ม.นเรศวร ร่วมกิจกรรม Kick Off “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง”

วันที่ 28 กรกฏาคม 2565 นายรุ่งรัตน์ พระนาค ผู้อำนวยการกองอาคารสถานที่พร้อมด้วยตัวแทนของมหาวิทยาลัยนเรศวรเข้าร่วมกิจกรรม Kick Off “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” โดย นายรณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เป็นประธานเปิดกิจกรรม ณ บริเวณพื้นที่ต้นแบบการเรียนรู้ชุมชนพัฒนาแบบยั่งยืนแปลงสาธิตจากส้มซ่าสู่ท่าโพธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก โดยมี นายนิสิต สวัสดิเทพ นายอำเภอเมืองพิษณุโลก กล่าวรายงานความเป็นมาโครงการซึ่งระบุว่าอำเภอเมืองพิษณุโลกได้รับการคัดเลือกเป็นอำเภอนำร่อง ตามโครงการอำเภอนำร่องบำบัดทุกข์บำรุงสุขแบบบูรณาการและสร้างนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลง กระทรวงมหาดไทยประจำปีงบประมาณ 2565 ระดับกลุ่มจังหวัด 18 กลุ่ม 18 อำเภอ

ที่มา: กองอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร จัดกิจกรรมปลูกต้นกล้วยหอมทอง เพิ่มพื้นที่สีเขียว

เมื่อเวลา 9.00 น. วันศุกร์ที่ 8 กรกฎาคม 2565 บุคลากรกองอาคารสถานที่ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมปลูกต้นกล้วยหอมทอง กว่า 500 ต้น เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ เพิ่มพื้นที่สีเขียว อีกทั้งสามารถใช้ประโยชน์จากผลผลิตที่เกิดขึ้นได้อีกด้วย โดย นายรุ่งรัตน์ พระนาค ผู้อำนวยการกองอาคารสถานที่ เป็นประธานกล่าวเปิดกิจกรรม ณ พื้นที่ด้านหลังอาคารหอพักบุคลากร มน.นิเวศ 4 และขอขอบคุณ ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 6 จังหวัดพิษณุโลก ที่ให้ความอนุเคราะห์พันธุ์กล้วย มา ณ ที่นี้

……….เกร็ดความรู้…………

กล้วยหอม หรือกล้วยหอมทอง ชื่อสามัญคือ Gros Michel ชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Musa (AAA) ‘Hom’ ลักษณะประจำพันธุ์ที่ปลูก กล้วยหอมทองที่ปลูกเป็นหน่อกล้วยที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ (โดยมีระยะเวลาในห้องปฏิบัติการ 1 ปี แล้วนำออกมาอนุบาลในโรงเรือนอีก 3 เดือน เพื่อได้หน่อพร้อมปลูก) อายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 8- 10 เดือน(การสุกแก่ใช้เวลาประมาณ 3 เดือน) ลักษณะผลใหญ่ ปลายโค้งเรียวยาว เปลือกบาง เมื่อสุกจะมีสีเหลืองทอง รสหวาน มีกลิ่นหอม

ประโยชน์ ของกล้วยหอมทองมีมากมาย เช่น ให้พลังงานมากถึง 100 กิโลแคลลอรี่ต่อหน่วย มีน้ำตาล อยู่ 3 ชนิด ได้แก่ ซูโครส ฟรุกโตส และกรูโคส รวมทั้งเส้นใยอาหาร ดังนั้น เราจะได้รับพลังงาน ที่สามารถนำไปใช้ได้ทันที เพียงกล้วยหอมทอง 2 ผล ก็ให้พลังงานได้นานถึง 90 นาที และยังมี สรรพคุณอื่นๆ เช่น ช่วยให้คลายเครียด เพราะกล้วยหอมทองมีสาร Tryptophan ที่ร่างกายเปลี่ยนเป็น Serotonin ซึ่งเป็นสารกระตุ้นทำให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลาย ช่วยลดการเกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ ลดอาการจุกเสียดแน่นท้อง และช่วยลดท้องผูก

กิจกรรมปลูกต้นไม้ (ต้นกล้วยหอมทอง) เพิ่มพื้นที่สีเขียว

ร่วมกิจกรรมรณรงค์ลดอุบัติเหตุทางถนน โครงการ “ต้นไม้ชีวิต” 

      วันอังคารที่ 24 พฤษภาคม 2565 เวลา 10.30 น.นายสุรัตน์ รอดมา หัวหน้างานภูมิทัศน์และคณะ เข้าร่วมโครงการ ต้นไม้มีชีวิต โดย นายกล้าหาญ ทารักษา แขวงทางหลวงชนบทพิษณุโลก จัดกิจกรรมรณรงค์ลดอุบัติเหตุทางถนน โครงการ “ต้นไม้ชีวิต” โดยมี นายรณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เป็นประธานเปิดโครงการ นายกล้าหาญ ทารักษา ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงชนบทพิษณุโลก กล่าวว่า จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ปี พ.ศ.2564 มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน จำนวน 13,448 รายและบาดเจ็บกว่า 8 แสนรายจากการจัดอันดับขององค์การอนามัยโลก พบว่าประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน เป็นอันดับ 9 ของโลก โดยจังหวัดพิษณุโลก มีผู้เสียชีวิตสูงสุด 226 ราย ซึ่งในครั้งนี้ แขวงทางหลวงชนบทพิษณุโลก ได้ดำเนินการจัดทำโครงการ ต้นไม้ชีวิตขึ้น ในการเสริมสร้างจิตสำนึกความปลอดภัยทางถนน และรักษ์โลก บนวิสัยทัศน์ Vision Zero / Zero Waste & Zero Deathทั้งนี้ ส่วนราชการและประชาชน ได้ร่วมกันจัดพิธีสงฆ์ สวดอุทิศให้ผู้เสียชีวิต 226 ราย พร้อมชมนิทรรศการ ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา และร่วมกันปลูกต้นไม้ 226 ต้น เพิ่มพื้นที่สีเขียวณ ริมทางหลวงชนบท สาย พล.4003 กม.2+400 ถึง 3+400 อ.เมือง พิษณุโลก

ม.นเรศวร จัดกิจกรรมปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว

เมื่อเวลา 16.30 น. วันอาทิตย์ที่ 5 ธ.ค. 2564 ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กาญจนา เงารังษี อธิการบดี ดร.สุชาติ เมืองแก้ว ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษประจำมหาวิทยาลัยนเรศวร นายรุ่งรัตน์ พระนาค ผู้อำนวยการกองอาคารสถานที่พร้อมด้วยบุคลากร ได้เข้าร่วมโครงการ ปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว ณ อาคารอุทยานองค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และเข้าร่วมงาน “ดนตรี อว.เทิดพระเกียรติ 5 ธันวาคม 2564” พร้อมทั้งจุดเทียนมหามงคลเพื่อสดุดีเฉลิมพระเกียรติคุณและน้อมรำลึก ในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพ วันพ่อแห่งชาติและวันชาติ ณ ลานพระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช

ที่มา: กองอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร จัดกิจกรรมรักษ์ต้นไม้ ประจำปี 2564

เมื่อเวลา 9.00 น วันที่ 13 ตุลาคม 2564 นายรุ่งรัตน์ พระนาค ผู้อำนวยการกองอาคารสถานที่พร้อมด้วยบุคลากรร่วมกันจัดโครงการ “รักษ์ต้นไม้ ประจำปี 2564” เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และส่งเสริมให้บุคลากรเกิดความตระหนักถึงความสำคัญในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเป็นการจัดกิจกรรมบำรุงรักษาต้นไม้ ณ บริเวณพื้นที่ทางเข้าโรงผลิตน้ำประปา มหาวิทยาลัยนเรศวร

ที่มา: กองอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยนเรศวร

สวนผัก ผลไม้ เพื่อนิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวร

ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.กาญจนา เงารังษี อธิการบดี มน. เป็นประธาน พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ดร.จิรวัฒน์ พิระสันต์ รองอธิการบดี ผู้อำนวยการกองกิจการนิสิต หัวหน้างาน บุคลากร และนิสิตจิตอาสา ร่วมใจปลูกพืชผัก ผลไม้ในโครงการสวนผัก ผลไม้ เพื่อนิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวร ทั้งนี้เพื่อเป็นการน้อมรำลึก ในหลวงรัชกาลที่ 9 ณ แปลงผักบริเวณ หอพักนิสิต มหาวิทยาลัยนเรศวร

ติดตามภาพกิจกรรมทั้งหมดได้ที่ www.sa.nu.ac.th/photo64/10-13-64

ที่มา: กองกิจการนิสิต มหาวิยาลัยนเรศวร

ย้ายปลูกต้นไม้รอบบริเวณอาคารอุทยานองค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช

วันเสาร์ที่ 10 กรกฎาคม 2564 เวลา 9.30 น. นายรุ่งรัตน์ พระนาค ผู้อำนวยการกองอาคารสถานที่ ได้ลงพื้นที่เพื่อดูความคืบหน้าโครงการปรับปรุงลานพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งมีการขุดล้อม ย้ายปลูกต้นไม้ จากผู้มีความรู้และประสบการณ์ โดยใช้วิธีการขุดล้อมแบบมีดินติดไปกับระบบราก (Balled & burlaped or Soil ball) ต้นไม้ทั้งหมดจะย้ายไปปลูกรอบบริเวณอาคารอุทยานองค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช

……….เกร็ดเพิ่มเติม……….
การขุดล้อม ย้ายปลูกต้นไม้ควรทำในช่วงเข้าหน้าฝน เพื่อให้พืชได้รับน้ำเต็มที่ การล้อมต้นไม้เพื่อการย้ายปลูก หรือที่นิยมเรียกว่า บอล (Ball) นอกจากจะล้อมโดยให้มีตุ้มดินติดอยู่กับรากเพื่อป้องกันรากขาดแล้ว พืชบางชนิดยังนิยมขุดล้อมแบบรากเปลือย คือไม่มีดินติดมากับราก เช่น ลั่นทม เนื่องจากการเกิดรากใหม่จะดีกว่า หากย้ายต้นไม้โดยไม่ตัดใบออกก่อนจะส่งผลให้ใบเหี่ยวจนกิ่งแห้ง และลามถึงต้นได้ เนื่องจากเมื่อรากต้นไม้ถูกตัด ทำให้รากดูดน้ำจากดินได้น้อยลง หากใบมีอยู่เท่าเดิมก็จะสังเคราะห์แสงและคายน้ำไปเรื่อย ๆ จนเกิดอาการดังกล่าว

ที่มา: กองอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ร่วมกันปลูกกระดุมทองเลื้อย บริเวณสระสองกษัตริย์

วันศุกร์ที่ 9 กรกฎาคม 2564 เวลา 9.00 น. นายรุ่งรัตน์ พระนาค ผู้อำนวยการกองอาคารสถานที่พร้อมด้วยบุคลากร ร่วมกันปลูกกระดุมทองเลื้อย บริเวณสระสองกษัตริย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

—————-

กระดุมทองเลื้อย หรือ เบญจมาศเครือ เป็นพืชอายุข้ามปีในวงศ์ทานตะวัน
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Wedelia trilobata (L.) A.S. Hitchcock
ชื่อสามัญ : Creeping daisy, Singapore daisy, Trailing daisy, Creeping ox-eye, Climbing wedelia, Rabbits paw

ประโยชน์
1. ใช้เป็นไม้ดอกไม้ประดับในกระถางหรือแปลงจัดสวน อาจปลูกเป็นพืชเดี่ยวหรือปลูกเป็นไม้ระดับล่างเพื่อคลุมดินในสวนจัดแต่ง
2. ใช้ปลูกคลุมดินเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นแก่หน้าดิน และป้องกันการพังทะลายหน้าดิน
3. ใช้ปลูกแทนหญ้าในสนามหญ้า เนื่องจากปกคลุมแปลงได้เร็ว และสามารถป้องกันหญ้าชนิดอื่นเติบโตในแปลง
4. กลีบดอกนำมาตากแห้ง บดเป็นผงใช้สำหรับเป็นสีผสมอาหารหรือสีย้อมผ้า
5. เมล็ด นำมาสกัดน้ำมันใช้สำหรับปรุงประกอบอาหาร
6. น้ำมันจากเมล็ดกระดุมทองเลื้อยนำมาใช้ประโยชน์อย่างอื่น เช่น ใช้เป็นส่วนผสมกับเครื่องสำอางสำหรับบำรุงผิว ใช้ทานวดกล้ามเนื้อ ใช้นวดบำรุงผม เป็นต้น

ที่มา: กองอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร จัดโครงการบำเพ็ญประโยชน์ สร้างฝายชะลอน้ำแบบกึ่งถาวร

กลุ่มนิสิตจิตอาสามหาวิทยาลัยนเรศวรและชมรมกลุ่มด้านบำเพ็ญประโยชน์และรักษาสิ่งแวดล้อม ร่วมกับสโมสรโรตารีลุ่มน้ำเข็กได้ร่วมกันทำโครงการบำเพ็ญประโยชน์ สร้างฝายชะลอน้ำแบบกึ่งถาวร ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2563 ในพื้นที่ บ้านตอเรือ หมู่ที่ 13 ตำบล วังนกแอ่น อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาคลองเรือที่ไหลพาดผ่านกลางหมู่บ้านตอเรือ ไปลงน้ำตกไผ่สีทอง ยาวประมาณ 5 กิโลเมตร ให้มีน้ำเพียงพอสำหรับทำการเกษตร กิจกรรมในครั้งนี้มีชาวบ้านในชุมชน จำนวน 30 คน บุคลากร นิสิตจิตอาสาและนิสิตกลุ่มด้านบำเพ็ญประโยชน์ฯ จำนวน 43 คน เข้าร่วมกิจกรรมสร้างฝายในครั้งนี้

ที่มา: กองกิจการนิสิต มหาวิยาลัยนเรศวร

สายน้ำยังติดเชื้อ คพ.อัดฉีดงบเพิ่ม 200 ล้าน ต่อเวลาฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ประลอง ดำรงค์ไทย เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการไตรภาคีเพื่อติดตามการดำเนินโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ จังหวัดกาญจนบุรี จากการปนเปื้อนสารตะกั่วครั้งที่ 29 เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ.2563 ณ สำนักงานโครงการ หมู่บ้านคลิตี้บน พร้อมเปิดเผยว่า ได้ดำเนินโครงการฟื้นฟูมาแล้ว 955 วันจากระยะเวลาที่ตั้งไว้ทั้งหมด 1,000 วัน ผลสรุปปลายเดือนพฤษภาคม คืบหน้า 78.82% 

โครงการฟื้นฟูลำห้วยเริ่มต้นปลายปี พ.ศ.2560 จะครบกำหนดสัญญาวันที่ 13 สิงหาคม ปีนี้ ภารกิจหลักคือดูดตะกอนปนเปื้อนหางแร่ตะกั่วจากกิจกรรมโรงแต่งแร่เมื่อยี่สิบก่อนออกจากลำห้วยเพื่อฟื้นฟูคุณภาพน้ำ ปัจจุบัน ได้ตะกอนแล้วสิ้น 5,400 ตัน จากเป้าหมาย 40,000 ตัน

“โครงการทำไม่เสร็จใน 3 ปีเพราะเป็นปัญหาสะสมมานาน บริษัทแร่ได้ทิ้งแร่ในพื้นที่กว่าหลายสิบปี จะให้แก้เสร็จเลยเป็นไปไม่ได้ ผมยืนยันว่า พวกเราทำงานอย่างโปร่งใส แต่ยอมรับว่ามีความผิดพลาดที่พร้อมแก้ไข” ประลอง กล่าว

ประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวในการประชุมคณะกรรมการไตรภาคีครั้งที่ 29 / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ณิชา เวชพานิช

เขาชี้ว่า โครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้เป็นเรื่องท้าทาย เพราะเป็นครั้งแรกของไทยที่ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมปนเปื้อนขนาดใหญ่เช่นนี้ ระหว่างปฏิบัติงาน พบกองกากแร่ตะกั่วและดินปนเปื้อนที่ตกหล่นจากการสำรวจหลายจุด เช่น ตะกอนบนบกใกล้บริเวณเหมืองแร่เดิมและใกล้พื้นที่อยู่อาศัย จึงได้ดำเนินการขุดออกแล้วกว่า 8,000 ตัน เพื่อนำไปปรับเสถียรแล้วส่งฝังกลบ

นอกจากนั้น ยังพบอุปสรรคหลายอย่างหน้างาน สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้เจ้าหน้าที่โครงการไม่สามารถเดินทางเข้า-ออกหมู่บ้านได้ ต้องชะงักการทำงานกว่าสองเดือน รวมถึงขั้นตอนขุดดินเพื่อสร้างหลุมฝังกลบตะกอนพบหินถึง 90% จากที่ประเมินไว้ 50% จึงใช้เวลานานขึ้น

วิธีฟื้นฟูคือดูดตะกอนจากลำห้วยขึ้นมาใส่ถุง Geotextile ซึ่งซ้อนทับกันเพื่อให้น้ำสะอาดไหลออก ทิ้งตะกอนไว้ข้างในถุง ณ จุดฟื้นฟูบริเวณหมู่บ้านคลิตี้ล่าง มิถุนายน พ.ศ.2563 / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ณิชา เวชพานิช

ตามข้อกำหนดการดำเนินงาน (TOR) หากดำเนินการฟื้นฟูล่าช้ากว่าแผน บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) ซึ่งรับจ้างฟื้นฟูด้วยงบประมาณ 450 ล้านบาท จะต้องเสียค่าปรับเป็นเงิน 0.05% ของมูลค่าโครงการ คิดเป็น 200,000 บาทต่อวัน ทว่าด้วยเหตุไม่คาดคิดต่างๆ กรมควบคุมมลพิษในฐานะผู้ว่าจ้างจะผ่อนผันค่าปรับเพื่อช่วยเหลือ

“เราเห็นผลชัดเจนว่าความเป็นอยู่ชาวคลิตี้ดีขึ้น สัญญาณโทรศัพท์และถนนหนทางพัฒนา ที่สำคัญค่าตะกั่วเฉลี่ยในเลือดชาวคลิตี้โดยรวมมีแนวโน้มลดลงหลังจากโครงการฟื้นฟู”

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษเผยว่าจะนำเรื่องต่ออายุโครงการฟื้นฟูระยะสองเข้าประชุมสภาผู้แทนราษฎร 24-25 มิถุนายนนี้ เพื่อขอเบิกงบจำนวน 200 ล้านบาทสำหรับดำเนินการต่อในปีพ.ศ. 2564

สุเมธ เลาคำ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาโครงการและเทคโนโลยี บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) ชี้แจ้งว่า จะดำเนินการดูดตะกอนจากห้วยคลิตี้จนถึงสิ้นเดือนมิถุนายนและหยุดช่วงฤดูฝนเพราะเป็นฤดูน้ำหลากทำงานยากและอาจอันตรายกับผู้ปฏิบัติงาน ระหว่างนั้นจะเน้นกำจัดตะกอนบนบก สำหรับโครงการระยะสองจะเน้นเอาตะกอนขอบตลิ่งซึ่งมีค่าตะกั่วสูงออกเพื่อไม่ให้ชะลงแหล่งน้ำซ้ำรอย รวมถึงตะกอนบนดินใกล้พื้นที่อยู่อาศัย

ด้านชาวบ้านในพื้นที่ นิติพล ตันติวานิช ผู้ใหญ่บ้าน แสดงความเห็นด้วยต่อการฟื้นฟู

“ถึงต่างประเทศจะทำอะไรแบบนี้มานาน แต่มันเป็นครั้งแรกของประเทศไทย เราไม่รู้ว่าแผนที่เขียนมาอันไหนผิดถูกหรือเปล่า  พอปฏิบัติหน้างานแล้วค่อยรู้ปัญหา อย่างน้อยการฟื้นฟูทำให้เราเห็นเชิงปริมาณว่าตะกอนที่มีตะกั่วปนเปื้อนมันไปอยู่ในถุงแล้วถูกส่งไปฝังกลบ”

โครงการฟื้นฟูดำเนินการท่ามกลางความกังวลของสมาชิกไตรภาคีบางส่วน ชลาลัย นาสวนสุวรรณ ตัวแทนชาวบ้านคลิตี้ล่างและหนึ่งในคณะกรรมการไตรภาคี  ได้ยื่นหนังสือแก่อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ สะท้อนข้อห่วงกังวลต่างๆ ของชาวคลิตี้ล่าง เช่น ความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานฟื้นฟูลำห้วย เนื่องจากชาวบ้านคลิตี้ล่างบางส่วนที่ทำงานดูดตะกอนจากห้วยต้องแช่ในน้ำทั้งวันและขาดชุดป้องกันเหมาะสม บางรายมีอาการผื่นคัน นอกจากนี้เธอเรียกร้องให้ผู้ประกอบโครงการชี้แจ้งทำความเข้าใจกับชาวบ้านที่การสร้างฝายดักตะกอนทับที่ทำกิน

พร้อมกันนั้น เธอได้ยื่นหนังสือข้อเสนอแนะของผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร หนึ่งในคณะกรรมธิการไตรภาคี ซึ่งเรียกร้องให้ผู้รับผิดชอบโครงการแสดงหลักฐานว่าได้ดำเนินงานสอดคล้องกับหลัก TOR และเปิดให้ชาวบ้านคลิตี้ล่างมีส่วนร่วมเก็บข้อมูลกระบวนการฟื้นฟูลำห้วยมากยิ่งขึ้น

ถุงเก็บตะกอนดูดจากลำห้วยและตะกอนขุดบนบกจะถูกนำมาฝังที่หลุมฝังกลบขนาดใหญ่ปูพื้นด้วยวัสดุหลายชั้นเพื่อป้องกันการรั่วซึม / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ณิชา เวชพานิช

ปัญหาลำห้วยคลิตี้และพื้นที่ใกล้เคียงปนเปื้อนสารตะกั่วดำเนินมานานกว่า 40 ปี เมื่อพ.ศ.2518 ชาวบ้านสังเกตพบว่าโรงแต่งแร่ บริษัทตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) ได้ปล่อยน้ำเสียและทิ้งหางแร่ที่มีสารตะกั่วในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ชาวบ้านจึงได้ยื่นฟ้องศาล ผลพิพากษาให้กรมควบคุมมลพิษดำเนินการฟื้นฟูแทนบริษัทตะกั่วฯ ที่เพิกเฉย โดยเรียกเก็บค่าใช้จ่ายทั้งหมดกับบริษัทฯ ผู้ก่อมลพิษ ทางหน่วยงานรัฐจึงได้ว่าจ้างบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) ดำเนินการฟื้นฟู

ท่ามกลางความคิดเห็นที่แตกต่าง วันที่ 14 เมษายน พ.ศ.2563 ชาวบ้านคลิตี้ล่างส่วนหนึ่งได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อให้ตรวจสอบและระงับการฟื้นฟูที่ไม่ปฏิบัติตามหลักชั่วคราว ขณะเดียวกัน 27 เมษายน ชาวบ้านอีกจำนวนหนึ่ง ได้จัดประชุมหารือและยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมให้ดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยต่อไป

รายงานข่าวชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของซีรี่ย์ “สี่สิบปี คลิตี้สีขุ่น” ชวนผู้อ่านฟื้นฟูความทรงจำคดีสิ่งแวดล้อมครั้งประวัติศาสตร์ ไปพร้อมกับช่วงเวลาฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ติดตามปัญหาการปนเปื้อนสารพิษที่ยังสืบเนื่องสู่ปัจจุบัน

ที่มา: greennews

Sustainability

NARESUAN UNIVERSITY

Solverwp- WordPress Theme and Plugin