกษา วิเคราะห์ และพัฒนาแนวทางการทำงานสู่การติดตามการช่วยเหลือนักเรียน ด้วยการส่งเสริมกิจกรรมต่างๆ ภายในสถานศึกษา (School-Based Interventions) เพื่อให้ความช่วยเหลือมาถึงเด็กได้มากที่สุด นอกจากนี้ยังเก็บรวบรวมความคิดเห็นของผู้ใช้งานและการพัฒนาระบบงานและระบบสารสนเทศที่สอดคล้องกับบริบทการทำงาน เพื่อปรับปรุงระบบให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นในอนาคตต่อไป

ขณะเดียวกันยังได้เปิดช่องทางการอบรมการใช้งานเครื่องมือสารสนเทศและประชุมแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ระหว่างครูผู้สอน ผู้ดูแลระบบ รวมไปถึงเจ้าหน้าที่เขตพื้นที่การศึกษา ให้มีความเข้าใจในการดำเนินงานมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการอบรมผ่านระบบออนไลน์ และมีการพัฒนาระบบการเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านระบบ E-Learning เพื่อให้คุณครูผู้ปฏบัติงานสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองทุกที่ทุกเวลา  ซึ่งจะสามารถเปิดลงทะเบียนให้อบรมได้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2565 เป็นต้นไป 

ทั้งนี้หลังจากวันที่ 7 ธันวาคมเป็นต้นไป สถานศึกษาที่อยู่ในโครงการนำร่อง สามารถเริ่มดำเนินการบันทึกข้อมูลผ่านระบบสารสนเทศ ทั้งการรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล และคัดกรองความเสี่ยงที่ครอบคลุมทุกมิติ โดยระบบนี้จะดำเนินการให้บันทึกข้อมูลได้จนถึงเดือนมีนาคม 2565 

ที่มา: กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

ม.นเรศวร และ สพฐ.-กสศ. ร่วมผนึกกำลังพัฒนาระบบสารสนเทศ

วันที่ 26 มีนาคม 2564 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดการประชุมสร้างความเข้าใจการดำเนินการพื้นที่ต้นแบบระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ระดับเขตพื้นที่การศึกษา สถานศึกษาต้นแบบ ที่โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการคอนเวนชั่นเซนเตอร์ โดยมีตัวแทนจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาใน 22 จังหวัดร่วมประชุม โดยระบบสารสนเทศเพื่อหลักประกันโอกาสทางการเรียนรู้ การคัดกรองนักเรียนยากจน และการดูแลช่วยเหลือนักเรียนนี้ ทางมหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นผู้พัฒนาแอปพลิเคชั่น ให้บุคลากรทางการศึกษาได้ประเมินและคัดกรองเป็นรายบุคคล เพื่อเป็นปัจจัยการพิจารณาข้อมูลในการรับทุนการศึกษา ที่ช่วยลดภาระของครอบครัวที่ยากจน และเด็กทุกคนยังสามารถอยู่ในระบบการศึกษาโดยได้รับการดูแลอย่างครอบคลุมทุกมิติ ทั้งด้านของสภาพความเป็นอยู่ของครอบครัว สุขภาพกาย สุขภาพจิต ข้อมูลด้านพฤติกรรม รวมถึงการประเมินภาวะด้านอารมณ์หรืออีคิว

ดร.สายพันธุ์ ศรีพงษ์พันธุ์สกุล รองผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครอง และช่วยเหลือเด็กนักเรียน สพฐ. กล่าวว่า ระบบนี้จะทำให้ครูและผู้อำนวยการโรงเรียนได้ทราบถึงพฤติกรรมเชิงลึกของนักเรียนว่าเป็นอย่างไรบ้าง ต้องดูแลอย่างไร และเขตพื้นที่การศึกษาได้รับทราบข้อมูลของนักเรียนไปจนถึงครอบครัวอย่างรอบด้าน ทุกมิติ ทั้งในเรื่องของความเสี่ยงจากการเดินทาง ปัญหาครอบครัว ปัญหาเรื่องสุขภาพกายและสุขภาพจิต ของเด็กนักเรียน ซึ่งจะมีส่วนช่วยเหลือเด็กได้ พร้อมกันนี้ยังทำให้เกิดการวางแผนแก้ไขปัญหาที่มีความครอบคลุมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นายสนิท แย้มเกสร รองเลขาธิการ สพฐ. กล่าวว่า ถึงการทำงานของ กสศ.เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาของเด็กนักเรียนไทย ว่า แม้ว่าหน่วยงานนี้จะได้รับการจัดตั้งมาในปี 2561 หรือเกือบ 3 ปี แต่สิ่งที่ได้เห็นคือ การทำงานที่จริงจัง เกิดเห็นผลเป็นรูปธรรม และสามารถช่วยเหลือนักเรียนที่มีความยากจนได้มาก อีกทั้งในการจัดทำระบบสารสนเทศเพื่อหลักประกันโอกาสทางการเรียนรู้ การคัดกรองนักเรียนยากจน และการดูแลช่วยเหลือนักเรียนนั้น มองว่า เรื่องที่มีความสำคัญมากที่สุด คือการให้เด็กที่อยู่ในระบบการศึกษา แต่การศึกษาไม่ได้มีเพียงแค่การเข้ามาเรียนในโรงเรียนและจบไปตามช่วงชั้น แต่สิ่งที่สำคัญคือหากไม่เห็นสภาพความเป็นจริงของเด็ก ก็จะไม่สามารถป้อนให้ความช่วยเหลือแก่เด็กได้ ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นควรจะเป็นไปในรูปแบบของการคัดกรอง ตามระบบ ให้เกิดการดูแลช่วยเหลือตามระบบของโรงเรียนและส่งต่อความช่วยเหลือไปยังเด็กนักเรียนต่อไป

ส่วน ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า ที่ผ่านมาจากการทำงานเยี่ยมบ้านของนักเรียนตามระบบการคัดกรองเด็กยากจนอย่างมีเงื่อนไข หรือ CCT ทำให้มีข้อมูลคุณภาพที่สูงขึ้น ได้เห็นสภาพปัญหาครอบครัวที่แท้จริง ทำให้ได้เห็นว่ามิติของการแก้ไขปัญหาเด็กนักเรียนยากจน ไม่ได้มีปัจจัยมาจากมิติของเศรษฐกิจและสังคมเพียงอย่างเดียว แต่การจะลดความเสี่ยงไม่ให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา จะต้องขยายฐานการให้ความช่วยเหลือดูแลเชื่อมโยงกับระบบการคัดกรองให้เป็นระบบเดียวกันครบทุกมิติ ให้ครูได้รับทราบถึงปัญหาความยากจนของเด็กพร้อมปัจจัยเสี่ยงอื่นๆไปในครั้งเดียวกัน ข้อมูลเหล่านี้ผู้ปกครองจะให้ข้อมูลตามความเป็นจริงแก่ครู เพื่อให้ครูจะนำไปดูแลนักเรียนในโรงเรียนเป็นรายคน สามารถปิดช่องโหว่และความเสี่ยงอย่างรอบด้าน แต่หากเกินกำลังที่โรงเรียนหรือครูจะดูแลได้ ก็นำข้อมูลเหล่านี้ส่งต่อไปยังกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เช่น หน่วยงานด้านสุขภาพ การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และด้านอื่นๆ ทำให้เกิดการบูรณาการการทำงานเพื่อช่วยเหลือนักเรียนโดยมีเด็กเป็นศูนย์กลางต่อไป ดังนั้นการพัฒนาความร่วมมือครั้งนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งของการให้ความช่วยเหลือกับเด็กนักเรียนได้อย่างตรงจุดมากขึ้น

ดร.ไกรยศ กล่าวอีกว่า โดยการทำงานของ กสศ. กับ สพฐ. และมหาวิทยาลัยนเรศวรครั้งนี้ มีเป้าหมายร่วมกัน คือ ป้องกันไม่ให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา เพราะเด็กหลายคนมีความตั้งใจการเรียนมาก แต่ก็ประสบปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ ต้องมาเป็นเสาหลักของครอบครัว มาดูแลสมาชิกในบ้านที่อาจจะป่วยติดบ้านหรือติดเตียง หรือผู้ปกครองอยู่ภาวะที่ไม่สามารถดูแลเด็กได้ เพื่อปลดพันธนาการต่างๆให้กับเด็กได้มีสมาธิและตั้งใจกับการเรียนอย่างเต็มที่ และจะให้อยู่ในระบบการศึกษาได้ต่อไป ช่วยให้มีกำลังใจในการศึกษาที่ไปได้ไกลที่สุดตามศักยภาพของเด็ก ซึ่งระบบนี้ก็จะเป็นตัวอย่าง เป็นต้นแบบให้มีการขยายร่วมมือกับกระทรวงอื่นด้วย เช่น กระทรวงมหาดไทย ที่นำไปใช้ในโรงเรียนเทศบาล โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน โรงเรียนพระปริยัติธรรม หรือโรงเรียนเอกชน เพื่อให้นำข้อมูลไปใช้ร่วมกันด้วย

ด้าน ดร.วรลักษณ์ คงเด่นฟ้า นักวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า ระบบสารสนเทศที่เข้ามาใหม่ จะช่วยการทำงานของครูในสองประเด็น คือ 1. ระบบนี้มีการเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลอื่นของ สพฐ. และ กสศ. เช่น CCT หรือ DMC ให้เข้ามาในระบบ ทำให้ครูไม่ต้องกรอกข้อมูลที่ซ้ำซ้อนสามารถดึงข้อมูลเดิมมาได้ทันที 2. คือระบบการทำงานเดิมไม่มีระบบสารสนเทศ ที่รวบรวมมาจากโรงเรียนต่าง ๆได้เลย หากมีข้อมูลนี้จะทำให้การรวบรวมข้อมูลสามารถทำได้ง่ายมากขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ประโยชน์จะเกิดขึ้นที่ตัวเด็กนักเรียน เพราะเป็นระบบที่ครูจะมีข้อมูลส่วนบุคคลของเด็กที่จะพิจารณาความช่วยเหลืออย่างถูกต้อง และยังมีระบบการแจ้งเตือนและเฝ้าระวังความเสี่ยง หากเด็กนักเรียนขึ้นสัญลักษณ์สีแดงก็เป็นการเตือนได้ว่าครูจะเข้าไปหาเด็กนักเรียนคนไหน และสามารถให้ความช่วยเหลือได้อย่างไรบ้าง ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สามารถเห็นได้จนถึงเขตพื้นที่การศึกษา ที่จะทำให้พิจารณาในการให้ความช่วยเหลือแก่โรงเรียนได้ด้วยเช่นกัน

ดร.วรลักษณ์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามได้วางแผนนะยะเวลาของกระบวนการไว้โดยคร่าวๆ คือ ในช่วงเดือนมี.ค.นี้ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจะวางแผนให้เริ่มมีการคัดเลือกหาโรงเรียนที่สมัครใจเป็นพื้นที่นำร่อง ในเดือน เม.ย.จะเริ่มสอนไปยังเขตพื้นที่ที่สมัครและโรงเรียนที่เข้าสมัครร่วมทดลองใช้ระบบ จากนั้นในเดือน พ.ค. – มิ.ย.จะทดลองในเป็นระยะเวลาสองเดือน คาดว่าจะนำไปสู่ภาพใหญ่มีการใช้งานจริงได้ในช่วงภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 นี้ ส่วนตัวคาดหวังว่า หากระบบนี้นำไปใช้ในทุกโรงเรียนทำเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการดูแลเด็กของตนเองได้ มีการส่งข้อมูลต่อเนื่อง เก็บประวัติในทุกปี ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมาก เพราะจะสามารถเห็นประวัติเด็กอย่างต่อเนื่อง ระบบจะเข้าไปสู่ระบบสารสนเทศ และจะส่งผลไปถึงภาพรวมของประเทศที่สามารถตรวจสอบได้ว่า ขณะนี้เด็กนักเรียนกำลังประสบปัญหาด้านใด เพื่อนำไปสู่การวางนโยบายในภาพใหญ่ และช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้อีกด้วย เพราะระบบนี้จะมีการดูแลเป็นรายบุคคล

ทั้งนี้ ดร.วิมพ์วิภา รักสม รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา มัธยมศึกษาจังหวัด พังงา ภูเก็ต ระนอง ระบุถึงข้อเสนอแนะจากการใช้งานระบบสารสนเทศ ว่า ระบบดังกล่าวถือว่ามีประโยชน์ต่อทั้งนักเรียน ที่ใช้ในการบริหารจัดการการเรียนการสอน ทั้งกลุ่มปกติ กลุ่มเสี่ยง กลุ่มที่มีปัญหา รวมถึงกลุ่มที่มีความสามารถพิเศษ ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมการศึกษาโดยไม่ทิ้งไว้ใครไว้ข้างหลัง มีประโยชน์สำหรับโรงเรียนและเขตพื้นที่การศึกษาคือทำให้ได้เห็นข้อมูลในภาพรวมว่าแต่ละพื้นที่เด็กนักเรียนมีปัญหาความเสี่ยงในด้านใด เพื่อทำให้การแก้ไขปัญหาเด็กนักเรียนนั้นตรงจุดมากยิ่งขึ้น

ที่มา: สำนักข่าวอิศรา

Sustainability

NARESUAN UNIVERSITY

Solverwp- WordPress Theme and Plugin