ม.นเรศวร ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการ Talent Mobility “การพัฒนาสูตรอาหารจิ้งหรีด”

เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566 อุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ดร.ยุพา หาญบุญทรง อาจารย์ประจำภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ดร.อภิรชัย วงษ์ศรีวรพล ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น และผู้แทนจากสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม ลงพื้นที่เพื่อติดตามความก้าวหน้าของโครงการ “การพัฒนาสูตรอาหารจิ้งหรีดต้นทุนต่ำและโปรแกรมการให้อาหารเพื่อยกระดับมาตรฐานการเลี้ยงของฟาร์มเกษตรกรเครือข่าย” โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ทศพร อินเจริญ สังกัด คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นหัวหน้าโครงการ ดำเนินงานร่วมกับ บริษัท ล้านฟาร์มฮัก จำกัด ภายใต้โครงการ Talent Mobility ประจำปีงบประมาณ 2565

ที่มา: อุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร

บพข. กองทุน ววน. หนุนต่อเนื่อง “ท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิ ต้องเป็นศูนย์”

เมื่อวันที่ 7-8 กุมภาพันธ์ 2566, แผนงานกลุ่มท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) โดยกองทุนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ร่วมมือ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) จัดงานนิทรรศการและการประชุมเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Carbon Neutral Tourism) “พัฒนาพื้นที่ภาคเหนืออย่างยั่งยืน บนฐานคิดการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์” ณ จ.พิษณุโลก ภายใต้รูปแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความเข้าใจและทักษะของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการขับเคลื่อนแผนการท่องเที่ยว คาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศ และพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยในทุกมิติ หลังจากได้มีการดำเนินการในพื้นที่ภาคใต้ จ.สงขลา ไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

นายพชรเสฏฐ์ ศิริสาริศา รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยจำเป็นต้องเป็นการพัฒนาไปในทิศทางเดียวกับการพัฒนาในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโลกที่เน้นการพัฒนาที่ยั่งยืน ลดผลกระทบที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากกิจกรรมต่าง ๆ ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ด้วยการหาแนวทางขับเคลื่อนการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้น้อยที่สุดจนถึงการผลักดันให้เกิดการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ซึ่งงานการแสดงนิทรรศการและการประชุมเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้ จะได้สร้างความเข้าใจและทักษะของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนแผนการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศไทย และยังเป็นการจัดนิทรรศการเผยแพร่องค์ความรู้อย่างบูรณาการเพื่อการท่องเที่ยวไทยไร้คาร์บอน ในปี 2564 และ ปี 2565 ร่วมกัน และยังเป็นแนวทางในการพัฒนางานและความคิดเกี่ยวกับการท่องเที่ยว รวมถึงสถานประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว แหล่งท่องเที่ยว ชุมชนท่องเที่ยว และประชาชนทั่วไปที่มีความสนใจต่อการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในอนาคต

ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาวอาวุโส สกสว. และประธานคณะอนุกรรมการแผนงานกลุ่มท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (บพข.) กล่าวว่า สกสว. และกองทุน ววน. เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) รวมทั้งเสนอของบประมาณจากรัฐบาลเพื่อนำมาจัดสรรให้กับหน่วยงานในระบบ ววน.ราว 190 แห่ง ประกอบด้วย หน่วยบริหารและจัดการทุน 9 แห่ง มหาวิทยาลัยและหน่วยงานต่าง ๆ โดยมีระบบ การติดตามประเมินผลและการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์อย่างครบวงจร

แผนด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ได้รับสนับสนุนงบประมาณการวิจัยประมาณ 200 ล้านบาทต่อปี โดยออกแบบแผนงานวิจัยเพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจการท่องเที่ยว 2 กลุ่ม กลุ่มแรก “แผนการท่องเที่ยวมูลค่าสูง” เน้นการทำงานร่วมกับภาคเอกชน เพื่อสร้างรายได้และคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนและคนในภาคการท่องเที่ยว คือ 1)การท่องเที่ยวบนฐานมรดกชาติการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ 2)การยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ 3)การยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง และกลุ่มที่ 2 “แผนงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์” มุ่งเน้นการยกระดับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เพื่อเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์

กลุ่มการท่องเที่ยวบนฐานมรดกธรรมชาติ การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ เป็นกลุ่มที่มีความเข้มแข็ง มีภาคีเครือข่ายในการทำงานตามกรอบความร่วมมือ (MOU) 8 องค์กรพันธมิตรจาก 3 กระทรวง บูรณาการ/ขับเคลื่อนการส่งเสริมและสนับสนุนการท่องเที่ยวที่มีการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ช่วยลดโลกร้อน ระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการอุดมศึกษาฯ พร้อมด้วย 8 ภาคีเครือข่ายที่ร่วมมือกัน ประกอบด้วย สกสว. บพข. องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) (สสปน.) หอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) (อพท.) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (สทอ.) ที่มีกลไกการทำงานร่วมกัน โดย อบก. สนับสนุนให้เกิดการคํานวณการปล่อยคาร์บอนของบริการการท่องเที่ยว (Product Category Rules : PCR) ทั้งในการเดินทาง ที่พัก อาหาร การจัดการของเสีย ซึ่งในปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ จะมีการเพิ่มเติม PCR ของกิจกรรม การท่องเที่ยวเชิงกีฬา การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ สปา เป็นต้น โดยเน้นการทำงานวิจัยร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชน และผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว

“จังหวัดพิษณุโลก จัดเป็น MICE City จังหวัดที่ 9 มีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์บนฐานมรดกทางวัฒนธรรมประวัติศาสตร์อันงดงาม การท่องเที่ยวเชิงกีฬา การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ บพข. ได้สนับสนุนงานวิจัยให้ภาคเหนือตอนล่าง เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวคุณภาพ เช่น กลุ่มที่ต้องการพักผ่อน ดูแลรักษาสุขภาพ กลุ่ม MICE นักเดินทางเพื่อเป็นรางวัล กลุ่มเป้าหมาย กลุ่ม Tourism for all กลุ่มท่องเที่ยวที่รักษ์ธรรมชาติเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติ การท่องเที่ยวในสวนผลไม้ ที่มีการคิด การลด การชดเชยการปล่อยคาร์บอนและขยายผลบอกต่อให้นักท่องเที่ยวและชุมชนที่รองรับนักท่องเที่ยวได้เข้าใจกระบวนการ ที่มุ่งสู่การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์” ผศ.สุภาวดี กล่าวเสริม

ทั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ ในการออกบูธแสดงผลงานจากวิจัยจาก 4 หน่วยงานหลัก คือ มหาวิทยาลัยรามคำแหง สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (สทอ.) มหาวิทยาลัยนเรศวร และมหาวิทยาลัยพะเยา และบูธจากวิสาหกิจชุมชน ของดีในชุมชนภาคเหนือ จำนวน 13 บูธ คือ ชุมชนท่องเที่ยวบ้านวังส้มซ่า สมาคมการท่องเที่ยวโดยชุมชนจังหวัดลำปาง หรือ จำปุยโฮมสเตย์ วิสาหกิจชุมชนการท่องเที่ยวโดยชุมชนไตลื้อเมืองลวงเหนือ วิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์บัวกว๊านพะเยา กลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชนชมภู วิสาหกิจชุมชนบ้านเนินกระบาก วิสาหกิจชุมชน คนเอาถ่านบ้านเขาปรัง วิสาหกิจชุมชนเมืองหมักพิศโลก วิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกรบ้านบึงเวียน กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านหนองกุลา ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมไทยลื้อเชียงคำ จ.พะเยาโฮมสเตย์บ้านท่าขันทอง และชมรมส่งเสริมท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านไร่กองขิง ซึ่งได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี

ที่มา: mgronline

นักวิจัย ม.นเรศวร ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2566

วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2566 รองศาสตราจารย์ ดร.กรกนก อิงคนินันท์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม ดร.ยุทธพงษ์ ทองพบ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม และนางเจนจิต นาคปรีชา ผู้อำนวยการกองการวิจัยและนวัตกรรม ร่วมแสดงความยินดีและมอบของที่ระลึกให้แก่นักวิจัยมหาวิทยาลัยนเรศวร ที่ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2566 เข้ารับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2566 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร โดยมหาวิทยาลัยนเรศวรได้รับรางวัลจำนวน 6 รางวัล ดังนี้
1. รางวัลการวิจัยแห่งชาติ รางวัลผลงานวิจัย #ระดับดีเด่น สาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย ผลงานวิจัยเรื่อง “การใช้เครื่องมือด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและวิศวกรรมชีวเวชเพื่อเสริมสร้างความยั่งยืนของการทำเหมืองแร่ทองคำในประเทศไทยในอนาคต”
1. รศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์
2. รศ.ดร.มนุพัศ โลหิตนาวี
3. ดร.สุภาวรรณ ศรีรัตนา
4. นางสาววรากร มณีชูเกตุ
5. นางสาวฐิติพร พลัดบุญ
6. Mr. Quoc Ba Tran
7. ดร.สิรินาฏ เลาหะโรจนพันธ์
8. นายเกียรติพงษ์ คาดี

2. รางวัลการวิจัยแห่งชาติ รางวัลผลงานวิจัย #ระดับดีมาก สาขาสังคมวิทยา ผลงานวิจัยเรื่อง “เศรษฐกิจนอกระบบในเครือข่ายสังคมข้ามชาติของแรงงานชาวเวียดนามในประเทศไทย”
1. รศ.ดร.อัจฉริยา ชูวงศ์เลิศ
2. Mr.Van Ton Le

3. รางวัลการวิจัยแห่งชาติ รางวัลผลงานวิจัย #ระดับดี สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์ ผลงานวิจัยเรื่อง “การพัฒนานวัตกรรมในการจัดการการส่งเสริมสุขภาพพระสงฆ์อย่างมีส่วนร่วมกับพระคิลานุปัฏฐาก”
1. รศ.ดร.พนิดา จงสุขสมสกุล
2. ผศ.ดร.พนมขวัญ ริยะมงคล

4. รางวัลการวิจัยแห่งชาติ รางวัลสิ่งประดิษฐ์คิดค้น #ประกาศเกียรติคุณ สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์ ผลงานวิจัยเรื่อง “รูปเเเบบเทคโนโลยีความจริงเสมือน (AR) สำหรับเเหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ในจังหวัดพิษณุโลก”
1. ผศ.ดร.กนกกาญจน์ เสน่ห์ นมะหุต
2. รศ.ดร.จักรกฤษณ์ เสน่ห์ นมะหุต
3. ดร.เกษวดี พุทธภูมิพิทักษ์

5. รางวัลการวิจัยแห่งชาติ วิทยานิพนธ์ #ระดับดีมาก สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผลงานวิจัยเรื่อง “การศึกษาศักยภาพ การรักษาของเซลล์ต้นกำเนิดมีเซนไคมอลด้วยเทคโนโลยีปรับแต่งจีโนมจากเอนไซม์ Cas9 และเวคเตอร์ Adeno-Associated Virus (AAZ)” ดร.วรัชรี ศรีฟ้า

6. รางวัลการวิจัยแห่งชาติ วิทยานิพนธ์ #ระดับดี สาขาปรัชญา ผลงานวิจัยเรื่อง “ลักษณาการและการสาแดงในดนตรีหน้าพาทย์ศักดิ์สิทธิ์ของประเทศไทย” ผศ.ดร.เดชา ศรีคงเมือง

ที่มา: กองการวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร ร่วม วช. เผย พร้อมส่งสตรอว์เบอร์รีพันธุ์ 89 ออกสู่ตลาดปีหน้า

วันที่ 26 มกราคม 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ผู้ทรงคุณวุฒิ วช. และสื่อมวลชน ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการวิจัยเรื่อง “การวิจัยและการพัฒนาเทคโนโลยีก่อนและหลังเก็บเกี่ยวสตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 89 ในเขตภาคเหนือ” ดำเนินโครงการโดย รองศาสตราจารย์ ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท และคณะนักวิจัย แห่งมหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อคัดเลือกสายพันธุ์ที่มีศักยภาพในการผลิตสารแอนโทไซยานินในสตรอว์เบอร์รี ณ สถานีเกษตรโครงการหลวงทุ่งหลวง อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่

รองศาสตราจารย์ ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า สตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 89 เป็นพันธุ์ลูกผสมระหว่างสตรอว์เบอร์รีพันธุ์ 329 เป็นสายพันธุ์พ่อและสตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 80 เป็นสายพันธุ์แม่ ซึ่งถูกปรับปรุงพันธุ์ขึ้นในระหว่างปี พ.ศ. 2557 – 2563 ทำให้สตรอว์เบอร์รีสายพันธุ์นี้มีขนาดใหญ่เทียบเท่าสตรอว์เบอร์รีเกาหลี อีกทั้งมีกลิ่นหอม ทนต่อการขนส่ง และมีปริมาณสารแอนโทไซยานินหรือสารต้านอนุมูลอิสระสูง เฉลี่ย 40.83 มิลลิกรัม/100 กรัม สูงกว่าพันธุ์การค้าทั่วไป 1-2 เท่า ซึ่งส่งผลดีต่อสุขภาพ ดังนั้น จึงเหมาะแก่การนําไปส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก โดยสายพันธุ์นี้ได้รับพระราชทานนามว่า “สตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 89” ในปี พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา

ที่มา: เทคโนโลยีเกษตร

TM Clearing House อุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร

วันที่ 18 มกราคม 2566 ดร.สราวุธ สัตยากวี ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และการถ่ายทอดเทคโนโลยี และรักษาการในตำเเหน่งรองผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร เเละเจ้าหน้าที่อุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร เข้าร่วม ประชุม Retreat แนวทางการดำเนินการโครงการ Talent Mobility ประจำปีงบประมาณ 2566 พร้อมด้วยคณะกรรมการพิจารณาโครงการ Talent Mobility ผู้บริหาร ผู้แทนสถาบันอุดมศึกษา นักวิจัย และเจ้าหน้าที่จากเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคทั่วประเทศ ณ อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดขอนแก่น

——————————————————–

สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ดำเนินโครงการการเคลื่อนย้ายบุคลากรเพื่อพัฒนาศักยภาพการวิจัยในภาคอุตสาหกรรม (Talent Mobility) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพบุคลากรวิจัยของสถาบันอุดมศึกษา ผ่านการเคลื่อนย้ายบุคลากรในการพัฒนาองค์ความรู้ การแก้ไขปัญหา ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถด้านการวิจัยและพัฒนาให้กับสถานประกอบการ ได้กำหนดจัดการประชุม Retreat แนวทางการดำเนินการโครงการ Talent Mobility ประจำปีงบประมาณ 2566 โดยมี ศาสตราจารย์ ปริญญา จินดาประเสริฐ ประธานคณะกรรมการ Talent Mobility เป็นประธานการประชุม และผู้ช่วยศาสตราจารย์ธัญญานุภาพ อานันทนะ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ เป็นผู้นำเสนอผลการวิเคราะห์และสรุปผลการถอดบทเรียนเพื่อพัฒนาศักยภาพการบริหารจัดการศูนย์อำนวยความสะดวก Talent Mobility (TM Clearing House) และนำเสนอ (ร่าง) แนวทางการดำเนินการโครงการ Talent Mobility และผู้เข้าร่วมการประชุม ร่วมระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการโครงการ Talent Mobility

ที่มา: อุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร จัดกิจกรรม Food Maker Space Workshop @NU

ระหว่างวันที่ 14 – 15 มกราคม 2566 Food Innopolis เมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis: FI) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้จัดกิจกรรม Food Maker Space Workshop @NU : “The Science Behind Bakery” ณ อาคารนวัตกรรมเทคโนโลยีการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรและอาหาร มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยได้รับเกียรติจาก ดร.พิสุทธิ์ อภิชยกุล รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และการถ่ายทอดเทคโนโลยีและรักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นประธานกล่าวเปิดกิจกรรมดังกล่าว เเละได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.วรสิทธิ์ โทจำปา คณบดีคณะเกษตรทรัพยากรธรรมชาติเเละสิ่งเเวดล้อมกล่าวถึงที่มาวัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรม ทั้งนี้ดร.เจษฎา วิชาพร รองคณบดีฝ่ายบริการวิชาการและสื่อสารองค์กร คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมเปิดงานให้การต้อนรับผู้เข้าร่วมกิจกรรมเเละคุณสุธีรา อาจเจริญ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจเมืองนวัตกรรมอาหาร

ในฐานะหน่วยงานเครือข่ายเมืองนวัตกรรมอาหาร (FI@NU) และวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านเบเกอรี่ระดับประเทศ รศ.ดร.นภัสรพี เหลือสกุล คณบดี คณะอุตสาหกรรมอาหาร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (FI@KMITL) จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการแบบเข้มข้นฉลอง Food Maker Space Platform ที่พร้อมให้ผู้ประกอบการ และผู้ที่สนใจเข้ามาใช้บริการเครื่องมือ อุปกรณ์ ต่างๆ

กิจกรรม workshop ครั้งนี้เน้นการถ่ายทอดความรู้พื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์เบเกอรี่ให้แก่ผู้ประกอบการในพื้นที่จ.พิษณุโลก และพื้นที่ใกล้เคียง ได้มีความเข้าใจ และมีความรู้เกี่ยวกับในการเลือกใช้ ingredients ประเภทต่างๆ เช่น แป้ง น้ำตาล ไขมัน วัตถุเจือปนอาหาร ที่เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ประเภทต่างๆ และสามารถนำไปใช้ในการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ของตนเองได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างผู้เชี่ยวชาญด้านเบเกอรี่ระหว่างหน่วยงานเครือข่าย Food Innopolis อีกด้วย โดยมีอาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญ และนักวิชาการ จากม.นเรศวร เข้าร่วมกิจกรรมกว่าสิบท่าน เพื่อนำองค์ความรู้ และประสบการณ์ไปใช้ในการถ่ายทอด และฝึกอบรมผู้ประกอบการในพื้นที่ต่อไปในอนาคต

ที่มา: อุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตรการส่งเสริมการประยุกต์ใช้อากาศยานไร้คนขับสำหรับภาคอุตสาหกรรม รุ่นที่ 3 (Onsite)

NuSciPark จัดกิจกรรมการอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตรการส่งเสริมการประยุกต์ใช้อากาศยานไร้คนขับสำหรับภาคอุตสาหกรรม รุ่นที่ 3 (Onsite) ภายใต้โครงการพัฒนาความสามารถทางเทคโนโลยีของบุคลากรภาคอุตสาหกรรม (Brain Power Skill Up) ในวันที่ 9 – 13 มกราคม 2566

🔰 โดยได้รับเกียรติจาก ดร.พิสุทธิ์ อภิชยกุล รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และการถ่ายทอดเทคโนโลยี และรักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นประธานกล่าวเปิดกิจกรรมดังกล่าว

ที่มา: อุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตรการส่งเสริมการประยุกต์ใช้อากาศยานไร้คนขับสำหรับภาคอุตสาหกรรม รุ่นที่ 3

อุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร จัดกิจกรรมการอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตรการส่งเสริมการประยุกต์ใช้อากาศยานไร้คนขับสำหรับภาคอุตสาหกรรม รุ่นที่ 3 หลักสูตรระยะยาว ที่มีเนื้อหาอัดแน่นกว่า 40 ชั่วโมง ภายใต้การดำเนินงานโครงการพัฒนาความสามารถทางเทคโนโลยีของบุคลากรภาคอุตสาหกรรม (Brain Power Skill Up) ในวันที่ 9 – 13 มกราคม 2566

🌟 วิทยากรประจำหลักสูตร
▪️ ดร.อนุชิต สุขเจริญพงษ์ – กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
▫️ ผศ.ดร.สุรเดช ตัญตรัยรัตน์ – มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
▪️ ดร.ชัยยุทธิ์ เจริญผล – จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
▫️ นายชิงชัย หุมห้อง – บริษัท แมพพิเดีย จำกัด
▪️ ผศ.ดร.ดวงเดือน อัศวสุธีรกุล – มหาวิทยาลัยนเรศวร
▫️ ดร.พลปรีชา ชิดบุรี – มหาวิทยาลัยนเรศวร

ที่มา: อุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร

อุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร ยกทีมเข้าร่วมประชุมคณะทำงานดำเนินงานอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ ครั้งที่ 1/2566

วันที่ 4 มกราคม 2565 ดร.สราวุธ สัตยากวี ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และการถ่ายทอดเทคโนโลยี เเละรักษาการใน ตำเเหน่งรองผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวรพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่อุทยานวิทยาศาสตร์ฯ เข้าร่วมประชุมคณะทำงานดำเนินงานอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ ครั้งที่ 1/2566 พร้อมกับผู้บริหารและเจ้าหน้าที่เครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ ณ NSP Conference Hall อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (จังหวัดเชียงใหม่)

ในการนี้ได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ เป็นประธานการประชุมดังกล่าว เพื่อติดตามการดำเนินงานของอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ มีประสิทธิภาพเเละเกิดประโยชน์สูงสุด ในการประชุมยังได้ระดมความคิดเพื่อร่วมกันพัฒนาเครือข่ายมหาวิทยาลัยภาคเหนือ เเละหารือแนวทางการดำเนินงานในอนาคตร่วมกันเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับภาครัฐและเอกชน โดยใช้กลไกอุทยานวิทยาศาสตร์ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมในภาคเหนือของประเทศไทย สอดรับกับนโยบายการพัฒนาเชิงพื้นที่ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

ที่มา: อุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร ร่วมหลักสูตรผู้จัดการนวัตกรรม (Certified Innovation Manager: CIM) ระดับประเทศ

วันที่ 1 – 3 ธันวาคม 2565 ณ โรงแรมสวิสโฮเต็ล กรุงเทพ รัชดา ดร.พิสุทธิ์ อภิชยกุล รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และการถ่ายทอดเทคโนโลยี และรักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมคณะ เข้าร่วมกิจกรรมศึกษาดูงานและกิจกรรมการสําเร็จหลักสูตรผู้จัดการนวัตกรรม ระดับประเทศ เพื่อสรุปผลการเรียนรู้และรับรองผลการจบหลักสูตร และแสดงถึงความพร้อมในการเป็นผู้จัดการนวัตกรรม ตลอดจนนำการเปลี่ยนแปลงสู่องค์กรและสังคมอย่างมืออาชีพ

โดยกิจกรรมดังกล่าวเป็นการรวมตัวกันของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค 3 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ รวมถึงคณะผู้บริหารระดับสูงจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคมหาวิทยาลัย กว่า 200 คน ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมดังนี้

วันที่ 1 ธันวาคม 2565 กิจกรรมศึกษาดูงาน ณ อุทยานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย

วันที่ 2 ธันวาคม 2565
🔸กิจกรรมบรรยายพิเศษ หัวข้อ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาค โดยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม
🔸กิจกรรมพัฒนาศักยภาพ ภาวะผู้นำเชิงนวัตกรรม (Module 6)
🔸บรรยายพิเศษ หัวข้อ นวัตกรรมกับกลไกการลงทุนของตลาดหลักทรัพย์การสนับสนุนของ LiVE platform
🔸พิธีมอบใบประกาศนียบัตรผู้ผ่านการเข้าร่วมหลักสูตรฯ ทั้งหมด 6 รุ่น และกิจกรรม National IS Pitching show จำนวน 12 คน
🔸กิจกรรมแชร์ประสบการณ์การเข้าร่วมกิจกรรมหลักสูตร CIM

นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงนิทรรศการรายงานค้นคว้าอิรสะของผู้จัดการนวัตกรรมทั้ง 3 ภูมิภาค

ที่มา: อุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร

Sustainability

NARESUAN UNIVERSITY

Solverwp- WordPress Theme and Plugin