ม.นเรศวร มุ่งพัฒนาทักษะอาชีพด้านการตัดเย็บ เพื่อกระตุ้นการจ้างงานในชุมชน ผ่านกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์ตัดเย็บจากผ้า ตำบลสนามคลี อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก

การทอผ้า เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวบ้านในตำบลสนามคลี อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก อย่างไรก็ดี  พวกเขาไม่ได้ใช้การทอผ้าในการหารายได้อย่างเดียวเท่านั้น เนื่องจากพื้นที่ในชุมชนเป็นที่ราบลุ่ม ชาวบ้านจึงประกอบอาชีพทางเกษตรกรรมเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการปลูกพืชผักสวนครัวปลอดสารพิษ การปลูกเมล่อน บางกลุ่มที่ตั้งครัวเรือนริมแม่น้ำ ก็มีอาชีพเสริมเป็นการเลี้ยงปลากดคัง โดยมีทั้งเป็นเจ้าของกระชังปลาเอง และเป็นลูกจ้างดูแลกระชังปลา

กองส่งเสริมการบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก จึงเล็งเห็นโอกาส ในการส่งเสริมการเรียนรู้ด้านการประกอบอาชีพ โดยสร้างความตระหนักให้คนในชุมชนรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้น ผ่านการกระตุ้นให้คนกลับเข้ามาทำงานในชุมชน โดยอาศัยชุมชนเป็นฐานการผลิตและฐานการเรียนรู้ร่วมกัน จนออกมาเป็น “โครงการพัฒนาทักษะอาชีพงานฝีมือตัดเย็บกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์ตัดเย็บจากผ้า สร้างโอกาสการจ้างงานในชุมชน ตำบลสนามคลี อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก”

โดยโครงการฯ ได้เฟ้นหากลุ่มเป้าหมายจำนวน 50 คน จากพื้นที่ชุมชนตำบลสนามคลี โดยมีจุดประสงค์ของโครงการเพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มเป้าหมาย ซึ่งมีทักษะการตัดเย็บอยู่บ้างแล้ว ได้พัฒนาฝีมือ ตลอดจนเป็นการสร้างโอกาสทางด้านอาชีพให้ผู้มีรายได้น้อย ผู้สูงอายุ และผู้ว่างงานในชุมชน ให้มีรายได้เพิ่มขึ้นโดยที่ไม่ต้องออกไปทำงานนอกชุมชน

โดยโครงการจะดำเนินการผ่านความร่วมมือของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์ตัดเย็บจากผ้า ซึ่งมีความรู้และประสบการณ์ในสายอาชีพนี้อยู่แล้ว มาช่วยให้คำแนะนำ ทว่า ตัวกลุ่มเองก็ยังมีข้อจำกัดในบางเรื่อง เช่น รูปแบบของผลิตภัณฑ์ที่ยังไม่หลากหลายและมีความร่วมสมัยมากพอ คณะทำงานจึงต้องเข้ามาช่วยสนับสนุนและส่งเสริมในด้านนี้ ผ่านการใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ด้วยการวิเคราะห์ผู้บริโภค และพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน ซึ่งจะช่วยให้ผลิตภัณฑ์มีมูลค่าเพิ่มขึ้น 

เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลเสร็จสิ้น คณะทำงานจะปรับกระบวนการทำงานให้เข้าสู่การผลิตสินค้ารูปแบบใหม่ที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภครุ่นใหม่ในรูปแบบมินิมัล (minimal) กล่าวคือ มีความเรียบง่ายแต่เรียบหรู ซึ่งแตกต่างจากผลิตภัณฑ์ที่เคยผลิตกันมาตั้งแต่สมัยก่อน อาทิ ถุงผ้าสวมแก้วเยติ ย่ามรูปแบบใหม่ และหมวกผ้า เป็นต้น 

นอกจากนี้ คณะทำงานยังให้ความสำคัญกับการย้อมสีผ้าด้วยวัตถุดิบจากธรรมชาติ เช่น เปลือกไม้ ใบไม้ หรือแร่ธาตุต่างๆ ที่หาได้ในชุมชนตำบลสนามคลี เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ของกลุ่มเป้าหมาย ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเข้าถึงความต้องการของตลาดกลุ่มใหม่ได้ โดยจะกระทำควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะการเป็นผู้ประกอบการในศตวรรษที่ 21 ผ่านการใช้เทคโนโลยีในการกระจายสินค้า เช่น การสร้างเพจหรือเว็บไซต์ของกลุ่ม เป็นต้น 

เพราะหากมีผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ แต่ไม่มีช่องทางการจำหน่ายที่ทัดเทียมกัน ความลื่นไหลของการกระจายสินค้าก็อาจหยุดชะงักได้

อย่างไรก็ดี สุดท้ายนี้ คณะทำงานหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เมื่อกลุ่มเป้าหมายพัฒนาขึ้นตามลำดับกระบวนการข้างต้นแล้ว จะช่วยให้ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มเป้าหมายเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น และนำไปสู่การจ้างงานภายในชุมชน อีกทั้งยังเป็นการช่วยปูพื้นฐานให้กลุ่มเป้าหมาย มีทักษะในการเรียนรู้และปรับตัวอยู่ตลอดเวลา เพื่อรองรับกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ทุกวันได้อีกด้วย

คณะทำงานยังให้ความสำคัญกับการย้อมสีผ้าด้วยวัตถุดิบจากธรรมชาติ เช่น เปลือกไม้ ใบไม้ หรือแร่ธาตุต่างๆ ที่หาได้ในชุมชนตำบลสนามคลี เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ของกลุ่มเป้าหมาย ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเข้าถึงความต้องการของตลาดกลุ่มใหม่ได้

ที่มา: กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

วช.หนุนนักวิจัย ม.นเรศวร ถ่ายทอดเทคโนโลยีผลิตมะยงชิดเชิงพาณิชย์

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) หนุนถ่ายทอดเทคโนโลยีผลิตมะยงชิดเชิงพาณิชย์ นำชมสวนมะยงชิดตัวอย่างในอำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ จัดการองค์ความรู้ตั้งแต่การเตรียมปลูก การกำจัดแมลงและศัตรูพืช จัดการระบบหลังเก็บเกี่ยว แปรรูปสร้างเอกลักษณ์ให้ดึงดูดใจ พร้อมจัดการรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อการตลาดและส่งออก แก้ปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์เกษตร คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก และคณะ ได้แก่ ดร.นุชนาถ ภักดี และ นายพุทธพงษ์ สร้อยเพชรเกษม ร่วมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตมะยงชิดเชิงพาณิชย์แก่เกษตรกรและผู้สนใจ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2564 ณ สวนใจใหญ่ ตำบลชัยชุมพล อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์

ซึ่งองค์ความรู้ดังกล่าวได้จากโครงการการจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตมะปรางเชิงพาณิชย์ ที่ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

สำหรับองค์ความรู้และเทคโนโลยีการผลิตมะยงชิดเชิงพาณิชย์นั้น ครอบคลุมการผลิตตั้งแต่การเตรียมพื้นที่ปลูก การขยายพันธุ์ การปลูก และการดูแลตั้งแต่ระยะแรกหลังปลูกจนถึงระยะเก็บเกี่ยว โดยนักวิจัยได้ถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการฉีดพ่นสารละลายแคลเซียม (Ca) – โบรอน (B) การศึกษาจำนวนผลต่อต้นที่เหมาะสม

ซึ่งมีความสัมพันธ์กับคุณภาพของผลโดยตรงคือ เพื่อเพิ่มคุณภาพทางด้านกายภาพของผล เช่น สีผิวสวยงามสม่ำเสมอ ไม่กร้าน ขนาดผลใหญ่ขึ้น และเพื่อเพิ่มคุณภาพทางเคมีของผลผลิต เช่น รสชาติ ให้เป็นที่ต้องการของตลาดภายในและต่างประเทศ

ระหว่างปลูกมีระยะที่ต้องเฝ้าระวังคือ ระยะแตกใบอ่อน ระยะดอกโรย และช่วงติดผลขนาดเท่าหัวไม้ขีด ที่ต้องควบคุมไม่ให้เกิดการระบาดของเชื้อราและกลุ่มแมลงปากดูด โดยเฉพาะ เพลี้ยไฟ ซึ่งเป็นแมลงศัตรูที่สำคัญที่สุดของมะยงชิด และยังมีโรคและแมลงอื่นๆ ที่เป็นศัตรูของมะยงชิด ได้แก่ โรคราดำ แมลงวันผลไม้ ด้วงงวงกัดใบมะยงชิด ด้วงเจาะลำต้นมะยงชิดและแมลงค่อมทอง จึงต้องควบคุมเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น

ส่วนการเก็บรักษาผลผลิตหลังเก็บเกี่ยวนั้นนักวิจัยแนะนำให้ใช้สาร 1-เมธิลไซโคลโพรพีน (1-Methylcyclopropene) เคลือบผิวมะยงชิด ร่วมกับการเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำและการดัดแปลงสภาพบรรยากาศเพื่อยืดอายุการเก็บรักษา

และยังมีองค์ความรู้เรื่องการแปรรูปมะยงชิดโดยพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้ดึงดูดใจและมีลักษณะเฉพาะ เพื่อยกระดับคุณภาพและมาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค รวมทั้งการรวมกลุ่มของเกษตรกรเพื่อการตลาดและส่งออกมะยงชิด โดยการจัดเสวนาหาทางออกร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการ พ่อค้าคนกลางและกลุ่มเกษตรกร เพื่อแก้ปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำและเพิ่มศักยภาพในตลาดส่งออก

ด้าน ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. สนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมตามแผนงานสำคัญของประเทศ ภายใต้กรอบการวิจัยที่กำหนดและเน้นการวิจัยเชิงรุก ซึ่งผลการวิจัยจะต้องมีเป้าหมายของผลผลิตและผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง

โดยมุ่งเน้นความสอดคล้องกับแผนงานหลัก รวมทั้งมีการกำหนดตัวชี้วัดที่แสดงถึงการบรรลุเป้าหมายในระดับผลผลิตและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในด้านความคุ้มค่า ประสิทธิภาพ และประสิทธิผล ทั้งเชิงปริมาณ คุณภาพ เวลา และต้นทุน ตลอดจนมีกลุ่มเป้าหมายชัดเจน และการเกษตรเป็น 1 ใน 7 โจทย์ท้าทายเร่งด่วนสำคัญของประเทศที่มีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดย วช. ได้นำสื่อมวลชนเยี่ยมชมสวนมะยงชิดใจใหญ่ ตำบลชัยชุมพล อำเภอ ลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2564

ที่มา: เทคโนโลยีเกษตร

ม.นเรศวร มอบทุนจิตอาสารีไซเคิล ปันรัก ประจำปีการศึกษา 2563

ผู้อำนวยการกองกิจการนิสิต พร้อมด้วยหัวหน้างานบริการสวัสดิการนิสิตและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ได้นำนิสิตกลุ่มนิสิตจิตอาสาคัดแยกขยะ ชมรมจิตอาสา ที่ผ่านการคัดเลือกการรับทุนการศึกษา เข้ารับมอบทุนจากท่านอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร (ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กาญจนา เงารังษี) ในการประชุมคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุมสุพรรณกัลยา ชั้น 3 สำนักงานอธิการบดี จำนวน 10 ราย โดยกลุ่มนิสิตจิตอาสาคัดแยกขยะ ชมรมจิตอาสา ได้ดำเนินกิจกรรมคัดแยกขยะ ขยะรีไซเคิล เพื่อส่งเสริมการรักษาสิ่งแวดล้อม ลดภาวะโลกร้อน และได้นำเงินที่ได้จากการจำหน่ายขยะรีไซเคิลมาจัดสรรเป็นทุนการศึกษาให้แก่นิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวรที่ทำกิจกรรมจิตอาสา และนิสิตที่ขาดแคลนทุนทรัพย์

ที่มา: กองกิจการนิสิต มหาวิยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร จัดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่องเครื่องกลั่นน้ำส้มควันไม้เพื่อยกระดับสินค้าชุมชน

โครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่องเครื่องกลั่นน้ำส้มควันไม้เพื่อยกระดับสินค้าชุมชน จัดขึ้นที่วิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี ม.นเรศวร ร่วมกับ วช. และ กอรมน. จัดฝึกอบรมให้กับเครือข่ายปราชญ์ชุมชน 9 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง

ที่มา: วิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนเรศวร

Sustainability

NARESUAN UNIVERSITY

Solverwp- WordPress Theme and Plugin