“เปิดแล้ว…สวนปันสุข แห่งที่ 3 “

“ปันสุข ผูกรัก ปลูกผัก ปลูกผลไม้” เปิดสวนปันสุข…แห่งที่ 3 Green area ด้านหน้าคณะวิทยาศาสตร์ ปันสุขให้ประชาคม ม.นเรศวร ได้เก็บเกี่ยวผลผลิตเพื่อนำไปประกอบอาหาร ฟรี !!! สามารถเก็บผลผลิตตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ขอสงวนสิทธ์ในการเก็บไปเพื่อจำหน่าย

ที่มา: กองอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยนเรศวร

นักวิจัย ม.นเรศวร “รับรางวัลผลงานวิจัย ปี 65” วิจัยมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง ได้มาตรฐานส่งออก

เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา ผศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร เจ้าของผลงาน “ศึกษาวิจัยมะม่วงให้ได้คุณภาพมาตรฐานส่งออก” เข้ารับรางวัลผลงานวิจัย ระดับดี ในงานวันนักประดิษฐ์ 2564-2565 จากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (นายดอน ปรมัตถ์วินัย) เผยสามารถยืดอายุการเก็บรักษามะม่วงน้ำดอกไม้สีทองได้นาน 33 วัน จากเดิม 15 วัน โดยการจัดการแบบครบวงจรจากต้นทาง สร้างความมั่นคงแก่เกษตรกร และเพิ่มโอกาสการเติบโตในตลาดโลก เตรียมส่งออกจริง ขนส่งทางเรือเดือนมีนาคม 2565

ผศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท เปิดเผยว่า จากสถานการณ์โควิด – 19 ได้ส่งผลกระทบโดยตรงเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง เนื่องจากมีผลผลิตเกินความต้องการบริโภคภายในประเทศ และไม่สามารถส่งออกไปต่างประเทศได้ ที่ผ่านมา ไทยเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงในการส่งออกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง ผลไม้หลักที่สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยในปัจจุบัน ส่งออกไปต่างประเทศมากกว่าร้อยละ 60 อาทิ ประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน และ มาเลเซีย รวมทั้ง รัสเซีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ดังนั้น การวิจัยและพัฒนามะม่วงให้ได้มาตรฐานส่งออก มีอายุการเก็บรักษาได้นานขึ้น สามารถขนส่งทางเรือได้ เป็นการบรรเทาปัญหาอย่างสอดรับกับสถานการณ์ และยังช่วยสร้างความมั่นคงให้แก่การทำเกษตรกรรม และเพิ่มโอกาสการส่งออกผลไม้ของไทยไปต่างประเทศ

ทีมวิจัย ได้ศึกษาปัจจัยที่เหมาะสมต่อการฉายรังสีของมะม่วง จนค้นพบว่า การคัดเลือกความสมบูรณ์ของผลมะม่วงภายหลังการเก็บเกี่ยว ในระยะการสุกแก่ที่ 80% โดยใช้เทคนิค NIR (Near Infrared Spectroscopy) อย่างแม่นยำ ก่อนนำมาฉายรังสีชนิดก่อไอออน จะช่วยให้ผลผลิตมีความสมบูรณ์ผล และความแน่นของเนื้อที่ทนทานต่อการบอบช้ำ จึงเหมาะสมต่อการส่งออกไปต่างประเทศ รวมถึงการใช้สารละลายอะซอกซีสโตรบิน ร่วมกับการจุ่มน้ำร้อน เพื่อควบคุมการเกิดโรคหลังการเก็บเกี่ยว และการจุ่มน้ำเย็นเพื่อลดอุณหภูมิภายในผลผลิต ก่อนการคัดบรรจุและนำไปฉายรังสีชนิดก่อไอออน ทำให้ทราบว่า การฉายรังสีแกมมาและรังสีเอกซ์ที่ปริมาณ 400 Gy ที่ระยะสุกแก่ 80% มีความเหมาะสมต่อการฉายรังสีเพื่อการส่งออกมากที่สุด สะท้อนให้เห็นว่า เพื่อให้ได้ผลผลิตมะม่วงที่ได้มาตรฐานจะต้องดำเนินการแบบครบวงจรจากต้นทาง

จากนั้นจึงได้พัฒนาเทคนิคการยืดอายุมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองด้วยตู้คอนเทนเนอร์ควบคุมสภาพบรรยากาศ (Controlled Atmosphere Storage) ควบคุมปริมาณออกซิเจน และคาร์บอนไดออกไซด์ตลอดระยะเวลาการเก็บรักษา สามารถเก็บรักษาคุณภาพผลผลิตในระหว่างการขนส่งได้ 15 วัน และมีอายุการเก็บรักษาเป็นเวลา 6 วัน ด้วยตู้คอนเทนเนอร์ควบคุมสภาพบรรยากาศ ที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส และการเก็บรักษามะม่วงน้ำดอกไม้สีทองในสภาพดัดแปลงบรรยากาศ MAP (Modified atmosphere packaging) โดยการบรรจุถุงพลาสติก WEB (White ethylene absorbing bag) และเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 13 องศาเซลเซียส ทำให้สามารถยืดอายุการเก็บรักษามะม่วงน้ำดอกไม้สีทองได้เป็นระยะเวลา 33 วัน เพิ่มขึ้นจากเดิม 15 วัน การขนส่งมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองผลสดด้วยตู้คอนเทนเนอร์ควบคุมสภาพบรรยากาศ สามารถขนส่งทางเรือได้ที่มีต้นทุนต่ำได้ ผลผลิตจึงมีคุณภาพดีเมื่อไปถึงประเทศปลายทาง มีขั้นตอนที่สะดวกและเหมาะสมกับสภาพปัญหาแรงงานที่หายาก และมีราคาแพงในประเทศปลายทาง

ล่าสุด ผลผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง จะถูกขนส่งทางเรือ เป็นครั้งแรกจากประเทศไทย ในช่วงเดือนมีนาคม 2565 ซึ่งเป็นช่วงต้นฤดูกาลมะม่วง ที่คาดว่าราคาผลผลิตอาจตกต่ำ ดังนั้นจึงเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร ในช่วงฤดูกาลผลิตระหว่างเดือนเมษายน-พฤษภาคม ได้เป็นอย่างดี จากผลงานดังกล่าว จึงนำมาสู่การได้รับรางวัลผลงานวิจัย ระดับดี ประจำปี 2565 สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา จากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (นายดอน ปรมัตถ์วินัย) เมื่อวันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา ในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2564-2565 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ

ที่มา: mgronline

คณะแพทยศาสตร์ มน. รับการตรวจประเมินมาตรฐานอาหาร (Clean Food Good Taste) ตามมาตรฐานอาหารของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2565  เวลา 09.00 น. ตัวแทนจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลกเข้าตรวจประเมินร้านค้า  โรงอาหารภายในคณะแพทยศาสตร์ และ งานโภชนาการ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร  ให้เกิดความปลอดภัยจากโรคติดต่อที่มีอาหารและน้ำเป็นสื่อ  พร้อมทั้งให้ความรู้ คำแนะนำ แก่ผู้ประกอบการ และเจ้าหน้าที่  เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจเรื่องมาตรฐานอาหาร (Clean Food Good Taste) ตามมาตรฐานอาหารของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และเป็นการยกระดับมาตรฐานโรงอาหารคณะแพทยศาสตร์ และงานโภชนาการ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร และให้ผู้ประกอบการเกิดการตระหนัก การพัฒนา ปรับปรุง และสามารถประยุกต์ใช้ความรู้สู่การให้บริการที่ได้รับมาตรฐานที่กำหนดไว้ สร้างความประทับใจให้กับลูกค้าและผู้รับบริการ

ที่มา: คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

วช. จับมือ ม.นเรศวร พัฒนา “น้ำเสาวรสเสริมพรีไบโอติก” เพื่อผู้บริโภคยุคใหม่ ต่อยอด SMEs เขาค้อ

วช. หนุนนักวิจัย มหาวิทยาลัยนเรศวร พัฒนา “น้ำเสาวรสเสริมพรีไบโอติก” เพื่อสุขภาพ ต่อยอดเชิงพาณิชย์ เสริมศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs เขาค้อ เพชรบูรณ์ 

วันที่ 10 มกราคม 2565 : สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำโดย ดร.จันทรวิภา ธนะโสภณ ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักประสานงานชุดโครงการการพัฒนาผลิตภัณฑ์ Innovative House ลงพื้นที่ อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ เยี่ยมชมผลงานวิจัยของ มหาวิทยาลัยนเรศวรภายใต้โครงการการสนับสนุนการวิจัยเพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง (ระยะที่ ๓)

โดย วช. , สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) รวมทั้งผู้ประกอบการ SMEs บริษัท อุตสาหกรรมการเกษตรเขาค้อ จำกัด ร่วมสนับสนุนทุนวิจัย เพื่อพัฒนาองค์ความรู้จากงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ในระดับอุตสาหกรรม เกิดเป็นผลิตภัณฑ์น้ำเสาวรสเสริมพรีไบโอติกสำหรับผู้บริโภคยุคใหม่ ที่ตื่นตัวใส่ใจสุขภาพ ซึ่งมีคุณประโยชน์ และรสชาติที่ดีกว่าผลิตภัณฑ์เดิม ๆ ในท้องตลาด

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีพันธกิจสำคัญในการให้ทุนวิจัยและนวัตกรรมหลักของประเทศ และมีเป้าหมายในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดย“งานวิจัยและนวัตกรรม”จะเป็นตัวขับเคลื่อนให้ผลิตภัณฑ์จากผู้ประกอบการให้เกิดประโยชน์สูงสุด

วช.ได้ร่วมกับ สวทช. , สกสว. และ SMEs ในพื้นที่ ภายใต้โครงการการสนับสนุนการวิจัยเพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง นับเป็นโอกาสอันดีที่จะได้นำเอาผลสำเร็จของงานวิจัยและนวัตกรรม ที่วช.มีอยู่ ไปส่งเสริม เพิ่มความรู้ความสามารถให้กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะเรื่องการต่อยอดผลิตภัณฑ์จากผลิตผลทางการเกษตร ให้ปลอดภัยต่อการบริโภค ได้คุณภาพและมาตรฐานยิ่งขึ้น อันส่งผลต่อการสร้างงานและรายได้ให้กับคนในชุมชนต่อไป 

ด้าน ดร.จันทรวิภา ธนะโสภณ ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักประสานงานชุดโครงการการพัฒนาผลิตภัณฑ์ Innovative House วช. กล่าวว่า วช.รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่งานวิจัยภายใต้ความร่วมมือของ 3 หน่วยงานภาคประชาคมวิจัย และมหาวิทยาลัยนเรศวร สามารถส่งเสริมให้อุตสาหกรรมการเกษตรในพื้นที่เขาค้อได้รับการยกระดับด้วยวิจัยและนวัตกรรม อันส่งผลพวงที่ดีต่อเกษตรกรและประชาชนผู้บริโภค การลงพื้นที่ในครั้งนี้ จึงนับเป็นโอกาสอันดีที่จะได้เผยแพร่ผลงานดังกล่าวสู่สาธารณชนในวงกว้าง

ผศ.ดร.นรภัทร หวันเหล็ม อาจารย์ประจำคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร หัวหน้าโครงการ “การผลิตน้ำเสาวรสเสริมพรีไบโอติกบรรจุกระป๋อง” เปิดเผยว่า นักวิจัย และบริษัท อุตสาหกรรมการเกษตรเขาค้อ จำกัด ได้ร่วมกันพัฒนาสูตรและกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์น้ำเสาวรสเสริมพรีไบโอติกบรรจุกระป๋องให้มีคุณค่าทางสุขภาพมากกว่าเดิม ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ที่รักสุขภาพ โดยเสริมพรีไบโอติก คือ ฟรุกโตโอลิโกแซ็กคาไรด์ และอินูลิน ที่ร่างกายไม่สามารถย่อยได้เองเข้าไปเสริมกับโพรไบโอติกในลำไส้ ให้ช่วยปรับสมดุลระบบทางเดินอาหารให้ดีขึ้น ป้องกันจุลินทรีย์ที่ก่อโรคในลำไส้ อาทิ มะเร็งลำไส้ อีกทั้งน้ำตาลในน้ำเสาวรส สามารถช่วยเรื่องการดูดซึมน้ำตาลของผู้ป่วยเบาหวานได้ด้วย เหมาะสมกับผู้บริโภคทุกเพศทุกวัย ซึ่งขณะนี้ อยู่ในช่วงตรวจสอบ Commercial Product คาดว่าจะพร้อมออกจำหน่ายในเร็ว ๆ นี้

นอกจากนี้ นักวิจัยยังได้พัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพชนิดอื่น ๆ รวมกับ บจก.อุตสาหกรรมการเกษตรเขาค้อ โดยรับเอาผลิตผลทางการเกษตรของ อ.เขาค้อ มาแปรรูปให้มีคุณค่าทางอาหารมากยิ่งขึ้น อาทิ ไอศกรีมมัลเบอร์รี่ไขมันต่ำเสริมโพรไบโอติก ไอศกรีมแป้งข้าวหมากเสริมซินไบโอติกจากข้าวเหนียวลืมผัว ไอศกรีมเสาวรสไขมันต่ำเสริมซินไบโอติก ซึ่งเป็นการใช้ต่อยอดสิ่งที่มีอยู่ ให้เกิดประโยชน์สูงขึ้น

ที่มา: เทคโนโลยีเกษตร

ม.นเรศวร จัดอบรมเชิงบรรยาย หัวข้อ “กฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการผลิต การจำหน่าย และการโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหาร”

วันที่ 25 ตุลาคม 2564 รองศาสตราจารย์ ดร.ศรินทร์ทิพย์ แทนธานี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ให้เกียรติกล่าวเปิดงาน และรองศาสตราจารย์ ดร.กรกนก อิงคนินันท์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม กล่าวรายงาน การจัดอบรมเชิงบรรยาย หัวข้อ “กฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการผลิต การจำหน่าย และการโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหาร” โดยได้รับเกียรติจาก คุณนฤมล ฉัตรสง่า (รักษาการ) ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยของอาหารและการบริโภคอาหาร กองอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข เป็นวิทยากร

การจัดกิจกรรมดังกล่าวฯ เป็นความร่วมมือภาคีเครือข่ายด้านการวิจัยและนวัตกรรม ระหว่าง เมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยกองการวิจัยและนวัตกรรม และอุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อเป็นการเพิ่มพูนความรู้ ความเข้าใจ ให้กับอาจารย์ นักวิจัย และบุคลากรที่สนับสนุนด้านการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ตลอดจนบุคลากรในเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาในภาคเหนือตอนล่าง ผู้ประกอบการภาคเอกชนในพื้นที่ ให้มีความรู้ความเข้าใจในประเด็นดังกล่าวฯเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นแนวทางในการวิจัยและพัฒนา กำกับดูแลผลิตภัณฑ์อาหาร ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์ความรู้ที่จำเป็นต้องนำไปใช้ประกอบการนำผลงานวิจัยไปใช้ในเชิงพาณิชย์ให้ถูกต้องตามกฏหมาย

โดยจัดกิจกรรมระหว่างวันที่ 25-26 ตุลาคม 2565 ณ ห้องประชุมมหาราช ชั้น 2 อาคารอุทยานองค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก

ที่มา: กองการวิจัยและนวัตกรรม ม.นเรศวร

สวนผัก ผลไม้ เพื่อนิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวร

ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.กาญจนา เงารังษี อธิการบดี มน. เป็นประธาน พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ดร.จิรวัฒน์ พิระสันต์ รองอธิการบดี ผู้อำนวยการกองกิจการนิสิต หัวหน้างาน บุคลากร และนิสิตจิตอาสา ร่วมใจปลูกพืชผัก ผลไม้ในโครงการสวนผัก ผลไม้ เพื่อนิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวร ทั้งนี้เพื่อเป็นการน้อมรำลึก ในหลวงรัชกาลที่ 9 ณ แปลงผักบริเวณ หอพักนิสิต มหาวิทยาลัยนเรศวร

ติดตามภาพกิจกรรมทั้งหมดได้ที่ www.sa.nu.ac.th/photo64/10-13-64

ที่มา: กองกิจการนิสิต มหาวิยาลัยนเรศวร

ม.นเรศวร แจกจ่ายเครื่องกลั่นน้ำส้มควันไม้ เพื่อการเกษตร ใช้งานง่าย ทนทาน เหมาะกับเตาเผาถ่านขนาด 200 ลิตร

น้ำส้มควันไม้ เป็นของเหลวสีน้ำตาลใส มีกลิ่นควันไฟ ที่ได้มาจากการควบแน่นควัน เกิดมาจากการเผาถ่านไม้ในช่วงที่ไม้กำลังเปลี่ยนเป็นถ่าน ที่อุณหภูมิ 300-400 องศาเซลเซียส โดยสารประกอบต่างๆ ในไม้ฟืนจะถูกความร้อนทำให้สลายตัวเกิดเป็นสารประกอบใหม่ 200 ชนิด มีความเป็นกรดอ่อนๆ ซึ่งมีสารประกอบมากมายที่เป็นประโยชน์ในภาคเกษตร สามารถใช้น้ำส้มควันไม้ปรับปรุงบำรุงดิน ใช้เป็นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช เป็นสารเร่งการเจริญเติบโตของพืชบริเวณราก ลำต้น หัว ใบ ดอก และผล ใช้เป็นฮอร์โมนพืช เป็นสารยับยั้งและควบคุมโรคพืชที่มีสาเหตุจากไส้เดือนฝอยและเชื้อรา ฯลฯ

เรียกได้ว่า น้ำส้มควันไม้ เป็นตัวช่วยที่ดีสำหรับใช้ในการปลูกดูแลพืชทุกชนิด ดังนั้น เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร เสริมสร้างอาชีพและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรในอนาคต กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จึงได้นำนวัตกรรมงานวิจัย “เครื่องกลั่นน้ำส้มควันไม้” ซึ่งเป็นผลงานของ ผศ.ดร. พิสิษฏ์ มณีโชติ แห่งวิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนเรศวร แจกจ่ายให้กับชุมชนเกษตรทั่วประเทศ

ผู้บริหาร กอ.รมน. และ วช. มอบเครื่องกลั่นน้ำส้มควันไม้ให้แก่ชาวจังหวัดอ่างทอง

เครื่องกลั่นน้ำส้มควันไม้

ผศ.ดร. พิสิษฏ์ มณีโชติ ได้พัฒนาเครื่องกลั่นน้ำส้มควันไม้ที่มีประสิทธิภาพสูงระดับชุมชน เน้นออกแบบเครื่องกลั่นฯ ทรงกระบอก ที่ใช้งานง่าย มีความทนทาน มีขนาดกะทัดรัด เคลื่อนย้ายสะดวก เหมาะกับเตาเผาถ่านขนาด 200 ลิตร ซึ่งมีใช้งานทั่วไป รองรับการกลั่นน้ำส้มควันไม้ได้ครั้งละ 10 ลิตร ใช้พลังงานในการกลั่นน้อยกว่าเครื่องทั่วไป สามารถกลั่นได้บ่อยครั้ง โดยไม่ต้องรอให้ได้น้ำส้มควันไม้ปริมาณมากๆ ก่อน

น้ำส้มควันไม้ ที่ได้จากเครื่องกลั่นนี้ เป็นน้ำส้มควันไม้บริสุทธิ์ มีสีน้ำตาลอ่อน เหลวใส เป็นเนื้อเดียวกัน ไม่แยกชั้น ไม่มีตะกอน ไม่มีสิ่งเจือปนอื่นๆ ที่สำคัญคือ มีองค์ประกอบที่ผ่านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน มผช. 660/2547 และมีสารไดออกซินและฟิวเรนอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน มีความปลอดภัยต่อการนำไปใช้งาน ทั้งด้านเกษตร ปศุสัตว์ ใช้งานทั่วไปในครัวเรือน หรือเป็นส่วนประกอบในอุตสาหกรรมต่างๆ

ผศ.ดร. พิสิษฏ์ มณีโชติ (เสื้อดำ) วิทยาลัยพลังงานทดแทนฯ มหาวิทยาลัยนเรศวร

องค์ประกอบ “เครื่องกลั่นน้ำส้มควันไม้”

เครื่องกลั่นน้ำส้มควันไม้ มีส่วนประกอบหลัก คือถังต้มและถังกลั่น ถังต้มมีขนาดกว้าง 26 เซนติเมตร สูง 38 เซนติเมตร ก้นถังเรียบ ถังต้มสร้างด้วยสแตนเลสแผ่นม้วนขึ้นรูป มีท่อสแตนเลสสำหรับเติมและระบายน้ำส้มควันไม้พร้อมฝาปิดอย่างละ 1 จุด มีแผ่นจานสแตนเลสต่อกับท่อสแตนเลสเพื่อรับน้ำส้มควันไม้ที่ได้จากการควบแน่นออกสู่นอกถังต้ม ถังควบแน่น มีขนาดกว้าง 26 เซนติเมตร สูง 19 เซนติมตร ถังต้มสร้างด้วยสแตนเลสแผ่นม้วนขึ้นรูป ก้นถังเป็นทรงกรวย มีก๊อกน้ำขนาดครึ่งนิ้วสำหรับถ่ายน้ำ เครื่องกลั่นน้ำส้มควันไม้มีตัวล็อกสำหรับให้ถังต้มและถังควบแน่นยึดติดกัน 3 จุด
หม้อต้ม ทำหน้าที่รองรับน้ำส้มควันไม้เพื่อใช้ในการต้ม ทำให้น้ำส้มควันไม้เดือด
หม้อควบแน่น เป็นที่รองรับน้ำอุณหภูมิห้องหรือเย็นกว่า เพื่อใช้แลกเปลี่ยนความร้อนกับน้ำส้มควันไม้ที่เกิดจากหม้อต้ม
ก๊อกถ่ายน้ำร้อน เป็นวาล์วระบายน้ำทิ้ง เมื่อน้ำที่แลกเปลี่ยนความร้อนมีอุณหภูมิสูงขึ้น
ท่อวัดระดับน้ำในหม้อต้มและเติมน้ำส้มควันไม้ เป็นท่อที่ใช้วัดระดับของน้ำส้มควันไม้ภายในหม้อต้ม และเป็นท่อที่เอาไว้เติมปริมาณน้ำส้มควันไม้
ชุดจานรองน้ำกลั่น ใช้สำหรับน้ำส้มควันไม้ที่มีการกลั่นตัว หยดลงมาที่จานและผ่านไปในท่อที่ติดกับจาน เพื่อได้น้ำส้มที่กลั่นแล้วออกมา
ชุดล็อกหม้อ ใช้สำหรับล็อกหม้อต้มและหม้อควบแน่นไว้ด้วยกัน

เครื่องกลั่นน้ำส้มควันไม้

ขั้นตอนการใช้งานเครื่องกลั่นน้ำส้มควันไม้

1. เตรียมน้ำส้มควันไม้ที่จะกลั่น โดยนำไปกรองใส่ถ่าน
2. นำน้ำส้มควันไม้ที่กรองแล้วเทลงในหม้อต้ม
3. ประกอบหม้อต้มและหม้อควบแน่นใส่กันแล้วนำไปตั้งบนเตาไฟ
4. เติมน้ำเปล่าใส่หม้อควบแน่น ประมาณ เศษ 3 ส่วน 4 ของหม้อ คอยเปลี่ยนถ่ายน้ำเพื่อควบคุมให้อุณหภูมิน้ำไม่เกิน 4 องศาเซลเซียส เพราะหากน้ำมีอุณหภูมิเกิน 40 องศาเซลเซียส จะทำให้เกิดการกลั่นตัวของน้ำส้มควันไม้ได้ช้า หากใช้น้ำเย็นจะทำให้มีการกลั่นตัวได้เร็วขึ้น
5. นำภาชนะตั้งรองรับน้ำส้มควันไม้ที่กลั่นได้
6. คอยตรวจดูระดับน้ำส้มควันไม้ในหม้อต้ม โดยเปิดดูจากท่อเติม หากน้ำส้มควันไม้เหลือน้อยก็ให้เติมน้ำส้มควันไม้ใส่ที่ท่อเติม แล้วปิดฝาไว้

ขั้นตอนการกลั่นน้ำส้มควันไม้

การเก็บน้ำส้มควันไม้

1. การตักเก็บน้ำส้มควันไม้ ให้สังเกตสีของควันเป็นสีเหลืองน้ำตาลปนเทา โดยนำกระเบื้องเคลือบสีขาวมาอังที่ปล่องไฟดูจะเป็นสีน้ำตาล จากนั้นนำท่อไม้ไผ่ที่เตรียมไว้มาวางต่อกับปล่องควัน โดยตั้งท่อไม้ไผ่ให้เอียงชันขึ้นไป ประมาณ 45 องศา ห่างขึ้นไป 1 ข้อไม้ไผ่ ให้ใช้เลื่อยตัดเปิดท่อไม้ไผ่ให้เป็นรู เพื่อให้น้ำส้มควันไม้หยดลงมา แล้วหาขวดมารองรับน้ำ
2. ที่ระยะห่างขึ้นไปอีก 1 ข้อไม้ไผ่ หรือราว 40 เซนติเมตร ให้ติดตั้งระบบควบแน่นด้วยการใช้ผ้าชุบน้ำมาพันให้รอบท่อ และใช้ขวดพลาสติกบรรจุน้ำเจาะรูที่ฝาขวด ให้น้ำหยดตรงบริเวณที่พันผ้า เพื่อให้ท่อเย็นตลอดเวลา
3. หมั่นตรวจควันซ้ำเป็นระยะ เมื่อสีน้ำส้มควันไม้เข้ม และมีความหนืดมากจึงหยุดเก็บน้ำส้มควันไม้
4. ตัวอย่างตารางเวลาการเก็บน้ำส้มควันไม้ หากเริ่ม 08.00 น. ติดไฟหน้าเตาเวลาประมาณ 10.30 น. เริ่มเก็บน้ำส้มควันไม้ ประมาณ 17.00 น. หยุดเก็บน้ำสัมควันไม้และปิดเตาเวลาประมาณ 18.30 น. ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับชนิดของไม้ ความชื้นและความชำนาญด้วย

โชว์น้ำส้มควันไม้ก่อน-หลังการกลั่น

การเก็บรักษาน้ำส้มควันไม้ให้บริสุทธิ์ก่อนใช้

เนื่องจาก น้ำส้มควันไม้ มีสารประกอบถึง 200 กว่าชนิด ย่อมมีประโยชน์และโทษ จำเป็นต้องทำให้บริสุทธิ์ก่อนใช้ โดยมีวิธีการ ดังนี้
1. การปล่อยให้ตกตะกอน เป็นวิธีง่ายๆ ที่นิยมใช้กันมาก โดยนำน้ำส้มควันไม้ดิบที่กลั่นได้ มาเก็บในถังทรงสูงมากกว่า ความกว้าง ประมาณ 3 เท่า ทิ้งให้ตกตะกอน ในระยะ 90 วัน จะทำให้น้ำส้มควันไม้แยกตัวเป็น 3 ระดับ โดยชั้นบนจะเป็นน้ำมันใส ชั้นกลาง จะเป็นของเหลวสีชา ซึ่งก็คือ น้ำส้มควันไม้ สามารถนำไปใช้ได้ ส่วนชั้นล่างสุดเป็นของเหลวข้นสีดำ เรียกว่า น้ำมันดิน หรือทาร์ สามารถลดเวลาการตกตะกอน โดยการผสมผงถ่าน ประมาณ 5% ของน้ำหนักรวมของน้ำส้มควันไม้ทั้งหมด ผงถ่านจะดูดซับทั้งน้ำมันใสชั้นบน และน้ำมันดินลงสู่ชั้นล่างสุด ในเวลาที่เร็วขึ้นเพียง 45 วัน เท่านั้น
ทั้งนี้ ถังตกตะกอนควรติดตั้งวาล์ว 3 หรือ 2 ระดับ ในกรณีเลือกใช้ผงถ่านในการช่วยตกตะกอน โดยวาล์วนี้จะช่วยในการเก็บผลผลิตให้สะดวกขึ้น หลังจากตกตะกอนในถังจนครบกำหนดแล้ว จึงนำของเหลวสีชาชั้นกลางมากรองซ้ำอีกครั้งด้วยผ้ากรอง จึงจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ โดยทั่วไปน้ำส้มควันไม้ที่บริสุทธิ์ควรจะมีน้ำมันดินไม่เกิน 1% น้ำส้มควันไม้ที่ดีควรจะมีสีใสจนถึงชา หากมีลักษณะขุ่นดำ แสดงถึงความหนาแน่นของน้ำมันดิน ซึ่งไม่เป็นผลดีในการนำไปใช้งาน
2. การกรองและกลั่น ซึ่งทั้งสองวิธีการทำน้ำส้มควันไม้ให้บริสุทธิ์นี้ เป็นเทคนิคที่ค่อนข้างยุ่งยาก นิยมใช้กันในระดับโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อให้ได้ผลผลิตน้ำส้มควันไม้ที่มีคุณสมบัติเฉพาะในอุตสาหกรรมนั้น

คุณประโยชน์ของน้ำส้มควันไม้

ด้านปศุสัตว์ (หากใช้ในอัตราส่วนที่เข้มข้นกว่า 1 : 20 ควรสวมถุงมือ หรือระมัดระวังในการใช้)
1. ขับไล่เห็บ หมัด รักษาเรื้อนของสัตว์ ใช้น้ำส้มควันไม้ 1 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 1 ลิตร ฉีดพ่นที่ตัวสัตว์ สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง
2. กำจัดกลิ่นและขับไล่แมลงในคอกสัตว์ ใช้น้ำส้มควันไม้และน้ำ ในอัตราส่วน 1 : 100 ผสมน้ำราดพื้นคอกสัตว์ทุกๆ 7 วัน
3. กำจัดกลิ่นขยะและป้องกันไม่ให้แมลงวางไข่ ใช้น้ำส้มควันไม้และน้ำ ในอัตราส่วน 1 : 100 ผสมน้ำราดหรือพ่นกองขยะ
ด้านการเกษตร ควรใช้ติดต่อกันประมาณ 1 เดือน จึงจะเห็นผล
1. ป้องกันโรครากเน่า ใช้น้ำส้มควันไม้และน้ำ ในอัตราส่วน 1 : 100 ผสมน้ำฉีดพ่นลงดินก่อนปลูกพืช 15 วัน
2. เพื่อเร่งการเจริญเติบโต กระตุ้นความต้านทานโรค ใช้น้ำส้มควันไม้และน้ำ ในอัตราส่วน 1 : 200 ผสมน้ำราดรดโคนต้นทุก 7-15 วัน
3. ป้องกันศัตรูพืช ขับไล่แมลงทุกชนิดและเชื้อรา ใช้น้ำส้มควันไม้และน้ำ ในอัตราส่วน 1 : 200 ผสมน้ำราดรดโคนต้นทุก 7-15 วัน
4. ช่วยในการสังเคราะห์น้ำตาลของพืช (ช่วยให้พืชผักและผลไม้มีรสหวาน) ใช้น้ำส้มควันไม้และน้ำ ในอัตราส่วน 1 : 500 ผสมน้ำฉีดพ่นผลอ่อน หลังจากติดผลแล้ว 15 วัน และพ่นอีกครั้งก่อนเก็บเกี่ยว 20 วัน
5. ป้องกันมดและแมลง ใช้น้ำส้มควันไม้และน้ำ ในอัตราส่วน 1 : 20 หรือใช้เข้มข้น ผสมน้ำราดหรือพ่นบริเวณที่มีมดหรือแมลง
6. ป้องกันเชื้อราในยางพารา ใช้น้ำส้มควันไม้และน้ำ ในอัตราส่วน 1 : 20 ทาบริเวณหน้ายางพารา
คำแนะนำ ด้านการเกษตรและปศุสัตว์นั้น ในการใช้งาน ครั้งที่ 1-2 ควรผสมกับสารเคมีที่ใช้อยู่เดิม ในอัตราส่วนครึ่งต่อครึ่ง ผสมน้ำแล้วฉีดพ่นในการใช้ครั้งถัดไป จึงเปลี่ยนมาใช้เฉพาะน้ำส้มควันไม้เพียงอย่างเดียว โดยไม่ต้องใช้สารเคมี

น้ำส้มควันไม้ สินค้าขายดี

ข้อควรระวังในการใช้น้ำส้มควันไม้

1. ก่อนนำน้ำส้มควันไม้ไปใช้ ต้องทิ้งไว้จากการกักเก็บก่อนอย่างน้อย 3 เดือน หรือผ่านกระบวนการกลั่น
2. เนื่องจากน้ำส้มควันไม้มีความเป็นกรดสูง ควรระวังอย่าให้เข้าตา อาจทำให้ตาบอดได้
3. น้ำส้มควันไม้ไม่ใช่ปุ๋ย แต่เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา ดังนั้น การนำไปใช้ทางการเกษตรจะเป็นตัวเสริมประสิทธิภาพให้กับพืช แต่ไม่สามารถใช้แทนปุ๋ยได้
4. การใช้เพื่อฆ่าเชื้อจุลินทรีย์และแมลงในดิน ควรทำก่อนเพาะปลูกอย่างน้อย 10 วัน
5. การนำน้ำส้มควันไม้ไปใช้ต้องผสมน้ำให้เจือจางตามความเหมาะสมที่จะนำไปใช้
6. การฉีดพ่นน้ำส้มควันไม้ เพื่อให้ดอกติดผล ควรพ่นก่อนที่ดอกจะบาน หากฉีดพ่นหลังจากดอกบานแมลงจะไม่เข้ามาผสมเกสร เพราะกลิ่นฉุนของน้ำส้มควันไม้และดอกจะร่วงง่าย

ที่มา: เทคโนโลยีเกษตร

วช. หนุน ม.นเรศวร วิจัยผ่าทางตันส่งออกมะม่วงยุคโควิด ขนส่งทางเรือไปญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ ดันยอด 100 ตัน/สัปดาห์

ปัจจุบันมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญ ทั้งจำหน่ายในประเทศและส่งออกไปต่างประเทศ เป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคในประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้และจีน สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศมากกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี ในปี 2564 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะส่งออกผลผลิตมะม่วงได้ประมาณ 1,800 ตัน แต่จากการระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้การส่งออกมะม่วงเกรดพรีเมียมไปญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เกิดการชะงัก เพราะไม่มีเที่ยวบินขนส่ง

“โครงการ การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเพื่อการส่งออกตลาดประเทศญี่ปุ่นโดยการขนส่งทางเรือ” เป็นแนวทางสำคัญที่ช่วยจะระบายสินค้าในช่วงฤดูกาลผลิต เพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจของชุมชนและของประเทศ

ผศ. ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่า ภายใต้การสนับสนุนทุนการวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม (สกสว.) ในโครงการ “การวิิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเพื่อการส่งออกตลาดประเทศญี่ปุ่นโดยการขนส่งทางเรือ”

คณะวิจัยได้ศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคนิคเพื่อยืดอายุในการเก็บรักษามะม่วงและเวลาการวางขายในตลาดให้นานขึ้น เพื่อสามารถขนส่งได้โดยทางเรือ แนวทางแรก คณะนักวิจัยได้ศึกษาเทคนิคการส่งออกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองในสภาพดัดแปลงบรรยากาศโดยบรรจุในถุงพลาสติก WEB (White Ethylyne Absorbing Bag) สามารถเก็บรักษามะม่วงได้นานถึง 24 วัน ทำให้ผู้ส่งออกสามารถส่งออกมะม่วงทางเรือได้

ปกติการขนส่งทางเรือไปญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้จะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ เมื่อถึงปลายทางก็ยังมีเวลาวางจำหน่ายสินค้าอีกประมาณ 10 วัน วิธีการนี้ลูกค้าปลายทางจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น คือค่าแรงในการแกะห่อพลาสติกออก

แนวทางนี้ได้มีการถ่ายทอดไปให้ภาคเอกชนแล้ว และสามารถระบายมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองจากที่ไม่สามารถส่งออกได้ในช่วงการระบาดของโควิด ทำให้ส่งออกไปญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ได้ถึงสัปดาห์ละ 28 ตัน หรือเดือนละกว่า 100 ตัน

สำหรับแนวทางที่สองเป็นการส่งออกมะม่วงในตู้ควบคุมบรรยากาศ ซึ่งสามารถยืดอายุการเก็บรักษามะม่วงได้ถึง 30 วัน และเมื่อนำออกมาจากตู้ควบคุมบรรยากาศจะมีอายุในการเก็บรักษาและวางจำหน่ายได้อีก 7 วัน สมมติว่าต้นทุนการขนส่งทางเครื่องบินเป็น 3 ส่วน การขนส่งทางเรือด้วยห้องเย็นธรรมดามีต้นทุนแค่ 1 ส่วน ในขณะที่การขนส่งทางเรือด้วยตู้ควบคุมบรรยากาศจะเป็น 1.5 ส่วน เพราะฉะนั้นก็ยังมีค่าใช้จ่ายถูกกว่าขนส่งทางเครื่องบิน ซึ่งเป็นต้นทุนการขนส่งที่ลูกค้าปลายทางยอมรับได้ และที่สำคัญสามารถส่งออกสินค้้าได้ในปริมาณมากๆ ด้วยวิธีส่งออกทางเรือด้วยตู้ควบคุมบรรยากาศ คาดว่าจะทำให้ส่งออกมะม่วงได้มากถึงสัปดาห์ละ 100 ตัน ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับภาคเอกชนที่สนใจ

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่่า จากเดิมการขนส่งมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองไปยังประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้จะใช้การขนส่งทางเครื่องบิน เมื่อเกิดการระบาดของโควิด -19 การขนส่งทางเครื่องบินจึงหยุดชะงัก ส่งผลให้ผลผลิตที่เคยส่งออกตกค้างในประเทศ เกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงเดือดร้อนจากราคาผลผลิตที่ตกต่ำ

การวิจัยครั้งนี้ถือเป็นความสำเร็จครั้งแรกของประเทศที่ช่วยยืดอายุในการเก็บรักษามะม่วง ทำให้ประเทศไทยสามารถส่งออกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองไปยังประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ได้ครั้งละมากๆ ต้นทุนต่อหน่วยต่ำ สามารถวางจำหน่ายได้นาน มีต้นทุนที่สามารถแข่งขันกับผู้ค้ารายอื่นๆ ได้ เป็นการเพิ่มขีดความสามารถให้กับการส่งออกของไทย

ที่มา: เทคโนโลยีเกษตร

วช. มอบรางวัลวิจัยแห่งชาติ ให้ ม.นเรศวร ที่คิดค้นนวัตกรรมเพิ่มมูลค่ารำข้าว

นักวิจัย คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเครื่องคงสภาพรำข้าวด้วยระบบอินฟราเรดร่วมกับถังไซโคลนสำหรับวิสาหกิจชุมชนและโรงสีข้าวขนาดเล็ก เป็นผลสำเร็จช่วยให้ผู้บริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ ที่บริโภคข้าวเป็นอาหาร อุดมสมบูรณ์ด้วยวิตามิน เอ ดี และ เค จนได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ระดับดีในปีนี้

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เห็นถึงประโยชน์ของเครื่องคงสภาพรำข้าวด้วยระบบอินฟราเรดร่วมกับถังไซโคลนสำหรับวิสาหกิจชุมชนและโรงสีข้าวขนาดเล็ก ที่สามารถนำไปช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับรำข้าวและสามารถนำไปต่อยอดใช้งานได้จริงกับผู้ประกอบการระดับวิสาหกิจชุมชนและโรงสีข้าวขนาดเล็กในอนาคตได้ จึงมอบรางวัลการวิจัยแห่งชาติ : รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2564 ระดับดี สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา แก่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ขนิษฐา และคณะ แห่งคณะเกษตรศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งจะมีพิธีมอบรางวัลการวิจัยแห่งชาติในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2564 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 – 30 พฤษภาคม 2564 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ขนิษฐา รุตรัตนมงคล เปิดเผยว่า จากการศึกษาปัญหาหลักของการผลิตน้ำมันรำข้าวบีบเย็นในระดับวิสาหกิจชุมชน ได้แก่ คุณภาพของรำข้าวลดลงอย่างรวดเร็วเนื่องจากการทำงานของเอนไซม์ไลเพส ส่งผลทำให้เกิดกรดไขมันอิสระและทำให้ค่าความเป็นกรดของน้ำมันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ซึ่งเครื่องต้นแบบจะช่วยยืดอายุหรือคงสภาพรำข้าวเพื่อแก้ปัญหาการเสื่อมคุณภาพของรำข้าวภายหลังกระบวนการขัดสีได้เร็วและมีประสิทธิภาพที่สุด โดยการใช้เทคนิคการให้ความร้อนแบบอินฟราเรดร่วมกับระบบถังไซโคลนแบบต่อเนื่อง โดยเริ่มจากการทดสอบสภาวะที่เหมาะสมในการคงสภาพรำข้าวด้วยเครื่องให้ความร้อนแบบอินฟราเรดขนาดจำลองในห้องปฏิบัติการที่เป็นระบบการผลิตแบบกะ เพื่อนำผลการศึกษาที่ได้มาเป็นแนวทางพัฒนาเครื่องคงสภาพรำข้าวต้นแบบที่มีกำลังการผลิตอย่างน้อย 100 กิโลกรัมต่อวัน

จากการทดลองพบว่าสภาวะการคงสภาพรำข้าวที่กำลังวัตต์สูงสุด 9000 วัตต์และระยะเวลานานที่สุด 4.21 นาที (ความเร็วรอบเท่ากับ 10 Hz) ทำให้ค่า FFA ของรำข้าวลดลงต่ำที่สุดเท่ากับ 1.97% และ 3.67%ที่อายุการเก็บ 4 สัปดาห์ ที่อุณหภูมิการเก็บ 30 และ 40 องศาเซลเซียส ตามลำดับ และอยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์ที่แนะนำ (ร้อยละ 5) และพบว่าที่สภาวะดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อปริมาณสารสำคัญต่าง ๆ ในรำข้าว โดยที่ค่าความชื้นและค่าวอร์เตอร์แอคติวิตี้มีค่าต่ำกว่า 0.6 ซึ่งส่งผลให้ปริมาณเชื้อจุลินทรีย์ในตัวอย่างมีค่าอยู่ภายใต้เกณฑ์มาตรฐาน CODEX ซึ่งใน อนาคต เครื่องดังกล่าวจะนำไปทดลองใช้ในพื้นที่เขตภาคเหนือตอนล่าง อาทิ จังหวัดกำแพงเพชร เป็นต้น

ที่มา: เทคโนโลยีเกษตร

เอ็นซี โคโคนัท จับมือ มหาวิทยาลัยนเรศวร เพาะเนื้อเยื่อ มะพร้าวน้ำหอมพันธุ์ก้นจีบ ที่แรกของโลก

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564 บริษัท เอ็นซี โคโคนัท จำกัด เป็นบริษัทผู้ส่งออกมะพร้าวน้ำหอมเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ ได้ร่วมมือกับ คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมทำโครงการ COCONUT Tissue Culture หรือการพัฒนาขยายพันธุ์มะพร้าวน้ำหอม “พันธุ์ก้นจีบ” ด้วยวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อสำเร็จเป็นที่แรกของโลก

คุณณรงค์ศักดิ์ ชื่นสุชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท NC COCONUT ได้กล่าวว่า ปัจจุบัน จังหวัดราชบุรีมีการส่งออกมะพร้าวน้ำหอมพันธุ์ก้นจีบที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GI หรือสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ มีหลายอำเภอที่ปลูกมะพร้าวน้ำหอมพันธุ์ก้นจีบ เช่น อำเภอดำเนินสะดวก อำเภอบางแพ อำเภอวัดเพลง อำเภอโพธาราม อำเภอปากท่อ และอำเภอบ้านโป่ง มีพื้นที่รวมในการเพาะปลูกกว่า 100,000 ไร่ มูลค่าการส่งออกนับเป็น 10,000 ล้านบาท ต่อปี และในปัจจุบันความต้องการของเกษตรกรมีเพิ่มมากขึ้นที่หันมาปลูกมะพร้าวน้ำหอม ทำให้สายพันธุ์แท้ของมะพร้าวน้ำหอมพันธุ์ก้นจีบมีการกลายพันธุ์ ถ้าเกษตรกรนำไปเพาะปลูกกว่าจะเห็นผลผลิตก็จะเสียเวลาในการรอคอยไป 2-3 ปี ซึ่งอาจสร้างความเสียหายต่อเกษตรกรได้ บริษัท NC COCONUT ในฐานะผู้ที่มีประสบการณ์ความเชี่ยวชาญด้านมะพร้าวน้ำหอมเล็งเห็นความสำคัญในเรื่องของพันธุ์ของมะพร้าว จึงได้ร่วมมือกับ ผศ.ดร. พีระศักดิ์ ฉายประสาท คณบดี คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมกันวิจัยพัฒนาในครั้งนี้ ใช้ระยะเวลาถึง 2 ปี จนได้กล้าพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมพันธุ์ก้นจีบที่ตรงตามแม่พันธุ์ที่ให้ผลผลิตลูกดก จำนวนทะลายมาก และคงความอัตลักษณ์ในรสชาติและกลิ่นหอมเฉพาะตัวของมะพร้าวน้ำหอมพันธุ์ก้นจีบนี้

ผศ.ดร. พีระศักดิ์ ฉายประสาท คณบดี คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวรกล่าวในงานว่า การวิจัยเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อครั้งนี้ เป็นการขยายพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมพันธุ์ก้นจีบในสภาพปลอดเชื้อด้วยเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขยายพันธุ์ในอนาคต เริ่มต้นจากการคัดเลือกต้นพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมที่ดี ได้แก่ น้ำ และเนื้อมีรสชาติหวาน หอม จำนวนทะลายมาก จำนวนผลต่อทะลายพอเหมาะ ให้ผลสม่ำเสมอฯ เมื่อได้ต้นพันธุ์แล้วนำตัวอย่างพืช (Explant) ของต้นดังกล่าวไปเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เพื่อให้ได้ต้นพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมในปริมาณมาก มีลักษณะตรงตามสายพันธุ์และปลอดโรค ให้ผลดก เป็นการส่งเสริมและสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร

ในงานนี้ บริษัท NC COCONUT ยังได้ประกาศความสำเร็จความร่วมมือกับ คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมทำโครงการ COCONUT Tissue Culture หรือการพัฒนาขยายพันธุ์มะพร้าวน้ำหอม “พันธุ์ก้นจีบ” ด้วยวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อสำเร็จเป็นที่แรกของโลกอีกด้วย เพื่อให้คงไว้ซึ่งต้นพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมแท้และดั้งเดิมพันธุ์ก้นจีบ จังหวัดราชบุรี ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GI สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ โดยการวิจัยครั้งนี้จะมีประโยชน์ต่อเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวน้ำหอม และถือได้ว่าเป็นการส่งเสริมการส่งออกอีกด้วย

ที่มา: เทคโนโลยีเกษตร

Sustainability

NARESUAN UNIVERSITY

Solverwp- WordPress Theme and Plugin