วว. จับมือ ม.นเรศวร ผลักดันนำ “ผลงานผลิตภัณฑ์งานวิจัย” ต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยนเรศวร ลงนามบันทึกความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ สนับสนุนผลักดันนำผลงาน/ผลิตภัณฑ์งานวิจัยต่อยอดการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์

ศ. (วิจัย) ดร. ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และ รศ. ดร. ศรินทร์ทิพย์ แทนธานี รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร ลงนามบันทึกความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาองค์ความรู้ งานวิจัย ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ผลักดันให้เกิดการนำผลงาน ผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมจากงานวิจัยไปสู่กิจกรรมด้านบริการวิชาการ ต่อยอดการใช้ประโยชน์ทั้งเชิงพาณิชย์ เชิงนโยบายและเชิงสาธารณะ สู่การนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจของประเทศ โดยมีระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปี โอกาสนี้ ดร.อาภากร สุปัญญา รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์และจัดการนวัตกรรม วว. ดร.พัชทรา มณีสินธุ์ รองผู้ว่าการบริการอุตสาหกรรม วว. และ รศ.ดร.กรองกาญจน์ ชูทิพย์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมด้วยผู้บริหาร บุคลากร ทั้งสองหน่วยงานร่วมเป็นเกียรติและเยี่ยมชมโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ของ วว. ดังนี้ ศูนย์นวัตกรรมการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรม (ICPIM) ศูนย์ความเลิศด้านสาหร่าย (ALEC) สายการผลิตอาหารแปรรูป โรงงานบริการนวัตกรรมอาหาร (FISP) และห้องปฏิบัติการทดสอบการสลายตัวทางชีวภาพของวัสดุ (BioD) 

ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า วว. และมหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวง อว. ซึ่งมีความร่วมมือด้านการศึกษาและพัฒนางานวิจัย การวิเคราะห์ทดสอบ และการพัฒนาบุคลากร นิสิต และนักศึกษาระหว่างสองหน่วยงาน มาแล้ว ในปัจจุบันยังคงมีภารกิจที่คล้ายกันคลึงกันหลากหลายด้าน โดยเฉพาะงานด้านวิจัยและพัฒนา ที่เน้นการพัฒนาและยกระดับความสามารถผู้ประกอบการไทย ซึ่งมหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นมหาวิทยาลัยอันดับต้นๆ ของภาคเหนือ โดยวางวิสัยทัศน์ให้เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อสังคมของผู้ประกอบการ (University for Entrepreneurial Society) ซึ่งตรงกับ วว. ที่มุ่งการพัฒนางานวิจัยและโครงสร้างพื้นฐานของหน่วยงานให้สอดคล้องกับบริบทของการพัฒนาผู้ประกอบการเพื่อตอบโจทย์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเพิ่มมากขึ้น คือ การสร้างความเข้มแข็งให้ SMEs และชุมชน ผ่านระบบนิเวศนวัตกรรม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี อย่างยั่งยืน (Strengthening SMEs and communities through an innovation science and technology ecosystem for sustainability)

ทั้งนี้ทั้งสองหน่วยงานจะมุ่งพัฒนาความร่วมมือให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ดังนี้ 
1. เพื่อร่วมกันส่งเสริม พัฒนาองค์ความรู้ งานวิจัย ด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งสนับสนุนการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรม นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจของประเทศ 
2. ร่วมกันใช้ประโยชน์ในเรื่อง ทรัพยากรและความสามารถตามภารกิจหลักของทั้งสองหน่วยงาน ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาประเทศ ได้แก่ การสนับสนุนการใช้เครื่องมือ และอุปกรณ์ทางด้านวิทยาศาสตร์ รวมทั้งห้องปฏิบัติการในการปฏิบัติภารกิจร่วมกัน 
3. ร่วมกันใช้ความรู้ความสามารถ และองค์ความรู้ทางงานวิจัยของทั้งสองหน่วยงานนำมา สนับสนุนการพัฒนา และวิจัยของหน่วยงานภาคเอกชน ชุมชน และหน่วยงานของรัฐ เพื่อบูรณการการทำงานและลดข้อจำกัดด้านงบประมาณและกำลังคนร่วมกัน 
4. ร่วมกันพัฒนางานวิจัยคุณภาพสูง (Advance technology) เพื่อสนับสนุนงานด้านวิชาการ และภาคธุรกิจ รวมทั้งภาคอุตสาหกรรม

“ทั้งสองหน่วยงานจะร่วมดำเนินงานอันจะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมากต่อการพัฒนาประเทศไทยในอนาคต เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ใช้นวัตกรรมขับเคลื่อน พลิกฟื้นเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่ออย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน สำหรับการเยี่ยมชมหน่วยที่ให้บริการลูกค้าในระดับมาตรฐานสากลของ วว. ได้แก่ ICPIM, ALEC, FISP และ BioD ที่สามารถวิจัยและพัฒนาผู้ประกอบการที่มาขอรับบริการ ให้ก้าวเข้าสู่การค้าขายกับตลาดโลกได้ โดยใช้โครงสร้างพื้นฐานและการบริการดังกล่าว ความร่วมมือของทั้งสองหน่วยงานและการเยี่ยมชมในครั้งนี้ จะเป็นโอกาสอันดีในการสร้าง idea และ prototype ด้านงานวิจัยควบคู่กับการพัฒนาผู้ประกอบการร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมในระยะเวลาอันใกล้”  …. ผู้ว่าการ วว. กล่าว

ที่มา: mgronline

วช.หนุนทีมวิจัย ม.นเรศวร ต่อยอดเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจากอินทผลัม สู่มะพร้าวน้ำหอมได้สำเร็จครั้งแรก

วช.สนับสนุนทีมวิจัย ม.นเรศวร ต่อยอดเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจากอินทผลัม สู่มะพร้าวน้ำหอมได้สำเร็จครั้งแรก พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีและช่วยผู้ประกอบการผลิตน้ำมะพร้าวน้ำหอม 100 % พร้อมดื่มด้วยเทคโนโลยีความดันสูง ช่วยยืดอายุน้ำมะพร้าวสด นาน 2 เดือนโดยที่รสชาติไม่เปลี่ยนแปลง และปลอดภัยต่อผู้บริโภค

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันงานวิจัยถูกนำมาใช้ประโยชน์ด้านการเกษตรอย่างแพร่หลาย ทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีในด้านการปรับปรุงสายพันธุ์ที่มีคุณภาพ ด้านกระบวนการผลิต เก็บเกี่ยว รวมไปถึงด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในเชิงพาณิชย์ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ที่ผ่านมาสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ให้ทุนสนับสนุนกับโครงการ “การคัดเลือกสายพันธุ์และขยายพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมและอินทผลัมเชิงพาณิชย์” มี “รศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท” จากคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นหัวหน้าโครงการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขยายพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมที่มีต้นพันธุ์ที่ดีในอนาคต ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรแล้ว ยังส่งเสริมภาคการส่งออกมะพร้าวน้ำหอมให้มีการเติบโตมากขึ้นอีกด้วย

รศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท เปิดเผยว่า การขยายพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมในสภาพปลอดเชื้อด้วยเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เป็นการต่อยอดองค์ความรู้และเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อที่ทีมวิจัยประสบความสำเร็จมาแล้ว กับการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่ออินทผลัม ไม้ผลที่กำลังได้รับความนิยม ปัจจุบันทีมวิจัยได้มีการขยายพันธุ์สู่เชิงพาณิชย์ เพื่อลดการนำเข้าต้นพันธุ์ราคาแพงจากต่างประเทศและช่วยลดต้นทุนการผลิตอินทผลัมให้กับเกษตรกรไทย

ทั้งนี้ทีมวิจัย ฯ ได้นำองค์ความรู้และทักษะการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อดังกล่าว และการตรวจสอบต้นพันธุ์แท้ของมะพร้าวน้ำหอมในระดับดีเอ็นเอของพืช มาใช้ในการพัฒนาการขยายพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมพันธุ์ก้นจีบ ซึ่งการผลิตต้นพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมจากต้นพันธุ์ดียังไม่เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร เนื่องจากการเพาะต้นกล้าจากผลมะพร้าวมีอัตราการงอกเพียง 50 – 55 % ขณะเดียวกันหากเกษตรกรซื้อจากแหล่งจำหน่ายต้นพันธุ์มะพร้าวทั่วไป กว่าจะทราบว่าเป็นมะพร้าวน้ำหอมแท้หรือไม่ต้องใช้เวลาในการปลูกกว่า 3 ปี ถึงจะจำแนกมะพร้าวน้ำหอมแท้ออกจากมะพร้าวต้นเตี้ยชนิดอื่น ๆ ที่มีลักษณะคล้ายกันได้ เพราะต้องจำแนกจาก ปัจจัยต่าง ๆ เช่น ลักษณะผล กาบใบ ลำต้น และการทดสอบชิมน้ำและเนื้อ

การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจึงเป็นทางเลือกในการเพิ่มประสิทธิภาพในการขยายพันธุ์ในอนาคต โดยจะทำให้ได้ต้นพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมในปริมาณมาก ปลอดโรค ให้ผลผลิตที่มีคุณภาพตามต้นแม่พันธุ์ และคงอัตลักษณ์มะพร้าวน้ำหอมพันธุ์ก้นจีบ 100 % ช่วยลดอัตราความเสี่ยงของเกษตรกรในเรื่องพันธุ์ที่ไม่แท้

สำหรับกระบวนการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อของมะพร้าวน้ำหอม จะเริ่มต้นจากการคัดเลือกต้นพันธุ์ที่ดี น้ำและเนื้อมีรสชาติหวาน หอม จำนวนทะลายสูง จำนวนผลต่อทะลายพอเหมาะ และให้ผลสม่ำเสมอ จากนั้นจะใช้เทคนิคปลอดเชื้อตัดชิ้นส่วนของพืช (Explant) ที่ผ่านการฟอกฆ่าเชื้อแล้วมาเลี้ยงในขวดแก้วที่บรรจุอาหารเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ซึ่งผ่านการนึ่งฆ่าเชื้อมาแล้ว เมื่อเซลล์จากชิ้นส่วนต่าง ๆ ของมะพร้าวที่นำมาเลี้ยงได้รับอาหารและแร่ธาตุต่าง ๆ จะมีการเจริญเติบโตเป็นต้นโดยตรง หรือเกิดเป็นกลุ่มของเซลล์ที่เรียกว่าแคลลัส และเมื่อนำแคลลัส ไปเลี้ยงในสภาพที่มีแสง จะเกิดยอดใหม่ที่มีสีเขียว ชักนำให้เกิดยอดและราก เมื่อต้นกล้ามียอดและรากที่สมบูรณ์ จึงนำออกปลูก อนุบาลในโรงเรือน และนำออกปลูกในแปลงปลูกต่อไป

“ทีมวิจัยใช้เวลาประมาณ 2 ปีในพัฒนาการขยายพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมพันธุ์ก้นจีบด้วยเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมีการตรวจสอบในระดับดีเอ็นเอ ปัจจุบันถือได้ว่าเป็นครั้งแรกที่มีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อต้นพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมได้สำเร็จ และได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับภาคเอกชน ”

นอกจากนี้ รศ.ดร.พีระศักดิ์

X

ยังมีแนวคิดในการนำเทคโนโลยีการแปรรูปด้วยความดันสูง (High Pressure Processing: HPP) ซึ่งเป็นกระบวนการฆ่าเชื้อก่อโรคที่อาจพบได้ในผลิตภัณฑ์ที่อุณหภูมิห้อง แบบไม่ใช้ความร้อน (Non-thermal process) มาใช้ในการแปรรูปน้ำมะพร้าวน้ำหอม 100 % พร้อมดื่ม ให้กับผู้ประกอบการ สามารถช่วยยืดอายุการเก็บรักษาน้ำมะพร้าวน้ำหอมสดพร้อมดื่มได้นานถึง 2 เดือน โดยที่น้ำมะพร้าวพร้อมดื่มยังมีคุณภาพใกล้เคียงมะพร้าวสด หอม หวาน และคงคุณค่าทางโภชนาการ คุณภาพทางประสาทสัมผัสของผลิตภัณฑ์ไม่สูญเสียไปจากเดิม และปลอดภัยต่อผู้บริโภค

ทีมวิจัย ฯ ได้มีการนำต้นพันธุ์และผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวน้ำหอมและอินทผลัม มาจัดแสดงในงานวันคล้ายวันสถาปนาสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ครบรอบ 63 ปี ระหว่างวันที่ 25-28 ตุลาคม 2565 ที่สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ บางเขน กรุงเทพฯ

ที่มา: mgronline

ตรวจวิเคราะห์คุณภาพอาหาร “อาหารปลอดภัยใส่ใจผู้บริโภค” ณ โรงอาหาร NU Square และ NU Canteen

เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2565 สาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม จัดกิจกรรมโครงการบริการวิชาการ บูรณาการโครงการวิชาอาหารปลอดภัยใส่ใจผู้บริโภค/ปฏิบัติการการตรวจวิเคราะห์คุณภาพอาหารโดยชุดทดสอบที่ได้มาตรฐาน ณ โรงอาหาร NU Square และ NU Canteen มหาวิทยาลัยนเรศวร ภายใต้รายวิชา 554311 Food Sanitation, Food Safety and Quality Control การสุขาภิบาลอาหาร อาหารปลอดภัย และการควบคุมคุณภาพ

ผู้รับผิดชอบรายวิชา ดร.สุดาวดี ยะสะกะ พร้อมด้วยคณาจารย์และนิสิตชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ลงพื้นที่ให้ความรู้ด้านสุขาภิบาลร้านค้า เสริมสร้างสุขนิสัยที่ดีในการปฏิบัติงาน ผู้สัมผัสอาหารปฏิบัติงานอย่างถูกต้อง การแต่งกายที่ถูกสุขลักษณะ การล้างมือ 7 ขั้นตอน รวมทั้งเก็บตัวอย่างมือผู้ประกอบการร้านอาหารต่าง ๆ โดย ใช้ชุดทดสอบ Swab Test Kit SI2 และเก็บตัวอย่างอาหารมาทดสอบในห้องปฏิบัติการ เพื่อนำผลมาวิเคราะห์ และเสนอแนะแนวทางการปฏิบัติและให้ความรู้เพื่อเป็นประโยชน์และสร้างสุขาภิบาลที่ดีต่อไป

ที่มา: สาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม คณะสาธารณสุขศาสตร์ มน.

โครงการผักปลอดภัย เสริมอนามัยสู่ชุมชน

เมื่อวันอังคารที่ 30 สิงหาคม 2565 รศ.ดร.ณรงค์ศักดิ์ หนูสอน คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ และ คุณธวัช สิงหเดช นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าโพธิ์ ให้เกียรติเป็นประธานการกล่าวเปิดงาน “โครงการผักปลอดภัย เสริมอนามัยสู่ชุมชน” หัวหน้าโครงการ: ดร.กนกทิพย์ จักษุซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณด้านการบริการวิชาการจาก อบต.ท่าโพธิ์ ร่วมกับ “โครงการบริการวิชาการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม” หัวหน้าโครงการ: ผศ.ดร.สรัญญา ถี่ป้อม จัดขึ้นโดยสาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยมีผู้เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ ผู้ประกอบการแผงผัก จำนวน 20 ร้านค้า และ อสม. จำนวน 50 ท่าน คณาจารย์และนิสิตสาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อมชั้นปีที่ 4 ณ ศูนย์ส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตตำบลท่าโพธิ์ อ.เมือง จ.พิษณุโลก

โดยนิสิตสาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อมจัดกิจกรรมให้ความรู้ เวียนฐานการเรียนรู้ อธิบายและสาธิต จำนวน 7 ฐาน
1. การล้างผัก เพื่อการบริโภคผักอย่างปลอดภัย
2. การตรวจวัดหาการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในผัก
3. การตรวจสารฟอกขาวในอาหาร
4. การตรวจสารกันรา
5. การตรวจน้ำส้มสายชูปลอม
6. การตรวจสารโพลาร์ในน้ำมันทอดซ้ำ
7. การตรวจโคลิฟอร์มในน้ำ

สาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อมขอขอบคุณคณาจารย์และนิสิตผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังที่ทำให้โครงการในครั้งนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี

ที่มา: สาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม คณะสาธารณสุขศาสตร์ มน.

ม.นเรศวร เปิดกิจกรรม Green Market ตลาดสีเขียว ส่งเสริมความเข้มแข็งด้านอาหารปลอดภัย

วันที่ 24 สิงหาคม 2565 รองศาสตราจารย์ ดร.ศรินทร์ทิพย์ แทนธานี รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร ให้เกียรติเป็นประธานพิธีเปิดกิจกรรม Green Market ตลาดสีเขียว ณ คณะเกษตรศาสตร์ฯ

ซึ่งกิจกรรมดังกล่าว มีวัตถุประสงค์ที่จะส่งเสริมความเข้มแข็งด้านอาหารปลอดภัย การตลาดพืชผักปลอดภัย โดยจัดให้มีชุมชน Green Market ตลาดสีเขียวขึ้น เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนให้เกษตรกรมีแหล่งขายผลิตภัณฑ์ที่ต่อเนื่อง เป็นการเพิ่มช่องทางการตลาด รวมถึงเป็นกิจกรรมฝึกหัดสำหรับนิสิตของคณะเกษตรศาสตร์ฯ ในการเรียนรู้นอกห้องเรียน ฝึกทักษะจากประสบการณ์จริง โดยเปิดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ตลาดสีเขียว ทุกวันพุธ ณ ลานจอดรถคณะเกษตรศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยนเรศวร

โดยในการเดียวกันนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กำพล ทรัพย์สมบูรณ์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร ดร.จรัสดาว คงเมือง รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานิสิต ศิษย์เก่า และศิลปวัฒนธรรม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภาณุ พุทธวงศ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการทั่วไป ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงพิริยา นฤขัตรพิชัย ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร เข้าร่วมช้อป ชิม ในกิจกรรมตลาดนัดดังกล่าว โดยมีผู้บริหาร นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรสิทธิ์ โทจำปา คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ฯ และคณาจารย์คณะเกษตรศาสตร์ฯ ร่วมให้การต้อนรับและร่วมพิธีเปิดงานดังกล่าว

ที่มา: คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ม.นเรศวร

วช. สนับสนุนทีมวิจัย ม.นเรศวร ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตองุ่นไชน์มัสแคทเพื่อการพาณิชย์

วช. สนับสนุนทีมวิจัย ม.นเรศวร ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตองุ่นไชน์มัสแคทเพื่อการพาณิชย์ เผยจุดเด่นทำให้เป็นองุ่นไร้เมล็ด เพิ่มมูลค่า และเก็บเกี่ยวได้ 2 รอบต่อปี ซึ่งนอกจากจะเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรผู้ปลูกองุ่นแล้ว ยังทำให้คนไทยเข้าถึงการบริโภคองุ่นพันธุ์นี้ได้ง่ายขึ้นและลดการนำเข้าจากต่างประเทศเก็บตก… จากงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 กับอีกหนึ่งบูธที่ได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมงานเป็นอย่างมากจากการนำเสนอผลงานที่มุ่งยกระดับผลผลิตทางเกษตรเพื่อการพาณิชย์และการส่งออกในอนาคตของทีมวิจัยจากคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวรที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ในภาคการเกษตร การปลูกผลไม้ให้มีคุณภาพสูง และได้มาตรฐานจนเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศได้นั้น เกษตรกรผู้ปลูกจำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้ เทคโนโลยี และเงินลงทุนค่อนข้างสูง อย่างเช่น การปลูกองุ่นไชน์มัสแคทที่จำเป็นต้องสร้างโรงเรือนและต้นพันธุ์องุ่น รวมทั้งอาศัยหลักการจัดการที่ถูกต้อง โดยใช้เทคโนโลยีการผลิตและหลังการเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จึงได้สนับสนุนทุนวิจัยให้กับโครงการ “การจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตองุ่นไชน์มัสแคทเพื่อการพาณิชย์” ในปีงบประมาณ 2563  ภายใต้โครงการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อชุมชน เพื่อยกระดับกระบวนการผลิตพร้อมทั้งถ่ายทอด สร้างความรู้ความเข้าใจให้เกิดแก่เกษตรกร ตลอดจนเพิ่มศักยภาพและสร้างมาตรฐานการผลิตองุ่นไชน์มัสแคท  เพื่อการพาณิชย์และการส่งออกในอนาคต

โดยมี “รศ.ดร.พีระศักดิ์  ฉายประสาท” ผู้อำนวยการสถานความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นหัวหน้าโครงการ เปิดเผย ถึงที่มาของโครงการดังกล่าวว่า  เนื่องจากทีมวิจัยได้รับการสนับสนุนจากสโมสรโรตารี่สากลในการไปฝึกอบรมพร้อมกับเกษตรกรที่ประเทศญี่ปุ่น ก่อนที่จะกลับมาช่วยพัฒนาการผลิตองุ่นไชน์มัสแคทในประเทศไทย  หลังจากนั้นจึงได้รับทุนวิจัยจาก วช.ในการจัดอบรมเพื่อถ่ายทอดความรู้แก่นักวิชาการ เกษตรกรผู้ปลูกองุ่นไชน์มัสแคทและผู้ที่สนใจในปี 2564

“จากที่เราไปศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่นทั้งเรื่องเทคโนโลยีการปลูก การเก็บเกี่ยว และการเก็บรักษา ซึ่งก็ได้นำมาถ่ายทอดให้กับเกษตรกรจริงๆ ที่เมืองไทยและได้ผลผลิตเรียบร้อยแล้ว  โดยที่ผ่านมามีการถ่ายทอดองค์ความรู้ไปแล้ว 2 รุ่น  เช่น การใช้องุ่นพันธุ์ไชน์มัสแคทต่อยอดกับองุ่นป่า และกระบวนการในการทำให้องุ่นออกดอก และติดผล ซึ่งจุดเด่นของโครงการนื้คือ สามารถทำให้เกิดเป็นองุ่นไร้เมล็ดที่มีราคาสูงขึ้นได้ เกษตรกรผู้ปลูกองุ่นในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างสามารถปลูกจนจำหน่ายได้จริงแล้วในเชิงพาณิชย์  และสามารถเก็บเกี่ยวผลองุ่นได้ถึง 2 รอบต่อปี”รศ.ดร.พีระศักดิ์ กล่าวว่า การพัฒนาการปลูกองุ่นพันธุ์ไชน์มัสแคท ซึ่งมีราคาสูง นอกจากจะทำให้คนไทยเข้าถึงการบริโภคองุ่นพันธ์นี้ง่ายขึ้นแล้ว ยังทำให้กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกองุ่น เช่น ในพื้นตำบลวงฆ้อง อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก มีคุณภาพชีวิตหรือเศรษฐกิจดีขึ้น เนื่องจากมีรายได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 15 % และสามารถลดการนำเข้าองุ่นไชน์มัสแคทได้ ซึ่งในอนาคตทีมวิจัยอยากให้โครงการนี้ขยายพื้นที่ปลูกไปยังจังหวัดอื่นๆ  เพื่อมีการผลิตที่เพียงพอกับความต้องการบริโภคภายในประเทศอย่างไรก็ดี  ภายในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 คณะเกษตรศาสตร์ฯ จากมหาวิทยาลัยนเรศวร  ยังได้ นำผลงาน “การจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตทุเรียนหลงลับแลและหมอนทองเชิงพาณิชย์ในเขตภาคเหนือตอนล่าง” ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก วช. มาจัดแสดง

นอกจากจะมีการฝึกอบรมเกษตรกรในการเรื่องของเทคโนโลยีการปลูก การดูแลรักษา การแก้ปัญหาแพร่ระบาดของแมลง และการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว  ยังมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการตรวจสอบคุณภาพของผลทุเรียน  ทดแทนวิธีการเดิมที่เกษตรกรดูจากสีผิว หนาม และใช้ไม้เคาะ เพื่อประเมินความแก่ของผลทุเรียน โดยเครื่องตรวจสอบความแก่ของผลทุเรียน เป็นเทคโนโลยี NIR (Near Infrared ) ที่นำเข้าจากต่างประเทศ และนำมาพัฒนาเพิ่มเติมในส่วนของสมการที่พัฒนาขึ้นโดยอาศัยการเก็บข้อมูลจริงกว่า 400 ตัวอย่างเพื่อให้การตรวจวัดหาค่าน้ำหนักแห้งในผลทุเรียนที่มีความอ่อน-แก่ในระดับต่าง ๆ  มีความแม่นยำมากขึ้น

ที่มา: เทคโนโลยีเกษตร

นวัตกรรมโปรตีนจิ้งหรีด อันดับ 1 ของเมืองไทยสู่ผู้นำตลาดโลก

เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2565 รศ.ดร.ศรินทร์ทิพย์ แทนธานี รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย และ ผศ.ดร.วรสิทธิ์ โทจำปา คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมงานแถลงข่าว “ความสำเร็จโครงการนวัตกรรมโปรตีนจิ้งหรีด อันดับ 1 ของเมืองไทยสู่ผู้นำตลาดโลก” โดย บริษัท ไทย เอนโท ฟู้ด จำกัด ร่วมกับ บริษัท ไทยชูการ์ เทอร์มิเนิ้ล จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุน ณ ห้องวิคเตอร์ ชั้น 7 สามย่านมิตรทาวน์

โดยวางเป้าหมายเป็นบริษัทผู้นำอุตสาหกรรมการผลิตโปรตีนจิ้งหรีดของไทย พร้อมวางเป้าหมายผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางโปรตีนจิ้งหรีดของโลก และสร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้ภาคการเกษตร ชุมชน สังคม และประเทศ ตั้งเป้ารายได้ 250 ล้านบาทในปี 2566 ด้วยสัดส่วนการขายในประเทศ 30% และต่างประเทศ 70% โดยเบื้องต้นโครงการมีมูลค่าการลงทุน 200 ล้านบาท เพื่อสร้างโรงงานและจัดหาเครื่องจักร รวมถึงร่วมผลักดันทางการตลาดด้วยฐานลูกค้าอุตสาหกรรมที่บริษัทมีอยู่เดิม สำหรับโรงงานแปรรูปผงโปรตีนจิ้งหรีดสามารถเริ่มการผลิตได้ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2565นี้ โดยมีกำลังการผลิตผงโปรตีนจิ้งหรีดมากกว่า 1,200 ตันต่อปี โครงการนี้ถือเป็นความสำเร็จของการนำโครงการวิจัยที่มีการร่วมทุนของภาครัฐและภาคเอกชน ไปขยายผลเชิงพาณิชย์ได้อย่างเป็นรูปธรรม ที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยนเรศวร “University for Entrepreneurial Society” ภายใต้ชื่อโครงการวิจัย “โครงการนวัตกรรมการผลิต Insect-based functional ingredients สําหรับอุตสาหกรรมอาหารและอาหารสัตว์แบบครบวงจรด้วยระบบ Modern insect farming และ Zero-waste” ซึ่งเป็นโครงการวิจัยต่อเนื่อง 3 ปี ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก สกสว. (ปีที่ 1) และ บพข. (ปีที่ 2) โดยมี ผศ. ดร. ขนิษฐา รุตรัตนมงคล คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นหัวหน้าโครงการ โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตโปรตีนทางเลือกและส่วนประกอบฟังก์ชั่นมูลค่าสูงจากแมลงสู่การผลิตในระดับอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่งได้ศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อผลิตโปรตีนคุณภาพสูงจากแมลงในระดับอุตสาหกรรม รวมถึงพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตส่วนประกอบจากแมลงที่มีมูลค่าสูง เช่น โปรตีนเข้มข้น โปรตีนไฮโดรไลเสท เปปไทด์ที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพ และน้ำมัน เป็นต้น เป้าหมายหลักได้แก่ อุตสาหกรรมอาหารแปรรูปและเครื่องดื่ม และรับจ้างผลิตเจาะตลาดโออีเอ็ม ขณะที่กลุ่มลูกค้าประชาชนขายในรูปของอาหาร หรือขนม ที่มีส่วนผสมของผงโปรตีนและผงโปรตีนเวย์ เพื่อการออกกำลังกาย

ที่มา: งานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

Mango AI แอปพลิเคชั่นปัญญาประดิษฐ์ ยกระดับเกษตรกรไทยยุคใหม่ ด้วยนวัตกรรม

พัฒนาโดย รศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท คณะเกษตรศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยงบประมาณสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ที่จัดสรรให้กับโครงการวิจัยภายใต้แผนงานการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (BCG in Action)

ประเทศไทยมีพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ มีทรัพย์ในดิน สินในน้ำ ร่ำรวยด้วยทรัพยากรธรรมชาติ เพาะปลูกพืชผลใดๆ ก็งอกงาม แต่แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศทึ่พี่งพาจีดีพีจากภาคเกษตรมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก แต่ความจริงที่น่าเจ็บปวดคือ คุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยกลับไม่ดีเท่าที่ควร เพราะแม้จะเพาะปลูกและได้ผลผลิตออกตามฤดูกาล แต่ก็ขาดการเกษตรแม่นยำสูง ส่วนใหญ่ยังพึ่งพาฟ้าฝนและองค์ความรู้ในการทำการเกษตรแบบดั้งเดิมเป็นหลัก

แต่น่ายินดีที่หน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐหันมาให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาสนับสนุนภาคการเกษตรด้วยความร่วมมือแบบบูรณาการมากขึ้น หนึ่งในนั้นที่น่าสนใจและเป็นนวัตกรรมล่าสุดที่น่าจับตา คือ Mango AI ระบบแจ้งเตือนอัจฉริยะสําหรับการผลิตมะม่วง ที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยนเรศวร จากการสนับสนุนทุนวิจัยของ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ซึ่งสวนรวงทองและกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ จังหวัดพิษณุโลก นำไปทดลองใช้แล้วได้ผลสัมฤทธิ์ที่น่าพึงพอใจ

อ่านข่าวเพิ่มเติมได้ที่ : Mango AI แอปพลิเคชั่นปัญญาประดิษฐ์
ที่มา: Salika.co

ม.นเรศวร ร่วมกิจกรรม Kick Off “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง”

วันที่ 28 กรกฏาคม 2565 นายรุ่งรัตน์ พระนาค ผู้อำนวยการกองอาคารสถานที่พร้อมด้วยตัวแทนของมหาวิทยาลัยนเรศวรเข้าร่วมกิจกรรม Kick Off “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” โดย นายรณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เป็นประธานเปิดกิจกรรม ณ บริเวณพื้นที่ต้นแบบการเรียนรู้ชุมชนพัฒนาแบบยั่งยืนแปลงสาธิตจากส้มซ่าสู่ท่าโพธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก โดยมี นายนิสิต สวัสดิเทพ นายอำเภอเมืองพิษณุโลก กล่าวรายงานความเป็นมาโครงการซึ่งระบุว่าอำเภอเมืองพิษณุโลกได้รับการคัดเลือกเป็นอำเภอนำร่อง ตามโครงการอำเภอนำร่องบำบัดทุกข์บำรุงสุขแบบบูรณาการและสร้างนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลง กระทรวงมหาดไทยประจำปีงบประมาณ 2565 ระดับกลุ่มจังหวัด 18 กลุ่ม 18 อำเภอ

ที่มา: กองอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร จัดกิจกรรมปลูกต้นกล้วยหอมทอง เพิ่มพื้นที่สีเขียว

เมื่อเวลา 9.00 น. วันศุกร์ที่ 8 กรกฎาคม 2565 บุคลากรกองอาคารสถานที่ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมปลูกต้นกล้วยหอมทอง กว่า 500 ต้น เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ เพิ่มพื้นที่สีเขียว อีกทั้งสามารถใช้ประโยชน์จากผลผลิตที่เกิดขึ้นได้อีกด้วย โดย นายรุ่งรัตน์ พระนาค ผู้อำนวยการกองอาคารสถานที่ เป็นประธานกล่าวเปิดกิจกรรม ณ พื้นที่ด้านหลังอาคารหอพักบุคลากร มน.นิเวศ 4 และขอขอบคุณ ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 6 จังหวัดพิษณุโลก ที่ให้ความอนุเคราะห์พันธุ์กล้วย มา ณ ที่นี้

……….เกร็ดความรู้…………

กล้วยหอม หรือกล้วยหอมทอง ชื่อสามัญคือ Gros Michel ชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Musa (AAA) ‘Hom’ ลักษณะประจำพันธุ์ที่ปลูก กล้วยหอมทองที่ปลูกเป็นหน่อกล้วยที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ (โดยมีระยะเวลาในห้องปฏิบัติการ 1 ปี แล้วนำออกมาอนุบาลในโรงเรือนอีก 3 เดือน เพื่อได้หน่อพร้อมปลูก) อายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 8- 10 เดือน(การสุกแก่ใช้เวลาประมาณ 3 เดือน) ลักษณะผลใหญ่ ปลายโค้งเรียวยาว เปลือกบาง เมื่อสุกจะมีสีเหลืองทอง รสหวาน มีกลิ่นหอม

ประโยชน์ ของกล้วยหอมทองมีมากมาย เช่น ให้พลังงานมากถึง 100 กิโลแคลลอรี่ต่อหน่วย มีน้ำตาล อยู่ 3 ชนิด ได้แก่ ซูโครส ฟรุกโตส และกรูโคส รวมทั้งเส้นใยอาหาร ดังนั้น เราจะได้รับพลังงาน ที่สามารถนำไปใช้ได้ทันที เพียงกล้วยหอมทอง 2 ผล ก็ให้พลังงานได้นานถึง 90 นาที และยังมี สรรพคุณอื่นๆ เช่น ช่วยให้คลายเครียด เพราะกล้วยหอมทองมีสาร Tryptophan ที่ร่างกายเปลี่ยนเป็น Serotonin ซึ่งเป็นสารกระตุ้นทำให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลาย ช่วยลดการเกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ ลดอาการจุกเสียดแน่นท้อง และช่วยลดท้องผูก

กิจกรรมปลูกต้นไม้ (ต้นกล้วยหอมทอง) เพิ่มพื้นที่สีเขียว

Sustainability

NARESUAN UNIVERSITY

Solverwp- WordPress Theme and Plugin