Mango AI แอปพลิเคชั่นปัญญาประดิษฐ์ ยกระดับเกษตรกรไทยยุคใหม่ ด้วยนวัตกรรม

พัฒนาโดย รศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท คณะเกษตรศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยงบประมาณสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ที่จัดสรรให้กับโครงการวิจัยภายใต้แผนงานการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (BCG in Action)

ประเทศไทยมีพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ มีทรัพย์ในดิน สินในน้ำ ร่ำรวยด้วยทรัพยากรธรรมชาติ เพาะปลูกพืชผลใดๆ ก็งอกงาม แต่แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศทึ่พี่งพาจีดีพีจากภาคเกษตรมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก แต่ความจริงที่น่าเจ็บปวดคือ คุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยกลับไม่ดีเท่าที่ควร เพราะแม้จะเพาะปลูกและได้ผลผลิตออกตามฤดูกาล แต่ก็ขาดการเกษตรแม่นยำสูง ส่วนใหญ่ยังพึ่งพาฟ้าฝนและองค์ความรู้ในการทำการเกษตรแบบดั้งเดิมเป็นหลัก

แต่น่ายินดีที่หน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐหันมาให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาสนับสนุนภาคการเกษตรด้วยความร่วมมือแบบบูรณาการมากขึ้น หนึ่งในนั้นที่น่าสนใจและเป็นนวัตกรรมล่าสุดที่น่าจับตา คือ Mango AI ระบบแจ้งเตือนอัจฉริยะสําหรับการผลิตมะม่วง ที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยนเรศวร จากการสนับสนุนทุนวิจัยของ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ซึ่งสวนรวงทองและกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ จังหวัดพิษณุโลก นำไปทดลองใช้แล้วได้ผลสัมฤทธิ์ที่น่าพึงพอใจ

อ่านข่าวเพิ่มเติมได้ที่ : Mango AI แอปพลิเคชั่นปัญญาประดิษฐ์
ที่มา: Salika.co

ม.นเรศวร จัดการประชุมวิชาการระดับชาติ นเรศวรวิจัยและนวัตกรรม ครั้งที่ 18

วันที่ 25 – 26 กรกฎาคม 2565 มหาวิทยาลัยนเรศวร จัดการประชุมวิชาการระดับชาติ นเรศวรวิจัยและนวัตกรรม ครั้งที่ 18 “Steering Towards Frontier University: Challenges and Foresight” ในรูปแบบ Hybrid: Online & Onsite ณ อาคารอุทยานองค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช มหาวิทยาลัยนเรศวร

มหาวิทยาลัยนเรศวร มีเป้าหมายในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยเพื่อให้เป็นมหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรมที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับ และสร้างผู้นำทางการวิจัยในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ และด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ โดยมหาวิทยาลัยนเรศวรดำเนินการวิจัยที่มุ่งตอบสนองต่อความต้องการของชุมชน สนับสนุนการทำนุศิลปะและวัฒนธรรม สร้างผลงานวิชาการที่สร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัย ซึ่งสามารถนำไปพัฒนาสังคม และประเทศชาติได้อย่างแท้จริง กองการวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานสนับสนุนหลักด้านวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัย เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาระบบบริหารงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อผลักดันการสร้างผลงานวิจัยถ่ายทอดองค์ความรู้งานวิจัย และการต่อยอดผลงานวิจัยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงได้กำหนดจัดงานประชุมวิชาการนเรศวรวิจัยและนวัตกรรม ครั้งที่ 18 ” Steering Towards Frontier University: Challenges and Foresight” เพื่อเป็นการพัฒนา รวบรวม แลกเปลี่ยนข้อมูลสารสนเทศทางด้านการวิจัย ประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ผลงานวิจัยและนวัตกรรมในรูปแบบต่างๆ และจัดเวทีวิชาการเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเพิ่มประสิทธิภาพการทำวิจัยให้แก่นักวิจัย นิสิต นักศึกษา และผู้ที่เกี่ยวข้องกับระบบบริหารงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในการประชุมวิชาการดังกล่าว จะมีกิจกรรมประกอบด้วย การนำเสนอผลงานวิจัย ผลงานวิทยานิพนธ์ และวิจัยสถาบัน โดยบุคลากรจากสถาบันอุดมศึกษาทั้งในและต่างประเทศ การจัดแสดงนิทรรศการผลงานวิจัยและนวัตกรรมของหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัย และหน่วยงานภายนอกต่างๆ อีกทั้ง กำหนดให้มีการบรรยายจากผู้ทรงคุณวุฒิ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งนี้ การประชุมวิชาการดังกล่าว ยังก่อให้เกิดประโยชน์หลายประการ สำหรับนักวิชาการ นักวิจัย นิสิต นักศึกษา และผู้เข้าร่วมประชุมโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมวิชาการ จะแสดงให้เห็นถึงศักยภาพ และความเข็มแข็งขององค์กรหรือสถาบันการศึกษานั้นได้เป็นอย่างดียิ่ง รวมถึงได้การยอมรับจากสถาบันการศึกษาอื่นๆอีกด้วย

วัตถุประสงค์
 1. เพื่อตอบสนองประเด็นยุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัยนเรศวรตามภารกิจหลักด้านการวิจัยและนวัตกรรม
 2. เพื่อเป็นเวทีการนำเสนอผลงานวิจัย และผลงานวิทยานิพนธ์ ในรูปแบบออนไลน์ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสบการณ์ด้านการวิจัยและนวัตกรรม ระหว่างบุคลากรทั้งในสถาบันการศึกษาหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน หรือแม้กระทั่งบุคคลทั่วไป ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงได้การยอมรับจากสถาบันการศึกษาอื่นๆ
 3. เพื่อให้เกิดความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างมหาวิทยาลัยหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
 1. ผลผลิตงานวิจัยและนวัตกรรม นำไปใช้ประโยชน์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม
 2. การนำเสนอผลงานเป็นไปตามมาตรฐานของการจัดประชุมวิชาการระดับชาติ สกอ.

ที่มา: กองการวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร

“อุทยานวิทยาศาสตร์ ม.นเรศวร”ชูอาหารนุ่มพร้อมทานช่วยผู้ป่วยที่กลืนลำบากให้ได้รับสารอาหาร

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 รศ.(พิเศษ) ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) ดำเนินโครงการสร้างกำลังคนและทักษะแห่งอนาคตในภูมิภาค เพื่อตอบโจทย์การพัฒนานวัตกรรมของประเทศ ซึ่งกำกับดูแลโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ตามแผนงานการพัฒนาระบบนิเวศเพื่อสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ โดยได้ทีม “Samadul Food” จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ทำผลิตภัณฑ์ “เพียวเร่ข้าวมธุปายาส และเนื้อเทียมโปรตีนพืชสำหรับฝึกกลืน” ภายใต้แนวคิดธุรกิจอาหารนุ่มพร้อมทานเพื่อดูแลผู้ที่มีภาวะกลืนลำบากให้ได้รับสารอาหารพื้นฐาน ทานน้อยแต่ได้ครบ ใช้ฝึกกลืนฟื้นฟูกล้ามเนื้อการกลืนด้วยเมนูจากพืชและมาจากภูมิปัญญาไทย ซึ่งนอกจากการสนับสนุนทุนในการพัฒนาต้นแบบแล้ว อุทยานฯ ยังได้เข้าไปช่วยเหลือทีมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้สามารถมองงานได้อย่างเข้าใจและโฟกัสกับผลิตภัณฑ์ว่ามีข้อเด่นอย่างไร และทำให้ชัดขึ้นได้อย่างไร พร้อมมีระบบติดตามความก้าวหน้าที่มีประสิทธิภาพ ทำให้การพัฒนาผลิตภัณฑ์ไม่ออกนอกเส้นทางและถึงเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ในเวลาที่กำหนด รวมถึงสร้างเครือข่ายให้ทีมมีความผูกพันกันเองมากขึ้น ทำให้ได้ฝึกวิธีคิดและหาทางออก

เลขานุการ รมว.อว. กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ทีมยังได้รับความรู้ในการทำธุรกิจแบบมียุทธศาสตร์ ซึ่งทำให้สามารถเริ่มต้นทำธุรกิจได้แบบไม่เสี่ยงหรือเจ็บตัว นอกจากผลิตภัณฑ์จะมีโอกาสสามารถทำยอดขายสูงได้ในอนาคตแล้ว ยังทำให้สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่ช่วยสร้างคุณค่าต่อโรงพยาบาลสำคัญ ๆ ในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นอาหารที่ช่วยดูแลผู้ป่วย ลดค่าใช้จ่ายอาหารทางการแพทย์และสารให้ความข้นหนืดที่ต้องนำเข้า นอกจากจะช่วยให้เกิดรายได้ให้วิสาหกิจชุมชนที่ปลูกผักและพืชสมุนไพร ยังสร้างโอกาสในธุรกิจให้กับร้านจำหน่ายวัตถุดิบอาหารสุขภาพ หรือร้านขายอาหารทางการแพทย์อีกด้วย

ที่มา: dailynews

อร่อยเต็มอิ่ม กับ “ทุเรียนหลง-หลินลับแล” ด้วยนวัตกรรม “ยืดอายุทุเรียนสดแบบแกะพู”ของมหาวิทยาลัยนเรศวร

จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นเมืองมหัศจรรย์แห่งผลไม้ เพราะอุดมสมบูรณ์ไปด้วยผลไม้หลากหลายชนิด ทั้งทุเรียน ลางสาด สับปะรดห้วยมุ่น ฯลฯ โดยผลไม้ที่สร้างชื่อเสียงมากที่สุดคือ ทุเรียนพันธุ์หลงลับแล และหลินลับแล ซึ่งมีแหล่งผลิตสำคัญอยู่ที่อำเภอลับแลและอำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ มีผลผลิตเข้าสู่ตลาดประมาณเดือนเมษายน-สิงหาคม ของทุกปี

“ทุเรียนหลงลับแล” เป็นทุเรียนสายพันธุ์พื้นเมืองของอำเภอลับแล มีเอกลักษณ์ประจำพันธุ์ คือ เนื้อสีเหลืองอ่อนนุ่ม ไม่มีเสี้ยน กลิ่นอ่อน รสชาติหวาน มีผลขนาดเล็ก 1-2 กิโลกรัม เมล็ดลีบ เนื้อแห้ง เจริญเติบโตได้ดีบนที่เชิงเขา ทนทานต่อโรครากเน่าโคนเน่า แม้ว่าจะนำไปปลูกในแหล่งปลูกทุเรียนอื่นๆ ก็ไม่มีรสชาติดีเท่าที่อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์

ปัจจุบัน ทุเรียนอำเภอลับแลมีราคาสูง และได้รับความนิยมมาก แต่ประสบปัญหามีคุณภาพไม่สม่ำเสมอ เนื่องจากขาดธาตุอาหาร หรือปริมาณธาตุอาหารที่มีในดินไม่เพียงพอต่อการผลิต การไว้ผลต่อต้นไม่เหมาะสม รวมทั้งปัญหาการแพร่ระบาดของหนอนผีเสื้อกลางคืนเจาะเมล็ดทุเรียนในขณะที่ผลอ่อน โดยตัวหนอนเจาะเข้าไปกัดกินเมล็ดภายในผลทุเรียน ถ่ายมูล ทำให้ทุเรียนเปรอะเปื้อน สร้างความเสียหายแก่ผลทุเรียนในช่วงฤดูฝนเป็นจำนวนมาก

วิธีดูแลทุเรียน ในระยะให้ผลผลิต
สถานวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว คณะเกษตรศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ดำเนินโครงการ “การจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตทุเรียนหลงลับแลเพื่อการส่งออก” แก่สหกรณ์การเกษตร อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ตั้งแต่การปลูกจนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิต เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร ผู้ประกอบการการค้า และผู้ส่งออก

สำหรับการดูแลต้นทุเรียนในระยะให้ผลผลิต มหาวิทยาลัยนเรศวร มีคำแนะนำดังนี้

การให้น้ำ ควรให้น้ำสม่ำเสมอในช่วงที่มีการเจริญเติบโตทางใบ และงดน้ำในช่วงปลายฝนเพื่อเตรียมการออกดอก เมื่อต้นทุเรียนออกดอกแล้วให้ควบคุมปริมาณน้ำที่จะให้ โดยค่อยๆ เพิ่มปริมาณน้ำขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้ดอกทุเรียนมีพัฒนาการที่ดี จนเมื่อดอกทุเรียนพัฒนาถึงระยะหัวกําไล (ก่อนดอกบาน 1 สัปดาห์) ให้ลดปริมาณน้ำลง โดยให้เพียง 1 ใน 3 ของปกติ เพื่อช่วยให้มีการติดผลดีขึ้น และให้น้ำในปริมาณนี้ไปจนดอกบานและติดผลใน 1 สัปดาห์ จากนั้นจึงค่อยๆ เพิ่มปริมาณน้ำขึ้นเรื่อยๆ และต้องให้น้ำอย่างเพียงพอและสม่ำเสมอตลอดช่วงพัฒนาการของผลทุเรียน
การใส่ปุ๋ย ควรใส่ปุ๋ยและวัสดุปรับปรุงดินตามผลการตรวจวิเคราะห์ดิน หรืออาจใส่ปุ๋ยตามแนวทางดังนี้

ใส่ปุ๋ยเพื่อเพิ่มความสมบูรณ์ต้นหลังเก็บเกี่ยว โดยใส่ปุ๋ยอินทรีย์ จํานวน 20-50 กิโลกรัม ต่อต้น ส่วนปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 ใส่อัตราเป็นกิโลกรัมต่อต้น เท่ากับ 1 ใน 3 ของเส้นผ่าศูนย์กลางทรงพุ่ม
ใส่ปุ๋ยเพื่อส่งเสริมพัฒนาการของผล เมื่อผลมีอายุ 7 สัปดาห์ ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 12-12-17 หรือ 13-13-21 อัตราเป็นกิโลกรัมต่อต้น เท่ากับ 1 ใน 3 ของเส้นผ่าศูนย์กลางทรงพุ่ม
ใส่ปุ๋ยเพื่อเพิ่มคุณภาพเนื้อ เมื่อผลมีอายุ 10-11 สัปดาห์ ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 0-0-50 อัตรา 1 ถึง 2 กิโลกรัมต่อต้น
การตัดแต่งดอก ทำการตัดแต่งดอกหลังจากออกดอก 5 สัปดาห์ ควรตัดแต่งช่อดอกบนกิ่งขนาดเล็ก (เส้นผ่าศูนย์กลางกิ่งน้อยกว่า 2 เซนติเมตร) หรือดอกที่อยู่ปลายกิ่งทิ้งให้เหลือเฉพาะดอกรุ่นในกิ่งเดียวกัน ให้มีจํานวนช่อดอก ประมาณ 3-6 ช่อดอก ต่อความยาวกิ่ง 1 เมตร แต่ละช่อดอกห่างกัน ประมาณ 30 เซนติเมตร
การตัดแต่งผล

ครั้งที่ 1 เมื่อผลอายุ 4-5 สัปดาห์ หลังดอกบาน ตัดแต่งผลที่มีขนาดเล็ก รูปทรงบิดเบี้ยว และไม่อยู่ในตําแหน่งที่ต้องการออก เหลือผลไว้ประมาณ 2-3 เท่า ของจำนวนผลที่ต้องการไว้จริง ครั้งที่ 2 เมื่อผลอายุ 6 สัปดาห์ หลังดอกบาน ระยะนี้ผลที่ปกติจะมีการขยายตัวด้านยาว สีผิวเขียวสดใส หนามมีขนาดปกติเรียวเล็ก ถ้าตรวจพบผลที่มีพัฒนาการผิดปกติ มีขนาดเล็ก หนามแดง หรือมีโรคแมลงเข้าทำลายให้ตัดทิ้ง

การเก็บเกี่ยวผลผลิต ใช้วิธีนับอายุ โดยประมาณ ตั้งแต่ดอกบานจนถึงผลแก่พร้อมที่จะตัดได้ พันธุ์กระดุม 90-100 วัน พันธุ์ชะนี 100-110 วัน พันธุ์ก้านยาว, พันธุ์กบ 120-135 วัน พันธุ์หมอนทอง 115-120 วัน พันธุ์หลงลับแล 105-110 วัน พันธุ์หลินลับแล 110-115 วัน

วช. จับมือ ม.นเรศวร ยืดอายุทุเรียนสดแบบแกะพู

หวังเจาะตลาดพรีเมียม อเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้

ดร. วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากความได้เปรียบทางด้านภูมิศาสตร์และวิทยาการในเรื่องการเพาะปลูก ทำให้ประเทศไทยเป็นผู้ปลูกและผู้ส่งออกทุเรียนรายใหญ่ของโลก แต่ถึงกระนั้นการส่งออกทุเรียนผลสดก็ยังประสบปัญหา เพราะผู้บริโภคไม่สามารถมองเห็นคุณภาพเนื้อทุเรียนได้ เกิดความไม่เชื่อมั่นในผลผลิต จึงมีแนวโน้มว่าผู้บริโภคจะเปลี่ยนรสนิยมไปบริโภคทุเรียนแบบแกะพูมากขึ้น เช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกา ก็มีผู้ขายทุเรียนสดแบบแกะพูเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ดังนั้น งานวิจัยจึงมีบทบาทสำคัญในการสร้างนวัตกรรม และสร้างแนวทางใหม่ๆ ที่ช่วยส่งเสริม สนับสนุน และขยายตลาดส่งออกให้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็เป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ประกอบการในการส่งออกทุเรียนไปสู่ตลาดระดับพรีเมียมที่มีมูลค่ามากกว่าเดิม

ผศ.ดร. พีระศักดิ์ ฉายประสาท คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่า ทางมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เรื่อง “การบริหารจัดการสายโซ่คุณค่ามะม่วงน้ำดอกไม้สีทองและทุเรียนหมอนทอง” จนสามารถพัฒนาและยืดอายุการเก็บรักษาทุเรียนสดแบบแกะพูเพื่อการส่งออกจนเป็นผลสำเร็จ

วช. จับมือ มหาวิทยาลัยนเรศวร ยืดอายุทุเรียนสดแบบแกะพู

วิธีดำเนินการเริ่มจากคัดเลือกผลทุเรียนที่ได้มาตรฐาน ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งทุเรียนเกรดดีที่มีเปลือกสวย และทุเรียนที่มีตำหนิ และเป็นทุเรียนที่สุกพอดี เพื่อนำมาแกะเอาเฉพาะเนื้อ โดยจะคัดเลือกแต่พูที่สวยน่ารับประทาน ได้มาตรฐาน แล้วนำไปบรรจุกล่องที่โรงงานมาตรฐานส่งออกในจังหวัดปทุมธานี ในกล่องที่บรรจุทุเรียนจะใส่ซองบรรจุสารดูดซับก๊าซเอทิลินเพื่อชะลอให้ทุเรียนสุกช้าลง (“เอทิลีน” เป็นสารที่ผลไม้แก่เต็มที่ เช่น ทุเรียน มะม่วง กล้วย สร้างขึ้นเองโดยธรรมชาติเพื่อเร่งการสุก)

กล่องที่บรรจุจะต้องเป็นกล่องพลาสติกแบบแอนตี้ฟ็อก ที่ป้องกันการเกิดหยดน้ำและป้องกันไม่ให้เกิดฝ้าขึ้นในกล่อง  วิธีการนี้จะช่วยยืดอายุทุเรียนแกะพู จากไม่เกิน 3 วัน ให้เป็น 7-10 วัน ดังนั้น จึงมีเวลาเพียงพอสำหรับการขนส่ง การส่งออกสินค้าสำหรับผู้ค้าที่อยู่ปลายทาง และมีเวลาเพียงพอที่จะวางสินค้าให้อยู่ในตลาด สำหรับประเทศที่ส่งออกคือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นตลาดระดับพรีเมียมที่ผู้บริโภคสั่งซื้อด้วยระบบพรีออเดอร์ จึงไม่มีสินค้าเหลือตกค้าง

ผศ.ดร. พีระศักดิ์ ฉายประสาท

ข้อดีของการส่งออกทุเรียนแบบแกะพู คือ สามารถนำทุเรียนที่เปลือกไม่สวยแต่เนื้อดีมาใช้ได้ แต่ข้อเสียคือ ในทุเรียนหนึ่งผลอาจจะคัดทุเรียนเนื้อดีได้ไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ทุเรียนส่วนที่เหลือที่ไม่ได้คุณภาพก็จะถูกนำไปแยกขายตามเกรด ดังนั้น ราคาขายปลายทางของทุเรียนแบบแกะพูจึงค่อนข้างสูง เช่น ในสหรัฐอเมริกา ผู้บริโภคซื้อในราคากล่องละประมาณ 30-40 เหรียญสหรัฐ ขณะที่ต้นทุนทุเรียนที่ออกจากสวนอยู่ที่ประมาณ 150 บาท ต่อกิโลกรัม เมื่อบวกค่าดำเนินการต่างๆ เช่น บรรจุกล่อง ค่าขนส่งทางเครื่องบิน ผู้ส่งออกจะได้กำไรไม่ต่ำกว่า 50 เปอร์เซ็นต์

แต่ปัญหาของการส่งออกด้วยวิธีแกะเนื้อ คือ มีปริมาณผลทุเรียนคุณภาพดีไม่เพียงพอ เพราะทุเรียนผลส่วนใหญ่ถูกส่งออกไปประเทศจีน ดังนั้น เพื่อให้มีผลทุเรียนเพียงพอสำหรับใช้งานจึงต้องดำเนินการแบบครบวงจรจากต้นทางคือ ส่งเสริมกระบวนการเพาะปลูกที่ได้มาตรฐานให้แก่เกษตร ซึ่งเป็นโครงการที่ศูนย์วิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องในการจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตทุเรียนเพื่อการส่งออกให้แก่เกษตรกรในจังหวัดอุตรดิตถ์ ปัจจุบัน มีผู้ประกอบการส่งออกทุเรียนแบบแกะพูไม่มาก ในขณะที่ตลาดในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ มีความต้องการสูงมาก จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ส่งออกของไทย

คุณประนอม ใจใหญ่

ด้าน คุณประนอม ใจใหญ่ เจ้าของสวนใจใหญ่ จังหวัดอุตรดิตถ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ทุเรียนตกเกรดที่มีปัญหาหนอนเจาะผล ผลทุเรียนมีเชื้อราสีดำ ทำให้ขายสินค้าไม่ได้ราคา นอกจากนี้ ทุเรียนหลินลับแล และหลงลับแล เกษตรกรตัดทุเรียนที่ความสุก 90-95 เปอร์เซ็นต์ ทำให้มีอายุการขายสั้น 3-4 วันเท่านั้น แต่นวัตกรรมใหม่ของมหาวิทยาลัยนเรศวร ช่วยแก้ไขปัญหาทุเรียนตกเกรดได้เป็นอย่างดี เพราะนวัตกรรมดังกล่าวช่วยยืดอายุการขายการแกะทุเรียนสดได้ยาวนานขึ้น ลูกค้ามีความมั่นใจในคุณภาพสินค้ามากขึ้น เพราะได้มองเห็นด้วยสายตาว่า เนื้อทุเรียนที่นำมาขายนั้นมีคุณภาพอย่างไร การขายทุเรียนสดแบบแกะพูจึงเป็นทางเลือกของผู้ซื้อที่ต้องการบริโภคทุเรียนที่มีคุณภาพ ซึ่งเป็นสินค้าในระดับพรีเมียม และเป็นโอกาสสำหรับผู้ผลิต ผู้ส่งออกที่จะเปิดตลาดใหม่ๆ ที่มีมูลค่าสูงในอนาคต

ที่มา: เทคโนโลยีเกษตร

ม.นเรศวร จับมือ 2 องค์กรมุ่งพัฒนานวัตกรรมห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจค้าสัตว์น้ำ และนวัตกรรมสังคม

ที่มา: คณะสังคมศาสตร์

ม.นเรศวร เดินหน้าโครงการ Smart Container for Smart Micro-Grid Technology ศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมด้าน Smart City และ นวัตกรรมดิจิทัล

เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565 ณ ห้องประชุมอาคารสัมมนา วิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนเรศวร ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.กาญจนา เงารังษี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร ให้การต้อนรับ นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในโอกาสที่ให้เกียรติเดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการนำร่อง Smart Container for Smart Microgrid Technology เพื่อพัฒนาโครงการต้นแบบโครงการนำร่อง Smart Container for Smart Microgrid Technology ให้ผู้ประกอบการ โดยเริ่มจากแนวคิดของระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาดเล็กระดับชุมชนและระดับ SMEs จะถูกบริหารจัดการในภาพรวมด้วยเทคโนโลยี SMART Microgrid ที่ชาญฉลาดและรองรับการเปลี่ยนแปลงได้ดี (Flexible Grid) และด้วยเทคโนโลยี Blockchain Network ที่ทำให้ทุกคนสามารถซื้อขายพลังงานกับผู้ผลิตหรือระหว่างกันเอง ณ เวลาที่เหมาะสม จนนำไปสู่การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ที่จะเป็นต้นแบบของการนำเทคโนโลยีดิจิทัล อินเทอร์เน็ตและ AI มาใช้ในการบริหารจัดการเมือง ทั้งทางด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิต รวมถึงการแปรรูปขยะให้เป็นพลังงาน ตามแนวนโยบาย BCG Economy ของรัฐบาล อันเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจรากฐาน โดยโครงการนำร่องสู่การพัฒนาธุรกิจจะขับเคลื่อนโดยใช้ตู้ Container ที่มีขนาดเล็ก กระทัดรัด ราคาไม่แพง ด้วยระบบ Smart Microgrid ที่ใช้เทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์ในการผลิตไฟฟ้าที่สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนไฟฟ้าได้แบบ Peer-to-Peer ในอนาคตที่มีระบบ Smart Home ที่สะดวกทันสมัย เป็นทางเลือกให้กับผู้อยู่อาศัย ผู้ที่เริ่มต้นธุรกิจ สามารถขยายผลและเชื่อมโยงสู่ภาคอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ทั้งยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ตามความเหมาะสมได้กับธุรกิจชุมชน  เช่น เป็นสำนักงาน ร้านค้า ร้านเสริมสวย ร้านขายอุปกรณ์มือถือ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังสามารถเคลื่อนย้ายตามสถานการณ์และความเหมาะสมได้ตลอดเวลา นับว่าเป็นการส่งต่อโอกาสไปให้กับผู้ที่สนใจที่ต้องการจะเริ่มต้นเป็นผู้ประกอบการได้เข้าถึงโอกาสได้อย่างง่ายขึ้น  
ด้าน นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า สำหรับภาคอุตสาหกรรม ย่อมต้องพัฒนาและปรับตัวให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง เพราะจะเป็นปัจจัยต่อการสร้างขีดความสามารถ ในการแข่งขันสำหรับอุตสาหกรรม การผลิตของประเทศ การใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล ที่มีการบริหารจัดการ ด้วยการสร้าง  Ecosystem ในการยกระดับเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต โดยมีสถาบันศึกษา นักวิชาการ ที่นำองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ มาพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีให้มีความชาญฉลาด เหมาะสมกับความต้องการใช้พลังงานสะอาด ร่วมกับการลงทุนธุรกิจใหม่ ๆ เช่น startup FinTech และ Climate Tech พร้อมกับความร่วมมือจากภาคการเงิน เช่น ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย เป็นกลไกการขับเคลื่อนของภาคอุตสาหกรรมสู่การเชื่อมโยงโมเดลเศรษฐกิจใหม่ Green Industry และอุตสาหกรรม 4.0 (Industry 4.0)

ที่มา:  วิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี

นักวิจัย ม.นเรศวร “รับรางวัลผลงานวิจัย ปี 65” วิจัยมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง ได้มาตรฐานส่งออก

เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา ผศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร เจ้าของผลงาน “ศึกษาวิจัยมะม่วงให้ได้คุณภาพมาตรฐานส่งออก” เข้ารับรางวัลผลงานวิจัย ระดับดี ในงานวันนักประดิษฐ์ 2564-2565 จากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (นายดอน ปรมัตถ์วินัย) เผยสามารถยืดอายุการเก็บรักษามะม่วงน้ำดอกไม้สีทองได้นาน 33 วัน จากเดิม 15 วัน โดยการจัดการแบบครบวงจรจากต้นทาง สร้างความมั่นคงแก่เกษตรกร และเพิ่มโอกาสการเติบโตในตลาดโลก เตรียมส่งออกจริง ขนส่งทางเรือเดือนมีนาคม 2565

ผศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท เปิดเผยว่า จากสถานการณ์โควิด – 19 ได้ส่งผลกระทบโดยตรงเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง เนื่องจากมีผลผลิตเกินความต้องการบริโภคภายในประเทศ และไม่สามารถส่งออกไปต่างประเทศได้ ที่ผ่านมา ไทยเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงในการส่งออกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง ผลไม้หลักที่สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยในปัจจุบัน ส่งออกไปต่างประเทศมากกว่าร้อยละ 60 อาทิ ประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน และ มาเลเซีย รวมทั้ง รัสเซีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ดังนั้น การวิจัยและพัฒนามะม่วงให้ได้มาตรฐานส่งออก มีอายุการเก็บรักษาได้นานขึ้น สามารถขนส่งทางเรือได้ เป็นการบรรเทาปัญหาอย่างสอดรับกับสถานการณ์ และยังช่วยสร้างความมั่นคงให้แก่การทำเกษตรกรรม และเพิ่มโอกาสการส่งออกผลไม้ของไทยไปต่างประเทศ

ทีมวิจัย ได้ศึกษาปัจจัยที่เหมาะสมต่อการฉายรังสีของมะม่วง จนค้นพบว่า การคัดเลือกความสมบูรณ์ของผลมะม่วงภายหลังการเก็บเกี่ยว ในระยะการสุกแก่ที่ 80% โดยใช้เทคนิค NIR (Near Infrared Spectroscopy) อย่างแม่นยำ ก่อนนำมาฉายรังสีชนิดก่อไอออน จะช่วยให้ผลผลิตมีความสมบูรณ์ผล และความแน่นของเนื้อที่ทนทานต่อการบอบช้ำ จึงเหมาะสมต่อการส่งออกไปต่างประเทศ รวมถึงการใช้สารละลายอะซอกซีสโตรบิน ร่วมกับการจุ่มน้ำร้อน เพื่อควบคุมการเกิดโรคหลังการเก็บเกี่ยว และการจุ่มน้ำเย็นเพื่อลดอุณหภูมิภายในผลผลิต ก่อนการคัดบรรจุและนำไปฉายรังสีชนิดก่อไอออน ทำให้ทราบว่า การฉายรังสีแกมมาและรังสีเอกซ์ที่ปริมาณ 400 Gy ที่ระยะสุกแก่ 80% มีความเหมาะสมต่อการฉายรังสีเพื่อการส่งออกมากที่สุด สะท้อนให้เห็นว่า เพื่อให้ได้ผลผลิตมะม่วงที่ได้มาตรฐานจะต้องดำเนินการแบบครบวงจรจากต้นทาง

จากนั้นจึงได้พัฒนาเทคนิคการยืดอายุมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองด้วยตู้คอนเทนเนอร์ควบคุมสภาพบรรยากาศ (Controlled Atmosphere Storage) ควบคุมปริมาณออกซิเจน และคาร์บอนไดออกไซด์ตลอดระยะเวลาการเก็บรักษา สามารถเก็บรักษาคุณภาพผลผลิตในระหว่างการขนส่งได้ 15 วัน และมีอายุการเก็บรักษาเป็นเวลา 6 วัน ด้วยตู้คอนเทนเนอร์ควบคุมสภาพบรรยากาศ ที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส และการเก็บรักษามะม่วงน้ำดอกไม้สีทองในสภาพดัดแปลงบรรยากาศ MAP (Modified atmosphere packaging) โดยการบรรจุถุงพลาสติก WEB (White ethylene absorbing bag) และเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 13 องศาเซลเซียส ทำให้สามารถยืดอายุการเก็บรักษามะม่วงน้ำดอกไม้สีทองได้เป็นระยะเวลา 33 วัน เพิ่มขึ้นจากเดิม 15 วัน การขนส่งมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองผลสดด้วยตู้คอนเทนเนอร์ควบคุมสภาพบรรยากาศ สามารถขนส่งทางเรือได้ที่มีต้นทุนต่ำได้ ผลผลิตจึงมีคุณภาพดีเมื่อไปถึงประเทศปลายทาง มีขั้นตอนที่สะดวกและเหมาะสมกับสภาพปัญหาแรงงานที่หายาก และมีราคาแพงในประเทศปลายทาง

ล่าสุด ผลผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง จะถูกขนส่งทางเรือ เป็นครั้งแรกจากประเทศไทย ในช่วงเดือนมีนาคม 2565 ซึ่งเป็นช่วงต้นฤดูกาลมะม่วง ที่คาดว่าราคาผลผลิตอาจตกต่ำ ดังนั้นจึงเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร ในช่วงฤดูกาลผลิตระหว่างเดือนเมษายน-พฤษภาคม ได้เป็นอย่างดี จากผลงานดังกล่าว จึงนำมาสู่การได้รับรางวัลผลงานวิจัย ระดับดี ประจำปี 2565 สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา จากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (นายดอน ปรมัตถ์วินัย) เมื่อวันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา ในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2564-2565 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ

ที่มา: mgronline

วช. จับมือ ม.นเรศวร พัฒนา “น้ำเสาวรสเสริมพรีไบโอติก” เพื่อผู้บริโภคยุคใหม่ ต่อยอด SMEs เขาค้อ

วช. หนุนนักวิจัย มหาวิทยาลัยนเรศวร พัฒนา “น้ำเสาวรสเสริมพรีไบโอติก” เพื่อสุขภาพ ต่อยอดเชิงพาณิชย์ เสริมศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs เขาค้อ เพชรบูรณ์ 

วันที่ 10 มกราคม 2565 : สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำโดย ดร.จันทรวิภา ธนะโสภณ ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักประสานงานชุดโครงการการพัฒนาผลิตภัณฑ์ Innovative House ลงพื้นที่ อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ เยี่ยมชมผลงานวิจัยของ มหาวิทยาลัยนเรศวรภายใต้โครงการการสนับสนุนการวิจัยเพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง (ระยะที่ ๓)

โดย วช. , สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) รวมทั้งผู้ประกอบการ SMEs บริษัท อุตสาหกรรมการเกษตรเขาค้อ จำกัด ร่วมสนับสนุนทุนวิจัย เพื่อพัฒนาองค์ความรู้จากงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ในระดับอุตสาหกรรม เกิดเป็นผลิตภัณฑ์น้ำเสาวรสเสริมพรีไบโอติกสำหรับผู้บริโภคยุคใหม่ ที่ตื่นตัวใส่ใจสุขภาพ ซึ่งมีคุณประโยชน์ และรสชาติที่ดีกว่าผลิตภัณฑ์เดิม ๆ ในท้องตลาด

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีพันธกิจสำคัญในการให้ทุนวิจัยและนวัตกรรมหลักของประเทศ และมีเป้าหมายในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดย“งานวิจัยและนวัตกรรม”จะเป็นตัวขับเคลื่อนให้ผลิตภัณฑ์จากผู้ประกอบการให้เกิดประโยชน์สูงสุด

วช.ได้ร่วมกับ สวทช. , สกสว. และ SMEs ในพื้นที่ ภายใต้โครงการการสนับสนุนการวิจัยเพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง นับเป็นโอกาสอันดีที่จะได้นำเอาผลสำเร็จของงานวิจัยและนวัตกรรม ที่วช.มีอยู่ ไปส่งเสริม เพิ่มความรู้ความสามารถให้กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะเรื่องการต่อยอดผลิตภัณฑ์จากผลิตผลทางการเกษตร ให้ปลอดภัยต่อการบริโภค ได้คุณภาพและมาตรฐานยิ่งขึ้น อันส่งผลต่อการสร้างงานและรายได้ให้กับคนในชุมชนต่อไป 

ด้าน ดร.จันทรวิภา ธนะโสภณ ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักประสานงานชุดโครงการการพัฒนาผลิตภัณฑ์ Innovative House วช. กล่าวว่า วช.รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่งานวิจัยภายใต้ความร่วมมือของ 3 หน่วยงานภาคประชาคมวิจัย และมหาวิทยาลัยนเรศวร สามารถส่งเสริมให้อุตสาหกรรมการเกษตรในพื้นที่เขาค้อได้รับการยกระดับด้วยวิจัยและนวัตกรรม อันส่งผลพวงที่ดีต่อเกษตรกรและประชาชนผู้บริโภค การลงพื้นที่ในครั้งนี้ จึงนับเป็นโอกาสอันดีที่จะได้เผยแพร่ผลงานดังกล่าวสู่สาธารณชนในวงกว้าง

ผศ.ดร.นรภัทร หวันเหล็ม อาจารย์ประจำคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร หัวหน้าโครงการ “การผลิตน้ำเสาวรสเสริมพรีไบโอติกบรรจุกระป๋อง” เปิดเผยว่า นักวิจัย และบริษัท อุตสาหกรรมการเกษตรเขาค้อ จำกัด ได้ร่วมกันพัฒนาสูตรและกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์น้ำเสาวรสเสริมพรีไบโอติกบรรจุกระป๋องให้มีคุณค่าทางสุขภาพมากกว่าเดิม ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ที่รักสุขภาพ โดยเสริมพรีไบโอติก คือ ฟรุกโตโอลิโกแซ็กคาไรด์ และอินูลิน ที่ร่างกายไม่สามารถย่อยได้เองเข้าไปเสริมกับโพรไบโอติกในลำไส้ ให้ช่วยปรับสมดุลระบบทางเดินอาหารให้ดีขึ้น ป้องกันจุลินทรีย์ที่ก่อโรคในลำไส้ อาทิ มะเร็งลำไส้ อีกทั้งน้ำตาลในน้ำเสาวรส สามารถช่วยเรื่องการดูดซึมน้ำตาลของผู้ป่วยเบาหวานได้ด้วย เหมาะสมกับผู้บริโภคทุกเพศทุกวัย ซึ่งขณะนี้ อยู่ในช่วงตรวจสอบ Commercial Product คาดว่าจะพร้อมออกจำหน่ายในเร็ว ๆ นี้

นอกจากนี้ นักวิจัยยังได้พัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพชนิดอื่น ๆ รวมกับ บจก.อุตสาหกรรมการเกษตรเขาค้อ โดยรับเอาผลิตผลทางการเกษตรของ อ.เขาค้อ มาแปรรูปให้มีคุณค่าทางอาหารมากยิ่งขึ้น อาทิ ไอศกรีมมัลเบอร์รี่ไขมันต่ำเสริมโพรไบโอติก ไอศกรีมแป้งข้าวหมากเสริมซินไบโอติกจากข้าวเหนียวลืมผัว ไอศกรีมเสาวรสไขมันต่ำเสริมซินไบโอติก ซึ่งเป็นการใช้ต่อยอดสิ่งที่มีอยู่ ให้เกิดประโยชน์สูงขึ้น

ที่มา: เทคโนโลยีเกษตร

ม.นเรศวร จัดอบรมเชิงบรรยาย หัวข้อ “กฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการผลิต การจำหน่าย และการโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหาร”

วันที่ 25 ตุลาคม 2564 รองศาสตราจารย์ ดร.ศรินทร์ทิพย์ แทนธานี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ให้เกียรติกล่าวเปิดงาน และรองศาสตราจารย์ ดร.กรกนก อิงคนินันท์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม กล่าวรายงาน การจัดอบรมเชิงบรรยาย หัวข้อ “กฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการผลิต การจำหน่าย และการโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหาร” โดยได้รับเกียรติจาก คุณนฤมล ฉัตรสง่า (รักษาการ) ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยของอาหารและการบริโภคอาหาร กองอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข เป็นวิทยากร

การจัดกิจกรรมดังกล่าวฯ เป็นความร่วมมือภาคีเครือข่ายด้านการวิจัยและนวัตกรรม ระหว่าง เมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยกองการวิจัยและนวัตกรรม และอุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อเป็นการเพิ่มพูนความรู้ ความเข้าใจ ให้กับอาจารย์ นักวิจัย และบุคลากรที่สนับสนุนด้านการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ตลอดจนบุคลากรในเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาในภาคเหนือตอนล่าง ผู้ประกอบการภาคเอกชนในพื้นที่ ให้มีความรู้ความเข้าใจในประเด็นดังกล่าวฯเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นแนวทางในการวิจัยและพัฒนา กำกับดูแลผลิตภัณฑ์อาหาร ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์ความรู้ที่จำเป็นต้องนำไปใช้ประกอบการนำผลงานวิจัยไปใช้ในเชิงพาณิชย์ให้ถูกต้องตามกฏหมาย

โดยจัดกิจกรรมระหว่างวันที่ 25-26 ตุลาคม 2565 ณ ห้องประชุมมหาราช ชั้น 2 อาคารอุทยานองค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก

ที่มา: กองการวิจัยและนวัตกรรม ม.นเรศวร

วช. หนุน ม.นเรศวร วิจัยผ่าทางตันส่งออกมะม่วงยุคโควิด ขนส่งทางเรือไปญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ ดันยอด 100 ตัน/สัปดาห์

ปัจจุบันมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญ ทั้งจำหน่ายในประเทศและส่งออกไปต่างประเทศ เป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคในประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้และจีน สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศมากกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี ในปี 2564 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะส่งออกผลผลิตมะม่วงได้ประมาณ 1,800 ตัน แต่จากการระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้การส่งออกมะม่วงเกรดพรีเมียมไปญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เกิดการชะงัก เพราะไม่มีเที่ยวบินขนส่ง

“โครงการ การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเพื่อการส่งออกตลาดประเทศญี่ปุ่นโดยการขนส่งทางเรือ” เป็นแนวทางสำคัญที่ช่วยจะระบายสินค้าในช่วงฤดูกาลผลิต เพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจของชุมชนและของประเทศ

ผศ. ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่า ภายใต้การสนับสนุนทุนการวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม (สกสว.) ในโครงการ “การวิิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเพื่อการส่งออกตลาดประเทศญี่ปุ่นโดยการขนส่งทางเรือ”

คณะวิจัยได้ศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคนิคเพื่อยืดอายุในการเก็บรักษามะม่วงและเวลาการวางขายในตลาดให้นานขึ้น เพื่อสามารถขนส่งได้โดยทางเรือ แนวทางแรก คณะนักวิจัยได้ศึกษาเทคนิคการส่งออกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองในสภาพดัดแปลงบรรยากาศโดยบรรจุในถุงพลาสติก WEB (White Ethylyne Absorbing Bag) สามารถเก็บรักษามะม่วงได้นานถึง 24 วัน ทำให้ผู้ส่งออกสามารถส่งออกมะม่วงทางเรือได้

ปกติการขนส่งทางเรือไปญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้จะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ เมื่อถึงปลายทางก็ยังมีเวลาวางจำหน่ายสินค้าอีกประมาณ 10 วัน วิธีการนี้ลูกค้าปลายทางจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น คือค่าแรงในการแกะห่อพลาสติกออก

แนวทางนี้ได้มีการถ่ายทอดไปให้ภาคเอกชนแล้ว และสามารถระบายมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองจากที่ไม่สามารถส่งออกได้ในช่วงการระบาดของโควิด ทำให้ส่งออกไปญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ได้ถึงสัปดาห์ละ 28 ตัน หรือเดือนละกว่า 100 ตัน

สำหรับแนวทางที่สองเป็นการส่งออกมะม่วงในตู้ควบคุมบรรยากาศ ซึ่งสามารถยืดอายุการเก็บรักษามะม่วงได้ถึง 30 วัน และเมื่อนำออกมาจากตู้ควบคุมบรรยากาศจะมีอายุในการเก็บรักษาและวางจำหน่ายได้อีก 7 วัน สมมติว่าต้นทุนการขนส่งทางเครื่องบินเป็น 3 ส่วน การขนส่งทางเรือด้วยห้องเย็นธรรมดามีต้นทุนแค่ 1 ส่วน ในขณะที่การขนส่งทางเรือด้วยตู้ควบคุมบรรยากาศจะเป็น 1.5 ส่วน เพราะฉะนั้นก็ยังมีค่าใช้จ่ายถูกกว่าขนส่งทางเครื่องบิน ซึ่งเป็นต้นทุนการขนส่งที่ลูกค้าปลายทางยอมรับได้ และที่สำคัญสามารถส่งออกสินค้้าได้ในปริมาณมากๆ ด้วยวิธีส่งออกทางเรือด้วยตู้ควบคุมบรรยากาศ คาดว่าจะทำให้ส่งออกมะม่วงได้มากถึงสัปดาห์ละ 100 ตัน ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับภาคเอกชนที่สนใจ

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่่า จากเดิมการขนส่งมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองไปยังประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้จะใช้การขนส่งทางเครื่องบิน เมื่อเกิดการระบาดของโควิด -19 การขนส่งทางเครื่องบินจึงหยุดชะงัก ส่งผลให้ผลผลิตที่เคยส่งออกตกค้างในประเทศ เกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงเดือดร้อนจากราคาผลผลิตที่ตกต่ำ

การวิจัยครั้งนี้ถือเป็นความสำเร็จครั้งแรกของประเทศที่ช่วยยืดอายุในการเก็บรักษามะม่วง ทำให้ประเทศไทยสามารถส่งออกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองไปยังประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ได้ครั้งละมากๆ ต้นทุนต่อหน่วยต่ำ สามารถวางจำหน่ายได้นาน มีต้นทุนที่สามารถแข่งขันกับผู้ค้ารายอื่นๆ ได้ เป็นการเพิ่มขีดความสามารถให้กับการส่งออกของไทย

ที่มา: เทคโนโลยีเกษตร

Sustainability

NARESUAN UNIVERSITY

Solverwp- WordPress Theme and Plugin