ม.นเรศวร จัดกิจกรรม OPEN INNOVATION ROAD SHOW ภาคเหนือ ครั้งที่ 3

วันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 ณ ห้องประชุมมหามนตรี ชั้น 1 ศูนย์แสดงนิทรรศการและการจัดประชุมสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (KNECC) มหาวิทยาลัยนเรศวร และรูปแบบ Online ผ่านโปรแกรม Zoom

🔰อุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมทางการเกษตรสำหรับบัณฑิตผู้ประกอบการ ภายใต้การดำเนินงานของอุทยานวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเกษตรและอาหาร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้จัดกิจกรรม “Open Innovation Road Show ภูมิภาคเหนือ ครั้งที่ 3 “

🔰โดยได้รับเกียรติจาก ดร.พิสุทธิ์ อภิชยกุล รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และการถ่ายทอดเทคโนโลยี และรักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นประธานกล่าวเปิดกิจกรรมดังกล่าว

🔴กิจกรรมภายในงานได้บรรยายในหัวข้อ แนวทางการส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคเหนือ รูปแบบการดำเนินงานของ สนช. ในปีงบประมาณ 2566 กลไกการสนับสนุนของ สนช. และการแนะนำการเข้าระบบ MIS สำหรับสมัครสมาชิกและยื่นโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุน/ การเตรียมข้อมูลสำหรับ Pitching Conceptual Project เพื่อเป็นแนวทางให้กับผู้ประกอบการที่สนใจยื่นขอรับทุนสนับสนุน

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมตลอดห่วงโซ่มูลค่าอย่างยั่งยืนของกลุ่มธุรกิจนวัตกรรม (Smart SMEs) และวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ให้แก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจฐานนวัตกรรม (Innovation-based Enterprise; IBE)

ที่มา: อุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร จัดการแข่งขันการนำเสนอผลงานโครงการเส้นทางสู่นวัตวณิชย์ ครั้งที่ 10 ระดับภูมิภาค (Research to Market : R2M2022

เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2565 อุทยานวิทยาศาตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้จัดการแข่งขันการนำเสนอผลงานโครงการเส้นทางสู่นวัตวณิชย์ ครั้งที่ 10 ระดับภูมิภาค (Research to Market : R2M2022) ณ โรงละคร อาคารเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา บรมราชินีนาถ มหาวิทยาลัยนเรศวร

🔹โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรม 9 มหาวิทยาลัยในเขตพื้นที่ภาคเหนือ ทั้งหมด 23 ผลงาน
🔸ซึ่งได้รับเกียรติในการกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมแข่งขันและนำเสนอผลงานโครงการเส้นทางสู่นวัตวณิชย์ (R2M 2022) ครั้งที่ 10

โดย ดร.พิสุทธิ์ อภิชยกุล รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และการถ่ายทอดเทคโนโลยี และรักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวเปิดแข่งขันและนำเสนอผลงาน โดย ดร.ทินกร รสรื่น หัวหน้าโครงการเส้นทางสู่นวัตวณิชย์ (R2M)

🔹โดยมีคณะกรรมการตัดสินผลงานในครั้งนี้จำนวน 5 ท่าน ดังนี้
1. ดร.ทินกร รสรื่น หัวหน้าโครงการเส้นทางสู่นวัตวณิชย์ (R2M)
2. นายตรีชิต เมธารัตนโชติ CEO & Co-founder Veget Deli
3. นายพัชกร ไทยนิยม ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายส่งเสริมความรู้และความร่วมมือด้าน นวัตกรรมภายนอกองค์กร ศูนย์นวัตกรรม กลุ่ม ซีพี ออลล์
4. นางสาวคณิศรา กาญจนวงค์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน
5. นางสาวธันยธร จรรยาวรลักษณ์ ผู้จัดการสมาคมไทยผู้ประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุน

📍ตัวเเทนทีมนิสิตจากมหาวิทยาลัยนเรศวรมีสมาชิกดังนี้
1. ทีม 5EVER ชื่อผลงาน : ลูกชิ้นไข่ขาว ทีมนิสิตจากคณะเกษตรศาสตร์ฯ สมาชิก นางสาวนฤมล โตสุข นางสาวภูชินากร ปะระวันนา นางสาวเนตรนภา สุ่มประดิษฐ นางสาวสุธีรา อําไพวงษ์ นางสาวปรียาภัทร แก้วมูล
2. ทีม ไปด้วยกันไปได้ไกล ชื่อผลงาน : ผลิตภัณฑ์กันแดดสำหรับนักกีฬา สมาชิก นางสาวพิชญ์สินี ฤกษนันทน์ นิสิตจากคณะเภสัชศาสตร์ นางสาวสนัฐญา เมืองแดง นิสิตจากคณะเภสัชศาสตร์ นางสาวสุทธิวรรักษ์ แก้วชมภู นิสิตจากคณะเภสัชศาสตร์ นางสาวบุญญาภา นาคน้อย นิสิตจากคณะบริหารธุรกิจฯ
3. ทีม Perfecttwin DT ชื่อผลงาน : PaperMFresh Underarms Pads ผลิตภัณฑ์แผ่นระงับกลิ่นกายใต้วงแขน ทีมนิสิตจากคณะเภสัชศาสตร์ สมาชิก นางสาวอัชฉรีย์ ผกากรอง นางสาวพัชราภรณ์ อ่ําพรม นางสาวรุ่งรวีวรรณ์ ด้วงเฟื่อง

🎉 ขอแสดงความยินดี กับ ทีมไปด้วยกันไปได้ไกล ชื่อผลงาน : ผลิตภัณฑ์กันแดดสำหรับนักกีฬา ได้รับรางวัลชมเชย จำนวนเงิน 5,000 บาท และเป็นตัวแทนระดับภูมิภาค จาก 23 ทีม เข้าร่วมการแข่งขันต่อในระดับประเทศ ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จังหวัดสงขลา ในวันที่ 18-19 กุมภาพันธ์ 2566

ที่มา: อุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร เป็น 1 ใน 17 โครงการเด่น หนุนนักวิจัยไทย หวังเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนประเทศ

นางสาว ชนัณภัสร์ วานิกานุกูล ผู้อำนวยการส่วน รักษาการแทน ผู้อำนวยการสำนักกองทุนวิจัยและพัฒนา เปิดเผยว่า ทิศทางการดำเนินงานและสนับสนุนการพัฒนาวิจัยของ กทปส. ในปีนี้ยังคงเดินหน้าตามแผนปฏิบัติการกองทุนระยะ ๔ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๓-๒๕๖๖) มุ่งมั่นดำเนินการเพื่อประโยชน์สาธารณะ เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมอย่างทั่วถึงครอบคลุม มุ่งส่งเสริม ผลงาน “นวัตกรรม/งานวิจัย” การพัฒนาบุคลากร การคุ้มครองผู้บริโภค และมุ่งสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ผ่านกลไกการจัดสรรเงินกองทุน โดยที่ผ่านมา กทปส. ได้ดำเนินการจัดสรรเงินกองทุน ในรูปแบบต่างๆ ดังนี้

ทุนประเภทที่ 1 ทุนเปิดกว้าง (Open Grant) ที่เปิดโอกาสให้ผู้สนใจดำเนินโครงการตามวัตถุประสงค์ของกองทุน สามารถยื่นขอรับการส่งเสริมและสนับสนุน โดยจะมีการเปิดให้ทุนอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยปกติจะเปิดรับคำขอเป็นเวลา 3 เดือน ในช่วงเดือน มค.-มีค. ของทุกปี

ทุนประเภทที่ 2 เป็นทุนที่คณะกรรมการบริหารกองทุนประกาศกำหนด คาดว่าในต้นปี 2566 มีแผนที่จะประกาศขอบเขตของงาน (Terms of reference : TOR) ให้ผู้สนใจได้ยื่นข้อเสนอโครงการประมาณกว่า 30 โครงการ และมีแนวโน้มขยายกรอบวงเงินสำหรับทุนต่อเนื่องเพื่อต่อยอดงานวิจัยที่มีแนวโน้มจะพัฒนาได้ในเชิงพาณิชย์

ทุนประเภทที่ 3 เป็นทุนตามนโยบายของ กสทช. กำหนดที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกองทุน เช่น การจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (Universal Service Obligation หรือ USO)

ทุนประเภทที่ 4 ทุนสนับสนุนการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

สำหรับ BTFP SHOWCASE BY NBTC ที่จัดขึ้นในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2565 เป็นการจัดแสดงผลงานที่ได้รับทุน จาก กทปส. สู่สาธารณะ และเผยแพร่ผลงานรวมถึงการทำงานของ กทปส. ให้แก่ประชาชน โดยภายในงานได้คัดเลือกผลงานส่วนหนึ่งที่ได้รับการสนับสนุนทุนจาก กทปส. มาจัดแสดงในงานกว่า 17 โครงการ

221122 nbtc2

ผลงานตัวอย่างโครงการที่พร้อมต่อยอดโครงการเพื่อขยายผลโครงการ ทั้งเชิงพาณิชย์ และเชิงประโยชน์สาธารณะ จำนวน 7 โครงการ ได้แก่
1. โครงการศูนย์บริการถ่ายทอดการสื่อสารแห่งประเทศไทย (TTRS) หน่วยงาน : มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการและสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
2. โครงการพัฒนาโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ในการวินิจฉัยภาพทางรังสี หน่วยงาน : ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
3. โครงการพัฒนาและขยายผลระบบรับแจ้งและบริหารจัดการปัญหาเมืองด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศสู่ระดับการปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงาน : ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC)
4. โครงการโปรแกรมประยุกต์เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลและค้นหาตำแหน่งของวัตถุในอวกาศ หน่วยงาน : ศูนย์ปฏิบัติการทางอวกาศกองทัพอากาศ กองทัพอากาศ
5. โครงการระบบสอดส่องคุณภาพพื้นผิวจราจรโดย Machine Learning ด้วยข้อมูลจาก Sensor ในยานพาหนะผ่านโครงข่าย IoT หน่วยงาน : มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
6. โครงการศึกษาแนวทางการใช้คลื่นความถี่สำหรับระบบสื่อสารรวมทั้งการสร้างแบบจำลองและระบุตำแหน่งในถ้ำ หน่วยงาน : มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
7. โครงการพัฒนาองค์ความรู้สื่อมวลชนด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ หน่วยงาน : มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย

221122 nbtc3

ผลงาน 10 โครงการคัดสรร จาก กทปส. สร้างผลลัพธ์ที่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อภาคเศรษฐกิจ สังคม และประชาชนในวงกว้าง ได้แก่
1. โครงการจัดทำแนวทางพัฒนาระบบต้นแบบเพื่อสนับสนุนงานป้องกันและปราบปรามมิจฉาชีพออนไลน์ที่ไม่สามารถระบุตัวตน หน่วยงาน : มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร
2. โครงการแอปพลิเคชันเพื่อสร้างเกษตรฟาร์มใหญ่บริหารจัดการข้อมูลผลิตผลและการตลาดสำหรับเครือข่ายเกษตรกรหน่วยงาน : มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
3. โครงการ Stop Fake, Spread Facts หน่วยงาน : สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์
4. โครงการส่งเสริมความเข้มแข็งของเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ หน่วยงาน :สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารสาสตร์ (NIDA)
5. โครงการการวิจัยและพัฒนาระบบเรดาร์เพื่อการตรวจจับโดรนเพื่อป้องกันการบินโดรนที่ไม่ได้รับอนุญาต หน่วยงาน : มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
6. โครงการพัฒนาสื่อการเรียนการสอนการเลี้ยงดู เด็กเชิงบวกออนไลน์สำหรับผู้ปกครองเพื่อพัฒนาเด็กไทยให้ต็มศักยภาพและป้องกันผลของสื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านจอต่อเด็กและวัยรุ่น หน่วยงาน : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
7. โครงการเปาเปาผจญภัยในโลกนิทาน หน่วยงาน : บริษัท เอลิควอร์ กรุ๊ป จำกัด
8. โครงการพัฒนาองค์ความรู้เสริมสร้างทักษะการเล่าเรื่อง และกลยุทธ์เนื้อหาข้ามสื่อ (Transmedia Storytelling and Content Strategy Workshop and Knowledge Lab) หน่วยงาน : สถาบันจัดการปัญญาภิวัฒน์
9. โครงการบริการการแพทย์โดยใช้ระบบแพทย์ทางไกล (Telemedicine) และเทคโนโลยี Blockchain ในกลุ่มโรคที่เกิดจากการทำงาน และเกี่ยวเนื่องจากการทำงาน หน่วยงาน : มหาวิทยาลัยนเรศวร
10. โครงการพัฒนาศักยภาพทางด้านปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ผ่านเครือข่ายสารสนเทศสำหรับอุตสาหกรรมไทย หน่วยงาน : มหาวิทยาลัยมหิดล

221122 nbtc4

ที่ผ่านมา กทปส. มีผู้ขอรับทุนสนับสนุนเป็นสถาบันการศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน คิดเป็นสัดส่วนสูงที่สุด รองลงมาจะเป็นผู้ขอรับทุนสนับสนุนที่เป็นหน่วยงานของรัฐ ผู้ประกอบกิจการในอุตสาหกรรมกระจายเสียง โทรทัศน์ โทรคมนาคม และสมาคม มูลนิธิ โดยเฉลี่ยใกล้เคียงกัน ทั้งนี้ในแผนดำเนินงานในปี 2566 กทปส. จะทำการปรับปรุงประกาศและหลักเกณฑ์การให้ทุนเพื่อเพิ่มโอกาสให้ทุกภาคส่วนของสังคมสามารถการยื่นขอรับทุนให้กว้างมากขึ้น โดยขอเชิญทุกท่านติดตามรายละเอียดการขอรับทุนได้ตามช่องทางประชาสัมพันธ์ของ กทปส.

“กทปส. ยังคงเดินหน้าส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ของประเทศ ผ่านเงินกองทุนวิจัยและพัฒนา เพื่อสร้างประโยชน์สาธารณะ ดังเจตนารมณ์ตามชื่อกองทุนเพื่อสาธารณะอย่างแท้จริงต่อไป” นางสาว ชนัณภัสร์ กล่าวทิ้งท้าย

ผู้สนใจยื่นขอรับการจัดสรรเงินจาก กทปส. สามารถติดตามรายละเอียดการยื่นขอรับทุนผ่านช่องทางออนไลน์ได้ที่ เฟซบุ๊กแฟนเพจ www.facebook.com/BTFPNEWS และที่เว็บไซต์ https://btfp.nbtc.go.th

221122 nbtc5
221122 nbtc6

ที่มา: สำนักข่าวอิศรา

วช.หนุนทีมวิจัย ม.นเรศวร ต่อยอดเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจากอินทผลัม สู่มะพร้าวน้ำหอมได้สำเร็จครั้งแรก

วช.สนับสนุนทีมวิจัย ม.นเรศวร ต่อยอดเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจากอินทผลัม สู่มะพร้าวน้ำหอมได้สำเร็จครั้งแรก พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีและช่วยผู้ประกอบการผลิตน้ำมะพร้าวน้ำหอม 100 % พร้อมดื่มด้วยเทคโนโลยีความดันสูง ช่วยยืดอายุน้ำมะพร้าวสด นาน 2 เดือนโดยที่รสชาติไม่เปลี่ยนแปลง และปลอดภัยต่อผู้บริโภค

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันงานวิจัยถูกนำมาใช้ประโยชน์ด้านการเกษตรอย่างแพร่หลาย ทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีในด้านการปรับปรุงสายพันธุ์ที่มีคุณภาพ ด้านกระบวนการผลิต เก็บเกี่ยว รวมไปถึงด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในเชิงพาณิชย์ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ที่ผ่านมาสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ให้ทุนสนับสนุนกับโครงการ “การคัดเลือกสายพันธุ์และขยายพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมและอินทผลัมเชิงพาณิชย์” มี “รศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท” จากคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นหัวหน้าโครงการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขยายพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมที่มีต้นพันธุ์ที่ดีในอนาคต ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรแล้ว ยังส่งเสริมภาคการส่งออกมะพร้าวน้ำหอมให้มีการเติบโตมากขึ้นอีกด้วย

รศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท เปิดเผยว่า การขยายพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมในสภาพปลอดเชื้อด้วยเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เป็นการต่อยอดองค์ความรู้และเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อที่ทีมวิจัยประสบความสำเร็จมาแล้ว กับการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่ออินทผลัม ไม้ผลที่กำลังได้รับความนิยม ปัจจุบันทีมวิจัยได้มีการขยายพันธุ์สู่เชิงพาณิชย์ เพื่อลดการนำเข้าต้นพันธุ์ราคาแพงจากต่างประเทศและช่วยลดต้นทุนการผลิตอินทผลัมให้กับเกษตรกรไทย

ทั้งนี้ทีมวิจัย ฯ ได้นำองค์ความรู้และทักษะการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อดังกล่าว และการตรวจสอบต้นพันธุ์แท้ของมะพร้าวน้ำหอมในระดับดีเอ็นเอของพืช มาใช้ในการพัฒนาการขยายพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมพันธุ์ก้นจีบ ซึ่งการผลิตต้นพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมจากต้นพันธุ์ดียังไม่เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร เนื่องจากการเพาะต้นกล้าจากผลมะพร้าวมีอัตราการงอกเพียง 50 – 55 % ขณะเดียวกันหากเกษตรกรซื้อจากแหล่งจำหน่ายต้นพันธุ์มะพร้าวทั่วไป กว่าจะทราบว่าเป็นมะพร้าวน้ำหอมแท้หรือไม่ต้องใช้เวลาในการปลูกกว่า 3 ปี ถึงจะจำแนกมะพร้าวน้ำหอมแท้ออกจากมะพร้าวต้นเตี้ยชนิดอื่น ๆ ที่มีลักษณะคล้ายกันได้ เพราะต้องจำแนกจาก ปัจจัยต่าง ๆ เช่น ลักษณะผล กาบใบ ลำต้น และการทดสอบชิมน้ำและเนื้อ

การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจึงเป็นทางเลือกในการเพิ่มประสิทธิภาพในการขยายพันธุ์ในอนาคต โดยจะทำให้ได้ต้นพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมในปริมาณมาก ปลอดโรค ให้ผลผลิตที่มีคุณภาพตามต้นแม่พันธุ์ และคงอัตลักษณ์มะพร้าวน้ำหอมพันธุ์ก้นจีบ 100 % ช่วยลดอัตราความเสี่ยงของเกษตรกรในเรื่องพันธุ์ที่ไม่แท้

สำหรับกระบวนการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อของมะพร้าวน้ำหอม จะเริ่มต้นจากการคัดเลือกต้นพันธุ์ที่ดี น้ำและเนื้อมีรสชาติหวาน หอม จำนวนทะลายสูง จำนวนผลต่อทะลายพอเหมาะ และให้ผลสม่ำเสมอ จากนั้นจะใช้เทคนิคปลอดเชื้อตัดชิ้นส่วนของพืช (Explant) ที่ผ่านการฟอกฆ่าเชื้อแล้วมาเลี้ยงในขวดแก้วที่บรรจุอาหารเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ซึ่งผ่านการนึ่งฆ่าเชื้อมาแล้ว เมื่อเซลล์จากชิ้นส่วนต่าง ๆ ของมะพร้าวที่นำมาเลี้ยงได้รับอาหารและแร่ธาตุต่าง ๆ จะมีการเจริญเติบโตเป็นต้นโดยตรง หรือเกิดเป็นกลุ่มของเซลล์ที่เรียกว่าแคลลัส และเมื่อนำแคลลัส ไปเลี้ยงในสภาพที่มีแสง จะเกิดยอดใหม่ที่มีสีเขียว ชักนำให้เกิดยอดและราก เมื่อต้นกล้ามียอดและรากที่สมบูรณ์ จึงนำออกปลูก อนุบาลในโรงเรือน และนำออกปลูกในแปลงปลูกต่อไป

“ทีมวิจัยใช้เวลาประมาณ 2 ปีในพัฒนาการขยายพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมพันธุ์ก้นจีบด้วยเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมีการตรวจสอบในระดับดีเอ็นเอ ปัจจุบันถือได้ว่าเป็นครั้งแรกที่มีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อต้นพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมได้สำเร็จ และได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับภาคเอกชน ”

นอกจากนี้ รศ.ดร.พีระศักดิ์

X

ยังมีแนวคิดในการนำเทคโนโลยีการแปรรูปด้วยความดันสูง (High Pressure Processing: HPP) ซึ่งเป็นกระบวนการฆ่าเชื้อก่อโรคที่อาจพบได้ในผลิตภัณฑ์ที่อุณหภูมิห้อง แบบไม่ใช้ความร้อน (Non-thermal process) มาใช้ในการแปรรูปน้ำมะพร้าวน้ำหอม 100 % พร้อมดื่ม ให้กับผู้ประกอบการ สามารถช่วยยืดอายุการเก็บรักษาน้ำมะพร้าวน้ำหอมสดพร้อมดื่มได้นานถึง 2 เดือน โดยที่น้ำมะพร้าวพร้อมดื่มยังมีคุณภาพใกล้เคียงมะพร้าวสด หอม หวาน และคงคุณค่าทางโภชนาการ คุณภาพทางประสาทสัมผัสของผลิตภัณฑ์ไม่สูญเสียไปจากเดิม และปลอดภัยต่อผู้บริโภค

ทีมวิจัย ฯ ได้มีการนำต้นพันธุ์และผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวน้ำหอมและอินทผลัม มาจัดแสดงในงานวันคล้ายวันสถาปนาสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ครบรอบ 63 ปี ระหว่างวันที่ 25-28 ตุลาคม 2565 ที่สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ บางเขน กรุงเทพฯ

ที่มา: mgronline

ม.นเรศวร เข้าร่วมเตรียมความพร้อมก่อนการแข่งขันเส้นทางสู่นวัตวณิชย์ (Research to Market Thailand 2022 : R2M 2022)

📣 วันที่ 26 – 28 ตุลาคม 2565 อุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้เข้าร่วมเตรียมความพร้อมก่อนการแข่งขันเส้นทางสู่นวัตวณิชย์ (Research to Market Thailand 2022 : R2M 2022) กิจกรรม Boot Camp R2M ระดับภูมิภาค โดยอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์ เป็นผู้จัดขึ้น ณ โรงแรมต้นทองรีสอร์ท อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ โดยมีมหาวิทยาลัยเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ ร่วมส่งทีมนักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวรวมจำนวน 9 แห่ง รวม 22 ทีม

🔹 โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษา และทีมนักศึกษาที่เป็นตัวแทนมหาวิทยาลัยนเรศวรทั้ง 3 ทีม ได้แก่
1. ทีม 5EVER ชื่อผลงาน : ลูกชิ้นไข่ขาว ทีมนิสิตจากคณะเกษตรศาสตร์ฯ
2. ทีม ไปด้วยกันไปได้ไกล ชื่อผลงาน : ผลิตภัณฑ์กันแดดสำหรับนักกีฬา
3. ทีม Perfecttwin DT ชื่อผลงาน : PaperMFresh Underarms Pads ผลิตภัณฑ์แผ่นระงับกลิ่นกายใต้วงแขน ทีมนิสิตจากคณะเภสัชศาสตร์

🔸 ทั้งนี้ตัวแทนมหาวิทยาลัยทั้ง 3 ทีม ต้องเตรียมความพร้อม เสริมสร้างองค์ความรู้ ทักษะด้านการเขียนแผนนวัตกรรม และการนำเสนอผลงาน ก่อนเข้าสู่เวทีการแข่งขันเพื่อคัดเลือกตัวแทนระดับภูมิภาค ในวันที่ 25 – 26 พฤศจิกายน 2565 ณ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ที่มา: อุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร

บีบีจีไอ จับมือ ม.นเรศวร ต่อยอดงานวิจัยสู่การผลิตเชิงพาณิชย์

บริษัทบีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ กับ มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยมีนายกิตติพงศ์ ลิ่มสุวรรณโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทบีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) และ รองศาสตราจารย์ ดร.ศรินทร์ทิพย์ แทนธานี รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นผู้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้ เพื่อการพัฒนาต่อยอดงานวิจัยจากสารสกัดสมุนไพร สู่การผลิตผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ กลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง สานต่อกลยุทธ์สร้างความยั่งยืนทางสุขภาพให้กับผู้บริโภค

นายกิตติพงศ์ ลิ่มสุวรรณโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทบีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หนึ่งในกลยุทธ์ในการส่งเสริมความยั่งยืนด้านสุขภาพและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของบีบีจีไอ คือการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสารสกัดจากธรรมชาติที่ต่อยอดจากงานวิจัยและพัฒนา โดยบีบีจีไอได้ทราบถึงการทำวิจัยและพัฒนาสารสกัดจากสมุนไพรของทางมหาวิทยาลัยนเรศวร จึงมีความประสงค์ที่จะร่วมมือกับมหาวิทยาลัยนเรศวรในการต่อยอดสารสกัดจากสมุนไพรเป็นผลิตภัณฑ์ส่งเสริมสุขภาพกลุ่มที่มีแนวโน้มการเติบโตสูง อาทิ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์สมุนไพร

รองศาสตราจารย์ ดร.ศรินทร์ทิพย์ แทนธานี รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวเพิ่มเติมว่า มหาวิทยาลัยนเรศวรมีทิศทางด้านการวิจัยที่สอดคล้องกับ 13 หมุดหมายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้ความสำคัญกับเรื่องเกษตรมูลค่าสูง และการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง ซึ่งความร่วมมือกันทางวิชาการในครั้งนี้ จะเป็นการต่อยอดงานวิจัยเกี่ยวกับสารสกัดสมุนไพร โดยการนำความรู้ทางวิชาการไปต่อยอดการผลิตผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ เพื่อสร้างประโยชน์ได้อย่างกว้างขวางในการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองปัญหาสุขภาพของผู้บริโภค และการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพื่อตอกย้ำวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยนเรศวร “มหาวิทยาลัยเพื่อสังคมของผู้ประกอบการ”

บีบีจีไอ และ มหาวิทยาลัยนเรศวร จะมีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ข้อมูลทางด้านวิชาการ เพื่อให้เกิดการต่อยอดผลงานวิจัย นำไปประยุกต์ใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ส่งเสริมสุขภาพ ที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และตอบโจทย์การสร้างความยั่งยืนทางสุขภาพให้กับผู้บริโภคต่อไป

ที่มา: บริษัทบีบีจีไอ จำกัด (มหาชน)

วช. สนับสนุนทีมวิจัย ม.นเรศวร ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตองุ่นไชน์มัสแคทเพื่อการพาณิชย์

วช. สนับสนุนทีมวิจัย ม.นเรศวร ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตองุ่นไชน์มัสแคทเพื่อการพาณิชย์ เผยจุดเด่นทำให้เป็นองุ่นไร้เมล็ด เพิ่มมูลค่า และเก็บเกี่ยวได้ 2 รอบต่อปี ซึ่งนอกจากจะเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรผู้ปลูกองุ่นแล้ว ยังทำให้คนไทยเข้าถึงการบริโภคองุ่นพันธุ์นี้ได้ง่ายขึ้นและลดการนำเข้าจากต่างประเทศเก็บตก… จากงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 กับอีกหนึ่งบูธที่ได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมงานเป็นอย่างมากจากการนำเสนอผลงานที่มุ่งยกระดับผลผลิตทางเกษตรเพื่อการพาณิชย์และการส่งออกในอนาคตของทีมวิจัยจากคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวรที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ในภาคการเกษตร การปลูกผลไม้ให้มีคุณภาพสูง และได้มาตรฐานจนเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศได้นั้น เกษตรกรผู้ปลูกจำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้ เทคโนโลยี และเงินลงทุนค่อนข้างสูง อย่างเช่น การปลูกองุ่นไชน์มัสแคทที่จำเป็นต้องสร้างโรงเรือนและต้นพันธุ์องุ่น รวมทั้งอาศัยหลักการจัดการที่ถูกต้อง โดยใช้เทคโนโลยีการผลิตและหลังการเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จึงได้สนับสนุนทุนวิจัยให้กับโครงการ “การจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตองุ่นไชน์มัสแคทเพื่อการพาณิชย์” ในปีงบประมาณ 2563  ภายใต้โครงการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อชุมชน เพื่อยกระดับกระบวนการผลิตพร้อมทั้งถ่ายทอด สร้างความรู้ความเข้าใจให้เกิดแก่เกษตรกร ตลอดจนเพิ่มศักยภาพและสร้างมาตรฐานการผลิตองุ่นไชน์มัสแคท  เพื่อการพาณิชย์และการส่งออกในอนาคต

โดยมี “รศ.ดร.พีระศักดิ์  ฉายประสาท” ผู้อำนวยการสถานความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นหัวหน้าโครงการ เปิดเผย ถึงที่มาของโครงการดังกล่าวว่า  เนื่องจากทีมวิจัยได้รับการสนับสนุนจากสโมสรโรตารี่สากลในการไปฝึกอบรมพร้อมกับเกษตรกรที่ประเทศญี่ปุ่น ก่อนที่จะกลับมาช่วยพัฒนาการผลิตองุ่นไชน์มัสแคทในประเทศไทย  หลังจากนั้นจึงได้รับทุนวิจัยจาก วช.ในการจัดอบรมเพื่อถ่ายทอดความรู้แก่นักวิชาการ เกษตรกรผู้ปลูกองุ่นไชน์มัสแคทและผู้ที่สนใจในปี 2564

“จากที่เราไปศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่นทั้งเรื่องเทคโนโลยีการปลูก การเก็บเกี่ยว และการเก็บรักษา ซึ่งก็ได้นำมาถ่ายทอดให้กับเกษตรกรจริงๆ ที่เมืองไทยและได้ผลผลิตเรียบร้อยแล้ว  โดยที่ผ่านมามีการถ่ายทอดองค์ความรู้ไปแล้ว 2 รุ่น  เช่น การใช้องุ่นพันธุ์ไชน์มัสแคทต่อยอดกับองุ่นป่า และกระบวนการในการทำให้องุ่นออกดอก และติดผล ซึ่งจุดเด่นของโครงการนื้คือ สามารถทำให้เกิดเป็นองุ่นไร้เมล็ดที่มีราคาสูงขึ้นได้ เกษตรกรผู้ปลูกองุ่นในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างสามารถปลูกจนจำหน่ายได้จริงแล้วในเชิงพาณิชย์  และสามารถเก็บเกี่ยวผลองุ่นได้ถึง 2 รอบต่อปี”รศ.ดร.พีระศักดิ์ กล่าวว่า การพัฒนาการปลูกองุ่นพันธุ์ไชน์มัสแคท ซึ่งมีราคาสูง นอกจากจะทำให้คนไทยเข้าถึงการบริโภคองุ่นพันธ์นี้ง่ายขึ้นแล้ว ยังทำให้กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกองุ่น เช่น ในพื้นตำบลวงฆ้อง อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก มีคุณภาพชีวิตหรือเศรษฐกิจดีขึ้น เนื่องจากมีรายได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 15 % และสามารถลดการนำเข้าองุ่นไชน์มัสแคทได้ ซึ่งในอนาคตทีมวิจัยอยากให้โครงการนี้ขยายพื้นที่ปลูกไปยังจังหวัดอื่นๆ  เพื่อมีการผลิตที่เพียงพอกับความต้องการบริโภคภายในประเทศอย่างไรก็ดี  ภายในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 คณะเกษตรศาสตร์ฯ จากมหาวิทยาลัยนเรศวร  ยังได้ นำผลงาน “การจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตทุเรียนหลงลับแลและหมอนทองเชิงพาณิชย์ในเขตภาคเหนือตอนล่าง” ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก วช. มาจัดแสดง

นอกจากจะมีการฝึกอบรมเกษตรกรในการเรื่องของเทคโนโลยีการปลูก การดูแลรักษา การแก้ปัญหาแพร่ระบาดของแมลง และการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว  ยังมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการตรวจสอบคุณภาพของผลทุเรียน  ทดแทนวิธีการเดิมที่เกษตรกรดูจากสีผิว หนาม และใช้ไม้เคาะ เพื่อประเมินความแก่ของผลทุเรียน โดยเครื่องตรวจสอบความแก่ของผลทุเรียน เป็นเทคโนโลยี NIR (Near Infrared ) ที่นำเข้าจากต่างประเทศ และนำมาพัฒนาเพิ่มเติมในส่วนของสมการที่พัฒนาขึ้นโดยอาศัยการเก็บข้อมูลจริงกว่า 400 ตัวอย่างเพื่อให้การตรวจวัดหาค่าน้ำหนักแห้งในผลทุเรียนที่มีความอ่อน-แก่ในระดับต่าง ๆ  มีความแม่นยำมากขึ้น

ที่มา: เทคโนโลยีเกษตร

นวัตกรรมโปรตีนจิ้งหรีด อันดับ 1 ของเมืองไทยสู่ผู้นำตลาดโลก

เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2565 รศ.ดร.ศรินทร์ทิพย์ แทนธานี รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย และ ผศ.ดร.วรสิทธิ์ โทจำปา คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมงานแถลงข่าว “ความสำเร็จโครงการนวัตกรรมโปรตีนจิ้งหรีด อันดับ 1 ของเมืองไทยสู่ผู้นำตลาดโลก” โดย บริษัท ไทย เอนโท ฟู้ด จำกัด ร่วมกับ บริษัท ไทยชูการ์ เทอร์มิเนิ้ล จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุน ณ ห้องวิคเตอร์ ชั้น 7 สามย่านมิตรทาวน์

โดยวางเป้าหมายเป็นบริษัทผู้นำอุตสาหกรรมการผลิตโปรตีนจิ้งหรีดของไทย พร้อมวางเป้าหมายผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางโปรตีนจิ้งหรีดของโลก และสร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้ภาคการเกษตร ชุมชน สังคม และประเทศ ตั้งเป้ารายได้ 250 ล้านบาทในปี 2566 ด้วยสัดส่วนการขายในประเทศ 30% และต่างประเทศ 70% โดยเบื้องต้นโครงการมีมูลค่าการลงทุน 200 ล้านบาท เพื่อสร้างโรงงานและจัดหาเครื่องจักร รวมถึงร่วมผลักดันทางการตลาดด้วยฐานลูกค้าอุตสาหกรรมที่บริษัทมีอยู่เดิม สำหรับโรงงานแปรรูปผงโปรตีนจิ้งหรีดสามารถเริ่มการผลิตได้ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2565นี้ โดยมีกำลังการผลิตผงโปรตีนจิ้งหรีดมากกว่า 1,200 ตันต่อปี โครงการนี้ถือเป็นความสำเร็จของการนำโครงการวิจัยที่มีการร่วมทุนของภาครัฐและภาคเอกชน ไปขยายผลเชิงพาณิชย์ได้อย่างเป็นรูปธรรม ที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยนเรศวร “University for Entrepreneurial Society” ภายใต้ชื่อโครงการวิจัย “โครงการนวัตกรรมการผลิต Insect-based functional ingredients สําหรับอุตสาหกรรมอาหารและอาหารสัตว์แบบครบวงจรด้วยระบบ Modern insect farming และ Zero-waste” ซึ่งเป็นโครงการวิจัยต่อเนื่อง 3 ปี ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก สกสว. (ปีที่ 1) และ บพข. (ปีที่ 2) โดยมี ผศ. ดร. ขนิษฐา รุตรัตนมงคล คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นหัวหน้าโครงการ โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตโปรตีนทางเลือกและส่วนประกอบฟังก์ชั่นมูลค่าสูงจากแมลงสู่การผลิตในระดับอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่งได้ศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อผลิตโปรตีนคุณภาพสูงจากแมลงในระดับอุตสาหกรรม รวมถึงพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตส่วนประกอบจากแมลงที่มีมูลค่าสูง เช่น โปรตีนเข้มข้น โปรตีนไฮโดรไลเสท เปปไทด์ที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพ และน้ำมัน เป็นต้น เป้าหมายหลักได้แก่ อุตสาหกรรมอาหารแปรรูปและเครื่องดื่ม และรับจ้างผลิตเจาะตลาดโออีเอ็ม ขณะที่กลุ่มลูกค้าประชาชนขายในรูปของอาหาร หรือขนม ที่มีส่วนผสมของผงโปรตีนและผงโปรตีนเวย์ เพื่อการออกกำลังกาย

ที่มา: งานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

Mango AI แอปพลิเคชั่นปัญญาประดิษฐ์ ยกระดับเกษตรกรไทยยุคใหม่ ด้วยนวัตกรรม

พัฒนาโดย รศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท คณะเกษตรศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยงบประมาณสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ที่จัดสรรให้กับโครงการวิจัยภายใต้แผนงานการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (BCG in Action)

ประเทศไทยมีพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ มีทรัพย์ในดิน สินในน้ำ ร่ำรวยด้วยทรัพยากรธรรมชาติ เพาะปลูกพืชผลใดๆ ก็งอกงาม แต่แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศทึ่พี่งพาจีดีพีจากภาคเกษตรมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก แต่ความจริงที่น่าเจ็บปวดคือ คุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยกลับไม่ดีเท่าที่ควร เพราะแม้จะเพาะปลูกและได้ผลผลิตออกตามฤดูกาล แต่ก็ขาดการเกษตรแม่นยำสูง ส่วนใหญ่ยังพึ่งพาฟ้าฝนและองค์ความรู้ในการทำการเกษตรแบบดั้งเดิมเป็นหลัก

แต่น่ายินดีที่หน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐหันมาให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาสนับสนุนภาคการเกษตรด้วยความร่วมมือแบบบูรณาการมากขึ้น หนึ่งในนั้นที่น่าสนใจและเป็นนวัตกรรมล่าสุดที่น่าจับตา คือ Mango AI ระบบแจ้งเตือนอัจฉริยะสําหรับการผลิตมะม่วง ที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยนเรศวร จากการสนับสนุนทุนวิจัยของ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ซึ่งสวนรวงทองและกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ จังหวัดพิษณุโลก นำไปทดลองใช้แล้วได้ผลสัมฤทธิ์ที่น่าพึงพอใจ

อ่านข่าวเพิ่มเติมได้ที่ : Mango AI แอปพลิเคชั่นปัญญาประดิษฐ์
ที่มา: Salika.co

ม.นเรศวร จัดการประชุมวิชาการระดับชาติ นเรศวรวิจัยและนวัตกรรม ครั้งที่ 18

วันที่ 25 – 26 กรกฎาคม 2565 มหาวิทยาลัยนเรศวร จัดการประชุมวิชาการระดับชาติ นเรศวรวิจัยและนวัตกรรม ครั้งที่ 18 “Steering Towards Frontier University: Challenges and Foresight” ในรูปแบบ Hybrid: Online & Onsite ณ อาคารอุทยานองค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช มหาวิทยาลัยนเรศวร

มหาวิทยาลัยนเรศวร มีเป้าหมายในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยเพื่อให้เป็นมหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรมที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับ และสร้างผู้นำทางการวิจัยในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ และด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ โดยมหาวิทยาลัยนเรศวรดำเนินการวิจัยที่มุ่งตอบสนองต่อความต้องการของชุมชน สนับสนุนการทำนุศิลปะและวัฒนธรรม สร้างผลงานวิชาการที่สร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัย ซึ่งสามารถนำไปพัฒนาสังคม และประเทศชาติได้อย่างแท้จริง กองการวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานสนับสนุนหลักด้านวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัย เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาระบบบริหารงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อผลักดันการสร้างผลงานวิจัยถ่ายทอดองค์ความรู้งานวิจัย และการต่อยอดผลงานวิจัยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงได้กำหนดจัดงานประชุมวิชาการนเรศวรวิจัยและนวัตกรรม ครั้งที่ 18 ” Steering Towards Frontier University: Challenges and Foresight” เพื่อเป็นการพัฒนา รวบรวม แลกเปลี่ยนข้อมูลสารสนเทศทางด้านการวิจัย ประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ผลงานวิจัยและนวัตกรรมในรูปแบบต่างๆ และจัดเวทีวิชาการเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเพิ่มประสิทธิภาพการทำวิจัยให้แก่นักวิจัย นิสิต นักศึกษา และผู้ที่เกี่ยวข้องกับระบบบริหารงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในการประชุมวิชาการดังกล่าว จะมีกิจกรรมประกอบด้วย การนำเสนอผลงานวิจัย ผลงานวิทยานิพนธ์ และวิจัยสถาบัน โดยบุคลากรจากสถาบันอุดมศึกษาทั้งในและต่างประเทศ การจัดแสดงนิทรรศการผลงานวิจัยและนวัตกรรมของหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัย และหน่วยงานภายนอกต่างๆ อีกทั้ง กำหนดให้มีการบรรยายจากผู้ทรงคุณวุฒิ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งนี้ การประชุมวิชาการดังกล่าว ยังก่อให้เกิดประโยชน์หลายประการ สำหรับนักวิชาการ นักวิจัย นิสิต นักศึกษา และผู้เข้าร่วมประชุมโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมวิชาการ จะแสดงให้เห็นถึงศักยภาพ และความเข็มแข็งขององค์กรหรือสถาบันการศึกษานั้นได้เป็นอย่างดียิ่ง รวมถึงได้การยอมรับจากสถาบันการศึกษาอื่นๆอีกด้วย

วัตถุประสงค์
 1. เพื่อตอบสนองประเด็นยุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัยนเรศวรตามภารกิจหลักด้านการวิจัยและนวัตกรรม
 2. เพื่อเป็นเวทีการนำเสนอผลงานวิจัย และผลงานวิทยานิพนธ์ ในรูปแบบออนไลน์ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสบการณ์ด้านการวิจัยและนวัตกรรม ระหว่างบุคลากรทั้งในสถาบันการศึกษาหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน หรือแม้กระทั่งบุคคลทั่วไป ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงได้การยอมรับจากสถาบันการศึกษาอื่นๆ
 3. เพื่อให้เกิดความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างมหาวิทยาลัยหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
 1. ผลผลิตงานวิจัยและนวัตกรรม นำไปใช้ประโยชน์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม
 2. การนำเสนอผลงานเป็นไปตามมาตรฐานของการจัดประชุมวิชาการระดับชาติ สกอ.

ที่มา: กองการวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร

Sustainability

NARESUAN UNIVERSITY

Solverwp- WordPress Theme and Plugin