นวัตกรรมโปรตีนจิ้งหรีด อันดับ 1 ของเมืองไทยสู่ผู้นำตลาดโลก

เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2565 รศ.ดร.ศรินทร์ทิพย์ แทนธานี รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย และ ผศ.ดร.วรสิทธิ์ โทจำปา คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมงานแถลงข่าว “ความสำเร็จโครงการนวัตกรรมโปรตีนจิ้งหรีด อันดับ 1 ของเมืองไทยสู่ผู้นำตลาดโลก” โดย บริษัท ไทย เอนโท ฟู้ด จำกัด ร่วมกับ บริษัท ไทยชูการ์ เทอร์มิเนิ้ล จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุน ณ ห้องวิคเตอร์ ชั้น 7 สามย่านมิตรทาวน์

โดยวางเป้าหมายเป็นบริษัทผู้นำอุตสาหกรรมการผลิตโปรตีนจิ้งหรีดของไทย พร้อมวางเป้าหมายผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางโปรตีนจิ้งหรีดของโลก และสร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้ภาคการเกษตร ชุมชน สังคม และประเทศ ตั้งเป้ารายได้ 250 ล้านบาทในปี 2566 ด้วยสัดส่วนการขายในประเทศ 30% และต่างประเทศ 70% โดยเบื้องต้นโครงการมีมูลค่าการลงทุน 200 ล้านบาท เพื่อสร้างโรงงานและจัดหาเครื่องจักร รวมถึงร่วมผลักดันทางการตลาดด้วยฐานลูกค้าอุตสาหกรรมที่บริษัทมีอยู่เดิม สำหรับโรงงานแปรรูปผงโปรตีนจิ้งหรีดสามารถเริ่มการผลิตได้ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2565นี้ โดยมีกำลังการผลิตผงโปรตีนจิ้งหรีดมากกว่า 1,200 ตันต่อปี โครงการนี้ถือเป็นความสำเร็จของการนำโครงการวิจัยที่มีการร่วมทุนของภาครัฐและภาคเอกชน ไปขยายผลเชิงพาณิชย์ได้อย่างเป็นรูปธรรม ที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยนเรศวร “University for Entrepreneurial Society” ภายใต้ชื่อโครงการวิจัย “โครงการนวัตกรรมการผลิต Insect-based functional ingredients สําหรับอุตสาหกรรมอาหารและอาหารสัตว์แบบครบวงจรด้วยระบบ Modern insect farming และ Zero-waste” ซึ่งเป็นโครงการวิจัยต่อเนื่อง 3 ปี ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก สกสว. (ปีที่ 1) และ บพข. (ปีที่ 2) โดยมี ผศ. ดร. ขนิษฐา รุตรัตนมงคล คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นหัวหน้าโครงการ โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตโปรตีนทางเลือกและส่วนประกอบฟังก์ชั่นมูลค่าสูงจากแมลงสู่การผลิตในระดับอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่งได้ศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อผลิตโปรตีนคุณภาพสูงจากแมลงในระดับอุตสาหกรรม รวมถึงพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตส่วนประกอบจากแมลงที่มีมูลค่าสูง เช่น โปรตีนเข้มข้น โปรตีนไฮโดรไลเสท เปปไทด์ที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพ และน้ำมัน เป็นต้น เป้าหมายหลักได้แก่ อุตสาหกรรมอาหารแปรรูปและเครื่องดื่ม และรับจ้างผลิตเจาะตลาดโออีเอ็ม ขณะที่กลุ่มลูกค้าประชาชนขายในรูปของอาหาร หรือขนม ที่มีส่วนผสมของผงโปรตีนและผงโปรตีนเวย์ เพื่อการออกกำลังกาย

ที่มา: งานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

Mango AI แอปพลิเคชั่นปัญญาประดิษฐ์ ยกระดับเกษตรกรไทยยุคใหม่ ด้วยนวัตกรรม

พัฒนาโดย รศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท คณะเกษตรศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยงบประมาณสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ที่จัดสรรให้กับโครงการวิจัยภายใต้แผนงานการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (BCG in Action)

ประเทศไทยมีพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ มีทรัพย์ในดิน สินในน้ำ ร่ำรวยด้วยทรัพยากรธรรมชาติ เพาะปลูกพืชผลใดๆ ก็งอกงาม แต่แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศทึ่พี่งพาจีดีพีจากภาคเกษตรมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก แต่ความจริงที่น่าเจ็บปวดคือ คุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยกลับไม่ดีเท่าที่ควร เพราะแม้จะเพาะปลูกและได้ผลผลิตออกตามฤดูกาล แต่ก็ขาดการเกษตรแม่นยำสูง ส่วนใหญ่ยังพึ่งพาฟ้าฝนและองค์ความรู้ในการทำการเกษตรแบบดั้งเดิมเป็นหลัก

แต่น่ายินดีที่หน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐหันมาให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาสนับสนุนภาคการเกษตรด้วยความร่วมมือแบบบูรณาการมากขึ้น หนึ่งในนั้นที่น่าสนใจและเป็นนวัตกรรมล่าสุดที่น่าจับตา คือ Mango AI ระบบแจ้งเตือนอัจฉริยะสําหรับการผลิตมะม่วง ที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยนเรศวร จากการสนับสนุนทุนวิจัยของ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ซึ่งสวนรวงทองและกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ จังหวัดพิษณุโลก นำไปทดลองใช้แล้วได้ผลสัมฤทธิ์ที่น่าพึงพอใจ

อ่านข่าวเพิ่มเติมได้ที่ : Mango AI แอปพลิเคชั่นปัญญาประดิษฐ์
ที่มา: Salika.co

ม.นเรศวร ร่วมกิจกรรม Kick Off “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง”

วันที่ 28 กรกฏาคม 2565 นายรุ่งรัตน์ พระนาค ผู้อำนวยการกองอาคารสถานที่พร้อมด้วยตัวแทนของมหาวิทยาลัยนเรศวรเข้าร่วมกิจกรรม Kick Off “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” โดย นายรณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เป็นประธานเปิดกิจกรรม ณ บริเวณพื้นที่ต้นแบบการเรียนรู้ชุมชนพัฒนาแบบยั่งยืนแปลงสาธิตจากส้มซ่าสู่ท่าโพธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก โดยมี นายนิสิต สวัสดิเทพ นายอำเภอเมืองพิษณุโลก กล่าวรายงานความเป็นมาโครงการซึ่งระบุว่าอำเภอเมืองพิษณุโลกได้รับการคัดเลือกเป็นอำเภอนำร่อง ตามโครงการอำเภอนำร่องบำบัดทุกข์บำรุงสุขแบบบูรณาการและสร้างนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลง กระทรวงมหาดไทยประจำปีงบประมาณ 2565 ระดับกลุ่มจังหวัด 18 กลุ่ม 18 อำเภอ

ที่มา: กองอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร จัดกิจกรรมปลูกต้นกล้วยหอมทอง เพิ่มพื้นที่สีเขียว

เมื่อเวลา 9.00 น. วันศุกร์ที่ 8 กรกฎาคม 2565 บุคลากรกองอาคารสถานที่ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมปลูกต้นกล้วยหอมทอง กว่า 500 ต้น เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ เพิ่มพื้นที่สีเขียว อีกทั้งสามารถใช้ประโยชน์จากผลผลิตที่เกิดขึ้นได้อีกด้วย โดย นายรุ่งรัตน์ พระนาค ผู้อำนวยการกองอาคารสถานที่ เป็นประธานกล่าวเปิดกิจกรรม ณ พื้นที่ด้านหลังอาคารหอพักบุคลากร มน.นิเวศ 4 และขอขอบคุณ ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 6 จังหวัดพิษณุโลก ที่ให้ความอนุเคราะห์พันธุ์กล้วย มา ณ ที่นี้

……….เกร็ดความรู้…………

กล้วยหอม หรือกล้วยหอมทอง ชื่อสามัญคือ Gros Michel ชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Musa (AAA) ‘Hom’ ลักษณะประจำพันธุ์ที่ปลูก กล้วยหอมทองที่ปลูกเป็นหน่อกล้วยที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ (โดยมีระยะเวลาในห้องปฏิบัติการ 1 ปี แล้วนำออกมาอนุบาลในโรงเรือนอีก 3 เดือน เพื่อได้หน่อพร้อมปลูก) อายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 8- 10 เดือน(การสุกแก่ใช้เวลาประมาณ 3 เดือน) ลักษณะผลใหญ่ ปลายโค้งเรียวยาว เปลือกบาง เมื่อสุกจะมีสีเหลืองทอง รสหวาน มีกลิ่นหอม

ประโยชน์ ของกล้วยหอมทองมีมากมาย เช่น ให้พลังงานมากถึง 100 กิโลแคลลอรี่ต่อหน่วย มีน้ำตาล อยู่ 3 ชนิด ได้แก่ ซูโครส ฟรุกโตส และกรูโคส รวมทั้งเส้นใยอาหาร ดังนั้น เราจะได้รับพลังงาน ที่สามารถนำไปใช้ได้ทันที เพียงกล้วยหอมทอง 2 ผล ก็ให้พลังงานได้นานถึง 90 นาที และยังมี สรรพคุณอื่นๆ เช่น ช่วยให้คลายเครียด เพราะกล้วยหอมทองมีสาร Tryptophan ที่ร่างกายเปลี่ยนเป็น Serotonin ซึ่งเป็นสารกระตุ้นทำให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลาย ช่วยลดการเกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ ลดอาการจุกเสียดแน่นท้อง และช่วยลดท้องผูก

กิจกรรมปลูกต้นไม้ (ต้นกล้วยหอมทอง) เพิ่มพื้นที่สีเขียว

คูปองแจกนิสิต ลดค่าใช้จ่ายอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อเป็นส่วนลดในการซื้ออาหารและเครื่องดื่มราคาถูก

มหาวิทยาลัยนเรศวรได้มีการดำเนินกิจกรรมที่สอดคล้องกับ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้าน SDG 1: การขจัดความยากจน และ SDG 2: การขจัดความหิวโหย ผ่านการส่งเสริมโอกาสทางการอาหารและการสนับสนุนค่าครองชีพของนิสิต โดยกิจกรรมที่จัดขึ้นในช่วงเปิดภาคเรียนที่ 1 ประจำปีการศึกษา 2566 เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ชัดเจนในการดำเนินงานที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาที่ยั่งยืน

ในช่วงต้นปีการศึกษา 2566 ผู้ประกอบการในศูนย์อาหาร NU Canteen และ NU Square ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยนเรศวรในการจัดกิจกรรมแจกคูปองส่วนลดสำหรับนิสิต โดยคูปองนี้มีมูลค่าตั้งแต่ 10 – 20 บาท ซึ่งสามารถใช้เป็นส่วนลดในการซื้ออาหารและเครื่องดื่มภายในศูนย์อาหารต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัย การแจกคูปองในครั้งนี้มุ่งหวังที่จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของนิสิต โดยเฉพาะในช่วงเปิดภาคเรียนใหม่ ที่นิสิตบางคนอาจจะต้องปรับตัวกับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งยังเป็นการสนับสนุนให้นิสิตสามารถเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพได้ง่ายขึ้นในราคาที่สมเหตุสมผล

กิจกรรมนี้สอดคล้องกับ SDG 1: การขจัดความยากจน โดยการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านอาหารของนิสิต ซึ่งเป็นกลุ่มที่มักจะมีรายได้จำกัด เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาที่ยังอยู่ในวัยเรียนและไม่ได้มีรายได้ประจำจากการทำงาน คูปองส่วนลดนี้จึงช่วยให้พวกเขาสามารถประหยัดเงินได้ ซึ่งช่วยบรรเทาความยากจนทางเศรษฐกิจในระดับบุคคลและครอบครัว นอกจากนี้ยังช่วยส่งเสริมการเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพ โดยไม่ให้มีปัญหาการขาดแคลนอาหารหรือการเลือกกินในราคาที่สูงจนเกินไป

การดำเนินกิจกรรมนี้ยังสะท้อนถึงการให้ความสำคัญกับความยั่งยืนทางสังคม โดยเฉพาะในด้านการสนับสนุนการดูแลสุขภาพของนิสิตให้เข้าถึงอาหารที่ดีและมีประโยชน์ ซึ่งส่งผลดีต่อการเรียนและการพัฒนาศักยภาพของนิสิตอย่างยั่งยืน

กิจกรรมการแจกคูปองส่วนลดยังเชื่อมโยงกับ SDG 2: การขจัดความหิวโหย เพราะอาหารเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญต่อการดำรงชีวิต หากนิสิตสามารถเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพและราคาย่อมเยาได้ ก็จะสามารถดูแลสุขภาพของตัวเองได้ดียิ่งขึ้น และไม่ต้องเผชิญกับปัญหาความหิวโหยหรือขาดสารอาหารซึ่งอาจส่งผลต่อการเรียนรู้และพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ของนิสิต

การช่วยลดค่าใช้จ่ายในด้านอาหารยังเป็นการสนับสนุนให้ผู้เรียนสามารถเลือกบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ ไม่ต้องลดทอนคุณค่าทางโภชนาการเพียงเพราะปัญหาด้านค่าใช้จ่าย ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการมีสุขภาพที่ดี และสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารให้กับนิสิตในระยะยาว

กิจกรรมแจกคูปองนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่การช่วยเหลือนิสิตในช่วงเปิดเทอมเท่านั้น แต่ยังเป็นตัวอย่างที่ดีในการสร้างความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย, ศูนย์อาหาร, และผู้ประกอบการภายนอกในการสนับสนุนการศึกษาและการพัฒนาที่ยั่งยืนในด้านเศรษฐกิจและสังคม ผ่านการช่วยเหลือในด้านค่าครองชีพของนิสิต ซึ่งเป็นการสนับสนุนที่เป็นประโยชน์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

การแจกคูปองส่วนลดในศูนย์อาหาร NU Canteen และ NU Square ยังเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริม ความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ เนื่องจากช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายภายในชุมชนมหาวิทยาลัยและเพิ่มการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการสร้างสังคมที่ยั่งยืน

ที่มา: งานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

Food Innovation เมืองนวัตกรรมอาหารส่วนขยาย มหาวิทยาลัยนเรศวร

วันที่ 15 มิถุนายน 2565 รองศาสตราจารย์ ดร.ศรินทร์ทิพย์ แทนธานี รักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยนเรศวร ให้เกียรติกล่าวต้อนรับและร่วมการประชุมหารือแนวทางการดำเนินงานและเยี่ยมชมโครงการพื้นฐานด้านนวัตกรรม (Food Innovation) เมืองนวัตกรรมอาหารส่วนขยาย มหาวิทยาลัยนเรศวร

รองศาสตราจารย์ ดร.ศรินทร์ทิพย์ แทนธานี รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 เมืองนวัตกรรมอาหาร (Food innopolis) สวทช. และเมืองนวัตกรรมอาหารส่วนขยาย มหาวิทยาลัยนเรศวร (FI@NU) ได้ร่วมกันขับเคลื่อนการทำงานโดยมุ่งเน้นให้มหาวิทยาลัยเป็นหน่วยงานส่วนขยายของเมืองนวัตกรรมอาหาร โดยมีพันธะกิจร่วมกัน ในการบูรณาการความร่วมมือด้านนวัตกรรมอาหารระหว่างหน่วยงานรัฐและเอกชน และพัฒนารูปแบบการบริการที่ตอบโจทย์ผู้ประกอบการในทุกระดับ รวมถึงการพัฒนาขีดความสามารถด้านนวัตกรรมของทั้งผู้ประกอบการและผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมอาหารไทย

ในการนี้โดยมี ดร.เอกอนงค์ จางบัว ผู้อำนวยการฝ่ายเมืองนวัตกรรมอาหาร สวทช. ดร.ปรเมษฐ์ ชุ่มยิ้ม ที่ปรึกษาอาวุโส ฝ่ายเมืองนวัตกรรมอาหาร สวทช. และ คุณพิพัฒน์ เช่งปุ้น ที่ปรึกษาฝ่ายเมืองนวัตกรรมอาหาร สวทช. และทีมผู้บริหารมหาวิทยาลัยเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว ณ คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร

ที่มา: คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ม.นเรศวร

“อุทยานวิทยาศาสตร์ ม.นเรศวร”ชูอาหารนุ่มพร้อมทานช่วยผู้ป่วยที่กลืนลำบากให้ได้รับสารอาหาร

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 รศ.(พิเศษ) ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) ดำเนินโครงการสร้างกำลังคนและทักษะแห่งอนาคตในภูมิภาค เพื่อตอบโจทย์การพัฒนานวัตกรรมของประเทศ ซึ่งกำกับดูแลโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ตามแผนงานการพัฒนาระบบนิเวศเพื่อสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ โดยได้ทีม “Samadul Food” จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ทำผลิตภัณฑ์ “เพียวเร่ข้าวมธุปายาส และเนื้อเทียมโปรตีนพืชสำหรับฝึกกลืน” ภายใต้แนวคิดธุรกิจอาหารนุ่มพร้อมทานเพื่อดูแลผู้ที่มีภาวะกลืนลำบากให้ได้รับสารอาหารพื้นฐาน ทานน้อยแต่ได้ครบ ใช้ฝึกกลืนฟื้นฟูกล้ามเนื้อการกลืนด้วยเมนูจากพืชและมาจากภูมิปัญญาไทย ซึ่งนอกจากการสนับสนุนทุนในการพัฒนาต้นแบบแล้ว อุทยานฯ ยังได้เข้าไปช่วยเหลือทีมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้สามารถมองงานได้อย่างเข้าใจและโฟกัสกับผลิตภัณฑ์ว่ามีข้อเด่นอย่างไร และทำให้ชัดขึ้นได้อย่างไร พร้อมมีระบบติดตามความก้าวหน้าที่มีประสิทธิภาพ ทำให้การพัฒนาผลิตภัณฑ์ไม่ออกนอกเส้นทางและถึงเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ในเวลาที่กำหนด รวมถึงสร้างเครือข่ายให้ทีมมีความผูกพันกันเองมากขึ้น ทำให้ได้ฝึกวิธีคิดและหาทางออก

เลขานุการ รมว.อว. กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ทีมยังได้รับความรู้ในการทำธุรกิจแบบมียุทธศาสตร์ ซึ่งทำให้สามารถเริ่มต้นทำธุรกิจได้แบบไม่เสี่ยงหรือเจ็บตัว นอกจากผลิตภัณฑ์จะมีโอกาสสามารถทำยอดขายสูงได้ในอนาคตแล้ว ยังทำให้สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่ช่วยสร้างคุณค่าต่อโรงพยาบาลสำคัญ ๆ ในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นอาหารที่ช่วยดูแลผู้ป่วย ลดค่าใช้จ่ายอาหารทางการแพทย์และสารให้ความข้นหนืดที่ต้องนำเข้า นอกจากจะช่วยให้เกิดรายได้ให้วิสาหกิจชุมชนที่ปลูกผักและพืชสมุนไพร ยังสร้างโอกาสในธุรกิจให้กับร้านจำหน่ายวัตถุดิบอาหารสุขภาพ หรือร้านขายอาหารทางการแพทย์อีกด้วย

ที่มา: dailynews

อร่อยเต็มอิ่ม กับ “ทุเรียนหลง-หลินลับแล” ด้วยนวัตกรรม “ยืดอายุทุเรียนสดแบบแกะพู”ของมหาวิทยาลัยนเรศวร

จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นเมืองมหัศจรรย์แห่งผลไม้ เพราะอุดมสมบูรณ์ไปด้วยผลไม้หลากหลายชนิด ทั้งทุเรียน ลางสาด สับปะรดห้วยมุ่น ฯลฯ โดยผลไม้ที่สร้างชื่อเสียงมากที่สุดคือ ทุเรียนพันธุ์หลงลับแล และหลินลับแล ซึ่งมีแหล่งผลิตสำคัญอยู่ที่อำเภอลับแลและอำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ มีผลผลิตเข้าสู่ตลาดประมาณเดือนเมษายน-สิงหาคม ของทุกปี

“ทุเรียนหลงลับแล” เป็นทุเรียนสายพันธุ์พื้นเมืองของอำเภอลับแล มีเอกลักษณ์ประจำพันธุ์ คือ เนื้อสีเหลืองอ่อนนุ่ม ไม่มีเสี้ยน กลิ่นอ่อน รสชาติหวาน มีผลขนาดเล็ก 1-2 กิโลกรัม เมล็ดลีบ เนื้อแห้ง เจริญเติบโตได้ดีบนที่เชิงเขา ทนทานต่อโรครากเน่าโคนเน่า แม้ว่าจะนำไปปลูกในแหล่งปลูกทุเรียนอื่นๆ ก็ไม่มีรสชาติดีเท่าที่อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์

ปัจจุบัน ทุเรียนอำเภอลับแลมีราคาสูง และได้รับความนิยมมาก แต่ประสบปัญหามีคุณภาพไม่สม่ำเสมอ เนื่องจากขาดธาตุอาหาร หรือปริมาณธาตุอาหารที่มีในดินไม่เพียงพอต่อการผลิต การไว้ผลต่อต้นไม่เหมาะสม รวมทั้งปัญหาการแพร่ระบาดของหนอนผีเสื้อกลางคืนเจาะเมล็ดทุเรียนในขณะที่ผลอ่อน โดยตัวหนอนเจาะเข้าไปกัดกินเมล็ดภายในผลทุเรียน ถ่ายมูล ทำให้ทุเรียนเปรอะเปื้อน สร้างความเสียหายแก่ผลทุเรียนในช่วงฤดูฝนเป็นจำนวนมาก

วิธีดูแลทุเรียน ในระยะให้ผลผลิต
สถานวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว คณะเกษตรศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ดำเนินโครงการ “การจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตทุเรียนหลงลับแลเพื่อการส่งออก” แก่สหกรณ์การเกษตร อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ตั้งแต่การปลูกจนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิต เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร ผู้ประกอบการการค้า และผู้ส่งออก

สำหรับการดูแลต้นทุเรียนในระยะให้ผลผลิต มหาวิทยาลัยนเรศวร มีคำแนะนำดังนี้

การให้น้ำ ควรให้น้ำสม่ำเสมอในช่วงที่มีการเจริญเติบโตทางใบ และงดน้ำในช่วงปลายฝนเพื่อเตรียมการออกดอก เมื่อต้นทุเรียนออกดอกแล้วให้ควบคุมปริมาณน้ำที่จะให้ โดยค่อยๆ เพิ่มปริมาณน้ำขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้ดอกทุเรียนมีพัฒนาการที่ดี จนเมื่อดอกทุเรียนพัฒนาถึงระยะหัวกําไล (ก่อนดอกบาน 1 สัปดาห์) ให้ลดปริมาณน้ำลง โดยให้เพียง 1 ใน 3 ของปกติ เพื่อช่วยให้มีการติดผลดีขึ้น และให้น้ำในปริมาณนี้ไปจนดอกบานและติดผลใน 1 สัปดาห์ จากนั้นจึงค่อยๆ เพิ่มปริมาณน้ำขึ้นเรื่อยๆ และต้องให้น้ำอย่างเพียงพอและสม่ำเสมอตลอดช่วงพัฒนาการของผลทุเรียน
การใส่ปุ๋ย ควรใส่ปุ๋ยและวัสดุปรับปรุงดินตามผลการตรวจวิเคราะห์ดิน หรืออาจใส่ปุ๋ยตามแนวทางดังนี้

ใส่ปุ๋ยเพื่อเพิ่มความสมบูรณ์ต้นหลังเก็บเกี่ยว โดยใส่ปุ๋ยอินทรีย์ จํานวน 20-50 กิโลกรัม ต่อต้น ส่วนปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 ใส่อัตราเป็นกิโลกรัมต่อต้น เท่ากับ 1 ใน 3 ของเส้นผ่าศูนย์กลางทรงพุ่ม
ใส่ปุ๋ยเพื่อส่งเสริมพัฒนาการของผล เมื่อผลมีอายุ 7 สัปดาห์ ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 12-12-17 หรือ 13-13-21 อัตราเป็นกิโลกรัมต่อต้น เท่ากับ 1 ใน 3 ของเส้นผ่าศูนย์กลางทรงพุ่ม
ใส่ปุ๋ยเพื่อเพิ่มคุณภาพเนื้อ เมื่อผลมีอายุ 10-11 สัปดาห์ ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 0-0-50 อัตรา 1 ถึง 2 กิโลกรัมต่อต้น
การตัดแต่งดอก ทำการตัดแต่งดอกหลังจากออกดอก 5 สัปดาห์ ควรตัดแต่งช่อดอกบนกิ่งขนาดเล็ก (เส้นผ่าศูนย์กลางกิ่งน้อยกว่า 2 เซนติเมตร) หรือดอกที่อยู่ปลายกิ่งทิ้งให้เหลือเฉพาะดอกรุ่นในกิ่งเดียวกัน ให้มีจํานวนช่อดอก ประมาณ 3-6 ช่อดอก ต่อความยาวกิ่ง 1 เมตร แต่ละช่อดอกห่างกัน ประมาณ 30 เซนติเมตร
การตัดแต่งผล

ครั้งที่ 1 เมื่อผลอายุ 4-5 สัปดาห์ หลังดอกบาน ตัดแต่งผลที่มีขนาดเล็ก รูปทรงบิดเบี้ยว และไม่อยู่ในตําแหน่งที่ต้องการออก เหลือผลไว้ประมาณ 2-3 เท่า ของจำนวนผลที่ต้องการไว้จริง ครั้งที่ 2 เมื่อผลอายุ 6 สัปดาห์ หลังดอกบาน ระยะนี้ผลที่ปกติจะมีการขยายตัวด้านยาว สีผิวเขียวสดใส หนามมีขนาดปกติเรียวเล็ก ถ้าตรวจพบผลที่มีพัฒนาการผิดปกติ มีขนาดเล็ก หนามแดง หรือมีโรคแมลงเข้าทำลายให้ตัดทิ้ง

การเก็บเกี่ยวผลผลิต ใช้วิธีนับอายุ โดยประมาณ ตั้งแต่ดอกบานจนถึงผลแก่พร้อมที่จะตัดได้ พันธุ์กระดุม 90-100 วัน พันธุ์ชะนี 100-110 วัน พันธุ์ก้านยาว, พันธุ์กบ 120-135 วัน พันธุ์หมอนทอง 115-120 วัน พันธุ์หลงลับแล 105-110 วัน พันธุ์หลินลับแล 110-115 วัน

วช. จับมือ ม.นเรศวร ยืดอายุทุเรียนสดแบบแกะพู

หวังเจาะตลาดพรีเมียม อเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้

ดร. วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากความได้เปรียบทางด้านภูมิศาสตร์และวิทยาการในเรื่องการเพาะปลูก ทำให้ประเทศไทยเป็นผู้ปลูกและผู้ส่งออกทุเรียนรายใหญ่ของโลก แต่ถึงกระนั้นการส่งออกทุเรียนผลสดก็ยังประสบปัญหา เพราะผู้บริโภคไม่สามารถมองเห็นคุณภาพเนื้อทุเรียนได้ เกิดความไม่เชื่อมั่นในผลผลิต จึงมีแนวโน้มว่าผู้บริโภคจะเปลี่ยนรสนิยมไปบริโภคทุเรียนแบบแกะพูมากขึ้น เช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกา ก็มีผู้ขายทุเรียนสดแบบแกะพูเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ดังนั้น งานวิจัยจึงมีบทบาทสำคัญในการสร้างนวัตกรรม และสร้างแนวทางใหม่ๆ ที่ช่วยส่งเสริม สนับสนุน และขยายตลาดส่งออกให้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็เป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ประกอบการในการส่งออกทุเรียนไปสู่ตลาดระดับพรีเมียมที่มีมูลค่ามากกว่าเดิม

ผศ.ดร. พีระศักดิ์ ฉายประสาท คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่า ทางมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เรื่อง “การบริหารจัดการสายโซ่คุณค่ามะม่วงน้ำดอกไม้สีทองและทุเรียนหมอนทอง” จนสามารถพัฒนาและยืดอายุการเก็บรักษาทุเรียนสดแบบแกะพูเพื่อการส่งออกจนเป็นผลสำเร็จ

วช. จับมือ มหาวิทยาลัยนเรศวร ยืดอายุทุเรียนสดแบบแกะพู

วิธีดำเนินการเริ่มจากคัดเลือกผลทุเรียนที่ได้มาตรฐาน ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งทุเรียนเกรดดีที่มีเปลือกสวย และทุเรียนที่มีตำหนิ และเป็นทุเรียนที่สุกพอดี เพื่อนำมาแกะเอาเฉพาะเนื้อ โดยจะคัดเลือกแต่พูที่สวยน่ารับประทาน ได้มาตรฐาน แล้วนำไปบรรจุกล่องที่โรงงานมาตรฐานส่งออกในจังหวัดปทุมธานี ในกล่องที่บรรจุทุเรียนจะใส่ซองบรรจุสารดูดซับก๊าซเอทิลินเพื่อชะลอให้ทุเรียนสุกช้าลง (“เอทิลีน” เป็นสารที่ผลไม้แก่เต็มที่ เช่น ทุเรียน มะม่วง กล้วย สร้างขึ้นเองโดยธรรมชาติเพื่อเร่งการสุก)

กล่องที่บรรจุจะต้องเป็นกล่องพลาสติกแบบแอนตี้ฟ็อก ที่ป้องกันการเกิดหยดน้ำและป้องกันไม่ให้เกิดฝ้าขึ้นในกล่อง  วิธีการนี้จะช่วยยืดอายุทุเรียนแกะพู จากไม่เกิน 3 วัน ให้เป็น 7-10 วัน ดังนั้น จึงมีเวลาเพียงพอสำหรับการขนส่ง การส่งออกสินค้าสำหรับผู้ค้าที่อยู่ปลายทาง และมีเวลาเพียงพอที่จะวางสินค้าให้อยู่ในตลาด สำหรับประเทศที่ส่งออกคือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นตลาดระดับพรีเมียมที่ผู้บริโภคสั่งซื้อด้วยระบบพรีออเดอร์ จึงไม่มีสินค้าเหลือตกค้าง

ผศ.ดร. พีระศักดิ์ ฉายประสาท

ข้อดีของการส่งออกทุเรียนแบบแกะพู คือ สามารถนำทุเรียนที่เปลือกไม่สวยแต่เนื้อดีมาใช้ได้ แต่ข้อเสียคือ ในทุเรียนหนึ่งผลอาจจะคัดทุเรียนเนื้อดีได้ไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ทุเรียนส่วนที่เหลือที่ไม่ได้คุณภาพก็จะถูกนำไปแยกขายตามเกรด ดังนั้น ราคาขายปลายทางของทุเรียนแบบแกะพูจึงค่อนข้างสูง เช่น ในสหรัฐอเมริกา ผู้บริโภคซื้อในราคากล่องละประมาณ 30-40 เหรียญสหรัฐ ขณะที่ต้นทุนทุเรียนที่ออกจากสวนอยู่ที่ประมาณ 150 บาท ต่อกิโลกรัม เมื่อบวกค่าดำเนินการต่างๆ เช่น บรรจุกล่อง ค่าขนส่งทางเครื่องบิน ผู้ส่งออกจะได้กำไรไม่ต่ำกว่า 50 เปอร์เซ็นต์

แต่ปัญหาของการส่งออกด้วยวิธีแกะเนื้อ คือ มีปริมาณผลทุเรียนคุณภาพดีไม่เพียงพอ เพราะทุเรียนผลส่วนใหญ่ถูกส่งออกไปประเทศจีน ดังนั้น เพื่อให้มีผลทุเรียนเพียงพอสำหรับใช้งานจึงต้องดำเนินการแบบครบวงจรจากต้นทางคือ ส่งเสริมกระบวนการเพาะปลูกที่ได้มาตรฐานให้แก่เกษตร ซึ่งเป็นโครงการที่ศูนย์วิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องในการจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตทุเรียนเพื่อการส่งออกให้แก่เกษตรกรในจังหวัดอุตรดิตถ์ ปัจจุบัน มีผู้ประกอบการส่งออกทุเรียนแบบแกะพูไม่มาก ในขณะที่ตลาดในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ มีความต้องการสูงมาก จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ส่งออกของไทย

คุณประนอม ใจใหญ่

ด้าน คุณประนอม ใจใหญ่ เจ้าของสวนใจใหญ่ จังหวัดอุตรดิตถ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ทุเรียนตกเกรดที่มีปัญหาหนอนเจาะผล ผลทุเรียนมีเชื้อราสีดำ ทำให้ขายสินค้าไม่ได้ราคา นอกจากนี้ ทุเรียนหลินลับแล และหลงลับแล เกษตรกรตัดทุเรียนที่ความสุก 90-95 เปอร์เซ็นต์ ทำให้มีอายุการขายสั้น 3-4 วันเท่านั้น แต่นวัตกรรมใหม่ของมหาวิทยาลัยนเรศวร ช่วยแก้ไขปัญหาทุเรียนตกเกรดได้เป็นอย่างดี เพราะนวัตกรรมดังกล่าวช่วยยืดอายุการขายการแกะทุเรียนสดได้ยาวนานขึ้น ลูกค้ามีความมั่นใจในคุณภาพสินค้ามากขึ้น เพราะได้มองเห็นด้วยสายตาว่า เนื้อทุเรียนที่นำมาขายนั้นมีคุณภาพอย่างไร การขายทุเรียนสดแบบแกะพูจึงเป็นทางเลือกของผู้ซื้อที่ต้องการบริโภคทุเรียนที่มีคุณภาพ ซึ่งเป็นสินค้าในระดับพรีเมียม และเป็นโอกาสสำหรับผู้ผลิต ผู้ส่งออกที่จะเปิดตลาดใหม่ๆ ที่มีมูลค่าสูงในอนาคต

ที่มา: เทคโนโลยีเกษตร

สนง.สาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก เข้าตรวจศูนย์อาหาร NU square และ ศูนย์อาหาร NU Canteen

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 กองกิจการนิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้รับการตรวจมาตรฐานอาหาร (Clean Food Good Taste) ตามมาตรฐานอาหารของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข โดยมีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก เข้าตรวจศูนย์อาหาร NU square และ ศูนย์อาหาร NU Canteen โดยมีวัตถุประสงค์ในการรักษามาตรฐานความสะอาด ตามหลักสุขาภิบาล เพื่อให้ผู้รับบริการปลอดภัยจากการใช้บริการ

ที่มา: กองกิจการนิสิต

“เปิดอีกแล้ว…สวนปันสุข แห่งที่ 2 “

“ปันสุข ผูกรัก ปลูกผัก ปลูกผลไม้” เปิดสวนปันสุข…แห่งที่ 2 บริเวณด้านข้างลานพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ปันสุขให้ประชาคม ม.นเรศวร ได้เก็บเกี่ยวผลผลิตเพื่อนำไปประกอบอาหาร ฟรี !!!
สามารถเก็บผลผลิตตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป (15 ก.พ.65) ขอสงวนสิทธ์ในการเก็บไปเพื่อจำหน่าย

ที่มา: กองอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยนเรศวร

Sustainability

NARESUAN UNIVERSITY

Solverwp- WordPress Theme and Plugin