“ของเก่ามีค่า” กระเป๋าทำมือ DIY มอบให้กับโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร

เช้าวันนี้ (20 ตุลาคม 2565) นางศิริวรรณ  กมลพัฒนะ ผู้อำนวยการกองกิจการนิสิต พร้อมด้วยหัวหน้างานกิจกรรมพัฒนานิสิต และบุคลากร นำกระเป๋าทำมือ DIY จากเสื้อยืดที่ไม่ใช้แล้ว จำนวน 1,100 ใบ มอบให้กับ ผศ.พญ.พิริยา นฤขัตรพิชัย คณบดีคณะแพทยศาสตร์  ณ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร พิษณุโลก

ที่มา: กองกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร ขนย้ายและกำจัดของเสียอันตราย ประจำปี 2565

เมื่อวันที่ 29-30 สิงหาคม 2565 บุคลากรกองอาคารสถานที่ร่วมกับหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการขนย้ายของเสียอันตรายที่เกิดขึ้นภายในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ของคณะและหน่วยงานต่างๆ จำนวน 23 จุด ภายในมหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งจะถูกนำไปกำจัดและทำลายอย่างถูกวิธีโดยผู้เชี่ยวชาญเพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของบุคลากรที่ปฏิบัติการทางด้านวิทยาศาสตร์ รวมถึงผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายภายในมหาวิทยาลัยนเรศวร

ที่มา: กองอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยนเรศวร

เชิดชูคนดี กยศ. จิตอาสาคัดแยกขยะ

กิจกรรมจิตอาสาคัดแยกขยะเริ่มทำตั้งแต่ปี 2558 โดยเป็นการรวมกลุ่มของนิสิตแกนนำเพียง 10 คนซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกที่ร่วมทำกิจกรรมสะสมกว่า 4,000 คนโดยเงินที่ได้จากการจัดกิจกรรมคัดแยกขยะในช่วงแรกได้นำไปมอบให้กับหน่วยงานการกุศลและ กองทุนการศึกษาเพื่อนิสิต มหาวิทยาลัยนเรศวร

จากนั้นในปีต่อๆมาได้นำมาจัดสรรเป็นทุนการศึกษาให้กับนิสิตปัจจุบันมีนิสิตได้รับทุนดังกล่าวมากกว่า 60 คนถึงแม้จะเป็นจำนวนเงินไม่มากนักแต่ก็สร้างความภาคภูมิใจให้กับนิสิตที่ทำกิจกรรมและผู้รับทุนสนับสนุน

กิจกรรมจิตอาสาคัดแยกขยะทำเป็นกิจกรรมย่อย 4 กลุ่ม
1.จิตอาสาคัดแยกขยะวันพุธ
2.จิตอาสาคัดแยกขยะวันอาทิตย์
3.จิตอาสาปั่นจักรยานเก็บขยะวันเสาร์
4.จิตอาสาคัดแยกขยะหอพัก

ปัจจุบันยังคงมีนิสิตทำกิจกรรมดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ขอแรงใจให้น้องนิสิตกลุ่มนี้ เพื่อสืบสานกิจกรรมดีๆแบบนี้ต่อไป
ที่มา: งานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

วช. สนับสนุนทีมวิจัย ม.นเรศวร ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตองุ่นไชน์มัสแคทเพื่อการพาณิชย์

วช. สนับสนุนทีมวิจัย ม.นเรศวร ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตองุ่นไชน์มัสแคทเพื่อการพาณิชย์ เผยจุดเด่นทำให้เป็นองุ่นไร้เมล็ด เพิ่มมูลค่า และเก็บเกี่ยวได้ 2 รอบต่อปี ซึ่งนอกจากจะเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรผู้ปลูกองุ่นแล้ว ยังทำให้คนไทยเข้าถึงการบริโภคองุ่นพันธุ์นี้ได้ง่ายขึ้นและลดการนำเข้าจากต่างประเทศเก็บตก… จากงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 กับอีกหนึ่งบูธที่ได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมงานเป็นอย่างมากจากการนำเสนอผลงานที่มุ่งยกระดับผลผลิตทางเกษตรเพื่อการพาณิชย์และการส่งออกในอนาคตของทีมวิจัยจากคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวรที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ในภาคการเกษตร การปลูกผลไม้ให้มีคุณภาพสูง และได้มาตรฐานจนเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศได้นั้น เกษตรกรผู้ปลูกจำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้ เทคโนโลยี และเงินลงทุนค่อนข้างสูง อย่างเช่น การปลูกองุ่นไชน์มัสแคทที่จำเป็นต้องสร้างโรงเรือนและต้นพันธุ์องุ่น รวมทั้งอาศัยหลักการจัดการที่ถูกต้อง โดยใช้เทคโนโลยีการผลิตและหลังการเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จึงได้สนับสนุนทุนวิจัยให้กับโครงการ “การจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตองุ่นไชน์มัสแคทเพื่อการพาณิชย์” ในปีงบประมาณ 2563  ภายใต้โครงการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อชุมชน เพื่อยกระดับกระบวนการผลิตพร้อมทั้งถ่ายทอด สร้างความรู้ความเข้าใจให้เกิดแก่เกษตรกร ตลอดจนเพิ่มศักยภาพและสร้างมาตรฐานการผลิตองุ่นไชน์มัสแคท  เพื่อการพาณิชย์และการส่งออกในอนาคต

โดยมี “รศ.ดร.พีระศักดิ์  ฉายประสาท” ผู้อำนวยการสถานความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นหัวหน้าโครงการ เปิดเผย ถึงที่มาของโครงการดังกล่าวว่า  เนื่องจากทีมวิจัยได้รับการสนับสนุนจากสโมสรโรตารี่สากลในการไปฝึกอบรมพร้อมกับเกษตรกรที่ประเทศญี่ปุ่น ก่อนที่จะกลับมาช่วยพัฒนาการผลิตองุ่นไชน์มัสแคทในประเทศไทย  หลังจากนั้นจึงได้รับทุนวิจัยจาก วช.ในการจัดอบรมเพื่อถ่ายทอดความรู้แก่นักวิชาการ เกษตรกรผู้ปลูกองุ่นไชน์มัสแคทและผู้ที่สนใจในปี 2564

“จากที่เราไปศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่นทั้งเรื่องเทคโนโลยีการปลูก การเก็บเกี่ยว และการเก็บรักษา ซึ่งก็ได้นำมาถ่ายทอดให้กับเกษตรกรจริงๆ ที่เมืองไทยและได้ผลผลิตเรียบร้อยแล้ว  โดยที่ผ่านมามีการถ่ายทอดองค์ความรู้ไปแล้ว 2 รุ่น  เช่น การใช้องุ่นพันธุ์ไชน์มัสแคทต่อยอดกับองุ่นป่า และกระบวนการในการทำให้องุ่นออกดอก และติดผล ซึ่งจุดเด่นของโครงการนื้คือ สามารถทำให้เกิดเป็นองุ่นไร้เมล็ดที่มีราคาสูงขึ้นได้ เกษตรกรผู้ปลูกองุ่นในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างสามารถปลูกจนจำหน่ายได้จริงแล้วในเชิงพาณิชย์  และสามารถเก็บเกี่ยวผลองุ่นได้ถึง 2 รอบต่อปี”รศ.ดร.พีระศักดิ์ กล่าวว่า การพัฒนาการปลูกองุ่นพันธุ์ไชน์มัสแคท ซึ่งมีราคาสูง นอกจากจะทำให้คนไทยเข้าถึงการบริโภคองุ่นพันธ์นี้ง่ายขึ้นแล้ว ยังทำให้กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกองุ่น เช่น ในพื้นตำบลวงฆ้อง อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก มีคุณภาพชีวิตหรือเศรษฐกิจดีขึ้น เนื่องจากมีรายได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 15 % และสามารถลดการนำเข้าองุ่นไชน์มัสแคทได้ ซึ่งในอนาคตทีมวิจัยอยากให้โครงการนี้ขยายพื้นที่ปลูกไปยังจังหวัดอื่นๆ  เพื่อมีการผลิตที่เพียงพอกับความต้องการบริโภคภายในประเทศอย่างไรก็ดี  ภายในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 คณะเกษตรศาสตร์ฯ จากมหาวิทยาลัยนเรศวร  ยังได้ นำผลงาน “การจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตทุเรียนหลงลับแลและหมอนทองเชิงพาณิชย์ในเขตภาคเหนือตอนล่าง” ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก วช. มาจัดแสดง

นอกจากจะมีการฝึกอบรมเกษตรกรในการเรื่องของเทคโนโลยีการปลูก การดูแลรักษา การแก้ปัญหาแพร่ระบาดของแมลง และการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว  ยังมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการตรวจสอบคุณภาพของผลทุเรียน  ทดแทนวิธีการเดิมที่เกษตรกรดูจากสีผิว หนาม และใช้ไม้เคาะ เพื่อประเมินความแก่ของผลทุเรียน โดยเครื่องตรวจสอบความแก่ของผลทุเรียน เป็นเทคโนโลยี NIR (Near Infrared ) ที่นำเข้าจากต่างประเทศ และนำมาพัฒนาเพิ่มเติมในส่วนของสมการที่พัฒนาขึ้นโดยอาศัยการเก็บข้อมูลจริงกว่า 400 ตัวอย่างเพื่อให้การตรวจวัดหาค่าน้ำหนักแห้งในผลทุเรียนที่มีความอ่อน-แก่ในระดับต่าง ๆ  มีความแม่นยำมากขึ้น

ที่มา: เทคโนโลยีเกษตร

จัดโครงการอบรมการจัดการขยะเพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจ และสร้างทัศนคติเชิงบวกเกี่ยวกับการจัดการขยะให้แก่นิสิตหอพัก

ปัจจุบันปัญหาเรื่องขยะนับว่าเป็นปัญหาสำคัญมากระดับโลก เพราะที่ใดมีผู้คนอาศัยและมีชุมชนที่นั่นมักประสบปัญหาเรื่องขยะที่มักจะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน และเนื่องจากมหาวิทยาลัยนเรศวรยังไม่มีการบริหารการจัดการขยะที่เต็มรูปแบบ การคัดแยกขยะก่อนทิ้งจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ดังนั้นการให้นิสิตมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการนำขยะกลับมาใช้ได้ใหม่และการมีทักษะการคัดแยกประเภทของขยะ จะนำไปสู่การคัดแยกอย่างถูกวิธีและสร้างประโยชน์ได้ อีกทั้งยังสามารถนำกลับมาหมุนเวียนเข้ากระบวนการผลิตเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีกครั้ง ซึ่งถือว่าเป็นการช่วยประหยัดทรัพยากรธรรมชาติ ประหยัดการใช้จ่าย และช่วยลดปัญหาขยะล้นโลกได้อีกด้วย
ดังนั้น เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2564 หอพักนิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวร ภายใต้สังกัด งานบริการสวัสดิการนิสิต กองกิจการนิสิต จึงได้จัดโครงการ “อบรมการจัดการขยะ” ณ อาคารขวัญเมือง หอพักนิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งการอบรมฯ ครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่ การอบรมให้ความรู้แบบเวทีเสวนาและการลงมือปฏิบัติจริงภายในหอพักฯ โดยได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.กวินธร เสถียร อาจารย์สังกัดภาควิชาสังคมและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ หัวหน้าโครงการวิจัยเรื่อง “การพัฒนาต้นแบบหอพักสีเขียวด้านการคัดแยกขยะภายในหอพักนิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมด้วยทีมงาน เป็นวิทยากรบรรยาย ร่วมด้วย นางพรธิดา บุญยะโรจน์ หัวหน้างานบริการสวัสดิการนิสิต และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ให้การต้อนรับและร่วมเสวนาในครั้งนี้ ทั้งนี้มีนิสิตที่มีความสนใจเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 160 คน

ที่มา: ประชาสัมพันธ์กองกิจการนิสิต

‘ม.นเรศวร’ เปิดตัวเตาเผาขยะหน้ากากอนามัยใช้แล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่ารายงานว่า ที่คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ม.นเรศวร จ.พิษณุโลก เปิดตัวเตาเผาขยะติดเชื้อและหน้ากากอนามัยใช้แล้วที่มีประสิทธิภาพเหมาะสมกับการใช้งานระดับชุมชน รวมถึงสถานพยาบาลชุมชนและ อสม.ประจำบ้าน และพื้นที่ห่างไกล เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบัน จากปัญหาแมสและขยะติดเชื้อที่มีปริมาณเพิ่มขึ้น

ผศ.ดร.วรสิทธิ์ โทจำปา คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ช่วงวิกฤติการณ์โรคระบาดโควิด-19 เมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา ทีมวิจัยจากคณะเกษตรศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ม.นเรศวร และวิทยาลัยพลังงานทดแทน ม.แม่โจ้ จ.เชียงใหม่ ได้ร่วมกันพัฒนาและใช้ความรู้ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมในการสร้างต้นแบบเตาเผาขยะติดเชื้อและหน้ากากอนามัยใช้แล้วเพื่อกรณีฉุกเฉินในการรองรับความต้องการของชุมชนในการเผาทำลายขยะติดเชื้อที่เกิดขึ้นและสนับสนุนงานด้านสาธารณสุข โดยเตาเผาต้นแบบมีประสิทธิภาพเหมาะสมกับการใช้งานระดับชุมชน

ดร.อุกฤต สมัครสมาน อาจารย์ประจำวิชาภาคทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะเกษตรศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวเพิ่มเติมว่า เตาเผาขยะติดเชื้อขนาดเล็ก ใช้เผาหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วและชุดตรวจวัด ATK และขยะมูลฝอยติดเชื้ออื่น ๆ เช่น มูลฝอยที่เป็นของเหลวจะหรือสารคัดหลั่ง มูลฝอยที่เป็นอวัยวะหรือชิ้นส่วนของอวัยวะ มูลฝอย ของมีคมติดเชื้อที่ใช้แล้ว มูลฝอยจากกระบวนการเก็บและเพาะเชื้อและมูลฝอยที่เป็นวัคซีนที่ทำจากเชื้อโรคที่มีชีวิตและภาชนะบรรจุ เป็นต้น

โดยออกแบบเป็นระบบเผาไหม้สองชั้นประสิทธิภาพสูงมีขนาดเล็ก ขนาด 30 กก/ชม และสามารถผลิตเองได้ง่าย ภายในเตา จะเกิดการเผาไหม้เชื้อเพลิงโดยใช้หลักกลศาสตร์เผาไหม้ (Combustion mechanism) และเผาไหม้ในสภาวะควบคุมอุณหภูมิ ปริมาณอากาศ และเวลา อุณหภูมิการเผาไหม้ในห้องเผาที่ 1 อยู่ในช่วง 650-700 องศาเชลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิเผาทำลายวัสดุอินทรีย์ และห้องเผาที่ 2 อยู่ในช่วง 800-850 องศาเซลเชียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิเผาแก๊สเสียและมลพิษ มีการเติมอากาศด้วยโบลเวอร์ให้ปริมาณอากาศมากเกินพอ และมีระยะเวลาในการเผาไหม้อากาศเสียและมลพิษไม่น้อยกว่า 3 วินาที การควบคุมสภาวะของการเผาไหม้ภายในห้องเผาไหม้ที่ 1 และ 2 จะใช้เชื้อเพลิงเสริม คือ ถ่านไม้ และแก๊ส LPG ที่สำคัญตาเผาขยะอยู่ในงบประมาณไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท มหาวิทยาลัยนเรศวรหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เตาเผาขยะติดเชื้อจะช่วยลดขยะติดเชื้อ-แก้ปัญหามลพิษแสะ สามารถป้องกันและแก้ปัญหาได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังเป็นการลดการใช้พลังงานและลดมลพิษที่เกิดกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนอีกด้วย

ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คณะเกษตรศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมหาวิทยาลัยนเรศวร เบอร์โทรศัพท์ 08-3835-3240 (ตร.อุกฤต สมัครสมาน) Email: ukrits_a@yahoo.com

ที่มา: dailynews

มอบหมอนหลอดรักษ์โลก จำนวน 100 ใบ ส่งมอบให้กับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ต.ท่าทอง

ตามที่ กลุ่มนิสิตจิตอาสามีความสนใจและรวมตัวกันในการกำจัดหลอดดูดน้ำพลาสติกเพื่อลดมลภาวะทางสิ่งแวดล้อมโดยนำเอาหลอดดูดน้ำพลาสติกที่ผ่านการใช้งานแล้วมาทำความสะอาด แล้วนำไปทำเป็นหมอนหลอดสำหรับหนุนนอนเพื่อสุขภาพ และเอื้อให้กับผู้ป่วยต่างๆ ทั้งที่อาศัยอยู่ที่บ้านและโรงพยาบาล รวมทั้งยังเป็นการปลูกจิตสำนึกที่ดีในกลุ่มนิสิตที่สนใจในการร่วมกิจกรรมจิตอาสา โดยเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564 นางสาวธัญญารัตน์ อินทร์เมือง หัวหน้างานกิจกรรมพัฒนานิสิต บุคลากรกองกิจการนิสิต และแกนนำนิสิตจิตอาสามหาวิทยาลัยนเรศวร  ได้นำหมอนหลอดรักษ์โลก จำนวน 100 ใบ ส่งมอบให้กับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลท่าทอง อำเภอเมืองฯ จังหวัดพิษณุโลก โดยมีบุคลากรโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลท่าทอง เป็นผู้รับมอบหมอนหลอดรักษ์โลก เวลา 10.30 น. ณ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลท่าทอง อำเภอเมืองฯ จังหวัดพิษณุโลก

ที่มา: กองกิจการนิสิต มหาวิยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร จัดการและกำจัดของเสียอันตราย

เมื่อวันที่ 13-14 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา บุคลากรกองอาคารสถานที่ร่วมกับหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องดำเนินการขนย้ายของเสียอันตรายที่เกิดขึ้นภายในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ของคณะและหน่วยงานต่างๆ จำนวน 26 จุด ภายในมหาวิทยาลัยนเรศวร ประจำปีงบประมาณ 2564 นำไปกำจัดและทำลายอย่างถูกวิธีโดยผู้เชี่ยวชาญ เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของบุคลากรที่ปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ รวมถึงผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายภายในมหาวิทยาลัยนเรศวร

ที่มา: กองอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยนเรศวร

เครือข่าย SUN Thailand ร่วมขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยสีเขียว สู่ความยั่งยืน

มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย (Sun Thailand) ครั้งที่ 2/2563 ระหว่างวันที่ 27-29 สิงหาคม พ.ศ. 2563 ณ มหาวิทยาลัยนเรศวร อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก  โดยศาสตราจารย์ ดร.จิรวัฒน์ พิระสันต์ รองอธิการบดี, ดร.สุชาติ เมืองแก้ว ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษประจำมหาวิทยาลัย, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดลเดช ตั้งตระการพงษ์ ผู้ช่วยอธิการบดี พร้อมด้วยคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุม ซึ่งการจัดเครือข่าย SUN ในครั้งนี้ มีแนวคิดพัฒนาในเรื่องของกายภาพและเรื่องอื่นๆ สู่การเป็นมหาวิทยาลัยที่ยั่งยืน มีความสวยงาม เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถอยู่ได้ในศตวรรษที่ 21 โดยมีการจัดกิจกรรมพาตัวแทนจากสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของประเทศไทยที่มาร่วมงาน ศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กิจกรรมความยั่งยืน ณ มหาวิทยาลัยนเรศวร อาทิ ศึกษาดูงานด้านการจัดการอย่างยั่งยืนภายในมหาวิทยาลัย เยี่ยมชมสถานีรถไฟฟ้า โรงผลิตน้ำประปา สวนพลังงาน วิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี แหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานทดแทน สถานีบำบัดน้ำเสียรวมของมหาวิทยาลัย  พร้อมทั้งศึกษาดูงานศูนย์คัดแยกขยะเพื่อรีไซเคิล วงษ์พาณิชย์ สำนักงานใหญ่ จังหวัดพิษณุโลก 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ คันธมานนท์ รองอธิการบดีอาวุโสฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย ปี 2563 (SUN Thailand) กล่าวว่า  การประชุมครั้งนี้นอกจากที่มหาวิทยาลัยเครือข่ายจะได้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานของมหาวิทยาลัยสู่ความยั่งยืน ทั้งการบริหารจัดการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการสร้างให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในมิติต่าง ๆแล้ว ตัวแทนจากสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของประเทศยังได้มี แนวคิดหลักในการขับเคลื่อนให้ SUN Thailand ก้าวไปข้างหน้า คือการวิเคราะห์ผลกระทบต่อการพัฒนาด้านความยั่งยืน ทั้งการรณรงค์ในเรื่องของขยะ ระดมสมองในการออกแบบและวางแผนเพื่อการขับเคลื่อนไปสู่ความยั่งยืนในการลดขยะโดยใช้เวลาและงบประมาณที่น้อยลง มุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว  นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้ร่วมคิดและถอดบทเรียนที่จะนำไปสู่แนวทาง ในการเริ่มต้นทำงานเพื่อความยั่งยืน ทั้งในระดับมหาวิทยาลัยและ ชุมชน  โดยใช้หลักการที่เป็นความรู้ท้องถิ่น นำหลักหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นแนวทางในการ จะทำให้เกิดการขับเคลื่อน ความยั่งยืน (SEP for SDGs ) นำความสามารถที่มีอีกทั้งแนวคิดที่ได้ไปตอบโจทย์ประเทศ (ปฏิญญาวังจันทน์) 

เครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย (Sustainable University Network of Thailand) เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2559 เป็นความร่วมมือของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยที่ยกระดับบทบาทภารกิจการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ของนโยบายความยั่งยืนและเชื่อมโยงในระดับนานาชาติ รวมถึงการกำหนดมาตรฐานการชี้วัดความเป็นมหาวิทยาลัยที่พัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับสากล นำไปสู่การเป็นต้นแบบสำคัญของทุกภาคส่วนภายในสังคมของประเทศ   ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 30 มหาวิทยาลัยและอยู่ภายใต้ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับฉันทามติได้รับการเลือกตั้งให้เป็นประธานเครือข่าย มหาวิทยาลัยยั่งยืน แห่งประเทศไทย พ.ศ.2562 (Sustainable University Network of Thailand) พ.ศ.2562    

ที่มา: งานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร แจกจ่ายเครื่องกลั่นน้ำส้มควันไม้ เพื่อการเกษตร ใช้งานง่าย ทนทาน เหมาะกับเตาเผาถ่านขนาด 200 ลิตร

น้ำส้มควันไม้ เป็นของเหลวสีน้ำตาลใส มีกลิ่นควันไฟ ที่ได้มาจากการควบแน่นควัน เกิดมาจากการเผาถ่านไม้ในช่วงที่ไม้กำลังเปลี่ยนเป็นถ่าน ที่อุณหภูมิ 300-400 องศาเซลเซียส โดยสารประกอบต่างๆ ในไม้ฟืนจะถูกความร้อนทำให้สลายตัวเกิดเป็นสารประกอบใหม่ 200 ชนิด มีความเป็นกรดอ่อนๆ ซึ่งมีสารประกอบมากมายที่เป็นประโยชน์ในภาคเกษตร สามารถใช้น้ำส้มควันไม้ปรับปรุงบำรุงดิน ใช้เป็นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช เป็นสารเร่งการเจริญเติบโตของพืชบริเวณราก ลำต้น หัว ใบ ดอก และผล ใช้เป็นฮอร์โมนพืช เป็นสารยับยั้งและควบคุมโรคพืชที่มีสาเหตุจากไส้เดือนฝอยและเชื้อรา ฯลฯ

เรียกได้ว่า น้ำส้มควันไม้ เป็นตัวช่วยที่ดีสำหรับใช้ในการปลูกดูแลพืชทุกชนิด ดังนั้น เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร เสริมสร้างอาชีพและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรในอนาคต กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จึงได้นำนวัตกรรมงานวิจัย “เครื่องกลั่นน้ำส้มควันไม้” ซึ่งเป็นผลงานของ ผศ.ดร. พิสิษฏ์ มณีโชติ แห่งวิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนเรศวร แจกจ่ายให้กับชุมชนเกษตรทั่วประเทศ

ผู้บริหาร กอ.รมน. และ วช. มอบเครื่องกลั่นน้ำส้มควันไม้ให้แก่ชาวจังหวัดอ่างทอง

เครื่องกลั่นน้ำส้มควันไม้

ผศ.ดร. พิสิษฏ์ มณีโชติ ได้พัฒนาเครื่องกลั่นน้ำส้มควันไม้ที่มีประสิทธิภาพสูงระดับชุมชน เน้นออกแบบเครื่องกลั่นฯ ทรงกระบอก ที่ใช้งานง่าย มีความทนทาน มีขนาดกะทัดรัด เคลื่อนย้ายสะดวก เหมาะกับเตาเผาถ่านขนาด 200 ลิตร ซึ่งมีใช้งานทั่วไป รองรับการกลั่นน้ำส้มควันไม้ได้ครั้งละ 10 ลิตร ใช้พลังงานในการกลั่นน้อยกว่าเครื่องทั่วไป สามารถกลั่นได้บ่อยครั้ง โดยไม่ต้องรอให้ได้น้ำส้มควันไม้ปริมาณมากๆ ก่อน

น้ำส้มควันไม้ ที่ได้จากเครื่องกลั่นนี้ เป็นน้ำส้มควันไม้บริสุทธิ์ มีสีน้ำตาลอ่อน เหลวใส เป็นเนื้อเดียวกัน ไม่แยกชั้น ไม่มีตะกอน ไม่มีสิ่งเจือปนอื่นๆ ที่สำคัญคือ มีองค์ประกอบที่ผ่านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน มผช. 660/2547 และมีสารไดออกซินและฟิวเรนอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน มีความปลอดภัยต่อการนำไปใช้งาน ทั้งด้านเกษตร ปศุสัตว์ ใช้งานทั่วไปในครัวเรือน หรือเป็นส่วนประกอบในอุตสาหกรรมต่างๆ

ผศ.ดร. พิสิษฏ์ มณีโชติ (เสื้อดำ) วิทยาลัยพลังงานทดแทนฯ มหาวิทยาลัยนเรศวร

องค์ประกอบ “เครื่องกลั่นน้ำส้มควันไม้”

เครื่องกลั่นน้ำส้มควันไม้ มีส่วนประกอบหลัก คือถังต้มและถังกลั่น ถังต้มมีขนาดกว้าง 26 เซนติเมตร สูง 38 เซนติเมตร ก้นถังเรียบ ถังต้มสร้างด้วยสแตนเลสแผ่นม้วนขึ้นรูป มีท่อสแตนเลสสำหรับเติมและระบายน้ำส้มควันไม้พร้อมฝาปิดอย่างละ 1 จุด มีแผ่นจานสแตนเลสต่อกับท่อสแตนเลสเพื่อรับน้ำส้มควันไม้ที่ได้จากการควบแน่นออกสู่นอกถังต้ม ถังควบแน่น มีขนาดกว้าง 26 เซนติเมตร สูง 19 เซนติมตร ถังต้มสร้างด้วยสแตนเลสแผ่นม้วนขึ้นรูป ก้นถังเป็นทรงกรวย มีก๊อกน้ำขนาดครึ่งนิ้วสำหรับถ่ายน้ำ เครื่องกลั่นน้ำส้มควันไม้มีตัวล็อกสำหรับให้ถังต้มและถังควบแน่นยึดติดกัน 3 จุด
หม้อต้ม ทำหน้าที่รองรับน้ำส้มควันไม้เพื่อใช้ในการต้ม ทำให้น้ำส้มควันไม้เดือด
หม้อควบแน่น เป็นที่รองรับน้ำอุณหภูมิห้องหรือเย็นกว่า เพื่อใช้แลกเปลี่ยนความร้อนกับน้ำส้มควันไม้ที่เกิดจากหม้อต้ม
ก๊อกถ่ายน้ำร้อน เป็นวาล์วระบายน้ำทิ้ง เมื่อน้ำที่แลกเปลี่ยนความร้อนมีอุณหภูมิสูงขึ้น
ท่อวัดระดับน้ำในหม้อต้มและเติมน้ำส้มควันไม้ เป็นท่อที่ใช้วัดระดับของน้ำส้มควันไม้ภายในหม้อต้ม และเป็นท่อที่เอาไว้เติมปริมาณน้ำส้มควันไม้
ชุดจานรองน้ำกลั่น ใช้สำหรับน้ำส้มควันไม้ที่มีการกลั่นตัว หยดลงมาที่จานและผ่านไปในท่อที่ติดกับจาน เพื่อได้น้ำส้มที่กลั่นแล้วออกมา
ชุดล็อกหม้อ ใช้สำหรับล็อกหม้อต้มและหม้อควบแน่นไว้ด้วยกัน

เครื่องกลั่นน้ำส้มควันไม้

ขั้นตอนการใช้งานเครื่องกลั่นน้ำส้มควันไม้

1. เตรียมน้ำส้มควันไม้ที่จะกลั่น โดยนำไปกรองใส่ถ่าน
2. นำน้ำส้มควันไม้ที่กรองแล้วเทลงในหม้อต้ม
3. ประกอบหม้อต้มและหม้อควบแน่นใส่กันแล้วนำไปตั้งบนเตาไฟ
4. เติมน้ำเปล่าใส่หม้อควบแน่น ประมาณ เศษ 3 ส่วน 4 ของหม้อ คอยเปลี่ยนถ่ายน้ำเพื่อควบคุมให้อุณหภูมิน้ำไม่เกิน 4 องศาเซลเซียส เพราะหากน้ำมีอุณหภูมิเกิน 40 องศาเซลเซียส จะทำให้เกิดการกลั่นตัวของน้ำส้มควันไม้ได้ช้า หากใช้น้ำเย็นจะทำให้มีการกลั่นตัวได้เร็วขึ้น
5. นำภาชนะตั้งรองรับน้ำส้มควันไม้ที่กลั่นได้
6. คอยตรวจดูระดับน้ำส้มควันไม้ในหม้อต้ม โดยเปิดดูจากท่อเติม หากน้ำส้มควันไม้เหลือน้อยก็ให้เติมน้ำส้มควันไม้ใส่ที่ท่อเติม แล้วปิดฝาไว้

ขั้นตอนการกลั่นน้ำส้มควันไม้

การเก็บน้ำส้มควันไม้

1. การตักเก็บน้ำส้มควันไม้ ให้สังเกตสีของควันเป็นสีเหลืองน้ำตาลปนเทา โดยนำกระเบื้องเคลือบสีขาวมาอังที่ปล่องไฟดูจะเป็นสีน้ำตาล จากนั้นนำท่อไม้ไผ่ที่เตรียมไว้มาวางต่อกับปล่องควัน โดยตั้งท่อไม้ไผ่ให้เอียงชันขึ้นไป ประมาณ 45 องศา ห่างขึ้นไป 1 ข้อไม้ไผ่ ให้ใช้เลื่อยตัดเปิดท่อไม้ไผ่ให้เป็นรู เพื่อให้น้ำส้มควันไม้หยดลงมา แล้วหาขวดมารองรับน้ำ
2. ที่ระยะห่างขึ้นไปอีก 1 ข้อไม้ไผ่ หรือราว 40 เซนติเมตร ให้ติดตั้งระบบควบแน่นด้วยการใช้ผ้าชุบน้ำมาพันให้รอบท่อ และใช้ขวดพลาสติกบรรจุน้ำเจาะรูที่ฝาขวด ให้น้ำหยดตรงบริเวณที่พันผ้า เพื่อให้ท่อเย็นตลอดเวลา
3. หมั่นตรวจควันซ้ำเป็นระยะ เมื่อสีน้ำส้มควันไม้เข้ม และมีความหนืดมากจึงหยุดเก็บน้ำส้มควันไม้
4. ตัวอย่างตารางเวลาการเก็บน้ำส้มควันไม้ หากเริ่ม 08.00 น. ติดไฟหน้าเตาเวลาประมาณ 10.30 น. เริ่มเก็บน้ำส้มควันไม้ ประมาณ 17.00 น. หยุดเก็บน้ำสัมควันไม้และปิดเตาเวลาประมาณ 18.30 น. ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับชนิดของไม้ ความชื้นและความชำนาญด้วย

โชว์น้ำส้มควันไม้ก่อน-หลังการกลั่น

การเก็บรักษาน้ำส้มควันไม้ให้บริสุทธิ์ก่อนใช้

เนื่องจาก น้ำส้มควันไม้ มีสารประกอบถึง 200 กว่าชนิด ย่อมมีประโยชน์และโทษ จำเป็นต้องทำให้บริสุทธิ์ก่อนใช้ โดยมีวิธีการ ดังนี้
1. การปล่อยให้ตกตะกอน เป็นวิธีง่ายๆ ที่นิยมใช้กันมาก โดยนำน้ำส้มควันไม้ดิบที่กลั่นได้ มาเก็บในถังทรงสูงมากกว่า ความกว้าง ประมาณ 3 เท่า ทิ้งให้ตกตะกอน ในระยะ 90 วัน จะทำให้น้ำส้มควันไม้แยกตัวเป็น 3 ระดับ โดยชั้นบนจะเป็นน้ำมันใส ชั้นกลาง จะเป็นของเหลวสีชา ซึ่งก็คือ น้ำส้มควันไม้ สามารถนำไปใช้ได้ ส่วนชั้นล่างสุดเป็นของเหลวข้นสีดำ เรียกว่า น้ำมันดิน หรือทาร์ สามารถลดเวลาการตกตะกอน โดยการผสมผงถ่าน ประมาณ 5% ของน้ำหนักรวมของน้ำส้มควันไม้ทั้งหมด ผงถ่านจะดูดซับทั้งน้ำมันใสชั้นบน และน้ำมันดินลงสู่ชั้นล่างสุด ในเวลาที่เร็วขึ้นเพียง 45 วัน เท่านั้น
ทั้งนี้ ถังตกตะกอนควรติดตั้งวาล์ว 3 หรือ 2 ระดับ ในกรณีเลือกใช้ผงถ่านในการช่วยตกตะกอน โดยวาล์วนี้จะช่วยในการเก็บผลผลิตให้สะดวกขึ้น หลังจากตกตะกอนในถังจนครบกำหนดแล้ว จึงนำของเหลวสีชาชั้นกลางมากรองซ้ำอีกครั้งด้วยผ้ากรอง จึงจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ โดยทั่วไปน้ำส้มควันไม้ที่บริสุทธิ์ควรจะมีน้ำมันดินไม่เกิน 1% น้ำส้มควันไม้ที่ดีควรจะมีสีใสจนถึงชา หากมีลักษณะขุ่นดำ แสดงถึงความหนาแน่นของน้ำมันดิน ซึ่งไม่เป็นผลดีในการนำไปใช้งาน
2. การกรองและกลั่น ซึ่งทั้งสองวิธีการทำน้ำส้มควันไม้ให้บริสุทธิ์นี้ เป็นเทคนิคที่ค่อนข้างยุ่งยาก นิยมใช้กันในระดับโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อให้ได้ผลผลิตน้ำส้มควันไม้ที่มีคุณสมบัติเฉพาะในอุตสาหกรรมนั้น

คุณประโยชน์ของน้ำส้มควันไม้

ด้านปศุสัตว์ (หากใช้ในอัตราส่วนที่เข้มข้นกว่า 1 : 20 ควรสวมถุงมือ หรือระมัดระวังในการใช้)
1. ขับไล่เห็บ หมัด รักษาเรื้อนของสัตว์ ใช้น้ำส้มควันไม้ 1 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 1 ลิตร ฉีดพ่นที่ตัวสัตว์ สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง
2. กำจัดกลิ่นและขับไล่แมลงในคอกสัตว์ ใช้น้ำส้มควันไม้และน้ำ ในอัตราส่วน 1 : 100 ผสมน้ำราดพื้นคอกสัตว์ทุกๆ 7 วัน
3. กำจัดกลิ่นขยะและป้องกันไม่ให้แมลงวางไข่ ใช้น้ำส้มควันไม้และน้ำ ในอัตราส่วน 1 : 100 ผสมน้ำราดหรือพ่นกองขยะ
ด้านการเกษตร ควรใช้ติดต่อกันประมาณ 1 เดือน จึงจะเห็นผล
1. ป้องกันโรครากเน่า ใช้น้ำส้มควันไม้และน้ำ ในอัตราส่วน 1 : 100 ผสมน้ำฉีดพ่นลงดินก่อนปลูกพืช 15 วัน
2. เพื่อเร่งการเจริญเติบโต กระตุ้นความต้านทานโรค ใช้น้ำส้มควันไม้และน้ำ ในอัตราส่วน 1 : 200 ผสมน้ำราดรดโคนต้นทุก 7-15 วัน
3. ป้องกันศัตรูพืช ขับไล่แมลงทุกชนิดและเชื้อรา ใช้น้ำส้มควันไม้และน้ำ ในอัตราส่วน 1 : 200 ผสมน้ำราดรดโคนต้นทุก 7-15 วัน
4. ช่วยในการสังเคราะห์น้ำตาลของพืช (ช่วยให้พืชผักและผลไม้มีรสหวาน) ใช้น้ำส้มควันไม้และน้ำ ในอัตราส่วน 1 : 500 ผสมน้ำฉีดพ่นผลอ่อน หลังจากติดผลแล้ว 15 วัน และพ่นอีกครั้งก่อนเก็บเกี่ยว 20 วัน
5. ป้องกันมดและแมลง ใช้น้ำส้มควันไม้และน้ำ ในอัตราส่วน 1 : 20 หรือใช้เข้มข้น ผสมน้ำราดหรือพ่นบริเวณที่มีมดหรือแมลง
6. ป้องกันเชื้อราในยางพารา ใช้น้ำส้มควันไม้และน้ำ ในอัตราส่วน 1 : 20 ทาบริเวณหน้ายางพารา
คำแนะนำ ด้านการเกษตรและปศุสัตว์นั้น ในการใช้งาน ครั้งที่ 1-2 ควรผสมกับสารเคมีที่ใช้อยู่เดิม ในอัตราส่วนครึ่งต่อครึ่ง ผสมน้ำแล้วฉีดพ่นในการใช้ครั้งถัดไป จึงเปลี่ยนมาใช้เฉพาะน้ำส้มควันไม้เพียงอย่างเดียว โดยไม่ต้องใช้สารเคมี

น้ำส้มควันไม้ สินค้าขายดี

ข้อควรระวังในการใช้น้ำส้มควันไม้

1. ก่อนนำน้ำส้มควันไม้ไปใช้ ต้องทิ้งไว้จากการกักเก็บก่อนอย่างน้อย 3 เดือน หรือผ่านกระบวนการกลั่น
2. เนื่องจากน้ำส้มควันไม้มีความเป็นกรดสูง ควรระวังอย่าให้เข้าตา อาจทำให้ตาบอดได้
3. น้ำส้มควันไม้ไม่ใช่ปุ๋ย แต่เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา ดังนั้น การนำไปใช้ทางการเกษตรจะเป็นตัวเสริมประสิทธิภาพให้กับพืช แต่ไม่สามารถใช้แทนปุ๋ยได้
4. การใช้เพื่อฆ่าเชื้อจุลินทรีย์และแมลงในดิน ควรทำก่อนเพาะปลูกอย่างน้อย 10 วัน
5. การนำน้ำส้มควันไม้ไปใช้ต้องผสมน้ำให้เจือจางตามความเหมาะสมที่จะนำไปใช้
6. การฉีดพ่นน้ำส้มควันไม้ เพื่อให้ดอกติดผล ควรพ่นก่อนที่ดอกจะบาน หากฉีดพ่นหลังจากดอกบานแมลงจะไม่เข้ามาผสมเกสร เพราะกลิ่นฉุนของน้ำส้มควันไม้และดอกจะร่วงง่าย

ที่มา: เทคโนโลยีเกษตร

Sustainability

NARESUAN UNIVERSITY

Solverwp- WordPress Theme and Plugin